คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
มติคณะรัฐมนตรี

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 36 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2227/2521

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ มติคณะรัฐมนตรีไม่ผูกพันคู่สัญญา สัญญารับเหมา ศาลไม่บังคับเว้นการปรับ
ผิดสัญญารับเหมาสร้างอาคาร ผู้ว่าจ้างปรับผู้รับจ้างมติคณะรัฐมนตรีไม่ใช่กฎหมายที่ศาลจะบังคับส่วนราชการผู้ว่าจ้างให้งดการปรับได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13579/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการปรับขึ้นค่าจ้างตามมติคณะรัฐมนตรีสำหรับลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ: กรณีลูกจ้างลาออกก่อนวันประกาศใช้ข้อบังคับ
จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจ คณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์มีมติเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2547 เห็นชอบให้ปรับค่าจ้างของลูกจ้างรัฐวิสาหกิจโดยแบ่งรัฐวิสาหกิจออกเป็น 3 กลุ่ม จำเลยอยู่ในกลุ่มที่ 3 คือรัฐวิสาหกิจที่ใช้บัญชีโครงสร้างเงินเดือนค่าจ้างของพนักงานรัฐวิสาหกิจ (ฉบับที่ 2) ตามประกาศคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ลงวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2537 การปรับอัตราค่าจ้างให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2547 เป็นต้นไป วันที่ 3 พฤศจิกายน 2547 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีมีหนังสือระบุว่าคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ปรับค่าจ้างตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2547 เป็นต้นไป วันที่ 1 ธันวาคม 2547 โจทก์ลาออกจากการเป็นลูกจ้างของจำเลยวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2548 จำเลยออกข้อบังคับว่าด้วยการจัดระเบียบบริหารงาน พ.ศ.2544 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ.2548 วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2548 จำเลยออกคำสั่งปรับเงินเดือนพนักงานและลูกจ้างตามข้อบังคับดังกล่าว
ข้อบังคับว่าด้วยการจัดระเบียบบริหารงาน พ.ศ.2544 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ.2548 ข้อ 2 ระบุว่า "ให้ยกเลิกบัญชีอัตราเงินเดือนพนักงาน (บัญชีหมายเลข 1) ท้ายข้อบังคับองค์การตลาดว่าด้วยการจัดระเบียบบริหารงาน พ.ศ.2544 และให้ใช้บัญชีอัตราเงินเดือน (บัญชีหมายเลข 1) ท้ายข้อบังคับนี้แทน" และบัญชีอัตราเงินเดือนท้ายข้อบังคับฉบับนี้ระบุว่าเป็น "บัญชีอัตราเงินเดือนของพนักงานและลูกจ้างประจำองค์การตลาด กระทรวงมหาดไทย" หมายความว่าผู้ที่ได้รับเงินเดือนตามบัญชีอัตราเงินเดือนท้ายข้อบังคับฉบับนี้ (บัญชีอัตราเงินเดือนที่ปรับใหม่) ต้องเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของจำเลยอยู่ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2548 ที่ข้อบังคับและบัญชีอัตราเงินเดือนดังกล่าวประกาศใช้ ส่วนที่มีข้อความระบุในข้อ 3 ว่า "ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2547 เป็นต้นไป" นั้น มีความหมายว่าผู้ที่ยังคงเป็นพนักงานและลูกจ้างของจำเลยได้รับตัวเงินตามบัญชีอัตราเงินเดือนที่ปรับใหม่นับย้อนไปถึงวันที่ 1 เมษายน 2547 ไม่มีข้อความให้จำเลยจ่ายเงินเดือนในอัตราตามบัญชีอัตราเงินเดือนที่ปรับใหม่ให้ผู้ที่ไม่ได้เป็นพนักงานของจำเลยแล้วย้อนหลังไปถึงวันที่ 1 เมษายน 2547 ด้วย
โจทก์พ้นจากการเป็นพนักงานของจำเลยในวันที่ 1 ธันวาคม 2547 ไม่ได้รับเงินเดือนตามบัญชีอัตราเงินเดือนพนักงาน (บัญชีหมายเลข 1) ท้ายข้อบังคับองค์การตลาดว่าด้วยการจัดระเบียบบริหารงาน พ.ศ.2544 (บัญชีอัตราเงินเดือนเดิม) นับแต่วันพ้นจากการเป็นพนักงาน จึงไม่ใช่พนักงานผู้ได้รับเงินเดือนตามบัญชีอัตราเงินเดือนพนักงาน (บัญชีหมายเลข 1) ท้ายข้อบังคับองค์การตลาดว่าด้วยการจัดระเบียบบริหารงาน พ.ศ.2544 (บัญชีอัตราเงินเดือนเดิม) ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2547 แล้ว ไม่ใช่ผู้เป็นพนักงานของจำเลย ณ วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2548 ที่บัญชีอัตราเงินเดือนเดิมถูกยกเลิกไปตามข้อบังคับว่าด้วยการจัดระเบียบบริหารงาน พ.ศ.2544 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ.2548 โจทก์จึงไม่อยู่ในฐานะที่จะได้รับเงินเดือนตามบัญชีอัตราเงินเดือน (บัญชีหมายเลข 1) ท้ายข้อบังคับองค์การตลาดว่าด้วยการจัดระเบียบริหารงาน พ.ศ.2544 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ.2548 (บัญชีอัตราเงินเดือนที่ปรับใหม่)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 902-999/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยปริยาย การปรับโครงสร้างอัตราเงินเดือนตามมติคณะรัฐมนตรี และอำนาจศาลแรงงาน
เมื่อจำเลยเห็นว่าคดีนี้อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครองมิใช่ศาลแรงงานกลางก็ชอบที่จะยื่นคำร้องต่อศาลแรงงานกลางก่อนวันสืบพยาน เพื่อให้ศาลแรงงานกลางจัดทำความเห็นส่งไปให้ศาลปกครองพิจารณาตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.2542 มาตรา 10 เมื่อจำเลยมิได้ดำเนินการแสดงว่าจำเลยยอมรับอำนาจของศาลแรงงานกลางที่จะพิพากษาคดีนี้ได้ และเมื่อศาลแรงงานกลางพิจารณาพิพากษาคดีนี้แล้ว จำเลยก็ไม่อาจยกปัญหาดังกล่าวขึ้นอุทธรณ์ได้เนื่องจากเป็นการล่วงเลยเวลาที่จะพิจารณาปัญหานี้แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9068-9346/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการได้รับเงินเพิ่มจากมติคณะรัฐมนตรีจำกัดเฉพาะลูกจ้างที่อยู่ในสถานะพนักงาน ณ วันที่มติมีผลบังคับใช้
โจทก์ทั้งสองร้อยเจ็ดสิบเก้าออกจากงาน (เกษียณอายุ) เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2547 ไม่มีสภาพเป็นพนักงานและลูกจ้างทดลองงานที่ยังมีสภาพการเป็นผู้ปฏิบัติงาน ณ วันที่ 10 พฤษภาคม 2548 ซึ่งเป็นวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติและเป็นวันที่จำเลยระบุไว้ในคำสั่งปรับเงินเดือน จึงไม่มีสิทธิได้รับการปรับเพิ่มเงินเดือนตามมติของคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์และมติคณะรัฐมนตรี
แม้ว่าในการประชุมคณะกรรมการของจำเลยครั้งที่ 6/2548 เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2548 ที่ลงมติให้ปรับเพิ่มเงินเดือนให้แก่พนักงานและลูกจ้างทดลองงานที่ยังมีสถานภาพการเป็นผู้ปฏิบัติงานอยู่ ณ วันที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบการปรับเพิ่มเงินเดือนคือวันที่ 10 พฤษภาคม 2548 จะไม่มีสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเข้าร่วมประชุมด้วยก็ไม่มีผลให้การออกคำสั่งที่ ค.51/2548 ของจำเลยที่ให้ปรับเพิ่มเงินเดือนแก่พนักงานและลูกจ้างทดลองงานที่ยังมีสถานภาพการเป็นผู้ปฏิบัติงานอยู่ ณ วันที่ 10 พฤษภาคม 2548 เสียไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8628/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิค่าชดเชยพนักงานรัฐวิสาหกิจ: การเลิกจ้างและข้อยกเว้นตามมติคณะรัฐมนตรี
ขณะโจทก์ถูกเลิกจ้าง ธนาคาร ศ. มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ โจทก์ทำงานเป็นพนักงานของธนาคาร ศ. ติดต่อกัน 11 ปีเศษ โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าเงินเดือนค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน ตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ข้อ 45 (3) มติคณะรัฐมนตรีที่ให้สถาบันการเงินกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 50 ไม่ต้องปฏิบัติตามคำสั่ง กฎ ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่ใช้บังคับกับรัฐวิสาหกิจทั่วไป เพียงให้สถาบันการเงินที่เป็นรัฐวิสาหกิจเนื่องจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูเข้าแทรกแซงได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการในเรื่องเงินเดือน สวัสดิการ และผลประโยชน์ตอบแทนของพนักงาน โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขในการจ้างเดิมของสถาบันการเงินนั้นเท่านั้น มิได้มีข้อความให้ยกเว้นมาตรฐานของสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับค่าชดเชยที่รัฐวิสาหกิจจะต้องจ่ายให้แก่พนักงานซึ่งเลิกจ้างตามที่คณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์วางระเบียบไว้โดยอาศัยอำนาจแห่ง พ.ร.บ.พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2534 จำนวนค่าชดเชยที่โจทก์มีสิทธิได้รับเมื่อเลิกจ้างจึงยังคงเป็นไปตามที่คณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์วางระเบียบไว้ดังกล่าว ไม่อาจนำบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 (5) ที่ว่า ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกัน 10 ปีขึ้นไป ให้จ่ายค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน มาใช้แก่กรณีของโจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5694-5702/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงสภาพการจ้างโดยปริยาย การปรับเงินเดือนตามมติคณะรัฐมนตรี และอำนาจการปรับเงินเดือนของนิติบุคคล
ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความนั้น จำเลยมิได้ให้การไว้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง และไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
การพิจารณาว่าจำเลยต้องปรับค่าจ้างให้แก่โจทก์ทั้งเก้าตามมติคณะรัฐมนตรีตามฟ้องหรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาว่าโจทก์ทั้งเก้าและจำเลยมีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างในเรื่องการปรับค่าจ้างตามมติคณะรัฐมนตรีตามฟ้องไว้หรือไม่ อย่างไร แม้โจทก์ทั้งเก้าและจำเลยไม่มีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเป็นหนังสือตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 10 วรรคสอง แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2533 กรรมการผู้จัดการจำเลยมีหนังสือถึงประธานกรรมการดำเนินการของจำเลยว่าสมควรปรับเงินเดือนเจ้าหน้าที่ของจำเลยเข้าสู่ฐานเงินเดือนเช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่องค์การค้าของคุรุสภาที่ได้ปรับปรุงใหม่ตามมติของคณะรัฐมนตรีที่ได้อนุมัติแล้ว เนื่องด้วยจำเลยได้ยึดหลักเกณฑ์และฐานเงินเดือนเจ้าหน้าที่องค์การค้าของคุรุสภามาใช้โดยอนุโลม จึงเห็นสมควรปรับเงินเดือนใหม่และให้มีการตกเบิกย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2533 และจำเลยมีคำสั่งที่ 3/2537 ลงวันที่ 27 ธันวาคม 2537 ว่าโครงสร้างเงินเดือนของพนักงานจำเลยได้ถือบังคับใช้โครงสร้างเงินเดือนเจ้าหน้าที่ขององค์การค้าของคุรุสภาในฐานะรัฐวิสาหกิจ จึงมีคำสั่งปรับอัตราเงินเดือนของเจ้าหน้าที่จำเลยตามโครงสร้างเงินเดือนที่ทางรัฐบาลได้ปรับโครงสร้างเงินเดือนของข้าราชการและรัฐวิสาหกิจในปี 2537 และให้มีผลย้อนหลังตกเบิกตั้งแต่เดือนตุลาคม 2537 เป็นต้นไป ต่อมาในการประชุมคณะกรรมการดำเนินการจำเลย ครั้งที่ 7/2550 - 51 ครั้งที่ 1/2552 - 53 และครั้งที่ 7/2552 - 53 มีมติว่าให้รอองค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (องค์การค้าของ สกสค.) ปรับขึ้นเงินเดือนให้แก่เจ้าหน้าที่เมื่อใด จำเลยก็จะปรับให้เจ้าหน้าที่จำเลยเหมือนกัน ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการดำเนินการจำเลยครั้งที่ 4/2555 - 56 มีมติว่าองค์การค้าของ สกสค. มีนโยบายปรับเงินเดือนให้แก่เจ้าหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2556 จำเลยมีแนวทางปรับเงินเดือนให้แก่เจ้าหน้าที่จำเลยเช่นกัน จึงให้จัดทำบัญชีเงินเดือนแนบท้ายมาด้วย ต่อมาในการประชุมคณะกรรมการดำเนินการจำเลย ครั้งที่ 6/2555 - 56 มีมติอนุมัติให้ปรับเงินเดือนแก่เจ้าหน้าที่จำเลยตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2556 โดยคำนวณตามที่องค์การค้าของ สกสค. ปรับอัตราเงินเดือนให้แก่เจ้าหน้าที่องค์การค้าของ สกสค. และในการประชุมคณะกรรมการดำเนินการจำเลย ครั้งที่ 7/2555 - 56 มีมติอนุมัติให้ปรับอัตราเงินเดือนแก่เจ้าหน้าที่จำเลยตามบัญชีปรับอัตราเงินเดือน - ฐานเงินเดือน ตามเสนอ โดยให้มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2556 ปัจจุบันองค์การค้าของคุรุสภาได้โอนกิจการ เงินทรัพย์สิน หนี้ สิทธิต่าง ๆ ไปเป็นของสำนักงานคณะกรรมการสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ตาม พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 มาตรา 83 ดังนี้ พฤติการณ์ของจำเลยและโจทก์ทั้งเก้าดังกล่าวต่างแสดงออกยินยอมตกลงให้ยึดถืออัตราเงินเดือนเจ้าหน้าที่องค์การค้าของคุรุสภาหรือองค์การค้าของ สกสค. เป็นอัตราเงินเดือนเจ้าหน้าที่จำเลยตั้งแต่ปี 2533 ตลอดมา ถือได้ว่าเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างในเรื่องอัตราค่าจ้างโดยปริยาย ไม่จำต้องทำเป็นหนังสือก็มีผลบังคับได้
แม้ในคดีที่เจ้าหน้าที่ขององค์การค้าของ สกสค. เป็นโจทก์ฟ้องต่อศาลแรงงานกลางซึ่งคดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาพิพากษาให้ สกสค. ปรับเงินเดือนแก่เจ้าหน้าที่องค์การค้าของคุรุสภา (ซึ่งต่อมาได้โอนกิจการองค์การค้าของคุรุสภามาเป็นองค์การค้าของ สกสค.) ซึ่ง สกสค. ได้ปรับเงินเดือนเพิ่มให้แก่เจ้าหน้าที่องค์การค้าของ สกสค. ตามคำพิพากษาศาลฎีกา และจ่ายเงินเพิ่มให้แก่เจ้าหน้าที่องค์การค้าของ สกสค. ตามคำพิพากษาศาลฎีกา ก็ตาม แต่โจทก์ทั้งเก้าและจำเลยคงมีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเฉพาะเรื่องอัตราค่าจ้างโดยตกลงให้ยึดถืออัตราค่าจ้างของเจ้าหน้าที่องค์การค้าของคุรุสภาหรือองค์การค้าของ สกสค. เป็นอัตราค่าจ้างของเจ้าหน้าที่จำเลย ซึ่งหาก สกสค. ปรับอัตราเงินเดือนให้แก่เจ้าหน้าที่องค์การค้าของ สกสค. เมื่อใด จำเลยก็จะปรับให้เช่นกัน มิได้มีข้อตกลงว่าจำเลยต้องปรับอัตราเงินเดือนให้แก่เจ้าหน้าที่จำเลยในวันเวลาใดที่แน่นอนและมิได้ตกลงให้ยึดถืออัตราค่าจ้างตามมติคณะรัฐมนตรีอันจะมีผลให้จำเลยต้องปรับเงินเดือนให้แก่เจ้าหน้าที่จำเลยย้อนหลังไปในวันที่มติคณะรัฐมนตรีมีผลใช้บังคับ ทั้งการปรับเงินเดือนให้แก่โจทก์ทั้งเก้าซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่จำเลยเป็นอำนาจของจำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจาก สกสค. โดยเฉพาะ เมื่อที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการจำเลยมีมติให้ปรับเงินเดือนแก่โจทก์ทั้งเก้าในอัตราเดียวกับเจ้าหน้าที่องค์การค้า สกสค. โดยมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2556 และไม่ปรากฏว่าวันที่มีผลบังคับไม่เหมาะสม การปรับเงินเดือนของจำเลยให้แก่โจทก์ทั้งเก้าจึงชอบแล้ว จำเลยไม่ต้องปรับเงินเดือนหรือค่าจ้างให้แก่โจทก์ทั้งเก้าย้อนหลังตามมติคณะรัฐมนตรี และไม่ต้องจ่ายเงินเดือนหรือค่าจ้างเพิ่มขึ้นและเงินโบนัสให้แก่โจทก์ทั้งเก้า
of 4