คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
สิทธิ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4,231 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1336/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในทรัพย์ของกลางของผู้รับจำนำในคดีอาญา: การดำเนินการทางแพ่งเพื่อคุ้มครองสิทธิ
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้คืนของกลางรวม 80 รายการ ให้แก่ผู้ร้อง โดยอ้างว่าทรัพย์ของกลางดังกล่าวตกเป็นสิทธิแก่ผู้ร้องตามกฎหมายแล้ว ผู้ร้องรับจำนำไว้โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ซึ่งแม้ตามคำร้องขอจะไม่ต้องด้วยกรณีตาม ป.อ. มาตรา 36 แต่ตามคำร้อง ผู้ร้องประสงค์จะได้รับทรัพย์ของกลางคืนมาเป็นของผู้ร้อง เมื่อคดีนี้มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยเพียงว่า จำเลยทั้งสองร่วมกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ซึ่งหากข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันลักทรัพย์ของโจทก์ร่วม ในการทำคำพิพากษา ศาลก็ต้องมีคำวินิจฉัยในส่วนทรัพย์ของกลางว่าให้คืนแก่โจทก์ร่วม ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 186 (9) ประกอบมาตรา 44 หากผู้ร้องมีข้อโต้แย้งสิทธิด้วยเห็นว่าตนเป็นเจ้าของทรัพย์ของกลางที่แท้จริงก็ชอบที่จะไปดำเนินการตาม ป.วิ.อ. มาตรา 48 วรรคท้าย ด้วยการฟ้องเป็นคดีแพ่งต่อศาลที่มีอำนาจชำระตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ ประกอบกับการเป็นคู่ความในคดีอาญานั้น ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (15) บัญญัติคำนิยามของคำว่าคู่ความไว้ว่าหมายความถึงโจทก์ฝ่ายหนึ่งและจำเลยฝ่ายหนึ่งเท่านั้น ไม่มีคู่ความฝ่ายที่สาม ผู้ร้องจึงไม่อาจยื่นคำร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความในกรณีเช่นว่านี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1323/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิใช้ทางจำเป็นต้องพิสูจน์สภาพข้อเท็จจริงก่อนกระทำการรังวัดในที่ดินของผู้อื่น การกระทำดังกล่าวอาจเป็นความผิดฐานบุกรุก
แม้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 และมาตรา 1350 จะบัญญัติให้เจ้าของที่ดินแปลงที่ถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงสาธารณะได้ สามารถที่จะผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะได้ ซึ่งสิทธิในการใช้ทางจำเป็นเป็นสิทธิที่เกิดขึ้นโดยผลของกฎหมายก็ตาม แต่บทบัญญัติดังกล่าวเป็นเพียงข้อจำกัดสิทธิของเจ้าของที่ดินแปลงที่ล้อมที่ดินของผู้อื่นจนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้ต้องยอมให้เจ้าของที่ดินแปลงที่ถูกล้อมใช้ทางผ่านที่ดินของตนเพื่อออกไปสู่ทางสาธารณะได้เท่านั้น ไม่ใช่บทบัญญัติที่เป็นการให้สิทธิแก่เจ้าของที่ดินแปลงที่ถูกล้อมที่จะเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นหรือกระทำการใด ๆ ในที่ดินของผู้อื่นได้โดยพลการ ทั้งสิทธิในการใช้ทางจำเป็นตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว จะต้องพิจารณาจากสภาพความจริงในขณะนั้นว่าเข้าเงื่อนไขตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 1349 และมาตรา 1350 บัญญัติไว้หรือไม่ด้วย
ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินแปลงที่ล้อมที่ดินของผู้อื่น และจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินแปลงที่ถูกล้อมยังคงมีข้อโต้เถียงในข้อเท็จจริงกันอยู่ว่าที่ดินของจำเลยที่ 1 ถูกที่ดินของผู้เสียหายล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะได้จริงหรือไม่ จึงจำต้องให้ศาลในคดีแพ่งชี้ขาดข้อเท็จจริงให้รับฟังเป็นยุติก่อนว่าตามสภาพของที่ดินพิพาทในขณะนั้นเข้าเงื่อนไขเป็นทางจำเป็นซึ่งจำเลยที่ 1 มีสิทธิที่จะใช้ทางนั้นได้ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวหรือไม่ การที่จำเลยทั้งสองเข้าไปรังวัดและถ่ายรูปทางในที่ดินของผู้เสียหายโดยพลการ จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งถือเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายโดยปกติสุขอันเป็นความผิดฐานบุกรุก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1238/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าตอบแทนตัวแทนประกันภัย: สิทธิเมื่อสัญญาตัวแทนสิ้นสุดลง และการได้รับประโยชน์จากผลงานที่ทำสำเร็จแล้ว
เมื่อพิเคราะห์สัญญาตัวแทนประกันชีวิตสามัญ ข้อ 4.1 ที่ระบุว่า ตัวแทนประกันชีวิตจะได้รับผลประโยชน์หรือค่าตอบแทนจากสัญญาประกันชีวิตที่ตัวแทนประกันชีวิตหามาได้ ตามคำสั่งหรือประกาศหรือระเบียบเกี่ยวกับการจ่ายผลประโยชน์หรือค่าตอบแทนของตัวแทนประกันชีวิตตามที่บริษัทกำหนด เฉพาะสัญญาประกันชีวิตที่บริษัทได้ออกกรมธรรม์และได้มีการชำระเบี้ยประกันภัยแล้ว กับสัญญาข้อ 9.4 ที่ระบุว่า เมื่อสัญญาตัวแทนประกันชีวิตสิ้นสุดลง ตัวแทนประกันชีวิตไม่มีสิทธิจะได้รับผลประโยชน์หรือค่าตอบแทนใด ๆ จากผลงานที่ได้ทำให้ไว้กับบริษัทอีกต่อไป ประกอบกันแล้ว กรณีที่สัญญาตัวแทนประกันชีวิตสิ้นสุดลงอันจะเป็นผลให้ตัวแทนประกันชีวิตไม่มีสิทธิได้รับผลประโยชน์หรือค่าตอบแทนใด ๆ จากผลงานที่ตนได้ทำให้ไว้กับจำเลยอีกต่อไปนั้น ย่อมหมายถึงกรณีผลงานที่ตัวแทนประกันชีวิตได้ทำไว้เป็นเพียงแต่หาผู้เข้าทำสัญญาประกันชีวิตหรือขายประกันชีวิตได้ แต่บริษัทยังไม่ได้ออกกรมธรรม์ประกันชีวิตให้แก่ผู้เอาประกันชีวิตและผู้เอาประกันชีวิตยังไม่ได้ชำระเบี้ยประกันชีวิตให้แก่บริษัท หรือผลงานที่ตัวแทนประกันชีวิตทำไว้แต่ยังไม่ถึงกำหนดจ่ายผลประโยชน์หรือค่าตอบแทน แต่สัญญาตัวแทนประกันชีวิตสิ้นสุดลงเสียก่อน หากผู้เอาประกันชีวิตได้ชำระเบี้ยประกันชีวิตและบริษัทออกกรมธรรม์ประกันชีวิตให้แก่ผู้เอาประกันชีวิตภายหลังจากนั้นหรือถึงกำหนดจ่ายผลประโยชน์หรือค่าตอบแทนภายหลังจากนั้น ตัวแทนประกันชีวิตย่อมไม่มีสิทธิได้รับผลประโยชน์หรือค่าตอบแทนใด ๆ จากประกันชีวิตที่หามาได้เหล่านั้นอีก สัญญาข้อ 9.4 จึงหาใช่ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมดังที่โจทก์ฎีกา แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าการขายกรมธรรม์ประกันชีวิตทั้ง 9 ราย ของโจทก์เป็นการขายกรมธรรม์ประกันชีวิตโดยชอบตามสัญญาตัวแทนประกันชีวิตและจำเลยได้รับชำระเบี้ยประกันชีวิตกับได้ออกกรมธรรม์ประกันชีวิตทั้ง 9 ราย ตามฟ้องให้แก่ผู้เอาประกันชีวิตแล้วก่อนที่จำเลยจะบอกเลิกสัญญาตัวแทนประกันชีวิตสามัญกับโจทก์ ถือว่าจำเลยได้รับประโยชน์จากการที่โจทก์เป็นนายหน้าอันเป็นการงานที่โจทก์ทำให้แก่จำเลยและถึงกำหนดที่จะต้องจ่ายผลประโยชน์หรือค่าตอบแทนแก่โจทก์ก่อนที่สัญญาตัวแทนประกันชีวิตสามัญสิ้นสุดลง โจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับผลประโยชน์หรือค่าตอบแทนใด ๆ อันเป็นค่าแห่งการงานที่โจทก์ทำให้แก่จำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคสาม สัญญาข้อ 9.4 จึงหาใช่เป็นกรณีที่โจทก์ยอมสละสิทธิเรียกร้องค่าแห่งการงานที่โจทก์มีต่อจำเลยทั้งหมดตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไม่ จำเลยจึงต้องรับผิดชำระเงินค่าผลประโยชน์และค่าตอบแทนต่าง ๆ ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 853/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิผู้รับจำนองเมื่อมีการบังคับคดี: ผู้รับจำนองมีสิทธิได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้อื่น
ถ้าจำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษามิได้ปฏิบัติตามคำบังคับที่ออกตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลทั้งหมดหรือบางส่วน โจทก์หรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาชอบที่จะร้องขอให้มีการบังคับคดีโดยวิธียึดทรัพย์สิน อายัดสิทธิเรียกร้องหรือบังคับคดีโดยวิธีอื่น ตาม ป.วิ.พ. ภาค 4 ลักษณะ 2 การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง แต่การบังคับคดีดังกล่าวต้องไม่กระทบกระทั่งถึงทรัพยสิทธิ บุริมสิทธิ สิทธิยึดหน่วง หรือสิทธิอื่นของบุคคลภายนอกหรือบุคคลใดที่มีอยู่เหนือสิทธินั้น ตาม ป.วิ.พ. ภาค 4 ลักษณะ 2 หมวด 2 ส่วนที่ 6 สิทธิของบุคคลภายนอกและผู้มีส่วนได้เสียเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ถูกบังคับคดี ได้ความว่า จำเลยที่ 14 ผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้ง 69 แปลง ที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดในคดีนี้ นำที่ดินดังกล่าวไปจดทะเบียนจำนองเป็นประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 12 ต่อธนาคาร พ. ต่อมาผู้ร้องรับโอนสิทธิเรียกร้องของธนาคาร พ. ที่มีต่อจำเลยที่ 12 ทั้งหมด และมีการจดทะเบียนการโอนสิทธิเรียกร้องต่อเจ้าพนักงาน ดังนี้ เมื่อผู้ร้องได้รับโอนสิทธิเรียกร้องทั้งปวงที่ธนาคาร พ. มีต่อจำเลยที่ 12 หากธนาคาร พ. มีสิทธิในฐานะผู้รับจำนองแก่ทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 14 ซึ่งจดทะเบียนจำนองเป็นประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 12 อย่างไร ผู้ร้องย่อมรับโอนสิทธิเรียกร้องในฐานะผู้รับจำนองทรัพย์ดังกล่าวด้วย และสิทธิในฐานะผู้รับจำนองดังกล่าวของผู้ร้องย่อมได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 324 (1) ซึ่งบัญญัติให้บุคคลใดที่มีสิทธิจะได้รับชำระหนี้ในกรณีเป็นผู้รับจำนอง บุคคลนั้นอาจยื่นคำร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีนำเงินที่ได้จากการขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินนั้นมาชำระหนี้แก่ตนก่อนเจ้าหนี้อื่นได้ โดยบทบัญญัติดังกล่าวมิได้มีข้อจำกัดว่าบุคคลนั้นจะต้องเป็นบุคคลภายนอกเหมือนเช่นมาตรา 322 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่คุ้มครองสิทธิของบุคคลภายนอกที่อาจจะได้รับการกระทบกระทั่งจากการบังคับคดี แตกต่างกับสิทธิของบุคคลตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 324 ดังจะเห็นได้ว่าบทบัญญัติมาตรา 322 บัญญัติไว้แต่ต้นว่าเป็นกรณีภายใต้บังคับบทบัญญัติมาตรา 324 ซึ่งมีความหมายว่าการบังคับใช้บทบัญญัติมาตรา 322 เป็นกรณีนอกเหนือจากสิทธิที่บัญญัติไว้ตามมาตรา 324 ผู้ร้องเป็นผู้รับจำนองที่ดิน 69 แปลง อันเป็นสิทธิตามกฎหมายสารบัญญัติที่กฎหมายให้การรับรองคุ้มครอง ดังนั้น แม้ผู้ร้องจะมีฐานะเป็นจำเลยที่ 13 ในคดี ก็ไม่ต้องห้ามที่จะยื่นคำร้องขอให้คุ้มครองสิทธิของตนในฐานะผู้รับจำนองได้ และการที่อนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้จากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินทั้ง 69 แปลง ก่อนเจ้าหนี้อื่นก็หาได้กระทบต่อสิทธิของโจทก์ในอันที่จะบังคับคดีแก่เงินจำนวนดังกล่าวในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของผู้ร้องแต่อย่างใด เพราะโจทก์ยังสามารถร้องขอให้บังคับคดีแก่เงินที่ได้จากการขายทอดตลาดนั้นได้ตามกฎหมายอยู่แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5856/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นในคดีชู้สาว ต้องมีพฤติการณ์เปิดเผยความสัมพันธ์
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า "สามีจะเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งล่วงเกินภริยาไปในทำนองชู้สาวก็ได้และภริยาจะเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวก็ได้" จากบทบัญญัติดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า การที่ภริยาเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นโดยไม่มีเงื่อนไขต้องฟ้องหย่าสามีมาด้วยนั้น ต้องปรากฏพฤติการณ์ด้วยว่าหญิงอื่นนั้นได้แสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์กับสามีโจทก์อย่างไร เมื่อโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยมีพฤติการณ์แสดงตนโดยเปิดเผยอย่างไร อันเป็นประเด็นแห่งคดีที่โจทก์จะนำสืบถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าทดแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5437/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการเสนอราคาในคดีล้มละลาย: การบังคับใช้สิทธิของเจ้าหนี้ผู้รับจำนองในการเข้าเสนอราคาและการเพิกถอนการขายทอดตลาด
ประกาศขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มิได้ระบุเงื่อนไขการเข้าเสนอราคาให้ชัดแจ้งว่า ผู้เข้าเสนอราคาที่เป็นผู้มีสิทธิขอหักส่วนได้ใช้แทนนั้นต้องเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิเหนือที่ดินที่ขายตามคำชี้ขาดของศาลดังเช่นที่กำหนดไว้ในระเบียบกระทรวงยุติธรรม ว่าด้วยการบังคับคดีของเจ้าพนักงานบังคับคดี พ.ศ. 2522 ข้อ 79 ทั้งในประกาศขายทอดตลาดมีข้อความระบุไว้ว่า "ที่ดินที่จะขายติดจำนองบริษัทบริหารสินทรัพย์ อ. เจ้าหนี้ตามมาตรา 95" เป็นการแสดงให้เห็นแล้วว่าผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองและเป็นผู้มีสิทธิขอหักส่วนได้ใช้แทนตามประกาศขายทอดตลาดดังกล่าว ที่ผู้ร้องมิได้วางหลักประกันก่อนเข้าเสนอราคาเนื่องจากเห็นว่าตนเป็นผู้มีสิทธิขอหักส่วนได้ใช้แทนจึงชอบแล้ว การที่ผู้คัดค้านที่ 1 ไม่ให้ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองเข้าสู้ราคาโดยอ้างว่าผู้ร้องมิใช่ผู้สิทธิหักส่วนได้ใช้แทน ย่อมทำให้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีไม่มีสิทธิเต็มที่ในการเข้าสู้ราคาไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 331 วรรคสาม การขายทอดตลาดของผู้คัดค้านที่ 1 จึงฝ่าฝืนกฎหมาย ศาลย่อมมีอำนาจสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 295 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 14

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4836/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยผู้เช่าซื้อ และสิทธิในการเรียกร้องค่าขาดราคา
การที่จำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดแรก ต่อมาจำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนให้แก่โจทก์ผู้ให้เช่าซื้อโดยไม่ปรากฏว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีข้อพิพาทโต้แย้งในส่วนที่เกี่ยวกับรถยนต์ที่เช่าซื้อกัน พฤติการณ์แสดงให้เห็นว่าเป็นเพราะจำเลยที่ 1 ไม่สามารถชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์ได้ และที่ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนให้แก่โจทก์ภายหลังจากที่ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ บ่งชี้ถึงเจตนาที่แสดงว่าจำเลยที่ 1 ต้องการที่จะเลิกสัญญาเช่าซื้อ เช่นนี้ แม้จำเลยที่ 1 ได้ชื่อว่าเป็นลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ และสัญญาเช่าซื้อไม่มีข้อตกลงให้สิทธิจำเลยที่ 1 บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อต่อโจทก์ได้ จำเลยที่ 1 ก็ยังบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อต่อโจทก์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 573 ที่บัญญัติว่า ผู้เช่าจะบอกเลิกสัญญาในเวลาใดเวลาหนึ่งก็ได้ ด้วยส่งมอบทรัพย์สินกลับคืนให้แก่เจ้าของโดยเสียค่าใช้จ่ายของตนเอง อันเป็นบทบัญญัติกำหนดสิทธิและวิธีบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยผู้เช่าซื้อไว้เป็นการเฉพาะนอกจากการเลิกสัญญาตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. บรรพ 2 ลักษณะ 2 สัญญา หมวด 4 ดังนั้น ที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนให้แก่โจทก์โดยมีเจตนาจะเลิกสัญญา และโจทก์รับมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อไว้ สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเป็นอันเลิกกันด้วยเหตุที่จำเลยที่ 1 ซึ่งผิดนัดเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาตาม ป.พ.พ. มาตรา 573 พฤติการณ์แห่งคดีหาใช่เป็นกรณีที่โจทก์และจำเลยที่ 1 สมัครใจเลิกสัญญากันโดยปริยาย โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าขาดราคาตามข้อกำหนดและเงื่อนไขในสัญญาเช่าซื้อรถยนต์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4252/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคัดค้านอนุญาโตตุลาการ: สิทธิในการยื่นคำร้องต่อศาลแม้มีข้อตกลงอนุญาโตตุลาการ
แม้ พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 20 วรรคหนึ่ง และที่ผู้ร้องกับผู้คัดค้านตกลงกันร่วมกันให้ใช้ข้อบังคับสำนักงานศาลยุติธรรมว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ สถาบันอนุญาโตตุลาการ สำหรับการดำเนินกระบวนพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการ ซึ่งตามข้อบังคับดังกล่าวข้อ 23 วรรคหนึ่ง อันถือเป็นกรณีที่คู่พิพาทได้ตกลงกันไว้ โดยผู้ร้องและผู้คัดค้านต้องผูกพันกระบวนการคัดค้านอนุญาโตตุลาการตามข้อบังคับดังกล่าวก็ตาม แต่ พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 20 วรรคสอง ตอนต้น หมายความว่า ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่มีการวินิจฉัยคำคัดค้านของอนุญาโตตุลาการโดยวิธีการตามข้อบังคับของสถาบันอนุญาโตตุลาการข้างต้น หรือเป็นกรณีที่คู่พิพาทมิได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นซึ่งต้องดำเนินการตามมาตรา 20 วรรคหนึ่ง หากการคัดค้านไม่บรรลุผล คู่พิพาทฝ่ายที่คัดค้านย่อมสามารถยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลได้ และข้อบังคับข้อ 23 หมายความเพียงว่า เป็นที่สุดสำหรับกระบวนพิจารณาในชั้นอนุญาโตตุลาการเท่านั้น หาใช่การตัดสิทธิคู่พิพาทฝ่ายที่คัดค้านมิให้สิทธิทางศาลตามที่ พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 20 วรรคสอง บัญญัติไว้แต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4008/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนี้ร่วมจากการกู้ยืมเงินและผลของการประนีประนอมยอมความต่อสิทธิของผู้ค้ำประกัน
การที่จำเลยที่ 1 ยื่นแบบคำขอกู้และรับรองสิทธิโครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค. ระบุวัตถุประสงค์ไว้ในข้อ 3 ว่า เพื่อชำระหนี้และทุนการศึกษาบุตร แสดงว่าหนี้ที่จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินดังกล่าวเป็นหนี้เกี่ยวแก่การศึกษาของบุตรตามสมควรแก่อัตภาพ โดยจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อรับรองสำเนาถูกต้องในสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนแนบท้ายแบบคำขอกู้ดังกล่าว อันแสดงว่าจำเลยที่ 2 ยินยอมให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นภริยาทำสัญญากู้ยืมเงิน ดังนั้น หนี้ที่จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินดังกล่าวจึงเป็นหนี้ร่วมระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1490 (1) ซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องร่วมกันรับผิดต่อธนาคาร อ. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1489 แต่เมื่อได้ความว่า ในคดีที่ธนาคาร อ. ฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้กู้ และ ท. กับโจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกันเป็นจำเลยต่อศาลจังหวัดพะเยานั้น ต่อมา ธนาคาร อ. จำเลยที่ 1 ท. และโจทก์ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมและคดีถึงที่สุดแล้ว ผลของสัญญาประนีประนอมยอมความย่อมทำให้สิทธิเรียกร้องตามสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวระงับสิ้นไป โดยธนาคาร อ. ได้ถือสิทธิใหม่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 852 การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นภริยาของจำเลยที่ 2 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับธนาคาร อ. โดยจำเลยที่ 2 ไม่ได้ร่วมด้วย สัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ไม่ใช่คู่สัญญาในสัญญาประนีประนอมยอมความ จึงไม่มีสิทธิและหน้าที่ตามสัญญากับโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 เพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ยตาม ป.พ.พ. มาตรา 693 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2128/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแบ่งมรดกไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทายาทมีสิทธิในทรัพย์มรดกเท่ากัน โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
ป.พ.พ. มาตรา 1750 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า การแบ่งปันทรัพย์มรดกนั้น อาจทำได้โดยทายาทต่างเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นส่วนสัด หรือโดยการขายทรัพย์มรดกแล้วเอาเงินที่ขายได้มาแบ่งปันกันระหว่างทายาท วรรคสอง บัญญัติว่า ถ้าการแบ่งมิได้เป็นไปตามวรรคก่อน แต่ได้ทำโดยสัญญา จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ เว้นแต่จะมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใด ลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดหรือตัวแทนของฝ่ายนั้นเป็นสำคัญ ในกรณีเช่นนี้ให้นำมาตรา 850, 852 แห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยประนีประนอมยอมความมาใช้บังคับโดยอนุโลม เห็นว่า การแบ่งปันทรัพย์มรดกนั้น ป.พ.พ. บรรพ 6 ลักษณะ 4 หมวด 3 บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ตามหลักกฎหมายดังกล่าวแบ่งได้ 3 วิธี กล่าวคือ 1) โดยทายาทต่างเข้าครอบครองเป็นส่วนสัด ด้วยการแบ่งตัวทรัพย์ตามความยินยอมโดยตรงหรือโดยปริยายและต่างเข้าครอบครองตามทรัพย์มรดกที่ได้รับแบ่งนั้น กรณีนี้ไม่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือก็บังคับได้ 2) โดยการขายทรัพย์มรดกแล้วเอาเงินที่ขายได้แบ่งปันกันระหว่างทายาท กรณีเกิดจากทายาทผู้มีสิทธิในทรัพย์มรดกไม่อาจแบ่งตัวทรัพย์กันได้ การขายอาจตกลงกันว่าให้ประมูลกันระหว่างทายาท หรือประกาศขายหรือถ้าตกลงกันไม่ได้ก็ต้องนำคดีมาฟ้องเรียกให้แบ่งมรดกโดยขอให้ศาลพิพากษาให้แบ่งระหว่างเจ้าของรวม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1364 และ 3) การแบ่งปันทรัพย์มรดกโดยสัญญาที่มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดหรือตัวแทนของฝ่ายนั้นเป็นสำคัญ มิเช่นนั้นจะฟ้องร้องบังคับคดีหาได้ไม่ เมื่อโจทก์ยืนยันตามที่บรรยายฟ้องว่า ฉ. และ ล. ในฐานะผู้จัดการมรดกได้นัดประชุมทายาทโดยธรรมของ พ. เพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก ในวันนัดมีโจทก์ และทายาททุกคนยกเว้นจำเลยมาประชุมโดยพร้อมกัน ที่ประชุมตกลงให้มีการจับฉลากแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททุกคนในสัดส่วนเท่า ๆ กัน เมื่อจำเลยไม่มาประชุม ที่ประชุมจึงมอบหมายให้ ล. เป็นผู้จับฉลากแทน เมื่อการแบ่งปันทรัพย์มรดกโดย ฉ. และ ล. ในฐานะผู้จัดการมรดกนั้น มิชอบด้วย ป.พ.พ. บรรพ 6 ลักษณะ 4 หมวด 3 ที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะตามหลักกฎหมายข้างต้น แม้ ฉ. และ ล. ในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนโอนที่พิพาทให้แก่โจทก์แล้ว ที่พิพาทก็ยังเป็นทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่งซึ่งจำเลยผู้เป็นทายาทด้วยกันย่อมมีส่วนกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทเท่ากันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1745, 1746 และย่อมมีสิทธิครอบครองและใช้ประโยชน์ในที่พิพาทได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1360 วรรคหนึ่ง โจทก์ไม่อาจอ้างความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้ กรณีตามคำฟ้องถือว่ายังไม่มีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของจำเลยต่อโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ทั้งข้ออ้างอันเป็นหลักแห่งข้อหาตามฟ้องมิใช่เรื่องขอแบ่งมรดกในอันที่ศาลจะพิจารณาพิพากษาให้ได้ เพราะเป็นการเกินไปกว่าหรือนอกเหนือจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
of 424