คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
มูลหนี้

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 308 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8731/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เช็คมีมูลหนี้ผิดกฎหมาย (ดอกเบี้ยเกินอัตรา) ไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ. เช็ค แม้โอนให้ผู้อื่น
อุทธรณ์ของโจทก์ว่า การที่จำเลยออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ให้แก่ ฝ. แทนเช็คที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 4หรือไม่ โดยมิได้อุทธรณ์โต้เถียงข้อเท็จจริงเป็นประการอื่น อุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมาย
การที่จำเลยกู้ยืมเงิน ฝ. ฝ. คิดดอกเบี้ยจากจำเลยอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน จำเลยออกเช็คฉบับแรกจำนวน 4,000,000 บาทให้แก่ ฝ. โดยรวมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือนไว้แล้ว ต่อมาธนาคารตามเช็คนั้นปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยจึงออกเช็คให้แก่ ฝ. จำนวน2 ฉบับ ฉบับละ 2,000,000 บาท ซึ่งรวมทั้งเช็คพิพาท แสดงให้เห็นว่าเช็คพิพาทซึ่งออกเพื่อชำระหนี้ตามเช็คฉบับแรกมีมูลหนี้อันเกิดจากการคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน เกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้รวมอยู่ ซึ่งการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราตามกฎหมายเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ มาตรา 3 เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าเช็คพิพาทเป็นเช็คที่มีมูลหนี้ผิดกฎหมายรวมอยู่ด้วย การออกเช็คพิพาทของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามฟ้อง แม้ ฝ. จะโอนเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ โดยโจทก์ไม่ทราบว่ามีดอกเบี้ยเกินอัตราตามกฎหมายรวมอยู่ด้วยก็ตาม ก็ไม่ทำให้การออกเช็คพิพาทของจำเลยซึ่งไม่เป็นความผิดต่อกฎหมายกลับมาเป็นความผิดขึ้นมาอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 747/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เช็คเป็นมัดจำได้ แม้ลงวันที่หลังสัญญา และมีมูลหนี้จริงตามกฎหมาย
คำว่า มัดจำ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 377มีความหมายว่าจะต้องเป็นทรัพย์สินซึ่งได้ให้ไว้แก่กันเมื่อเข้าทำสัญญาซึ่งอาจจะเป็นเงินหรือสิ่งมีค่าอื่นซึ่งมีค่าในตัวเอง
สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินระหว่างโจทก์จำเลยระบุว่า ในวันทำสัญญานี้ผู้จะซื้อได้รับเงินจำนวน 1,788,000 บาท เพื่อเป็นการวางมัดจำไว้กับผู้จะขายโดยเงินมัดจำดังกล่าวจำเลยได้สั่งจ่ายเช็คลงวันที่ล่วงหน้า 3 ฉบับ และโจทก์นำมาฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2534 เพียง 1 ฉบับ เมื่อเช็คเป็นตราสารซึ่งผู้สั่งจ่ายสั่งธนาคารให้ใช้เงินเมื่อทวงถามให้แก่ผู้รับเงินจึงเป็นทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 138 และเป็นสิ่งที่มีค่าในตัวเอง เพราะสามารถเรียกเก็บเงินหรือโอนเปลี่ยนมือได้ จึงส่งมอบให้แก่กันเป็นมัดจำได้แม้เช็คลงวันที่หลังจากวันทำสัญญา เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยจึงมีความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6565/2544 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือรับรองเอกสาร, คำสั่งศาลสูงแผนกคดีพาณิชย์อังกฤษ, ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี, สิทธิเรียกร้องมูลหนี้, การบังคับตามคำสั่งศาล
โจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศสาธารณรัฐเกาหลีและมีภูมิลำเนาอยู่ที่ประเทศ สาธารณรัฐเกาหลี หนังสือมอบอำนาจที่โจทก์ทำขึ้นที่ประเทศสาธารณรัฐเกาหลีได้มีการรับรองว่าได้จัดทำขึ้นจริง โดยทนายความโนตารีปับลิกผู้ได้รับอนุญาตแห่งสำนักทนายความที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงยุติธรรมของ ประเทศสาธารณรัฐเกาหลีให้ทำหน้าที่โนตารีปับลิกถูกต้องตามบัทบัญญัติกฎหมายของประเทศสาธารณรัฐเกาหลีแล้ว แม้โจทก์จะได้นำหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวมาใช้ในประเทศไทย ก็เป็นตราสารที่รับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ กรณีไม่อยู่ในบังคับที่ให้ปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากรอีก
โจทก์บรรยายคำฟ้องว่าจำเลยเช่าเหมาระวางเรือจากโจทก์ไปขนข้าวสารที่ท่าเรือเกาะสีชังไปส่งที่ประเทศเซเนกัล แต่มีข้าวสารบางส่วนเสียหายผู้รับตราส่งจึงฟ้องเรียกค่าเสียหายจากโจทก์กับพวก ศาลเมืองดาการ์ ประเทศเซเนกัลพิพากษาให้โจทก์กับพวกต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายซึ่งโจทก์ได้ชำระค่าเสียหายไปแล้ว โจทก์เห็นว่าโจทก์ไม่ต้องรับผิดต่อผู้รับตราส่งตามสัญญาที่ทำกับจำเลย จึงได้ทวงถามให้จำเลยชดใช้ให้แก่โจทก์ แต่จำเลยปฏิเสธ โจทก์จำเลยไปยื่น ข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการประเทศอังกฤษ ตามข้อตกลงในสัญญาเช่าเหมาระวางเรือ ต่อมาในระหว่างการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการดังกล่าวจำเลยยื่นคำร้องต่อศาลสูงแผนกคดีพาณิชย์ประเทศอังกฤษ ให้ชี้ขาดว่าโจทก์ส่งหมายเรียกเกี่ยวกับการพิพาทกันในชั้นอนุญาโตตุลาการประเทศอังกฤษให้จำเลยในประเทศไทยโดยมิชอบ แต่ศาลสูง แผนกคดีพาณิชย์ ประเทศอังกฤษได้มีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยแล้ว ให้จำเลยใช้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีให้แก่โจทก์ โจทก์จึงได้ทวงถามค่าใช้จ่ายตามคำสั่งศาลสูงแผนกคดีพาณิชย์ ประเทศอังกฤษจากจำเลย แต่จำเลยเพิกเฉย และขอให้ศาลบังคับจำเลยชำระหนี้ส่วนนี้ให้แก่โจทก์นั้น เป็นคำฟ้องที่แสดงให้เห็นโดยแจ้งชัดถึงสภาพแห่งข้อหา รวมทั้งข้อที่โจทก์อ้างอาศัยเป็นหลักในการกล่าวหาให้จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง
โจทก์มิได้ฟ้องให้จำเลยรับผิดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ตามสัญญาเช่าเหมาระวางเรือ แต่เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดชำระค่าใช้จ่ายในกรณีที่จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลสูงแผนกคดีพาณิฃย์ ประเทศอังกฤษ ให้มีคำสั่งในกรณีที่จำเลยกล่าวอ้างว่าโจทก์ส่งหมายเรียกเกี่ยวกับการพิพาทกันในชั้นอนุญาโตตุลาการให้จำเลยในประเทศไทยโดยมิชอบ ไม่ใช่กรณีที่โจทก์ฟ้องจำเลยขอให้บังคับจำเลยรับผิดชำระหนี้ให้โจทก์ตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ณ นครลอนดอน ประเทศอังกฤษ ตาม พ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 หมวด 6 ว่าด้วยการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ คดีจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทให้วินิจฉัยทั้งสองกรณี รวมตลอดเรื่องความถูกต้องของสัญญาเช่าเหมาระวางเรือ การที่ศาลล่างทั้งสองไม่หยิบยกขึ้นวินิจฉัยนั้นชอบแล้ว
แม้อนุญาโตตุลาการ ณ นครลอนดอน ประเทศอังกฤษ ยังไม่มีคำวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทระหว่างโจทก์และจำเลย แต่ก็เป็นคนละส่วนกับคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดศาลสูงแผนกคดีพาณิชย์ ประเทศอังกฤษ เกี่ยวกับคำร้องของจำเลยที่อ้างว่าโจทก์ส่งหมายเรียกเกี่ยวกับการพิพาทกันในชั้นอนุญาโตตุลาการดังกล่าวให้จำเลยในประเทศไทยโดยมิชอบ ซึ่งถึงที่สุดไปแล้ว ตามคำสั่งของศาลสูงแผนกคดีพาณิชย์ ประเทศอังกฤษ กำหนดให้จำเลยชดใช้ค่าใช้จ่ายให้โจทก์ ( The Defendant'pay the Plaintiffs' costs in any event) คำสั่งของศาลสูงแผนกคดีพาณิชย์ ประเทศอังกฤษ เองจึงเป็นมูลหนี้ และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามทางนำสืบของโจทก์ว่าศาลสูงแผนกคดีพาณิชย์ ประเทศอังกฤษ ได้ดำเนินกระบวนพิจารณาแล้วยกคำร้องของจำเลย โดยจำเลยมิได้ต่อสู้ว่าศาลสูงแผนกคดีพาณิชย์ ประเทศอังกฤษ ไม่มีอำนาจพิจารณา หรือดำเนินกระบวนพิจารณาขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยจึงต้องรับผิด ค่าใช้จ่ายที่โจทก์ได้จ่ายไปในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีในศาลสูงแผนกคดีพาณิชย์ ประเทศอังกฤษ ซึ่งต้องรวมค่าใช้จ่ายที่โนตารีปับลิกรับรองเอกสารในการส่งคำสั่งศาลให้แก่จำเลยด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2235/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องล้มละลายต้องใช้มูลหนี้ ณ วันฟ้อง เงินเพิ่มที่เกิดขึ้นภายหลังไม่รวมในมูลหนี้เดิม
เงินเพิ่มตามประมวลรัษฎากรฯ มาตรา 27 บัญญัติให้คำนวณในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องเสียหรือนำส่งโดยไม่รวมเบี้ยปรับ และให้เริ่มคำนวณเงินเพิ่มเมื่อพ้นกำหนดเวลายื่นรายการหรือนำส่งภาษีจนถึงวันชำระหรือนำส่งภาษี และในกรณีที่มีการผ่อนชำระภาษีค้าง เงินเพิ่มดังกล่าวจึงลดลงเป็นสัดส่วนกับภาษีอากรที่ค้างชำระ โจทก์นำคดีมาฟ้องมีรายการภาษีค้างชำระ 1,363,492.11 บาท (ยังไม่รวมเงินเพิ่มตามกฎหมาย)ย่อมต้องถือว่า ณ วันฟ้องนั้นเอง โจทก์นำมูลหนี้จำนวน1,363,492.11 บาทมาฟ้องให้จำเลยทั้งสองล้มละลาย โจทก์มิได้คำนวณเงินเพิ่มมาให้ชัดเจน ทั้ง ๆ ที่สามารถคำนวณได้ในวันฟ้อง และแม้ว่าโจทก์จะยื่นคำแถลงถึงเงินเพิ่มที่จำเลยต้องชำระแต่ก็มิได้แก้ไขคำฟ้องให้ปรากฏ ดังนี้ การฟ้องล้มละลายต้องถือมูลหนี้ในวันที่ฟ้องคดี ซึ่งระหว่างสืบพยานจำเลย จำเลยทั้งสองได้ผ่อนชำระหนี้ค่าภาษีอากรค้างดังกล่าวแก่โจทก์ครบถ้วนแล้วเงินเพิ่มที่เกิดขึ้นภายหลังวันฟ้องจำนวน 227,118.54 บาท จึงไม่ใช่มูลหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องให้ล้มละลายเพราะไม่ใช่เป็นการฟ้องขอให้ชำระหนี้ทั้งหมดเช่นคดีแพ่งทั่วไป ลูกหนี้จึงนำสืบได้ว่าอาจชำระหนี้ได้ทั้งหมดแล้ว ชอบที่ศาลจะพิพากษายกฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1736/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าหนี้ต้องพิสูจน์มูลหนี้จริงในการขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย แม้มีคำพิพากษาเป็นหลักฐาน
ในชั้นตรวจคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 104 แม้จะไม่มีผู้คัดค้านคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ และเจ้าหนี้ผู้ยื่นคำขอรับชำระหนี้จะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีอื่นหรือเป็นผู้เป็นโจทก์ในคดีล้มละลาย เจ้าหนี้ก็มีหน้าที่นำพยานหลักฐานมาแสดงต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่า มูลหนี้ที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้มีอยู่จริงและลูกหนี้ต้องรับผิดในหนี้ดังกล่าว เจ้าหนี้อ้างว่า บริษัท ผ. เป็นหนี้เจ้าหนี้ตามบัญชีกระแสรายวันและตั๋วสัญญาใช้เงิน โดยลูกหนี้ทั้งสองเป็นผู้ค้ำประกัน แต่เจ้าหนี้ไม่มีบัญชีกระแสรายวันและตั๋วสัญญาใช้เงินอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้ ทั้งไม่มีหนังสือสัญญาค้ำประกันของลูกหนี้ ทำให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่อาจสอบสวนถึงมูลหนี้แห่งคำพิพากษาศาลชั้นต้น การที่เจ้าหนี้มีเพียงสำเนาคำพิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งแนบท้ายคำขอรับชำระหนี้เท่านั้นยังไม่เพียงพอที่ให้เชื่อได้ว่าลูกหนี้ทั้งสองเป็นหนี้ตามจำนวนที่เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ และเป็นหนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯมาตรา 94
เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ตามคำพิพากษา1 ฉบับ ในการอุทธรณ์หรือฎีกาจึงต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียงศาลละ25 บาท เท่านั้นตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 179(2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 943/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนเช็คโดยคบคิดฉ้อฉล: ผู้รับโอนยกข้อต่อสู้ได้หากพิสูจน์ได้ว่าเช็คไม่มีมูลหนี้
คำเบิกความของจำเลยและทนายจำเลยถึงข้อเท็จจริงที่ว่าเมื่อจำเลยได้รับหนังสือทวงถามจากทนายโจทก์ จำเลยได้นำหนังสือไปปรึกษากับทนายจำเลย ทนายจำเลยจึงติดต่อกับทนายโจทก์เพื่อเจรจาเรื่องเช็คจำนวนเงิน 200,000 บาท โดยทนายโจทก์ยอมลดค่าเสียหายให้เหลือ 30,000 บาทนั้น แม้จำเลยจะไม่ได้ถามค้านพยานโจทก์ในเรื่องนี้ไว้แต่เป็นเพราะโจทก์ได้ยื่นบัญชีพยานระบุอ้าง น. ทนายโจทก์ไว้ แต่โจทก์ไม่ประสงค์จะสืบ จำเลยจึงไม่มีโอกาสถามค้านไว้ได้ ส่วนตัวโจทก์เองไม่ได้เป็นพยานผู้รู้เห็นหรือร่วมเจรจา จำเลยจึงไม่ได้ถามค้านไว้ คำเบิกความของจำเลยและทนายจำเลยจึงไม่ต้องห้ามมิให้รับฟังตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 89

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8884/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือรับสภาพหนี้ที่มีผลผูกพันตามกฎหมาย แม้ไม่มีการทำหนังสือใหม่
การที่จำเลยได้จัดทำหนังสือภาษาจีนซึ่งมีคำแปลเป็นภาษาไทยอันมีเนื้อหาว่า "จำเลยจะชำระค่าเสียหายของสินค้าจำนวน 25,389 ชุด เป็นเงิน 116,789.40 ดอลลาร์สหรัฐ ผ่อนชำระเดือนเมษายน 2536 แล้วเป็นเงิน 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ เดือนกันยายนชำระ 30,000 ดอลลาร์สหรัฐ เงินจำนวนที่เหลือจะแบ่งชำระในเดือนเมษายนและเดือนกันยายน 2537" เป็นการจัดทำเอกสารดังกล่าวขึ้นด้วยความสมัครใจ แม้จะไม่ปรากฏว่าได้มีการทำหนังสือกันใหม่อย่างเป็นทางการก็ตาม หนังสือภาษาจีนดังกล่าวก็เป็นหนังสือรับสภาพหนี้ที่มีผลผูกพันใช้บังคับจำเลยได้ตามกฎหมาย
แม้คดีไม่มีประเด็นเรื่องอายุความ แต่การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า ศาลชั้นต้นหยิบยกมาตรา 193/14 (1) แห่ง ป.พ.พ. ขึ้นวินิจฉัยก็เพื่อบ่งชี้ว่า การทำหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวมีผลผูกพันบังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยส่งสินค้าไม่มีคุณภาพให้แก่ลูกค้าโจทก์ ต่อมาจำเลยยินยอมชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ด้วยการทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้ การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่าหนังสือภาษาจีนดังกล่าวเป็นหนังสือรับสภาพหนี้จึงเป็นการวินิจฉัยถึงที่มาแห่งมูลหนี้ตามที่โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้อง ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 จึงชอบที่จะวินิจฉัยว่าหนังสือภาษาจีนดังกล่าวเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ได้
ที่โจทก์บรรยายในคำแก้ฎีกาว่าขอให้ศาลฎีกาพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในส่วนที่เกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศในจำนวนหนี้ที่จำเลยต้องชำระให้แก่โจทก์นั้น เป็นการโต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ซึ่งโจทก์ต้องทำเป็นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 เมื่อโจทก์มิได้ยื่นเป็นฎีกาจึงไม่มีประเด็นที่ศาลฎีกาที่จะวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7921/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญากู้ยืมเงินที่มีมูลหนี้จากการพนันเป็นโมฆะ
มูลหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินฉบับพิพาทสืบเนื่องมาจากการที่จำเลยเป็นหนี้การพนันสลากกินรวบแก่โจทก์ซึ่งมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงตกเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 150

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6922/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในการร้องสอดเป็นจำเลยร่วมขึ้นอยู่กับส่วนได้เสียโดยตรงในมูลหนี้เดิม ไม่ใช่ความผูกพันที่เกิดขึ้นภายหลัง
หนี้เงินกู้ระหว่างโจทก์กับจำเลยอันเป็นฐานแห่งสัญญาจำนองนั้น ผู้ร้องมิได้มีส่วนได้เสียเกี่ยวพันด้วย ที่ผู้ร้องอ้างว่า ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินจำนองและรับช่วงภาระการจำนองมาด้วยก็เป็นความเกี่ยวพันรับผิดชอบหลังจากผลพิพาทในมูลหนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยอีกชั้นหนึ่ง ดังนี้ผู้ร้องยังไม่มีส่วนได้เสียเกี่ยวข้องในผลแห่งคดีที่โจทก์กับจำเลยพิพาทกันในส่วนที่เกี่ยวกับมูลหนี้กู้ยืมในคดีนี้ จึงไม่มีสิทธิร้องสอดเข้ามาเป็นจำเลยร่วมได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 364/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าขึ้นศาลคำฟ้องหลายข้อหา: พิจารณาจากมูลหนี้แต่ละข้อหาแยกกันได้
การพิจารณาว่าคดีใดจะต้องเสียค่าขึ้นศาลเท่าใด จำต้องพิจารณาจากคำฟ้องคดีนั้นเป็นเกณฑ์ โจทก์ฟ้องจำเลยมา 3 ข้อหา คือให้จำเลยรับผิดใช้เงินตามหนี้เบิกเงินเกินบัญชี หนี้ตามสัญญากู้เงิน และหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินซึ่งหนี้ในแต่ละข้อหานั้น จำเลยก่อหนี้ขึ้นกับโจทก์ต่างเวลากัน และมีกำหนดเงื่อนไขในการชำระแตกต่างกัน ดังนั้น หนี้ในแต่ละข้อหาจึงแยกจากกันได้แม้จะได้นำที่ดินจดทะเบียนจำนองเป็นประกัน ก็เป็นเรื่องของหลักประกันซึ่งเป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหาก และโดยสภาพโจทก์อาจฟ้องรวมกัน 3 ข้อหามาในคำฟ้องเดียวกันได้ แต่ค่าขึ้นศาลโจทก์จะรวม 3 ข้อหาแล้วเสียค่าขึ้นศาลมาในอัตราสูงสุดนั้นหาชอบไม่ ฉะนั้น ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลเพิ่มมาในแต่ละข้อหานั้นจึงชอบแล้ว
of 31