คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ทนายความ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 429 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 986/2563 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 986/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขยายเวลาอุทธรณ์และการสิ้นสุดอำนาจทนายความ: ศาลฎีกาพิจารณาความถูกต้องของกระบวนการพิจารณาคดี
โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2560 ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2560 ซึ่งเป็นวันที่ภายหลังจากวันที่ระบุหลังบัตรประจำตัวสมาชิกสภาทนายความหมดอายุ ทั้งทนายโจทก์ร่วมยังยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์อีกเป็นครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2561 โดยครั้งนี้ศาลชั้นต้นระบุว่าอนุญาตเป็นครั้งสุดท้ายถึงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2561 ครั้นถึงวันครบกำหนดโจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์เป็นครั้งที่ 4 ศาลชั้นต้นเห็นว่าโจทก์ร่วมอ้างเหตุเดิมเช่นเดียวกับครั้งก่อนและเหตุตามคำร้องไม่ใช่พฤติการณ์พิเศษ ให้ยกคำร้อง อันเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมอุทธรณ์คำสั่งไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 1 ดังนั้น จึงมีประเด็นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมเพียงว่ามีพฤติการณ์พิเศษที่จะขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้แก่โจทก์ร่วมหรือไม่ ไม่มีประเด็นว่าใบอนุญาตให้เป็นทนายความของทนายโจทก์ร่วมหมดอายุแล้ว ทนายโจทก์ร่วมไม่มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ แทนโจทก์ร่วม หากศาลอุทธรณ์ภาค 1 ต้องการหยิบยกว่าใบอนุญาตให้เป็นทนายความของทนายโจทก์ร่วมหมดอายุแล้ว ทนายโจทก์ร่วมไม่มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ แทนโจทก์ร่วม โดยเห็นว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลอุทธรณ์ภาค 1 สมควรฟังข้อเท็จจริงที่นำไปสู่การวินิจฉัยข้อกฎหมายให้แน่ชัดเสียก่อนว่าทนายโจทก์ร่วมได้มีการต่ออายุใบอนุญาตให้เป็นทนายความหรือไม่ เมื่อคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกา ปรากฏว่าทนายโจทก์ร่วมได้แสดงหลักฐานว่ามีการต่ออายุใบอนุญาตให้เป็นทนายความแล้ว โดยบัตรประจำตัวสมาชิกสภาทนายความระบุวันออก 19 ธันวาคม 2560 วันหมดอายุ 19 ธันวาคม 2562 ซึ่งเป็นเวลาต่อเนื่องจากบัตรเดิมที่หมดอายุวันที่ 19 ธันวาคม 2560 ทนายโจทก์ร่วมจึงมิใช่เป็นผู้ที่ขาดจากการเป็นทนายความและมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 แทนโจทก์ร่วมได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมและยกคำสั่งศาลชั้นต้นในคำร้องของทนายโจทก์ร่วมเริ่มตั้งแต่ลงวันที่ 20 ธันวาคม 2560 เป็นต้นมาทุกคำสั่ง เพราะเหตุใบอนุญาตให้เป็นทนายความของทนายโจทก์ร่วมหมดอายุนั้น เป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3571/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ต้องพิจารณาเหตุสุดวิสัย ความบกพร่องของทนายความไม่ใช่เหตุ
การพิจารณาว่ามีเหตุที่จะอนุญาตให้โจทก์ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ได้หรือไม่ต้องพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ว่า เหตุที่โจทก์อ้างเป็นพฤติการณ์พิเศษหรือไม่ และมีเหตุสุดวิสัยที่โจทก์ไม่สามารถยื่นคำร้องขอภายในกำหนดหรือไม่
ศาลชั้นต้นให้โอกาสโจทก์ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์มาแล้ว 2 ครั้ง เป็นเวลาเกือบ 3 เดือน ย่อมอยู่ในวิสัยที่ทนายโจทก์จะเรียงอุทธรณ์ให้ทันภายในกำหนดเพราะทราบเรื่องดีอยู่แล้ว การที่ทนายโจทก์ยื่นฎีกาว่า ทนายโจทก์เสร็จคดีที่ศาลจังหวัดกาญจนบุรีในเวลาประมาณ 15 นาฬิกา และมีลูกความโทรศัพท์ให้ไปรับเอกสาร ทั้งที่ทนายโจทก์ทราบดีอยู่แล้วว่าต้องรีบดำเนินการยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ในวันดังกล่าวก่อนเวลาปิดทำการปกติของศาล แต่ทนายโจทก์กลับเดินทางไปรับเอกสารจากคู่ความที่ตำบลลาดหญ้า ห่างจากตัวจังหวัดกาญจนบุรีประมาณ 20 กิโลเมตร แสดงว่าทนายโจทก์มิได้สนใจติดต่อศาลชั้นต้น ข้ออ้างว่ารถยนต์ของทนายโจทก์เสียระหว่างเดินทาง ทำให้ไม่สามารถเดินทางมาที่ทำการไปรษณีย์จังหวัดกาญจนบุรีได้ทันเวลาทำการปกติของศาล จึงเกิดจากความบกพร่องของทนายโจทก์เอง ถือไม่ได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัยที่ทำให้ไม่สามารถยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ก่อนระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายสิ้นสุดลง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2483/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแต่งฟ้องฎีกาโดยผู้มิได้มีใบอนุญาตทนายความและมิใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
พ.ร.บ.ทนายความ พ.ศ.2528 มาตรา 33 บัญญัติว่า "ห้ามมิให้ผู้ซึ่งไม่ได้จดทะเบียนและรับใบอนุญาต หรือผู้ซึ่งขาดจากการเป็นทนายความหรือต้องห้ามทำการเป็นทนายความว่าความในศาล หรือแต่งฟ้อง คำให้การ ฟ้องอุทธรณ์ แก้อุทธรณ์ ฟ้องฎีกา แก้ฎีกา คำร้อง หรือคำแถลงอันเกี่ยวแก่การพิจารณาคดีในศาลให้แก่บุคคลอื่น ทั้งนี้ เว้นแต่จะได้กระทำในฐานะเป็นข้าราชการผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่หรือเป็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐ องค์การของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ ผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่หรือมีอำนาจหน้าที่กระทำได้โดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความหรือกฎหมายอื่น" ตามบทบัญญัติดังกล่าว นอกจากทนายความและข้าราชการผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่แล้ว ข้อความตอนท้ายที่ว่า "ผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่หรือมีอำนาจหน้าที่กระทำได้โดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความหรือกฎหมายอื่น" หมายถึงเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐ องค์การของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ เท่านั้น ที่จะทำการเป็นทนายความรวมถึงแต่งฟ้อง คำให้การ ฟ้องอุทธรณ์ แก้อุทธรณ์ ฟ้องฎีกา แก้ฎีกา คำร้อง หรือคำแถลงอันเกี่ยวแก่การพิจารณาคดีในศาลให้แก่บุคคลอื่นได้ ดังนั้น แม้โจทก์จะทำหนังสือมอบอำนาจให้ ส. แต่งฟ้อง ฟ้องอุทธรณ์ ฟ้องฎีกา ได้ แต่ ส. มิใช่คู่ความตามความหมายที่ ป.วิ.อ. มาตรา 2 (15) บัญญัติไว้ และเมื่อไม่ปรากฏว่า ส. จดทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นทนายความ หรือเป็นข้าราชการผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่หรือเป็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐ องค์การของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ ผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่หรือมีอำนาจหน้าที่กระทำได้โดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความหรือกฎหมายอื่น ย่อมไม่อาจแต่งฟ้องฎีกาได้ การที่ ส. ลงชื่อเป็นผู้เรียงในฎีกาของโจทก์ ซึ่งมีความหมายว่าเป็นผู้แต่งฟ้องฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าวจึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2107/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำความผิดพยายามฆ่า, พยานหลักฐาน, และการสอบสวนโดยไม่จัดหาทนายความ
ป.วิ.อ. มาตรา 134/1 วรรคสอง บัญญัติว่า "ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุก ก่อนเริ่มถามคำให้การให้พนักงานสอบสวนถามผู้ต้องหาว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีและผู้ต้องหาต้องการทนายความ ให้รัฐจัดหาทนายความให้" ปรากฏตามบันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนของผู้ต้องหาว่า พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาและแจ้งสิทธิของผู้ต้องหาให้จำเลยทราบ และสอบถามเรื่องทนายความหรือผู้ที่ไว้วางใจเข้ารับฟังการสอบสวนแล้ว จำเลยให้การว่าไม่มีและไม่ต้องการทนายความหรือผู้ที่ไว้วางใจเข้ารับฟังการสอบสวน การที่พนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนจำเลยโดยไม่ได้จัดหาทนายความให้ตามคำให้การดังกล่าว จึงเป็นการสอบสวนที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ส่วนมาตรา 134/4 วรรคท้าย บัญญัติไว้เพียงว่า ถ้อยคำใด ๆ ที่ผู้ต้องหาให้ไว้ต่อพนักงานสอบสวนก่อนมีการแจ้งสิทธิตามวรรคหนึ่ง หรือก่อนที่จะดำเนินการตามมาตรา 134/1 จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้นั้นไม่ได้ ฉะนั้น แม้พนักงานสอบสวนจะจัดหาหรือไม่จัดหาทนายความให้จำเลยก็ไม่ทำให้การสอบสวนไม่ชอบ เมื่อมีการสอบสวนแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1526/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เหตุสุดวิสัยขยายเวลาอุทธรณ์: การติดต่อทนายความและการเปิดทำการศาลเป็นปัจจัยที่สามารถดำเนินการได้
ผู้ร้องทั้งสองทราบกำหนดนัดและผลคดีรวมทั้งสามารถติดต่อสื่อสารกับทนายของผู้ร้องทั้งสองได้โดยตลอด แม้ผู้ร้องทั้งสองอยู่ที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว แต่ผู้ร้องทั้งสองมีทนายความในประเทศไทยที่มีอำนาจดำเนินคดีแทน และผู้ร้องทั้งสองสามารถติดต่อกับทนายความได้ ประกอบกับศาลชั้นต้นก็ยังคงเปิดทำการอยู่ เช่นนี้ ทนายความของผู้ร้องทั้งสองย่อมสามารถดำเนินการขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ได้ การที่ผู้ร้องทั้งสองมิได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ภายในกำหนดจึงถือไม่ได้ว่าเป็นกรณีมีเหตุสุดวิสัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3588/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจการดำเนินคดีของบุคคลที่ไม่ได้เป็นทนายความ การแก้ไขคำฟ้องอุทธรณ์ และการปฏิบัติหน้าที่ของศาลตามกฎหมาย
มูลเหตุที่ศาลชั้นต้นไม่รับคำแก้อุทธรณ์ของจำเลยและศาลอุทธรณ์ภาค 9 ยกอุทธรณ์ของจำเลย เนื่องจาก ส. ขณะทำคำแก้อุทธรณ์และอุทธรณ์ไม่ปรากฏว่าเป็นทนายความ จึงต้องห้ามมิให้เป็นผู้เรียงคำแก้อุทธรณ์และอุทธรณ์ ตาม พ.ร.บ.ทนายความ พ.ศ.2528 มาตรา 33 คำแก้อุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นคำคู่ความและคำฟ้องอุทธรณ์ตามลำดับที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายในส่วนที่เป็นรูปแบบซึ่งสามารถแก้ไขให้ถูกต้องได้ ในส่วนคำแก้อุทธรณ์ศาลชั้นต้นมีอำนาจสั่งให้จำเลยแก้ไขคำแก้อุทธรณ์ให้ถูกต้องเสียก่อน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ในส่วนอุทธรณ์เมื่อจำเลยอุทธรณ์โดย ส. ผู้รับมอบอำนาจจำเลยลงชื่อเป็นผู้อุทธรณ์ ผู้เรียง และผู้พิมพ์ เช่นเดียวกันกับคำแก้อุทธรณ์ของจำเลย ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับไปแล้ว คำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (7) ประกอบมาตรา 215 ถือเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 161 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 ให้อำนาจแก่ศาลที่จะสั่งให้จำเลยแก้ฟ้องอุทธรณ์ให้ถูกต้องได้ แต่ศาลชั้นต้นกลับสั่งรับฟ้องอุทธรณ์ของจำเลย จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ชอบที่จะเพิกถอนการรับฟ้องอุทธรณ์ของศาลชั้นต้น และให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาใหม่ หรือศาลอุทธรณ์ภาค 9 ดำเนินการเสียเองให้จำเลยแก้ไขให้ถูกต้องก่อนก็ได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ยกฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยเสียทีเดียว จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา แต่ข้อเท็จจริงปรากฏในชั้นฎีกาว่า จำเลยโดย ส. ผู้รับมอบอำนาจได้ยื่นใบแต่งทนายความแต่งตั้ง ส. ให้ใช้สิทธิในการอุทธรณ์หรือฎีกาได้แล้ว อันไม่จำต้องดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2204/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจการยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกา: ทนายความต้องดำเนินการด้วยตนเอง
ไม่ปรากฏในสำนวนว่าจำเลยทั้งสองได้ตั้งแต่ง ณ. เป็นทนายความและ ณ. มิได้ทำหน้าที่เป็นทนายความจำเลยทั้งสองมาก่อนที่จะมีการยื่นฎีกา ณ. จึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาแทนจำเลยทั้งสองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 60, 61 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ทั้งการที่จำเลยทั้งสองตั้งแต่ง ส. เป็นทนายความและ ส. เคยมอบฉันทะให้ ณ. เป็นเสมียนทนายทำการแทนในกิจการยื่นคำร้องขอขยายเวลายื่นอุทธรณ์ครั้งที่ 3 รับทราบคำสั่งศาล รับทราบกำหนดวันนัด รับเอกสารจากศาล ตรวจสำนวน รวมถึงให้ถ้อยคำแถลงต่อศาลและแก้ไขข้อความที่พิมพ์ผิดพลาดได้ ก็ไม่ทำให้ ณ. เสมียนทนายจำเลยทั้งสองมีอำนาจทำคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกา เพราะทนายความอาจมอบอำนาจให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งทำการแทนได้ในกิจการที่ระบุไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 64 เท่านั้น โดยไม่รวมถึงกิจการสำคัญเกี่ยวกับคดีซึ่งโดยสภาพเป็นที่เห็นได้ว่าทนายความจะต้องกระทำด้วยตนเองเช่นการทำคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกา ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกา มีผลทำให้คำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ฎีกาและฎีกาของจำเลยทั้งสองเป็นฎีกาที่ยื่นเกินกำหนดระยะเวลาฎีกาไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1225/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิจำเลยในคดีอาญา การไม่ตั้งทนายความ, การคุ้มครองสิทธิ, และเหตุไม่รอการลงโทษ
ก่อนเริ่มพิจารณาคดีศาลชั้นต้นสอบถามจำเลยเรื่องทนายความแล้ว จำเลยแถลงไม่ต้องการทนายความ ศาลจึงอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง จำเลยให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดี ที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ ซึ่งเป็นกรณีที่ต้องบังคับตาม ป.วิ.อ. มาตรา 173 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุก ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีและจำเลยต้องการทนายความก็ให้ศาลตั้งทนายความให้ อันเป็นการกำหนดรายละเอียดของสิทธิไว้ชัดแจ้งเช่นเดียวกันกับการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมาย เมื่อจำเลยแถลงไม่ต้องการทนายความและให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลชั้นต้นได้บันทึกคำให้การจำเลยไว้ ย่อมไม่มีกรณีที่ศาลชั้นต้นต้องตั้งทนายความให้จำเลย
จำเลยฎีกาว่า ในวันนัดสอบคำให้การจำเลย โจทก์และจำเลยต้องมาอยู่ต่อหน้าศาลพร้อมกันให้ศาลอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง และถามจำเลยว่าได้กระทำผิดจริงหรือไม่ จะให้การต่อสู้อย่างไรบ้าง เมื่อจำเลยให้การอย่างไรก็ให้ศาลจดไว้ ซึ่งไม่ว่าจำเลยจะให้การรับสารภาพหรือปฏิเสธฟ้องโจทก์ โจทก์ยังคงมีหน้าที่ต้องแถลงให้ศาลทราบว่ายังประสงค์ให้ดำเนินการต่อไปหรือไม่ วันนัดสอบคำให้การจำเลยจึงเป็นการนัดพิจารณาซึ่งโจทก์มีหน้าที่ต้องมาในวันดังกล่าวนั้น เมื่อโจทก์ไม่มา จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 172 วรรคสอง ฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 181 ประกอบมาตรา 166 นั้น เห็นว่า ปัญหาดังกล่าวจำเลยมิได้อุทธรณ์ จึงเป็นเรื่องที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ก่อนคดีนี้จำเลยเคยต้องคําพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกมีกำหนด 2 ปี 6 เดือน และปรับ 800 บาท ฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำเลยพ้นโทษในคดีดังกล่าวยังไม่เกินห้าปีและกลับมากระทำความผิดคดีนี้อีกจนถูกเพิ่มโทษ เมื่อจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ซึ่งมิใช่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษหรือเป็นโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตาม ป.อ. มาตรา 56 (1) และ (2) ที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยได้
of 43