พบผลลัพธ์ทั้งหมด 113 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6972/2537
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การตีใช้หนี้ด้วยที่ดินมรดกต้องมีข้อตกลงราคาชัดเจน และการครอบครองเพื่อประกันหนี้ไม่ทำให้ได้สิทธิครอบครอง
โจทก์ฟ้องว่า ส.ได้ยืมเงินโจทก์ไป 30,000 บาท และมอบที่ดินของส.ให้โจทก์เข้าครอบครองทำประโยชน์เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ จำเลยทั้งสองในการเพียงแต่ว่า ส.จะเคยยืมเงินโจทก์เมื่อใด จำนวนเท่าไรและมอบที่ดินให้โจทก์ครอบครองทำประโยชน์หรือไม่จำเลยทั้งสองไม่รับรอง เป็นคำให้การไม่ชัดแจ้งว่าจำเลยทั้งสองปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วนถือไม่ได้ว่าจำเลยให้การปฏิเสธ อีกทั้งศาลชั้นต้นก็มิได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ จึงต้องฟังตามที่โจทก์ฟ้องว่าส.ได้ยืมเงินโจทก์ไป 30,000 บาท และมอบที่ดินของส.ให้โจทก์เข้าครอบครองทำประโยชน์เพื่อประกันการชำระหนี้ โจทก์นำสืบว่า ปี 2527 โจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้เงินยืมกับค่าทำบุญศพให้ส.เป็นเงินทั้งสิ้น 100,000 กว่าบาทจำเลยทั้งสองจึงพูดยกที่ดินของ ส.ให้เป็นการตีใช้หนี้โดยจำเลยที่ 2 จะไปขออนุญาตต่อศาลเพื่อโอนให้ดังนี้แม้จะได้ความตามที่โจทก์นำสืบก็ตาม ก็เป็นกรณีที่โจทก์ผู้ให้ยืมยอมรับเอาทรัพย์สินอย่างอื่นเป็นการชำระหนี้แทนเงินที่กู้ยืม แต่ไม่ปรากฎว่าได้มีการตกลงว่าที่ดินที่ตีใช้หนี้เงินยืมมีราคาเท่าใด เท่ากับราคาในท้องตลาดในเวลาและสถานที่ส่งมอบหรือไม่ ข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 656 วรรคสองตกเป็นโมฆะตามมาตรา 656 วรรคสาม โจทก์จึงไม่อาจจะฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการโอนที่ดินพิพาทตามข้อตกลงดังกล่าวได้ การที่จำเลยทั้งสองพูดยกที่ดินของส.ให้เป็นการตีใช้หนี้นั้นยังมีเงื่อนไขต่อไปว่า จำเลยที่ 2 จะต้องไปร้องขออนุญาตต่อศาลเพื่อโอนให้โจทก์เนื่องจากขณะนั้นจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้รับมรดกของ ส.ยังเป็นผู้เยาว์อยู่ มิได้เป็นการยกให้โดยเด็ดขาดทันทีจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้มีเจตนาสละการครอบครองที่ดินโจทก์ครอบครองที่ดินโดยส.มอบให้ครอบครองทำประโยชน์เพื่อเป็นประกันการใช้หนี้เงินยืมเป็นการครอบครองแทนส.เมื่อส.ถึงแก่ความตายก็ถือได้ว่าโจทก์ยังครอบครองแทนทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของส.แม้โจทก์จะครอบครองนานเพียงใดก็หาได้สิทธิครอบครองไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6065/2537
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิในที่ดินมรดก การครอบครอง และภารจำยอม: ศาลพิจารณาความเป็นธรรมในการแบ่งมรดกและกำหนดภารจำยอมใหม่
โจทก์ทั้งสองได้รับส่วนแบ่งมรดกคือบ้านและที่ดินที่ใช้ปลูกบ้านและได้เข้าครอบครองเป็นส่วนสัด ที่ดินพิพาทดังกล่าวจึงตกเป็นสิทธิของโจทก์ทั้งสองการที่โจทก์ทั้งสองผ่านที่ดินของจำเลยและทายาทอื่นออกสู่ทาสาธารณะโดยโจทก์ทั้งสองไม่มีทางออกทางอื่นเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี โจทก์ทั้งสองจึงได้ภารจำยอมในการผ่านที่ดินส่วนที่เป็นของจำเลยและทายาทอื่น แต่ทางภารจำยอมที่โจทก์ทั้งสองแสดงไว้แตะต้องเพียงส่วนหนึ่งแห่งภารยทรัพย์และมีลักษณะเป็นการเพิ่มภาระแก่ที่ดินอันเป็นภารยทรัพย์เกินความจำเป็น ศาลเห็นสมควรกำหนดทางภารจำยอมของโจทก์ทั้งสองเสียใหม่ให้เหมาะสมและเป็นธรรม การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโดยวินิจฉัยว่าเงินที่ อ. ซื้อที่ดินพิพาทที่ส่วนที่เป็นมรดกรวมอยู่ด้วย ผลของคำพิพากษาย่อมทำให้เสียสิทธิของจำเลยจำเลยจึงมีสิทธิฎีกาในปัญหาข้อนี้ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5999/2537
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การครอบครองที่ดินมรดกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และสิทธิของทายาทในการเรียกคืน
มารดาโจทก์มอบที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินมรดกของบิดาโจทก์ให้จำเลยครอบครองทำกินต่างดอกเบี้ย การที่จำเลยนำที่ดินดังกล่าวไปขอออก น.ส.3 ก. ใส่ชื่อจำเลยเป็นเจ้าของนั้น ฟังได้เพียงว่าเป็นการครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาทของบิดาโจทก์เท่านั้นจำเลยจึงไม่ได้สิทธิครอบครอง การออก น.ส.3 ก. ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะที่ดินพิพาทยังเป็นมรดกของบิดาโจทก์ตกได้แก่ทายาท โจทก์ในฐานะบุตรที่บิดาโจทก์รับรองแล้วจึงเป็นทายาทมีสิทธิฟ้องเรียกที่ดินพิพาทจากจำเลย แม้โจทก์จะมิได้ขอให้เพิกถอน น.ส.3 ก. ที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาก็มีอำนาจสั่งเพิกถอน น.ส.3 ก. ดังกล่าวได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3236/2537 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การโอนสิทธิในที่ดินมรดกผ่านสัญญาแบ่งทรัพย์มรดก ซึ่งเป็นข้อยกเว้นตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ
ที่พิพาทเป็นของสหกรณ์นิคมจัดสรรให้มารดาของโจทก์และจำเลยทำกิน เนื่องจากมารดาของโจทก์และจำเลยชรามากและเจ็บป่วยไม่สะดวกที่จะเข้าประชุมได้ จึงให้จำเลยถือสิทธิแทน ดังนี้เมื่อมารดาตายสิทธิในที่พิพาทจึงเป็นทรัพย์มรดกซึ่งจะต้องตกเป็นของทายาทตามกฎหมาย จำเลยเป็นเพียงผู้ถือสิทธิแทนทายาท กรณีพิพาทระหว่างโจทก์จำเลยเกี่ยวกับสิทธิในที่พิพาทได้มีการไกล่เกลี่ยและตกลงกันเป็นสัญญาแบ่งทรัพย์มรดกระหว่างโจทก์และจำเลย ซึ่งการโอนด้วยการตกทอดโดยทางมรดกเป็นข้อยกเว้นตาม มาตรา12 แห่ง พ.ร.บ. จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 อนุญาตให้ทำได้ สัญญาดังกล่าวหาได้มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามโดยกฎหมายอันจะตกเป็นโมฆะไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2078/2537 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิในที่ดินมรดก การครอบครองทำประโยชน์ และอายุความฟ้องแบ่งมรดก
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยมีชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์และโฉนดที่ดินโดยโจทก์ทั้งสี่และ ส. เจ้ามรดกตกลงให้จำเลยทั้งสองใส่ชื่อไว้แทน แสดงว่าที่ดินมิใช่ของจำเลยทั้งสอง แต่โจทก์ทั้งสี่และ ส. ให้จำเลยทั้งสองลงชื่อไว้แทนเท่านั้นสิทธิครอบครองและกรรมสิทธิ์ยังเป็นของทายาททุกคนมิใช่ของจำเลยทั้งสองการที่โจทก์ทั้งสี่ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองแบ่งแยกที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสี่หากฟ้องโจทก์ทั้งสี่เป็นความจริงแล้ว คำขอบังคับก็เป็นการขอให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ โฉนดที่ดิน และการให้ไปในตัว โจทก์ทั้งสี่ไม่จำเป็นต้องไปฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ โฉนดที่ดินและการให้เสียก่อน ดังนั้น คำพิพากษาที่วินิจฉัยให้จดทะเบียนแบ่งที่ดินดังกล่าวให้โจทก์ทั้งสี่จึงไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ หลังจาก ผ. เจ้ามรดกถึงแก่กรรม โจทก์บางคนร่วมกับจำเลยที่ 1 ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดมา และการที่จำเลยทั้งสองมีชื่อในที่ดินพิพาทเป็นการถือสิทธิและครอบครองแทนทายาทโจทก์ทั้งสี่ซึ่งเป็นทายาทของ ส.และผ. ย่อมมีสิทธิฟ้องแบ่งมรดกได้แม้จะฟ้องเกิน 1 ปี นับแต่เจ้ามรดกตาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2078/2537
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิในที่ดินมรดก: การแบ่งแยกที่ดินหลังการใส่ชื่อทายาทอื่นในเอกสารสิทธิ มิใช่การโอนสิทธิ
โจทก์ทั้งสี่ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสี่และจำเลยทั้งสองรับมรดกที่ดินร่วมกันมา โจทก์ทั้งสี่ตกลงให้จำเลยทั้งสองใส่ชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์และโฉนดที่ดินไว้แทน สิทธิครอบครองและกรรมสิทธิ์ยังเป็นของทายาททุกคนมิใช่ของจำเลยทั้งสอง การที่โจทก์ทั้งสี่มีคำขอบังคับให้จำเลยทั้งสองแบ่งแยกที่ดินให้โจทก์ทั้งสี่หากฟังเป็นความจริง คำขอบังคับคดีก็เป็นการขอให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์โฉนดที่ดินและการให้ไปในตัว ดังนั้น โจทก์ทั้งสี่จึงไม่จำต้องไปฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์โฉนดที่ดินและการให้เสียก่อน และศาลย่อมพิพากษาให้จำเลยทั้งสองจดทะเบียนโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ และโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสี่ตามส่วนที่ได้รับมรดกได้ ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5350/2536
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิในที่ดินมรดก: การยกที่ดินให้บุตรและสิทธิของทายาทอื่น, อายุความ
แม้จะไม่ปรากฏใบแต่งทนายสำหรับ อ.แต่อ. ได้ เรียงคำฟ้องและดำเนินกระบวนพิจารณาแทนโจทก์ จน เสร็จการพิจารณาของศาลชั้นต้นโดยโจทก์ยอมรับเอาผลของการดำเนินกระบวนพิจารณานั้นตลอดมา และฝ่ายจำเลยก็มิได้คัดค้านประการใดมาแต่ต้น ตามพฤติการณ์น่าเชื่อว่าโจทก์ได้ให้ อ. เป็นทนายความของโจทก์ในคดีนี้แล้วเมื่อปรากฏว่ายังไม่มีใบแต่งทนายสำหรับ อ. อยู่ในสำนวนศาลก็มีอำนาจที่จะอนุญาตให้แก้ไขจัดทำเสียให้ถูกต้องได้ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 แม้ศาลชั้นต้นมิได้ให้แก้ไขข้อบกพร่องก่อนพิพากษาคดี แต่โจทก์ก็ได้ยื่นใบแต่งทนายแต่งตั้ง อ.เป็นทนายความในคดีพร้อมกับการยื่นอุทธรณ์ อันเป็นการแก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าวการดำเนินกระบวนพิจารณาของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์ที่ ย.และ จ.ได้มาในระหว่างเป็นสามีภรรยากัน เมื่อ ย.ถึงแก่กรรม การสมรสย่อมสิ้นสุดลงโดยผลของกฎหมาย ทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยาก็ต้องแบ่งกันฝ่ายละครึ่ง ดังนั้น จ. จึงยกที่ดินพิพาทให้จำเลยได้เฉพาะส่วนที่เป็นของ จ. เท่านั้น แต่ส่วนที่เป็นของ ย. ต้องเป็นทรัพย์มรดกตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมโจทก์ทั้งห้าและจำเลยเป็นบุตรของ ย. ซึ่งเป็นเจ้ามรดกโจทก์ทั้งห้าและจำเลยจึงเป็นทายาทโดยธรรมลำดับที่ 1 จ.เป็นคู่สมรส เป็นทายาทโดยธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1629 มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งมรดกเสมือนทายาทชั้นบุตรตามมาตรา 1635 ที่ดินพิพาทส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของ ย.ต้องแบ่งออกเป็น 7 ส่วนเท่า ๆ กัน เพื่อแบ่งให้แก่โจทก์ทั้งห้า จำเลยและ จ. คนละ 1 ส่วน ปัญหาที่จำเลยฎีกาว่า คดีขาดอายุความนั้น ในชั้นอุทธรณ์จำเลยมิได้ยกอายุความขึ้นอ้างเป็นประเด็นให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไว้ ประเด็นเรื่องอายุความจึงมิใช่เป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในชั้นอุทธรณ์ ทั้งมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคแรกศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2140/2536
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การครอบครองปรปักษ์และการยึดถือเพื่อตนเองในที่ดินมรดก แม้การแลกเปลี่ยนที่ดินของผู้เยาว์เป็นโมฆะ
เดิมมารดาจำเลยได้ยกที่ดินมี น.ส.3 ให้โจทก์จำเลย โดยจำเลยเป็นฝ่ายครอบครองทำประโยชน์ในที่ดิน ต่อมาบิดาโจทก์ได้ตกลงมอบที่ดินส่วนของโจทก์ให้จำเลย ส่วนจำเลยได้ซื้อที่ดินของบุคคลอื่นมอบให้ฝ่ายโจทก์เป็นการแลกเปลี่ยนกันแล้ว แม้ขณะนั้นโจทก์อายุ 14 ปี ยังเป็นผู้เยาว์อยู่ และไม่ปรากฏว่าบิดาโจทก์ได้รับอนุญาตจากศาลให้แลกเปลี่ยนที่ดินของโจทก์กับจำเลยได้อันทำให้การแลกเปลี่ยนนี้เป็นโมฆะก็ตาม ก็ถือว่าจำเลยซึ่งอยู่ในฐานะครอบครองที่ดินส่วนของโจทก์แทนโจทก์มาตั้งแต่ได้รับการยกให้นั้นได้ยึดถือเพื่อตนในส่วนของโจทก์แล้ว จำเลยจึงมีสิทธิครอบครองในที่ดินทั้งหมด หาใช่ยังคงครอบครองแทนในส่วนของโจทก์ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1542/2536 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
กรรมสิทธิ์รวมในที่ดินมรดก: การครอบครองแทนทายาทอื่นไม่อาจทำให้กรรมสิทธิ์ตกเป็นของตนได้
จ.มิได้ยกที่ดินมีโฉนดเฉพาะส่วนของตนให้จำเลย เมื่อ จ.ถึงแก่กรรมที่ดินดังกล่าวจึงเป็นมรดกตกได้แก่ทายาทคือ โจทก์ทั้งสองและจำเลยกับบุตรคนอื่นรวม 8 คน การที่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของรวมในที่ดินโฉนดดังกล่าวได้ครอบครองที่ดินแปลงนั้นต่อมาหลังจาก จ.ถึงแก่กรรม ถือได้ว่าจำเลยได้ครอบครองแทนโจทก์ทั้งสองและทายาทคนอื่นของ จ.ด้วย แม้จำเลยจะครอบครองที่ดินแปลงนั้นมานานเท่าใด ที่ดินแปลงนั้นก็หาได้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยแต่ผู้เดียวไม่ โจทก์ทั้งสองและทายาทอื่นของ จ.ย่อมมีกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินเฉพาะส่วนของ จ.อยู่คนละ 1 ใน 8 ส่วน คำสั่งศาลที่แสดงว่าจำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินเฉพาะส่วนของ จ. จึงไม่ผูกพันโจทก์ทั้งสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3552/2535 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สัญญาประนีประนอมยอมความกับการครอบครองที่ดินมรดก: สิทธิเจ้าของรวม
คดีเดิมโจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนพินัยกรรม โดยอ้างว่าเป็นพินัยกรรมปลอม แล้วโจทก์ทั้งสองกับจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยจำเลยจะไม่นำพินัยกรรมไปขอรับโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลง และให้โจทก์ทั้งสองกับ พ. มีสิทธิได้รับมรดกตามกฎหมายในฐานะทายาทบนที่ดินเหมือนเดิมทุกประการ ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมแต่คดีนี้โจทก์ฟ้องขอบังคับให้จำเลยยินยอมให้โจทก์ทั้งสองเข้าครอบครองดูแลรักษาพร้อมทั้งเก็บดอกผลบนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงดังกล่าวในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วม และให้จำเลยใช้เงินดอกผลส่วนของโจทก์ทั้งสองกับให้แบ่งผลประโยชน์ที่เกิดบนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงแก่โจทก์ทั้งสอง ดังนั้นประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยในคดีนี้จึงมิใช่ประเด็นที่ได้วินิจฉัยมาแล้วโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับคดีก่อนอันจะเป็นการฟ้องซ้ำและต้องห้ามตามป.วิ.พ. มาตรา 148 โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้อง.