คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
สิทธิ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4,231 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3193/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีเกินกำหนด 10 ปี และสิทธิการขอให้พิจารณาใหม่หลังขาดนัด
ป.วิ.พ. มาตรา 271 บัญญัติให้คู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะ (เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา) ชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นได้ภายใน 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ซึ่งหมายถึงวันมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นที่สุดและมาตรา 147 วรรคสอง บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งใดซึ่งอาจอุทธรณ์ ฎีกาหรือมีคำขอให้พิจารณาใหม่ได้นั้นถ้ามิได้อุทธรณ์ ฎีกาหรือร้องขอให้พิจารณาใหม่ภายในเวลาที่กำหนดไว้ ให้ถือว่าเป็นที่สุดตั้งแต่ระยะเวลาเช่นว่านั้นได้สิ้นสุดลง
คดีนี้จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียว จำเลยทั้งสองจึงมีสิทธิยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ซึ่งหากจำเลยทั้งสองจะขอให้พิจารณาใหม่ย่อมต้องอยู่ภายใต้บังคับตามตรา 208 วรรคหนึ่ง (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในวันที่โจทก์ยื่นฟ้อง คือคำขอให้พิจารณาใหม่นั้นให้ยื่นต่อศาลใน 15 วัน นับจากวันที่ได้ส่งคำบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งให้แก่จำเลย แต่คดีนี้หลังจากศาลชั้นต้นพิพากษายังมิได้มีการออกคำบังคับมาก่อน ระยะเวลา 15 วันดังกล่าวจึงยังไม่เริ่มนับ
ศาลชั้นต้นเพิ่งออกคำบังคับเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2550 และได้ส่งคำบังคับแก่จำเลยที่ 1 โดยการปิดคำบังคับเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2550 และส่งคำบังคับแก่จำเลยที่ 2 โดยการปิดคำบังคับเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2550 การส่งคำบังคับโดยการปิดดังกล่าวมีผลเมื่อกำหนดเวลา 15 วันได้ล่วงพ้นไปแล้วตามมาตรา 79 วรรคสอง จึงต้องถือว่าการส่งคำบังคับให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีผลในวันที่ 2 พฤษภาคม 2550 และวันที่ 20 พฤษภาคม 2550 ตามลำดับ จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีสิทธิยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ได้ภายในวันที่ 17 พฤษภาคม 2550 และวันที่ 4 มิถุนายน 2550 ตามลำดับ เมื่อจำเลยทั้งสองมิได้ยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ภายในกำหนดดังกล่าว คดีในส่วนของจำเลยที่ 1 จึงเป็นที่สุดตั้งแต่วันถัดจากวันที่ 17 พฤษภาคม 2550 และคดีในส่วนของจำเลยที่ 2 เป็นที่สุดตั้งแต่วันถัดจากวันที่ 4 มิถุนายน 2550 การที่โจทก์ยื่นคำขอออกหมายบังคับคดีในวันที่ 13 กันยายน 2550 จึงเป็นการร้องขอให้บังคับคดีภายใน 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาเป็นที่สุด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2975/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาระจำยอมเกิดจากสัญญาก่อให้เกิดภาระจำยอม แม้ยังมิได้จดทะเบียนก็ใช้บังคับได้ระหว่างคู่สัญญา สิทธิย่อมตกทอดแก่ทายาท
น. เสนอขายที่ดินโดยนำรูปแผนที่หลังโฉนดที่ดินมาแสดงแก่โจทก์เพื่อยืนยันว่าหากโจทก์ซื้อที่ดินของ น. โจทก์ก็มีสิทธิใช้ทางพิพาทเป็นทางเข้าออกและใช้ประโยชน์เกี่ยวแก่การสาธารณูปโภคสำหรับที่ดินที่ซื้อได้ เมื่อโจทก์ตกลงซื้อที่ดินตามที่ น. เสนอจึงเกิดเป็นสัญญาก่อให้เกิดภาระจำยอม การที่ น. ไม่ได้จดทะเบียนภาระจำยอมให้แก่โจทก์เหมือนอย่างที่ดินซึ่งแบ่งแยกพร้อมกับแปลงอื่นๆ คงมีผลเพียงทำให้ภาระจำยอมดังกล่าวยังไม่เป็นทรัพยสิทธิที่สมบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง เท่านั้น แต่ก็เป็นบุคคลสิทธิใช้บังคับกันได้ในระหว่างคู่สัญญา และไม่ใช่สิทธิที่ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้วเป็นการเฉพาะตัวของ น. โดยแท้ เมื่อ น. ถึงแก่ความตาย สิทธิหน้าที่และความรับผิดต่างๆ ตามสัญญาภาระจำยอมย่อมตกทอดแก่จำเลยซึ่งเป็นทายาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 และ 1600 โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยไปดำเนินการจดทะเบียนภาระจำยอม และบังคับให้จำเลยรื้อถอนรั้ว เสาปูนและลวดหนามที่ปิดกั้นทางพิพาทซึ่งเป็นภารยทรัพย์ออกได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2758/2553 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เช็คหลายฉบับไม่เกี่ยวข้องกัน ผู้ทรงเช็คมีสิทธิฟ้องบังคับชำระหนี้แยกแต่ละฉบับได้
การที่ผู้ทรงเช็คได้รับเช็คที่มีผู้สั่งจ่ายรายเดียวกันไว้ในครอบครองหลายฉบับแม้จะเป็นการชำระหนี้ในมูลหนี้ในมูลหนี้เดียวกันก็ไม่ถือว่าเช็คแต่ละฉบับมีความเกี่ยวพันกัน เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คนั้น ผู้ทรงเช็คย่อมใช้สิทธิเรียกร้องตามเช็คแต่ละฉบับได้ไม่จำต้องใช้สิทธิเรียกร้องตามเช็คทั้งหมดไปในคราวเดียวกัน การใช้สิทธิเรียกร้องในเช็คแต่ละฉบับโดยยื่นฟ้องเป็นหลายคดีเพื่อบังคับชำระหนี้ตามเช็คต่างฉบับกันไม่ใช่การใช้สิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ที่มีการออกเช็คชำระหนี้ทั้งยังเป็นคดีที่มีสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแยกต่างหากจากกันตามเช็คแต่ละฉบับด้วย แม้เช็คพิพาทจะเป็นส่วนหนึ่งของเช็คหลายฉบับที่โจทก์ได้รับมาในคราวเดียวกัน โจทก์ก็มีสิทธินำเช็คดังกล่าวมาเป็นมูลฟ้องร้องเป็นคดีต่างหากจากกันได้ การที่โจทก์นำเช็คจำนวนหนึ่งไปฟ้องคดีแพ่ง และนำเช็คพิพาทมาฟ้องคดีนี้จึงมิใช่การยื่นคำฟ้องในเรื่องเดียวกัน อันจะเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15922/2553 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิของผู้เช่าช่วงเมื่อสัญญาเช่าหลักสิ้นสุด และการฟ้องขับไล่จากผู้ให้เช่าเดิม
การเช่าทรัพย์ไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าผู้ให้เช่าต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ให้เช่า เมื่อจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทกับโจทก์ ทั้งสองฝ่ายย่อมต้องผูกพันตามสัญญาเช่านั้น การที่จำเลยที่ 1 นำที่ดินพิพาทและสิ่งปลูกสร้างไปให้จำเลยที่ 2 เช่าช่วงโดยโจทก์ยินยอม จำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้เช่าช่วงโดยชอบและต้องรับผิดต่อโจทก์ผู้ให้เช่าเดิมโดยตรงตาม ป.พ.พ. มาตรา 545 จำเลยที่ 2 หาใช่บริวารของจำเลยที่ 1 ไม่ เมื่อสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 สิ้นสุดลงในวันที่ 8 สิงหาคม 2540 ซึ่งทำให้สัญญาเช่าช่วงระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 สิ้นสุดลงในวันเดียวกันนี้ด้วยเพราะเมื่อจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิเช่าต่อไปแล้ว จำเลยที่ 1 ย่อมไม่มีสิทธิให้จำเลยที่ 2 เช่าช่วงอีกต่อไป ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 ยังคงครอบครองทรัพย์ที่เช่าช่วงตลอดมาหลังจากสัญญาเช่าสิ้นสุดลงแล้ว ย่อมเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 2 ได้ จำเลยที่ 2 จะโต้เถียงว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ราชพัสดุ โจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ให้เช่าจึงไม่มีอำนาจฟ้องหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14293/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์คำพิพากษาและการใช้สิทธิขอปล่อยตัวชั่วคราว จำเลยต้องใช้สิทธิอุทธรณ์ ไม่ใช่คำร้องขอปล่อยตัวตาม ป.วิ.อ. มาตรา 90
คำร้องของจำเลยที่อ้างว่า ฟ้องโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ศาลชั้นต้นตรวจสอบถึงสาระสำคัญคลาดเคลื่อน จึงออกคำพิพากษาที่มิชอบด้วยกฎหมาย ทำให้จำเลยถูกคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมายนั้น เป็นกรณีที่จำเลยโต้แย้งว่าคำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่ชอบ ซึ่งหากจำเลยเห็นว่าคำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่ถูกต้องอย่างไร ก็ชอบที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 6 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 จำเลยจะยกเอาเหตุดังกล่าวขึ้นมากล่าวอ้างว่าจำเลยถูกคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เพื่อยื่นคำร้องขอให้ปล่อยตัวจำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 90 หาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14015/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาระจำยอมโดยอายุความ: การใช้สิทธิในฐานะเจ้าของร่วมกันและระยะเวลาการครอบครอง
ขณะที่ ส. ซื้อที่ดินแปลงแรก และต่อมา พ. ซื้อที่ดินแปลงที่ 2 นั้น ส. และ พ. อยู่กินฉันสามีภริยาแล้ว แม้จะไม่ได้ความว่า ส. และ พ. ได้จดทะเบียนสมรสกันโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แต่ทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างอยู่กินฉันสามีภริยาต้องถือว่าเป็นเจ้าของร่วมกัน ทั้งการที่จะมีภาระจำยอมได้จะต้องมีที่ดินสองแปลงโดยที่ดินแปลงหนึ่งตกอยู่ในภาระจำยอมของที่ดินอีกแปลงหนึ่ง และการที่จะได้ภาระจำยอมโดยอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1401 จะต้องเป็นการใช้เพื่อตน มิใช่เป็นการอาศัยเมื่อการใช้สิทธิในที่ดินของ ส. ทั้งสองแปลงเป็นการใช้ในฐานะเจ้าของที่ดินร่วมกันกับ พ. มิใช่เป็นการใช้ในที่ดินของผู้อื่นอันจะเป็นผลให้ได้สิทธิภาระจำยอมในช่วงเวลาดังกล่าว โจทก์จะนำสิทธิที่ ส. มีอยู่ในที่พิพาทมานับต่อเนื่องกับสิทธิที่โจทก์ได้รับเพื่อให้ได้สิทธิภาระจำยอมในที่ดินแปลงพิพาทหาได้ไม่ เมื่อโจทก์ได้รับโอนที่ดินมีโฉนดจาก ส. ในปี 2536 นับถึงวันฟ้องคดีนี้ยังไม่ถึง 10 ปี ทางพิพาทจึงยังไม่ตกอยู่ในภาระจำยอมโดยอายุความ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1401

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1400/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีจากการขายทอดตลาด: ผู้ซื้อมีสิทธิขอคืนเงินภาษีที่ทดรองจ่ายให้ผู้ขาย
เงินได้จากการขายทอดตลาดอสังหาริมทรัพย์นั้นเป็นเงินได้พึงประเมินตาม ป.รัษฎากร มาตรา 40 (8) และการขายทอดตลาดนั้น จำเลย (ผู้ขาย) เป็นผู้มีเงินได้จากการขายทอดตลาด ฉะนั้น ตาม ป.รัษฎากร จำเลยจึงมีภาระต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากการขายทอดตลาดดังกล่าว ส่วนผู้คัดค้าน (ผู้ซื้อ) อยู่ในฐานะเป็นผู้จ่ายเงินให้แก่จำเลย จึงเป็นผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินที่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ตามมาตรา 50 (6) (ข) และนำส่งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในขณะที่มีการจดทะเบียนตามมาตรา 52 วรรคสอง ดังนั้นเงินค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ผู้คัดค้านได้ทดรองจ่ายแทนจำเลยไปนั้น จึงเป็นเงินรายได้ของแผ่นดินที่กรมสรรพากรมีหน้าที่จัดเก็บ ไม่ใช่เป็นเงินรายได้สุทธิที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลย ที่จะนำไปชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์
เงินได้พึงประเมินจากการขายทอดตลาดตามที่กล่าวมาแล้วนั้น จำเลยผู้ขายเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้พึงประเมินดังกล่าวต่างหากไม่ใช่ผู้คัดค้าน เมื่อผู้คัดค้านไม่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้พึงประเมินแล้ว คำว่า "ค่าภาษีต่าง ๆ" ตามที่ระบุไว้จึงไม่น่าจะหมายรวมถึงค่าภาษีเงินได้ถึงประเมินด้วยและเมื่อผู้คัดค้านได้ทดรองจ่ายไปนั้น ไปขอรับเงินคืนจากเจ้าพนักงานบังคับคดีได้และในการจัดทำบัญชีแสดงรายการรับ-จ่ายเงินเจ้าพนักงานบังคับคดีก็ต้องระบุรายการหักคืนเงินภาษีหัก ณ ที่จ่าย ให้แก่ผู้คัดค้านด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13846/2553 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิของผู้ซื้อที่ดินจากการขายทอดตลาดคุ้มครองกว่าสิทธิของผู้ครอบครองทำประโยชน์ แม้มี น.ส.3
ธนาคาร ก. ผู้ซื้อที่ดินพิพาทโดยสุจริตในการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลย่อมได้รับความคุ้มครองสิทธิมิให้เสียไป แม้ที่ดินพิพาทมิใช่ของจำเลยหรือลูกหนี้โดยคำพิพากษา ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1330 โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้ซื้อที่ดินพิพาทจากธนาคาร ก. อีกทอดหนึ่ง ถือได้ว่าเป็นผู้สืบสิทธิที่ได้รับความคุ้มครองสิทธิที่มีอยู่ตามมาตรา 1330 เช่นเดียวกัน แม้มิใช่ผู้ซื้อที่ดินดังกล่าวจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลโดยตรงก็ตาม แม้โจทก์ทั้งสองซื้อที่ดินพิพาทโดยทราบมาก่อนว่าจำเลยปลูกบ้านและสิ่งปลูกสร้างอื่นในที่ดินพิพาทเป็นเวลาเกินกว่า 20 ปีแล้ว โดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน และจำเลยมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เป็นหลักฐานจำเลยก็ไม่อาจยกสิทธิดังกล่าวขึ้นใช้ยันสิทธิของโจทก์ทั้งสองที่ได้รับความคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1330 ได้ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าโจทก์ทั้งสองมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทดีกว่าสิทธิของจำเลย เมื่อโจทก์ทั้งสองบอกกล่าวด้วยวาจาไม่จำต้องบอกกล่าวเป็นหนังสือให้จำเลยรื้อถอนบ้านและสิ่งปลูกสร้างอื่นกับให้ออกไปจากที่ดินพิพาทแล้ว จำเลยยังคงเพิกเฉย โจทก์ทั้งสองย่อมมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13745/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจดทะเบียนบุตรชอบด้วยกฎหมาย: สิทธิเมื่อได้รับโต้แย้งความยินยอมจากมารดาและเด็กยังไม่สามารถให้ความยินยอมได้
ตามเจตนารมณ์ของ ป.พ.พ. มาตรา 1548 บิดาจะจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมของเด็กและมารดาเด็ก โดยทั้งเด็กและมารดาเด็กจะต้องไปแสดงความยินยอมต่อนายทะเบียนด้วยนั้น มีความมุ่งหมายจะคุ้มครองสิทธิที่เด็กจะพึงได้รับจากผู้เป็นบิดาอันเป็นเรื่องประโยชน์ของเด็กและการให้ความยินยอมดังกล่าวเป็นเรื่องเฉพาะตัว อย่างไรก็ตามการที่กฎหมายบังคับให้ผู้ขอรับรองบุตรต้องได้รับความยินยอม ก็ต่อเมื่อเด็กและมารดาเด็กอยู่ในฐานะที่จะให้ความยินยอมได้เท่านั้น เมื่อโจทก์เคยไปติดต่อสำนักงานเขตดุสิตเพื่อจดทะเบียนว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งมีอายุเพียง 7 ปี เป็นบุตรของตน แม้จะไม่ได้ทำเป็นหนังสือตามระเบียบ แต่เจ้าพนักงานแจ้งโจทก์ว่าต้องได้รับความยินยอมจากจำเลยทั้งสองก่อน และโจทก์ให้ทนายความมีหนังสือแจ้งไปยังจำเลยที่ 1 มารดาของจำเลยที่ 2 เพื่อดำเนินการ แต่จำเลยที่ 1 มีหนังสือตอบปฏิเสธและจำเลยที่ 2 อยู่ในวัยไร้เดียงสาไม่สามารถให้ความยินยอมได้จึงเป็นที่เห็นได้ชัดเจนแล้วว่า การที่จะให้โจทก์ไปยื่นคำร้องจดทะเบียนเป็นหนังสือเพื่อให้นายทะเบียนมีหนังสือถึงจำเลยทั้งสองตามมาตรา 1548 วรรคสอง ย่อมไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ พฤติการณ์ดังกล่าวถือว่า โจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิแล้ว โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องขอต่อศาลขอให้พิพากษาว่าจำเลยที่ 2 เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13199/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้อนเวนคืนที่ดิน: การฟ้องเรียกค่าทดแทนซ้ำกับคดีที่ยังไม่ถึงที่สุด และการไม่กระทบสิทธิจากความล่าช้าของรัฐ
คดีก่อนที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มพร้อมทั้งดอกเบี้ย เป็นเงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินที่ถูกเวนคืนที่ดินส่วนที่เหลือที่มีราคาลดลง สิ่งปลูกสร้าง ต้นไม้ยืนต้น ค่าเสียหายเนื่องจากต้องรื้อถอนสาธารณูปโภคและขนย้ายสิ่งของเครื่องใช้ออกจากอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืน ฟ้องโจทก์ในคดีนี้ได้ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มในรายการและจำนวนเงินเดียวกันกับคดีก่อนพร้อมด้วยดอกเบี้ยจึงเป็นเรื่องเดียวกันกับฟ้องโจทก์ในคดีก่อน เมื่อปรากฏว่าคดีก่อนซึ่งศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องนั้น จำเลยทั้งสองในคดีก่อนได้ยื่นอุทธรณ์และคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ฟ้องโจทก์คดีนี้ที่ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มพร้อมด้วยดอกเบี้ยจึงเป็นฟ้องซ้อน ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)
แม้คดีซึ่งโจทก์ฟ้องเป็นคดีก่อนโจทก์ขอให้บังคับจำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นจากที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดพร้อมด้วยดอกเบี้ย ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 2 รับผิดชำระค่าเสียหายเป็นส่วนตัวก็ตาม แต่ฟ้องโจทก์คดีนี้ที่ขอให้จำเลยที่ 2 รับผิดก็มีมูลเหตุมาจากการที่โจทก์อ้างว่าคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ ไม่ได้กำหนดเงินค่าทดแทนให้โจทก์ในอัตราที่เป็นธรรมและในเวลาอันรวดเร็วโดยไม่ต้องใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีฯ จึงมีประเด็นต้องวินิจฉัยเป็นประเด็นเดียวกันว่าเงินค่าทดแทนซึ่งคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดให้แก่โจทก์เป็นอัตราที่เป็นธรรมแล้วหรือไม่ ซึ่งถึงแม้โจทก์จะขอให้บังคับจำเลยที่ 2 ให้รับผิดเป็นส่วนตัวแยกต่างหากจากจำเลยที่ 1 แต่ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ก็เป็นเรื่องเดียวกันกับคดีก่อนเพราะมีประเด็นเกี่ยวข้องกันโดยตรง จึงเป็นฟ้องซ้อน ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) เช่นเดียวกับจำเลยที่ 1
พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 25 กำหนดให้ผู้ที่ไม่พอใจในจำนวนเงิน ค่าทดแทนที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนด มีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีได้ และให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ที่รัฐมนตรีแต่งตั้งพิจารณาเสนอความเห็นต่อรัฐมนตรี และให้รัฐมนตรีวินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์ แต่ตามมาตรา 26 วรรคหนึ่ง กำหนดให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนที่ยังไม่พอใจในคำวินิจฉัยของรัฐมนตรี หรือในกรณีที่รัฐมนตรีมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายในเวลาที่กำหนดดังกล่าว มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีหรือนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาดังกล่าว แล้วแต่กรณี การที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ ไม่ได้พิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์และรัฐมนตรีวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ไม่เสร็จสิ้นภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์ จึงไม่ทำให้สิทธิของโจทก์ที่จะเรียกร้องเงินค่าทดแทนเพิ่มโดยการใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้รับความกระทบกระเทือนหรือล่าช้าไปกว่าระยะเวลาหกสิบวันตามที่กฎหมายกำหนด โจทก์จึงไม่ได้รับความเสียหาย และไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์
of 424