คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
เงินปันผล

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 36 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13936/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เงินที่ได้รับจากการชำระบัญชีห้างหุ้นส่วน ไม่ถือเป็นเงินปันผลหรือส่วนแบ่งกำไร ไม่ได้รับเครดิตภาษี
บทบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 1084 แสดงให้เห็นว่า เงินปันผลของห้างหุ้นส่วนนั้นจะต้องเป็นส่วนแบ่งจากกำไรที่ห้างหุ้นส่วนจ่ายตอบแทนให้แก่ผู้เป็นหุ้นส่วนตามส่วนแห่งการลงหุ้น ดังนี้ กำไรยังไม่ได้แบ่งหรือเหลือจากการแบ่งย่อมไม่อาจถือเป็นเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งกำไรอันจะได้รับเครดิตภาษีตาม มาตรา 47 ทวิ แห่ง ป.รัษฎากร เนื่องจาก ป.รัษฎากร มิได้บัญญัติให้เครดิตภาษีแก่กำไรทั้งหมดของห้างหุ้นส่วน แต่ให้เครดิตภาษีแก่เงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรของผู้เป็นหุ้นส่วนเพื่อเป็นการบรรเทาภาษีแก่ผู้เป็นหุ้นส่วนมิให้ต้องเสียภาษีซ้ำซ้อนกับหุ้นส่วน และสนับสนุนการลงทุนของผู้เป็นหุ้นส่วน เงินที่โจทก์ได้รับเมื่อมีการจดทะเบียนเลิกหุ้นส่วนจำนวน 66,188.86 บาท มิได้จ่ายตามหลักเกณฑ์การจ่ายเงินปันผลหรือส่วนแบ่งกำไรตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 1084 กำหนดไว้ แต่เป็นการเฉลี่ยแจกกำไรตาม ป.พ.พ. มาตรา 1062 ซึ่งจะเห็นได้ว่า การชำระบัญชีเมื่อห้างหุ้นส่วนเลิกกันนี้ กฎหมายมิได้กำหนดให้จ่ายกำไรสะสมแยกเป็นส่วนหนึ่งต่างหากออกจากทรัพย์อื่นของห้างหุ้นส่วนได้ แต่ต้องนำมารวมกันเพื่อชำระบัญชีให้เสร็จสิ้นไป โดยกำไรที่จะแจกกันในระหว่างการชำระบัญชีนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการชำระหนี้ ชดใช้เงิน และคืนทุนทรัพย์ตามลำดับไปแล้วยังมีทรัพย์เหลือ ดังนั้น กำไรที่แจกระหว่างการชำระบัญชีจึงมิใช่ผลกำไรที่ห้างหุ้นส่วนทำมาค้าได้อันจะนำมาแบ่งเป็นเงินปันผลได้อีกต่อไป ส่วนเงินที่โจทก์ได้รับมีส่วนที่เป็นกำไรจากการปรับปรุงบัญชีรวมอยู่ด้วย 9,470.49 บาท เมื่อเงินที่โจทก์ได้รับเมื่อมีการจดทะเบียนเลิกหุ้นส่วนจำกัด เป็นกำไรที่เกิดขึ้นระหว่างการชำระบัญชี จึงไม่ใช่เงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตาม มาตรา 40 (4) (ข) แห่ง ป.รัษฎากร แต่เป็นผลประโยชน์ที่ผู้เป็นหุ้นส่วนได้รับจากการที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดเลิกกัน เฉพาะส่วนที่ตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินทุนที่โจทก์ลงทุนซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) (ฉ) แห่ง ป.รัษฎากร โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ แห่ง ป.รัษฎากร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13935/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เงินปันผล vs. ส่วนแบ่งกำไรจากการชำระบัญชีห้างหุ้นส่วน: การพิจารณาเพื่อประโยชน์ทางภาษี
ป.รัษฎากร มิได้บัญญัติถึงความหมายของคำว่า เงินปันผลหรือส่วนแบ่งของกำไรไว้โดยเฉพาะการพิจารณาว่าเงินได้พึงประเมินที่โจทก์ได้รับจากห้างหุ้นส่วนจำกัด บ. เป็นเงินปันผลหรือส่วนแบ่งของกำไรหรือไม่ จึงต้องพิเคราะห์จากบทบัญญัติใน ป.พ.พ. มาตรา 1084 ที่แสดงให้เห็นว่า เงินปันผลของห้างหุ้นส่วนนั้นจะต้องเป็นส่วนแบ่งกำไรที่ห้างหุ้นส่วนจ่ายตอบแทนให้แก่ผู้เป็นหุ้นส่วนตามส่วนแห่งการลงทุนขณะที่ยังประกอบกิจการปกติยังมิได้เลิกห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ข้อเท็จจริงฟังยุติว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัด บ. ไม่แบ่งกำไรดังกล่าวจนกระทั่งจดทะเบียนเลิกห้าง ดังนี้ กำไรที่ยังไม่ได้แบ่งหรือเหลือจากการแบ่งย่อมไม่อาจถือเป็นเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไร อันจะได้รับเครดิตภาษี เงินที่โจทก์ได้รับเมื่อมีการจดทะเบียนเลิกห้างหุ้นส่วน มิได้จ่ายตามหลักเกณฑ์การจ่ายเงินปันผลหรือส่วนแบ่งกำไรตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 1084 กำหนดไว้ แต่เป็นการเฉลี่ยแจกกำไรตาม ป.พ.พ. มาตรา 1062 ดังนั้น กำไรที่แจกระหว่างการชำระบัญชีจึงมิใช่ผลกำไรที่ห้างหุ้นส่วนทำมาค้าได้ อันจะนำมาแบ่งเป็นเงินปันผลได้อีกต่อไป เงินที่โจทก์ได้รับเมื่อมีการจดทะเบียนเลิกห้างหุ้นส่วนจำกัด บ. เป็นกำไรที่เกิดขึ้นในระหว่างการชำระบัญชี จึงมิใช่เงินปันผลซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตาม มาตรา 40 (4) (ข) ป.รัษฎากร แต่เป็นผลประโยชน์ที่ผู้เป็นหุ้นส่วนได้รับจากการที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดเลิกกัน เฉพาะส่วนที่ตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินทุนที่โจทก์ลงทุน ซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตาม มาตรา 40 (4) (ฉ) แห่ง ป.รัษฎากร โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเครดิตภาษีตาม มาตรา 47 ทวิ แห่ง ป.รัษฎากร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4804/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีและการหักชำระหนี้จากเงินค่าหุ้นที่จำนำไว้ ผู้คัดค้านไม่มีสิทธิหักเงินปันผลชำระหนี้
ตามหนังสือสัญญากู้เงินพิเศษ ข้อ 10 และหนังสือสัญญากู้เงินสามัญ ข้อ 7 ดังกล่าว มีข้อความทำนองเดียวกันว่า "ข้าพเจ้ายินยอมให้นำเงินค่าหุ้นทั้งหมดที่มีอยู่ในสหกรณ์ออมทรัพย์ครูศรีสะเกษ จำกัด ทั้งหมดในขณะนี้และเงินค่าหุ้นที่จะมีเพิ่มขึ้นอีกต่อไปในภายหน้ามาจำนำกับสหกรณ์ออมทรัพย์ศรีสะเกษ จำกัด เพื่อเป็นการค้ำประกันเงินกู้ตามหนังสือนี้ และในกรณีที่หนี้ถึงกำหนดชำระตามที่กล่าวในข้อ 5 หรือหากมีการบังคับคดีใดๆ ก็ตาม ข้าพเจ้ายินยอมให้สหกรณ์โอนเงินค่าหุ้นของข้าพเจ้าที่จำนำไว้เป็นประกันนี้ชำระหนี้เงินกู้ของข้าพเจ้าที่มีอยู่ต่อสหกรณ์ออมทรัพย์ศรีสะเกษ จำกัด ได้ทันที โดยไม่ต้องนำเงินค่าหุ้นที่จำนำนี้ออกขายทอดตลาดแต่อย่างใดและให้ถือว่าในข้อนี้เป็นการจดแจ้งการจำนำหุ้นตลอดทั้งให้หนังสือกู้ฉบับนี้เป็นสมุดทะเบียนการจำนำหุ้นด้วย" ข้อตกลงดังกล่าวมีความหมายชัดเจนในเรื่องเกี่ยวกับเงินค่าหุ้น โดยจำเลยยอมให้เงินค่าหุ้นของจำเลยที่มีอยู่แล้วและที่เพิ่มขึ้นในภายหน้าเป็นจำนำแก่ผู้คัดค้านเพื่อเป็นการค้ำประกันเงินกู้ตามหนังสือสัญญากู้เงินพิเศษและหนังสือสัญญากู้เงินสามัญ รวมทั้งให้สิทธิแก่ผู้คัดค้านโอนเงินค่าหุ้นของจำเลยที่จำนำไว้ดังกล่าวชำระหนี้เงินกู้ของจำเลยที่มีต่อผู้คัดค้านได้ มิใช่เป็นข้อตกลงในเรื่องเกี่ยวกับเงินปันผลอันเป็นส่วนหนึ่งของกำไรที่ผู้คัดค้านจะต้องจ่ายแก่จำเลยผู้คัดค้านจึงไม่อาจนำเงินปันผลที่จำเลยมีสิทธิจะได้รับจากผู้คัดค้านไปหักชำระหนี้เงินกู้ที่จำเลยมีอยู่ต่อผู้คัดค้านโดยอาศัยข้อตกลงดังกล่าว เมื่อผู้คัดค้านได้รับคำสั่งอายัดเงินปันผลดังกล่าวจากเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว ผู้คัดค้านจึงไม่มีสิทธินำเงินปันผลที่จำเลยมีสิทธิจะได้รับดังกล่าวไปหักชำระหนี้ที่จำเลยมีอยู่ต่อผู้คัดค้าน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1389-1393/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ห้างหุ้นส่วนสามัญโดยไม่จดทะเบียน: สิทธิเรียกร้องเงินฝากและเงินปันผลต้องรอการชำระบัญชี
การร่วมกันก่อตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อกู้ของโจทก์ทั้งห้าสิบสอง จำเลยทั้งห้ากับราษฎรในท้องที่เป็นการตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกัน ด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทำ จึงมีลักษณะเป็นสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญโดยไม่จดทะเบียนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1012 มาตรา 1025 และมาตรา 1026 เมื่อโจทก์ทั้งห้าสิบสองอ้างว่าไม่ได้รับเงินฝากสะสมและเงินปันผลที่ครบกำหนดจ่ายและสมาชิกบางคนได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 2 ในความผิดฐานปลอมเอกสาร ย่อมถือได้ว่าเป็นการประพฤติผิดสัญญาหุ้นส่วนในสาระสำคัญจนไม่อาจดำรงการเป็นหุ้นส่วนต่อไปได้ กับเป็นเหตุที่จะเลิกห้างหุ้นส่วนและชำระบัญชีได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1057 (1) มาตรา 1061 และมาตรา 1062 แต่การที่โจทก์ทั้งห้าสิบสองฟ้องเรียกเอาเงินฝากสะสมและเงินปันผล อันมีลักษณะเป็นการคืนทุนโดยยังมิได้มีการชำระบัญชีหรือข้อตกลงให้จัดการทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนด้วยวิธีอื่นระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกัน จึงเป็นกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย โจทก์ทั้งห้าสิบสองจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหาข้อนี้เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแม้จำเลยทั้งห้ามิได้ให้การต่อสู้และไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบด้วยมาตรา 246 และมาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8796/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจอายัดเงินปันผล/เฉลี่ยคืนของสมาชิกสหกรณ์ได้ แม้ยังไม่มีมติที่ประชุมใหญ่ หากเป็นหนี้ที่มีเงื่อนไขและไม่กำหนดจำนวนแน่นอน
จำเลยที่ 1 เป็นสมาชิกของสหกรณ์ออมทรัพย์ผู้ร้องมีสิทธิที่จะได้รับเงินปันผลและเงินเฉลี่ยคืนนับแต่วันที่เข้าเป็นสมาชิกของผู้ร้อง เพียงแต่มีเงื่อนไขว่าจะต้องเป็นมติที่ประชุมใหญ่ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปีตามข้อบังคับของผู้ร้อง สิทธิเรียกร้องดังกล่าวที่จำเลยที่ 1 มีต่อผู้ร้องจึงเป็นหนี้ที่มีเงื่อนไขและไม่ได้กำหนดจำนวนไว้แน่นอนซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจอายัดได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 311 วรรคสาม คำสั่งเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ให้ผู้ร้องส่งเงินดังกล่าวภายใน 1 วัน นับแต่วันที่ผู้ร้องอนุมัติให้จ่ายเงินจึงมิได้เป็นการฝ่าฝืนเงื่อนไขข้อบังคับของผู้ร้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 57/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในการหักเงินปันผล/เฉลี่ยคืนชำระหนี้: ข้อจำกัดตามกฎหมายสหกรณ์และหลักกฎหมายทั่วไป
เงินปันผลและเงินเฉลี่ยคืนเป็นเงินที่ผู้ร้องจ่ายให้แก่จำเลย ไม่ใช่เงินอื่นใดที่หน่วยงานของรัฐ สถานประกอบการ หรือหน่วยงานอื่นใดในฐานะนายจ้างที่จำเลยปฏิบัติหน้าที่อยู่จ่ายให้แก่จำเลยตามความในมาตรา 42/1 แห่ง พ.รบ.สหกรณ์ พ.ศ.2542
ข้อตกลงตามสัญญากู้ที่จำเลยยินยอมให้ผู้ร้องหักเงินจากบัญชีเงินฝากของจำเลยชำระหนี้เงินกู้ที่จำเลยมีต่อผู้ร้อง มิใช่เป็นข้อตกลงในเรื่องเกี่ยวกับเงินปันผลหรือเงินเฉลี่ยคืน ผู้ร้องจึงไม่อาจนำเงินปันผลและเงินเฉลี่ยคืนที่จำเลยมีสิทธิได้รับจากผู้ร้องไปหักชำระหนี้ที่จำเลยมีต่อผู้ร้องโดยอาศัยข้อตกลงดังกล่าวได้
การขอให้นำเงินปันผลและเงินเฉลี่ยคืนมาหักชำระหนี้ได้กระทำภายหลังจากที่ผู้ร้องได้รับหนังสืออายัดเงินปันผลและเงินเฉลี่ยคืนปี 2561 จากเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว ผู้ร้องจึงไม่อาจหักเงินดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 316 วรรคสอง
หนี้ที่จำเลยมีต่อผู้ร้องเป็นเพียงหนี้กู้ยืมไม่ใช่หนี้บุริมสิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 322 และมาตรา 324 ผู้ร้องจึงไม่ใช่เจ้าหนี้บุริมสิทธิเหนือเงินปันผลและเงินเฉลี่ยคืนของจำเลยในอันที่จะนำไปหักชำระหนี้ให้แก่ผู้ร้องก่อน
of 4