คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ดอกเบี้ย

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,659 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2623/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นหลังผิดนัดชำระหนี้มีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ศาลลดหย่อนได้ตามกฎหมาย
โจทก์ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยในกรณีผู้กู้ผิดนัดไว้อัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี การกำหนดอัตราดอกเบี้ยในกรณีดังกล่าวจึงเป็นการกำหนดค่าเสียหายกันไว้ล่วงหน้าในกรณีที่ลูกหนี้ผิดนัด อันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ การที่โจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยจากเดิมอัตราร้อยละ 7.25 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี ภายหลังจากที่จำเลยทั้งสองผิดนัดชำระหนี้ อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจึงเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งหากสูงเกินส่วนศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ ตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 379 และมาตรา 383

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1221/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม: แม้ฝ่าฝืนระเบียบ แต่ศาลสั่งจ่ายค่าชดเชยและดอกเบี้ยตามกฎหมาย
โจทก์เป็นผู้จัดการของจำเลยที่ 1 อนุมัติให้สมาชิกกู้โดยไม่มีผู้ค้ำประกันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของจำเลยที่ 1 แต่มิใช่กรณีร้ายแรง และไม่ใช่การทุจริตต่อหน้าที่ เมื่อจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์จึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 (3) กรณีผิดนัดไม่จ่ายค่าชดเชย โจทก์มีสิทธิได้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง แม้ในคำฟ้องของโจทก์จะขอดอกเบี้ยมาในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี แต่เพื่อความเป็นธรรม ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยตามแนวคำพิพากษาฎีกาที่ 6458-6461/2544 ให้โจทก์ได้รับดอกเบี้ยตามอัตราที่กำหนดไว้ในกฎหมาย ทั้งนี้ โดยอาศัยอำนาจตามความใน พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52
การที่โจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับคดีเกี่ยวกับการกู้เงินซึ่งอาจทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหาย จึงมีเหตุที่จำเลยที่ 1 จะไม่ไว้วางใจให้โจทก์ทำงานกับจำเลยที่ 1 ต่อไป การที่จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุดังกล่าว จึงเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันสมควร มิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยที่ 1 ไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1056/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม การประเมิน การอุทธรณ์ และดอกเบี้ยที่จำเลยต้องจ่าย
การที่โจทก์กู้เงินจากธนาคารในต่างประเทศไปลงทุนซื้อหุ้นในบริษัท อ. โดยโจทก์เสียดอกเบี้ยให้แก่ธนาคารผู้ให้กู้แล้วบริษัท อ. นำเงินทุนทั้งหมดไปให้บริษัท ท. กู้โดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ยโดยเจตนาทำให้ต้นทุนของบริษัท ท. ต่ำลงและมีผลกำไรเพิ่มขึ้น เห็นได้ชัดเจนว่าผลกำไรย่อมเกิดขึ้นแก่บริษัท ท. ซึ่งเป็นอีกนิติบุคคลหนึ่งต่างหากจากโจทก์ รายจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ที่โจทก์จ่ายไปจึงเป็นรายจ่ายเพื่อให้เกิดกำไรแก่นิติบุคคลอื่น เป็นรายจ่ายซึ่งมิใช่รายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการของโจทก์โดยเฉพาะ ต้องห้ามไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตาม ป. รัษฎากร มาตรา 65 ตรี (13) ส่วนค่าจ้างผู้สอบบัญชีและนักกฎหมายในต่างประเทศที่โจทก์จ่ายไปในการตรวจสอบฐานะและทรัพย์สินของบริษัท ท. เพื่อให้บริษัท ฮ. และบริษัท อ. เข้าไปซื้อหุ้นในบริษัท ท. เป็นรายจ่ายที่โจทก์จ่ายไปเพื่อประโยชน์แก่บริษัท ฮ. และบริษัท อ. ซึ่งเป็นนิติบุคคลอื่นต่างหากจากโจทก์ ถือไม่ได้ว่าเป็นรายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการของโจทก์โดยเฉพาะ จึงต้องห้ามไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา 65 ตรี (13) เช่นเดียวกัน
ตามสัญญาซื้อขายฐานลูกค้าของอีเอ็ม 2 มีความว่า โจทก์จ่ายเงินจำนวน 3,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ ให้แก่บริษัทอีเอ็ม 2 เพื่อเป็นค่าตอบแทนสำหรับการให้บริการด้านการตลาดและการค้าอันเกี่ยวกับลูกค้า โดยบริษัทอีเอ็ม 2 ต้องให้ข้อมูลที่จำเป็นเกี่ยวกับชื่อ ที่อยู่ และข้อมูลที่จำเป็นของลูกค้าของบริษัทอีเอ็ม 2 และอื่น ๆ แก่โจทก์และบริษัทในเครือของโจทก์ ข้อสัญญาดังกล่าวต้องตามวัตถุประสงค์ของโจทก์ที่ต้องการเลิกสัญญาผู้จัดจำหน่ายกับบริษัทอีเอ็ม 2 ก่อนครบกำหนดเวลาและเพื่อให้โจทก์สามารถเข้าไปจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของโจทก์ในประเทศสหรัฐอเมริกาได้โดยไม่เป็นการผิดสัญญาผู้จัดจำหน่ายระหว่างโจทก์กับบริษัทอีเอ็ม 2 ข้อตกลงการเลิกสัญญาจึงเป็นการก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ ส่วนสัญญาซื้อขายฐานลูกค้าฯก็ทำให้โจทก์ได้รับข้อมูลต่าง ๆ ที่จำเป็นเกี่ยวกับลูกค้า เป็นต้นว่า ชื่อ ที่อยู่ ราคาและข้อตกลงทางการค้าของสิ่งที่บริษัทอีเอ็ม 2 จำหน่ายแก่ลูกค้า อันเป็นข้อสนเทศเกี่ยวกับประสบการณ์ทางพาณิชยกรรมของบริษัทอีเอ็ม 2 การที่โจทก์จ่ายเงินเพื่อให้ได้สิทธิในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของโจทก์ในประเทศสหรัฐอเมริกาและได้รับข้อมูลข้อสนเทศเกี่ยวกับการตลาดและลูกค้าของบริษัทอีเอ็ม 2 เช่นนี้จึงมีลักษณะเป็นการลงทุน ต้องห้ามไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายตามมาตรา 65 ตรี (5) แต่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิโดยหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาในอัตราร้อยละ 10 ของมูลค่าต้นทุนเพื่อการได้มาซึ่งสิทธิตามมาตรา 65 ทวิ (2) ประกอบพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 และการที่โจทก์จ่ายเงินค่าสิทธิอันเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (3) ให้แก่บริษัทอีเอ็ม 2 ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายแล้วนำส่งพร้อมยื่นรายการตามแบบตามมาตรา 70 วรรคหนึ่ง
ตามอนุสัญญาฯระหว่างประเทศไทยกับประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์ ข้อ 2 และ 11 เห็นได้ว่า ดอกเบี้ยเงินกู้ที่ฝ่ายคู่สัญญาผู้กู้ซึ่งอยู่ในประเทศไทยคือโจทก์ส่งไปให้แก่ผู้รับซึ่งเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามอนุสัญญาฯ ต่อเมื่อผู้รับซึ่งเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์นั้นเป็นผู้มีสิทธิเรียกร้องหนี้เช่นว่านั้น และดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นเงินได้ของผู้รับนั้นซึ่งต้องเสียภาษีในประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์ด้วย เมื่อโจทก์ไม่ได้นำสืบพยานหลักฐานหักล้างข้อโต้แย้งของจำเลยทั้งสี่ให้เห็นว่าธนาคารสาขาในประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์ผู้รับเงินดอกเบี้ยจากโจทก์เป็นคู่สัญญาผู้ให้กู้และเป็นผู้มีสิทธิเรียกร้องเงินดอกเบี้ยจากโจทก์ ลำพังแต่ข้ออ้างของโจทก์ที่ว่าผู้รับดอกเบี้ยเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์และมีหน้าที่ต้องเสียภาษีในประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์ จึงถือไม่ได้ว่าการจ่ายเงินดอกเบี้ยของโจทก์ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามอนุสัญญาฯ
โจทก์นำใบกำกับภาษีซื้อของเดือนภาษีพฤษภาคม 2538 ถึงเดือนภาษีธันวาคม 2538 มาคำนวณเป็นภาษีซื้อของเดือนมกราคม 2539 เนื่องจากความล่าช้าของฝ่ายบัญชีของโจทก์ ความผิดพลาดดังกล่าวเกิดจากการกระทำของโจทก์หรือพนักงานของโจทก์เอง ใบกำกับภาษีซื้อมีผลโดยตรงต่อการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มในแต่ละเดือนภาษี ใบกำกับภาษีซื้อที่ล่วงเลยกำหนดเวลาการใช้ย่อมไม่สามารถนำมาใช้ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ หากนำมาใช้ย่อมมีผลทำให้ภาษีมูลค่าเพิ่มของเดือนภาษีที่มีการใช้ลดน้อยลงจากที่ต้องชำระจริง อาจถึงขนาดได้รับคืนภาษีหรือได้รับคืนภาษีสูงกว่าที่มีสิทธิได้รับ จึงเป็นกรณีที่อาจเกิดความเสียหายได้ กรณียังไม่มีเหตุสมควรให้งดเบี้ยปรับแก่โจทก์ ที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เชื่อว่าโจทก์ไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีและให้ความร่วมมือในการตรวจสอบด้วยดี จึงลดเบี้ยปรับลงคงเรียกเก็บเพียงร้อยละ 50 ของเบี้ยปรับตามกฎหมายตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป. 81/2542 ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2542 เหมาะสมแล้ว
จำเลยทั้งสี่ไม่ได้ยกความว่า "แม้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จะมีคำวินิจฉัยให้ปลดภาษีมูลค่าเพิ่มแก่โจทก์แล้ว แต่จำเลยที่ 1 ก็มีสิทธินำเงินจำนวนดังกล่าวไปหักกลบลบหนี้กับหนี้ภาษีอื่นที่โจทก์ต้องชำระแก่จำเลยที่ 1" ขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในคำให้การ อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลาง ทั้งไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรฯ มาตรา 29
ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธินำเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่โจทก์มีสิทธิได้รับคืนไปหักกลบลบหนี้กับหนี้ภาษีที่โจทก์ต้องชำระแก่จำเลยที่ 1 ตามหนังสือแจ้งการประเมินเพราะโจทก์ไม่ยอมรับการประเมินและได้อุทธรณ์โต้แย้ง สิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 จึงยังมีข้อต่อสู้อยู่ไม่อาจนำมาหักกลบลบหนี้ได้ ทั้งโจทก์ยังได้รับอนุมัติให้ทุเลาการชำระภาษีในระหว่างการอุทธรณ์แล้ว ไม่ใช่ข้อที่โจทก์กล่าวมาในคำฟ้อง จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลาง ทั้งไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรฯ มาตรา 29
แม้ภาษีตามการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินในคดีนี้จะเป็นภาษีที่เกิดจากรายได้และรายจ่ายของรอบระยะเวลาบัญชีปี 2539 เพียงปีเดียว แต่ภาษีตามหนังสือแจ้งการประเมินแต่ละฉบับเป็นภาษีคนละประเภทภายใต้บังคับกฎหมายคนละบทมาตรา คำนวณจากเงินคนละจำนวน มีวิธีการคำนวณและกำหนดเวลาชำระแตกต่างกัน ทุนทรัพย์ตามหนังสือแจ้งการประเมินแต่ละฉบับจึงเป็นคนละข้อหาคนละคดีแยกต่างหากจากกัน คำสั่งศาลภาษีอากรกลางที่ให้โจทก์ชำระค่าขึ้นศาลตามทุนทรัพย์ตามหนังสือแจ้งการประเมินแต่ละฉบับจึงถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 913/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาค้ำประกัน, ดอกเบี้ยผิดสัญญา, และการแก้ไขคำพิพากษาให้ถูกต้องตามกฎหมาย
โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 5 รับผิดตามสัญญาค้ำประกัน จำเลยที่ 5 ให้การต่อสู้ว่าหนังสือสัญญาค้ำประกันเป็นเอกสารปลอม โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์ว่าจำเลยที่ 5 ได้ทำสัญญาค้ำประกันไว้แก่โจทก์จริง เมื่อหนังสือสัญญาค้ำประกันดังกล่าวไม่ได้ปิดแสตมป์หรือเสียอากรตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118 จึงใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีไม่ได้ ถือได้ว่าโจทก์ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญ โจทก์จึงฟ้องร้องบังคับคดีแก่จำเลยที่ 5 ไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 680 วรรคสอง
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าหนังสือสัญญาค้ำประกันมิได้ปิดอากรแสตมป์ใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีไม่ได้แล้ว จำเลยที่ 3 และที่ 4 ซึ่งร่วมกับจำเลยที่ 5 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ตามสัญญาทรัสต์รีซีทต่อโจทก์ จึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันด้วย แม้จำเลยที่ 3 และที่ 4 จะไม่ได้อุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็มีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1)
ในการคิดดอกเบี้ยจากต้นเงินที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระตามสัญญาทรัสต์รีซีทโจทก์จะต้องปฏิบัติตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งตามสัญญาทรัสต์รีซีทในข้อ 4 ระบุว่า จำเลยที่ 1 ต้องนำเงินมาชำระค่าสินค้าในจำนวนและกำหนดเวลาที่ระบุไว้ในรายละเอียดแนบท้ายสัญญาทรัสต์รีซีท โดยยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บได้ตามประกาศของโจทก์นับแต่วันที่โจทก์ได้ชำระเงินค่าสินค้าแทนจำเลยที่ 1 รวมทั้งค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายใดๆ เกี่ยวกับหนี้ทรัสต์รีซีท และในสัญญาข้อ 7 ระบุว่าในกรณีที่จำเลยที่ 1 ตกเป็นผู้ผิดสัญญา จำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราตามที่กำหนดในข้อ 4 เมื่อตามสัญญาทรัสต์รีซีทข้อ 7 ระบุให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในกรณีที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดได้เพียงตามอัตราที่ระบุในสัญญาข้อ 4 และข้อความในสัญญาข้อ 4 ดังกล่าวข้างต้นเป็นกรณีระบุถึงอัตราดอกเบี้ยในกรณีที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระภายในกำหนดเวลาตามสัญญาอันเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ยังไม่ผิดนัดซึ่งแม้สัญญาข้อ 4 นี้ จะระบุให้ใช้อัตราดอกเบี้ยสูงสุดตามประกาศของโจทก็ตาม ย่อมหมายถึงอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่โจทก์เรียกเก็บจากลูกค้าที่ไม่ผิดนัดชำระหนี้เท่านั้น ฉะนั้น โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ได้เพียงในอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไปที่ไม่ผิดนัดตามประกาศของโจทก์เท่านั้น มิใช่อัตราสูงสุดในกรณีลูกค้าผิดเงื่อนไขหรือผิดสัญญา เพราะตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด ข้อ 3 (4) กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์เรียกดอกเบี้ยในอัตราสำหรับลูกค้าปฏิบัติผิดเงื่อนไขได้เฉพาะกรณีที่ลูกค้าปฏิบัติผิดเงื่อนไขแล้วเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 905/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยตามสัญญาไม่เป็นเบี้ยปรับ แม้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง
ข้อตกลงตามสัญญากู้เงินระบุไว้ชัดเจนว่าผู้กู้ยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี หรือตามอัตราดอกเบี้ยใหม่ ซึ่งผู้ให้กู้อาจเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นหรือต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ข้างต้นนี้ ดังนั้น โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ตามสัญญาได้อยู่แล้ว ไม่ว่าจำเลยทั้งสองในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ตามสัญญาได้อยู่แล้ว ไม่ว่าจำเลยทั้งสองจะผิดนัดหรือไม่ก็ตาม ข้อตกลงดังกล่าวมิใช่เป็นการกำหนดค่าเสียหายกันไว้ล่วงหน้าหากไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรจึงไม่ใช่เบี้ยปรับ แม้ทางปฏิบัติโจทก์จะยอมผ่อนผันให้โดยคิดดอกเบี้ยไม่ถึงอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ตามที่ตกลงกันไว้ และต่อมาโจทก์ได้ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยอีกหลายครั้งจนครั้งสุดท้ายจากอัตราร้อยละ 6 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี ก็ไม่ทำให้สิทธิของโจทก์ที่จะเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองในอัตราที่ไม่เกินกว่าที่กำหนดไว้ตามสัญญากลายเป็นเบี้ยปรับไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 838/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประกันชีวิต: การบอกล้างสัญญาและการคิดดอกเบี้ยเมื่อผิดนัด
ผู้เอาประกันชีวิตถึงแก่ความตายวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2540 จำเลยผู้รับประกันภัยมีหนังสือลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2540 ถึงโจทก์ผู้รับประโยชน์บอกล้างสัญญาประกันชีวิตและปฏิเสธการจ่ายเงินสินไหมมรณกรรม จึงเป็นการผิดสัญญาและถือว่าจำเลยผิดนัด โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจำเลยได้นับแต่วันดังกล่าว มิใช่นับแต่วันผู้เอาประกันถึงแก่ความตาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8141/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยึดหน่วงราคาสินค้าชำรุด การผิดนัดชำระหนี้ และดอกเบี้ยตามกฎหมาย
การที่โจทก์ส่งมอบสินค้าและการที่ทำชำรุดบกพร่อง จำเลยชอบที่จะยึดหน่วงราคาสินค้าและค่าสินจ้างไว้ได้ ดังนี้ การชำระหนี้จึงยังมิได้กระทำลงเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งจำเลยผู้เป็นลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบ จะถือว่าจำเลยผิดนัดตั้งแต่วันครบกำหนดชำระหนี้ตามที่ตกลงกันไม่ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 205 โจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ย แต่เมื่อศาลกำหนดให้จำเลยใช้เงินจำนวนนี้ จึงเป็นหนี้เงินที่จำเลยต้องชำระตามคำพิพากษาและต้องเสียดอกเบี้ยนับแต่วันที่โจทก์มีสิทธิจะได้รับ คือ นับจากวันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเป็นต้นไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8117/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคิดดอกเบี้ยและกำหนดระยะเวลาชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี การปฏิบัติตามธรรมเนียมธนาคาร
ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกำหนดให้คิดดอกเบี้ยทุกวัน และกำหนดส่งเป็นรายเดือนทุกวันปิดบัญชีสิ้นเดือนของโจทก์ทุก ๆ เดือน ทั้งยังระบุให้โจทก์และจำเลยที่ 1 ปฏิบัติไปตามธรรมเนียมประเพณีของธนาคาร ดังนั้น การคิดดอกเบี้ยของโจทก์ทุกวันและกำหนดส่งเป็นรายเดือนทุกวันปิดบัญชีสิ้นเดือน จึงเป็นไปตามประเพณีของธนาคารตามข้อตกลงระหว่างคู่สัญญา อันเป็นการกำหนดการนับระยะเวลาโดยนิติกรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/1 แม้วันสิ้นเดือนเป็นวันหยุดทำการ โจทก์ก็คิดหักทอนบัญชีเมื่อสิ้นเดือนได้โดยไม่ถือเอาวันเปิดทำการถัดไปเป็นวันปิดบัญชี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8084/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อัตราดอกเบี้ยสัญญาซื้อขาย, การคิดดอกเบี้ยผิดสัญญา, การบังคับคดี, และขอบเขตความรับผิดของผู้ค้ำประกัน
สัญญาทรัสต์รีซีท ข้อ 4 ระบุข้อตกลงเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยนไว้ 4 ประการ โดยกำหนดให้โจทก์เป็นฝ่ายเลือก แต่สำหรับแนวทาง 2 ประการ คือ อัตราแลกเปลี่ยนที่ตกลงกันไว้โดยเฉพาะ และอัตราที่ได้กำหนดไว้แนบท้ายหนังสือนั้น ไม่ปรากฏว่ามีการตกลงกันไว้โดยเฉพาะ และอัตราที่ได้กำหนดไว้แนบท้ายหนังสือนั้น ไม่ปรากฏว่ามีการตกลงหรือกำหนดระบุแนบท้ายไว้แต่อย่างใด จึงยังคงเหลือแนวทางการใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่โจทก์อาจเลือกใช้อัตราแลกเปลี่ยนได้ตามสัญญาดังกล่าวอีกเพียง 2 แนวทาง กล่าวคือ ใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่โจทก์ต้องชำระค่าสินค้าแทนจำเลยที่ 1 หรือใช้อัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารโจทก์ในวันครบกำหนดชำระเงินตามสัญญาทรัสต์รีซีทเท่านั้น การที่ธนาคารตัวแทนโจทก์ในต่างประเทศได้จ่ายเงินค่าสินค้าให้แก่ผู้ขายแล้วหักเงินในบัญชีเงินฝากของโจทก์ในต่างประเทศเท่ากับว่าโจทก์ได้จ่ายเงินไปเป็นเงินเยนอันเป็นเงินตราต่างประเทศ โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ใช้เงินไทยชำระหนี้ดังกล่าวไปและไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ใช้เงินไทยไปชำระหนี้ดังกล่าวให้แก่ธนาคารตัวแทนโจทก์ไปเมื่อใด หนี้จำนวนเงินที่โจทก์จ่ายไปจึงยังคงเป็นหนี้เงินต่างประเทศอยู่ เมื่อไม่มีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยนอันจะถือได้ว่าเป็นอัตราแลกเปลี่ยนที่โจทก์ต้องชำระค่าสินค้าแทนจำเลยที่ 1 จึงไม่มีเหตุที่จะใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินเยนเป็นเงินไทยในวันที่ธนาคารตัวแทนโจทก์ได้จ่ายเงินแทนโจทก์หรือในวันที่ธนาคารตัวแทนโจทก์หักบัญชีเงินฝากของโจทก์ในต่างประเทศตามที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์แต่อย่างใด ดังนั้น โจทก์จึงชอบที่จะเลือกใช้อัตราแลกเปลี่ยนในวันครบกำหนดชำระตามสัญญาทรัสต์รีซีทได้อีกทางหนึ่งตามที่มีข้อตกลงกันไว้ในสัญญาทรัสต์รีซีทข้อ 4
ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระดอกเบี้ยในอัตราต่าง ๆ ตามประกาศของธนาคารโจทก์ ดังที่ปรากฏในรายงานการคำนวณภาระหนี้ของลูกค้าและในอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ตามประกาศธนาคารโจทก์นั้น เป็นอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้าที่ผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งควรเป็นเบี้ยปรับที่หากสูงเกินส่วนศาลย่อมพิจารณาลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ แต่ตามสัญญาทรัสต์รีซีทจะเห็นได้ว่า ข้อความในสัญญาทรัสต์รีซีทข้อ 4 มีลักษณะเป็นการกำหนดให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินที่โจทก์ได้จ่ายค่าสินค้าแทนจำเลยที่ 1 ไปตามเลตเตอร์ออฟเครดิตคืนให้แก่โจทก์ โดยกำหนดให้จำเลยที่ 1 เริ่มชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่โจทก์ได้ชำระค่าสินค้าแทนจำเลยที่ 1 เป็นต้นไป ซึ่งกรณีเช่นนี้หากจำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์ครบถ้วนภายในกำหนดเวลาที่โจทก์บอกกล่าวทวงถาม ย่อมไม่ถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้แก่โจทก์ ส่วนกรณีที่จำเลยที่ 1 ตกเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้แก่โจทก์ ก็มีสัญญาข้อ 7 ระบุถึงการชำระดอกเบี้ยในกรณีผิดนัดไว้อีกข้อหนึ่งต่างหาก โดยระบุว่าให้ใช้อัตราตามที่กำหนดในข้อ 4 สัญญาทรัสต์รีซีทข้อ 4 นี้ เป็นข้อสัญญาที่ระบุถึงอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์มีสิทธิคิดเอาแก่จำเลยที่ 1 ในช่วงที่จำเลยที่ 1 ยังไม่ผิดนัดชำระหนี้แก่โจทก์ และในการเรียกดอกเบี้ยของโจทก์ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ โจทก์จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด ตาม พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 14 (2) และในข้อ 3 ของประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องการกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด ฉบับลงวันที่ 20 ตุลาคม 2536 ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 14 (2) แห่งพระราชบัญญัติ ดังกล่าว และเป็นประกาศที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่ทำสัญญาทรัสต์รีซีทคดีนี้จนถึงวันฟ้อง เมื่อพิจารณาถึงหลักเกณฑ์การเรียกดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยดังกล่าวและข้อความเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาทรัสต์รีซีท ข้อ 4 ที่ระบุว่า "อัตราสูงสุด" ประกอบกับข้อความที่ขยายความคำว่า "อัตราสูงสุด" ว่า "ที่ธนาคาร (โจทก์) ประกาศกำหนดภายใต้ประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย เกี่ยวกับการกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด" จึงหมายถึง อัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ถูกต้องภายใต้หลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยออกประกาศกำหนดไว้ให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยฉบับลงวันที่ 20 ตุลาคม 2536 ดังกล่าว อันได้แก่อัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไป (ที่ไม่ผิดนัด) ตามที่ปรากฏในประกาศธนาคารโจทก์ฉบับต่าง ๆ นั่นเอง และเมื่อสัญญาทรัสต์รีซีทข้อ 7 ที่ตกลงกันว่าในกรณีผิดนัดให้คิดดอกเบี้ยในอัตราตามที่กำหนดในข้อ 4 ก็ย่อมหมายถึงอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไป (ที่ไม่ผิดนัด) ตามประกาศธนาคารโจทก์เช่นเดียวกัน แต่ปรากฏว่าในการคิดดอกเบี้ยของโจทก์แก่จำเลยที่ 1 ในอัตราต่าง ๆ ตามรายงานการคำนวณภาระหนี้ของลูกหนี้ โจทก์คิดดอกเบี้ยแก่จำเลยที่ 1 ในอัตราสำหรับลูกค้าที่ผิดนัดซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะแม้เป็นช่วงเวลาภายหลังจากที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดแล้ว โจทก์ก็มีสิทธิคิดดอกเบี้ยแก่จำเลยที่ 1 ไม่เกินอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไป (ที่ไม่ผิดนัด) ตามประกาศธนาคารโจทก์เท่านั้น ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาในส่วนดอกเบี้ยมาดังกล่าวจึงไม่ถูกต้อง และปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้
จำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้ชั้นต้น ส่วนจำเลยที่ 2 ถึง 4 เป็นผู้ค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 หนี้ของจำเลยทั้งสี่ในคดีนี้เป็นหนี้ที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจึงเห็นสมควรพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ที่มิได้อุทธรณ์ด้วย ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7546/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เบี้ยปรับสัญญาประกันตัวผู้ต้องหา: การคิดดอกเบี้ยและอายุความ
แม้สัญญาประกันตัวผู้ต้องหาระบุเพียงว่า หากผิดสัญญาไม่ส่งตัวผู้ต้องหาตามกำหนดนัดยินยอมชดใช้เงิน 400,000 บาท โดยมิได้กำหนดเรื่องดอกเบี้ยไว้ด้วย แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่ส่งตัวผู้ต้องหาและจะต้องชำระเบี้ยปรับจำนวน 400,000 บาท หนี้เบี้ยปรับดังกล่าวเป็นหนี้เงินจึงต้องอยู่ในบังคับแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 224 ซึ่งให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี แต่หนี้เงินเบี้ยปรับนี้ จะถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดต้องรับผิด เมื่อโจทก์ได้ทวงถามแล้ว จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือทวงถามให้ชำระเงินเบี้ยปรับ ซึ่งครบกำหนดเวลาชำระเงินตามหนังสือทวงถามในวันที่ 12 เมษายน 2542 เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระเงินเบี้ยปรับในวันดังกล่าว จึงถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดต้องรับผิดดอกเบี้ยผิดนัดตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ทำสัญญาประกันตัวผู้ต้องหากับโจทก์ แล้วไม่ส่งตัวผู้ต้องหาตามกำหนด กรณีจึงเป็นเรื่องผิดสัญญา และกรณีนี้กฎหมายมิได้บัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30
of 166