คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
สินเชื่อ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 34 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5337/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดพนักงานรัฐ – การอนุมัติสินเชื่อโดยมิชอบ – ความผิดฐานสนับสนุน – อายุความ
คดีของโจทก์มิใช่เป็นกรณีที่อัยการสูงสุดเป็นผู้ฟ้องคดีหรือประธานกรรมการ ป.ป.ช. เป็นผู้ฟ้องคดีในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นอัยการสูงสุด จึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 97 วรรคหนึ่ง ที่ศาลจะมีคำสั่งให้ประทับฟ้องโดยไม่ต้องไต่สวนมูลฟ้อง
จำเลยที่ 1 และที่ 2 มาศาลในวันที่ศาลประทับฟ้องครั้งแรกซึ่งอยู่ในกำหนดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 95 แม้การประทับฟ้องครั้งดังกล่าวจะเป็นการผิดพลาดและศาลชั้นต้นต้องนัดไต่สวนมูลฟ้องใหม่ และวันที่ศาลชั้นต้นสั่งคดีมีมูลจะพ้นกำหนดอายุความไปแล้ว แต่เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 เข้ามาแสดงตนในวันที่ศาลสั่งประทับฟ้องครั้งแรก และออกหมายขังจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไว้ จึงถือว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 อยู่ในอำนาจศาลแล้ว ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4677/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมเดียวผิดหลายบท ปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารปลอมเพื่อขอสินเชื่อ ศาลฎีกาแก้ให้ไม่รอการลงโทษ
จำเลยปลอมลายมือชื่อ ธ. ในฐานะผู้แทนนิติบุคคลผู้เสียหายที่ 1 ในสัญญาเงินกู้จำนวน 4,200,000 บาท สัญญาเงินกู้เบิกเกินบัญชีจำนวน 1,800,000 บาท และสัญญามอบสิทธิเรียกร้องเงินฝากเป็นประกันจำนวน 1,800,000 บาท และปลอมลายมือชื่อ ธ. ในฐานะส่วนตัว ในสัญญาค้ำประกันสองฉบับเพื่อค้ำประกันสัญญาเงินกู้ข้างต้น หลังจากนั้นจำเลยนำสัญญาทุกฉบับไปใช้อ้างแสดงต่อพนักงานของโจทก์ร่วมเพื่อขอกู้ยืมเงินในเวลาเดียวกัน ดังนี้ แม้สัญญาดังกล่าวจะเป็นเอกสารคนละฉบับกัน แต่จำเลยทำขึ้นโดยมีเจตนาเดียวกันคือเพื่อมุ่งหมายที่จะให้ได้เงินจากโจทก์ร่วมเป็นหลัก การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 916/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานประกอบธุรกิจสินเชื่อโดยไม่ได้รับอนุญาต และให้กู้ยืมเงินเกินอัตราดอกเบี้ย: เป็นกรรมต่างกัน, ริบของกลางซ้ำ
ประกาศกระทรวงการคลังที่โจทก์บรรยายมาในฟ้อง เป็นการประกาศประเภทกิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ 5 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ซึ่งกิจการที่ต้องขออนุญาตตามประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าวเป็นเรื่องการให้สินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพอันเป็นกิจการที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับการธนาคาร เมื่อผู้ใดประกอบกิจการดังกล่าวหลังจากประกาศกระทรวงการคลังใช้บังคับแล้ว จะต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คำฟ้องของโจทก์ข้อ 1.2 บรรยายว่า ...จำเลยทั้งสองร่วมกันประกอบสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพ ประเภทการให้กู้ยืมเงินแก่บุคคลธรรมดา ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อนำไปใช้ในการประกอบอาชีพที่ไม่มีทรัพย์หรือทรัพย์สินเป็นหลักประกัน โดยการร่วมกันจัดหาซึ่งเงินทุนแล้วให้ผู้อื่นกู้ยืมเงินนั้น และจำเลยทั้งสองมิได้เป็นสถาบันการเงิน ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพแก่ผู้บริโภค...อันเป็นการร่วมกันประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ลงวันที่ 26 มกราคม 2515 ว่าด้วยการควบคุมกิจการค้าขายอันกระทบถึงความปลอดภัยผาสุกแห่งสาธารณชน และประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ 5 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 (เรื่อง สินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ) ลงวันที่ 26 ธันวาคม 2557 ซึ่งประกาศทั้งสองฉบับดังกล่าวได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและจำเลยทั้งสองทราบประกาศทั้งสองฉบับดังกล่าวแล้ว ทั้งนี้ โดยจำเลยทั้งสองมิได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อันเป็นการฝ่าฝืนต่อประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 และประกาศกระทรวงการคลัง จึงเป็นการบรรยายฟ้องถึงข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด และเป็นการยืนยันว่าจำเลยที่ 2 ทราบประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าวแล้ว แม้โจทก์ไม่แนบประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าวมาพร้อมกับฟ้อง และส่งประกาศดังกล่าวในชั้นพิจารณา ก็หาทำให้ฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด
ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ข้อ 5 บัญญัติว่า "เมื่อได้มีประกาศของรัฐมนตรีกำหนดกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดดังระบุไว้ต่อไปนี้ หรือกิจการอันมีสภาพคล้ายคลึงกัน ให้เป็นกิจการที่ต้องขออนุญาต ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบกิจการนั้น เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี ...(3) การธนาคาร.." แสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่ากฎหมายมุ่งไปถึงลักษณะของกิจการเป็นสำคัญ หากเข้าลักษณะของกิจการอันมีสภาพคล้ายคลึงกับการธนาคารแล้ว ก็ให้อำนาจรัฐมนตรีประกาศกำหนดให้กิจการในลักษณะนี้ต้องถูกควบคุมดูแลและตรวจสอบโดยทางราชการด้วยระบบการขออนุญาตได้ หากฝ่าฝืนประกอบกิจการโดยไม่ได้รับใบอนุญาตย่อมมีโทษทางอาญาตามข้อ 16 คำว่า "ผู้ใด" ตามข้อ 5 ประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าวย่อมใช้บังคับเป็นการทั่วไปไม่ว่ากับบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ดังนั้น เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศกำหนดให้การประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพอันเป็นกิจการที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับการธนาคารเป็นกิจการที่ต้องขออนุญาตแล้ว กิจการในลักษณะนี้จึงมิใช่กิจการที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งกระทำได้โดยเสรีอีกต่อไป แต่ต้องกระทำผ่านระบบใบอนุญาตเท่านั้น หากนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดาเช่นจำเลยที่ 2 จะให้ยืมเงินในลักษณะดังกล่าวก็ต้องขออนุญาตด้วยกันหมดทั้งสิ้น ส่วนที่ประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าวกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะยื่นขออนุญาตว่าต้องเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดเท่านั้น ย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่าทางราชการไม่ประสงค์ให้บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลประเภทอื่นประกอบกิจการในลักษณะนี้นั่นเอง การที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาไม่อาจยื่นขออนุญาตตามประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าวได้ ไม่ได้แสดงว่าจำเลยที่ 2 สามารถประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับอันเป็นกิจการที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับการธนาคารได้โดยเสรี การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงครบองค์ประกอบและเป็นความผิดตามฟ้อง
ความผิดฐานร่วมกันประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ อันเป็นกิจการที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับการธนาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต และฐานร่วมกันให้บุคคลอื่นกู้ยืมเงินโดยเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด เป็นการกระทำความผิดที่ผู้กระทำจะต้องมีเจตนาประสงค์ต่อผลต่างกัน กฎหมายจึงได้บัญญัติเป็นความผิดและมีบทลงโทษสำหรับความผิดแต่ละอย่างแตกต่างกัน และลักษณะแห่งการกระทำความผิดสามารถแยกส่วนจากกันได้ แสดงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายมุ่งประสงค์ที่จะลงโทษผู้กระทำความผิดแต่ละการกระทำเป็นกรณีไป แม้จำเลยที่ 2 กระทำความผิดต่อเนื่องกัน แต่เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องแยกเจตนาของจำเลยที่ 2 ในการกระทำความผิดตามฟ้องแต่ละข้อได้อย่างชัดเจน และจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ การกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 ฐานร่วมกันประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ อันเป็นกิจการที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับการธนาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต และ ฐานร่วมกันให้บุคคลอื่นกู้ยืมเงินโดยเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1307/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของลูกจ้างต่อความเสียหายจากสินเชื่อที่ไม่ถูกต้อง การอนุมัติสินเชื่อโดยไม่ปฏิบัติตามระเบียบ
แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่า โจทก์มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 แต่ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มาตรา 4 ให้คำนิยามความหมายของคำว่า "หน่วยงานของรัฐ" ว่า กระทรวง... และรัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา..." รัฐวิสาหกิจใดจะเป็นหน่วยงานของรัฐตามกฎหมายดังกล่าวได้นั้น คงมีแต่เฉพาะกรณีที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกาเท่านั้น แม้จะปรากฏข้อเท็จจริงจากหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 9 ตุลาคม 2550 เรื่อง การเพิ่มทุนของโจทก์ โดยจำเลยไม่คัดค้านว่า คณะรัฐมนตรีเห็นชอบการซื้อหุ้นเพิ่มทุนโจทก์ของกระทรวงการคลัง ธนาคารออมสิน และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) จะทำให้โจทก์มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจเนื่องจากหน่วยงานภาครัฐถือหุ้นเกินร้อยละ 50 ก็ตาม แต่การเข้าถือหุ้นของหน่วยงานภาครัฐดังกล่าวก็ไม่ทำให้ฐานะของโจทก์ในขณะจัดตั้งตามกฎหมายเปลี่ยนแปลงไปได้ เมื่อตาม พ.ร.บ.ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2545 มาตรา 7 กำหนดให้กระทรวงการคลังซื้อหุ้นของโจทก์ได้ไม่เกินร้อยละ 49 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายแล้วทั้งหมด การจัดตั้งโจทก์ตามกฎหมายดังกล่าวย่อมไม่ได้มีความประสงค์ให้โจทก์มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจมาตั้งแต่ต้น โจทก์จึงไม่ใช่รัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติ อันจะตกอยู่ในความหมายของคำว่า "หน่วยงานของรัฐ" ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539
คดีนี้โจทก์มิได้ฟ้องจำเลยโดยอ้างว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเพียงอย่างเดียว แต่โจทก์ระบุชัดในคำฟ้องว่า การกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดและผิดสัญญาจ้างต่อโจทก์ โดยบรรยายฟ้องว่า ขณะจำเลยเป็นลูกจ้างโจทก์ในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจสัมพันธ์ 2 มีหน้าที่ในการจัดทำเอกสารและเสนอข้อมูลเพื่ออนุมัติสินเชื่อ จำเลยไม่ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ตามระเบียบปฏิบัติงานด้านสินเชื่อ ส่งผลต่อการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ และทำให้โจทก์เสียหายไม่สามารถบังคับชำระหนี้จากลูกค้า และ ป. ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันได้ ขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย จึงเป็นการฟ้องขอให้จำเลยรับผิดทั้งมูลละเมิดและมูลผิดสัญญาจ้างแรงงาน
ขณะจำเลยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจสัมพันธ์ 2 มีหน้าที่รับผิดชอบจัดทำเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการขออนุมัติสินเชื่อ ร่วมวิเคราะห์สินเชื่อกับหน่วยงานวิเคราะห์สินเชื่อเพื่อให้ข้อมูลทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพที่ถูกต้องครบถ้วนเป็นประโยชน์ต่อการอนุมัติสินเชื่อ กลับนำเสนอขออนุมัติสินเชื่อของลูกค้ารายบริษัท ซ. ต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารโจทก์ โดยขอเปลี่ยนแปลงผู้ค้ำประกันในที่ประชุมด้วยวาจาจาก ส. เป็น ป. ซึ่งไม่ได้นำเสนอเอกสารหลักฐานการตรวจสอบภาระหนี้สินของ ป. ที่ค้างชำระต่อธนาคาร ก. เกินกว่า 300 วัน เพื่อประกอบการพิจารณาอนุมัติวงเงินสินเชื่อของคณะกรรมการบริหารของโจทก์ อันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบปฏิบัติงานด้านสินเชื่อของโจทก์ในบทที่ 4 ข้อ 4.1.3 (5) โดยเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารประกอบการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อที่มีความสำคัญและต้องนำส่งทุกครั้งที่มีการขออนุมัติสินเชื่อ การกระทำของจำเลยเช่นนี้จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยที่ สนส.33/2551 เรื่อง การให้สินเชื่อในลักษณะที่เล็งเห็นว่าจะเรียกคืนไม่ได้ ข้อ 5.1 ข้อ 5.1.3 และข้อ 5.1.5 และคำสั่งโจทก์ที่ ธ.139/2551 เรื่อง สินเชื่อต้องห้ามและสินเชื่อพิเศษแต่ละประเภท ข้อ 1.2 ข้อ 1.2.3 และข้อ 1.2.5 เป็นการปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกต้อง ย่อมเป็นการผิดสัญญาจ้างต่อโจทก์ หลังจากที่โจทก์อนุมัติสินเชื่อแล้ว บริษัท ซ. ชำระหนี้ให้แก่โจทก์เพียง 13 งวด ค้างชำระเงินต้นถึง 60,000,000 บาท ทำให้โจทก์ต้องฟ้องบริษัท ซ. และ ป. กับพวก ต่อศาลแพ่ง ความเสียหายที่เกิดขึ้นดังกล่าว จึงเป็นผลสืบเนื่องมาจากการไม่ปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องตามระเบียบ ประกาศ และคำสั่งโจทก์ของจำเลย แต่ที่โจทก์เรียกค่าเสียหายจากจำเลย เมื่อหนี้ดังกล่าวศาลแพ่งได้มีคำพิพากษาให้บริษัท ซ. และ ป. ร่วมกันชำระเงิน 94,684,743.99 บาท พร้อมค่าชดเชยร้อยละ 18 ต่อปี จากต้นเงิน 60,000,000 บาท ให้แก่โจทก์ ทั้งยังให้บังคับจำนำยึดหุ้นของบริษัท ซ. ออกขายทอดตลาดมาชำระหนี้ และให้บังคับจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่จดทะเบียนจำนองไว้เป็นประกันหนี้ออกขายทอดตลาด หากลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ชำระหนี้ให้ครบถ้วนถูกต้อง ดังนั้น การจะกำหนดให้จำเลยต้องรับผิดในหนี้ดังกล่าวทั้งหมดอีกย่อมเป็นการซ้ำซ้อนและเป็นการไม่สมควร การกำหนดค่าเสียหายให้จำเลยชดใช้คงต้องคำนึงถึงจำนวนเงินต้นทุนสินเชื่อตามจริงที่บริษัท ซ. กู้ยืมไป และจำนวนเงินที่โจทก์ได้รับชำระแล้วในคดีตามคำพิพากษาของศาลแพ่งหรืออาจจะได้รับชำระตามคำพิพากษาต่อไปโดยการบังคับจากหลักประกัน คือ หุ้นของบริษัท ซ. ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่จดทะเบียนจำนอง และผู้ค้ำประกัน ประกอบเข้ากับการลดน้อยถอยลงของหลักประกันซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันดังกล่าวด้วย แต่การกำหนดค่าเสียหายเป็นดุลพินิจซึ่งเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาไม่อาจกำหนดให้ได้ จึงย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยควรรับผิดต่อโจทก์เพียงใดตามนัยข้างต้นต่อไป
of 4