คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
คำร้องซ้ำ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 39 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2542/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟื้นฟูกิจการซ้ำ: ศาลฎีกาวินิจฉัยการยื่นคำร้องซ้ำเดิมเป็นกระบวนการซ้ำ
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 ไม่ได้บัญญัติในเรื่องการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำ ป.วิ.พ. มาตรา 144 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14
คดีหมายเลขแดงที่ ฟ.52/2553 ลูกหนี้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการโดยอ้างว่าลูกหนี้มีสินทรัพย์น้อยกว่าหนี้สิน และอ้างข้อสันนิษฐานตามมาตรา 8 (7) และ (9) แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ส่วนช่องทางในการฟื้นฟูกิจการลูกหนี้อ้างว่าจะดำเนินการโดยการปรับโครงสร้างหนี้ และหาผู้ร่วมลงทุนเพื่อพัฒนาโครงการ "จูเมร่า ไพรเวท ไอส์แลนด์ ภูเก็ต" ซึ่งได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ศาลล้มละลายกลางพิจารณาแล้ว เห็นว่า พยานหลักฐานที่ลูกหนี้นำสืบมาไม่เพียงพอที่จะรับฟังได้ว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวและกรณีมีเหตุอันสมควรและมีช่องทางในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ เนื่องจากพยานหลักฐานของลูกหนี้ไม่น่าเชื่อถือว่าลูกหนี้มีสินทรัพย์น้อยกว่าหนี้สิน ในขณะที่ช่องทางหลักในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ศาลล้มละลายกลาง เห็นว่า ปัญหาในการดำเนินธุรกิจเพื่อพัฒนาโครงการ "จูเมร่า ไพรเวท ไอส์แลนด์ ภูเก็ต" ของลูกหนี้ไม่ได้มีแต่ปัญหาการไม่ชำระหนี้หรือปัญหาในการรวบรวมและจัดการบริหารทรัพย์สินของลูกหนี้ แต่ปัญหาสำคัญจริง ๆ เป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างและการบริหารจัดการองค์กรธุรกิจของลูกหนี้และกลุ่มบริษัทที่เกี่ยวข้องกัน โดยเฉพาะปัญหาในเรื่องการโอนหุ้นของบริษัทลูกหนี้และบริษัทในเครือที่มีเรื่องฟ้องร้องกันหลายคดี และข้อพิพาทเหล่านี้เป็นข้อพิพาทที่อยู่นอกเหนือกระบวนการของกฎหมายล้มละลาย จึงมีคำสั่งยกคำร้องขอ ส่วนคดีนี้ผู้ร้องขอทั้งสองนำเสนองบดุลของลูกหนี้ที่อ้างว่าจัดทำโดยผู้สอบบัญชี และอ้างข้อสันนิษฐานตามมาตรา 8 (7) และ (9) แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว และเสนอช่องทางในการฟื้นฟูกิจการ ด้วยวิธีการอาจปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นโดยการเพิ่มทุน หาผู้ร่วมลงทุนใหม่ กู้เงิน ปรับรูปแบบโครงการโดยจะเข้าเจรจากับโรงแรมจูเมร่า เกี่ยวกับสัญญาบริหารงานโรงแรม เพื่อปรับเปลี่ยนขั้นตอนการก่อสร้างและขนาดของโรงแรม ยื่นขออนุญาตส่งเสริมการลงทุน หาคนกลางมาเป็นผู้ทำแผนและผู้บริหารชั่วคราวเพื่อดูแลกิจการของลูกหนี้แทนกรรมการลูกหนี้ที่มีข้อขัดแย้งกันอยู่โดยเสนอบริษัท น. เป็นผู้ทำแผน ซึ่งในการพิจารณาคดีนี้ศาลยังคงต้องพิจารณาและวินิจฉัยว่าลูกหนี้มีสินทรัพย์มากกว่าหนี้สินหรือไม่ ทั้งการพิจารณานอกจากข้อสันนิษฐานตามกฎหมายแล้วก็ยังต้องพิจารณางบดุลและพิจารณาการประเมินราคาทรัพย์สินของลูกหนี้เพื่อเทียบกับหนี้สินเหมือนในคดีก่อน ส่วนช่องทางในการฟื้นฟูกิจการที่ผู้ร้องขอที่ 2 เสนอมาก็เป็นช่องทางที่สาระสำคัญหรือหลักการไม่ได้แตกต่างไปจากที่ศาลล้มละลายกลางได้วินิจฉัย ไว้แล้วในคดีก่อนแต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็นแนวทางในการพัฒนาธุรกิจของลูกหนี้ ปัญหาเรื่องโครงสร้างและการบริหารจัดการองค์กรธุรกิจของลูกหนี้ ข้อขัดแย้งของกรรมการและผู้ถือหุ้นของลูกหนี้ ดังนั้น การพิจารณาวินิจฉัยคดีนี้ย่อมเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ ฟ.52/2553 ตาม ป.วิ.พ. 144 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15791/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยื่นคำร้องซ้ำเพื่อเพิกถอนการบังคับคดี: เหตุต้องห้ามตามกฎหมาย
เดิมจำเลยที่ 1 และที่ 2 เคยยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนการบังคับคดีโดยอ้างเหตุเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่แจ้งการยึดทรัพย์และไม่แจ้งการขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึดให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทราบ ทั้งการขายทอดตลาดได้ราคาต่ำกว่าความเป็นจริงมาก ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ถ้าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่พอใจก็ชอบที่จะอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่อุทธรณ์ การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กลับมายื่นคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนการบังคับคดีซ้ำอีก แม้จะอ้างเหตุใหม่ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่มีอำนาจในการดำเนินกระบวนพิจารณาและบังคับคดีตามกฎหมาย ซึ่งเป็นเหตุที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 สามารถยกขึ้นว่ากล่าวในคำร้องฉบับแรกได้อยู่แล้ว แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวไว้ กรณีจึงถือว่าคำร้องฉบับหลังเป็นเรื่องเดียวกับคำร้องฉบับแรกที่ขอให้เพิกถอนกระบวนการบังคับคดีรายเดียวกันซึ่งศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดไปแล้ว การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 มายื่นคำร้องขึ้นอีกภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องฉบับแรกแล้วนั้น เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 และเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5772/2552 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยื่นคำร้องซ้ำเพื่อขอเพิกถอนการขายทอดตลาดที่ศาลเคยมีคำสั่งถึงที่สุดแล้ว เป็นการดำเนินกระบวนการซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144
ผู้ร้องเคยยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์ของเจ้าพนักงานบังคับคดีซึ่งผู้ร้องเป็นผู้ซื้อทอดตลาดได้ โดยให้เหตุผลว่า สถานที่ตั้งทรัพย์ไม่ตรงกับแผนที่ประกอบประกาศขายทอดตลาด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง เพราะผู้ร้องไม่ไปศาล ผู้ร้องยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นว่า อุทธรณ์ของผู้ร้องไม่เป็นสาระสำคัญแก่คดี ไม่รับคำร้องอุทธรณ์คำสั่ง ต่อมาผู้ร้องจึงยื่นคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดในลักษณะเดิมอีก ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า จากข้อเท็จจริงเป็นหน้าที่ของผู้ร้องในการตรวจสอบรายละเอียดที่ตั้งของทรัพย์ตามแผนที่ในประกาศขายทอดตลาด การขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง ผู้ร้องจึงมายื่นคำร้องในคดีนี้อีก ซึ่งรายละเอียดในคำร้องไม่ว่าจะเป็นตัวทรัพย์ที่ขายทอดตลาดหรือเหตุผลในการขอเพิกถอนการขายทอดตลาดของผู้ร้อง ล้วนเป็นอย่างเดียวกันกับคำร้องก่อนหน้านั้นทั้งสิ้น การที่ผู้ร้องมิได้อุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของศาลชั้นต้นก็ดี การไม่อุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องของผู้ร้องในเวลาต่อมาก็ดี ทำให้ประเด็นตามข้อกล่าวอ้างของผู้ร้องในการขอเพิกถอนการขายทอดตลาดถึงที่สุดโดยคำสั่งของศาลชั้นต้นแล้ว เมื่อผู้ร้องมายื่นคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดในคดีนี้โดยเหตุผลเดียวกันอีก จึงเป็นการขอให้ดำเนินกระบวนพิจารณาอันเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยแล้ว ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 617/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำร้องซ้ำ: การบังคับจำนอง - เมื่อศาลยกคำร้องแล้ว ห้ามยื่นคำร้องซ้ำด้วยเหตุเดิม
การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองก่อนเจ้าหนี้อื่นๆ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 นั้น ก็คือการฟ้องขอบังคับจำนองนั่นเอง เมื่อคดีก่อนศาลชั้นต้นยกคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองของผู้ร้องด้วยเหตุที่ผู้ร้องไม่มีพยานมาสืบในวันนัดไต่สวนนั้น เท่ากับว่าผู้ร้องไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะสนับสนุนข้ออ้างในประเด็นแห่งคดีของผู้ร้อง อันเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นอันเป็นเนื้อหาแห่งคดีของผู้ร้องแล้ว หาใช่ว่าศาลชั้นต้นยังมิได้พิจารณาพยานหลักฐานหรือวินิจฉัยเนื้อหาในคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองไม่ เมื่อศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งถึงที่สุดให้ยกคำร้องของผู้ร้อง ผู้ร้องจึงจะมายื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองในคดีนี้ซึ่งมีประเด็นที่ศาลในคดีก่อนได้วินิจฉัยชี้ขาดโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันอีกไม่ได้ เป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 คำร้องของผู้ร้องจึงเป็นคำร้องซ้ำ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4651/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยื่นคำร้องซ้ำในคดีล้มละลาย: ศาลพิพากษายืนตามคำสั่งเดิม เนื่องจากประเด็นวินิจฉัยซ้ำกับคำร้องก่อนหน้า
คำร้องฉบับลงวันที่ 31 สิงหาคม 2548 ป. เป็นผู้ยื่นคำร้องในฐานะผู้บริหารของลูกหนี้ ต่อมาผู้ร้องเป็นผู้ยื่นคำร้องโดยอ้างสิทธิว่าเป็นผู้ถือหุ้นและเป็นผู้บริหารของลูกหนี้ในวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ผู้ร้องจึงอยู่ในฐานะผู้บริหารของลูกหนี้เช่นเดียวกับ ป. ตามบทนิยามแห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/1 ถือได้ว่าผู้ร้องเป็นคู่ความเดียวกันกับคู่ความเดิมที่ ป. เคยยื่นคำร้องไว้ แม้คดีนี้ผู้ร้องมิได้ระบุว่าขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกหรือเพิกถอนสัญญาซื้อขายหุ้นส่วนทุนตามแผนโดยใช้คำว่า ขอให้มีคำสั่งให้ผู้บริหารแผนทุเลาการขายหุ้นไว้จนกว่าคดีจะถึงที่สุด กับให้ผู้บริหารแผนกำหนดราคาขายหุ้นส่วนทุนตามแผนใหม่อีกครั้งให้ได้ราคาที่เป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายสูงกว่าที่กำหนดไว้หุ้นละ 3.30 บาท เปิดโอกาสให้ผู้สนใจร่วมลงทุนโดยวิธีการประมูลตามหลักธุรกิจการค้าปกติ โปร่งใส เป็นธรรม ก็ตาม แต่การที่จะกำหนดราคาขายหุ้นส่วนทุนตามแผนโดยประมูลขายหุ้นแก่ผู้สนใจร่วมลงทุนตามที่ผู้ร้องขอมาในคดีนี้ก็จะต้องยกเลิกหรือเพิกถอนสัญญาซื้อขายหุ้นส่วนทุนฉบับลงวันที่ 1 มิถุนายน 2548 เสียก่อน แสดงให้เห็นว่าผู้ร้องทั้งสองคดีต่างมีความประสงค์อย่างเดียวกันคือขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกหรือเพิกถอนสัญญาซื้อขายหุ้นส่วนทุนฉบับลงวันที่ 1 มิถุนายน 2548 ส่วนการจัดหาผู้ร่วมลงทุนและการดำเนินการขายหุ้นส่วนทุนตามแผน คำร้องทั้งสองฉบับได้กล่าวอ้างทำนองเดียวกันว่าผู้บริหารแผนไม่เปิดโอกาสให้มีการประมูลหรือแข่งขันเสนอราคาเพื่อให้ได้ราคาสูงสุด กำหนดราคาหุ้นที่จะซื้อขายต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีหลักเกณฑ์หรือวิธีการคำนวณ กลุ่มผู้ร่วมลงทุนหรือผู้ซื้อเป็นหน่วยงานของรัฐที่ผู้บริหารแผนเป็นผู้ถือหุ้นหรือมีอำนาจกำกับดูแล มีลักษณะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ที่มีความเกี่ยวพันกับผู้บริหารแผน ผู้ร่วมลงทุนใหม่จะเข้ามาครอบงำกิจการของลูกหนี้ เป็นการดำเนินการที่ไม่โปร่งใส ไม่สุจริตทำให้ลูกหนี้และผู้ค้ำประกันเสียหาย ดังนี้ ประเด็นที่ศาลต้องวินิจฉัยตามคำร้องทั้งสองฉบับจึงเป็นประเด็นเดียวกัน คือ ผู้บริหารแผนดำเนินการจัดหาผู้ร่วมลงทุนและทำข้อตกลงขายหุ้นส่วนทุนตามแผนโดยชอบหรือไม่ เมื่อศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นดังกล่าวตามคำร้องฉบับลงวันที่ 31 สิงหาคม 2548 เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2548 แล้ว การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องคดีนี้ต่อศาลล้มละลายกลางในวันที่ 9 ธันวาคม 2548 จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ต้องห้าม ป.วิ.พ. มาตรา 144 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4650/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยื่นคำร้องซ้ำในคดีฟื้นฟูกิจการ การดำเนินการขายหุ้นส่วนทุนที่ไม่โปร่งใส
ข้อเท็จจริงที่ผู้ร้องทั้งสองกล่าวอ้างในคดีนี้เป็นข้อเท็จจริงที่มีอยู่และได้กล่าวอ้างแล้วขณะผู้ร้องที่ 1 ยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 31 สิงหาคม 2548 เพียงแต่ในการยื่นคำร้องคดีนี้ผู้ร้องทั้งสองนำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาวิเคราะห์คนละเชิงหรือเรียบเรียงข้อเท็จจริงด้วยถ้อยคำที่แตกต่างกัน โดยการยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 31 สิงหาคม 2548 ผู้ร้องที่ 1 เพียงผู้เดียวยื่นคำร้องในฐานะผู้บริหารของลูกหนี้ ส่วนคดีนี้ได้เพิ่มผู้ร้องที่ 2 เข้ามา แต่ผู้ร้องทั้งสองต่างอ้างสิทธิอย่างเดียวกันว่าเป็นผู้ถือหุ้นและเป็นผู้บริหารของลูกหนี้ในวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ผู้ร้องที่ 2 จึงอยู่ในฐานะผู้บริหารของลูกหนี้เช่นเดียวกับผู้ร้องที่ 1 ตามบทนิยามแห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย ฯ มาตรา 90/1 ถือได้ว่าผู้ร้องทั้งสองเป็นคู่ความเดียวกันกับคู่ความในคดีเดิม แม้คดีนี้ผู้ร้องทั้งสองมิได้ระบุว่าขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกหรือเพิกถอนสัญญาซื้อขายหุ้นส่วนทุนตามแผนโดยใช้คำว่า ขอให้มีคำสั่งให้ผู้บริหารแผนดำเนินการตามแผนด้วยความสุจริตและยุติธรรม กับให้กำหนดราคาขายหุ้นส่วนทุนตามแผนให้ได้ราคาตลาดที่แท้จริงตามกฎหมาย เป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายและสูงกว่าราคาที่กำหนดไว้หุ้นละ 3.30 บาท โดยประมูลขายหุ้นให้แก่ผู้สนใจร่วมลงทุนตามหลักธุรกิจการค้าปกติ โปร่งใส เป็นธรรม ก็ตาม แต่การที่จะกำหนดราคาขายหุ้นส่วนทุนตามแผนให้ได้ราคาตลาดโดยประมูลขายหุ้นแก่ผู้สนใจร่วมลงทุนตามที่ผู้ร้องทั้งสองขอมาในคดีนี้ก็จะต้องยกเลิกหรือเพิกถอนสัญญาซื้อขายหุ้นส่วนทุนฉบับลงวันที่ 1 มิถุนายน 2548 เสียก่อน แสดงให้เห็นว่าผู้ร้องทั้งสองคดีต่างมีความประสงค์อย่างเดียวกันคือขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกหรือเพิกถอนสัญญาซื้อขายหุ้นส่วนทุนฉบับลงวันที่ 1 มิถุนายน 2548 ส่วนการจัดหาผู้ร่วมลงทุนและการดำเนินการขายหุ้นส่วนทุนตามแผน คำร้องทั้งสองฉบับได้กล่าวอ้างทำนองเดียวกันว่าผู้บริหารแผนไม่เปิดโอกาสให้มีการประมูลหรือแข่งขันเสนอราคาเพื่อให้ได้ราคาสูงสุด กำหนดราคาหุ้นที่จะซื้อขายต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีหลักเกณฑ์หรือวิธีการคำนวณ กลุ่มผู้ร่วมลงทุนหรือผู้ซื้อเป็นหน่วยงานของรัฐที่ผู้บริหารแผนเป็นผู้ถือหุ้นหรือมีอำนาจกำกับดูแล มีลักษณะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ที่มีความเกี่ยวพันกับผู้บริหารแผน เป็นการดำเนินการที่ไม่โปร่งใส ไม่สุจริต ทำให้ลูกหนี้และผู้ค้ำประกันเสียหาย ดังนี้ ประเด็นที่ศาลต้องวินิจฉัยตามคำร้องทั้งสองฉบับจึงเป็นประเด็นเดียวกัน คือ ผู้บริหารแผนดำเนินการจัดหาผู้ร่วมลงทุนและทำข้อตกลงขายหุ้นส่วนทุนตามแผนโดยชอบหรือไม่ เมื่อศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นดังกล่าวตามคำร้องฉบับลงวันที่ 31 สิงหาคม 2548 เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2548 แล้วการที่ผู้ร้องยื่นคำร้องคดีนี้ต่อศาลล้มละลายกลางในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2548 จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลาย ฯ มาตรา 14

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5416/2550 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำร้องซ้ำต้องห้ามตามกฎหมาย – การรวมโทษจำคุกเกิน 20 ปี
จำเลยเคยยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นรวมโทษจำคุกของจำเลยทุกคดีมิให้เกินกว่า 20 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 91 (2) ศาลชั้นต้นยกคำร้อง ศาลอุทธรณ์ภาค ๕ พิพากษายืน คดีถึงที่สุด จำเลยมายื่นคำร้องครั้งใหม่โดยอ้างเหตุอย่างเดียวกันกับในประเด็นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ได้วินิจฉัยชี้ขาดและคดีถึงที่สุดแล้ว จึงเป็นการร้องซ้ำ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8623/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำร้องซ้ำต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 กรณีพิพาทเรื่องการจัดการมรดกและพินัยกรรม
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมคนหนึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ย่อมเป็นการตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแทนทายาททั้งหมด การที่ผู้คัดค้านทั้งสองยื่นคำร้องว่า ผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้ ป. เพียงผู้เดียว ขอให้ถอนผู้ร้องออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกและมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกแทน ประเด็นแห่งคดีระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านทั้งสองจึงขึ้นอยู่กับว่า ผู้ตายทำพินัยกรรมดังกล่าวหรือไม่ เมื่อศาลฎีกาพิพากษาถึงที่สุดว่าผู้ตายทำพินัยกรรม การที่ผู้ร้องคัดค้านมาร้องอ้างการสืบสิทธิผู้สืบสันดานในฐานะทายาทโดยธรรม ขอให้ศาลตั้งผู้ร้องคัดค้านและผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก โดยอ้างว่าผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมดังกล่าวอีก อันเป็นประเด็นข้อพิพาทโต้เถียงอย่างเดียวกัน แม้ผู้ร้องคัดค้านไม่เคยเข้าเป็นคู่ความในคดีส่วนที่ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษา แต่เมื่อผู้ร้องคัดค้านร้องคัดค้านในประเด็นข้อพิพาทที่ผู้ร้องได้ต่อสู้แทนผู้ร้องคัดค้านแล้ว จึงเป็นการรื้อร้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุเดียวกัน คำร้องของผู้ร้องคัดค้านจึงเป็นร้องซ้ำ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ผู้ร้องเคยส่งสำเนาพินัยกรรมพิพาทไปตรวจพิสูจน์แล้วยื่นเสนอเป็นพยานหลักฐานขอให้ศาลฎีกาใช้ประกอบการพิจารณา แต่ศาลฎีกาไม่อนุญาต คำสั่งของศาลฎีกาดังกล่าวย่อมมีผลผูกพันผู้ร้องคัดค้าน ผู้ร้องคัดค้านจึงไม่อาจอ้างการตรวจพิสูจน์ดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4367/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรื้อฟื้นคดีอาญา: คำร้องซ้ำหลังศาลอุทธรณ์วินิจฉัยแล้ว ถือสิ้นสุดสิทธิ
คำร้องของจำเลยลงวันที่ 4 มีนาคม 2565 ที่ขอให้รื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่นั้น แม้ศาลชั้นต้นจะมิได้ทำการไต่สวน แต่ศาลชั้นต้นก็ได้พิจารณาคำร้องของจำเลยแล้วและเห็นว่า เมื่อพิจารณาจากคำร้องแล้วเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้วโดยไม่จำต้องไต่สวน จึงมีคำสั่งให้งดการไต่สวน และทำความเห็นพร้อมส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 5 ซึ่งการจะงดการไต่สวนหรือทำการไต่สวนไปเป็นอำนาจโดยทั่วไปของศาลชั้นต้นหากเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้ว โดยพิจารณาเพียงจากคำร้องของจำเลย ศาลชั้นต้นก็อาจสั่งให้งดการไต่สวนได้ การดำเนินการในส่วนนี้ของศาลชั้นต้นจึงชอบแล้ว และเมื่อคดีขึ้นสู่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 แล้ว ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ก็ได้มีคำวินิจฉัยไปโดยมิได้มีคำสั่งให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นทำการไต่สวนคำร้องของจำเลยก่อนแต่อย่างใด โดยศาลอุทธรณ์ภาค 5 ได้ให้เหตุผลแห่งคำวินิจฉัยไว้อย่างแจ้งชัดว่าคำร้องของจำเลยอ้างแต่เพียงว่ามี ม. ประจักษ์พยาน ซึ่งเป็นพยานหลักฐานใหม่อันชัดแจ้งและสำคัญแก่คดี ที่รู้เห็นว่าจำเลยมิได้เป็นผู้กระทำความผิดเท่านั้น โดยไม่ปรากฏข้ออ้างโดยละเอียดชัดแจ้งเพื่อให้เห็นว่าพยานหลักฐานใหม่มีความเป็นมาอย่างไร เหตุใดจำเลยจึงมิได้นำ ม. มาพิสูจน์ว่าจำเลยมิได้กระทำความผิดตั้งแต่แรก ที่สำคัญพยานหลักฐานใหม่นั้นมีความสำคัญแก่คดีมากพอที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงผลของคำพิพากษาที่ได้พิพากษาลงโทษจำเลยไปแล้วหรือไม่ เมื่อคำร้องมิได้อ้างเหตุโดยละเอียดชัดแจ้งเช่นนี้ จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีพยานหลักฐานใหม่อันชัดแจ้งและสำคัญแก่คดี คำร้องของจำเลยจึงไม่มีมูลพอที่จะรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ ให้ยกคำร้อง คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ดังกล่าว เป็นการวินิจฉัยในเนื้อหาแห่งคำร้องแล้ว โดยฟังว่าคำร้องของจำเลยไม่มีมูลเพียงพอที่จะฟังว่ามีพยานหลักฐานใหม่อันควรให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ได้ ซึ่งตามพ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 มาตรา 10 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า หากศาลอุทธรณ์เห็นว่า คำร้องนั้นไม่มีมูล ให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำร้องนั้น และในวรรคสองบัญญัติว่า คำสั่งของศาลอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่งให้เป็นที่สุด ดังนั้น เมื่อคำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ที่สั่งว่าคำร้องของจำเลยไม่มีมูลและให้ยกคำร้อง จึงถึงที่สุดแล้ว การยื่นคำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ของจำเลยดังกล่าวจึงสิ้นสุด ไม่อาจดำเนินการใดต่อไปได้อีก เนื่องจากมาตรา 18 ระบุไว้อย่างแจ้งชัดว่า คำร้องเกี่ยวกับผู้ต้องรับโทษอาญาคนหนึ่งให้ยื่นได้เพียงครั้งเดียว ดังนั้น เมื่อคำร้องของจำเลยฉบับลงวันที่ 4 มีนาคม 2565 ถึงที่สุดไปแล้ว จำเลยจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ ฉบับลงวันที่ 16 สิงหาคม 2565 ได้อีก
of 4