คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ค่าปรับ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 401 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8586/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีค่าปรับหลังได้รับอภัยโทษ: การยึดทรัพย์สินยังชอบด้วยกฎหมาย แม้ได้รับอภัยโทษในส่วนโทษกักขัง
ตามบทบัญญัติของกฎหมาย ผู้ใดต้องโทษปรับตามคำพิพากษาของศาล และไม่ชำระค่าปรับภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลพิพากษา ผู้นั้นจะต้องถูกยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับหรือมิฉะนั้นจะต้องถูกกักขังแทนค่าปรับตาม ป.อ. มาตรา 29 (เดิม) เมื่อจำเลยมิได้ชำระค่าปรับ การที่ศาลชั้นต้นออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีและเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินของจำเลยเพื่อบังคับเป็นค่าปรับจึงเป็นการดำเนินการไปตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ส่วนที่จำเลยได้รับพระราชทานอภัยโทษ ตาม พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2558 มาตรา 5 บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวเป็นการพระราชทานอภัยโทษแก่นักโทษเด็ดขาด ในกรณีที่ผู้นั้นยังไม่ได้รับโทษกักขังแทนโทษจำคุก หรือยังไม่ได้ถูกกักขังแทนค่าปรับให้ได้รับการปล่อยตัวไปโดยไม่ต้องรับโทษเท่านั้น แต่ทั้งนี้ไม่รวมถึงการยึดทรัพย์สินของผู้นั้นเพื่อนำมาขายทอดตลาดชำระเป็นค่าปรับด้วย การยึดทรัพย์สินเพื่อบังคับเป็นค่าปรับจึงมิได้รับการพระราชทานอภัยโทษไปแต่อย่างใด ส่วนการบังคับโทษปรับตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 21 แม้จะเป็นกฎหมายที่ออกมาใช้บังคับภายหลังจากคดีของจำเลยถึงที่สุดแล้วก็ตามก็เป็นเพียงการกำหนดแนวทางหรือวิธีปฏิบัติในการบังคับโทษปรับให้ชัดเจนขึ้น โดยให้พนักงานอัยการร้องขอต่อศาลให้ออกหมายบังคับคดี กับให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม โดยให้สำนักงาน ป.ป.ส. มีอำนาจตรวจสอบทรัพย์สินและให้ถือเป็นเจ้าหนี้คำพิพากษาเท่านั้น กรณีหาใช่เป็นการนำกฎหมายย้อนหลังมาบังคับแก่ทรัพย์สินของจำเลยทำให้จำเลยไม่ได้รับความเป็นธรรมไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 416/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีกับเด็กและเยาวชน: ห้ามกักขังแทนค่าปรับ แต่ให้ฝึกอบรม
พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 145 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในกรณีเด็กหรือเยาวชนต้องโทษปรับ... ห้ามมิให้ศาลสั่งกักขังเด็กหรือเยาวชนแทนค่าปรับ แต่ให้ศาลส่งตัวไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมในสถานที่ที่กำหนดไว้..." และวรรคสอง บัญญัติว่า "ในกรณีที่เด็กหรือเยาวชนต้องโทษปรับ แต่ไม่มีเงินชำระค่าปรับ ให้นำบทบัญญัติมาตรา 30/1 มาตรา 30/2 และมาตรา 30/3 แห่งประมวลกฎหมายอาญา มาใช้บังคับโดยอนุโลม" จากบทบัญญัติดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า กรณีเด็กหรือเยาวชนต้องโทษปรับ ไม่ให้มีการกักขังแทนค่าปรับ คงให้ส่งไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมเท่านั้น ซึ่งเป็นบทบัญญัติเฉพาะและเป็นข้อยกเว้น ป.อ. มาตรา 29 ที่ให้กักขังแทนค่าปรับ หรือยึดทรัพย์สิน อายัดสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินเพื่อใช้ค่าปรับ ซึ่งเป็นบททั่วไปเพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิ สวัสดิภาพ และวิธีปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชนให้สามารถที่จะดำเนินชีวิตต่อไปได้และกลับคืนสู่สังคมในสภาพที่ดีขึ้น เมื่อการบังคับคดีตามคำพิพากษาเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนเสร็จสิ้น โดยจะเห็นได้จากวรรคสองแห่งมาตรา 145 ดังกล่าว ที่ให้นำมาตรา 30/1 มาตรา 30/2 และมาตรา 30/3 แห่ง ป.อ. มาใช้โดยอนุโลมเท่านั้น มิได้กล่าวถึงมาตรา 29 แห่ง ป.อ. แต่ประการใด โจทก์ไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ออกหมายยึดทรัพย์สินหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลยใช้ค่าปรับตามคำพิพากษาในกรณีที่จำเลยเป็นเด็กหรือเยาวชนกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 29 วรรคหนึ่ง
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 11/2560)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2757/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกำหนดโทษทางอาญาและค่าปรับจาก พ.ร.บ.ศุลกากรเดิมและใหม่ ศาลใช้กฎหมายที่เป็นคุณแก่จำเลย
การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองฐานพยายามส่งของออกไปนอกราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดอันเกี่ยวกับของนั้นเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 และ พ.ร.บ.การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ.2522 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง, 20 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทต้องลงโทษตามกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 เมื่อ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 มีระวางโทษสำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ ให้ปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือทั้งปรับทั้งจำ โดยความผิดฐานนี้ไม่ว่าจะเป็นพยายามกระทำความผิดหรือกระทำความผิดสำเร็จ กฎหมายกำหนดโทษไว้เท่ากัน และตาม พ.ร.บ.การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ.2522 มาตรา 20 วรรคหนึ่ง มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับห้าเท่าของสินค้าที่ส่งออกหรือนำเข้า หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยไม่ได้บัญญัติการพยายามกระทำความผิดต้องระวางโทษเช่นเดียวกับความผิดสำเร็จ จึงต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นตาม ป.อ. มาตรา 80 ศาลจึงลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองตาม พ.ร.บ.การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้าฯ มาตรา 20 วรรคหนึ่ง ได้เพียง 6 ปี 8 เดือน โทษจำคุกตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 จึงเป็นโทษหนักกว่าความผิดฐานนี้ จึงต้องลงโทษตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มี พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 3 ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 โดย พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 244 บัญญัติให้การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองตามฟ้องฐานพยายามส่งออกไปนอกราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดอันเกี่ยวกับของนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แตกต่างกับโทษตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ซึ่งบัญญัติให้ลงโทษสำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ ปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือทั้งปรับทั้งจำ โดยความผิดฐานนี้ไม่ว่าจะเป็นพยายามกระทำความผิด หรือกระทำความผิดสำเร็จ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 244 กำหนดโทษไว้เท่ากัน เมื่อโทษจำคุกตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 และ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 244 มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี เท่ากัน แต่คดีนี้เมื่อคำนวณปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งรวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว เป็นเงิน 5,410,932 บาท โทษปรับตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 244 ซึ่งปรับไม่เกิน 500,000 บาท จึงเป็นคุณแก่จำเลยทั้งสองมากกว่าโทษปรับตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด การกำหนดโทษปรับจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 ดังกล่าว ต้องกำหนดให้จำเลยทั้งสองรับผิดค่าปรับในลักษณะรวมกันตามบทบัญญัติ มาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 อันเป็นการใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยทั้งสองไม่ว่าในทางใดตาม ป.อ. มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5305/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีชำระค่าปรับหลังได้รับอภัยโทษกักขัง: โทษปรับยังคงมีอยู่
จำเลยเป็นนักโทษเด็ดขาดและยังไม่ได้ถูกกักขังแทนค่าปรับก่อนที่ พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2558 ใช้บังคับ ซึ่งมาตรา 5 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.ฎ. ดังกล่าว บัญญัติว่า "ผู้ต้องโทษดังต่อไปนี้ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไป (1) ผู้ต้องขัง..." และมาตรา 5 วรรคสอง บัญญัติว่า "กรณีผู้ต้องกักขังตามวรรคหนึ่ง (1) ซึ่งเป็นนักโทษเด็ดขาดและยังไม่ได้รับโทษกักขังแทนโทษจำคุกหรือยังไม่ได้ถูกกักขังแทนค่าปรับ ให้ผู้ต้องกักขังนั้นได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไปในส่วนของโทษกักขังแทนโทษจำคุกหรือในส่วนของกักขังแทนค่าปรับแล้วแต่กรณี" ดังนั้น จำเลยจึงได้รับประโยชน์ตามมาตรา 5 วรรคสอง แห่ง พ.ร.ฎ. ดังกล่าว เฉพาะในส่วนที่ไม่ต้องถูกกักขังแทนค่าปรับหากจำเลยยังไม่ชำระค่าปรับ พ.ร.ฎ. ดังกล่าวไม่ได้ให้จำเลยพ้นจากโทษปรับด้วย โทษปรับตามคำพิพากษาของจำเลยยังคงมีอยู่ เมื่อจำเลยไม่ชำระค่าปรับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ถึงที่สุด โจทก์จึงขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดียึดหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 776/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การได้รับยกเว้นโทษอาญาจากคำสั่ง คสช. 6/2562 หลังปรับปรุงระบบความปลอดภัยโรงแรม และสิทธิขอคืนค่าปรับ
จำเลยกระทำความผิดฐานประกอบธุรกิจโรงแรมโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ภายหลังคดีถึงที่สุด เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2562 ได้มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 6/2562 กำหนดไว้ในข้อ 2 (1) ของคำสั่งดังกล่าว ให้ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมซึ่งใช้อาคารในการประกอบธุรกิจโรงแรมอยู่ในวันก่อนที่คำสั่งนี้มีผลใช้บังคับ และอาคารนั้นมีลักษณะเป็นการฝ่าฝืนประกอบธุรกิจโรงแรมโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามมาตรา 15 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.โรงแรม พ.ศ. 2547 ไปแจ้งให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นทราบถึงการฝ่าฝืนและดำเนินการปรับปรุงระบบความปลอดภัยด้านอัคคีภัยให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวงฉบับที่ 47 (พ.ศ. 2540) ออกตามความใน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 แล้วติดตั้งเครื่องดับเพลิงแบบมือถือ 1 เครื่อง ต่อพื้นที่อาคารไม่เกิน 200 ตารางเมตร ทุกระยะไม่เกิน 30 เมตร แต่ไม่น้อยกว่าชั้นละ 2 เครื่อง ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่คำสั่งมีผลใช้บังคับ พร้อมทั้งยื่นเอกสารหรือหลักฐานเพื่อประกอบการตรวจสอบ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยประกาศกำหนด จำเลยได้แจ้งให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นทราบถึงการฝ่าฝืนประกาศกระทรวงมหาดไทยแล้ว และสถานที่ประกอบกิจการของจำเลยได้ดำเนินการแก้ไขตามอาคารที่มีลักษณะตามข้อ 2 วรรคหนึ่ง ของคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาตินี้ถูกต้องเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติดังกล่าว ข้อ 4 กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมซึ่งผ่านการตรวจสอบจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นแล้ว ได้รับยกเว้นโทษอาญาสำหรับความผิดตามข้อ 2 ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ได้รับหนังสือแจ้งผลการตรวจสอบจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น ดังนี้ ถือว่ากรณีเป็นเรื่องที่มีกฎหมายบัญญัติในภายหลังบัญญัติให้การกระทำของจำเลยไม่ต้องรับโทษ จำเลยจึงพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง
กรณีของจำเลยต้องตามบทบัญญัติของ ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า ถ้าตามบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป ให้ผู้ที่ได้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด และถ้าได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษแล้ว ก็ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดนั้น ถ้ารับโทษอยู่ก็ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลง ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวได้แยกผลของการกระทำความผิดและการบังคับโทษตามคำพิพากษาที่ถึงที่สุดแล้วจากกันต่างหาก กล่าวคือ ในส่วนของการบังคับตามคำพิพากษาที่ถึงที่สุดนั้นหากมีส่วนใดที่ยังค้างอยู่ระหว่างการบังคับ ก็ให้การบังคับนั้นสิ้นสุดลง ไม่มีการบังคับในส่วนที่ค้างอยู่อีกต่อไปเท่านั้น หาได้มีผลให้รื้อฟื้นการบังคับโทษที่เสร็จสิ้นไปแล้วขึ้นมาพิจารณาใหม่อีกแต่อย่างใด โทษที่ได้รับมาแล้วต้องถือว่ายุติไปตามผลของคำพิพากษา ดังนั้น ค่าปรับที่จำเลยได้ชำระไปตลอดระยะเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นถือว่าการบังคับโทษปรับในส่วนนั้นเสร็จสิ้นแล้ว จำเลยจึงไม่อาจถอนคืนได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3189/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ โทษกักขังแทนค่าปรับสิ้นสุดเมื่อได้รับพระราชทานอภัยโทษ การบังคับคดีเรียกค่าปรับจึงไม่ชอบ
การกักขังเป็นโทษประการหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 18 และตามมาตรา 29 มาตรา 29/1 และมาตรา 30 แห่ง ป.อ. กำหนดให้ผู้ต้องโทษปรับต้องชำระค่าปรับภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ศาลพิพากษา หากมิได้มีการชำระค่าปรับภายในกำหนดเวลานั้น ผู้ต้องโทษปรับจะถูกยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินเพื่อใช้ค่าปรับ หรือมิฉะนั้นอาจถูกกักขังแทนค่าปรับ ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นลงโทษปรับ โดยหากไม่ชำระค่าปรับให้กักขังจำเลยมีกำหนด 1 ปี แทนค่าปรับ 3,837,025 บาท และจำเลยไม่มีเงินชำระค่าปรับจนต้องรับโทษกักขัง จึงเป็นกรณีที่โทษเดิมตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งเป็นโทษปรับ ได้เปลี่ยนไปเป็นโทษกักขังจำเลยมีกำหนดระยะเวลา 1 ปี แทน เพราะหากจำเลยถูกกักขังครบ 1 ปี โทษตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นย่อมสิ้นสุดลง ไม่มีโทษปรับที่จะต้องถูกบังคับอีกต่อไป ต่อมาเมื่อมี พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2562 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ผู้ต้องโทษดังต่อไปนี้ ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไป (1) ผู้ต้องกักขัง..." ดังนั้น จำเลยซึ่งเป็นนักโทษเด็ดขาดและเป็นผู้ต้องกักขังแล้วตามคำสั่งของศาลชั้นต้น จึงเป็นกรณีตามมาตรา 5 วรรคหนึ่ง (1) หาใช่นักโทษเด็ดขาดซึ่งยังไม่ได้รับโทษกักขังแทนโทษจำคุกหรือยังไม่ได้ถูกกักขังแทนค่าปรับให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไปโดยไม่ต้องรับโทษไม่ แต่ไม่รวมถึงการยึดหรืออายัดสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินของผู้นั้นเพื่อนำออกขายทอดตลาดชำระเป็นค่าปรับด้วยตามมาตรา 5 วรรคสอง ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัย และถือได้ว่า โทษกักขังในส่วนที่เหลืออยู่ซึ่งจำเลยจะต้องรับเป็นอันสิ้นสุดลงตามผลของกฎหมาย โทษตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นจึงสิ้นสุดลง ไม่แตกต่างจากการที่จำเลยถูกกักขังครบ 1 ปี จึงไม่มีโทษปรับที่จำเลยจะต้องถูกบังคับอีกต่อไป การที่ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีเพื่อบังคับโทษปรับ และยกคำร้องของจำเลยที่ขอให้เพิกถอนหมายบังคับคดี จึงเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1547/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าปรับสัญญาจ้างก่อสร้าง: การยินยอมเสียค่าปรับโดยไม่มีเงื่อนไขทำให้สิทธิในการเรียกร้องลดเบี้ยปรับขาดอายุตามกฎหมาย
จำเลยหักเงินค่าจ้างของโจทก์ชำระค่าปรับรายวันในการส่งมอบงานล่าช้าตามสัญญาจ้าง แม้จะได้ความว่าโจทก์เคยทำหนังสือร้องขอให้จำเลยทบทวนแก้ไขสัญญาจ้าง กรณีกำหนดอัตราค่าปรับเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด แต่ไม่อาจรับฟังได้ว่าเป็นการโต้แย้งไม่ยินยอมให้จำเลยนำค่าปรับรายวันและค่าเสียหายตามสัญญาจ้างหักออกจากเงินค่าจ้างของโจทก์ จำเลยดำเนินการเกี่ยวกับการพัสดุโดยใช้ข้อบังคับของจำเลยและระเบียบซึ่งกำหนดเรื่องค่าปรับรายวันตามสัญญาจ้าง เมื่อโจทก์ทราบอัตราค่าปรับรายวันอัตราร้อยละ 0.20 ของจำนวนค่าจ้างก่อนทำการประมูลงาน เท่ากับว่าโจทก์ยอมรับข้อกำหนดในเรื่องค่าปรับรายวันในอัตราดังกล่าว จึงไม่มีเหตุที่จะปรับลดค่าปรับรายวันให้แก่โจทก์ การที่โจทก์รับเงินค่าจ้างส่วนที่เหลือหลังจากหักค่าปรับรายวันและค่าเสียหายต่าง ๆ จากจำเลยโดยไม่ได้โต้แย้ง ย่อมถือว่าโจทก์ได้ใช้เงินค่าปรับหรือเบี้ยปรับแก่จำเลยแล้ว สิทธิเรียกร้องขอลดเบี้ยปรับจึงเป็นอันขาดไปตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4447/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาต้องห้าม เนื่องจากเป็นการโต้เถียงดุลพินิจศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ และการขอผ่อนผันชำระค่าปรับเป็นอำนาจศาลชั้นต้น
คดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยฐานช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำหรือรับไว้โดยประการใด ซึ่งของอันตนรู้ว่านำเข้ามาในราชอาณาจักรที่ยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 246 วรรคหนึ่ง โดยปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรแล้ว จำนวน 2,743,672 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงปรับ 1,371,836 บาท ริบของกลาง ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน จึงเป็นคดีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืนตามศาลล่างให้จำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับ ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาขอให้ลดโทษปรับนั้น เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการกำหนดโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 9 เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ส่วนที่จำเลยฎีกาขอผ่อนชำระค่าปรับนั้น เห็นว่า การบังคับชำระค่าปรับเป็นกระบวนการในการบังคับคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลชั้นต้น ซึ่งจำเลยยังมิได้มีคำขอให้ศาลชั้นต้นเพื่อพิจารณาสั่ง จึงยังไม่มีเหตุที่จะฎีกาในเรื่องนี้ ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยมานั้นเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 961/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเรียกร้องค่าบริการสาธารณะ, ดอกเบี้ยผิดนัด, ค่าปรับ, การบังคับตามสัญญา, และการปรับอัตราดอกเบี้ยตาม พรบ.แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่ง
ค่าบำรุงรักษาสาธารณูปโภคเป็นคนละส่วนกับค่าใช้บริการและค่าบำรุงรักษาบริการสาธารณะ ดังที่ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 4 นิยามคำว่า "สาธารณูปโภค" กับคำว่า "บริการสาธารณะ" แยกจากกัน การบำรุงรักษาสาธารณูปโภคให้คงสภาพดังเช่นที่ได้จัดทำขึ้นเป็นหน้าที่ของผู้จัดสรรที่ดินตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515 ข้อ 30 และ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 43 ผู้จัดสรรที่ดินจะพ้นจากความรับผิดเมื่อดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา 44 หากมีการทำข้อตกลงที่เป็นการผลักภาระความรับผิดในค่าบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคไปให้แก่ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรก่อนที่จะมีการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา 44 ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการขัดต่อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 แต่ในส่วนบริการสาธารณะ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 30 และ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 43 และมาตรา 44 ไม่ได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ของผู้จัดสรรที่ดินที่จะต้องรับผิดชอบเหมือนดังเช่นสาธารณูปโภค ประกอบกับผู้ซื้อที่ดินจัดสรรได้รับประโยชน์จากบริการสาธารณะซึ่งเป็นบริการหรือสิ่งอำนวยความสะดวกในโครงการจัดสรรที่ดินโดยตรง ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรย่อมมีหน้าที่รับผิดชอบในค่าบริการสาธารณะ ข้อตกลงที่ให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรรับผิดในค่าบริการสาธารณะจึงบังคับกันได้ ไม่ตกเป็นโมฆะ เมื่อคดีนี้โจทก์มีคำขอให้จำเลยชำระค่าบริการส่วนกลางที่ค้างชำระ แม้คำฟ้องบางช่วงบางตอนจะใช้ถ้อยคำว่า โจทก์จัดทำสาธารณูปโภคในพื้นที่ส่วนกลาง ค่าบริการสาธารณูปโภคส่วนกลาง แต่โจทก์ก็บรรยายฟ้องและมีพยานมาสืบโดยยกตัวอย่างถึงบริการส่วนกลางที่ดำเนินการ เช่น การจัดให้มีไฟทางส่องสว่างภายในหมู่บ้าน การจัดให้มีพนักงานรักษาความปลอดภัยในการเข้าออกหมู่บ้าน ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบริการสาธารณะ
เมื่อจำเลยชำระค่าบริการสาธารณะเรื่อยมา จนกระทั่งเดือนพฤษภาคม 2555 พฤติการณ์บ่งชี้ว่าโจทก์และจำเลยมีข้อตกลงเกี่ยวกับการจัดเก็บค่าบริการสาธารณะระหว่างกัน แม้โจทก์ไม่ได้อ้างส่งสัญญาหรือข้อตกลงเป็นพยานหลักฐาน กรณีรับฟังได้ว่า โจทก์กับจำเลยมีข้อตกลงเกี่ยวกับการเรียกเก็บค่าบริการสาธารณะ ส่วนที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดินตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 แม้ต่อมามีการตรา พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 ขึ้นใช้บังคับให้ยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 แต่มาตรา 69 พระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติให้ใบอนุญาตหรือการอนุญาตใด ๆ ที่ให้ไว้ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ให้ถือว่าเป็นใบอนุญาตและการอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ มาตรา 70 วรรคสอง บัญญัติว่า การบำรุงรักษาบริการสาธารณะ ให้นำมาตรา 53 มาใช้บังคับแก่การจัดสรรที่ดินตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ด้วยโดยอนุโลม ซึ่งมาตรา 53 ก็บัญญัติให้นำความมาตรา 50 มาบังคับใช้โดยอนุโลม ทั้งนี้ ให้เรียกเก็บค่าใช้บริการและค่าบำรุงรักษาบริการสาธารณะได้ตามอัตราที่คณะกรรมการจัดสรรที่ดินกรุงเทพมหานครให้ความเห็นชอบ แต่อย่างไรก็ตามแม้โจทก์ไม่ได้ยื่นขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกรุงเทพมหานคร ก็ไม่ใช่เหตุที่จำเลยจะหลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้ค่าบริการสาธารณะโดยไม่ต้องเสียค่าบริการ ทั้งหากศาลไม่รับบังคับหนี้ค่าบริการสาธารณะย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อสภาพความเป็นอยู่และความสงบสุขโดยรวมของผู้ที่อยู่อาศัยในโครงการที่ดินจัดสรรที่มิได้จัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร เมื่อคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาล ศาลย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจกำหนดค่าบริการสาธารณะให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์ในอัตราที่เหมาะสมได้เช่นเดียวกับการกำหนดค่าเสียหายคดีแพ่งทั่วไป
ตามคำฟ้องไม่ปรากฏข้อตกลงกำหนดเวลาชำระค่าบริการสาธารณะที่จำเลยต้องชำระรายเดือนเมื่อใด จะต้องถือว่าจำเลยผิดนัดเมื่อครบกำหนดเวลาตามคำบอกกล่าวทวงถามแล้วไม่ชำระตาม ป.พ.พ. มาตรา 203 ได้ความว่าโจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระค่าบริการสาธารณะภายใน 15 วัน นับแต่วันที่จำเลยได้รับคำบอกกล่าว แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าจำเลยได้รับเมื่อใด จึงไม่อาจกำหนดวันเริ่มต้นคิดดอกเบี้ยผิดนัดให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์ก่อนฟ้องได้ เห็นสมควรกำหนดให้จำเลยรับผิดในดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป
ระเบียบคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกรุงเทพมหานคร ข้อ 4 กำหนดอัตราค่าปรับกรณีที่เจ้าของที่ดินแปลงย่อยในโครงการจัดสรรที่ดินชำระเงินค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคล่าช้ากว่าเวลาที่กำหนดว่าต้องไม่เกินร้อยละสิบของจำนวนเงินค้างชำระ เมื่อนำมาใช้บังคับโดยอนุโลมแก่การชำระค่าบริการสาธารณะล่าช้ากรณียังไม่มีการจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรมีความหมายเพียงว่าผู้จัดสรรที่ดินและผู้ซื้อที่ดินจัดสรรอาจตกลงให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรชำระค่าปรับล่าช้าได้ เมื่อไม่ปรากฏข้อตกลงดังกล่าวระหว่างโจทก์และจำเลย กรณีจึงไม่ต้องด้วยระเบียบคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกรุงเทพมหานครฉบับดังกล่าวอันจะทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกค่าปรับจากค่าบริการสาธารณะที่จำเลยค้างชำระตามฟ้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2591/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีพืชกัญชา: กฎหมายใหม่ทำให้ความผิดหมดอายุ และค่าปรับไม่คืน
การที่จำเลยได้ชำระค่าปรับแก่ศาลไว้ แต่ต่อมามีกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด จำเลยมีสิทธิขอคืนเงินค่าปรับหรือไม่นั้น กรณีของจำเลยต้องตามบทบัญญัติของ ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า ถ้าตามบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป ให้ผู้ที่ได้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด และถ้าได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษแล้ว ก็ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดนั้น ถ้ารับโทษอยู่ก็ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลง บทบัญญัติดังกล่าวได้แยกผลการกระทำความผิดและการบังคับโทษตามคำพิพากษาที่ถึงที่สุดแล้วจากกันต่างหาก กล่าวคือ ในส่วนของการบังคับตามคำพิพากษาที่ถึงที่สุดนั้น หากมีส่วนใดที่ยังค้างอยู่ระหว่างการบังคับก็ให้การบังคับนั้นสิ้นสุดลง ไม่มีการบังคับในส่วนที่ค้างอยู่ต่อไปเท่านั้น หาได้มีผลให้รื้อฟื้นการบังคับโทษที่เสร็จสิ้นไปแล้วขึ้นมาพิจารณาใหม่อีกแต่อย่างใด โทษที่ได้รับมาแล้วต้องถือว่ายุติไปตามผลของคำพิพากษา ดังนั้น ค่าปรับที่จำเลยชำระไปตามคำพิพากษาจนครบถ้วนแล้วจึงถือว่าการบังคับโทษปรับเสร็จสิ้นแล้ว ไม่อาจถอนคืนได้ จำเลยไม่มีสิทธิขอคืนเงินค่าปรับ
of 41