คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
มาตรา 157

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 36 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1034/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ต้องอยู่ในอำนาจหน้าที่โดยตรง การลงมติไม่มีอำนาจหน้าที่ ไม่เป็นความผิด ม.157
ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 จะต้องเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ซึ่งอยู่ในหน้าที่ของเจ้าพนักงานนั้นเองโดยมิชอบด้วยเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือโดยทุจริต ถ้าไม่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานผู้นั้นโดยตรงแล้ว ย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตราดังกล่าว ขณะเกิดเหตุอำนาจหน้าที่ในการแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดชลบุรี เป็นอำนาจหน้าที่ของเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2541 มาตรา 30 จำเลยทั้งหกมีอำนาจตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมอบหมายตามมาตรา 13 ของพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งมิได้กำหนดให้จำเลยทั้งหกในฐานะคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดมีอำนาจหน้าที่ในการแต่งตั้งโยกย้ายพนักงานของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง การที่จำเลยทั้งหกมีการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดชลบุรีแล้วมีมติว่า ให้ส่งตัวโจทก์คืนสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งและให้แต่งตั้งหัวหน้างานสืบสวนสอบสวนคนใหม่แทนโจทก์ จำเลยทั้งหกกระทำไปโดยไม่มีอำนาจหน้าที่ ทั้งไม่ปรากฏว่าหลังจากจำเลยที่ 1 ทำหนังสือขอส่งตัวโจทก์คืนไปยังเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง เลขาธิการมีคำสั่งเกี่ยวกับหนังสือดังกล่าวอย่างไร การที่โจทก์ได้รับคำสั่งให้ไปช่วยราชการที่ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ก็เป็นเวลาตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2548 ก่อนที่จะมีมติดังกล่าว ส่วนที่โจทก์ได้รับคำสั่งให้ช่วยราชการต่อเนื่องกันมาจนถึงวันที่ 16 กรกฎาคม 2550 ตามคำสั่งของเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยไม่ปรากฏว่าการมีคำสั่งดังกล่าวสืบเนื่องมาจากการลงมติของจำเลยทั้งหกที่ให้ส่งตัวโจทก์คืน การกระทำของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 จึงหาใช่เป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ หรือเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตาม ป.อ. มาตรา 157 แต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 353/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องคดีอาญา มาตรา 157: การได้ตัวผู้ต้องหามายังศาลและผลของการไต่สวนมูลฟ้อง
ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี โจทก์จึงต้องฟ้องและได้ตัวผู้กระทำผิดมายังศาลภายใน 15 ปีนับแต่วันกระทำความผิด คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดระหว่างวันที่ 24 ตุลาคม 2537 ถึงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2537 แม้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2552 ภายในอายุความ 15 ปี นับแต่วันกระทำความผิด แต่การที่ศาลชั้นต้นต้องทำการไต่สวนมูลฟ้องของโจทก์ต่อไประหว่างนั้นจะถือว่าได้ตัวจำเลยทั้งสองมาศาล และจำเลยทั้งสองอยู่ในอำนาจศาลไม่ได้ อายุความจึงยังไม่หยุดนับ เมื่อปรากฏว่าขณะที่ศาลชั้นต้นทำการไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ 18 มกราคม 2553 นั้นเป็นเวลาเกิน 15 ปี นับแต่วันที่กล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้อง คดีโจทก์สำหรับความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 ย่อมขาดอายุความ
ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องจำเลยทั้งสองยังไม่อยู่ในอำนาจของศาลจนกว่าศาลจะมีคำสั่งประทับรับฟ้องโจทก์ไว้พิจารณา การที่ศาลหมายแจ้งวันนัดไต่สวนมูลฟ้องให้จำเลยทั้งสองทราบ จำเลยทั้งสองมีสิทธิไม่มาศาลในวันนัดได้ เพราะหมายเรียกดังกล่าวเป็นเพียงแจ้งให้จำเลยทั้งสองทราบวันนัดไต่สวนมูลฟ้องเท่านั้น การที่จำเลยทั้งสองมาฟังการพิจารณาของศาลในชั้นไต่สวนมูลฟ้องยังไม่ถือว่าจำเลยทั้งสองอยู่ในอำนาจศาล ถือไม่ได้ว่าโจทก์ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำผิดมายังศาลตาม ป.อ. มาตรา 95 (2) และจะนำบทบัญญัติทางแพ่งเรื่องอายุความสะดุดหยุดลงเมื่อฟ้องคดีมาใช้บังคับไม่ได้เพราะ ป.อ. มาตรา 95 บัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะแล้ว
ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 97 วรรคหนึ่ง เป็นกรณีที่อัยการสูงสุดเป็นผู้ฟ้องคดี หรือประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นผู้ฟ้องคดีในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นอัยการสูงสุด แต่กรณีที่โจทก์เป็นผู้ฟ้องคดีเองเช่นนี้ ตามมาตรา 97 วรรคสอง ไม่ได้บัญญัติให้ศาลประทับฟ้องไว้พิจารณาโดยไม่ต้องไต่สวนมูลฟ้อง เมื่อคดีของโจทก์มิใช่คดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้อง กรณีไม่ต้องตามมาตรา 97 วรรคหนึ่ง ศาลจะมีคำสั่งให้ประทับฟ้องโดยไม่ต้องไต่สวนมูลฟ้องก่อนไม่ได้
แม้ความผิดตามที่โจทก์ฟ้องจะเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่การพิจารณาว่าความผิดฐานใดขาดอายุความต้องพิจารณาจากอายุความของความผิดฐานนั้นๆ เป็นหลัก มิใช่พิจารณาจากความผิดที่มีโทษหนักที่สุด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3130/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าพนักงานแก้ไขสำนวนการสอบสวนเพื่อช่วยเหลือผู้ต้องหา มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 200
คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหาได้มีอำนาจที่จะตรวจสอบเจ้าหน้าที่ของรัฐในความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารราชการปลอม รายงานการสอบสวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติก็มิได้ชี้มูลความผิดฐานนี้ การที่อนุกรรมการไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติดำเนินการไต่สวนในความผิดฐานนี้มาด้วย จึงเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบ และแม้การสอบสวนของคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงซึ่งผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดกำแพงเพชรแต่งตั้งจะพบการกระทำความผิดฐานนี้ ก็มิใช่การสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนที่มีอำนาจสอบสวน เมื่อพนักงานสอบสวนไม่ได้แจ้งข้อหานี้ให้จำเลยทราบ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดฐานดังกล่าว
จำเลยเป็นพนักงานสอบสวนแก้ไขข้อความในสำนวนการสอบสวนจากเดิมที่มีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาเป็นสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาหลังจากเสนอสำนวนการสอบสวนให้ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นลงชื่อแล้วเพื่อช่วยผู้ต้องหามิให้ต้องโทษ จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 และ 200 วรรคแรก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 922/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สถานะเจ้าพนักงานของบุคลากรในมหาวิทยาลัยของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายอาญา มาตรา 157
การกระทำอันจะเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 ผู้กระทำต้องเป็นเจ้าพนักงานตามบทนิยามแห่ง ป.อ. มาตรา 1 (16) ที่บัญญัติว่า "เจ้าพนักงาน" หมายความว่า บุคคลซึ่งกฎหมายบัญญัติว่าเป็นเจ้าพนักงานหรือได้รับแต่งตั้งตามกฎหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการ ไม่ว่าเป็นประจำหรือครั้งคราว และไม่ว่าจะได้รับค่าตอบแทนหรือไม่ เมื่อมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีสถานะเป็นสถาบันอุดมศึกษาของรัฐในกำกับของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไม่เป็นส่วนราชการที่อยู่ในสังกัดของกระทรวงดังกล่าว และไม่ปรากฏว่ามหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นส่วนราชการในสังกัดของกระทรวงหรือที่มีฐานะเป็นกระทรวงตาม พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2545 จำเลยทั้งสิบสองซึ่งดำรงตำแหน่งอธิการบดี รองอธิการบดี คณบดี รักษาการแทนรองอธิการบดี รักษาการแทนคณบดี หัวหน้าส่วน และเจ้าหน้าที่ ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จึงมิใช่ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐที่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งเป็นกฎหมายทั่วไป และเมื่อพิจารณา พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พ.ศ.2535 ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะทั้งฉบับ ไม่ปรากฏว่ามีบทมาตราใดบัญญัติว่าการปฏิบัติหน้าที่ในการดำเนินการของผู้ปฏิบัติหน้าที่ในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ เป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญาด้วย การปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 1 และที่ 12 ที่มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงโจทก์ จำเลยที่ 1 มีคำสั่งย้ายโจทก์ และจำเลยทั้งสิบสองกระทำให้มีการเปิดเผยข้อมูลการสอบสวนวินัยร้ายแรงโจทก์ตามคำฟ้อง จึงมิใช่การปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานตาม ป.อ. มาตรา 157 ประกอบมาตรา 1 (16)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2408/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องเคลือบคลุมคดีอาญา มาตรา 157: จำเป็นต้องบรรยายหน้าที่ของจำเลยในการฟ้อง
คำฟ้องของโจทก์ทั้งสองบรรยายถึงอำนาจหน้าที่ของจำเลยในฐานะนายกองค์การบริหารส่วนตำบลกำแพง ว่ามีหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด และประกาศคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลจังหวัดร้อยเอ็ด เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับพนักงานจ้าง แต่จำเลยใช้ตำแหน่งหน้าที่นายกองค์การบริหารส่วนตำบลกำแพง เรียกประชุมข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้างองค์การบริหารส่วนตำบลกำแพง แล้วแจ้งต่อที่ประชุมว่าขอหักเงินโบนัสคนละ 5 เปอร์เซ็นต์ ของเงินโบนัสที่แต่ละคนจะได้รับ หากผู้ใดไม่จ่ายเงินให้จำเลยก็จะกลั่นแกล้งจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ จนทำให้ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้างทุกคน รวมทั้งโจทก์ทั้งสองต้องยอมจ่ายเงินโบนัสให้ เป็นการบรรยายถึงอำนาจหน้าที่ของจำเลยในการบริหารราชการในภาพรวมในฐานะที่จำเลยเป็นผู้บริหารสูงสุดในองค์กร แต่ใช้อำนาจหน้าที่ที่จำเลยมีไปในทางที่ผิดกฎหมายในลักษณะใช้ตำแหน่งหน้าที่ไปแสวงหาผลประโยชน์ คำฟ้องของโจทก์ทั้งสองจึงบรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดพอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี เป็นคำฟ้องที่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 198/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าพนักงานตรวจรับงานที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์โดยเจตนาทุจริต มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 162(4)
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 3 ได้รับคำสั่งแต่งตั้งให้เป็นกรรมการตรวจการจ้างโครงการก่อสร้างถนน คสล. สายบวงสรวง - น้ำร้อน ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการตรวจการจ้าง จัดทำเอกสารและลงลายมือชื่อทำการตรวจรับงานก่อสร้างโครงการดังกล่าว งวดที่ 10 และ 11 แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2551 อันเป็นการรับรองเป็นหลักฐาน ซึ่งข้อเท็จจริงอันเป็นเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นเท็จเป็นความผิดตามป.อ. มาตรา 157, 162 (4) ประกอบมาตรา 86 การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท การนับอายุความจึงต้องเริ่มนับพร้อมกัน โดยถือเอาคำฟ้องโจทก์ที่กล่าวหาจำเลยที่ 3 ในฐานะกรรมการตรวจการจ้างลงลายมือชื่อในเอกสารตรวจรับงานโครงการก่อสร้างถนน คสล. สายบวงสรวง - น้ำร้อน เป็นการกระทำความผิด และความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นเท็จและจะเป็นความผิดต่อเมื่อเจ้าพนักงานผู้นั้นลงลายมือชื่อรับรองในเอกสารดังกล่าว ตราบใดที่เจ้าพนักงานผู้นั้นยังไม่ได้ลงลายมือรับรองเอกสารแล้วความผิดยังไม่เกิดขึ้น สัญญาโครงการก่อสร้างถนน คสล. สายบวงสรวง - น้ำร้อน กำหนดอายุโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จวันที่ 8 มิถุนายน 2551 จึงไม่ใช่วันกระทำความผิด เพราะจำเลยที่ 3 ไม่ได้ลงลายมือชื่อรับรองเอกสารตรวจรับงาน ส่วนจำเลยที่ 6 ถึงที่ 8 ได้ทำหนังสือขอส่งมอบงานงวดที่ 10 และ 11 เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2551 หลังจากพ้นกำหนดระยะเวลาตามสัญญาแล้วก็ไม่มีผลทำให้เกิดการกระทำความผิดในวันที่ 8 มิถุนายน 2551 เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2551 จำเลยที่ 3 ได้ลงลายมือชื่อรับรองในใบตรวจรับงานจ้างเหมาว่า จำเลยที่ 6 ทำงานงวดที่ 10 และ 11 ถูกต้องครบถ้วนเป็นไปตามแบบรูปรายละเอียดและข้อกำหนดในสัญญาจ้างแล้วเสร็จ และได้ส่งมอบงานถูกต้องเรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่วันที่ 13 มิถุนายน 2551 ตามใบตรวจรับงานจ้างเหมา จึงถือว่าจำเลยที่ 3 กระทำความผิดในวันที่ 30 มิถุนายน 2551 อายุความจึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2551 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2561 จึงอยู่ภายในอายุความสิบปี ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ
หนังสือส่งงานก่อสร้างว่า จำเลยที่ 6 ได้ทำงานงวดที่ 10 งวดที่ 11 และงวดสุดท้ายเสร็จสิ้นวันที่ 13 มิถุนายน 2551 เป็นความเท็จ ซึ่งความจริงงานงวดที่ 10 งวดที่ 11 และงวดสุดท้ายยังไม่แล้วเสร็จตามสัญญา จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 รู้อยู่แล้วว่างานงวดที่ 10 งวดที่ 11 และงวดสุดท้ายที่จำเลยที่ 6 ทำหนังสือส่งงานก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จตามสัญญา จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในฐานะคณะกรรมการตรวจการจ้างต้องไม่รับตรวจงานจ้างดังกล่าว แต่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กลับทำใบรับงานจ้างเหมาว่าผู้รับจ้างทำงานงวดที่ 10 และ 11 ถูกต้องครบถ้วนเป็นไปตามแบบรูปรายละเอียดและข้อกำหนดในสัญญาจ้างแล้วเสร็จและได้ส่งมอบงานถูกต้องเรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 13 มิถุนายน 2551 จึงเห็นสมควรจ่ายเงินให้ผู้รับจ้างตามสัญญา ตามใบตรวจรับงานจ้างเหมา จึงเป็นการทำเอกสารในฐานะคณะกรรมการตรวจการจ้างรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จ จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นเจ้าพนักงาน จึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 162 (4) (เดิม) และมาตรา 157 (เดิม) ประกอบมาตรา 83 ส่วนจำเลยที่ 3 ไม่มีฐานะเป็นเจ้าพนักงานจึงมีความผิดฐานสนับสนุนจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในการกระทำความผิดตาม ป.อ.มาตรา 162 (4) (เดิม) และมาตรา 157 (เดิม) ประกอบมาตรา 86
of 4