คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
นับโทษ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 212 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 779/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรวมโทษคดีอาญาต่างสำนวน และข้อยกเว้นการนับโทษเกิน 50 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 มิได้บัญญัติห้ามว่า การนับโทษจำคุกของจำเลยคดีหนึ่งต่อจากโทษจำคุกในคดีอื่นของจำเลยที่มีคำฟ้องและคำพิพากษาต่างสำนวนต่างหากออกไปเมื่อนับรวมกันแล้วจะเกินกำหนดในมาตรา 91 ไม่ได้ การขอให้นับโทษจำคุกของจำเลยในคดีหนึ่งต่อจากโทษจำคุก ของจำเลยคดีอื่น เป็นการขอให้ศาลกล่าวไว้ในคำพิพากษา เป็นอย่างอื่นเกี่ยวกับการเริ่มนับโทษจำคุกของจำเลยใน คดีนั้นว่าจะให้เริ่มนับแต่เมื่อใด ซึ่งหากไม่ได้กล่าวไว้เป็นอย่างอื่นก็จะต้องเริ่มแต่วันมีคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 22 วรรคหนึ่ง อันขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลว่าสมควรให้นับต่อหรือไม่ เพียงใด และมิได้อยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นให้รวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน เมื่อฟังว่าจำเลยกระทำผิดทั้งสองสำนวนเป็นหลายกระทงจึงต้องอยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ที่ต้องลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิด อันเป็นการนับโทษจำคุกของจำเลยทุกกระทงในสองสำนวนติดต่อกัน แต่ต้องอยู่ในเงื่อนไขที่ว่า เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วโทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกินกำหนดในมาตรา 91 ดังนั้นเมื่อมีการลงโทษจำคุกทุกกรรมเป็นกระทงความผิดในคดีทั้งสองสำนวนดังกล่าวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ไปแล้ว จึงไม่อาจนับโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาเรื่องอื่นของศาลชั้นต้นต่อกัน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 22 ได้อีก เป็นการลงโทษจำคุกจำเลยเกินกำหนดที่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 บัญญัติไว้ โจทก์มีคำขอให้นับโทษจำคุกของจำเลยในคดีสองสำนวนที่ ศาลชั้นต้นรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันนี้ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาที่เกิดขึ้นนอกเขตอำนาจศาลชั้นต้น แม้เป็นกรณีที่จำเลยกระทำผิดในข้อหาเดียวกับข้อหาที่จำเลยถูกลงโทษในคดีทั้งสองสำนวนของศาลชั้นต้นที่รวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันนี้ก็ตาม เมื่อในทางปฏิบัติก็ไม่อาจยื่นฟ้องคดีดังกล่าวต่อศาลชั้นต้น และไม่อาจรวมพิจารณาพิพากษากับคดีทั้งสองสำนวนของศาลชั้นต้น จึงเป็นคดีที่มีคำฟ้องและคำพิพากษาต่างสำนวนต่างหากออกไป กรณีไม่อยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ถึงแม้ศาลจะพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยในคดีดังกล่าวมีกำหนด 50 ปี เต็มตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(3) ศาลก็ชอบที่จะนับโทษจำคุกของจำเลยในคดีทั้งสองสำนวนของศาลชั้นต้นนี้ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีดังกล่าวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 22วรรคหนึ่ง ได้ ฎีกาของจำเลยที่ว่า จำเลยถูกฟ้องต่อศาลชั้นต้นอีก1 สำนวน ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำคุก 7 ปี 6 เดือน จึงต้องพิพากษารวมโทษของจำเลยทั้งสองสำนวนนี้กับโทษของจำเลยในคดีดังกล่าวเป็นจำคุก 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91(3) นั้น แต่ตามฎีกาจำเลยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าคดีดังกล่าวมีความเกี่ยวพันกับคดีนี้อย่างไร หรือไม่ ในอัน ที่จะวินิจฉัยว่าจะต้องด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(3)หรือไม่ จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ประกอบ มาตรา 225 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6968/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเริ่มนับโทษจำคุกเมื่อจำเลยหลบหนี และการสอบคำให้การเพื่อเพิ่มโทษไม่ผูกพันการรับโทษเดิม
ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลย แต่จำเลยหลบหนีไม่ไปฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงออกหมายจับจำเลยเพื่อมารับโทษตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ต้องถือว่าจำเลยอยู่ในระหว่างหลบหนีนับแต่วันออกหมายจับเป็นต้นมา แม้ต่อมาจำเลยถูกจับและคุมขังในคดีอื่นอีกคดีหนึ่ง เมื่อไม่ปรากฏว่าได้มีการแจ้งการควบคุมในคดีนี้ไว้ด้วย จึงต้องฟังว่าที่จำเลยถูกควบคุมตัวนับแต่วันที่ถูกจับตลอดมาเป็นการควบคุมในคดีอื่นอีกคดีหนึ่งเท่านั้นไม่เกี่ยวกับคดีนี้จึงต้องเริ่มนับโทษตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีนี้นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นได้ออกหมายขังจำเลยไว้ในคดีนี้
การที่ศาลชั้นต้นสอบคำให้การจำเลยในคดีอื่นอีกคดีหนึ่งซึ่งรวมถึงในข้อที่จำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกด้วย ก็เป็นการสอบข้อเท็จจริงในข้อที่โจทก์ขอเพิ่มโทษจำเลยเท่านั้น เมื่อจำเลยรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีนี้แล้วข้อเท็จจริงตามคำฟ้องจึงเป็นยุติ ไม่จำเป็นที่ศาลชั้นต้นจะต้องตรวจสอบการรับโทษของจำเลยอีกต่อไป จำเลยจึงไม่อาจอ้างว่าเป็นหน้าที่ของศาลชั้นต้นที่จะรับตัวจำเลยไว้รับโทษตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3072/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การนับโทษจำคุกในคดีความผิดหลายกรรมต่างกันที่ไม่เกี่ยวพันกัน ไม่อยู่ในบังคับประมวลกฎหมายอาญา ม.91(2)
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(2) ซึ่งบัญญัติว่าเมื่อปรากฏว่าผู้ใดกระทำการอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ศาลลงโทษผู้นั้นทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป แต่สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูง เกินสามปีแต่ไม่เกินสิบปี เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว โทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกินกำหนดยี่สิบปีนั้น เป็นบทบัญญัติ เกี่ยวกับการลงโทษจำคุกจำเลยในกรณีที่จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมเกี่ยวพันกัน โดยอาจถูกฟ้องเป็นคดีเดียวกันหรือแยกฟ้องเป็นหลายคดีสำหรับคดีของจำเลยทั้ง 11 คดีซึ่งเป็นคดีที่จำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ 10 คดี และฐานรับของโจร 1 คดีนั้น เป็นการกระทำความผิดต่างกรรมต่างวาระแยกต่างหากโดยไม่มีความเกี่ยวพันกัน ทั้งไม่อาจฟ้องเป็นคดีเดียวกันหรือรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันได้ไม่อยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(2) จึงนับโทษจำคุกจำเลยในคดีอาญาทั้ง 11 คดี ติดต่อกันเกินกว่า 20 ปีได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6822/2540 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การนับโทษกักขังแทนโทษจำคุก และคดีที่ต้องอุทธรณ์เพื่อพิจารณาการนับโทษต่อ
เมื่อศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย แต่โทษจำคุกจำเลยไม่เกินสามเดือน จึงให้ลงโทษกักขังแทน ตาม ป.อ.มาตรา 23 และกำหนดวันเวลากักขังคงเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในคำพิพากษา ดังนั้นเมื่อโทษกักขังเป็นเพียงโทษที่ลงแทนโทษจำคุก ศาลจึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 22 ให้นับโทษกักขังติดต่อกันได้
แม้โจทก์จะขอให้นับโทษต่อในคดีซึ่งมิได้อุทธรณ์ก็ตาม แต่การที่จะนับโทษต่อกันนั้นต้องพิจารณาจากคดีที่พิพากษาในภายหลังว่าจะนับโทษต่อได้หรือไม่ ดังนั้น คดีที่ต้องอุทธรณ์ฎีกาในปัญหาเรื่องการนับโทษต่อ จึงต้องเป็นคดีนี้ ซึ่งเป็นคดีที่พิพากษาในภายหลัง หาใช่อุทธรณ์ในคดีก่อนหรืออุทธรณ์พร้อมกันทั้งสองคดีไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6822/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การนับโทษกักขังต่อกันเมื่อศาลลงโทษกักขังแทนโทษจำคุก และประเด็นการอุทธรณ์เพื่อให้นับโทษต่อ
เมื่อศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย แต่โทษจำคุกจำเลยไม่เกินสามเดือนจึงให้ลงโทษกักขังแทน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 23 และกำหนดวันเวลากักขังคงเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในคำพิพากษา ดังนั้นเมื่อโทษกักขังเป็นเพียงโทษที่ลงแทนโทษจำคุก ศาลจึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 22 ให้นับโทษกักขังติดต่อกันได้
แม้โจทก์จะขอให้นับโทษต่อในคดีซึ่งมิได้อุทธรณ์ก็ตาม แต่การที่จะนับโทษต่อกันนั้นต้องพิจารณาจากคดีที่พิพากษาในภายหลังว่าจะนับโทษต่อได้หรือไม่ ดังนั้นคดีที่ต้องอุทธรณ์ฎีกาในปัญหาเรื่องการนับโทษต่อ จึงต้องเป็นคดีนี้ ซึ่งเป็นคดีที่พิพากษาในภายหลัง หาใช่อุทธรณ์ในคดีก่อนหรืออุทธรณ์พร้อมกันทั้งสองคดีไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4656/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การนับโทษจำคุกในคดีที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตเบียดบังเงินของทางราชการ และความผิดพลาดในการดำเนินคดี
บทบัญญัติตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ใช้ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาอันเดียวกัน ในคำฟ้องคดีเดียวที่รวมเอาความผิดหลายกระทงไว้ด้วยกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 160 หรือคำฟ้องหลายคดีที่พิจารณาพิพากษารวมกัน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 25 ซึ่งปรากฏว่าจำเลยกระทำผิดหลายกรรมต่างกันก็ให้ศาลลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปโดยมีข้อยกเว้นว่า เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วโทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกินกำหนดตามที่ระบุไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 วรรคท้าย ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91มิได้บัญญัติห้ามว่าการนับโทษจำคุกของจำเลยในคดีหนึ่งต่อจากคดีอื่นของจำเลยที่มีคำฟ้องและคำพิพากษาต่างสำนวนต่างหากออกไป เมื่อนับรวมกันแล้วจะเกินกำหนดในมาตรา 91 ไม่ได้ ซึ่งการขอให้นับโทษจำคุกของจำเลยในคดีหนึ่งต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีอื่น เป็นการขอให้ศาลกล่าวไว้เป็นอย่างอื่นในคำพิพากษาเกี่ยวกับการเริ่มนับโทษจำคุกของจำเลยในคดีนั้นว่าจะให้เริ่มนับแต่เมื่อใดซึ่งหากไม่กล่าวไว้เป็นอย่างอื่นก็จะต้องเริ่มแต่วันมีคำพิพากษา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 22 วรรคหนึ่ง จึงขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลว่าสมควรให้นับโทษต่อหรือไม่เพียงใด และมิได้อยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน
คดีนี้และคดีก่อนเป็นเรื่องที่จำเลยกระทำผิดทุจริตเบียดบังค่าธรรมเนียมและค่าคำขอในการทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินจากส่วนราชการของกรมที่ดิน หน่วยราชการซึ่งเป็นผู้เสียหายก็คือกรมที่ดินรายเดียวกัน สำนวนการสอบสวนของคดีนี้และคดีก่อนก็เป็นสำนวนเดียวกัน โจทก์สามารถฟ้องจำเลยสำหรับการกระทำความผิดคดีนี้และคดีดังกล่าวเป็นคดีเดียวกันได้ เพราะโจทก์จำเลยเป็นคนเดียวกัน และพยานก็เป็นชุดเดียวกัน แต่ถ้าโจทก์แยกฟ้องจำเลยแต่ละกระทงความผิดเป็นรายสำนวนไป และศาลมีคำสั่งให้พิจารณาพิพากษาคดีทุกสำนวนรวมกัน ศาลก็จะลงโทษจำเลยได้ไม่เกินกำหนดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 เหตุที่ต้องฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้อีกเพราะเกิดความผิดพลาดในการดำเนินคดี และศาลชั้นต้นไม่มีโอกาสสั่งให้คดีก่อนพิจารณาพิพากษารวมกัน ประกอบกับคดีก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยรวมเต็มตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในมาตรา 91 หากให้นับโทษจำคุกของจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีก่อนก็จะทำให้จำเลยต้องโทษจำคุกหนักขึ้น โดยเกินกว่าระยะเวลาที่กำหนดไว้ในมาตรา 91 เพียงเพราะความผิดพลาดในการดำเนินคดี จึงไม่มีเหตุสมควรให้นับโทษจำคุกของจำเลยคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีก่อน
คดีก่อนเป็นคดีที่เกิดขึ้นในเขตอำนาจของศาลจังหวัดพิษณุโลกซึ่งอยู่นอกเขตอำนาจศาลชั้นต้นคดีนี้ แม้เป็นกรณีที่จำเลยกระทำความผิดในข้อหาเดียวกับข้อหาที่จำเลยถูกลงโทษในคดีนี้ ในทางปฏิบัติไม่อาจยื่นฟ้องคดีก่อนต่อศาลชั้นต้น ทั้งไม่อาจรวมพิจารณาพิพากษากับคดีนี้ได้ จึงเป็นคดีที่มีคำฟ้องและคำพิพากษาต่างสำนวนต่างหากออกไปไม่อยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ถึงแม้ศาลจังหวัดพิษณุโลกจะพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด 50 ปี เต็มตามที่กำหนดไว้ใน ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ก็ชอบที่จะนับโทษจำคุกของจำเลยติดต่อกันได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2766/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การนับโทษจำคุกเมื่อจำเลยถูกขังในคดีอื่นก่อน และการหักวันคุมขังออกจากโทษตามกฎหมาย
ไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติห้ามไว้ว่าเมื่อจำเลยถูกขังในคดีหนึ่งแล้วจะถูกขังในคดีอื่นอีกไม่ได้ ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นออกหมายขังจำเลยระหว่างพิจารณา ตามหมายขังเลขที่ 16/2539 ลงวันที่ 16 มกราคม 2539 ในคดีนี้ในวันที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นและขณะที่จำเลยถูกขังอยู่ในเรือนจำในคดีอื่น จึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายมีผลให้จำเลยถูกขังในคดีนี้ตามหมายขังดังกล่าวของศาลชั้นต้นนับแต่วันที่ 16 มกราคม 2539 เป็นต้นมา ทำนองเดียวกับการที่จำเลยถูกศาลพิพากษาจำคุก 2 คดีพร้อมกัน หากศาลมิได้กล่าวในคำพิพากษาว่าให้นับโทษจำคุกของจำเลยในคดีหนึ่งต่อจากอีกคดีหนึ่ง ก็ต้องนับโทษจำคุกของจำเลยในทั้งสองคดีไปพร้อมกัน และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 88 ที่บัญญัติว่า นับแต่เวลายื่นฟ้องจำเลยที่ต้องขังตามหมายศาล ๆ จะขังจำเลยต่อไปหรือปล่อยชั่วคราวก็ได้ เมื่อพิจารณาประกอบกับมาตรา 71 วรรคสี่ที่บัญญัติว่า หมายขังคงใช้ได้อยู่จนกว่าศาลจะได้เพิกถอนโดยออกหมายปล่อยหรือออกหมายจำคุกแทน เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นออกหมายขังจำเลยไว้ในระหว่างพิจารณาจนถึงวันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา ศาลชั้นต้นคงขังจำเลยไว้ตลอดมาเป็นเวลาเกินกว่าระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำคุกจำเลยเป็นกรณีที่จำเลยถูกคุมขังก่อนศาลพิพากษา สามารถหักจำนวนวันที่จำเลยถูกคุมขังออกจากระยะเวลาจำคุกตามคำพิพากษา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 22 วรรคหนึ่งได้ การที่ศาลชั้นต้นหักวันที่จำเลยถูกคุมขังออกจากระยะเวลาจำคุกตามคำพิพากษาและเห็นว่าจำเลยต้องขังมาพอแก่โทษแล้ว จึงให้ปล่อยตัวไปนั้นชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6972/2539 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การนับโทษจำคุกและการเปลี่ยนแปลงดุลพินิจในการลงโทษของศาล
โจทก์ฟ้องขอให้นับโทษจำเลยติดต่อกับโทษของจำเลยในคดีก่อนปรากฏว่าคดีก่อนศาลพิพากษาลงโทษจำคุก แต่ให้รอการลงโทษไว้จึงไม่อาจนับโทษจำคุกของจำเลยในคดีนี้ติดต่อกับคดีก่อนได้ ต้องนับแต่วันต้องขังตามหลักทั่วไป
ฎีกาของจำเลยที่ขอให้รอการลงโทษ เป็นฎีกาในดุลพินิจซึ่งเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 แต่ในคดีที่ฎีกาได้แต่ปัญหาข้อกฎหมาย เมื่อพฤติการณ์ที่ปรากฏในคดีโทษที่ศาลอุทธรณ์กำหนดยังไม่เหมาะสมแก่รูปคดี ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจเปลี่ยนแปลงดุลพินิจในการลงโทษที่ศาลอุทธรณ์กำหนดไว้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2355/2539 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การนับโทษซ้ำซ้อนในคดีอาญาที่เกี่ยวพันกัน และอำนาจแก้ไขคำสั่งบังคับคดี
คดีนี้กับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 5750/2529 ของศาลชั้นต้นมีลักษณะแห่งคดีและความผิดเป็นอย่างเดียวกับที่จำเลยถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีดังกล่าว คดีทั้งสองสำนวนมีความเกี่ยวพันโดยอาจฟ้องเป็นคดีเดียวกันได้ เมื่อโจทก์แยกฟ้องคดีนี้กับคดีที่ขอให้นับโทษต่อโดยศาลมิได้สั่งรวมการพิจารณาคดีทั้งสองสำนวนเข้าด้วยกัน หากศาลลงโทษจำคุกจำเลยทุกกรรมเต็มตามที่กำหนดไว้ใน ป.อ.มาตรา 91 (2) ในสำนวนใดสำนวนหนึ่งแล้ว ก็ไม่อาจนับโทษต่อในอีกสำนวนหนึ่งได้เพราะจะทำให้จำเลยต้องรับโทษเกินกว่าที่ ป.อ.มาตรา 91 (2) กำหนดไว้
ศาลชั้นต้นออกหมายจำคุกคดีถึงที่สุดแก่จำเลยแล้ว หากปรากฏว่าการนับโทษขัดต่อกฎหมาย ศาลชั้นต้นย่อมมีคำสั่งแก้ไขได้ เพราะไม่เป็นการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงคำพิพากษา แต่เป็นเรื่องการบังคับคดีซึ่งศาลชั้นต้นต้องออกหมายจำคุกคดีถึงที่สุดให้ถูกต้องตามกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9029/2538

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมเดียวผิดหลายบท-การนับโทษ-ความผิดฐานมีและเสพยาเสพติด
จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ความผิดของจำเลยฐานมีเฮโรอีนและฐานเสพเฮโรอีนเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทและศาลชั้นต้นนับโทษจำเลยไม่ถูกต้องนั้น แม้ฎีกาข้อนี้จำเลยมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ แต่เป็นข้อที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะยกขึ้นอ้างได้ ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225
ฟ้องโจทก์ได้บรรยายไว้ชัดเจนว่าจำเลยได้เสพกัญชาผสมเฮโรอีน และจำเลยได้ร่วมกันมีเฮโรอีนซึ่งเหลือจากการเสพจำนวน 1 หลอดน้ำหนัก 0.03 กรัม ไว้ในครอบครองโดยมิได้รับอนุญาต จำเลยให้การรับสารภาพย่อมเป็นการยอมรับข้อกล่าวหาของโจทก์ว่า จำเลยเสพเฮโรอีนและมีเฮโรอีนที่เหลือจากการเสพไว้ในครอบครองจริง ความผิดดังกล่าวเป็นความผิดที่แยกกันได้เป็น 2 กระทง เพราะข้อหาฐานมีเฮโรอีนนั้นโจทก์มุ่งถึงเฮโรอีนซึ่งจำเลยมีเหลืออยู่หลังจากได้เสพไปแล้ว
of 22