คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
อำนาจพิเศษ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 38 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 481/2492

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีและการแสดงอำนาจพิเศษในการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ แม้เป็นบริวารของจำเลย หากแสดงอำนาจพิเศษได้ คำพิพากษาไม่ผูกพัน
ศาลพิพากษาว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิในการเช่าตึกของกระทรวงการคลังจำเลยเป็นเพียงผู้อาศัยให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากตึกพิพาทในชั้นแรกผู้ร้องเป็นบริวารของจำเลย ศาลได้มีคำสั่งให้ผู้ร้องออกจากตึกเช่าของโจทก์ซึ่งเช่าจากกระทรวงการคลังในฐานะเป็นบริวารของจำเลยแล้วต่อมาถ้าปรากฏว่าผู้ร้องได้เป็นผู้เช่าตึกรายนี้จากกระทรวงการคลังแล้ว ดังนี้ ถือว่าผู้ร้องมีอำนาจพิเศษในการที่จะอยู่ในที่ดินนั้นได้ โดยไม่อาศัยอำนาจของจำเลยแล้ว ก็เป็นอันนำเอาคำพิพากษานั้นมาบังคับผู้ร้องไม่ได้ต่อไป
การบังคับขับไล่บุคคลนอกคดีนั้น จะบังคับได้ก็เฉพาะที่เป็นบริวารของจำเลยและไม่สามารถแสดงอำนาจพิเศษได้ตามมาตรา 142(1) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง แต่ถ้าผู้นั้นแสดงอำนาจพิเศษได้ว่าอยู่ในที่ดินโดยไม่ได้อาศัยอำนาจของจำเลยไม่ว่าในขณะใดแล้ว ก็จะนำเอาคำพิพากษานั้นมาบังคับผู้นั้นไม่ได้อีกต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3619/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจพิเศษครอบครองปรปักษ์ผูกพันตามคำพิพากษาเดิม การอ้างสิทธิขัดแย้งกับคดีก่อนหน้า
ผู้ร้องเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับจำเลยทั้งสี่ ผู้ร้องบรรยายคำร้องกล่าวอ้างแสดงอำนาจพิเศษและเบิกความในชั้นไต่สวนว่า ผู้ร้องครอบครองปรปักษ์ที่ดินตามที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 มาเป็นเวลากว่าสิบปีแล้ว นับแต่ ป. ละทิ้งการครอบครองไป แต่ข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้ขัดแย้งกับที่ผู้ร้องกล่าวอ้างในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 339/2551 ของศาลชั้นต้นเดียวกัน ซึ่งผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงเดียวกันนี้เฉพาะเนื้อที่ประมาณ 3 ไร่เศษ โดยการครอบครองปรปักษ์อ้างเหตุ ป. ยกที่ดินดังกล่าวให้แก่ผู้ร้อง ยิ่งไปกว่านั้นในคดีแพ่งดังกล่าว โจทก์คดีนี้ก็ได้ยื่นคำคัดค้าน ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเป็นคดีหมายเลขแดงที่ 1151/2552 วินิจฉัยว่า ผู้ร้องครอบครองที่ดินพิพาทในฐานะเป็นบริวารของ ป. และผู้ร้องมิได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 ผู้ร้องจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ พิพากษายกคำร้องของผู้ร้อง ผู้ร้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ดังนี้ คำพิพากษาในคดีดังกล่าวย่อมผูกพันคู่ความคือผู้ร้องและโจทก์ในฐานะผู้คัดค้าน นับตั้งแต่วันที่ได้พิพากษา จนถึงวันที่คำพิพากษานั้นได้ถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับหรืองดเสีย ถ้าหากมีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ข้อเท็จจริงที่ผู้ร้องยกขึ้นอ้างเพื่อสนับสนุนว่าผู้ร้องมีอำนาจพิเศษจึงรับฟังไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 211/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจพิเศษนายกฯ ตามธรรมนูญการปกครอง 2520 และความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งจำคุก
เมื่อคณะปฏิวัติได้ทำการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2520 และประกาศให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2519 ต่อมาได้มีการประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2520 เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2520 ไปพลางก่อนจนกว่าจะได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญซึ่งจะได้จัดร่างขึ้นใหม่ตามบทบัญญัติแห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรฉบับนี้ ดังนั้น ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2520 จึงเป็นกฎหมายสูงสุดที่ใช้ในการปกครองประเทศและบริหารราชการแผ่นดินในขณะนั้น
เมื่อตามธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2520 มาตรา 27 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีเห็นเป็นการจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการป้องกัน ระงับหรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนหรือทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักร ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน หรือการกระทำอันเป็นการก่อกวนหรือคุกคามความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือการกระทำอันเป็นการทำลายทรัพยากรของประเทศ หรือเป็นการบั่นทอนสุขภาพอนามัยของประชาชน ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นก่อนหรือหลังวันใช้ธรรมนูญการปกครองนี้และไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายในหรือภายนอกราชอาณาจักร ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีและของสภานโยบายแห่งชาติ มีอำนาจสั่งการหรือกระทำการใดๆ ได้ และให้ถือว่าคำสั่งหรือการกระทำของนายกรัฐมนตรีรวมทั้งการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งหรือการกระทำหรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมาย" ถ้อยคำในมาตรา 27 ที่ว่า ...ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีและของสภานโยบายแห่งชาติ มีอำนาจสั่งการหรือกระทำการใดๆ ได้" ย่อมรวมถึงการสั่งจำคุก ในเมื่อนายกรัฐมนตรีเห็นเป็นการจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักร
เมื่อปรากฏตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรีที่ 28/2521 ว่า อ. ถูกกล่าวหาว่าร่วมกับพวกมีเฮโรอีนน้ำหนัก 92 กิโลกรัมเศษ มอร์ฟีน 98 กิโลกรัมเศษ และฝิ่นสุกอีก 81 กิโลกรัมเศษ อันเป็นยาเสพติดให้โทษจำนวนมาก ถือได้ว่าเป็นการบ่อนทำลายเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ บ่อนทำลายสุขภาพอนามัยของประชาชน เป็นภัยร้ายแรงต่อประเทศชาติและประชาชน ครบองค์ประกอบความผิดที่นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นสามารถใช้อำนาจตามมาตรา 27 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2520 ด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีและสภานโยบายแห่งชาติสั่งให้จำคุกตลอดชีวิต อ. ในข้อหาร่วมกันมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และพยายามส่งออกไปนอกราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายได้ อันเป็นการใช้อำนาจโดยชอบตามที่กำหนดไว้ในธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2520 มาตรา 27 คำสั่งของนายกรัฐมนตรีที่ 28/2521 ลงวันที่ 4 ตุลาคม 2521 จึงชอบด้วยกฎหมาย
แม้การออกคำสั่งดังกล่าวมีผลเป็นการลงโทษจำกัดสิทธิเสรีภาพบุคคล ซึ่งโดยปกติจะกระทำได้โดยอาศัยคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลที่เป็นองค์กรผู้ใช้อำนาจตุลาการและมาตรา 29 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาญาจักร พ.ศ.2520 จะบัญญัติว่า "ผู้พิพากษาและตุลาการมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีให้เป็นไปตามกฎหมาย" ก็ตาม ก็ไม่ขัดหรือแย้งกันเอง และหาทำให้คำสั่งของนายกรัฐมนตรีที่ 28/2521 กลับกลายเป็นคำสั่งที่มิชอบด้วยกฎหมายไม่ ทั้งนี้เพราะการใช้อำนาจพิเศษของนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 27 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2520 เป็นการใช้อำนาจนายกรัฐมนตรีที่จะมีคำสั่งใดๆ ภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 27 ดังกล่าว ส่วนอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีของผู้พิพากษาและตุลาการสำหรับคดีที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่มีอยู่อย่างไรก็คงมีอยู่อย่างนั้น ซึ่งเป็นคนละส่วนแยกต่างหากจากอำนาจพิเศษของนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 27
กรณีไม่ถือว่าเป็นการขัดต่อประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยตามมาตรา 30 วรรคหนึ่ง แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2520 ที่บัญญัติว่า "ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งธรรมนูญการปกครองนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตย" เพราะการสั่งจำคุก อ. ในคดีนี้เป็นการสั่งโดยชอบด้วยธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2520 มาตรา 27 หาใช่เป็นกรณีไม่มีบทบัญญัติแห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรนี้ใช้บังคับไม่ ดังนั้น คำสั่งของนายกรัฐมนตรีที่ 28/2521 ลงวันที่ 4 ตุลาคม 2521 จึงชอบด้วยกฎหมาย กรณีของผู้ร้องไม่ต้องด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 90 ผู้ร้องไม่มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลให้ปล่อยตัว อ.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9186/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแสดงอำนาจพิเศษในคดีบังคับคดี: แม้พ้นกำหนดก็ยื่นได้ แต่ต้องพิสูจน์สถานะไม่ใช่บริวาร
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 จัตวา (3) บัญญัติถึงสิทธิที่จะยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลของผู้ที่อ้างว่าไม่ใช่บริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษาไว้ว่า ถ้าไม่ยื่นภายในกำหนดเวลา 8 วัน นับแต่วันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีปิดประกาศ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษา กำหนดเวลา 8 วัน ดังกล่าวเป็นเพียงระยะเวลากฎหมายสันนิษฐานถึงสถานภาพของบุคคลว่าใช่หรือไม่ใช่บริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษา แต่หาได้บังคับไว้เด็ดขาดว่าถ้าไม่ยื่นภายในกำหนดเวลาดังกล่าวแล้วจะเป็นการตัดสิทธิไม่ให้ยื่นคำร้องในภายหลัง ดังนั้น แม้จะล่วงเลยกำหนดเวลา 8 วัน นับแต่วันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีปิดประกาศแล้วผู้ร้องก็ชอบที่จะยื่นคำร้องเพื่อขอแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลได้ กรณีไม่เกี่ยวกับมาตรา 199 จัตวา ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ใช้บังคับแก่การยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่าที่ดินเป็นสินสมรสระหว่างผู้ร้องกับจำเลย ผู้ร้องตกลงให้จำเลยมีชื่อเป็นผู้ถือสิทธิในหนังสือรับรองการประโยชน์เพียงผู้เดียว และไม่เคยยินยอมให้จำเลยขายที่ดินอันเป็นสินสมรสให้แก่ ห. ก่อนมีการโอนขายกันต่อมาจนถึงโจทก์ เป็นเรื่องที่ผู้ร้องยอมให้จำเลยเป็นตัวแทนถือสิทธิในที่ดินครึ่งหนึ่งแทนผู้ร้องโดยผู้ร้องอยู่ในฐานะเป็นตัวการซึ่งมิได้เปิดเผยชื่อ ทั้ง ห. ไม่รู้ว่าจำเลยถือสิทธิในที่ดินแทนผู้ร้องครึ่งหนึ่ง ดังนั้น เมื่อจำเลยซึ่งมีชื่อเป็นผู้ถือสิทธิในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ขายที่ดินนั้นให้แก่ ห. ก็ต้องถือว่าผู้ร้องยอมให้จำเลยทำการออกหน้าเป็นตัวการขายที่ดินให้แก่ ห. ผู้ร้องจึงไม่อาจจะทำให้เสื่อมเสียถึงสิทธิของ ห. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 806 และเมื่อมีการโอนขายที่ดินกันต่อมาจนถึงโจทก์ ผู้ร้องจึงอ้างอำนาจพิเศษตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 จัตวา (3) มาใช้ยันโจทก์ไม่ได้ และต้องถือว่าผู้ร้องอยู่ในฐานะเป็นบริวารของจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 112/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด บสท. ต้องส่งคำร้องให้ลูกหนี้คัดค้านก่อน แม้มีอำนาจพิเศษตาม พ.ร.ก. บสท.
แม้ พ.ร.ก. บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย ฯ มาตรา 58 วรรคสี่ บัญญัติไว้โดยเฉพาะเป็นพิเศษให้บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) ผู้ร้องมีสิทธิดำเนินกระบวนการพิจารณากับลูกหนี้สินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงินที่ผู้ร้องรับโอนมาโดยยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้สั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดได้นอกเหนือจากหลักเกณฑ์ทั่วไปตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย ฯ แต่บทกฎหมายดังกล่าวมิได้บังคับให้ศาลต้องมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดโดยทันทีแต่อย่างใด
เมื่อปรากฏตามสำเนาหนังสือและสำเนาใบตอบรับเอกสารท้ายคำร้องแล้วว่า ก่อนยื่นคำร้องคดีนี้ผู้ร้องส่งหนังสือบอกกล่าวให้ลูกหนี้มาเสนอแนวทางในการปรับโครงสร้างหนี้กับผู้ร้องไปยังภูมิลำเนาของลูกหนี้จำนวน 2 ครั้ง มีเพียงพนักงานรักษาความปลอดภัยของอาคารเป็นผู้รับแทน ส่วนสำนักงานที่ทำการของลูกหนี้ตั้งอยู่เฉพาะชั้นที่ 6 กรณีจึงยังไม่อาจนำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาฟังยุติเพื่อให้ได้ความแน่ชัดแล้วว่าลูกหนี้ได้รับหนังสือดังกล่าวแล้วเพิกเฉยไม่ให้ความร่วมมือกับผู้ร้องในการปรับโครงสร้างหนี้โดยที่ตนอยู่ในฐานะที่จะดำเนินการได้ การที่ศาลล้มละลายกลางตรวจพิจารณาคำร้องของผู้ร้องแล้วมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดทันทีโดยมิได้กำหนดนัดไต่สวนคำร้องและส่งสำเนาคำร้องเพื่อให้โอกาสลูกหนี้ได้คัดค้านก่อนนั้น จึงไม่ชอบด้วย พ.ร.ก. บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย ฯ มาตรา 58 วรรคสี่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 859/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ: สิทธิในการยื่นคำร้องขอแสดงอำนาจพิเศษต้องมีฐานะผู้ได้รับอนุญาตหรือมีสิทธิโดยกฎหมาย
เมื่อข้อเท็จจริงฟังว่า ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 31 วรรคท้าย เป็นมาตรการที่กฎหมายกำหนดขึ้นเพื่อบังคับให้ผู้กระทำความผิดฐานบุกรุกยึดถือครอบครอง ก่อสร้าง แผ้วถาง เผาป่า หรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ ต้องออกไปจากเขตป่าสงวนแห่งชาติ เมื่อจำเลยทั้งสองต้องคำพิพากษาว่ากระทำความผิด อันทำให้รัฐได้รับคืนพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ การที่ผู้ร้องจะมีอำนาจยื่นคำร้องเพื่อแสดงอำนาจพิเศษได้นั้น ต้องปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ร้องได้รับอนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติได้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดีกรมป่าไม้กำหนด ตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 หรือมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่นบัญญัติให้สิทธิแก่ผู้ร้องในการเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติได้ เมื่อได้ความตามคำร้องของผู้ร้องว่า ผู้ร้องปลูกสร้างสิ่งปลูกสร้างในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เพียงแต่ไม่เคยถูกจับกุมดำเนินคดีหรือเคยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษและให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยผู้ร้องไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติจากอธิบดี ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอแสดงอำนาจพิเศษได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4379/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิครอบครองที่ดินพิพาท: ตัวการไม่เปิดเผยชื่อ, การซื้อโดยสุจริต, และอำนาจพิเศษตาม ป.วิ.พ.
แม้ว่าภายหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีนี้เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2556 ว่าโจทก์ซื้อที่ดินพิพาท ภ.บ.ท. 5 เลขสำรวจที่ 250 หมู่ที่ 4 ตำบลบัวชุม อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี มาจาก ส. สามีจำเลย โจทก์เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท โจทก์จึงมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทแล้วได้มีการเปลี่ยนชื่อโจทก์เป็นผู้ทำประโยชน์ในที่ดินแทนจำเลย ผู้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินเขตนิคมสหกรณ์ชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี ก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่ไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ซึ่งประชาชนอาจมีสิทธิครอบครองได้โดยการครอบครอง แม้โจทก์จะอ้างว่าโจทก์มอบให้จำเลยเข้าครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์เป็นเวลานานตั้งแต่ปี 2550 จนจำเลยแจ้งต่อหน่วยงานราชการว่าเป็นผู้ถือครองที่ดินพิพาท และนำที่ดินพิพาทไปแบ่งขายตั้งแต่ปี 2552 ถึงปี 2556 ให้ผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 ที่ 9 ถึงที่ 12 และผู้มีชื่อ จากนั้นผู้ร้องที่ 12 และผู้ร้องที่ 1 แบ่งขายที่ดินพิพาทให้ผู้ร้องที่ 6 และที่ 8 ตามลำดับ และผู้ร้องที่ 3 ที่ 14 และที่ 15 ซื้อที่ดินต่อจากผู้มีชื่อโดยโจทก์มิได้โต้แย้งคัดค้าน การกระทำของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นเรื่องตัวการไม่เปิดเผยชื่อยอมให้จำเลยผู้เป็นตัวแทนทำการออกนอกหน้าเป็นตัวการว่าเป็นผู้ถือสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท โจทก์จึงหาอาจทำให้เสื่อมเสียถึงสิทธิของผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 12 ที่ 14 และที่ 15 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่มีต่อจำเลย ซึ่งเสมือนเป็นตัวแทนของโจทก์และได้ขวนขวายได้สิทธิมาก่อนที่จะรู้ว่าจำเลยเป็นตัวแทนของโจทก์ไม่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 806 เมื่อผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 12 ที่ 14 และที่ 15 ซื้อที่ดินพิพาทมาโดยสุจริตเสียค่าตอบแทนและได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาทโดยมีเจตนายึดถือเพื่อตน ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 12 ที่ 14 และที่ 15 จึงมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทและสามารถอ้างอำนาจพิเศษตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 จัตวา (3) (เดิม) มาใช้ยันโจทก์ได้ กรณีจึงรับฟังได้ว่าผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 12 ที่ 14 และที่ 15 ไม่อยู่ในฐานะเป็นบริวารของจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6242/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษในคดีบังคับคดี: ลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่มีสิทธิ
ผู้ที่จะยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 จัตวา (3) (เดิม) ต้องเป็นบุคคลที่ไม่ใช่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษา เมื่อจำเลยเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งถูกบังคับให้ขับไล่ จึงไม่มีสิทธิกล่าวอ้างว่าเป็นผู้มีอำนาจพิเศษให้พ้นจากการถูกบังคับคดี
of 4