คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ภาษี

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 691 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4987/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีเงินได้และภาษีการค้าจากรายได้จากการฉายภาพยนตร์ต่างประเทศ และการหักภาษี ณ ที่จ่าย
โจทก์ซึ่งเป็นบริษัทต่างประเทศมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองฮ่องกงและมีสำนักงานสาขาในประเทศไทยทำสัญญากับบริษัท ย. จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทต่างประเทศมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ประเทศอังกฤษและไม่ได้ประกอบกิจการในประเทศไทย และเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ต่างประเทศจำนวนมาก โดยมีข้อตกลงให้โจทก์นำภาพยนตร์ของบริษัท ย. จำกัด มาฉายในประเทศไทย เมื่อโจทก์นำฟิล์มภาพยนตร์เข้ามาในประเทศไทยแล้ว โจทก์ต้องจ้างบุคคลภายนอกทำก๊อปปี้ฟิล์มภาพยนตร์เพื่อนำไปฉายในโรงภาพยนตร์ได้หลายแห่งในเวลาเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน ฟิล์มภาพยนตร์ที่โจทก์ส่งไปฉายยังโรงภาพยนตร์ต่าง ๆ จึงเป็นทรัพย์สินของโจทก์ เมื่อโจทก์ซึ่งไม่ใช่เจ้าของลิขสิทธิ์ในงานภาพยนตร์นำฟิล์มภาพยนตร์นั้นไปให้เจ้าของโรงภาพยนตร์ในกรุงเทพมหานครฉายให้คนดู โดยเจ้าของโรงภาพยนตร์มีรายรับจากการจำหน่ายตั๋วเข้าชมภาพยนตร์และตกลงแบ่งรายรับกันระหว่างโจทก์กับเจ้าของโรงภาพยนตร์ ถือเป็นการให้เจ้าของโรงภาพยนตร์ได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในฟิล์มภาพยนตร์ในชั่วระยะเวลาอันจำกัด และเจ้าของโรงภาพยนตร์แบ่งรายรับให้โจทก์จึงเป็นการให้เช่าทรัพย์สิน โจทก์จึงเป็นผู้ประกอบการค้า ประเภทการค้า 5 การให้เช่าทรัพย์สิน มีหน้าที่เสียภาษีการค้า (วินิจฉัยตามแนวฎีกาที่ 1817-1818/2516)
การที่บริษัท ย. จำกัด ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์งานภาพยนตร์อนุญาตให้โจทก์นำภาพยนตร์ที่รับมาจากต่างประเทศเข้ามาฉายในประเทศไทย ค่าเช่าหรือค่าตอบแทนที่บริษัท ย. จำกัด ได้รับจากโจทก์ในประเทศไทยจึงเป็นค่าตอบแทนการใช้สิทธิในงานอันมีลิขสิทธิ์ ถือเป็นค่าแห่งลิขสิทธิ์ ตาม ป. รัษฎากร มาตรา 40 (3) ซึ่งตาม ป. รัษฎากร มาตรา 70 (2) ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น มิให้หักค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น ดังนั้น บริษัท ย. จำกัด จึงต้องเสียภาษีโดยให้โจทก์หักภาษี ณ ที่จ่าย จากเงินได้พึงประเมินที่จ่าย ตาม ป. รัษฎากร มาตรา 70 (2) ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 483/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประกอบกิจการในไทย-ข้อยกเว้นภาษี: บริษัทฮ่องกง-ออสเตรเลีย และข้อตกลงภาษีซ้อน
การที่จะถือว่าบริษัทอ. ประกอบกิจการในประเทศไทยตามมาตรา 76 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ต้องปรากฏว่าบริษัท อ. ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศมีลูกจ้างหรือผู้ทำการแทนหรือผู้ทำการติดต่อในการประกอบกิจการในประเทศไทย ซึ่งเป็นเหตุให้ได้รับเงินได้หรือผลกำไรในประเทศไทย
ตามสัญญาจัดการทางเทคนิคระหว่างโจทก์กับบริษัท อ. ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ ผู้จัดการโรงงานกับเจ้าหน้าที่ของบริษัท อ. มีหน้าที่ให้คำแนะนำฝึกฝนเจ้าหน้าที่คนไทยในการดำเนินการของโรงงานและกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ของโจทก์โดยบริษัท อ. ได้รับเงินค่าตอบแทน ค่าธรรมเนียมในอัตราร้อยละ 0.85 บาท จากยอดรายรับจากการขายของโจทก์ทั้งหมด ซึ่งมีลักษณะเป็นการให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคในการประกอบกิจการของโจทก์เอง บุคลากรดังกล่าวทำงานโดยอิสระในฐานะผู้เชี่ยวชาญ มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการซื้อขายสินค้าที่ก่อให้เกิดเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40(4)(ก)การที่บริษัทอ. มีบุคลากรมาทำงานในประเทศไทยจึงมิได้เป็นเหตุให้ได้รับเงินได้พึงประเมินในประเทศไทย ถือไม่ได้ว่าบริษัทอ. ประกอบกิจการขายสินค้าให้แก่โจทก์ในประเทศไทยตามมาตรา 76 ทวิ เมื่อโจทก์ผู้ซื้อสินค้าชำระดอกเบี้ยซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ก) ให้แก่บริษัทอ. ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย แต่ได้รับเงินได้พึงประเมินตามที่จ่ายจากหรือในประเทศไทย บริษัท อ. จึงต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล โจทก์ผู้จ่ายต้องหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายไว้ตามมาตรา 70
ความตกลงระหว่างราชอาณาจักรไทยกับประเทศออสเตรเลียเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ใช้บังคับแก่บุคคลที่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยกับประเทศออสเตรเลีย เท่านั้น บริษัท อ. เป็นนิติบุคคลมีถิ่นที่อยู่ในเมืองฮ่องกง แม้จะเป็นบริษัทในเครือของบริษัท ด. ซึ่งมีถิ่นที่อยู่ในประเทศออสเตรเลีย ก็เป็นคนละนิติบุคคลกัน จะถือว่าบริษัท อ. มีถิ่นที่อยู่ในประเทศออสเตรเลียหาได้ไม่ จึงไม่อาจนำความตกลงฉบับดังกล่าวมาบังคับได้ บริษัทอ.จึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีจากรายได้ที่เป็นดอกเบี้ยตามมาตรา40(4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4586/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีจากราคาประเมินเมื่อราคาขายต่ำกว่าราคาตลาด และการปกปิดราคาเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี
ป. รัษฎากร มาตรา 78 (เดิม) บัญญัติให้ผู้ประกอบการค้า ประเภทการค้าอสังหาริมทรัพย์มีหน้าที่เสียภาษีการค้าจากรายรับที่ได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร โดยกำหนดความหมายของคำว่า "รายรับ" ไว้ในมาตรา 79 ว่า หมายความว่า เงินทรัพย์สิน ค่าตอบแทน หรือประโยชน์ใด ๆ อันมีมูลค่าที่ได้รับ หรือพึงได้รับไม่ว่าในหรือนอกราชอาณาจักร เนื่องจากการประกอบการค้า ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดที่โจทก์ทำกับลูกค้าบางห้อง มีราคาสูงกว่าราคาตามสัญญาซื้อขายที่จดทะเบียนต่อสำนักงานที่ดิน แสดงว่าโจทก์มีเจตนาปกปิดราคาอันแท้จริงที่โจทก์ขายให้แก่ลูกค้า และราคาซื้อขายห้องชุดดังกล่าวที่จดทะเบียนที่สำนักงานที่ดินมิใช่ราคาขายอันแท้จริง เจ้าพนักงานประเมินย่อมมีอำนาจประเมินรายรับของโจทก์ตามมูลค่าที่โจทก์พึงได้รับ โดยใช้ราคาประเมินของกรมที่ดินที่ใช้เก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมได้ และมีอำนาจประเมินภาษีการค้าเพิ่มขึ้น พร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มได้ ตามมาตรา 87 (1) (2) และ 87 ทวิ
ผู้ประกอบกิจการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรต้องนำรายรับจากการประกอบกิจการคือ รายรับก่อนหักค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 91/5 (6) มาเป็นฐานในการคิดคำนวณภาษีธุรกิจเฉพาะ แต่รายรับดังกล่าวต้องเป็นรายรับที่เป็นจริงและควรได้รับตามปกติจากการขายอสังหาริมทรัพย์ในวันที่มีการจดทะเบียนโอน เมื่อโจทก์มิได้ยื่นรายการและเสียภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับเดือนภาษีเมษายน 2535 และปรากฏว่าในขณะจดทะเบียนโอนขายอาคารชุดนั้น สำนักงานทะเบียนที่ดินเก็บค่าธรรมเนียมและอากรแสตมป์โดยคิดคำนวณจากราคาประเมินของกรมที่ดินที่ใช้จัดเก็บค่าธรรมเนียมสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดินที่ใช้อยู่ในขณะนั้นโดยโจทก์ไม่โต้แย้งว่าไม่ถูกต้อง เจ้าพนักงานประเมินย่อมมีภาษีธุรกิจเฉพาะ เบี้ยปรับ และเงินเพิ่มสำหรับเดือนภาษีดังกล่าวโดยกำหนดรายรับของโจทก์จากการขายอาคารชุดที่โจทก์ควรจะได้รับ หรือควรจะขายได้ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 91/15 และ 91/16

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2564/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแบ่งเงินชำระบัญชีบริษัทก่อนชำระภาษี: โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกเงินคืนจากผู้รับส่วนแบ่ง
ขณะที่มีการชำระบัญชีอยู่บริษัท ท. ยังเป็นหนี้ค่าภาษีอากรค้างกรมสรรพากรโจทก์อยู่จำนวนหนึ่ง เนื่องจากเสียภาษีอากรไม่ถูกต้องครบถ้วน การที่ผู้ชำระบัญชีของบริษัท ท. แบ่งเงินอันเป็นสินทรัพย์ที่เหลืออยู่ของบริษัทให้แก่จำเลยไป ไม่ว่าจำเลยจะรับไว้โดยสุจริตหรือไม่ ก็เป็นการฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1269 ถือได้ว่าจำเลยได้รับเงินส่วนแบ่งมาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้จึงถือว่าเป็นลาภมิควรได้ที่จำเลยจำต้องคืนให้แก่บริษัท ท. ผู้เป็นเจ้าของเงินตามมาตรา 406
บริษัท ท. หรือผู้ชำระบัญชีมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยคืนเงิน ส่วนแบ่งซึ่งเป็นสินทรัพย์ของบริษัท ท. ในฐานลาภมิควรได้และหากบริษัท ท. ขัดขืนไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้องหรือเพิกเฉยเสียไม่ใช้สิทธิเรียกร้องนั้น เป็นเหตุให้กรมสรรพากรโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ค่าภาษีอากรค้างต้องเสียประโยชน์ โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะใช้สิทธิเรียกร้องนั้นในนามของตนเองแทนบริษัท ท. ลูกหนี้ได้โดยโจทก์จะต้องขอหมายเรียกบริษัท ท. เข้ามาในคดีด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 233 และมาตรา 234แต่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า โจทก์ฟ้องคดีแทนบริษัท ท. เพราะบริษัท ท. ขัดขืนไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยคืนเงินส่วนแบ่งที่จำเลยรับไปโดยมิชอบหรือเพิกเฉยเสียไม่ใช้สิทธิเรียกร้อง รวมทั้งโจทก์มิได้ขอหมายเรียกบริษัทดังกล่าวซึ่งเป็นลูกหนี้โดยตรงของโจทก์เข้ามาในคดี จึงต้องถือว่าเป็นการฟ้องเรียกให้จำเลยคืนเงินส่วนแบ่งสินทรัพย์ที่ได้รับจากผู้ชำระบัญชีโดยมิชอบให้แก่โจทก์เองโดยตรง ซึ่งโจทก์หามีอำนาจที่จะฟ้องจำเลยเช่นนั้นไม่ เนื่องจากจำเลยไม่มีหน้าที่ทางนิติกรรมหรือตามกฎหมายที่จะต้องคืนเงินสินทรัพย์ของบริษัท ท. ที่ตนได้รับไว้คืนให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7238/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของหุ้นส่วนผู้จัดการและผลของคำพิพากษาโมฆะนิติกรรมต่อการฟ้องเรียกค่าภาษี
คดีก่อนจำเลยที่ 3 ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่อศาลจังหวัดปัตตานี ขอให้พิพากษาว่านิติกรรมเข้าหุ้นส่วนของจำเลยที่ 3 เป็นโมฆะและศาลจังหวัดปัตตานีพิพากษาว่านิติกรรมดังกล่าวเป็นโมฆะ คำพิพากษาดังกล่าวมิใช่คำพิพากษาเกี่ยวด้วยฐานะหรือความสามารถของบุคคล หากแต่เกี่ยวด้วยนิติกรรมที่จำเลยที่ 3 กระทำ คำพิพากษาดังกล่าวจึงไม่ ผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 17 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคสอง (1)
โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 3 รับผิดในฐานะที่เคยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 มิได้ฟ้องให้รับผิดในฐานะที่เป็นผู้ที่จะต้องเสียภาษีอากร ดังนั้น เจ้าพนักงานประเมินมีหน้าที่เพียงแต่หมายเรียก ตรวจสอบไต่สวน และ แจ้งการประเมินจำเลยที่ 1 ไปยังภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 เท่านั้น หาจำต้องส่งหมายเรียกตรวจสอบไต่สวนและหนังสือแจ้งการประเมินไปให้จำเลยที่ 3 และผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่นด้วยไม่ เมื่อโจทก์ออกหมายเรียกและแจ้งการประเมินให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดผู้ต้องเสียภาษีอากรแล้ว การหมายเรียกตรวจสอบไต่สวนและแจ้งการประเมินของโจทก์จึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 659/2545 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสมรสโมฆะไม่มีผลทางภาษี เงินได้ของคู่สมรสที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ถือเป็นเงินได้ของอีกฝ่าย
เมื่อการสมรสระหว่างโจทก์กับ จ. เป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1452 ประกอบมาตรา 1495 เนื่องจาก จ. มีคู่สมรสอยู่แล้วในขณะที่สมรสกับโจทก์มีผลเท่ากับโจทก์กับ จ. มิได้เป็นสามีภริยากันมาแต่แรก จึงไม่อาจถือว่า เงินที่ จ. ได้รับมาในปีภาษี 2539 เป็นเงินได้ของโจทก์ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 57 ตรี โจทก์จึงไม่มีหน้าที่และ ความรับผิดชอบในการยื่นรายการและเสียภาษีสำหรับเงินได้จำนวนดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4330/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีจากการขายสินค้าต่ำกว่าราคาตลาดและการตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่สมเหตุสมผล
การโอนทรัพย์สินหรือขายสินค้าต่ำกว่าราคาตลาดที่จะทำให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินค่าตอบแทนหรือราคาเพิ่มขึ้นตามประมวลรัษฎากรฯ มาตรา 65 ทวิ(4)จะต้องเป็นการโอนทรัพย์สินหรือขายสินค้าต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควรการที่โจทก์ขายสินค้าต่ำกว่าราคาทุนเพียงเล็กน้อย แต่ทำให้มีส่วนในการส่งเสริมการขายของโจทก์ทำให้สินค้าของโจทก์รู้จักกันแพร่หลาย โจทก์มีรายได้และมีกำไรเพิ่มมากขึ้นจึงเป็นการขายสินค้าต่ำกว่าราคาตลาดโดยมีเหตุอันสมควรการที่เจ้าพนักงานประเมินราคาสินค้าเพิ่มขึ้นจึงเป็นการประเมินที่ไม่ชอบ
โจทก์ บริษัท ท. และบริษัท ร. ทำสัญญาเช่าและสัญญาการให้บริการสาธารณูปโภคกับบริษัท ส. ผู้ให้เช่าอาคาร โดยมีบันทึกข้อตกลงระหว่างโจทก์กับบริษัท ท. และบริษัท ร. เป็นข้อตกลงระหว่างบริษัทในเครือเดียวกัน ซึ่งความรับผิดตามสัญญาเช่าและสัญญาการให้บริการสาธารณูปโภคในระหว่างผู้เช่าด้วยกันโจทก์รับผิดเพียงหนึ่งในสามของค่าเช่าและค่าบริการต่าง ๆ มิใช่ต้องรับผิดทั้งหมดรายจ่ายส่วนที่โจทก์จ่ายแทนผู้เช่าอีก 2 บริษัท จึงเป็นรายจ่ายซึ่งมิใช่รายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะตามประมวลรัษฎากรฯ มาตรา 65 ตรี(13) ต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ การที่เจ้าพนักงานประเมินตัดรายจ่ายในส่วนนี้ออกสองในสามส่วนและประเมินให้โจทก์เสียภาษีเพิ่มจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3199/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผู้ชำระบัญชีมีหน้าที่ชำระหนี้ของบริษัทก่อนแบ่งเงินให้ผู้ถือหุ้น การเพิกเฉยหนี้ภาษีถือเป็นการละเมิด
ผู้ชำระบัญชีมีหน้าที่ชำระสะสางการงานของบริษัทให้เสร็จไปกับจัดการใช้หนี้เงินและแจกจำหน่ายสินทรัพย์ของบริษัทตามมาตรา 1250 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การที่บริษัท บ. ชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลกับภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ถูกต้อง จำเลยซึ่งเป็นทั้งกรรมการและผู้ชำระบัญชีของบริษัทดังกล่าวมีหน้าที่เอื้อเฟื้อสอดส่องในการประกอบกิจการของบริษัทที่ตนเป็นกรรมการตามมาตรา 1168 และในฐานะที่เป็นผู้ชำระบัญชีตามมาตรา 1252 จึงควรจะต้องรู้ว่าบริษัทเป็นหนี้ค่าภาษีอยู่ การที่จำเลยมิได้เก็บรักษาเอกสารไว้ตามมาตรา 1271 อีกทั้งเมื่อจดทะเบียนเลิกบริษัทแล้วมิได้แจ้งการเลิกกิจการภายใน 15 วัน นับจากวันเลิกประกอบกิจการตามประมวลรัษฎากร มาตรา 85/15 แต่ไปแจ้งหลังจากนั้น 1 ปีเศษและรีบจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีโดยบริษัทยังมีเงินสดเหลืออยู่อีก 1,538,905.44บาท แต่มิได้กันเงินที่จะชำระหนี้ให้กรมสรรพากรโจทก์โดยกลับแบ่งเงินเฉลี่ยคืนให้แก่ผู้ถือหุ้น อันขัดต่อมาตรา 1264 และมาตรา 1269 การกระทำของจำเลยจึงเป็นการจงใจปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ชำระบัญชีโดยฝ่าฝืนกฎหมายทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์
เดิมโจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลภาษีอากรกลาง ต่อมาศาลฎีกาเห็นว่าคดีในส่วนของจำเลยไม่อยู่ในอำนาจของศาลภาษีอากรกลางและพิพากษาให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาของศาลภาษีอากรกลางตั้งแต่ชั้นรับคำฟ้องจนถึงชั้นมีคำพิพากษา จึงเป็นกรณีที่ศาลไม่รับคำฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยเพราะเหตุคดีไม่อยู่ในอำนาจศาล กรณีต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/17 วรรคสอง โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องคดีใหม่เพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้องหรือเพื่อให้ชำระหนี้ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาดังกล่าวนั้นถึงที่สุด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1669-1670/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าขึ้นศาลคำฟ้องหลายข้อหา และอำนาจศาลในการงดเบี้ยปรับภาษี
การเสียค่าขึ้นศาลต้องพิจารณาจากคำฟ้องเป็นเกณฑ์มิได้พิจารณาเป็นรายคดีหรือรายสำนวน การเสนอข้อหาต่อศาลแต่ละข้อหาก็เป็นคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1(3) แล้ว การเรียกค่าขึ้นศาลจึงต้องดูว่าคำฟ้องที่เสนอต่อศาลมีกี่ข้อหา แต่ละข้อหาแยกจากกันได้หรือไม่ หากแยกจากกันได้ก็ต้องเสียค่าขึ้นศาลเป็นรายข้อหาไป การที่จำเลยอุทธรณ์เกี่ยวกับเบี้ยปรับของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาข้อหาหนึ่งกับเบี้ยปรับของภาษีการค้าอีกข้อหาหนึ่งแยกจากกันได้ จึงต้องเสียค่าขึ้นศาลแยกเป็นรายข้อหา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9763/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การส่งหนังสือแจ้งการประเมินภาษีโดยชอบตามกฎหมาย และการขยายเวลาอุทธรณ์
บ้านที่เจ้าพนักงานสรรพากรได้ส่งหนังสือแจ้งการประเมินให้แก่โจทก์ทั้งสอง เป็นบ้านของโจทก์ทั้งสองและโจทก์ทั้งสองก็มีภูมิลำเนาตามทะเบียนบ้านอยู่ในบ้านหลังนี้ ทั้งยังปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองมาดูแลโต๊ะสนุกเกอร์ที่บ้านเลยที่ดังกล่าวเป็นประจำ การที่เจ้าพนักงานประเมินส่งหนังสือแจ้งการประเมินให้โจทก์ทั้งสอง ณ บ้านเลขที่ดังกล่าวซึ่งเป็นภูมิลำเนาของโจทก์ทั้งสองทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ และมี พ. อายุ 29 ปี ซึ่งอยู่ในบ้านเลยที่ดังกล่าวรับไว้แทน โดยระบุความเกี่ยวพันว่าเป็นลูกจ้าง จึงเป็นการส่งโดยชอบตามประมวลรัษฎากร มาตรา 8 วรรคหนึ่ง แม้จะฟังว่าพ. ทำหนังสือแจ้งการประเมินสูญหายไปดังที่โจทก์ทั้งสองนำสืบ โจทก์ทั้งสองก็หาอาจนำมาเป็นข้ออ้างเพื่อขอขยายกำหนดเวลาอุทธรณ์ได้ไม่ คำสั่งของจำเลยที่ไม่อนุมัติให้ขยายกำหนดเวลาการอุทธณณ์เป็นคำสั่งที่ชอบ ไม่มีเหตุที่โจทก์ทั้งสองจะฟ้องให้เพิกถอนได้
of 70