คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ผู้ขนส่ง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 186 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8785/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาขนส่งทางทะเล: ผู้ขนส่งต้องส่งมอบสินค้าในสภาพเรียบร้อย หากสินค้าเสียหายจากตู้สินค้าชำรุด ผู้ขนส่งผิดสัญญา
สัญญารับขนของทางทะเลระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาต่างตอบแทน โจทก์ในฐานะผู้ขนส่งมีหน้าที่ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ กล่าวคือนอกจากจะต้องขนส่งทุเรียนและส่งมอบทุเรียนให้แก่จำเลยที่ปลายทางตามสัญญาแล้ว ยังจะต้องส่งมอบทุเรียนในสภาพเรียบร้อยไม่เสียหายเสียก่อน จำเลยจึงจะชำระหนี้ค่าระวางและค่าใช้จ่ายที่โจทก์เสียไปเพื่อจัดการในการขนส่ง เมื่อปรากฏว่าตู้สินค้าชำรุดบกพร่องไม่สามารถรักษาอุณหภูมิในระดับที่กำหนดในข้อตกลงในการขนส่งได้ตั้งแต่แรกในระหว่างอยู่ในความดูแลของโจทก์โดยความชำรุดบกพร่องดังกล่าวมิได้เกิดจากความผิดของจำเลยผู้ส่งของ เป็นเหตุให้สินค้าทุเรียนสดเปียกน้ำ ชื้น มีราขึ้นเป็นส่วนใหญ่ เนื้อสุกจนเละและผลทุเรียนปริแตก เมื่อพิจารณาจากลักษณะของสินค้าซึ่งเป็นทุเรียนสดประกอบกับสภาพความเสียหายของสินค้าที่เกิดขึ้นแล้ว ถือได้ว่าสินค้าทั้งหมดเกิดความเสียหายไม่สมประโยชน์ของจำเลย ถือว่าโจทก์ผิดสัญญา จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าระวางเรือและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6141/2544 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับขนทางทะเล: ใบตราส่งที่ออกโดยผู้ขนส่งให้ผู้ส่งของต่างจากใบตราส่งที่ออกให้ผู้ขนส่งอื่น
ใบตราส่ง ตามความหมายใน พ.ร.บ. การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 59 วรรคหนึ่ง หมายถึง ใบตราส่งซึ่งออกโดยผู้ขนส่งออกให้แก่ผู้ส่งของซึ่งเป็นคู่สัญญารับขนของทางทะเลเพื่อเป็นหลักฐานแห่งสัญญาดังกล่าว จำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งได้ออกใบตราส่งให้แก่บริษัท อ. ผู้ขายสินค้าซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้ขนส่งสินค้า ถือเป็นใบตราส่งตามความหมายของบทบัญญัติมาตรา 59 วรรคหนึ่ง ส่วนจำเลยที่ 3 เป็นเพียงผู้ขนส่งอื่น มิใช่คู่สัญญากับผู้ส่งของโดยตรง แต่ได้รับว่าจ้างจากบริษัท น. ผู้ขนส่งอื่นให้ขนส่งสินค้าพิพาทนี้อีกทอดหนึ่ง ดังนั้นใบตราส่งที่จำเลยที่ 3 ออกให้แก่บริษัท น. จึงไม่ถือเป็นใบตราส่งตามความหมายแห่งบทบัญญัตินี้ จำเลยที่ 3 จึงไม่สามารถยกข้อความตามใบตราส่งดังกล่าวขึ้นอ้างเพื่อปฏิเสธความรับผิดต่อผู้ส่งของได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6141/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำกัดความรับผิดผู้ขนส่งทางทะเล: จำนวนหน่วยการขนส่งตามใบตราส่ง และข้อจำกัดการอุทธรณ์คดีทรัพย์สินทางปัญญา
คดีที่มีจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกิน200,000 บาท ต้องห้ามคู่ความมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 41 ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยเป็นผู้ขนส่งอื่นจะต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นในระหว่างสินค้าอยู่ในความดูแลของจำเลยเท่านั้น แต่ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าสินค้าดังกล่าวเกิดความเสียหายในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของจำเลย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิด เป็นการอุทธรณ์โต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาล เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์
ใบตราส่งตามความหมายในพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 59(1) หมายถึง ใบตราส่งซึ่งออกโดยผู้ขนส่งที่ออกให้แก่ผู้ส่งของซึ่งเป็นคู่สัญญารับขนของทางทะเลใบตราส่งซึ่งจำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งออกให้แก่บริษัท อ. ผู้ขายสินค้าซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้ขนส่งสินค้าจึงถือเป็นใบตราส่งตามความหมายดังกล่าว ส่วนจำเลยที่ 3 เป็นเพียงผู้ขนส่งอื่น มิใช่คู่สัญญากับผู้ส่งของโดยตรง แต่ได้รับว่าจ้างจากบริษัท น. ซึ่งเป็นผู้ขนส่งอื่นให้ขนส่งสินค้าอีกทอดหนึ่ง ดังนั้น ใบตราส่งที่จำเลยที่ 3 ออกให้แก่บริษัท น. จึงไม่ถือเป็นใบตราส่งตามบทบัญญัติดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9023/2543 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ขนส่งและตัวแทนตามกฎหมายรับขนของทางทะเล และอำนาจศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ
ใบตราส่งเป็นแบบพิมพ์ของจำเลยที่ 2 ระบุว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ขนส่ง ทั้งตู้สินค้าที่ใช้ในการขนส่งเป็นของจำเลยที่ 2 จึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ขนส่งสินค้า ส่วนจำเลยที่ 1 ปรากฏตามใบตราส่งด้านล่างระบุว่า จำเลยที่ 2 เพื่อบริษัทจำเลยที่ 1 ในฐานะตัวแทนของสายการเดินเรือ แสดงว่า จำเลยที่ 1 เป็นเพียงตัวแทนของจำเลยที่ 2 เท่านั้น มิได้เป็นผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งอื่น
บริษัทจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ขนส่งตั้งอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น จำเลยที่ 1 ในฐานะตัวแทนของสายการเดินเรือได้ออก ใบตราส่งให้แก่ผู้ส่งของ และด้านหลังของใบตราส่งมีตราประทับของจำเลยที่ 1 ไว้ด้วย จึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนทำสัญญาแทนจำเลยที่ 2 ตัวการซึ่งอยู่และมีภูมิลำเนาในต่างประเทศ จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงต้องรับผิดตามสัญญารับขนของทางทะเลต่อผู้ส่งของ
ตาม พ.ร.บ. การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 ไม่มีบทบัญญัติใดยกเว้นความรับผิดของตัวแทนที่ทำสัญญาแทนตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศไว้
ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 7 (5) บัญญัติไว้ว่า ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งเกี่ยวกับการซื้อขาย แลกเปลี่ยนสินค้า หรือตราสารการเงินระหว่างประเทศหรือการให้บริการระหว่างประเทศ การขนส่งระหว่างประเทศ การประกันภัยและนิติกรรมอื่นที่เกี่ยวเนื่อง และในคดีนี้เป็นเรื่องการขนส่งระหว่างประเทศ การประกันภัยและนิติกรรมอื่นที่เกี่ยวเนื่อง ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง จึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษา
โจทก์ผู้รับประกันสินค้าชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเกินกว่าความเสียหายที่แท้จริงที่ผู้เอาประกันภัยได้รับ โจทก์จึงรับช่วงสิทธิมาเป็นจำนวนตามความเสียหายที่ผู้เอาประกันภัยได้รับอย่างแท้จริง
ตามใบตราส่งด้านหน้าและใบแนบมีข้อความระบุไว้ว่า บรรจุใน 1,000 กล่อง จึงเท่ากับ 1,000 หน่วยการขนส่งตาม พ.ร.บ. การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 59 (1) เมื่อปรากฏว่าความเสียหายของสินค้ามี 38 เปอร์เซ็นต์ ความเสียหายอย่างน้อยที่สุดเมื่อคิดตามหน่วยการขนส่ง คือ 380 กล่อง หรือ 380 หน่วยการขนส่ง ตามมาตรา 58 วรรคหนึ่ง จึงจำกัดความรับผิดไว้ไม่เกิน 3,800,000 บาท ซึ่งเป็นจำนวนที่มากกว่า เมื่อความเสียหายที่แท้จริงต่ำกว่าจำนวนที่จำกัดความรับผิดไว้ดังกล่าว จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงต้องรับผิดตามความเสียหายที่แท้จริงตามมาตรา 58 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8957/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ขนส่งสินค้าเสียหาย/สูญหาย และการประเมินความเสี่ยงในการขับขี่ยานพาหนะบรรทุก
รถบรรทุกลากจูงรวมกับน้ำหนักของรถพ่วงและน้ำหนักของสินค้ารวมทั้งหีบห่อแล้วมีน้ำหนักมาก ประกอบกับความยาวของรถบรรทุกลากจูงเมื่อรวมกับความยาวของรถพ่วงแล้ว ย่อมมีความยาวมากกว่ารถยนต์บรรทุกทั่ว ๆ ไป ทำให้ยากแก่การบังคับและควบคุมรถ การห้ามล้อเพื่อจะหยุดรถต้องใช้ระยะเวลานานกว่าปกติ และต้องใช้ระยะทางห้ามล้อยาวกว่าปกติ แต่ อ. ยังขับรถบรรทุกลากจูงคันดังกล่าวด้วยความเร็วประมาณ 50 ถึง 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทั้งที่ถนนบริเวณดังกล่าวเป็นทางโค้ง ย่อมทำให้เกิดแรงเหวี่ยงที่ส่วนท้ายบริเวณรถพ่วง ทำให้ยากแก่การควบคุมรถและเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย เมื่อมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นข้างหน้า และไม่สามารถจะห้ามล้อหยุดรถบรรทุก ลากจูงได้ทันจนเกิดเหตุขึ้น เหตุที่เกิดขึ้นจึงมิใช่เหตุสุดวิสัย
ตามสำเนาใบรับสินค้าของจำเลยผู้ขนส่งมีข้อความซึ่งมีลักษณะคล้ายใช้ตรายางประทับว่า สินค้าเสียหายหรือสูญหายให้แจ้งภายใน 7 วัน นับแต่วันได้รับสินค้า การชดใช้ค่าเสียหาย สูญหายตามความเป็นจริง แต่ต้องไม่เกินวงเงิน 30,000 บาท เอกสารนี้มีแต่ฝ่ายจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อไว้แต่ฝ่ายเดียว โดยมิได้ให้บริษัท ซ. ผู้ส่ง ลงลายมือชื่อไว้ด้วย จะถือว่าผู้ส่งตกลงยอมรับข้อจำกัดความรับผิดของจำเลยโดยชัดแจ้งแล้วหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7559/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ตัวแทนรับขนสินค้าไม่ต้องรับผิดในสัญญา หากผู้ขนส่งทำสัญญาและออกใบตราส่งเอง
จำเลยมิได้เป็นผู้ทำสัญญารับขนสินค้าพิพาทกับบุคคลภายนอกแทนตัวการ แต่เป็นกรณีที่ผู้ขนส่งซึ่งเป็นตัวการเป็นผู้ทำสัญญารับขนสินค้าพิพาทกับผู้ส่งโดยเป็นผู้ออกใบตราส่งในฐานะเป็นผู้ขนส่งเองโดยตรงจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญารับขนสินค้าพิพาทในฐานะตัวแทนของผู้ขนส่งซึ่งเป็นตัวการที่อยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 824
จำเลยส่งมอบสินค้าพิพาทให้แก่ผู้ซื้อโดยไม่ได้มีการเวนคืนใบตราส่งเป็นการทำการตามคำสั่งของผู้ขนส่งซึ่งเป็นตัวการภายในขอบอำนาจแห่งฐานตัวแทนจำเลยในฐานะส่วนตัวจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4005/2543 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ขนส่งทางทะเลต่อความเสียหายสินค้า ตาม พ.ร.บ.รับขนของทางทะเล
ใบตราส่งอันเป็นเอกสารหรือหลักฐานแห่งสัญญารับขนของทางทะเลแสดงว่าผู้ออกใบตราส่งคือนายเรือ ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยผู้เป็นเจ้าของเรือสำหรับสัญญาที่จำเลยอ้างว่า ค.ได้เช่าเรือไปจากจำเลย ก็เป็นสัญญาเช่าเรือแบบเพื่อกำหนดระยะเวลาหนึ่ง (Time Charter) ซึ่งนายเรือยังคงเป็นตัวแทนของเจ้าของเรืออยู่ และแม้ใบตราส่งดังกล่าวจะมีข้อความบางประการพาดพิงถึงสัญญาเช่าเรือ แต่ผู้ส่งหรือผู้รับตราส่งก็ไม่อาจทราบเงื่อนไขและรายละเอียดที่ระบุไว้ในสัญญาเช่าเรือได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่อาจทราบได้ว่าใครเป็นผู้เช่าเรือ เมื่อนายเรือได้ลงชื่อออกใบตราส่งโดยไม่ได้ระบุว่ากระทำการแทนผู้ใด ย่อมต้องถือว่ากระทำการในฐานะที่เป็นตัวแทนของจำเลยผู้เป็นเจ้าของเรือ จำเลยจึงเป็นผู้ขนส่ง
ฝ่ายผู้ขนส่งเป็นผู้จัดหาเรือลำเลียงมาขนถ่ายสินค้าพิพาทไปส่งมอบให้แก่ผู้รับตราส่งที่กรุงเทพมหานคร เมื่อจำเลยผู้ขนส่งได้รับสินค้าพิพาทไว้จากผู้ส่งในสภาพเรียบร้อย แต่สินค้าพิพาทเมื่อส่งมอบให้แก่ผู้รับตราส่งมีสภาพเสียหายโดยขาดจำนวนและปนเปื้อนในระหว่างอยู่ในความดูแลของจำเลยซึ่งตามมาตรา 10แห่ง พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 กำหนดให้ผู้ขนส่งมีหน้าที่ต้องใช้ความระมัดระวังและปฏิบัติการให้เหมาะสมในการบรรทุกลงเรือ การเก็บรักษาการดูแลและการขนถ่ายซึ่งของที่ตนทำการขนส่ง จำเลยจึงต้องรับผิดเพื่อความสูญหายและเสียหายของสินค้าพิพาทตามมาตรา 39 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว และเมื่อไม่ได้ความว่า จำเลยได้ปฏิบัติหน้าที่ของตนตามมาตรา 10 ดังกล่าวครบถ้วนแล้ว จำเลยย่อมไม่อาจปฏิเสธความรับผิดโดยอ้างว่าในการบรรทุกสินค้าลงเรือผู้ส่งไม่ได้จัดหาวัสดุป้องกันการปนเปื้อนไว้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3794/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับผิดของผู้ขนส่งสินค้าสูญหายและราคาสินค้าที่แท้จริง การบังคับคดีดอกเบี้ยเกินคำฟ้อง
++ เรื่อง การค้าระหว่างประเทศ รับขนของทางอากาศ ++
++ ทดสอบทำงานในระบบ CW เพื่อค้นหาข้อมูลทาง online ++
++
++
++
++ พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า บริษัท เอ็น.เอส. จิวเวลรี่ แฟคตอรี่ จำกัด ส่งสินค้าซึ่งทำด้วยทอง 18 เค ประดับด้วยเพชรพลอยจำนวน 1 หีบห่อ ซึ่งบรรจุสินค้าจำนวน 817 ชิ้น ไปให้บริษัทมัสท์เมก เทรดดิ้ง จำกัด ลูกค้าที่เมืองกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ทางเครื่องบินของจำเลยที่ 2 เมื่อเครื่องบินขนสินค้ามาถึงเมืองกัวลาลัมเปอร์ในวันที่ 30 สิงหาคม 2540 ปรากฏว่าสินค้าได้สูญหายไปทั้งหีบห่อ โจทก์เคยมีหนังสือทวงถามไปยังจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ขอชดใช้ให้เป็นเงินจำนวน 15,000 บาท มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ประเด็นแรกว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยสินค้าที่ขนส่งทางอากาศตามคำฟ้องไว้จากบริษัท เอ็น.เอส. จิวเวลรี่ แฟคตอรี่ จำกัด ผู้เอาประกันภัยและจ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันภัยไปแล้วหรือไม่ ในประเด็นนี้นางสาวมาลีตันฑ์วณิช ผู้จัดการฝ่ายรับประกันวินาศภัยของโจทก์เบิกความว่า โจทก์รับประกันภัยความเสียหายหรือสูญหายของสินค้าทอง 18 เค ประดับด้วยเพชรพลอยจำนวน 1 หีบห่อ ซึ่งบรรจุสินค้าจำนวน 817 ชิ้น จากบริษัท เอ็น.เอส.จิวเวลรี่ แฟคตอรี่ จำกัด ซึ่งจะขนสินค้าจากกรุงเทพมหานครไปเมืองกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย โดยทางเครื่องบิน โดยรับประกันภัยไว้เป็นเงินจำนวน 11,510.50 ดอลลาร์สหรัฐ ตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.4 ผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นผู้ขายได้ว่าจ้างให้จำเลยที่ 1ขนส่งสินค้าที่เอาประกันภัยจากกรุงเทพมหานครไปยังเมืองกัวลาลัมเปอร์โดยทางเครื่องบินเพื่อส่งมอบให้บริษัทมัสท์เมก เทรดดิ้ง จำกัด ผู้ซื้อสินค้าดังกล่าว จำเลยที่ 1 ตกลงรับขนส่งสินค้าดังกล่าว ซึ่งเมื่อจำเลยที่ 1ได้รับสินค้าไว้เรียบร้อยครบจำนวนแล้วได้ออกใบตราส่งทางอากาศให้แก่ผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นผู้ส่งตามเอกสารหมาย จ.6 จากนั้นจำเลยที่ 1ได้จ้างจำเลยที่ 2 อีกทอดหนึ่งให้ขนส่งสินค้าดังกล่าวจากกรุงเทพมหานครไปยังเมืองกัวลาลัมเปอร์ เครื่องบินลำที่ขนส่งสินค้าดังกล่าวไปถึงเมืองกัวลาลัมเปอร์เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2540 แต่ปรากฏว่าสินค้าดังกล่าวสูญหายไปทั้งหีบห่อในระหว่างการขนส่งของจำเลยที่ 2 เมื่อสินค้าสูญหายบริษัทผู้เอาประกันภัยได้เรียกร้องค่าเสียหายไปยังจำเลยทั้งสอง แต่จำเลยทั้งสองไม่ชดใช้ให้ บริษัท เอ็น.เอส. จิวเวลรี่ แฟคตอรี่ จำกัด ผู้เอาประกันภัยจึงเรียกร้องมายังโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัย โจทก์พิจารณาเห็นว่าสินค้าที่เอาประกันภัยสูญหายไปทั้งหมดจริง จึงชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้บริษัทดังกล่าวไปจำนวน 11,510.50 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคิดเป็นเงินไทยเท่ากับ307,294 บาท เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2541 แล้วบริษัทผู้เอาประกันภัยดังกล่าวได้ออกใบรับช่วงสิทธิให้โจทก์ไว้เป็นหลักฐานตามเอกสารหมาย จ.9เห็นว่า นางสาวมาลีเบิกความยืนยันว่าโจทก์ได้รับประกันภัยจากบริษัทเอ็น.เอส.จิวเวลรี่ แฟคตอรี่ จำกัด พร้อมทั้งมีกรมธรรม์ประกันภัยสินค้าที่ขนส่งทางอากาศเอกสารหมาย จ.4 มาแสดง นอกจากนั้นเมื่อสินค้าได้สูญหายและโจทก์ได้ชำระเงินค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยแล้ว บริษัท เอ็น.เอส.จิวเวลรี่ แฟคตอรี่ จำกัด ผู้เอาประกันภัยก็ได้ทำใบรับช่วงสิทธิในความสูญเสียลงวันที่ 15 มกราคม 2541 ตามเอกสารหมาย จ.9 ให้โจทก์ ซึ่งถ้าหากมิได้มีการประกันภัยสินค้าทอง 18 เค ประดับด้วยเพชรพลอยจำนวน 817 ชิ้นที่ขนส่งทางอากาศตามคำฟ้องกันไว้และมิได้มีการใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่กันจริง โจทก์ก็คงจะไม่ออกกรมธรรม์ประกันภัยให้บริษัท เอ็น.เอส. จิวเวลรี่แฟคตอรี่ จำกัด และบริษัท เอ็น.เอส. จิวเวลรี่ แฟคตอรี่ จำกัด ก็คงจะไม่ออกใบรับช่วงสิทธิในความสูญเสียให้โจทก์ ทั้งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่พอให้เชื่อว่าโจทก์ออกกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.4 ให้บริษัท เอ็น.เอส. จิวเวลรี่ แฟคตอรี่ จำกัด โดยไม่ได้มีการประกันภัยสินค้าดังกล่าวไว้แล้วโจทก์สมคบกันกับบริษัทดังกล่าวโดยทุจริตยอมใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บริษัทนั้นไปเพียงเพื่อจะได้เข้ารับช่วงสิทธิของบริษัทนั้นมาฟ้องเรียกร้องเอาแก่จำเลยที่ 2 ผู้ขนส่งแต่อย่างใด เชื่อว่าโจทก์เป็นผู้รับประกันภัยสินค้าที่ขนส่งทางอากาศตามคำฟ้องและได้จ่ายสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยไปแล้วจริงส่วนที่จำเลยที่ 2 อ้างในอุทธรณ์ว่า โจทก์มิได้เป็นผู้รับประกันภัยก่อนขนส่งสินค้าดังกล่าว จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นคดีนี้นั้น เห็นว่า นางสาวมาลีเบิกความตอบทนายโจทก์ถามติงว่า เหตุที่วันที่ออกกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.4 เป็นวันหลังจากวันที่ออกใบตราส่งทางอากาศเอกสารหมาย จ.6 เพราะโจทก์ตกลงกับบริษัทแองโกล อีสต์ ชัวตี้ จำกัด ซึ่งเป็นนายหน้ารับประกันภัยของโจทก์ว่า ให้ออกเอกสารแสดงการรับประกันภัยให้ผู้เอาประกันภัยไปก่อนและรวบรวมส่งให้โจทก์เป็นรายเดือน แล้วโจทก์ก็จะนำไปออกกรมธรรม์ประกันภัยฉบับสมบูรณ์คือเอกสารหมาย จ.4 ในเอกสารแนบท้ายกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.4 แผ่นแรก ก็ระบุถึงวันที่บริษัทนายหน้าออกเอกสารไว้ว่า วันที่ 29 สิงหาคม 2540 ซึ่งเป็นวันเดียวกับวันที่ทำการขนส่งดังที่ระบุไว้ในใบตราส่งเอกสารหมาย จ.6จากพยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าวเชื่อว่าบริษัทแองโกล อีสต์ ชัวตี้ จำกัดรับประกันภัยสินค้าตามคำฟ้องไว้แทนโจทก์ตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2540ก่อนที่จะเกิดความเสียหายแก่สินค้าที่เอาประกันภัย ดังนี้ โจทก์ซึ่งเป็นตัวการย่อมมีความผูกพันต่อผู้เอาประกันภัยในฐานะผู้รับประกันภัยสินค้านั้นที่จะต้องรับผิดต่อผู้เอาประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.4 เมื่อโจทก์ผู้รับประกันภัยได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันภัยสินค้าตามคำฟ้องที่ต้องสูญหายไปในระหว่างการขนส่งทางอากาศของจำเลยที่ 2 ผู้ขนส่งโจทก์ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยมาเรียกร้องเอาแก่จำเลยที่ 2ผู้ขนส่งซึ่งต้องรับผิดต่อผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นผู้ส่งสินค้านั้น โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ได้ และที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่า เอกสารแนบท้ายกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.4 เป็นเพียงสำเนาเอกสาร รับฟังเป็นพยานหลักฐานตามกฎหมายไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา93 ซึ่งจำเลยที่ 2 ได้คัดค้านไว้แล้วนั้น เห็นว่า นางสาวมาลีเบิกความตอบทนายจำเลยที่ 2 ถามค้านว่า กรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.4มีเอกสารแนบท้ายซึ่งเป็นของบริษัทนายหน้ารับประกันภัยของโจทก์ เอกสารที่แนบท้ายเอกสารดังกล่าวมีเพียงฉบับเดียว ดังปรากฏตามที่แนบท้ายเอกสารหมาย จ.4 ซึ่งบริษัทแองโกล อีสต์ ชัวตี้ จำกัด ได้ทำขึ้น กรมธรรม์ประกันภัยทำเป็นคู่ฉบับ ซึ่งเป็นต้นฉบับ 2 ฉบับ และทำสำเนาหลายฉบับ ส่งไปให้ผู้เอาประกันภัย 1 ฉบับ และตัวแทนรับประกันภัยของโจทก์ 1 ฉบับ ด้วยอันแสดงว่าเอกสารแนบท้ายกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.4 บริษัทแองโกล อีสต์ ชัวตี้ จำกัด ได้ทำขึ้นเพียงฉบับเดียว ดังนั้น ต้นฉบับจึงต้องอยู่กับผู้เอาประกันภัย คือบริษัท เอ็น.เอส. จิวเวลรี่ แฟคตอรี่ จำกัดเพราะโจทก์ต้องส่งต้นฉบับกรมธรรม์ประกันภัยพร้อมเอกสารแนบท้ายไปให้ผู้เอาประกันภัยด้วย โจทก์จึงเหลือเพียงต้นฉบับกรมธรรม์ประกันภัยตามเอกสารหมาย จ.4 อีก 1 ฉบับ และสำเนาเอกสารที่แนบท้ายเอกสารหมาย จ.4 ที่โจทก์ทำไว้เท่านั้น เหตุที่ต้นฉบับเอกสารที่แนบท้ายเอกสารหมาย จ.4 มิได้อยู่ที่โจทก์ดังกล่าวเป็นกรณีที่ถือได้ว่าโจทก์ไม่สามารถนำต้นฉบับมาได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอนุญาตให้โจทก์นำสำเนาเอกสารดังกล่าวมาสืบ และรับฟังสำเนาเอกสารนั้นเป็นพยานหลักฐาน จึงชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93 (2)
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า สินค้าที่ขนส่งมีราคาเท่าใด และจำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดหรือไม่เพียงใดนั้น เห็นว่า ตามใบตราส่งทางอากาศเอกสารหมาย จ.6 ในช่องลักษณะและจำนวนของสินค้า (รวมทั้งขนาดวัดและความจุ) แจ้งรายละเอียดว่าเป็นทอง 18 เค ประดับด้วยเพชรพลอย สินค้ามีขนาดวัด 30 x 30 x 30 เซนติเมตร ต้นกำเนิดประเทศไทย ใบกำกับสินค้าเลขที่ เอ็ม เอ 004/97 และเมื่อพิจารณาประกอบกับใบกำกับสินค้าเลขที่ เอ็มเอ 004/97 ตามเอกสารหมาย จ.5แล้วปรากฏว่าเอกสารดังกล่าวระบุรายละเอียดว่า รวมราคาสินค้าส่งถึงบนเครื่องบิน กรุงเทพฯ จำนวน 817 ชิ้น น้ำหนัก 1,931 กรัม จำนวน1,510.50 ดอลลาร์สหรัฐ จึงเชื่อว่าราคาสินค้าที่ขนส่งเป็นเงินจำนวน11,510.50 ดอลลาร์สหรัฐ จริง ตามใบตราส่งทางอากาศเอกสารหมายจ.6 ที่จำเลยทั้งสองเป็นผู้ทำขึ้น ส่วนที่จำเลยที่ 2 อ้างว่าสินค้ามีราคาเพียง15,000 บาท ตามราคาที่จำเลยที่ 2 เสนอชดใช้ให้โจทก์นั้น ปรากฏว่าสินค้าที่สูญหายไปเป็นทอง 18 เค ประดับด้วยเพชรพลอยซึ่งเป็นของมีค่าและมีจำนวน817 ชิ้น มีน้ำหนักถึง 1,931 กรัม ซึ่งย่อมจะต้องมีราคาสูง ข้ออ้างของจำเลยที่ 2 จึงรับฟังไม่ได้เพราะขัดต่อเหตุผล เมื่อจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ขนส่งได้ทำให้สินค้าอันเขาได้มอบหมายแก่ตนนั้นสูญหายไป จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อผู้ส่งซึ่งเอาประกันภัยสินค้านั้นไว้แก่โจทก์ตามราคาสินค้าที่ขนส่งที่แท้จริง ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษามาชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ทุกข้อฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 307,294 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 15 มกราคม 2541 อันเป็นวันที่โจทก์จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้ผู้เอาประกันภัยไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์นั้นปรากฏตามคำฟ้องว่าโจทก์เรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน307,294 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่โจทก์จ่ายค่าสินไหมทดแทนไปคือวันที่ 15 มกราคม 2541 จนถึงวันที่ 28 สิงหาคม 2541 อันเป็นวันฟ้องเป็นเวลา 7 เดือนเศษ แต่โจทก์ขอคิดเพียง 7 เดือน ไม่ขอคิดดอกเบี้ยในเศษ 13 วัน ด้วย เป็นเงินดอกเบี้ยจำนวน 13,444.11 บาท รวมเป็นต้นเงินและดอกเบี้ยถึงวันฟ้องจำนวน 320,738.11 บาท และขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 320,738.11 บาท และดอกเบี้ยร้อยละ7.5 ต่อปี ในต้นเงินจำนวน 307,294 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ดังนี้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาดังกล่าวจึงเป็นการพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 307,294 บาท เป็นเวลา 13 วัน ซึ่งโจทก์มิได้ขอให้จำเลยที่ 2 ชำระรวมเข้าไปด้วย อันเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ในปัญหานี้ แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 320,738.11บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 307,294 บาทนับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ 5,000 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2069/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำเลยที่ 2 ไม่เป็นผู้ขนส่งอื่นตาม พ.ร.บ.รับขนทางทะเล และความรับผิดของผู้ขนส่งในระบบตู้สินค้า CY/CY
จำเลยที่ 2 มิได้เป็นคู่สัญญารับขนของทางทะเลกับผู้ส่งซึ่งว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้เป็นผู้ขนส่ง เมื่อจำเลยที่ 1 นำเรือเข้าจอดที่ท่าเรือของบริษัทจำเลยที่ 2 ได้มีการขนถ่ายตู้สินค้าที่ใช้ขนส่งสินค้าในคดีนี้ลงจากเรือ และจำเลยที่ 1 มอบให้จำเลยที่ 2 เพื่อให้จำเลยที่ 2 มอบตู้สินค้านั้นให้ผู้รับตราส่งต่อไป อันเป็นการประกอบกิจการเช่นเดียวกับการดำเนินงานของการท่าเรือแห่งประเทศไทย การดำเนินการดังกล่าวของจำเลยที่ 2 จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการที่จำเลยที่ 2 ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งให้ทำการขนส่งของตามสัญญารับขนของทางทะเลนั้นแม้เพียงช่วงระยะทางช่วงใดช่วงหนึ่ง จำเลยที่ 2 จึงมิใช่ผู้ขนส่งอื่น ตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 3
คำว่า "ผู้ขนส่งอื่น" ตามบทบัญญัติมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 นั้น ไม่รวมถึงบุคคลซึ่งได้รับมอบอำนาจโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายตามประเพณีในธุรกิจการรับขนของทางทะเลให้เป็นตัวแทนผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งอื่นในการดำเนินงานอันเกี่ยวกับธุรกิจเนื่องจากการรับขนของทางทะเล เช่น การขนถ่ายของขึ้นจากเรือหรือการส่งมอบสินค้าแก่ผู้รับตราส่ง ดังนี้ แม้จะฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 1 ให้เป็นผู้ขนย้ายตู้สินค้าจากเรือลงท่าเรือของบริษัทจำเลยที่ 2 และขนย้ายตู้สินค้าจากหน้าท่าไปยังลานเก็บสินค้าของท่าเรือ ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขนส่งอื่น ตามบทบัญญัติมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว
การขนส่งสินค้าเม็ดพลาสติกเป็นการขนส่งในระบบตู้สินค้าแบบ ซีวาย/ซีวาย คือผู้ส่งสินค้าได้ไปตรวจสอบตู้สินค้าว่าอยู่ในสภาพเรียบร้อย เหมาะสมกับสินค้าที่ใช้บรรจุแล้ว ผู้ส่งสินค้าจึงนำตู้สินค้าไปทำการบรรจุและตรวจนับสินค้าเข้าตู้ รวมทั้งปิดผนึกดวงตราปากตู้ต่อหน้าเจ้าพนักงานศุลกากร โดยจำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย ต่อมาผู้ส่งสินค้าได้นำตู้สินค้าดังกล่าวมามอบให้ตัวแทนของจำเลยที่ 1 บรรทุกลงเรือ เมื่อเรือเดินทางมาถึงประเทศไทยแล้ว จำเลยที่ 1 ได้ส่งมอบตู้สินค้านั้นให้เจ้าหน้าที่ท่าเรือของบริษัทจำเลยที่ 2 ในสภาพตู้และดวงตราผนึกปากตู้เรียบร้อย เช่นนี้ หน้าที่และความรับผิดของจำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งจึงสิ้นสุดลง
การขนส่งในระบบตู้สินค้าแบบ ซีวาย/ซีวาย ผู้รับตราส่งที่ปลายทางมีหน้าที่รับตู้สินค้าจากท่าเรือไปเปิดตู้สินค้าที่โกดังของผู้รับตราส่งเองและเมื่อผู้รับตราส่งมาขอรับตู้สินค้าจากจำเลยที่ 2 จะต้องมีการตรวจสอบสภาพตู้สินค้าว่ามีสภาพเรียบร้อยหรือไม่ ซึ่งหากพบความเสียหายจะต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ท่าเรือทราบและต้องมีการบันทึกหมายเหตุความเสียหายนั้นไว้ในใบรับมอบตู้สินค้า แต่ปรากฏว่าตัวแทนของบริษัท ท. ผู้รับตราส่งได้ลงลายมือชื่อรับมอบตู้สินค้าไปในสภาพเรียบร้อยโดยไม่มีการระบุว่าหลังคาตู้สินค้ามีรูรั่วหรือมีความเสียหายใด ๆ เลย อันแสดงว่าตัวแทนของบริษัท ท. ผู้รับตราส่งได้รับมอบตู้สินค้าดังกล่าวไปในสภาพเรียบร้อย ดังนั้น ข้อเท็จจริงจึงรับฟังไม่ได้ว่าความเสียหายของตู้สินค้าและสินค้าเกิดขึ้นในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 1 ผู้ขนส่ง หรือเกิดจากการกระทำโดยประมาทเลินเล่อของจำเลยทั้งสอง อันเป็นเหตุให้ผู้รับตราส่งซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยไว้แก่โจทก์ได้รับความเสียหายตามคำฟ้อง จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1533/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งสินค้าทางอากาศ ผู้ส่งของแสดงความตกลงโดยชัดแจ้ง
ใบตราส่งมีข้อความปรากฏชัดในด้านหน้าว่า ตามเงื่อนไขแห่งสัญญาที่อยู่ด้านหลังนี้ ขอให้ผู้ส่งของรับทราบข้อสังเกตเกี่ยวกับการจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งด้วย ผู้ส่งของอาจเพิ่มส่วนจำกัดความรับผิดได้โดยแจ้งมูลค่าสินค้าให้สูงขึ้นและชำระเงินเพิ่มเติมหากจำเป็น ย่อมทำให้ผู้ส่งของทราบดีว่าตนมีทางเลือก 2 ทาง คือ จะยอมรับข้อจำกัดความรับผิดที่มีอยู่ชัดในด้านหลังใบตราส่งหรือจะเพิ่มส่วนจำกัดความรับผิดโดยต้องเสียเงินเพิ่มก็ได้ และปรากฏว่าด้านหน้าใบตราส่งมีช่องสำหรับการแจ้งมูลค่าสินค้าเพื่อการขนส่ง แต่ในช่องดังกล่าวมีข้อความว่า "เอ็นวีดี"(NVD) ซึ่งหมายถึง การไม่แจ้งมูลค่าสินค้าเพื่อการขนส่ง โดยมีการแจ้งเฉพาะน้ำหนักสินค้าและมีการคิดค่าระวางตามน้ำหนักที่แจ้ง ซึ่งทำให้ไม่ต้องเสียเงินเพิ่มเติมเท่ากับเป็นการเลือกยอมรับข้อจำกัดความรับผิดหลังใบตราส่ง ถือว่าผู้ส่งของแสดงความตกลงด้วยโดยชัดแจ้งในการจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่ง
of 19