คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
อัตราดอกเบี้ย

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 317 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6550/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อัตราดอกเบี้ยตามสัญญากู้ยืม: ศาลแก้ไขการคิดดอกเบี้ยให้เป็นไปตามอัตราสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไป (ที่ไม่ผิดนัด)
การมอบอำนาจให้ฟ้องคดีนั้นมิได้มีข้อจำกัดตามกฎหมายว่าจะต้องมอบอำนาจให้ฟ้องบุคคลใดเป็นคดีเรื่องใดโดยเฉพาะเจาะจงเท่านั้น เมื่อหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวมีข้อความระบุไว้ชัดว่าโจทก์ได้มอบอำนาจให้ผู้รับมอบอำนาจคือนาย ส. ฟ้องคดีแทนได้แล้ว นาย ส. ก็มีอำนาจที่จะฟ้องคดีต่าง ๆ แทนโจทก์ได้ รวมทั้งฟ้องจำเลยทั้งห้าซึ่งเป็นลูกหนี้ของโจทก์เป็นคดีนี้ได้โดยชอบด้วย โดยโจทก์ไม่จำเป็นต้องทำหนังสือมอบอำนาจระบุเป็นการเฉพาะให้ฟ้องจำเลยทั้งห้าอีก
ตามสัญญาทรัสต์รีซีทซึ่งโจทก์และจำเลยที่ 1 ทำกันไว้มีข้อตกลงว่า "...ข้าพเจ้า (จำเลยที่ 1) จะต้องนำเงินมาชำระค่าสินค้าในจำนวนและกำหนดเวลาที่ระบุไว้ตามรายละเอียดแนบท้ายให้แก่ธนาคาร โดยคำนวณเงินตราต่างประเทศที่ระบุไว้ในรายละเอียดแนบท้ายเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนที่ธนาคารต้องชำระค่าสินค้าแทนข้าพเจ้า หรือตามอัตราที่ตกลงกันไว้ หรือในอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคาร ณ วันครบกำหนดชำระเงินตามทรัสต์รีซีทหรือในอัตราที่ได้กำหนดไว้แนบท้ายหนังสือนี้ โดยข้าพเจ้ายินยอมให้ธนาคารเป็นผู้เลือกที่จะใช้อัตราใดแล้วแต่จะเห็นสมควร..." แสดงว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ตกลงกันไว้ว่าอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นเงินไทยจะใช้อัตราแลกเปลี่ยนวันใดให้โจทก์เป็นผู้มีสิทธิเลือกตามแต่โจทก์จะเห็นสมควร ข้อตกลงเช่นนี้ไม่ขัดต่อกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ย่อมใช้บังคับกันได้โดยชอบ การที่โจทก์คิดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศตามที่โจทก์จ่ายไปตามเลตเตอร์ออฟเครดิตเป็นเงินไทยในวันครบกำหนดที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระเงินคืนให้แก่โจทก์ตามที่ระบุไว้ในหนังสือสัญญาทรัสต์ซีรีทนั้นจึงเป็นกรณีที่โจทก์ใช้สิทธิที่มีอยู่ตามข้อตกลงในหนังสือสัญญาทรัสต์รีซีท
สัญญาทรัสต์รีซีท ข้อ 4 ระบุว่า กรณีจำเลยที่ 1 ได้ขายสินค้า หรือแม้มิได้นำสินค้าออกขายก็ตาม จำเลยที่ 1 จะต้องนำเงินมาชำระค่าสินค้าในจำนวนและในกำหนดเวลาที่ระบุไว้แนบท้ายแก่ธนาคารโจทก์ โดยคำนวณเงินตราต่างประเทศตามที่ตกลงไว้ โดยจำเลยที่ 1 ยอมให้ธนาคารโจทก์คิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ระบุไว้ในอัตราสูงสุดที่ธนาคารโจทก์ประกาศกำหนดภายใต้ประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด นับแต่วันที่ธนาคารโจทก์ได้ชำระค่าสินค้าแทนจำเลยที่ 1 และ ข้อ 7 ระบุว่า ในกรณีที่จำเลยที่ 1 ตกเป็นผู้ผิดนัดผิดสัญญา จำเลยที่ 1 ยอมให้ธนาคารโจทก์คิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ระบุไว้แนบท้ายที่ค้างชำระดังกล่าวในอัตราสูงสุด ดังนี้ข้อความที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาทรัสต์รีซีทข้อ 4 ที่ระบุว่า "อัตราสูงสุด" ประกอบกับข้อความที่ขยายความคำว่า "อัตราสูงสุด" ว่า "ที่ธนาคาร (โจทก์)ประกาศกำหนดภายใต้ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด" จึงมีความหมายถึงอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงกันโดยมีเจตนาให้เป็นอัตราสูงสุดที่ถูกต้องภายใต้หลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยออกประกาศกำหนดไว้ให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยฉบับลงวันที่ 20 ตุลาคม 2536 อันได้แก่อัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไป (ที่ไม่ผิดนัด) และเมื่อสัญญาทรัสต์รีซีท ข้อ 7 ที่ตกลงกันว่าในกรณีผิดนัดให้คิดดอกเบี้ยใน "อัตราสูงสุด" ซึ่งย่อมมีความหมายเช่นเดียวกับอัตราดอกเบี้ยตามข้อ 4 หรือเป็นอัตราเดียวกันดังที่วินิจฉัยไว้แล้วข้างต้น จึงถือได้ว่าสัญญาทรัสต์ซีรีทได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้แน่นอนเป็นอัตราสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไป (ที่ไม่ผิดนัด) ตามประกาศธนาคารโจทก์แล้ว โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราเพียงร้อยละ 18.50 ต่อปี และ 16.50 ต่อปี ซึ่งก็ล้วนเป็นอัตราที่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไป(ที่ไม่ผิดนัด) ตามประกาศธนาคารโจทก์ ที่มีผลบังคับในขณะคิดดอกเบี้ยนั้นเช่นกัน หลังจากนั้นจึงคิดดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดลูกค้าทั่วไปที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไข ซึ่งการคิดดอกเบี้ยดังกล่าวนอกจากจะไม่เกินกว่าอัตราที่ตกลงกันไว้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทข้อ 4 ดังกล่าวแล้ว ยังกลับเป็นคุณแก่จำเลยทั้งห้าอีกด้วย แม้ต่อมาภายหลังปรากฏว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยสูงสุดลูกค้าทั่วไปที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขและปรับเปลี่ยนขึ้นลงตามอัตราดังกล่าวตามประกาศธนาคารโจทก์ที่มีผลใช้บังคับในแต่ละช่วงเวลาจนกระทั่งเป็นอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดลูกค้าทั่วไปที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขนับตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2542 เป็นต้นไปจนถึงวันฟ้อง อันทำให้เห็นเป็นว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราเพิ่มขึ้นในช่วงหลังจากจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้โดยอ้างสิทธิตามสัญญาทรัสต์รีซีทข้อ 7 ทำนองเป็นเบี้ยปรับก็ตาม แต่ที่ถูกนั้นแม้ในกรณีที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้แล้ว โจทก์จะมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ได้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทข้อ 7 ใน "อัตราสูงสุด" ซึ่งเป็นอัตราเดียวกันกับอัตราตามสัญญาข้อ 4 ซึ่งได้แก่อัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไปที่ไม่ผิดนัดตามประกาศธนาคารโจทก์ มิใช่อัตราสูงสุดสำหรับลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขตามประกาศธนาคารโจทก์การคิดดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นเพียงการคิดดอกเบี้ยที่ไม่ถูกต้อง ผิดจากข้อสัญญาเท่านั้น มิใช่เป็นการคิดดอกเบี้ยตามข้อสัญญาที่ลูกหนี้ (จำเลยที่ 1) ตกลงให้คิดดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นในลักษณะเป็นการตกลงใช้เงินจำนวนหนึ่ง หรือค่าเสียหายเพราะเหตุที่ลูกหนี้ (จำเลยที่ 1) ไม่ชำระหนี้หรือไม่ชำระให้ถูกต้องสมควร อันเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 ซึ่งหากสูงเกินส่วนศาลอาจพิพากษาให้ลดลงเป็นจำนวนพอสมควรตามมาตรา 383 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6168/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจ ธปท. กำหนดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ตาม พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ มิได้ขัดต่อกฎหมาย
มาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ. การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 บัญญัติว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดังต่อไปนี้? (2) ดอกเบี้ยหรือส่วนลดที่ธนาคารพาณิชย์อาจเรียกได้ การที่ธนาคาร แห่งประเทศไทยกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์เรียกดอกเบี้ยและส่วนลดจากลูกค้าทุกประเภทได้เองก็เพื่อความคล่องตัวของระบบธนาคารพาณิชย์ตามภาวะขึ้นลงของเศรษฐกิจในขณะนั้นอันจะก่อให้เกิดความมั่นคงและเป็นหลักประกันแก่การประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ ทั้งประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยดังกล่าว ข้อ 4 ยังกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์จัดส่งประกาศเกี่ยวกับดอกเบี้ยเงินฝากและดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อให้ธนาคารแห่งประเทศไทยทราบภายใน 3 วัน เพื่อควบคุมไม่ให้ธนาคารพาณิชย์ออกประกาศตามอำเภอใจ ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยดังกล่าวจึงเป็นการกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยหรือส่วนลดที่ธนาคารพาณิชย์อาจเรียกได้วิธีหนึ่งตามที่พระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 ให้อำนาจไว้ ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศธนาคารพาณิชย์ดังกล่าวหาตกเป็นโมฆะแต่อย่างใดไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4919/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อัตราดอกเบี้ยตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี: การคิดดอกเบี้ยตามวงเงินและข้อตกลง
ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและสัญญาจำนองระบุว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์อัตราร้อยละ 19 ต่อปีมาตั้งแต่แรกก็ตาม แต่ตามการ์ดบัญชีกระแสรายวันปรากฏว่าในวันที่ 2 เมษายน 2528 ระบุดอกเบี้ยว่า ร้อยละ 15 และร้อยละ 19 แสดงว่าในวันดังกล่าวโจทก์คิดดอกเบี้ยภายในวงเงินในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี หากเกินวงเงิน โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปีซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ตกลงกันมาตั้งแต่แรกและตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยในขณะนั้น แต่ขณะที่สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีอันเป็นบัญชีเดินสะพัดสิ้นสุดลงในวันที่ 30 กรกฎาคม 2536 โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี แม้ในทางปฏิบัติระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ปรากฏว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ในวันทำสัญญาภายในวงเงินคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และส่วนที่เกินวงเงินคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี โดยมีดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นอัตราร้อยละ 4 ก็เป็นข้อปฏิบัติในลักษณะที่โจทก์ให้ประโยชน์แก่จำเลยที่ 1 นอกเหนือจากข้อตกลงในสัญญาซึ่งขณะนั้นโจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ได้ถึงอัตราร้อยละ 19 ต่อปีตามข้อตกลงในสัญญา จึงมิได้คิดเพิ่มขึ้นเพียงแต่แยกวงเงินออกเป็น สัดส่วนเท่านั้น อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวจึงมิใช่เบี้ยปรับ ศาลไม่มีอำนาจลดลงได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1301/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฉ้อโกงประชาชน-กู้ยืมเงินเกินอัตราดอกเบี้ย: พฤติการณ์หลอกลวง-สร้างความเชื่อถือเพื่อขอกู้เงินจำนวนมาก
จำเลยที่ 1 ไม่ได้นำเงินที่กู้ยืมจากโจทก์ร่วมและผู้เสียหายไปลงทุนหรือให้บุคคลอื่นกู้ยืมในลักษณะที่จะให้ผลประโยชน์มากเพียงพอที่จะนำมาจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ยืมให้แก่โจทก์ร่วมและผู้เสียหายได้ หากแต่การจ่ายผลประโยชน์เป็นดอกเบี้ยในอัตราสูงให้แก่โจทก์ร่วมและผู้เสียหายในครั้งแรก ๆ เป็นเพียงอุบายทุจริตตั้งเรื่องขึ้นเพื่อหลอกลวงโจทก์ร่วมและผู้เสียหายให้หลงเชื่อและส่งมอบเงินให้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง และการที่จำเลยกู้ยืมเงินจากโจทก์ร่วมและผู้เสียหายโดยจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนเป็นดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน และร้อยละ 20 ต่อเดือน ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้ จึงเป็นความผิดตามมาตรา 5 แห่งพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯ ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1272/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อัตราดอกเบี้ยผิดนัดสูงเกินส่วน ศาลมีอำนาจลดเบี้ยปรับได้ แม้ตกลงกันไว้ล่วงหน้า
การที่จำเลยตกลงยอมชำระดอกเบี้ยในอัตราที่สูงขึ้นหลังจากผิดนัดชำระหนี้ ข้อสัญญาเรื่องดอกเบี้ยเช่นนี้ จึงมีลักษณะเป็นการกำหนดค่าเสียหายในรูปดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดไว้ล่วงหน้า อันถือเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 หากศาลเห็นว่าเบี้ยปรับนั้นสูงเกินส่วนก็มีอำนาจที่จะให้ลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 113/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อสัญญาคิดดอกเบี้ยสูงเกินประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นโมฆะ
การคิดดอกเบี้ยของโจทก์ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ต้องอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 มาตรา 14 (2) ที่กำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยหรือส่วนลดที่ธนาคารพาณิชย์อาจเรียกได้และหากธนาคารพาณิชย์ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามย่อมมีความผิดทางอาญาตาม มาตรา 44 เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด ลงวันที่ 20 ตุลาคม 2536 กำหนดไว้ในข้อ 3 (1) และ (2) ให้ธนาคารพาณิชย์ประกาศอัตราดอกเบี้ยที่เรียกจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา อัตราดอกเบี้ยที่เรียกจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี ส่วนต่างสูงสุดที่จะใช้บวกเข้ากับอัตราดอกเบี้ยที่เรียกจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี กับอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์จะเรียกจากลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไข และในข้อ 3 (4) กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์เรียกดอกเบี้ยและส่วนลดจากลูกค้าทุกประเภทได้ไม่เกินอัตราดอกเบี้ยที่เรียกจากลูกค้ารายย่อยชั้นดีบวกส่วนต่างสูงสุด เว้นแต่ในกรณีลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไข ธนาคารพาณิชย์จะเรียกดอกเบี้ยและส่วนลดได้ไม่เกินอัตราดอกเบี้ยสูงสุด ที่ธนาคารพาณิชย์ประกาศกำหนดสำหรับลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไข แต่ตามสัญญากู้เงินระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองที่ทำกันเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2537 ข้อ 2 ตกลงให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยนับแต่วันทำสัญญากู้เงินเป็นต้นไปอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับเรียกจากลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขตามประกาศธนาคารโจทก์ที่ใช้อยู่ในขณะทำสัญญานี้ เป็นข้อสัญญาที่ให้สิทธิโจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดสำหรับลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขได้ทั้งที่จำเลยทั้งสองยังไม่ได้ปฏิบัติผิดสัญญา ซึ่งโจทก์ยังไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตรานี้ได้โดยชอบ โดยจะมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตรานี้ได้ต่อเมื่อจำเลยทั้งสองผิดนัดชำระหนี้อันเป็นการปฏิบัติผิดสัญญาแล้วเท่านั้น จึงจะถูกต้องตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ข้อ 3 (4) ดังกล่าว ข้อสัญญาข้อนี้จึงเป็นข้อสัญญาที่ทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ให้โจทก์เรียกดอกเบี้ยโดยฝ่าฝืนต่อประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยดังกล่าว อันเป็นการฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 มาตรา 14 (2) ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 44 จึงเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 แม้ในทางปฏิบัติจริงโจทก์จะคิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองในอัตราที่ต่ำกว่าที่ระบุไว้ในสัญญาก็ตาม ก็ไม่เป็นเหตุให้ข้อสัญญาที่ตกเป็นโมฆะนั้นกลับสมบูรณ์ขึ้นมาได้
ตามสัญญากู้เงิน ข้อ 4 ที่ระบุว่า ในกรณีที่จำเลยทั้งสองผิดนัดชำระหนี้ให้คิดดอกเบี้ยในอัตราตามที่ระบุในข้อ 2 ซึ่งหมายถึงอัตราสูงสุดสำหรับลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไข เป็นกรณีการคิดดอกเบี้ยนับแต่จำเลยทั้งสองผิดนัดชำระหนี้แล้ว ซึ่งโจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดสำหรับลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขได้ สัญญาข้อ 4 นี้จึงไม่ตกเป็นโมฆะ แต่เป็นสัญญาที่กำหนดค่าเสียหายเป็นดอกเบี้ยสูงเนื่องจากจำเลยทั้งสองผิดนัดชำระหนี้ จึงเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 ซึ่งหากศาลเห็นว่าสูงเกินส่วนก็มีอำนาจพิพากษาลดเบี้ยปรับลงเหลือเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1021/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเงินกู้, เบี้ยปรับ, อัตราดอกเบี้ย, การผิดนัดชำระหนี้, ศาลลดเบี้ยปรับ
แม้สัญญากู้ยืมเงินเลิกกันไปแล้วตามการบอกเลิกสัญญาของโจทก์ เพราะจำเลยผิดนัดผิดสัญญาไม่ชำระหนี้เงินกู้ยืมก็ตาม โจทก์ก็ยังคงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตรา เอ็ม อาร์ อาร์ บวกร้อยละ 2 ซึ่งเป็นอัตราลอยตัวได้ ตามสิทธิที่โจทก์มีอยู่เดิมตามข้อสัญญาต่อไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง และประกาศธนาคารโจทก์ที่ออกตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย กับยังมีสิทธิเรียกค่าเสียหายอันเป็นเบี้ยปรับจากจำเลยซึ่งเป็นฝ่ายผิดนัดผิดสัญญาได้ด้วยเช่นกัน ตามข้อสัญญาและ ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคสี่ แต่สำหรับค่าเสียหายส่วนที่เป็นเบี้ยปรับ อันได้แก่ ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ย เอ็ม อาร์ อาร์ บวกร้อยละ 2 กับอัตราดอกเบี้ยที่เรียกจากลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไข ซึ่งอยู่ระหว่างร้อยละ 1.75 ถึง 3.25 ต่อปี นั้น เมื่อได้คำนึงถึงพฤติการณ์แห่งคดีและทางได้เสียของโจทก์ประกอบกับภาวะดอกเบี้ยในตลาดการเงินในปัจจุบันซึ่งเป็นช่วงดอกเบี้ยขาลงแล้วเห็นว่าสูงเกินไป จึงสมควรกำหนดให้โจทก์เรียกค่าเสียหายจากจำเลยเป็นเบี้ยปรับได้อีกเพียงร้อยละ 0.50 ต่อปี เพิ่มขึ้นจากดอกเบี้ยอัตรา เอ็ม อาร์ อาร์ บวกร้อยละ 2 ต่อปี หรือเท่ากับดอกเบี้ยอัตรา เอ็ม อาร์ อาร์ บวกร้อยละ 2.50 ต่อปี
(วินิจฉัยโดยมติที่ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 1/2547)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 790/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยจากสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีหลังสิ้นสุดสัญญา ไม่ถือเป็นเบี้ยปรับ แต่ต้องเป็นไปตามอัตราดอกเบี้ยที่ตกลงกันไว้
สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี ระบุว่า "ผู้กู้ยอมชำระดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้ในอัตราตามที่ผู้ให้กู้ประกาศกำหนดเป็นคราว ๆ ไป และผู้กู้ยอมให้ผู้ให้กู้เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยได้ตามที่ผู้ให้กู้ประกาศกำหนด โดยที่ผู้ให้กู้ไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ผู้กู้ทราบแต่อย่างใด" แสดงว่าเป็นการคิดดอกเบี้ยตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีที่กำหนดให้โจทก์มีสิทธิขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้แม้จำเลยจะมิได้ผิดนัดชำระหนี้ ดังนั้น ข้อสัญญาดังกล่าวจึงมิใช่เบี้ยปรับ แม้เมื่อสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีสิ้นสุดลงแล้ว โจทก์ก็ยังมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยแบบไม่ทบต้นในอัตราที่ตกลงตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี เพราะถือว่าจำเลยตกลงให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวมาแต่ต้นแล้ว และไม่ทำให้สภาพของดอกเบี้ยตามข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยอันมีอยู่แต่เดิมต้องแปรเปลี่ยนไปเป็นเบี้ยปรับ แต่สิทธิของโจทก์ที่จะเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยย่อมมีอยู่ก่อนถึงวันที่สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีสิ้นสุดเท่านั้น หลังจากนั้นโจทก์ไม่มีสิทธิคิดคำนวณดอกเบี้ยโดยอาศัยตามประกาศของโจทก์ดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7601/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยผิดสัญญา, การคิดดอกเบี้ยทบต้น, อัตราดอกเบี้ยตามสัญญา, การไม่ชัดแจ้งในการให้การ
คำให้การของจำเลยที่ว่า โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยก่อนวันสุดท้ายของเดือนหลายครั้งผิดไปจากข้อตกลงในสัญญา แล้วนำดอกเบี้ยไปทบเข้ากับต้นเงินกลายเป็นต้นเงินสำหรับคิดดอกเบี้ยในเดือนต่อไป จึงทำให้ยอดเงินผิดไปจากความจริง จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีทั้งสองฉบับตามฟ้อง เป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้งว่า โจทก์คิดดอกเบี้ยในเดือนใดผิดจากข้อตกลงในสัญญา คิดเป็นเงินดอกเบี้ยจำนวนเท่าใดที่ผิดไปจากความเป็นจริง อันจะทำให้เห็นว่าจำเลยต้องเสียหายเพราะโจทก์คิดคำนวณต้นเงินและดอกเบี้ยผิดจากข้อตกลงในสัญญาอย่างไรและเพียงใด ทั้ง ๆ ที่ฟ้องโจทก์แนบสำเนาใบแจ้งรายการบัญชี ซึ่งมีรายการคิดคำนวณดอกเบี้ยในแต่ละเดือนให้จำเลยทราบแล้ว จึงไม่มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัย
ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีทั้งสองฉบับจำเลยตกลงให้โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15.25 และ 16.75 ต่อปี ตามลำดับและถ้าต่อไปโจทก์ซึ่งเป็นผู้ให้กู้จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามประกาศของธนาคาร จำเลยยอมให้ปรับขึ้นได้ เมื่อสัญญาบัญชีเดินสะพัดและสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์กับจำเลยเลิกกันย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราตามประกาศของธนาคารโจทก์ คืออัตราร้อยละ 16.50 ต่อปีแบบไม่ทบต้นจนกว่าจำเลยจะชำระหนี้เสร็จ แต่เมื่อศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โจทก์พอใจมิได้อุทธรณ์ จำเลยจึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ให้แก่โจทก์นับแต่สัญญาบัญชีเดินสะพัดและสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีสิ้นสุดลง มิใช่ว่าไม่มีข้อตกลงเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยไว้ในสัญญาจึงให้ใช้อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5296/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงเบิกเกินบัญชีและอัตราดอกเบี้ย: ศาลฎีกาวินิจฉัยโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยตามข้อตกลงและประกาศ
คำขอเปิดบัญชีกระแสรายวันมีข้อตกลงว่า เป็นการเปิดบัญชีกระแสรายวันเพื่อใช้เป็นบัญชีเดินสะพัด ถ้าเงินในบัญชีของจำเลยมีไม่พอจ่ายตามเช็ค ตามปกติโจทก์จะปฏิเสธการจ่ายเงินโดยสิ้นเชิง แต่ถ้าโจทก์ยอมผ่อนผันจ่ายไป จำเลยยอมรับผูกพันตนที่จ่ายเงินส่วนที่เกินคืนโจทก์เสมือนหนึ่งได้ร้องขอเบิกเงินเกินบัญชีไว้กับโจทก์ การคิดดอกเบี้ยเงินส่วนที่เกินบัญชีดังกล่าวมีข้อตกลงว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นเป็นรายเดือนในอัตราสูงสุดที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้เรียกเก็บได้ ซึ่งขณะทำคำขอเปิดบัญชีกระแสรายวันมีประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินอื่นเรียกดอกเบี้ยได้ในอัตราตามประกาศของธนาคาร โจทก์ได้ออกประกาศของโจทก์กำหนดอัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากลูกหนี้ประเภทต่าง ๆ และออกประกาศเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยอีกหลายครั้ง โดยในกรณีของจำเลย เมื่อพิจารณาจากบัญชีกระแสรายวันของจำเลย บันทึกการคิดอัตราดอกเบี้ย และประกาศของโจทก์แล้วเห็นได้ว่า โจทก์เรียกเก็บดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราเดียวกับลูกค้าประเภทเบิกเงินเกินบัญชีเกินวงเงินและลูกค้าประเภทเบิกเงินเกินบัญชีโดยไม่มีวงเงิน ซึ่งโจทก์จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับลูกค้าทั่วไปที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไข การที่โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราดังกล่าวโดยอาศัยข้อตกลงในการขอเปิดบัญชีกระแสรายวัน ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย และประกาศของโจทก์จึงทำได้โดยชอบ
of 32