คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
อนุญาตฎีกา

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 34 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2186/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอนุญาตฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องยื่นพร้อมคำฟ้องฎีกา ศาลชั้นต้นรับฎีกาไม่ชอบตามกฎหมาย
ป.วิ.อ. มิได้บัญญัติถึงรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติในเรื่องการยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำบทบัญญัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคสี่ ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 15 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ดังนั้น การขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาได้ ผู้ฎีกาต้องยื่นคำร้องถึงผู้พิพากษานั้นพร้อมกับคำฟ้องฎีกาต่อศาลชั้นต้น คดีนี้แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งรับฎีกาของโจทก์แล้ว แต่การที่โจทก์ยื่นคำร้องในวันรุ่งขึ้นซึ่งยังอยู่ภายในกำหนดอายุฎีกาขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นพิจารณาอนุญาตให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงโดยที่โจทก์มิได้ยื่นฎีกาฉบับใหม่เข้ามา ถือได้ว่า โจทก์ประสงค์จะขอถือเอาฎีกาฉบับเดิมที่ศาลชั้นต้นสั่งรับไปแล้วเป็นฎีกาประกอบคำร้องขออนุญาตฎีกาของโจทก์ กรณีย่อมอนุโลมได้ว่าโจทก์ยื่นคำร้องขออนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงพร้อมคำฟ้องฎีกา และผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นรับรองให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามคำร้องของโจทก์แล้ว
ศาลชั้นต้นเห็นว่า โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหาย จึงไม่รับฟ้อง ส่วนศาลอุทธรณ์ภาค 1 เห็นว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองไม่มีมูลความผิดตามฟ้อง พิพากษายืน จึงมีผลเท่ากับศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้อง โจทก์ฎีกาไม่ได้ทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและปัญหาข้อกฎหมายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 220 เมื่อผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นรับรองให้โจทก์ฎีกาเฉพาะในปัญหาข้อเท็จจริง การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของโจทก์ จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 220 และ 221

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5178/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาต้องห้าม เหตุมิได้ขออนุญาตฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และศาลฎีกามีอำนาจแก้โทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตาม ป.อ. มาตรา 291 จำคุก 4 ปี และให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 3 กับผู้ร้องที่ 2 และที่ 4 ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน และยังคงลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี คดีส่วนอาญาจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาว่า เหตุคดีนี้เกิดจากความประมาทของ ภ. ผู้เสียหายและ ก. ผู้ตายที่ขับรถจักรยานยนต์โดยประมาทไม่เว้นระยะห่างให้มากพอที่จะหยุดรถได้ทัน ทำให้รถจักรยานยนต์ทั้งสองคันชนท้ายรถบรรทุกพ่วงที่จำเลยขับจนเป็นเหตุให้ ฐ. และ ก. ถึงแก่ความตาย ภ. ได้รับอันตรายสาหัส ย. ได้รับอันตรายแก่กาย จำเลยจึงไม่มีความผิดตามฟ้อง เป็นฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 4 จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และฎีกาของจำเลยที่ขอให้รอการลงโทษนั้น เป็นฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดโทษหรือการลงโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 4 อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเช่นกัน เมื่อจำเลยมิได้ขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ภาค 4 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง หรืออัยการสูงสุดลงลายมือชื่อรับรองในฎีกาว่ามีเหตุอันสมควรที่ศาลสูงสุดจะได้วินิจฉัยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 ฎีกาของจำเลยในคดีส่วนอาญาจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง สำหรับฎีกาของจำเลยในคดีส่วนแพ่งที่จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 3 กับผู้ร้องที่ 2 และที่ 4 นั้น เมื่อคดีส่วนอาญาต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และจำเลยไม่ได้ยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกาต่อศาลฎีกาในคดีส่วนแพ่ง จึงต้องห้ามฎีกาในคดีส่วนแพ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 247 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15แม้คดีจะต้องห้ามฎีกาดังกล่าวมาข้างต้น เมื่อคดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว และศาลฎีกาเห็นว่าพฤติการณ์ที่ปรากฏในคดี โทษที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 กำหนดยังไม่เหมาะสมแก่รูปคดี ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจเปลี่ยนแปลงดุลพินิจในการลงโทษที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 กำหนดไว้โดยการรอการลงโทษจำคุกได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8692/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่ชอบเนื่องจากไม่ขออนุญาตฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งที่แก้ไขใหม่
คดีนี้ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นออกคำบังคับให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท อันถือได้ว่าเป็นการยื่นฟ้องจำเลยและบริวารเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2558 หลังจากพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2558 มีผลใช้บังคับ การยื่นฎีกาจึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติที่แก้ไขใหม่ เมื่อ ป.วิ.พ. มาตรา 244/1 ที่เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า "ภายใต้บังคับมาตรา 247 คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด" มาตรา 247 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่ บัญญัติว่า "การฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ ให้กระทำได้เมื่อได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา" และวรรคสอง บัญญัติว่า "การขออนุญาตฎีกา ให้ยื่นคำร้องพร้อมกับคำฟ้องฎีกาต่อศาลชั้นต้นที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีนั้น..." การที่ผู้คัดค้านยื่นฎีกาโดยไม่ได้ยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกามาด้วยจึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5682/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาต้องห้าม: การฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงต้องปฏิบัติตามขั้นตอนการขออนุญาตจากศาลล่าง
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาปรับบทลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 335 (1) (3) (5) วรรคสอง ประกอบมาตรา 336 ทวิ จำคุก 1 ปี 6 เดือน ให้เพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา 92 เป็นจำคุก 1 ปี 12 เดือน และลดโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 78 คงจำคุก 12 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิ่มโทษจำเลยกึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 93 (13) เป็นจำคุก 1 ปี 5 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้ว คงจำคุก 13 เดือน 15 วัน และให้กักกันจำเลยมีกำหนด 3 ปี นับแต่วันพ้นโทษตาม ป.อ. มาตรา 41 (8) การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้ในเรื่องการเพิ่มโทษจำเลย จากเดิมที่ศาลชั้นต้นเพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา 92 เป็นเพิ่มโทษจำเลยกึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 93 (13) โดยมิได้แก้บทมาตราแห่งความผิดตามฟ้อง ซึ่งเป็นการแก้เฉพาะเรื่องโทษ แม้จะให้กักกันจำเลยมีกำหนด 3 ปี นับแต่วันพ้นโทษ ตาม ป.อ. มาตรา 41 (8) แต่การกักกันไม่ใช่โทษตาม ป.อ. มาตรา 18 จึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อย เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยังคงลงโทษจำคุกจำเลยในความผิดเดิมไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยขอให้ลงโทษจำเลยสถานเบาเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการลงโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 1 เป็นฎีกาใน ปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว เว้นแต่ถ้าผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณาหรือ ลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์พิเคราะห์เห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดและอนุญาตให้ฎีกา หรืออธิบดีกรมอัยการลงลายมือรับรองในฎีกาว่า มีเหตุอันควรที่ศาลสูงสุดจะได้วินิจฉัย ก็ให้รับฎีกานั้นไว้พิจารณาต่อไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 ซึ่งคดีนี้เป็นคดีอาญาทั่วไปมิได้มีบทบัญญัติให้การฎีกาจะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา การฎีกาจึงอยู่ในบังคับตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 216 และมาตรา 221 ที่กำหนดให้จำเลยต้องยื่นคำร้องพร้อมกับคำฟ้องฎีกาต่อศาลชั้นต้นขอให้ผู้พิพากษาคนใดคนหนึ่งซึ่งพิจารณา หรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือ ทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ภาค 1 อนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ คดีนี้ปรากฏว่าจำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาอนุญาตฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงโดยมิได้ยื่นเป็นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาศาลล่างทั้งสองดังกล่าวอนุญาตให้ฎีกา คำร้องขออนุญาตฎีกาของจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 เมื่อจำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงมิได้ปฏิบัติตามมาตรา 221 แห่งกฎหมายข้างต้น จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
of 4