คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
สัญญากู้

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 391 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6949/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาและสิทธินำสืบพยานหักล้างสัญญากู้ การนำสืบที่เจือสมกับประเด็นข้อพิพาท
จำเลยให้การตอนแรกว่า จำเลยไม่เคยกู้เงินและรับเงินจากโจทก์ตามฟ้อง สัญญากู้เป็นเอกสารปลอมลายมือชื่อช่องผู้กู้มิใช่ลายมือชื่อของจำเลย โจทก์ทำขึ้นเองเป็นคำให้การที่แสดงการปฏิเสธโดยชัดแจ้งว่า จำเลยไม่ได้กู้เงินและรับเงินกู้ไปจากโจทก์ รวมทั้งอ้างเหตุแห่งการนั้นว่าสัญญากู้ที่โจทก์อ้างเป็นเอกสารปลอม ส่วนที่ จำเลยให้การตอนหลังว่า หากศาลฟังว่าสัญญากู้เป็น เอกสารที่แท้จริง โจทก์ก็คิดดอกเบี้ยไม่ถูกต้องตามกฎหมายนั้น ก็มิใช่เป็นคำให้การที่ยอมรับหรือถือว่าจำเลยได้กู้เงินจากโจทก์จริง จึงมิได้ขัดแย้งกันเองหรือไม่ชัดแจ้งว่ายอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างในคำฟ้องโจทก์คำให้การของจำเลยจึงแสดงโดยชัดแจ้งว่าปฏิเสธฟ้องโจทก์ทั้งหมด จำเลยย่อมมีสิทธินำพยานเข้าสืบตามคำให้การได้ และนำพยานบุคคลเข้าสืบหักล้างสัญญากู้ตามฟ้องได้ ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 94 คดีมีประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยทำสัญญากู้และรับเงินไป จากโจทก์ตามฟ้องหรือไม่ การที่จำเลยนำสืบยอมรับว่า ทำสัญญากู้จริงถือว่าสละประเด็นเรื่องสัญญากู้ปลอมแล้ว อันเป็นการเจือสมกับที่โจทก์นำสืบให้ฟังได้ว่ามีการ ทำสัญญากู้กันจริง แม้จะแตกต่างกับคำให้การแต่ก็ เกี่ยวพันกับประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวจึงไม่ เป็นการนอกเหนือจากคำให้การ ส่วนที่จำเลยนำสืบถึง การที่โจทก์และจำเลยเป็นหุ้นส่วนซื้อที่ดินกันแล้วขายแบ่ง กำไรกันเพื่อให้เห็นที่มาของสัญญากู้เงินว่าเป็นมาอย่างไร จำเลยย่อมนำสืบเรื่องดังกล่าวได้ เพราะเป็นรายละเอียด เกี่ยวพันกับประเด็นข้อพิพาทดังกล่าว จำเลยหาจำต้อง ระบุในคำให้การไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6136/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การนำสืบเกินขอบเขตคำให้การ: จำเลยอ้างสัญญากู้ปลอม แต่สืบเรื่องการไม่ได้รับเงิน ซึ่งไม่ใช่ประเด็นตามคำให้การ
จำเลยให้การว่า สัญญากู้เงินที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นสัญญาปลอมเนื่องจากจำเลยมิได้ลงลายมือชื่อในสัญญากู้เงิน ประเด็นตามคำให้การจึงมีเพียงว่าจำเลยลงลายมือชื่อในสัญญากู้เงินหรือไม่ อันจะนำไปสู่การพิจารณาว่าสัญญากู้เงินปลอมหรือไม่ ส่วนสาเหตุอื่นที่อาจทำให้สัญญากู้เงินปลอมล้วนไม่ใช่ประเด็นตามคำให้การ การที่จำเลยนำสืบว่า จำเลยลงลายมือชื่อในสัญญากู้เงินที่ยังไม่ได้กรอกข้อความเป็นเหตุให้สัญญากู้เงินเป็นสัญญาปลอม และจำเลยยังไม่ได้รับเงินตามสัญญากู้เงิน จึงเป็นการนำสืบนอกข้อต่อสู้ในคำให้การ ศาลจะรับฟังมาวินิจฉัยไม่ได้ เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณาต้องห้าม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87(1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6119/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจตนาชำระหนี้ด้วยการส่งมอบที่ดินแทนเงิน สัญญากู้ไม่มีผลบังคับใช้จนกว่าจะขายที่ดิน
บันทึกข้อตกลงแนบท้ายสัญญากู้เงินมีข้อความระบุในข้อ 2ว่า จำเลยจะชำระต้นเงินจำนวน 15,000,000 บาท ให้โจทก์ไม่เกินกว่าวันที่ 31 มีนาคม 2538 โดยจำเลยมอบเช็คพิพาทให้ไว้แก่โจทก์ด้วย แต่ในข้อ 2.1 กลับมีข้อตกลงขยายความในกรณีชำระต้นเงินคืนเป็นว่า ถ้าไม่ได้จ่ายเงินคืนแก่โจทก์ในวันที่ 31 มีนาคม 2538 หรือไม่สามารถเรียกเก็บเงินตามเช็คพิพาทได้ จำเลยยินยอมที่จะส่งมอบโฉนดที่ดิน 2 ฉบับคืนโจทก์รวมทั้งหนังสือมอบอำนาจที่ลงชื่อจำเลยซึ่งโจทก์จะใช้สิทธิในโฉนดที่ดินได้ แสดงว่าโจทก์และจำเลยตกลงให้ถือเอาการขายที่ดินหรือไม่เป็นเงื่อนไขของการที่จะชำระหนี้กันตามสัญญากู้ ซึ่งเห็นได้จากข้อตกลงในข้อ 2.2 ระบุต่อไปว่าหากจำเลยได้มอบโฉนดที่ดิน 2 ฉบับ ดังกล่าวให้แก่โจทก์และชำระดอกเบี้ยที่ค้างชำระครบถ้วนแล้ว สัญญากู้เงินจะต้องยกเลิกและโจทก์จะส่งมอบโฉนดที่ดินให้แก่จำเลย ดังนี้ย่อมชี้ให้เห็นถึงเจตนาของโจทก์และจำเลยในเบื้องต้นว่ามิได้ ประสงค์ให้สัญญากู้เงินมีผลบังคับในทันที ตราบใดที่จำเลย ยังขายที่ดิน 2 โฉนดดังกล่าวไม่ได้ สัญญากู้เงินย่อมไม่มี ผลบังคับ หากจำเลยขายที่ดินได้แล้วจำเลยจึงมีหน้าที่ต้องชำระ ต้นเงินตามเช็คพิพาทรวมทั้งดอกเบี้ยที่ค้างชำระให้แก่โจทก์ส่วนกรณีที่จำเลยไม่อาจขายที่ดินได้จำเลยก็มีหน้าที่ต้องคืนโฉนดที่ดิน 2 แปลงพร้อมทั้งทำหนังสือมอบอำนาจให้โจทก์ไปใช้สิทธิในที่ดินเท่านั้น จึงเท่ากับว่าหากจำเลยไม่สามารถขายที่ดินได้โจทก์ก็รับเอาที่ดิน 2 แปลงไปเป็นกรรมสิทธิ์โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเงินตามเช็คพิพาท ฉะนั้นในขณะที่จำเลยออกเช็คพิพาทจึงมีเจตนาเพียงมุ่งหมายให้เป็นประกันการชำระหนี้ ตามสัญญากู้เงินและข้อตกลงแนบท้ายสัญญากู้เงินเท่านั้นจำเลยจึงไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจาก การใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5220/2541 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อัตราดอกเบี้ยสัญญากู้: สิทธิปรับขึ้นตามข้อตกลง & ดอกเบี้ยค้างชำระ
โจทก์เป็นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นตามข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยในสัญญากู้เงินฉบับพิพาท แม้ข้อตกลงดังกล่าวจะกำหนดให้โจทก์เพิ่มอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าที่กำหนดไว้ในสัญญาได้ตามที่เห็นสมควร โดยไม่จำเป็นต้องแจ้งให้จำเลยทราบล่วงหน้า แต่ก็มีข้อจำกัดไว้ว่า อัตราดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้นดังกล่าวจะต้องไม่เกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ข้อตกลงตามสัญญากู้เงินดังกล่าวจึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนและใช้บังคับได้
การที่โจทก์ได้มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้และบอกกล่าวบังคับจำนองเป็นเพียงการทวงถามให้จำเลยชำระหนี้เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระแล้วเท่านั้น มิได้เป็นการบอกเลิกสัญญา และตามสัญญากู้เงินฉบับพิพาทโจทก์มีสิทธิเพิ่มอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าร้อยละ 17.5 ต่อปี ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาได้ตามที่เห็นสมควร และได้มีประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้บริษัทเงินทุนเรียกดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมได้ไม่เกินอัตราที่บริษัทเงินทุนประกาศกำหนด ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2535 เป็นต้นไป ซึ่งโจทก์ได้ประกาศปรับอัตราดอกเบี้ยสำหรับเงินให้กู้ยืมสำหรับลูกค้าทั่วไปเป็นร้อยละ 19 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2535โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยตามสัญญากู้เงินดังกล่าวได้ในอัตราร้อยละ 19ต่อปี ตั้งแต่วันที่ประกาศปรับอัตราดอกเบี้ยเป็นต้นไป เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระตามสัญญากู้เงิน แล้วจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปีต่อไปได้เพราะถือว่าจำเลยตกลงให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวมาแต่ต้น โจทก์จึงมีเหตุที่อ้างได้โดยชอบด้วยกฏหมายตาม ป.พ.พ.มาตรา 224 วรรคแรก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3018/2541 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารสัญญากู้ และการฟังข้อเท็จจริงที่ฝ่าฝืนกฎหมาย
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินตามสัญญากู้รวม 3 ฉบับ จำนวนเงินฉบับละ 50,000 บาท 40,000 บาท และ 110,000 บาทตามลำดับ รวมแล้วเป็นเงินต้น 200,000 บาท จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 1กู้เงินโจทก์เพียง 100,000 บาท และจำเลยที่ 1 ไม่ได้รับเงินกู้ครบตามสัญญาเพราะโจทก์หักดอกเบี้ยไว้ล่วงหน้า 6,000 บาท เป็นคำให้การปฏิเสธที่ไม่ชัดแจ้ง จึงไม่มีข้อต่อสู้ที่จำเลยที่ 3 จะนำสืบว่าหนี้ไม่สมบูรณ์ การที่จำเลยที่ 3 นำสืบว่าได้รับเงินจริงจากโจทก์เพียง 94,000 บาท จึงนำสืบไม่ได้
คำฟ้องของโจทก์ระบุชัดว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1กู้เงินโจทก์ตามสัญญากู้ทั้ง 3 ฉบับ และจำเลยที่ 2 ที่ 3 ได้ลงลายมือชื่อไว้ในสัญญากู้แต่ละฉบับในฐานะผู้กู้ จำเลยที่ 2 ที่ 3 มิได้ให้การปฏิเสธ จำเลยที่ 2 และที่ 3จะนำสืบว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันไม่ได้ เป็นการสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสาร ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข)
ศาลจะฟังข้อเท็จจริงตามที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 นำสืบดังกล่าวว่าจำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์โดยมีจำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันไม่ได้เพราะเป็นการฟังข้อเท็จจริงที่ฝ่าฝืนกฎหมาย และแม้ข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้จะต้องห้ามมิให้ฎีกาแต่เมื่อมีปัญหาข้อกฎหมายมาสู่ศาลฎีกาตามฎีกาของโจทก์ว่า การที่จำเลยนำสืบว่าได้รับเงินจากโจทก์เพียงบางส่วน และจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกัน เป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 หรือไม่ศาลฎีกาก็มีอำนาจฟังข้อเท็จจริงที่ชอบด้วยกฎหมายเสียใหม่ได้โดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาข้อเท็จจริงเช่นว่านั้นอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 246/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ บันทึกรับสภาพหนี้มีผลระงับสัญญากู้เดิม การปลดจำนองต้องมีข้อตกลงชัดเจน
โจทก์ฟ้องบังคับให้จำเลยชำระหนี้ตามบันทึกหรือหนังสือรับสภาพหนี้ที่จำเลยได้ทำให้ไว้แก่โจทก์ และสัญญาจำนองอันมีมูลหนี้มาจากการกู้ยืมเงิน จำเลยรับว่าได้ทำสัญญากู้ยืมเงิน สัญญาจำนอง และบันทึกรับสภาพหนี้ดังกล่าวให้ไว้แก่โจทก์จริง ตามบันทึกรับสภาพหนี้ มีข้อตกลงในเรื่องกำหนดอัตราดอกเบี้ย การผ่อนชำระดอกเบี้ย การชำระเงินต้นเปลี่ยนแปลงไปจากสัญญากู้ยืมเงินฉบับเดิม แสดงว่าโจทก์และจำเลยได้เจตนาผูกพันตามบันทึกรับสภาพหนี้ที่ทำขึ้นใหม่ดังนั้น สิทธิและหน้าที่ของโจทก์และจำเลยจึงต้องบังคับตามบันทึกการรับสภาพหนี้ เมื่อข้อตกลงตามสัญญากู้ยืมเงินฉบับเดิมเป็นอันระงับไปโดยบันทึกการรับสภาพหนี้ดังกล่าว คดีจึงไม่มีประเด็นที่จะต้องพิจารณาว่าสัญญากู้ยืมเงินเป็นนิติกรรมอำพรางหรือไม่ ตามบันทึกรับสภาพหนี้ที่จำเลยทำกับโจทก์ ไม่ปรากฏข้อตกลงเกี่ยวกับการที่โจทก์จะต้องปลดจำนองที่ดินเป็นแต่ละแปลงให้จำเลยอย่างไร จำเลยกล่าวมาในฟ้องแย้งลอย ๆ โดยไม่มีข้ออ้างที่จะอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาดังกล่าวทั้งมิได้มีคำขอหรือคำบังคับใด ๆ เกี่ยวกับข้อหาที่จำเลยกล่าวอ้างในการฟ้องแย้งของจำเลยแต่ประการใด คดีจึงไม่มีประเด็นว่า โจทก์ผิดสัญญาโดยไม่ปฏิบัติการปลดจำนองแต่ละแปลงให้จำเลยในราคา ที่ตกลงกันไว้ตามสัญญาหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7630/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี การยินยอมโดยปริยาย การบอกกล่าวบังคับจำนอง และการกำหนดค่าทนายความ
ในส่วนการบอกกล่าวบังคับจำนองนั้น โจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้ว่า โจทก์ได้มอบอำนาจให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยทั้งห้าชำระหนี้และไถ่ถอนจำนอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโจทก์ ได้แนบสำเนาหนังสือมอบอำนาจและสำเนาหนังสือบอกกล่าวให้ชำระหนี้เงินกู้ หนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชี หนี้ค้ำประกัน และให้ไถ่ถอนการจำนองไว้ท้ายคำฟ้องด้วย ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้อง นอกจากนี้แล้วคำขอบังคับท้ายคำฟ้องโจทก์ก็ระบุไว้ชัดเจน ทั้งจำเลยทั้งห้าก็สามารถให้การต่อสู้คดีได้ถูกต้องโดย มิได้หลงข้อต่อสู้ ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม ธ.กรรมการผู้จัดการใหญ่ของโจทก์มีอำนาจลงลายมือชื่อกระทำการแทนโจทก์ได้ โดยไม่จำต้องประทับตราของโจทก์การที่ ธ.กรรมการผู้จัดการใหญ่ของโจทก์ได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้ ป.ดำเนินคดีนี้แทน รวมทั้งให้บอกกล่าวทวงถามให้จำเลยทั้งห้าชำระหนี้ด้วย หนังสือมอบอำนาจของโจทก์ดังกล่าวมีลักษณะเป็นหนังสือมอบอำนาจเป็นการทั่วไป ซึ่ง ป.สามารถใช้ในการดำเนินคดีแก่บุคคลใดก็ได้เมื่อมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นระหว่าง บุคคลนั้น ๆ กับโจทก์เกี่ยวกับกิจการของโจทก์ตามที่ได้รับมอบหมายไว้โดยโจทก์ไม่จำต้องระบุให้ ป. มีอำนาจฟ้องจำเลยคนใดโดยเฉพาะเจาะจง ดังนี้ ป. ผู้รับมอบอำนาจโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งห้าเป็นคดีนี้ได้ จำเลยที่ 1 ชำระหนี้เงินกู้ให้แก่โจทก์โดยวิธีหักทอนบัญชีเดินสะพัดมาเข้าบัญชีเงินกู้ ซึ่งโจทก์จะออกหลักฐานใบเสร็จรับเงินให้แก่จำเลยที่ 1 ทุกครั้งและจะมีใบแจ้งการหักทอนบัญชีให้จำเลยที่ 1 ทราบ รวมข้อตกลงเมื่อได้มีการหักเงินจากบัญชีเดินสะพัดมาเข้าบัญชีเงินกู้โดยวิธีดังกล่าวและจำเลยที่ 1 ทราบแล้วมิได้โต้แย้งคัดค้าน กรณีจึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ยินยอมโดยปริยายให้มีการกระทำดังกล่าวได้ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดในจำนวนเงินตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดที่โจทก์หักทอนบัญชีไปดังกล่าว สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีมิได้กำหนดระยะเวลาสิ้นสุดไว้การที่โจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวถามให้จำเลยที่ 1 ผู้กู้ชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือบอกกล่าวจำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือแล้วแต่ละเลยไม่ชำระหนี้ จึงเป็นการผิดนัดชำระหนี้ อันเป็นผลให้สัญญาบัญชีเดินสะพัดสิ้นสุดลงในวันซึ่งเป็นวันครบกำหนดตามหนังสือบอกกล่าว โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้จนถึงวันนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 728 มิได้บัญญัติ ไว้ว่าระยะเวลามากน้อยเพียงใดเป็นเวลาอันสมควร จึงต้องพิจารณาเป็นกรณี ๆ ไป โจทก์บอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยโดยกำหนดระยะเวลาให้ชำระหนี้ภายใน 30 วัน แม้จำนวนหนี้ที่โจทก์เรียกร้องทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระมีจำนวนมากถึง 9,799,838.75 บาท ซึ่งเป็นระยะเวลาที่เพียงพอในอันที่จำเลยที่ 1 จะขวนขวายหาเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ได้ ระยะเวลาดังกล่าวจึงเป็นเวลาอันสมควรการบอกกล่าวบังคับจำนองจึงชอบแล้ว คดีนี้นอกจากโจทก์อุทธรณ์ในทุนทรัพย์ชั้นอุทธรณ์72,059.57 บาท แล้ว จำเลยก็ได้อุทธรณ์ขอให้ยกฟ้องโจทก์ซึ่งคิดเป็นทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์เกินกว่า5,549,409.85 บาท อีกด้วย การกำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์จึงต้องถือตามทุนทรัพย์ทางฝ่ายจำเลย และแม้โจทก์มิได้อุทธรณ์ แต่ผลคดีนี้ในชั้นอุทธรณ์จำเลยก็ยังคงแพ้คดีอยู่ดังนี้ ศาลอุทธรณ์จึงอาจกำหนดค่าทนายความใช้แทนได้สูงกว่า10,000 บาท ได้ การที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าทนายความให้จำเลยทั้งห้าใช้แทนโจทก์เป็นเงิน 10,000 บาท จึงถูกต้องตามตาราง 6อัตราค่าทนายความท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5826/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลำดับการชำระหนี้จำนองและดอกเบี้ยทบต้น อัตราดอกเบี้ยตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี
จำเลยที่ 1 มีความรับผิดตามสัญญาจำนองในต้นเงิน10,000,000 บาท และ 20,000,000 บาท ตามลำดับ ส่วนเรื่องดอกเบี้ยเมื่อสัญญาจำนองระบุว่าจำเลยที่ 1 จำนองที่ดินกับเครื่องจักรเป็นประกันหนี้ซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นหนี้ผู้ร้องในการกู้เงิน เบิกเงินเกินบัญชี และหนี้อื่นทุกประเภททั้งที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้อยู่แล้วในขณะทำสัญญาและหนี้ที่จะมีขึ้นในภายหน้า และจำเลยที่ 1 ยอมเสียดอกเบี้ยทบต้นให้ผู้ร้อง ดังนั้น การคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ในอัตราใดต้องเป็นไปตามสัญญากู้เบิกเงินบัญชีตั๋วสัญญาใช้เงิน หนังสือค้ำประกัน และสัญญากู้เงินอันเป็นมูลหนี้ประธาน ส่วนสัญญาจำนองเป็นเพียงหนี้อุปกรณ์อันก่อให้เกิดสิทธิแก่เจ้าหนี้ในการที่จะบังคับเอาแก่ทรัพย์จำนอง หนี้ประธานมี 4 ประเภท อัตราดอกเบี้ยและวิธีคิดดอกเบี้ยต่างกัน เมื่อปรากฏว่าหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเป็นรายที่ตกหนักแก่จำเลยที่ 1 ที่สุด และหนี้ทุกประเภทเป็นหนี้ที่มีประกันเท่ากันและเงินที่ได้จากการบังคับจำนองไม่สามารถชำระหนี้ได้หมดทุกราย จึงต้องให้ชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 328 วรรคสอง ดังนั้นการคิดดอกเบี้ยจากต้นเงินจำนองจึงต้องคิดตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี เมื่อดอกเบี้ยที่ทบเข้าจนกลายเป็นต้นเงินเป็นจำนวน30,000,000 บาท เป็นวงเงินจำนองเต็มตามสัญญาจำนองที่ดินรวมกับสัญญาจำนองเครื่องจักรที่ทำขึ้น ซึ่งในวันที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้ผู้ร้องเต็มตามวงเงินนั้นเป็นวันเริ่มต้นของการคิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยที่ 1 ตามสัญญาจำนองได้นับแต่วันนั้นเป็นต้นไปจนถึงวันที่สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 เลิกกัน หลังจากนั้นผู้ร้องมีสิทธิคิดดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้นได้จากต้นเงินจำนอง30,000,000 บาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4935/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้: การคิดดอกเบี้ยที่ถูกต้องตามอัตราดอกเบี้ยที่ตกลงกัน และการพิพากษาเกินคำขอ
เมื่อครบกำหนดระยะเวลาตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีแล้วโจทก์กับจำเลยทั้งสองไม่ได้ทำการหักทอนบัญชีและเรียกร้องให้ชำระหนี้ที่มีอยู่ต่อกันแต่ยังมีการเดินสะพัดทางบัญชีกันต่อไปอีก โดยจำเลยที่ 1 นำเงินเข้าฝากและสั่งจ่ายเช็คเบิกเงินออกไปหลายครั้ง พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าโจทก์กับจำเลยทั้งสองประสงค์จะต่ออายุสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีต่อไปอีกโดยไม่มีกำหนดระยะเวลา ถึงแม้จำเลยทั้งสองได้หยุดเดินสะพัดทางบัญชีกับโจทก์มาแล้วก็ตาม แต่เมื่อไม่มีฝ่ายใดบอกเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดเพื่อหักทอนบัญชีและเรียกร้องให้ชำระหนี้ที่มีอยู่ต่อกันสัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองก็ยังคงมีอยู่ตลอดไป หาได้ระงับไปเมื่อวันสัญญาครบกำหนดหรือวันที่จำเลยทั้งสองเบิกเงินเกินบัญชีครั้งสุดท้ายไม่โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจนถึงวันที่ถือว่าสัญญาเลิกกัน โจทก์หักทอนบัญชีกับจำเลยทั้งสองเมื่อวันที่ 28กุมภาพันธ์ 2536 แม้โจทก์เพิ่มจะมีหนังสือแจ้งให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2536 ก็ต้องถือว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองระงับไปตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2536 อันเป็นวันหักทอนบัญชีกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 856,859 หลังจากนั้นโจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นต่อไปอีกไม่ได้ สัญญาบัญชีเดินสะพัดจะถือว่ามีการผิดนัดก็ต่อเมื่อมีการหักทอนบัญชีและเรียกร้องให้ชำระหนี้ที่มีอยู่ต่อกันโจทก์ได้หักทอนบัญชีเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2536แต่โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวส่งไปให้จำเลยทั้งสองเมื่อวันที่20 ตุลาคม 2536 ให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ภายใน 30 วันนับแต่วันถัดจากวันได้รับหนังสือบอกกล่าวจำเลยทั้งสองได้รับหนังสือบอกกล่าวในวันที่ 26 ตุลาคม 2536ครบ 30 วันในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2536 ดังนั้นช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2536 ถึงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2536โจทก์ยังให้เวลาจำเลยทั้งสองหาเงินมาชำระหนี้อยู่ยังไม่ถือว่าจำเลยทั้งสองผิดนัด จำเลยทั้งสองจะผิดนัดก็ต่อเมื่อพ้นกำหนดเวลาที่โจทก์ให้โอกาสคือตั้งแต่วันที่27 พฤศจิกายน 2536 เป็นต้นไป และเมื่อตามประกาศปรับปรุงอัตราดอกเบี้ย โจทก์จะคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปีและร้อยละ 18 ต่อปี สำหรับลูกหนี้ที่ผิดนัดเท่านั้นเมื่อจำเลยทั้งสองยังไม่ได้ผิดนัด โจทก์จึงคิดดอกเบี้ยเอาจากจำเลยทั้งสองในอัตรานี้ไม่ได้ โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระต้นเงินตามสัญญากู้เพียง 2,447,837.24 บาทเท่านั้น แต่ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ให้โจทก์ในส่วนสัญญากู้ฉบับนี้เป็นต้นเงิน 2,477,837.24 บาท และดอกเบี้ยถึงวันฟ้องจำนวน 567,157.90 บาท รวมเป็นต้นเงินและดอกเบี้ยถึงวันฟ้องทั้งสิ้น 3,044,995.14 บาท และให้ใช้ดอกเบี้ยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี จากต้นเงิน 2,477,837.24 บาทนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142 วรรคหนึ่ง และศาลอุทธรณ์มิได้พิพากษาแก้ไขนั้นไม่ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นปัญหาที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ดังนั้น แม้จะมิได้มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์หรือฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาก็เห็นสมควรหยิบยกขึ้นแก้ไขเสียให้ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3736/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การนำสืบพยานเพื่อพิสูจน์ว่าไม่ได้กู้ยืมเงินจริง แม้มีลายมือชื่อในสัญญากู้ ไม่ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในสัญญา
จำเลยให้การว่า มีหญิงชายคู่หนึ่งมาหลอกเอาเงินโจทก์จำเลยไป โจทก์กลัวว่าสามีโจทก์รู้แล้วจะด่าว่าและทำร้าย โจทก์จึงนำสัญญากู้ซึ่งเขียนเสร็จแล้ว มาให้จำเลยลงลายมือชื่อเพื่อโจทก์จะนำสัญญากู้ไปหลอกสามีว่าจำเลยกู้เงินไป ซึ่งความจริงจำเลยไม่เคยได้รับเงินตามสัญญา เช่นนี้จำเลยมีสิทธินำสืบพยานบุคคลตามข้อต่อสู้ของจำเลยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 วรรคท้าย เพราะเป็นการนำสืบมูลเหตุที่ทำสัญญาเพื่อแสดงให้เห็นว่าไม่มีมูลหนี้ตามหนังสือสัญญากู้ที่จะทำให้จำเลยต้องรับผิดใช้เงินแก่โจทก์ และหนี้เงินกู้ไม่สมบูรณ์เพราะโจทก์ไม่ได้ส่งมอบเงินที่กู้ให้จำเลย
of 40