คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ธนาคาร

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 399 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 360/2563

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2958/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ธนาคารประมาทเลินเล่อจ่ายเช็คปลอม, โจทก์ละเลยการตรวจสอบ, ศาลลดค่าเสียหาย
จำเลยประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์อันเป็นกิจการที่ประชาชนให้ความไว้วางใจย่อมต้องใช้ความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความละเอียดรอบคอบ การที่พนักงานของจำเลยจ่ายเงินตามเช็คพิพาทซึ่งมีลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายปลอมและผิดเงื่อนไขการสั่งจ่ายเช็ค จึงเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ถือว่าจำเลยผิดสัญญาฝากทรัพย์ จำเลยจะยกข้ออ้างว่า พนักงานของจำเลยโทรศัพท์สอบถามผู้จัดการของโจทก์เกี่ยวกับการลงลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเกินจำนวน และยกพฤติการณ์ในการเก็บรักษาเช็คพิพาทว่าเกิดจากความประมาทเลินเล่อของโจทก์ ตลอดจนอ้างว่าโจทก์ผู้รับรองการถอนเงินตามเช็คเป็นการรับสภาพหนี้ ขึ้นอ้างเป็นข้อยกเว้นว่าโจทก์ตกอยู่ในฐานะผู้ต้องตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเช็คปลอมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1008 วรรคหนึ่ง ตอนท้าย เพื่อให้จำเลยหลุดพ้นความรับผิดหาได้ไม่ แต่พฤติการณ์ที่โจทก์มอบให้ผู้จัดการของโจทก์เป็นผู้เก็บรักษาสมุดเช็คของโจทก์ไว้ผู้เดียว ซึ่งไม่ชอบด้วยข้อบังคับของโจทก์ที่ให้คณะกรรมการของโจทก์เก็บรักษาสมุดเช็คโจทก์ และการยอมให้กรรมการผู้มีอำนาจบางคนลงลายมือชื่อในเช็คไว้ล่วงหน้าทั้งการสั่งจ่ายเช็คพิพาทซึ่งเป็นเงินจำนวนมากกลับจ่ายเป็นเช็คผู้ถือ โดยไม่ระบุชื่อผู้รับเงินและไม่ขีดคร่อมเช็คตามข้อบังคับของโจทก์รวมทั้งไม่ตรวจสอบรายการเดินบัญชีกระแสรายวันที่จำเลยส่งให้ทราบทุกเดือน จนทำให้มีผู้นำเช็คพิพาทไปเรียกเก็บเงินจากบัญชีโจทก์ถึง 44 ฉบับ ในช่วงระยะเวลา 1 ปี 4 เดือน ย่อมเป็นพฤติการณ์ที่ถือได้ว่า โจทก์มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายไม่ยิ่งหย่อนกว่าจำเลยด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5168/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของธนาคารจ่ายเช็คปลอม แม้มีข้อตกลงจำกัดความรับผิด
กรณีนี้ศาลอุทธรณ์ได้นำพฤติการณ์ที่โจทก์มีส่วนประมาทร่วมด้วยมาวินิจฉัยลดความรับผิดตามจำนวนเงินในเช็คปลอมให้จำเลยชดใช้ลงไปแล้ว ประเด็นข้อนี้โจทก์ไม่ได้ฎีกา คดีจึงไม่ต้องวินิจฉัยว่า โจทก์มีส่วนประมาทด้วยหรือไม่อีก
รายงานการตรวจพิสูจน์ของผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่าลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายในเช็คพิพาทมีคุณสมบัติการเขียนรูปลักษณะลายมือชื่อแตกต่างกันกับที่ปรากฏในการ์ดตัวอย่างลายมือชื่อ การที่จำเลยจ่ายเงินตามเช็คปลอมให้ อ. เบิกถอนเงินไปจากบัญชีของโจทก์ จึงเกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของพนักงานจำเลยด้วย ถือว่าจำเลยจ่ายเงินตามเช็คพิพาทและหักบัญชีกระแสรายวันเอาแก่โจทก์โดยละเมิด แม้จะมีข้อตกลงตามคำขอเปิดบัญชีกระแสรายวันว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดในการจ่ายเงินตามเช็คในกรณีที่โจทก์ประมาทเลินเล่อในการเก็บรักษาเช็ค เป็นเหตุให้บุคคลอื่นได้เช็คไปและมีผู้ปลอมลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายนำมาเบิกเงินจากจำเลยก็ตาม จำเลยก็จะยกข้อตกลงดังกล่าวขึ้นอ้างเป็นข้อยกเว้นว่าโจทก์ตกอยู่ในฐานเป็นผู้ต้องตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาทปลอม เป็นข้อต่อสู้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1008 วรรคหนึ่ง เพื่อให้จำเลยหลุดพ้นความรับผิดฐานละเมิดต่อโจทก์หาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2905/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยเกินอัตรา-ประกอบธุรกิจคล้ายธนาคาร: จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา แม้มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ใหม่
ปัญหาว่าโจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายที่มีอำนาจร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์หรือไม่ เป็นเรื่องเฉพาะตัวของโจทก์ร่วม เมื่อความผิดตามฟ้องมิใช่ความผิดต่อส่วนตัวที่พนักงานสอบสวนจะมีอำนาจสอบสวนต่อเมื่อมีคำร้องทุกข์ของผู้เสียหาย การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ด้วยเหตุผลว่าโจทก์ร่วมไม่ใช่ผู้เสียหายย่อมไม่กระทบอำนาจฟ้องของโจทก์แต่อย่างใด โจทก์จึงไม่มีสิทธิฎีกาในปัญหาเกี่ยวกับการเข้าร่วมเป็นโจทก์ของโจทก์ร่วม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1802/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ธนาคารมีหน้าที่ดูแลลูกค้า การโอนเงินผิดพลาดถือเป็นการละเมิด ธนาคารต้องรับผิดชอบความเสียหาย
จำเลยประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ การจัดให้มีพนักงานดูแลลูกค้ารายใหญ่ด้วยการอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าที่ต้องการทำธุรกรรมกับจำเลยถึงที่ทำการของลูกค้าโดยลูกค้าไม่ต้องมาดำเนินการที่สาขาของจำเลยด้วยตนเอง ถือเป็นบริการอย่างหนึ่งของจำเลยเพื่อประโยชน์ในกิจการของจำเลยเอง ซึ่งจำเลยสมควรคัดเลือกพนักงานที่ไว้ใจได้มาทำหน้าที่นี้และคอยสอดส่องไม่ให้ทำผิดหน้าที่ เมื่อ จ. พนักงานผู้มีหน้าที่ดูแลลูกค้าของจำเลยกลุ่มลูกค้าบุคคลได้รับมอบหมายจากจำเลยให้เป็นผู้ดูแลโจทก์ซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่ การที่ จ. อำนวยความสะดวกให้โจทก์ด้วยการนำใบนำฝาก/โอน และใบคำสั่งซื้อหน่วยลงทุนไปให้โจทก์ลงลายมือชื่อถึงที่ทำการของโจทก์ แล้วรับเอกสารดังกล่าวมาดำเนินการต่อที่สาขาของจำเลย ถือเป็นกิจการของจำเลยที่มอบหมายให้ จ. ไปกระทำ มิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์มอบหมายให้ จ. เป็นตัวแทนของโจทก์ไปทำธุรกรรมกับจำเลยดังที่จำเลยฎีกา การที่ จ. รู้จักสนิทสนมคุ้นเคยกับโจทก์มาก่อนมีผลเพียงทำให้โจทก์ให้ความไว้วางใจ จ. ในฐานะพนักงานของจำเลยที่มาอำนวยความสะดวกให้โจทก์มากยิ่งขึ้นเท่านั้น หาทำให้ จ. กลับกลายเป็นตัวแทนของโจทก์ไปทำธุรกรรมกับจำเลยไม่ จ. เพียงทำหน้าที่นำเอกสารที่ใช้ในการถอนเงินและซื้อหน่วยลงทุนไปให้โจทก์ลงลายมือชื่อแล้วรับเอกสารจากโจทก์ไปมอบให้พนักงานของจำเลยที่มีอำนาจหน้าที่ในการทำธุรกรรมนั้น ๆ เป็นผู้ดำเนินการต่อ หาใช่ว่า จ. เป็นผู้รับทำธุรกรรมให้โจทก์ด้วยตนเองไม่ ดังนั้น แม้ขณะทำธุรกรรมดังกล่าว จ. ยังไม่ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้แนะนำการลงทุนดังที่จำเลยฎีกา การกระทำของ จ. ก็ยังอยู่ในขอบอำนาจและในกิจการที่ได้รับมอบหมายจากจำเลย เมื่อ จ. นำใบนำฝาก/โอน มาทำรายการโอนเงินจากบัญชีเงินฝากของโจทก์เข้าบัญชีของบุคคลอื่นโดยมิได้นำไปซื้อหน่วยลงทุนอันผิดไปจากความประสงค์ของโจทก์ ถือได้ว่าเป็นการจงใจทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายอันเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างจึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดที่ จ. ลูกจ้างของจำเลยกระทำไปในทางการที่จ้าง
โจทก์สามารถตรวจสอบได้โดยง่ายว่า จ. ได้ซื้อหน่วยลงทุนถูกต้องตามความประสงค์ของโจทก์ในแต่ละครั้งหรือไม่ โดยการเรียกสมุดคู่ฝากบัญชีและสมุดบัญชีกองทุนรวมทั้งเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้องมาตรวจสอบทุกครั้งภายหลังจากที่ได้มอบหมายให้ไปทำธุรกรรม ทั้งการโอนเงินตามฟ้องแต่ละครั้งมีระยะเวลาห่างกัน หากโจทก์ได้ตรวจสอบดังเช่นวิญญูชนพึงกระทำก็ย่อมจะทราบได้ตั้งแต่แรกว่ามีการทำธุรกรรมผิดไปจากความประสงค์ของตน ซึ่งอาจจะอายัดเงินในบัญชีของผู้รับโอนกลับคืนมาได้ทันหรืออย่างน้อยก็ทำให้สามารถป้องกันมิให้เกิดความเสียหายซ้ำอีก แต่โจทก์กลับมอบสมุดคู่ฝากบัญชีและสมุดบัญชีกองทุนให้ จ. เป็นผู้เก็บรักษา ทั้งยังปล่อยปละไม่ตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมจนเวลาล่วงเลยมานานหลายเดือนจึงทราบเหตุละเมิด ถือได้ว่าความเสียหายที่โจทก์ได้รับเกิดขึ้นเพราะความผิดของโจทก์ประกอบด้วย การกำหนดค่าเสียหายให้จำเลยชำระแก่โจทก์มากน้อยเพียงใด จึงต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ ข้อสำคัญคือความเสียหายนั้นได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไรตาม ป.พ.พ. มาตรา 442 ประกอบมาตรา 223 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6233/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ธนาคารมีหน้าที่ใช้ความระมัดระวังในการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ หากเกิดความเสียหายจากการถูกหลอกลวง ธนาคารต้องรับผิดชอบชดใช้ความเสียหายบางส่วน
จำเลยประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ และให้บริการอื่นที่เกี่ยวกับการเงิน รับฝากเงิน และให้บริการการใช้หรือโอนเงินทาง xxx application online ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่และคอมพิวเตอร์ จึงเป็นผู้รับฝากซึ่งเป็นผู้มีวิชาชีพเฉพาะกิจการค้าขายหรืออาชีวะ จำต้องใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้และสมควรจะต้องใช้ในกิจการค้าขายหรืออาชีวะอย่างนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 659 วรรคสาม ปรากฏว่า ระหว่างเวลา 23.41 นาฬิกา ของวันที่ 7 กรกฎาคม 2560 ถึงเวลา 2.01 นาฬิกา ของวันที่ 8 กรกฎาคม 2560 เงินในบัญชีเงินฝากของโจทก์ถูกโอนไปยังบัญชีเงินฝากของผู้อื่นจำนวน 3 บัญชี รวม 12 ครั้ง รวมเป็นเงิน 1,099,999 บาท การโอนเงินที่เป็นการโอนจำนวนย่อยหลายครั้งติดต่อกันในช่วงเวลาเดียวกันในเวลากลางคืน จากบัญชีเงินฝากของโจทก์ไปยังบัญชีเงินฝากของบุคคลอื่นโดยเป็นบัญชีเดียวกันหรือชื่อบัญชีเดียวกัน ย่อมเป็นพฤติกรรมในการทำธุรกรรมทางการเงินที่ผิดปกติ จำเลยซึ่งเป็นผู้มีวิชาชีพเฉพาะกิจการค้าขายหรืออาชีวะต้องทราบถึงวิธีการดังกล่าวและย่อมสังเกตได้ว่าเป็นเรื่องผิดปกติและอาจเป็นการกระทำของมิจฉาชีพผู้ประกอบอาชญากรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ จำเลยจึงควรมีมาตรการที่เหมาะสมในการป้องกันการกระทำธุรกรรมทางการเงินโดยไม่ชอบดังกล่าวด้วย การที่จำเลยแจ้งเตือนให้แก่ลูกค้าผู้ใช้บริการต่าง ๆ ระมัดระวังอีเมลหลอกลวงจากมิจฉาชีพหรือที่เรียกว่า Phishing Email มาตลอด โดยมีข้อความแจ้งเตือนว่า "แจ้งเตือน กรุณาอย่าหลงเชื่ออีเมลปลอมจากมิจฉาชีพ xxx ไม่มีนโยบายในการส่งอีเมลใด ๆ เพื่อให้ลูกค้ากรอกข้อมูล ชื่อผู้ใช้งาน Password หรือข้อมูลส่วนตัวอื่น ๆ โดยเด็ดขาด" และ "แจ้งเตือนโปรดระวังอีเมลแอบอ้าง (Phishing Email) ว่าเป็นอีเมลจากธนาคารหลอกลวงให้คลิกเพื่อไปยังเว็บไซต์ปลอมเพื่อความปลอดภัยกรุณาพิมพ์ www.xxx.com" ตามเว็บไซต์ของจำเลยในการเข้าระบบ ลูกค้าต้องใช้ชื่อผู้ใช้ (Username) และรหัสผ่าน (Password) ที่ลูกค้าสมัครไว้กับธนาคารเข้าสู่ระบบและต้องใส่รหัสโอทีพี (OTP หรือ One Time Password) ที่ระบบธนาคารส่งให้ที่หมายเลขโทรศัพท์ของลูกค้าเพื่อยืนยันการทำธุรกรรมอีกขั้นตอนหนึ่งจึงจะสามารถทำธุรกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับบัญชีของตนได้ มาตรการดังกล่าวเป็นมาตรการป้องกันความเสียหายแก่การทำธุรกรรมทางการเงินทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อไม่ให้ลูกค้าที่ใช้บริการถูกมิจฉาชีพหลอกลวงเพื่อให้ส่งมอบชื่อผู้ใช้และรหัสผ่านให้เพื่อนำไปใช้กระทำธุรกรรมทางการเงินโดยไม่ชอบซึ่งเป็นข้อควรระวังในด้านของลูกค้า แต่มาตรฐานของจำเลยในการป้องกันการโอนเงินที่เป็นการทำธุรกรรมทางการเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ชอบดังกล่าวควรจะมีอยู่อย่างไร จำเลยควรจะป้องกันหรือระงับยับยั้งการโอนเงินที่มีความผิดปกติดังกล่าวเมื่อมีการโอนเงินผ่านไปแล้วกี่ครั้ง และเหตุใดพนักงานของจำเลยเพิ่งจะโทรศัพท์แจ้งเตือนไปยังโจทก์หลังจากที่มีการโอนเงินดังกล่าวครั้งที่ 12 และโอนเงินไปรวมเป็นเงิน 1,099,999 บาท แล้ว ซึ่งมาตรการในการป้องกันความเสียหายที่เหมาะสมหรือสมควรดังกล่าวอยู่ในความรู้เห็นของจำเลยฝ่ายเดียว จำเลยจึงมีภาระการพิสูจน์ในส่วนนี้ แต่จำเลยกลับแสดงให้เห็นว่าจำเลยไม่ได้มีมาตรการในการป้องกันหากเกิดการโอนเงินหรือการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ชอบในส่วนนี้เลยและไม่ปรากฏว่าจำเลยมีมาตรการในการป้องกันความเสียหายในส่วนนี้อย่างเพียงพอ แม้ในการโอนเงินจำเลยได้มีข้อความแจ้งเตือนไปยังโจทก์ทุกครั้งที่ทำการโอนเงินรวม 12 ครั้ง และพนักงานของจำเลยได้โทรศัพท์ไปหาโจทก์หลังจากที่มีการโอนเงินครั้งที่ 12 แล้ว มาตรการดังกล่าวถือว่าไม่เพียงพอต่อการป้องกันการโอนเงินหรือการทำรายการหรือธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ชอบ นอกจากนี้ได้ความว่าโจทก์มิใช่รายแรกที่ถูกหลอกลวงในลักษณะนี้และมีอีกหลายรายที่ถูกหลอกลวงในลักษณะนี้ ย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยทราบถึงพฤติกรรมการหลอกลวงและวิธีการโอนเงินโดยไม่ชอบดังกล่าวเช่นเดียวกับคดีนี้มาก่อนทั้งเหตุเกิดซ้ำ ๆ กับลูกค้าจำนวนมาก จำเลยซึ่งเป็นผู้มีวิชาชีพเฉพาะกิจการค้าขายหรืออาชีวะและในฐานะที่เป็นผู้ควบคุมระบบมีความสามารถในการตรวจสอบหรือทราบถึงความผิดปกติในการทำรายการต่าง ๆ ได้แต่เพียงฝ่ายเดียวยิ่งต้องเพิ่มความระมัดระวังและหามาตรการในการป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายดังเช่นที่เกิดในคดีนี้อีก หาใช่ว่าหากมีการกรอกชื่อผู้ใช้และรหัสผ่านที่สามารถยืนยันตัวตนได้แล้วบุคคลดังกล่าวจะสามารถดำเนินการธุรกรรมอย่างใดก็ได้โดยจำเลยไม่มีหน้าที่ในการป้องกันไม่ให้มีการโอนเงินที่ไม่ถูกต้องแต่อย่างใดไม่ ดังนั้น จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยซึ่งเป็นผู้มีวิชาชีพเฉพาะกิจการค้าขายหรืออาชีวะได้ใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้และสมควรจะต้องใช้ในกิจการ ค้าขายหรืออาชีวะอย่างนั้นแล้ว อย่างไรก็ตามเมื่อโจทก์ได้รับอีเมลที่ไม่ได้มาจากจำเลยและมีข้อความเชื่อมโยงหรือลิงก์ไปยังเว็บไซต์ที่เลียนแบบเว็บไซต์ธนาคารจำเลย และโจทก์กรอกชื่อผู้ใช้ (username) และรหัสผ่าน (Password) ในเว็บไซต์ดังกล่าว ทำให้มีคนร้ายทราบถึงชื่อผู้ใช้ (username) และรหัสผ่าน (Password) ของโจทก์ และนำไปใช้สมัคร xxx App ในโทรศัพท์เคลื่อนที่ และโจทก์ยังได้กรอกหมายเลขโอทีพี (OTP หรือ One Time password) ในเว็บไซต์ดังกล่าวเป็นเหตุให้คนร้ายสามารถสมัครใช้บริการ xxx App ได้สำเร็จและเกิดการโอนเงินจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ไปยังบัญชีอื่น โจทก์เป็นผู้ใช้บริการธุรกรรมทางการเงินอิเล็กทรอนิกส์ผ่านทางอินเทอร์เน็ตก่อนเกิดเหตุเป็นเวลากว่า 10 ปี ทั้งตามใบแจ้งรายการบัญชีออมทรัพย์โจทก์ก็ได้ทำธุรกรรมทางการเงินอิเล็กทรอนิกส์ผ่านทางอินเทอร์เน็ตหลายครั้ง โจทก์ย่อมมีความเข้าใจในการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านช่องทางดังกล่าวและย่อมทราบถึงคำเตือนของจำเลยตามที่ปรากฏในเว็บไซต์ของจำเลย โจทก์จึงควรมีความระมัดระวังในการตรวจสอบก่อนทำธุรกรรมดังกล่าวมากกว่าที่ปรากฏในคดีนี้ จึงถือว่าโจทก์มีส่วนทำให้เกิดความเสียหายด้วย พฤติกรรมของโจทก์และจำเลยจึงถือว่ามีส่วนทำให้เกิดความเสียหายในคดีนี้ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันและเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยต้องรับผิดชดใช้เงินให้แก่โจทก์เป็นเงิน 550,000 บาท เมื่อค่าเสียหายที่จำเลยต้องรับผิดเป็นหนี้เงินหากชำระล่าช้าย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ซึ่งค่าเสียหายของหนี้เงินตามปกติย่อมคิดกันในรูปของดอกเบี้ย จึงเห็นควรกำหนดให้จำเลยรับผิดดอกเบี้ยดังกล่าวนับแต่วันที่อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาเป็นต้นไป ทั้งนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 222 วรรคหนึ่ง โดยควรให้ในอัตราเดียวกับอัตราดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่อัตราร้อยละ 5 ต่อปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2017/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทสัญญาซื้อขายหุ้น-การอนุมัติโอนหุ้นธนาคาร-ความรับผิดตามสัญญา
โจทก์ฟ้องบังคับตามบันทึกข้อตกลงโดยมีคำขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันส่งมอบหุ้น 1,260 หุ้น คืนแก่โจทก์ กับให้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น จัดทำและยื่นบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ดังนั้น การที่จะบังคับตามคำขอของโจทก์ดังกล่าว จึงต้องปฏิบัติตามข้อบังคับของบริษัทจำเลยที่ 4 และข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วย โดย ป.พ.พ. มาตรา 1134 บัญญัติให้บริษัทออกใบหุ้นให้แก่ผู้ถือหุ้นเมื่อมีข้อบังคับของบริษัทอนุญาตไว้ มาตรา 1138 บัญญัติให้บริษัทจำกัดต้องมีสมุดจดทะเบียนผู้ถือหุ้นมีรายการตามที่กำหนด และมาตรา 1139 วรรคสอง บัญญัติให้เป็นหน้าที่ของกรรมการที่จะส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ที่ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ทั้งหมดในเวลาที่ประชุม และรายชื่อผู้ที่ขาดจากเป็นผู้ถือหุ้นนับแต่วันประชุมสามัญครั้งที่แล้วไปยังนายทะเบียนอย่างน้อยปีละครั้ง จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว จึงเป็นหน้าที่ของบริษัทจำเลยที่ 4 หรือกรรมการของจำเลยที่ 4 ซึ่งกระทำการในนามบริษัทจำเลยที่ 4 ที่จะต้องออกใบหุ้น และดำเนินการเปลี่ยนแปลงบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นให้แก่โจทก์เพื่อให้การโอนหุ้นตามบันทึกข้อตกลงมีผลสมบูรณ์ ดังนี้ แม้จำเลยที่ 4 มิได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ทำบันทึกข้อตกลงในคดีอาญา โจทก์ก็มีอำนาจฟ้องบริษัทจำเลยที่ 4 ให้ร่วมดำเนินการตามคำขอของโจทก์ในส่วนนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4568/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ธนาคารต้องรับผิดชอบความเสียหายจากบัตรเดบิตสูญหาย หากผู้บริโภคไม่ได้ประมาทเลินเล่อ และอาจต้องจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษ
เมื่อพิจารณาที่มาและข้อตกลงการใช้บัตรเอทีเอ็ม/บัตรเดบิต คำนึงถึงสิทธิและหน้าที่ของผู้ถือบัตรและผู้ประกอบธุรกิจบัตรเอทีเอ็ม/บัตรเดบิต โดยพิจารณาความสุจริต ความรู้ ความเข้าใจ แนวทางที่เคยปฏิบัติและทางได้เสียของคู่สัญญาตามสภาพที่เป็นจริงแล้ว ไม่ปรากฏว่าโจทก์ถูกบังคับหรือไม่ยินยอมในการทำข้อตกลงและเงื่อนไขการถือบัตรเอทีเอ็ม/บัตรเดบิต ข้อตกลงและเงื่อนไขดังกล่าวมิได้กำหนดให้จำเลยซึ่งเป็นผู้กำหนด เงื่อนไขได้เปรียบโจทก์ซึ่งเป็นผู้ถือบัตรเกินสมควร ประกอบกับโจทก์ยังมีโอกาสทักท้วงโต้แย้งรายการใช้บัตรที่ไม่ถูกต้องตามข้อตกลงดังกล่าว ข้อตกลงการใช้บริการบัตรเอทีเอ็ม/บัตรเดบิตมิได้เป็นผลให้จำเลยซึ่งเป็นผู้กำหนดข้อตกลงได้เปรียบโจทก์ซึ่งเป็นผู้ถือบัตรที่เป็นคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเกินสมควร ข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม จึงมีผลผูกพันโจทก์จำเลยได้
ร้านค้าที่รับชำระค่าสินค้าและบริการด้วยบัตรเดบิตไม่ได้ตรวจสอบลายมือชื่อที่ลงบนเซลล์สลิปเปรียบเทียบกับลายมือชื่อด้านหลังบัตร กรณีจึงต้องถือว่าร้านค้าที่รับชำระค่าสินค้าและบริการด้วยบัตรเดบิตที่พิพาทปฏิบัติผิดเงื่อนไขข้อตกลงการเป็นร้านค้าต่อธนาคารพาณิชย์เจ้าของเครื่อง EDC จำเลยซึ่งถือว่าเป็นตัวการของธนาคารพาณิชย์เจ้าของเครื่อง EDC จึงไม่อาจยกเอาข้อตกลงการใช้บริการบัตรเอทีเอ็ม/บัตรเดบิตขึ้นอ้างเพื่อที่จะไม่คืนเงินที่หักไปจากบัญชีเงินฝากโจทก์ได้ โจทก์ไม่จำต้องไปเรียกร้องเงินคืนจากธนาคารพาณิชย์เจ้าของเครื่อง EDC หรือร้านค้าที่รับชำระค่าสินค้าหรือบริการที่พิพาท จำเลยจึงต้องคืนเงินที่หักไปจากบัญชีเงินฝากให้แก่โจทก์ แต่โจทก์เบิกความเพียงว่าโจทก์เก็บรักษาบัตรและรหัสประจำตัวในการเบิกถอนเงินสดแต่เพียงผู้เดียว แต่ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าโจทก์เก็บรักษาบัตรเดบิตอย่างไร ที่บัตรเดบิตหายไปนั้นถูกลักไปได้อย่างไร ทั้งโจทก์เพิ่งมาทราบเรื่องหลังจากบัตรหายไปแล้วเป็นเวลามากกว่า 10 วัน โดยในช่วงเวลาดังกล่าวบัตรเดบิตถูกนำไปใช้ชำระค่าสินค้าและบริการเรื่อยมา ถือว่าโจทก์ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังในการเก็บรักษาตลอดจนตรวจตราบัตรเดบิตซึ่งเป็นเอกสารสำคัญตามที่พึงกระทำ ถือว่าโจทก์มีส่วนประมาทเลินเล่อ เป็นกรณีที่ความเสียหายได้เกิดขึ้นเพราะความผิดของโจทก์เองด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 223 วรรคหนึ่ง จึงเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์เป็นจำนวนสามในสี่ของจำนวนเงินที่มีการใช้บัตรเดบิต
เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกร้องเพียงให้จำเลยคืนเงินที่หักไปจากบัญชีเงินฝากของโจทก์พร้อมดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันที่จำเลยหักเงินครั้งสุดท้าย ซึ่งเงินดังกล่าวมิใช่ค่าเสียหายตามความใน พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 42 จึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะกำหนดให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2844/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ธนาคารประมาทเลินเล่อปล่อยให้มีการเบิกจ่ายเช็คปลอม ทำให้ผู้ฝากได้รับความเสียหาย ต้องรับผิดชดใช้
จำเลยที่ 2 ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์อันเป็นกิจการที่ประชาชนให้ความไว้วางใจย่อมต้องใช้ความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความละเอียดรอบคอบ การเบิกถอนโอนเงินจากบัญชีเงินฝากของธนาคารเป็นงานส่วนหนึ่งของจำเลยที่ 2 ซึ่งต้องตรวจสอบความถูกต้อง และใช้ความระมัดระวังในการเบิกถอนโอนเงินจากบัญชีเงินฝากยิ่งกว่าวิญญูชนทั่วไป เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายกระทบต่อความเชื่อถือไว้วางใจในการประกอบกิจการธนาคาร เมื่อสำเนาคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกเป็นเอกสารปลอม มีการจัดเรียงผิดย่อหน้าผิดแผกแตกต่างจากรูปแบบคำสั่งศาล และมีข้อความที่พิมพ์ตกหล่นหลายแห่งเป็นพิรุธ ทั้งจำนวนเงินในบัญชีเงินฝากที่ขอเบิกถอนมากกว่าล้านบาท เช่นนี้ โดยหน้าที่ตามสัญญารับฝากเงินและระเบียบปฏิบัติงาน จำเลยที่ 2 จะต้องเพิ่มความระมัดระวังและพิจารณาด้วยความรอบคอบ โดยการตรวจสอบสำเนาคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกให้แน่ชัดเสียก่อนว่าเป็นสำเนาคำสั่งที่ถูกต้องแท้จริงหรือไม่ ก่อนที่จะอนุมัติให้เบิกถอนเงิน ซึ่งอยู่ในวิสัยที่จำเลยที่ 2 สามารถตรวจสอบความถูกต้องแท้จริงของเอกสารดังกล่าวก่อนได้ไม่ยาก แต่จำเลยที่ 2 ละเว้นมิได้กระทำ โดยยินยอมให้จำเลยที่ 1 ใช้เอกสารปลอมสำเนาคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกเบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของผู้ตายไปทันที ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 กระทำโดยประมาทเลินเล่อ ทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ และถือว่าจำเลยที่ 2 ผู้รับฝากซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์มิได้ใช้ฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้ในกิจการของตนดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 659 วรรคสาม จึงเป็นการกระทำละเมิดและผิดสัญญาฝากทรัพย์ต่อโจทก์
of 40