คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ความเสียหาย

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,842 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4048/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประกันความเสียหาย: การตีความคำว่า 'กรณีใดๆ' และขอบเขตความรับผิดชอบจากเหตุสุดวิสัย
ข้อความในสัญญาประกันความเสียหายที่ว่า หากโจทก์ทำความเสียหายให้แก่จำเลยไม่ว่ากรณีใด ๆ โจทก์ยินดีให้จำเลยหักเงินประกันความเสียหาย คำว่า กรณีใด ๆ ย่อมหมายความถึงกรณีที่โจทก์ทำความเสียหายให้แก่จำเลยโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อของโจทก์ แต่เกิดจากเหตุสุดวิสัย ความเสียหายที่เกิดขึ้นจึงมิได้เกิดจากการกระทำของโจทก์ จะให้โจทก์รับผิดโดยอาศัยข้อสัญญาดังกล่าวไม่ได้ กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยว่าข้อสัญญาที่ให้โจทก์รับผิดในความเสียหายเพราะเหตุสุดวิสัยด้วยใช้บังคับได้หรือไม่ เพราะสัญญามิได้ระบุเช่นนั้น ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยคืนเงินค่าเสียหายที่หักไปชอบแล้ว
ส่วนที่โจทก์แก้อุทธรณ์ว่า หลังจากศาลแรงงานกลางพิพากษาแล้ว จำเลยยังหักเงินของโจทก์ต่อไปอีกจำนวน 890 บาท รวมเป็นเงินที่หักไป 5,770 บาท ขอให้จำเลยคืนเงินจำนวนดังกล่าวทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยด้วยนั้น เงินจำนวน 890 บาท จำเลยเพิ่งหักไปหลังจากศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาแล้ว ดังนั้น ขณะโจทก์ฟ้องคดีนี้ โจทก์ยังไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาเงินจำนวนดังกล่าวคืนและการเรียกร้องเอาเงินในส่วนที่เพิ่มขึ้นนอกเหนือไปจากคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง โจทก์ต้องทำเป็นคำฟ้องอุทธรณ์ยื่นขึ้นมา จะขอมาในคำแก้อุทธรณ์หาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2842/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงซ่อมรถในรายงานประจำวัน ไม่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ เหตุยังไม่สละข้อเรียกร้องอื่น
จำเลยที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ทำข้อตกลงในบันทึกประจำวันเกี่ยวกับคดี แต่ลักษณะของเอกสารและข้อความเป็นการแสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 ยอมรับผิดทางอาญาว่าเป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ที่ 2 จริง โดยระบุความเสียหายที่ยินดีจะซ่อมแซมรถยนต์ของจำเลยที่ 2 เพื่อเป็นเหตุบรรเทาโทษในการที่พนักงานสอบสวนจะเปรียบเทียบปรับต่อไปเท่านั้น รวมทั้งความยินยอมของจำเลยที่ 1 ที่จะซ่อมแซมรถยนต์ของโจทก์ที่ 2 ก็ไม่มีรายละเอียดหรือข้อตกลงที่แน่นอนเกี่ยวกับจำนวนเงินที่ต้องชำระและวิธีการชำระตลอดจนระยะเวลาที่แน่นอน อันจะทำให้ปราศจากข้อโต้แย้งใดๆ ต่อกันอีก รวมทั้งยังไม่ชัดแจ้งว่าโจทก์ที่ 2 กับจำเลยที่ 1 ตกลงระงับข้อพิพาทโดยยอมสละข้อเรียกร้องทั้งสิ้นแต่อย่างใดไม่ ข้อตกลงรายงานประจำวันดังกล่าวจึงมิใช่สัญญาประนีประนอมยอมความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 256/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างด้วยเหตุผลอันสมควร กรณีละเลยหน้าที่จนเกิดความเสียหายต่อธนาคาร
โจทก์เป็นหัวหน้าสินเชื่อมีหน้าที่ในการพิจารณา กลั่นกรอง ตรวจสอบ ควบคุมการปล่อยสินเชื่อให้ถูกต้องเป็นไปตามระเบียบ แบบแผน คำสั่ง และวิธีปฏิบัติของธนาคารจำเลยอย่างเคร่งครัด แต่โจทก์กลับปล่อยปละละเลยให้มีการปล่อยสินเชื่อไปอย่างเร่งรีบ ไม่ตรวจสอบการวิเคราะห์สินเชื่อและผ่านงานเสนอขออนุมัติสินเชื่อไปโดยไม่พิจารณากลั่นกรองตรวจสอบให้รอบคอบ การปล่อยสินเชื่อโครงการมีการตีราคาประเมินสูงกว่าความเป็นจริง งดเว้น ละเลย ไม่ตรวจสอบเอกสารให้ถูกต้องตรงตามระเบียบของธนาคารจำเลย การกระทำของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามระเบียบคำสั่งและข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย จนทำให้จำเลยได้รับความเสียหายเกิดหนี้ค้างชำระเป็นจำนวนมาก แม้จะไม่มีพฤติการณ์ว่าโจทก์ตั้งใจหรือเจตนาเอื้อประโยชน์ให้บุคคลเป็นพิเศษ แต่การทำงานที่ไม่รับผิดชอบต่อหน้าที่และทำงานผิดพลาดของโจทก์เช่นนี้ ย่อมมีเหตุที่จำเลยจะไม่ไว้วางใจให้โจทก์ทำงานกับจำเลยต่อไป จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุดังกล่าวจึงเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุผลอันสมควร มิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยไม่ต้องรับผิดจ่ายค่าเสียหายหรือรับโจทก์กลับเข้าทำงานกับจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2217/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ว่าราชการจังหวัดต่อความเสียหายจากการอนุมัติจัดซื้อที่ไม่ถูกต้องตามระเบียบ
จำเลยที่ 9 ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด ได้ลงนามอนุมัติจัดซื้อหนังสือแบบทดสอบประเมินผลฉบับบูรณาการชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ซึ่งเป็นหนังสือประกอบหลักสูตรเท่านั้น โดยวิธีกรณีพิเศษ ทั้งที่ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนในการจัดซื้อและซื้อจากร้านสหกรณ์กลาโหม จำกัด ซึ่งมิใช่หน่วยราชการหรือรัฐวิสาหกิจ อันเป็นการขัดระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2522 แม้หนังสือที่ขออนุมัติจัดซื้อได้ผ่านการตรวจสอบของจำเลยร่วมที่ 1 ซึ่งเป็นหัวหน้าส่วนการคลัง องค์การบริหารส่วนจังหวัด จำเลยร่วมที่ 2 ซึ่งเป็นปลัดจังหวัด และจำเลยร่วมที่ 3 ซึ่งเป็นรองผู้ว่าราชการจังหวัดในขณะนั้นก็ตาม แต่จำเลยที่ 9 เป็นผู้อนุมัติชั้นสุดท้ายต้องไตร่ตรองให้ละเอียดรอบคอบ ไม่ใช่เพียงแต่ลงนามอนุมัติผ่านไปตามความเห็นของผู้ใต้บังคับบัญชาเท่านั้น เมื่อการอนุมัติจัดซื้อเป็นเหตุให้โจทก์ซื้อหนังสือพิพาทแพงไป การกระทำของจำเลยที่ 9 จึงเป็นความประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์เสียหาย ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์
ส่วนที่จำเลยที่ 9 ฎีกาขอให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมรับผิดต่อโจทก์ด้วยนั้น เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์มิได้อุทธรณ์ขอให้จำเลยร่วมที่ 1 ถึงที่ 3 รับผิดต่อโจทก์ คดีสำหรับจำเลยร่วมที่ 1 ถึงที่ 3 จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยที่ 9 ไม่อาจแก้อุทธรณ์เพื่อให้จำเลยร่วมที่ 1 ถึงที่ 3 รับผิดต่อโจทก์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยถึงความรับผิดของจำเลยร่วมที่ 1 ถึงที่ 3 ตามคำแก้อุทธรณ์ของจำเลยที่ 9 มานั้น เป็นการไม่ชอบ ถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 1 จำเลยที่ 9 จึงไม่มีสิทธิฎีกาในประเด็นดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2110/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจโจทก์ร่วม, การจำกัดสิทธิฎีกา, ความผิดฐานทำลายพยานหลักฐาน และการพิจารณาความเสียหายที่แท้จริง
การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้เสียหายเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ โดยมิได้ระบุว่าอนุญาตให้เข้าร่วมเป็นโจทก์ในความผิดฐานใดต้องถือว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้เข้าร่วมเป็นโจทก์เฉพาะข้อหาความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและฐานลักทรัพย์ซึ่งโจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายเท่านั้น ส่วนความผิดเกี่ยวกับการทำลายพยานหลักฐานไม่ใช่ความผิดต่อสาธารณชน แต่เป็นความผิดเกี่ยวกับรัฐโดยตรง แม้จำเลยจะย้ายศพ จ. ผู้ตายเพื่อปิดบังเหตุแห่งการตายก็ตามโจทก์ร่วมซึ่งเป็นบิดาผู้ตายก็ไม่ได้เป็นบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) จึงไม่ใช่ผู้เสียหายตามกฎหมาย เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลย พนักงานอัยการโจทก์มิได้อุทธรณ์ ข้อหาทำลายพยานหลักฐานจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ร่วมไม่มีอำนาจอุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยสถานหนักในข้อหาทำลายพยานหลักฐาน การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมในข้อหาดังกล่าวแล้วพิพากษายืนจึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามศาลล่างให้จำคุกจำเลยเกินห้าปีโจทก์จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคสอง ข้อห้ามฎีกาดังกล่าวนี้ย่อมใช้บังคับโจทก์ร่วมด้วย เพราะ ป.วิ.อ. มาตรา 2 (14) ได้นิยามศัพท์คำว่า "โจทก์" ไว้ว่า หมายความถึงพนักงานอัยการ หรือผู้เสียหายซึ่งฟ้องคดีอาญาต่อศาล หรือทั้งคู่ในเมื่อพนักงานอัยการและผู้เสียหายเป็นโจทก์ร่วมกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1938/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผลผูกพันคำพิพากษาคดีอาญาต่อคดีแพ่ง: การประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้เกิดความเสียหาย
คดีนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาที่มีพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ฐานขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้ ศ. ได้รับอันตรายแก่กาย ถือว่าพนักงานอัยการได้ดำเนินคดีอาญาแทน ศ. ผู้เอาประกันภัยไว้กับโจทก์ในฐานะเป็นผู้เสียหาย ข้อเท็จจริงในคดีอาญาย่อมผูกพันโจทก์ในฐานะผู้รับช่วงสิทธิจาก ศ. ด้วย เมื่อคดีส่วนอาญาถึงที่สุดแล้ว โดยศาลฎีกาเห็นว่าพยานหลักฐานที่โจทก์ในคดีอาญานำสืบมายังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำโดยประมาทซึ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 บัญญัติให้ศาลในคดีส่วนแพ่งจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฎในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ศาลฎีกาจึงต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ยุติในคดีอาญาว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ขับรถยนต์โดยประมาทเลินเล่อ เมื่อจำเลยที่ 1 ซึ่งกระทำการแทนจำเลยที่ 2 มิได้ประมาทเลินเล่อ จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องร่วมรับผิดชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1393/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของลูกจ้างต่อความเสียหายจากละเมิดและผิดสัญญาจ้าง กรณีสัญญาค้ำประกันปลอม
จำเลยเป็นลูกจ้างโจทก์ ปฏิบัติหน้าที่ฝ่าฝืนคำสั่งของโจทก์ โดยปล่อยให้บุคคลภายนอกนำสัญญาค้ำประกันหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีรายหนึ่งออกไปให้ผู้ค้ำประกันลงนามโดยไม่มีเจ้าหน้าที่ของโจทก์ไปด้วย ปรากฏว่าลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นลายมือชื่อปลอม ทำให้โจทก์ไม่สามารถบังคับชำระหนี้ การกระทำของจำเลยถือว่าเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานและเป็นการละเมิดต่อโจทก์ด้วย ความเสียหายที่เป็นสาเหตุโดยตรงจากการปฏิบัติหน้าที่บกพร่องของจำเลยคือหนี้ต้นเงินจำนวน 2,000,000 บาท ส่วนดอกเบี้ยตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดเป็นกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นธนาคารสามารถเรียกเอาจากลูกหนี้ผู้ทำสัญญาบัญชีเดินสะพัดเบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ได้รวมทั้งผู้ค้ำประกันด้วย แต่จำเลยมิใช่เป็นผู้ค้ำประกันหนี้แห่งความเสียหายที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ การที่ศาลแรงงานกลางกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์จำนวน 2,000,000 บาท ของต้นเงินตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดโดยไม่ได้นำเอาดอกเบี้ยตามสัญญาดังกล่าวในอัตราร้อยละ 18.50 ต่อปี มาคิดคำนวณเป็นค่าเสียหายให้ด้วย โดยวินิจฉัยตามพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 538 ย่อมชอบด้วยกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8584/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำให้เกิดระเบิดน่าจะเป็นอันตราย ความผิดสำเร็จตาม ป.อ. มาตรา 221 ไม่ต้องเกิดความเสียหายจริง และการลดโทษผู้เยาว์
จำเลยที่ 1 และที่ 3 กับพวกใช้ผ้าปิดปากขวดที่บรรจุน้ำมันและจุดไฟโยนเข้าไปในบริเวณสถานีบริการน้ำมัน จนเกิดระเบิดและน่าจะเกิดความเสียหาย การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นการกระทำให้เกิดระเบิดจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่น เป็นความผิดสำเร็จตาม ป.อ. มาตรา 221 แล้ว กฎหมายหาได้บัญญัติว่าต้องกระทำโดยใช้วัตถุและต้องเกิดความเสียหายเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่นด้วยไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8346/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ส่งของต่อความเสียหายจากการแจ้งน้ำหนักสินค้าไม่ถูกต้อง และการประมาทเลินเล่อของผู้ขนส่ง
ความเสียหายที่ผู้ส่งของจะต้องรับผิดต่อผู้ขนส่งตามมาตรา 32 แห่ง พ.ร.บ. การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 เป็นกรณีที่ผู้ส่งของเป็นผู้แจ้งหรือจัดให้ซึ่งข้อความในใบตราส่งเกี่ยวกับลักษณะทั่วไปแห่งของ เครื่องหมายที่จำเป็นเพื่อบ่งตัวของ จำนวนหน่วยการขนส่ง น้ำหนักของหรือปริมาณอย่างอื่นเพื่อให้ผู้ขนส่งบันทึกข้อความนั้นไว้ในใบตราส่ง และเมื่อผู้ขนส่งได้บันทึกตามที่ผู้ส่งของได้แจ้งหรือจัดให้ซึ่งข้อความนั้นแล้ว จึงจะถือว่าผู้ส่งของได้รับรองกับผู้ขนส่งว่าข้อความที่แจ้งหรือจัดให้นั้นถูกต้องตรงกับความเป็นจริงเกี่ยวกับของนั้นทุกประการ หากมีความเสียหายเกิดขึ้นเนื่องจากความไม่ถูกต้องแท้จริงของข้อความดังกล่าว มาตรา 32 วรรคสอง กำหนดให้ผู้ส่งของรับผิดชดใช้ ความเสียหายแก่ผู้ขนส่งแม้ผู้ส่งของจะได้โอนใบตราส่งนั้นให้แก่บุคคลภายนอกไปแล้ว แต่ทั้งนี้ผู้ขนส่งยังคงต้องรับผิดตามสัญญารับขนของทางทะเลต่อบุคคลภายนอกผู้ทรงใบตราส่ง เนื่องจากผู้ขนส่งส่งมอบสินค้าที่ขนส่งไม่ถูกต้องตรงตามที่ระบุไว้ในใบตราส่งอันเป็นผลมาจากผู้ส่งของยืนยันให้ผู้ขนส่งบันทึกข้อความที่ไม่ถูกต้องนั้น
จำเลยซึ่งเป็นผู้ส่งของได้แจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับสินค้าที่ขนส่งแก่โจทก์ที่ 1 ผู้ขนส่งว่าเป็นไม้เนื้อแข็งแปรรูปจำนวน 5 รายการ รวมทั้งสิ้น 173 มัด รวมน้ำหนักประมาณ 167.244 เมตริกตัน โจทก์ที่ 1 ได้ออกใบตราส่งให้แก่จำเลยโดยโจทก์ที่ 1 บันทึกรายละเอียดของสินค้าตามที่จำเลยได้แจ้งไว้ มิใช่กรณีที่จำเลยแจ้งน้ำหนักของสินค้าเพื่อให้โจทก์ทั้งสองผู้ขนส่งบันทึกข้อความนั้นไว้ในใบตราส่ง แต่เป็นกรณีที่จำเลยผู้ส่งของแจ้งน้ำหนักของสินค้าน้อยกว่าความจริง และความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่เรือของโจทก์ที่ 2 และสินค้าอื่นซึ่งไม่ใช่สินค้าตามใบตราส่ง จึงเป็นกรณีที่ไม่อาจนำบทบัญญัติมาตรา 32 มาใช้บังคับได้ เมื่อความเสียหายนั้นเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่เรือของโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ขนส่งโดยตรง กรณีนี้จึงต้องบังคับตามมาตรา 31 ซึ่งบัญญัติว่า "ผู้ส่งของไม่ต้องรับผิดเพื่อการที่ผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งอื่นได้รับความเสียหายหรือการที่เรือเสียหาย เว้นแต่จะเป็นเหตุมาจากความผิดหรือประมาทเลินเล่อของผู้ส่งของหรือตัวแทนหรือลูกจ้างของผู้ส่งของหรือจากสภาพแห่งของนั้นเอง โดยผู้ส่งของมิได้ปฏิบัติตามกฎหมายหรือประเพณีทางการค้าเกี่ยวกับการส่งของนั้น" เมื่อฟังได้ว่าการแจ้งน้ำหนักสินค้าของจำเลยไม่ถูกต้องเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลย แต่ความเสียหายที่ฝาระวางบนเรือของผู้ขนส่งหักพังลงมากระแทกกับสินค้าอื่นเสียหายก็มาจากโจทก์ที่ 1 เป็นฝ่ายมีส่วนประมาทอยู่ด้วย ศาลจึงมีอำนาจกำหนดค่าเสียหายให้จำเลยชดใช้ตามพฤติการณ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7140/2547 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาในคดีเช่าซื้อ: ศาลพิจารณาจากมูลคดีและความเสียหาย มิใช่ผลประโยชน์โจทก์
การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาในครั้งแรก โจทย์ยื่นคำขอในเหตุฉุกเฉินพร้อมคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาอีกฉบับหนึ่ง และศาลชั้นต้นได้ยกคำขอในเหตุฉุกเฉินนั้นทำให้คำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวฉบับที่ยื่นมาพร้อมกันนั้นตกไปด้วย ซึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 267 วรรคสาม การที่ศาลยกคำขอในเหตุฉุกเฉินย่อมไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะเสนอคำขอตามมาตรา 254 ใหม่ โจทก์จึงมีสิทธิยื่นคำขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาอย่างวิธีธรรมดาซึ่งเป็นฉบับที่สองได้อีก แม้ต่อมาก่อนศาลชั้นต้นไต่สวนและมีคำสั่งตามคำร้องฉบับที่สองนั้น โจทก์จะได้ยื่นคำขอในเหตุฉุกเฉินพร้อมกับคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาเข้ามาอีก และศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องในวันเดียวกันนั้นเอง ก็มีผลเป็นการยกคำขอในเหตุฉุกเฉินและทำให้คำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวที่ยื่นมาพร้อมกันนั้นตกไปด้วยเท่านั้น จึงไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาเช่นดียวกันนั้นอีก ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจไต่สวนและมีคำสั่งตามคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาซึ่งเป็นฉบับที่สองที่โจทก์ยื่นไว้ก่อนได้ กรณีจึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144
of 185