คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
สิทธิ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4,231 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 473/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในการขอพิจารณาคำขออุทธรณ์ใหม่ vs. การอุทธรณ์คำสั่งศาล - เลือกใช้สิทธิทางกฎหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขออุทธรณ์อย่างคนอนาถาของจำเลย หากจำเลยไม่พอใจย่อมมีสิทธิที่จะดำเนินการตาม ป.วิ.พ. มาตรา 156 วรรคสี่ หรือวรรคห้าโดยยื่นคำร้องขอต่อศาลให้พิจารณาคำขอนั้นใหม่เพื่ออนุญาตให้นำพยานหลักฐานมาแสดงเพิ่มเติมว่าตนเป็นคนยากจน หรืออุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์ภาค 5 ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง ซึ่งแม้มีสิทธิที่จะเลือกดำเนินกระบวนพิจารณาเช่นนั้นอย่างใดอย่างหนึ่งได้ แต่เมื่อจำเลยได้เลือกอุทธรณ์คำสั่งตามมาตรา 156 วรรคห้าแล้ว จำเลยจะกลับมาขอให้ศาลพิจารณาคำขอนั้นใหม่เพื่ออนุญาตให้จำเลยนำพยานหลักฐานมาแสดงเพิ่มเติมว่าตนเป็นคนยากจนตามมาตรา 156 วรรคสี่ อีกไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4310/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิคิดดอกเบี้ยกรณีผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญา และการใช้สิทธิโดยสุจริตของเจ้าหนี้
สัญญากู้เงินที่โจทก์และจำเลยทำไว้ต่อกันมีข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยระบุไว้ในสัญญาข้อ 1 และข้อ 2 วรรคแรกระบุว่า ผู้กู้ยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้ในอัตรา เอ็ม.แอล.อาร์. ต่อปี (ปัจจุบันร้อยละ 13.75 ต่อปี) วรรคสอง ระบุว่า หากภายหลังจากวันทำสัญญาผู้ให้กู้ได้เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ย ผู้กู้ยอมให้ผู้ให้กู้คิดดอกเบี้ยในจำนวนหนี้ที่ผู้กู้ยังค้างชำระหนี้อยู่ตามสัญญาตามที่ผู้ให้กู้กำหนด แต่ไม่เกินอัตราดอกเบี้ยสูงสุดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยที่กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้า โดยเพียงแต่ผู้ให้กู้แจ้งให้ผู้กู้ทราบเท่านั้น ส่วนสัญญาข้อ 2 ระบุไว้ในย่อหน้าสุดท้ายว่า ผู้กู้ตกลงว่าหากผู้กู้ผิดนัดชำระหนี้งวดใดงวดหนึ่งผู้กู้ยินยอมให้ผู้ให้กู้คิดดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยสูงสุดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยที่กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้าได้ โดยให้คิดดอกเบี้ยจากยอดหนี้ที่คงค้างทั้งจำนวน ดังนี้ จึงเห็นได้ว่า สัญญาข้อ 1 เป็นข้อตกลงกำหนดอัตราดอกเบี้ยก่อนผิดนัดโดยใช้อัตรา เอ็ม.แอล.อาร์. และให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดกันไว้แต่แรกได้ ส่วนสัญญาข้อ 2 เป็นเรื่องที่ให้โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราที่สูงขึ้นในกรณีที่จำเลยผิดนัดซึ่งโจทก์ได้กล่าวมาในคำฟ้องแล้วว่าโจทก์ใช้สิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยกรณีผิดนัดในอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี โดยถือว่าจำเลยผิดนัดตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2540 เป็นต้นมา ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า นับแต่จำเลยผิดนัดโจทก์มีสิทธิคิดอัตราดอกเบี้ยในอัตรา เอ็ม.แอล.อาร์. ตามอัตราที่โจทก์ประกาศเปลี่ยนแปลงซึ่งเป็นดอกเบี้ยก่อนผิดนัดเท่านั้น จึงไม่ชอบ
ตามสัญญากู้เงินเพื่อที่อยู่อาศัยข้อ 2.1 กำหนดให้จำเลยมีหน้าที่ต้องผ่านชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์เป็นรายเดือนไม่น้อยกว่าเดือนละ 5,300 บาท โดยต้องชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2553 แม้จะมีข้อตกลงกำหนดไว้ในข้อ 4 ว่าหากจำเลยผิดนัดในข้อใดข้อหนึ่งหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของสัญญาให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมด และจำเลยยอมให้โจทก์เรียกหนี้ทั้งหมดคืนได้ทันทีก็ตามก็หาใช่เป็นการบังคับว่าเมื่อจำเลยผิดนัดแล้วโจทก์จะต้องฟ้องเรียกหนี้คืนจากจำเลยทันทีไม่ จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ผ่อนผันให้โอกาสแก่จำเลยผ่อนชำระหนี้ ไม่อาจถือได้ว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ทั้งมิใช่เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจลดอัตราดอกเบี้ยกรณีผิดนัด เพราะเห็นว่าเป็นเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วน ดังนั้น เมื่อปรากฏตามสำเนาประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและสำเนาประกาศของโจทก์ว่า ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ที่โจทก์คิดจากจำเลยกรณีผิดนัดนับแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2540 เป็นต้นมานั้นไม่สูงเกินกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่โจทก์ประกาศกำหนดโดยอาศัยอำนาจตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตรา ดังกล่าว นับแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2540 ได้ตามสัญญา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินค่าเบี้ยประกันรวม 7 จำนวน คืนแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่โจทก์ชำระแทนจำเลยไปแต่ละครั้ง โดยมิได้ระบุว่าดอกเบี้ยในส่วนนี้เมื่อคำนวณถึงวันฟ้องแล้วต้องไม่เกินจำนวนเงินตามคำขอของโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดไว้ด้วยว่าต้องไม่เกินคำขอของโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4105-4108/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การย้ายงานโดยชอบธรรมและการละทิ้งหน้าที่ของลูกจ้าง: สิทธิของนายจ้างในการเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
การที่จำเลยมีคำสั่งย้ายโจทก์ทั้งสี่ที่ทำงานอยู่ที่หน่วยงานของจำเลยในจังหวัดเชียงใหม่ไปทำงานที่หน่วยงานของจำเลยในจังหวัดระยอง จังหวัดอ่างทอง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดสมุทรปราการกับจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นการย้ายโดยจำเลยมีสิทธิกระทำได้ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย แม้การย้ายสถานที่ทำงานจะมีผลกระทบต่อชีวิตประจำวันในครอบครัวของผู้ถูกย้ายก็เป็นเรื่องธรรมดา แต่ตำแหน่งใหม่ที่จำเลยสั่งย้ายโจทก์ทั้งสี่ไปทำงานและค่าจ้างที่ได้รับก็ไม่ต่ำกว่าตำแหน่งเดิม เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยมีการกระทำอื่นที่เป็นการกลั่นแกล้งย้ายโจทก์ทั้งสี่ คำสั่งย้ายของจำเลยจึงชอบด้วยข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานและชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทั้งสี่จึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติงานในหน้าที่ ณ หน่วยงานตามคำสั่งย้าย เมื่อโจทก์ทั้งสี่ไม่ไปปฏิบัติงานในหน้าที่ ณ หน่วยงานตามคำสั่งย้ายจึงเป็นการละทิ้งหน้าที่ในตำแหน่งใหม่โดยไม่มีเหตุอันสมควร แม้โจทก์ทั้งสี่จะยังคงปฏิบัติงานตามหน้าที่เดิมที่จังหวัดเชียงใหม่ก็เป็นการละทิ้งหน้าที่ จำเลยให้โจทก์ทั้งสี่ไปปฏิบัติงานในหน้าที่ใหม่ในวันที่ 18 เมษายน 2548 แต่โจทก์ทั้งสี่ไม่ไปจนถึงวันที่ 20 เมษายน 2548 เป็นการละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทำงานติดต่อกัน จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (5)
โจทก์ทั้งสี่ซึ่งเป็นลูกจ้างมีหน้าที่และความรับผิดชอบตามสัญญาจ้างแรงงานและตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่จะต้องปฏิบัติตามคำสั่งย้ายดังกล่าว เมื่อโจทก์ทั้งสี่ไม่ปฏิบัติตามโดยไม่ไปทำงานในหน้าที่ใหม่ ณ หน่วยงานตามคำสั่งย้าย จึงเป็นการกระทำอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ทั้งสี่ จำเลยเลิกจ้างเพราะโจทก์ทั้งสี่ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทำการติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร เป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุสมควร ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งสี่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 36-37/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในเครื่องหมายการค้า: โจทก์พิสูจน์สิทธิในเครื่องหมายการค้า JET และรูปหัวสิงโตไม่ได้ แม้จำเลยขาดการต่ออายุ
โจทก์ฟ้องขอให้แสดงว่า โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทคำว่า JET และรูปหัวสิงโตประดิษฐ์ดีกว่าจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 ทำสัญญาโอนเครื่องหมายการค้าพิพาทให้แก่จำเลยร่วมแล้ว จำเลยร่วมย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียในผลแห่งคดี การที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งยกเลิกการอนุญาตการโอนนั้นยังไม่ถึงขนาดที่จะทำให้สิทธิที่จำเลยที่ 1 กับจำเลยร่วมมีอยู่ต่อกันตามสัญญาโอนเครื่องหมายการค้าเสียไป เพราะเหตุว่าเครื่องหมายการค้าพิพาทยังไม่ได้รับการจดทะเบียน จึงไม่ตกอยู่ภายใต้บังคับแห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง และยังคงถือว่าจำเลยร่วมเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดี หากศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 1 มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทดีกว่าโจทก์ จำเลยร่วมจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 57 (2) ได้
จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้ารูปหัวสิงโตประดิษฐ์ ซึ่งการจดทะเบียนที่เมืองฮ่องกง โจทก์เป็นรายแรกที่ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า JET และรูปหัวสิงโตประดิษฐ์กับสินค้าบุหรี่หลังจากที่มีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เมืองฮ่องกงแล้ว แม้เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ถูกเพิกถอนก็เป็นแต่เพียงจำเลยที่ 1 ขาดจากการเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าโดยนิตินัย แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ยังคงใช้เครื่องหมายการค้าต่อมาในภายหลัง จำเลยที่ 1 ก็อาจเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าโดยพฤตินัยเนื่องจากการใช้ได้
จำเลยที่ 1 ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า JET และรูปหัวสิงโตประดิษฐ์ในการจำหน่ายสินค้าบุหรี่ โดยจำเลยที่ 1 มิได้เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าบุหรี่ดังกล่าวของโจทก์ ย่อมไม่อาจทำให้โจทก์ซึ่งยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารดังกล่าวในประเทศไทยมีสิทธิในการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดีกว่าจำเลยที่ 1 แม้จำเลยที่ 1 จะขาดการต่อทะเบียนเครื่องหมายการค้า และจำเลยที่ 1 ไม่ได้ใช้เครื่องหมายการค้าในประเทศไทยก็ตาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3587/2550 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิรับดอกเบี้ยภาษีมูลค่าเพิ่มจากการยื่นแบบเพิ่มเติมภายใน 3 ปี แม้พ้นกำหนดตามมาตรา 83
จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มเติมพร้อมขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อพ้นกำหนดวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนภาษีที่ขอคืนตาม ป.รัษฎากร มาตรา 83 จึงไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยตามกฎกระทรวงฉบับที่ 161 (พ.ศ.2526) ออกตามความใน ป.รัษฎากร ว่าด้วยการให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากร ข้อ 2 นั้น เห็นว่า กฎกระทรวงดังกล่าว ข้อ 2 วรรคหนึ่งระบุว่า "การคิดดอกเบี้ยตามข้อ 1 จะคิดให้ต่อเมื่อได้มีการยื่นแบบแสดงรายการหรือคำร้องขอคืนเงินภาษีอากรภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดหรือภายในเวลาที่ได้รับการขยายหรือเลื่อนให้" กรณีของโจทก์ปรากฏว่าโจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มครั้งแรกภายในกำหนดเวลาตามกฎหมายแล้ว ต่อมาโจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มเติมพร้อมขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มตามสิทธิของโจทก์ที่บัญญัติไว้ใน ป.รัษฎากร มาตรา 84 ซึ่งการยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มเติมนี้กฎหมายมิได้กำหนดกรอบเวลาไว้ เมื่อโจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มเติมดังกล่าวภายใน 3 ปี นับแต่วันพ้นกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีสำหรับเดือนภาษีนั้นตามมาตรา 84/1 (1) จึงถือว่าโจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดตามกฎกระทรวงดังกล่าวแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในภาษีมูลค่าเพิ่มที่ขอคืนข้ออุทธรณ์ของจำเลยที่ว่า โจทก์จะต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มเติมภายในกำหนดเวลาตาม ป.รัษฎากร มาตรา 83 ด้วย จึงจะมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยนั้นเป็นการขยายความกฎหมายให้เป็นผลร้ายแก่ผู้เสียภาษีอากรซึ่งไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3587/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการได้รับดอกเบี้ยจากการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มเติม แม้ยื่นหลังกำหนดตามมาตรา 83 แต่ยังอยู่ในกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนด
โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มภายในกำหนดเวลาตามกฎหมายแล้ว ต่อมาโจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มเติมพร้อมขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มตามสิทธิของโจทก์ที่บัญญัติไว้ใน ป.รัษฎากร มาตรา 84 ซึ่งการยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มเติมนี้กฎหมายมิได้กำหนดกรอบเวลาไว้ เมื่อโจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มเติมดังกล่าวภายใน 3 ปี นับแต่วันพ้นกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีสำหรับเดือนภาษีนั้น ตามมาตรา 84/1 (1) จึงถือว่าโจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 161 (พ.ศ.2526) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ได้รับเงินคืนภาษีอากรแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในภาษีมูลค่าเพิ่มที่ขอคืน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3075/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องของทายาท: ทายาทมีสิทธิฟ้องคดีแทนผู้ตายได้โดยไม่จำเป็นต้องมีการจัดการมรดกก่อน
โจทก์เป็นบุตรของ ส. ผู้ให้กู้ เมื่อ ส. ถึงแก่ความตาย สิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ ของ ส. ย่อมตกอยู่แก่ทายาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 วรรคหนึ่ง และมาตรา 1600 โจทก์เป็นทายาทผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของ ส. ย่อมมีสิทธิฟ้องคดีได้โดยไม่จำต้องร้องขอจัดการทรัพย์มรดกก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2871/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีละเมิดจากการเดินรถโดยสาร: จำเป็นต้องมีสิทธิโดยตรงตามกฎหมายหรือสัญญาหรือไม่
พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 6 วรรคสอง บัญญัติให้นายทะเบียนกลางเป็นนายทะเบียนประจำกรุงเทพมหานคร เมื่อตามคำฟ้องของโจทก์ได้ความแต่เพียงว่าโจทก์ได้ทำสัญญานำรถโดยสารขนาดเล็กเข้าร่วมเดินรถโดยสารประจำทางกับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ โดยโจทก์ไม่ได้เป็นผู้รับสัมปทานกับรัฐโดยตรงหรือมีอำนาจใด ๆ ตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก หรือได้รับมอบอำนาจจากนายทะเบียนกลางให้ฟ้องหรือดำเนินคดีแก่ผู้ที่กระทำการฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.การขนส่งทางบกที่เกิดขึ้นในเขตกรุงเทพมหานคร โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยซึ่งโจทก์อ้างว่าได้กระทำการฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.การขนส่งทางบก
โจทก์เป็นเพียงผู้หนึ่งที่ได้รับอนุญาตให้นำรถโดยสารขนาดเล็กเข้าร่วมเดินรถโดยสารกับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพเท่านั้น สิทธิในการเดินรถโดยสารในเส้นทางพิพาทยังคงเป็นขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ แม้การที่จำเลยนำรถยนต์ที่สี่ล้อเล็กออกแล่นรับผู้โดยสารทับเส้นทางที่โจทก์ได้รับอนุญาตจากองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพจะเป็นการกระทำละเมิดก็เป็นการละเมิดต่อสิทธิขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายโดยตรงแก่โจทก์ ส่วนสิทธิที่โจทก์มีอยู่ตามสัญญากับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพอย่างไรก็เป็นเรื่องที่โจทก์ต้องไปว่ากล่าวเอาแก่องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2861/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องคืนรถเช่าซื้อ: เลือกใช้สิทธิจากสัญญาหรือสิทธิเรียกทรัพย์คืนได้
จำเลยทั้งสองผิดสัญญาเช่าซื้อ โจทก์ผู้ให้เช่าซื้อย่อมมีสิทธิเรียกรถคืนโดยอาศัยมูลหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อซึ่งกฎหมายไม่ได้กำหนดอายุความเรื่องนี้ไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 หรือเรียกคืนรถโดยใช้สิทธิในฐานะเรียกทรัพย์สินคืนจากผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ ซึ่งไม่มีกำหนดอายุความเรียกคืนทรัพย์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 แล้วแต่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้จะเลือกฟ้อง โดยอาศัยมูลหนี้ใดที่เป็นประโยชน์แก่ตน เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้ขอให้จำเลยทั้งสองคืนรถที่เช่าซื้อหรือหากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน จึงเป็นการฟ้องโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อ ซึ่งมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. 193/30

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2562/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในการบังคับคดีสงวนเฉพาะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ผู้มีสิทธิอื่นไม่อาจสวมสิทธิได้
การบังคับคดีนั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 บัญญัติให้บุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะเท่านั้นที่จะต้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง ผู้ร้องไม่ใช่บุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะจึงไม่มีสิทธิตามกฎหมายดังกล่าว ทั้งไม่ใช่กรณีที่เจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 233 ซึ่งหมายถึง การใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลโดยให้เจ้าหนี้เป็นโจทก์ฟ้องในนามของเจ้าหนี้แทนลูกหนี้ได้ รวมทั้งเรียกลูกหนี้ให้เข้ามาในคดีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 234 มิใช่เข้าสวมสิทธิในการบังคับคดีของลูกหนี้ซึ่งเป็นสิทธิที่กฎหมายกำหนดให้เป็นสิทธิแก่บุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะดังกล่าวมาแล้ว
of 424