คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
หนี้ซื้อขาย

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 38 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2221/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความหนี้ซื้อขายสินค้า (ป.พ.พ. มาตรา 193/34) และอำนาจฟ้อง-สถานที่ฟ้องคดี
จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทสหกรณ์การธนกิจ มีวัตถุประสงค์ประการหนึ่งในการจัดหาวัสดุการเกษตรและเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นมาจำหน่ายแก่สมาชิก การที่จำเลยซื้อปุ๋ยทั้งสองรายการไปจากโจทก์ก็เพื่อที่จะนำไปจำหน่ายแก่สมาชิกอีกทอดหนึ่งจึงมีลักษณะเป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการฝ่ายลูกหนี้หรือจำเลยนั้นเอง เมื่อจำเลยมิได้ซื้อปุ๋ยไปจากโจทก์เพื่อใช้เอง แต่ได้ใช้ประกอบกิจการของจำเลยเพื่อแสวงหาประโยชน์ต่อไปอีกทอดหนึ่ง จึงตกอยู่ในบังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) ตอนท้ายซึ่งเป็นข้อยกเว้นให้มีอายุความห้าปีตามมาตรา 193/33 (5) ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ที่ศาลชั้นต้นส่งประเด็นไปสืบพยานจำเลยที่ศาลจังหวัดนครนายกซึ่งเป็นภูมิลำเนาของจำเลยนั้น เป็นการให้ความสะดวกแก่จำเลยและพยานจำเลยในการที่จะมาเบิกความต่อศาล แต่เมื่อถึงวันนัดสืบพยานประเด็นจำเลย ทนายจำเลยกลับแถลงว่าพยานจำเลยปาก ส. และ ว. กรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยซึ่งเป็นพยานนำไม่มาศาลโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้อง ส่วนพยานอีก 2 ปากคือ ช. และ พ. ซึ่งเป็นพยานหมายไม่มาศาลโดยไม่ทราบผลการส่งหมาย และแถลงรับว่าไม่ได้เตรียมพยานมาให้พร้อมสืบในวันดังกล่าว ขอเลื่อนคดี หากศาลไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีและส่งประเด็นคืนก็จะเตรียมพยานจำเลยไปสืบที่ศาลเดิม ศาลจังหวัดนครนายกมีคำสั่งไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีและให้ส่งประเด็นคืนศาลเดิม ในวันนัดฟังประเด็นกลับทนายจำเลยขอสืบพยานจำเลยทั้งสี่ปากโดยจะนำพยานสืบเองและขอเลื่อนอีก กรณีดังกล่าวมิใช่เหตุจำเป็นที่จะต้องขอเลื่อนการนั่งพิจารณาต่อไปตาม ป.วิ.พ. มาตรา 40 วรรคหนึ่ง การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีโดยให้งดสืบพยานจำเลยนั้นชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11735/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความหนี้ซื้อขาย: เริ่มนับเมื่อส่งมอบสินค้าครบถ้วน ไม่นับแยกแต่ละครั้ง
สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยระบุว่า เงินค่าซื้อขายส่วนที่เหลือจะจ่ายให้เมื่อจำเลยได้รับมอบสิ่งของที่สั่งซื้อไว้ครบถ้วนแล้ว แสดงว่ามูลหนี้ตามสัญญาซื้อขายนี้ถึงกำหนดชำระต่อเมื่อโจทก์ได้ส่งมอบสิ่งของที่สั่งซื้อให้แก่จำเลยครบถ้วนแล้ว เมื่อโจทก์ส่งมอบสิ่งของที่สั่งซื้อให้จำเลย 2 ครั้ง อายุความจึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่จำเลยได้รับมอบสิ่งของที่สั่งซื้อครบถ้วนในครั้งที่ 2 จะนับอายุความแยกเป็นแต่ละครั้งที่มีการส่งมอบสิ่งของที่สั่งซื้อไม่ได้ จำเลยได้รับมอบสิ่งของที่สั่งซื้อครบถ้วนในครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2541 นับถึงวันฟ้องวันที่ 1 ธันวาคม 2542 ยังไม่เกิน 2 ปี สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในมูลหนี้ค่าสินค้าที่โจทก์ส่งมอบให้จำเลยในครั้งแรกจึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7625/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนี้จากการซื้อขายสินค้าล่วงหน้า vs. สัญญากู้ยืม: หนี้ไม่มีมูลหากเป็นหนี้บริษัทต่อบริษัท
บริษัท ส. ที่โจทก์เป็นกรรมการได้มอบเงินให้บริษัท ซ. ที่จำเลยเป็นกรรมการเป็นค่าสินค้าที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยล่วงหน้า เงินจำนวนดังกล่าวไม่ใช่หนี้ตามข้อตกลงในฐานะส่วนตัวของโจทก์กับจำเลย แต่เป็นข้อตกลงระหว่างโจทก์ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท ส. กับจำเลยในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท ซ. ต่อมาบริษัท ซ. จะต้องคืนเงินแก่บริษัท ส. แต่ได้ทำในรูปสัญญากู้ยืมที่จำเลยลงลายมือชื่อรับผิดต่อโจทก์ หนี้ที่จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินกับโจทก์จึงเป็นหนี้ที่บริษัท ซ. มีต่อบริษัท ส. ไม่ใช่เป็นหนี้ของจำเลยในฐานะส่วนตัว สัญญากู้ยืมเงินตามฟ้องระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงไม่มีมูลหนี้ต่อกัน
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์โดยไม่ได้นำสืบว่าหนี้กู้ยืมเงินดังกล่าวเป็นหนี้ที่เกิดจากการแปลงหนี้ ทั้งจำเลยให้การว่าจำเลยไม่ได้กู้ยืมเงินโจทก์ จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินกับโจทก์โดยไม่มีเจตนาผูกพันตามสัญญา จึงรับฟังไม่ได้ว่าหนี้กู้ยืมเงินดังกล่าวเป็นหนี้ที่เกิดจากการแปลงหนี้ตามที่โจทก์อ้าง กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยว่า โจทก์จำต้องกล่าวในฟ้องถึงการแปลงหนี้ด้วยหรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1647/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความหนี้ซื้อขายสินค้า: การซื้อเพื่อนำไปขายต่อทำให้มีอายุความ 5 ปี และการชำระหนี้ด้วยเช็คทำให้เริ่มนับอายุความใหม่
จำเลยเป็นเจ้าของร้านค้าและเป็นลูกค้าโจทก์ สั่งซื้อสินค้าประเภทสุขภัณฑ์และกระเบื้องจากโจทก์เพื่อนำไปจำหน่ายต่อ ถือได้ว่าเป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้ กรณีจึงตกอยู่ในบังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) ตอนท้าย ซึ่งอายุความสิทธิเรียกร้องเรียกค่าสินค้าของโจทก์จึงมีกำหนด 5 ปี หาใช่ 2 ปี ไม่
จำเลยลงลายมือชื่อยอมรับยอดหนี้ค่าสินค้าต่อโจทก์ตามหนังสือรับสภาพหนี้ในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2541 ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง โจทก์นำเช็คจำนวน 10 ฉบับ ที่จำเลยชำระหนี้ค่าสินค้าไปเรียกเก็บเงินได้ 5 ฉบับ เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คที่เหลือฉบับแรกในวันที่ 25 พฤษภาคม 2542 อายุความ 5 ปี จึงเริ่มนับใหม่ตั้งแต่วันดังกล่าว เมื่อนับถึงวันที่โจทก์ฟ้องคดีคือ วันที่ 3 กรกฎาคม 2544 จึงยังไม่พ้นกำหนด 5 ปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1343/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความหนี้ซื้อขาย: การพิจารณาข้อยกเว้นตามมาตรา 193/34 (1) โดยเน้นที่กิจการของลูกหนี้
กรณีที่ผู้ประกอบการค้าหรืออุตสาหกรรมเรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบซึ่งอยู่ในบังคับอายุความ 2 ปี นั้น ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) บัญญัติยกเว้นกรณีที่ไม่อยู่ในบังคับของกำหนดอายุความดังกล่าวไว้ว่า เว้นแต่เป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่กฎหมายกำหนดข้อยกเว้นโดยให้พิจารณาถึงกิจการของฝ่ายลูกหนี้เป็นสำคัญ กรณีใดจะเข้าข้อยกเว้นดังกล่าวหรือไม่ จึงไม่จำต้องคำนึงว่าเป็นการที่ได้ทำเพื่อประโยชน์ของฝ่ายเจ้าหนี้ด้วยหรือไม่
จำเลยที่ 1 ซื้อปูนซีเมนต์จากโจทก์นำไปจำหน่ายหรือนำไปผสมเป็นคอรกรีตผสมเสร็จจำหน่ายแก่บุคคลทั่วไป ย่อมถือได้ว่าเป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้นั้นเอง อันเป็นกรณีที่ต้องด้วยข้อยกเว้นตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงไม่อยู่ในบังคับอายุความ 2 ปี แต่มีอายุความ 5 ปี ตามมาตรา 193/33 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1259/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความชอบด้วยกฎหมายของฟ้องคดีเช็ค: ไม่ต้องบรรยายรายละเอียดหนี้ซื้อขาย
โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2540 เวลากลางวัน จำเลยออกเช็คธนาคาร ก. สาขาสี่มุมเมือง-รังสิต ลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2540 สั่งจ่ายเงินจำนวน 152,479.53 บาท มอบให้แก่บริษัท ห. ผู้เสียหาย เพื่อชำระหนี้ค่าวัสดุก่อสร้าง อันเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย ดังนั้น ฟ้องโจทก์ดังกล่าวได้บรรยายข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำของจำเลยครบถ้วนเพียงพอที่จำเลยจะเข้าใจข้อหาและต่อสู้คดีได้แล้ว ไม่จำต้องบรรยายว่ามูลหนี้ซื้อขายระหว่างผู้เสียหายกับจำเลยได้มีหลักฐานการซื้อขายต่อกัน หรือผู้เสียหายได้ส่งสินค้าทุกรายการให้ครบถ้วนแล้ว และโจทก์ก็ไม่จำต้องแนบหลักฐานการซื้อขายมาพร้อมกับฟ้องดังที่จำเลยฎีกา เพราะเป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก์อาจนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5704/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องหนี้ซื้อขายทองคำ: เริ่มนับจากวันครบกำหนดชำระ ไม่ใช่เมื่อขายทองคำเพื่อบรรเทาความเสียหาย
โจทก์เป็นผู้ประกอบการค้าร้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขายทองคำแท่งที่จำเลยสั่งซื้อไปจากโจทก์ มีกำหนดอายุความ 2 ปี นับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12 ประกอบมาตรา 193/34 (1) ซึ่งตามสัญญาซื้อขายทองคำแท่ง ข้อ 5.3 การชำระเงินระบุว่า จำเลยต้องชำระค่าซื้อทองคำแท่งภายใน 5 วันทำการ และในข้อ 7 ระบุว่า หากจำเลยปฏิบัติผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใดหรือปฏิบัติผิดเงื่อนไข จำเลยยอมให้โจทก์มีสิทธิปิดสถานะการซื้อขายทองคำแท่งของจำเลยได้ทันที โดยโจทก์ไม่จำเป็นต้องแจ้งเตือนให้ทราบล่วงหน้า จำเลยต้องรับผิดส่วนต่างของราคาทองคำที่ซื้อขายขาดทุนและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น แสดงว่าการซื้อขายทองคำแท่งของจำเลยกับโจทก์มีกำหนดเวลาชำระหนี้แน่นอนโดยจำเลยต้องชำระเงินภายใน 5 วันทำการ หากครบกำหนด 5 วันทำการ จำเลยไม่ชำระเงินโจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาได้นับแต่เวลานั้น ส่วนกรณีที่โจทก์นำทองคำแท่งที่จำเลยสั่งซื้อไว้ออกขายนำมาหักจากราคาที่จำเลยสั่งซื้อ เป็นเพียงการดำเนินการตามข้อตกลงที่ให้สิทธิโจทก์ทำได้เพื่อบรรเทาความเสียหายอันเกิดจากการผิดสัญญาของจำเลยเท่านั้น มิใช่สิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้ของโจทก์เพิ่งเกิดในวันที่โจทก์นำทองคำแท่งที่จำเลยสั่งซื้อออกขาย ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยสั่งซื้อทองคำแท่งจากโจทก์ 3 ครั้ง เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2555 วันที่ 17 ธันวาคม 2555 และวันที่ 11 เมษายน 2556 ตามลำดับ กำหนดชำระราคาภายใน 5 วันทำการนับแต่วันสั่งซื้อแต่ละครั้ง โดยเฉพาะการสั่งซื้อทองคำแท่งครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2556 นั้น ปรากฏว่าวันที่ 12 ถึง 16 เมษายน 2556 เป็นวันหยุดราชการ ต้องเริ่มนับวันทำการวันพุธที่ 17 เมษายน 2556 ถึงวันอังคารที่ 23 เมษายน 2556 ไม่รวมวันที่ 20 และ 21 เมษายน 2556 ซึ่งเป็นวันเสาร์และวันอาทิตย์หยุดราชการ ดังนั้น วันที่โจทก์อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้คือวันที่ 23 เมษายน 2556 เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2558 จึงพ้นกำหนดเวลา 2 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2651/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดส่วนบุคคลของกรรมการบริษัทในหนี้ซื้อขายสินค้า แม้ไม่มีการประทับตราบริษัท
โจทก์นำสืบให้เห็นถึงความไม่สุจริตของฝ่ายจำเลยในการติดต่อซื้อขายระหว่างประเทศครั้งนี้ไว้แล้ว โดยเฉพาะการกระทำตามอำเภอใจของจำเลยที่ 2 ตั้งแต่การเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ในการเจรจากับโจทก์มาตลอด การไม่ยอมชำระค่าบริการสินค้าตั้งแต่แรกด้วยการอ้างว่าขาดสภาพคล่องทางการเงิน การทำสัญญาค้ำประกันโดยจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อพร้อมประทับตราสำคัญทั้งของจำเลยที่ 1 และที่ 3 การทำหนังสือรับสภาพหนี้โดยจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อและประทับลายนิ้วมือแต่ไม่ประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 รวมทั้งการทำหลักฐานการโอนเงินให้แก่โจทก์ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้มีการทำธุรกรรมดังกล่าวต่อธนาคารแต่อย่างใด การกระทำเหล่านี้นับเป็นข้อพิรุธหลายประการของจำเลยที่ 2 ที่ทำให้เห็นได้ว่า จำเลยที่ 2 กระทำการไม่สุจริตในลักษณะที่ตนเองเป็นบุคคลผู้มีส่วนเกี่ยวข้องนอกเหนือจากการเป็นเพียงผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 เท่านั้น ทั้งเป็นการกระทำที่ไม่คำนึงถึงแบบพิธีของจำเลยที่ 1 ในการประทับตราสำคัญ หนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวจึงไม่ถือว่าได้ทำขึ้นโดยเจตนาให้มีลักษณะเป็นทางการอย่างเช่นหนังสือที่ออกโดยนิติบุคคลทั่วไป แต่มีลักษณะที่อาจเข้าใจไปได้ว่าจำเลยที่ 2 ทำในนามส่วนตัวเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่โจทก์และยอมปล่อยสินค้า จำเลยที่ 2 จึงไม่อาจปฏิเสธความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่โจทก์ซึ่งเป็นคู่ค้าผู้สุจริตได้ ถือว่าจำเลยที่ 2 ได้เข้าร่วมเป็นการส่วนตัวกับจำเลยที่ 1 เพื่อรับผิดในหนี้ค่าสินค้าที่ค้างชำระต่อโจทก์ตามหนังสือรับสภาพหนี้
of 4