คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
อำนาจฟ้อง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4,515 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10217/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม: ผลผูกพันคำวินิจฉัยคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์และข้อจำกัดการอุทธรณ์
มูลเหตุเลิกจ้างคดีนี้เป็นมูลเหตุเดียวกันกับคดีที่โจทก์ไปยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์กล่าวหาว่าการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม และคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์วินิจฉัยชี้ขาดว่าการเลิกจ้างของจำเลยไม่เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม มีคำสั่งให้ยกคำร้องของโจทก์ หากโจทก์ไม่เห็นพ้องด้วยก็ชอบที่จะฟ้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ภายในระยะเวลาที่กำหนด แต่โจทก์ไม่ได้ฟ้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอน คำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จึงเป็นที่สุด คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม จำเลยให้การปฏิเสธว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ชอบด้วยกฎหมายไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเท่านั้น ดังนั้นคดีจึงไม่มีประเด็นว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง อุทธรณ์ของจำเลยที่ว่าโจทก์ไม่ได้ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์คำสั่งดังกล่าวจึงเป็นที่สุดโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจึงเป็นอุทธรณ์ที่ยกข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลางขึ้นอ้างเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยข้อกฎหมายว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เป็นอุทธรณ์ที่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10081/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องแทนของตัวแทนที่มิได้เป็นทนายความ: คำฟ้องชอบด้วยกฎหมายเมื่อได้รับมอบอำนาจตาม ป.วิ.พ.
การที่โจทก์มอบอำนาจให้ ส. เป็นผู้ฟ้องและดำเนินคดีแทนแก่จำเลยทั้งสอง ส. ในฐานะตัวแทนผู้รับมอบอำนาจจึงมีหน้าที่ที่จะต้องทำกิจการที่ตัวการมอบหมายให้สำเร็จลุล่วงไปประกอบกับ ป.วิ.พ. มาตรา 1 ได้มีบทวิเคราะห์ศัพท์คำว่า "คู่ความ" หมายความว่า บุคคลผู้ยื่นคำฟ้อง หรือถูกฟ้องต่อศาล และเพื่อประโยชน์แห่งการดำเนินกระบวนพิจารณาให้รวมถึงบุคคลผู้มีสิทธิกระทำการแทนบุคคลนั้นๆ ตามกฎหมาย หรือในฐานะทนายความ ดังนั้น ส. ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ให้ฟ้องคดีแทนย่อมอยู่ในฐานะคู่ความมีอำนาจยื่นคำฟ้องต่อศาลได้และชอบที่จะเรียงหรือแต่งฟ้องรวมทั้งลงชื่อเป็นโจทก์ในคำฟ้องแทนโจทก์ได้ด้วย และ พ.ร.บ.ทนายความ พ.ศ.2528 มาตรา 33 บัญญัติห้ามมิให้ผู้ซึ่งไม่ได้จดทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นทนายความว่าความในศาล หรือแต่งฟ้อง แต่ก็บัญญัติยกเว้นไว้ว่า การแต่งฟ้องนั้นไม่ห้ามไปถึงบุคคลซึ่งมีอำนาจหน้าที่กระทำได้โดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความหรือกฎหมายอื่น แม้ ส. ซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์มิได้จดทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นทนายความ แต่ก็ถือได้ว่าเป็นบุคคลซึ่งมีอำนาจหน้าที่กระทำได้โดยบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 60 วรรคสอง และการเรียงหรือแต่งฟ้องแทนโจทก์มิใช่การว่าความอย่างทนายความดังที่ ป.วิ.พ.มาตรา 60 วรรคสอง บัญญัติห้ามไว้ คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 977/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขคำให้การเพิ่มเติมประเด็นฟ้องซ้อน: อำนาจฟ้องและข้อกฎหมายความสงบเรียบร้อย
จำเลยที่ 2 ขอแก้ไขคำให้การเพิ่มเติมประเด็นฟ้องซ้อนเป็นการขอแก้ไขเกี่ยวกับอำนาจฟ้องของโจทก์ซึ่งเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยที่ 2 จึงขอแก้ไขได้ก่อนศาลแรงงานกลางพิพากษาคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 180 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
คดีอาญาเรื่องก่อนพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ฐานยักยอกทรัพย์และขอให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยักยอกไป แม้จะถือว่าเป็นการขอแทนผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 แต่ก็เป็นกรณีที่เนื่องมาจากการกระทำผิดอาญาเท่านั้น ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้าง ซึ่งการกระทำของจำเลยที่ 1 นั้นอาจเป็นบ่อเกิดแห่งคดีที่จะใช้สิทธิเรียกร้องได้สองทางคือในมูลละเมิดและสัญญาจ้างแรงงาน แม้คำขอบังคับจะเป็นอย่างเดียวกันแต่ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหามิได้เป็นอย่างเดียวกัน และคำฟ้องของโจทก์กรณีผิดสัญญาจ้างแรงงานนั้นเป็นอำนาจของคู่สัญญาโดยเฉพาะ พนักงานอัยการไม่อาจนำมาเป็นข้ออ้างในคำขอส่วนแพ่งได้ จึงมิใช่เป็นเรื่องเดียวกันอันจะเป็นฟ้องซ้อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9373/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบอกเลิกสัญญาเช่าสถานีบริการที่ไม่ชอบด้วยข้อตกลง ทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหาย
ตามสัญญาให้เช่าสถานีบริการ คู่สัญญาตกลงกันว่า ในกรณีผู้เช่าไม่ปฏิบัติตามสัญญาข้อหนึ่งข้อใด อันเป็นเหตุให้ ปตท. ได้รับความเสียหาย ปตท. จะมีหนังสือบอกกล่าวให้ผู้เช่าปฏิบัติให้ถูกต้องตามสัญญา หากผู้เช่าเพิกเฉยไม่ยอมปฏิบัติตามหรือปฏิบัติแล้วแต่ยังไม่ถูกต้อง ปตท. มีสิทธิบอกเลิกสัญญา ดังนั้น โจทก์ผู้ให้เช่าต้องปฏิบัติตามข้อสัญญาคือต้องมีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยผู้เช่าปฏิบัติให้ถูกต้องตามสัญญาหลังจากนั้นจึงบอกเลิกสัญญากับจำเลยได้ แต่ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยปฏิบัติให้ถูกต้อง ในเอกสารหมาย จ.14 ก็ไม่มีข้อความให้จำเลยปฏิบัติให้ถูกต้องตามสัญญา หนังสือที่มีไปถึงจำเลยเป็นการบอกเลิกสัญญาที่ไม่ชอบด้วยข้อตกลงในสัญญาให้เช่าสถานีบริการ ต้องถือว่าสัญญาให้เช่าสถานีบริการยังไม่เลิกกัน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายหรือค่าปรับจากจำเลยทั้งสองโดยอาศัยสัญญาฉบับนี้ได้ แม้จำเลยทั้งสองจะไม่ได้ให้การต่อสู้เรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ไว้ แต่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 246, 247 ศาลฎีกาหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 866/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ทับที่สาธารณประโยชน์: นายอำเภอมีอำนาจฟ้องได้
ตาม ป.ที่ดิน มาตรา 61 (เดิม) ที่ใช้ในขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ระบุเพียงว่า "เมื่อความปรากฏว่าได้ออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์... ให้แก่ผู้ใดโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ผู้ดำรงตำแหน่งต่อไปนี้เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งเพิกถอนแก้ไข...(2) ผู้ว่าราชการจังหวัด สำหรับจังหวัดอื่น..." หมายความว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดนอกจากกรุงเทพมหานครเป็นผู้มีอำนาจสั่งเพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ออกผิดพลาดนั้นได้ ซึ่งเป็นอำนาจทางปกครองเท่านั้น ส่วนอำนาจในการฟ้องร้องขอให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ออกโดยไม่ชอบนั้นกฎหมายไม่ได้ระบุว่าเป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดแต่เพียงผู้เดียว ทั้งตาม พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 มาตรา 67, 117, 122 ประกอบ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 มาตรา 62 บัญญัติกำหนดให้อำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาและดำเนินการคุ้มครองป้องกันที่ดินสาธารณะประโยชน์อันเป็นของกลางสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันนั้นเป็นของนายอำเภอ เมื่อจำเลยครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 29 ที่โจทก์อ้างว่าออกทับที่สาธารณประโยชน์ "หนองหว้า" ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน โจทก์ซึ่งเป็นนายอำเภอเมืองยโสธรจึงมีอำนาจฟ้องห้ามมิให้จำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินดังกล่าวนั้นได้ และหากข้อเท็จจริงฟังได้ว่า หนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 29 ที่ออกให้ในนาม ว. นั้นออกโดยผิดพลาดไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ก็ย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์นั้นได้ตาม ป.ที่ดิน มาตรา 61 วรรคท้าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 845/2550 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ: การพิจารณาอายุความตาม พ.ร.บ. ป.ป.ช. และ ป.อ.
พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ มาตรา 94 บัญญัติว่า เมื่อมีการฟ้องคดีอาญาตามมาตรา 97 ให้นำบทบัญญัติมาตรา 74 มาใช้บังคับโดยอนุโลม หาใช่มาตรา 84 ไม่ ทั้งกำหนดระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี ตามมาตรา 84 ก็เป็นเพียงระยะเวลาที่กำหนดให้ผู้กล่าวหาต้องยื่นคำกล่าวหาเป็นหนังสือลงลายมือชื่อของตนต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. นับถัดจากวันที่ผู้ถูกกล่าวซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและมิใช่บุคคลตามมาตรา 66 ได้พ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเท่านั้น หาใช่เป็นอายุความฟ้องร้องคดีอาญาดังที่บัญญัติไว้ใน ป.อ. มาตรา 95 แต่อย่างใดไม่
จำเลยที่ 1 ถูกฟ้องในข้อหาความผิดตาม ป.อ. มาตรา 147 และ 157 นั้น มีอัตราโทษขั้นสูงคือจำคุกตลอดชีวิตและจำคุก 10 ปี ตามลำดับ อายุความฟ้องร้องคดีอาญาในข้อหาความผิดตามมาตรา 147 จึงมีถึง 20 ปี ตามมาตรา 95 (1) และในข้อหาความผิดตามมาตรา 157 มีถึง 15 ปี ตามมาตรา 95 (2) เมื่อคำนวณจากวันที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิด คือวันที่ 3 เมษายน 2543 ถึงวันที่โจทก์ฟ้องคือวันที่ 20 พฤษภาคม 2546 เป็นเวลา 3 ปีเศษ คดียังไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8444/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสอบสวนความผิดรับของโจรต่างกรรมต่างวาระ ศาลยืนอำนาจฟ้อง แม้เคยมีคำสั่งไม่ฟ้องในความผิดบางส่วน
ร้อยตำรวจเอก ป. เป็นพนักงานสอบสวนในคดีแรกซึ่งเป็นการสอบสวน ท. กับพวกรวม 5 คน และจำเลยเฉพาะในความผิดที่เกิดเหตุเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2534 เวลากลางคืน และทรัพย์ที่ถูกประทุษร้าย 3 รายการเท่านั้น ส่วนความผิดที่ ท. กับพวกให้การรับสารภาพว่าก่อนเกิดเหตุในคดีดังกล่าว ท. กับพวกเคยลักทรัพย์ของโจทก์ร่วมมาแล้วหลายครั้งและได้นำไปขายที่ร้านของจำเลยนั้น ร้อยตำรวจเอก ป. ยังมิได้ทำการสอบสวน ฉะนั้น แม้ว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในบันทึกการจับกุม ท. กับพวก กับบันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนในสำนวนการสอบสวนคดีแรกจะมีรายละเอียดพาดพิงถึงการลักทรัพย์ 17 ครั้ง ในช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคม 2534 ถึงวันที่ 24 กันยายน 2534 อยู่ด้วยดังที่จำเลยอ้างก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงดังกล่าวก็เป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นที่ได้จากการสอบสวนเมื่อพนักงานสอบสวนยังมิได้ตั้งข้อหาและทำการสอบสวนในรายละเอียดดังกล่าว จึงยังถือไม่ได้ว่ามีการสอบสวนในเรื่องดังกล่าวแล้ว อีกทั้งการลักทรัพย์ในแต่ละครั้งและการนำไปจำหน่ายให้แก่ผู้รับซื้อของโจรในแต่ละครั้งนั้นก็เป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระกัน การที่พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนในความผิดเฉพาะกรรมใดวาระใดจะถือว่าได้สอบสวนในความผิดในกรรมอื่นและวาระอื่นด้วยหาได้ไม่ เมื่อคดีที่ร้อยตำรวจเอก ป. สอบสวนจำเลยในความผิดฐานรับของโจรเพื่อค้ากำไรและต่อมาพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องจำเลยนั้นเป็นการสอบสวนเฉพาะความผิดที่เหตุเกิดในวันที่ 24 กันยายน 2534 และทรัพย์ที่ถูกประทุษร้ายในคดีดังกล่าวก็มีเพียงทรัพย์ถูกประทุษร้าย 3 รายการเท่านั้น ส่วนความผิดคดีนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2534 ถึงวันที่ 23 กันยายน 2534 และทรัพย์ที่ถูกประทุษร้ายเป็นทรัพย์ต่างรายกัน การสอบสวนในคดีนี้จึงเป็นการสอบสวนโดยชอบ พนักงานอัยการโจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7671/2550 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเบียดบังเอาเงินที่รับไว้แทนโจทก์ร่วมไปเป็นของตนเอง ถือเป็นการทำให้โจทก์ร่วมเสียหายและมีอำนาจร้องทุกข์ได้
จำเลยเป็นผู้จัดการสาขาของโจทก์ร่วม เมื่อจำเลยรับเงินจาก บ. ผู้ค้ำประกันการทำงานของ น. พนักงานโจทก์ร่วมแล้ว จำเลยได้ทำสัญญาในฐานะผู้จัดการของโจทก์ร่วม มีสาระสำคัญว่า บ. ได้ชำระเงินให้โจทก์ร่วมแล้วและโจทก์ร่วมถือว่า บ. ได้ปฏิบัติตามสัญญาค้ำประกันครบถ้วนแล้ว ไม่ติดใจดำเนินคดีแพ่งหรือคดีอาญากับ บ. อีกต่อไป ดังนี้ เงินที่จำเลยรับไว้จาก บ. จึงเป็นของโจทก์ร่วมแล้ว เพราะโจทก์ร่วมต้องรับผลในการกระทำของจำเลยในอันที่จะไปเรียก บ. ชำระเงินอีกไม่ได้เนื่องจาก บ. อาจนำสัญญาดังกล่าวมาแสดงว่าได้ชำระหนี้ให้โจทก์ร่วมแล้ว การที่จำเลยไม่ได้แจ้งให้โจทก์ร่วมทราบหรือไม่ได้รับอนุมัติจากผู้จัดการเขตของโจทก์ร่วมตามระเบียบที่โจทก์ร่วมวางไว้ก็เป็นเพียงระเบียบภายในที่จำเลยต้องปฏิบัติจะนำมาอ้างว่ามิใช่ตัวแทนของโจทก์ร่วมหาได้ไม่ หากเป็นการผิดระเบียบก็เป็นเรื่องที่โจทก์ร่วมต้องว่ากล่าวกับจำเลยและไม่ผูกพัน บ. ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริต ดังนั้น จึงถือได้ว่าจำเลยรับเงินแทนโจทก์ร่วมแล้ว เมื่อจำเลยเบียดบังเอาเงินจำนวนดังกล่าวไปเป็นของจำเลยโดยทุจริต โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจร้องทุกข์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7640/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินความประมาทของผู้ตายและการมีอำนาจฟ้องคดีอาญาของผู้ร้อง
แม้บริเวณที่เกิดเหตุมีสะพานลอยทางข้าม และผู้ตายข้ามถนนในช่องเดินรถอันเป็นการฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 104 ที่บัญญัติว่า "ภายในระยะไม่เกินหนึ่งร้อยเมตรนับจากทางข้าม ห้ามมิให้คนเดินเท้าข้ามทางนอกทางข้าม" การกระทำของผู้ตายดังกล่าวเป็นเพียงความผิดตามมาตรา 104 ประกอบมาตรา 147 มิใช่หมายความว่าถ้าผู้ตายฝ่าฝืนไม่ข้ามถนนตรงทางข้ามตามมาตรา 104 แล้วจะถือเป็นการกระทำโดยประมาทเสมอไป การพิจารณาว่าผู้ตายมีส่วนประมาทหรือไม่ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงอื่นประกอบด้วย
ขณะเกิดเหตุเวลา 5.30 นาฬิกา ท้องฟ้งยังมืด บริเวณที่เกิดเหตุมีแสงไฟจากหลอดไฟฟ้าข้างฟุตบาทและที่ก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียซึ่งอยู่กึ่งกลางถนน ผู้ขับรถผ่านบริเวณนั้นยังต้องเปิดไฟหน้ารถซึ่งโดยสภาพไม่น่าจะมองเห็นเหตุการณ์ข้างหน้าได้ไกลเท่ากับเวลากลางวัน สภาพของถนนที่มีทางเดินรถฝั่งละ 3 ช่องเดินรถในเวลาเกิดเหตุเป็นตอนเช้ามืดของวันเสาร์อันเป็นวันหยุดราชการ รถที่แล่นบนถนนน่าจะน้อยกว่าวันปกติซึ่งทำให้ผู้ขับรถสามารถขับรถได้เร็วขึ้นกว่าวันปกติ ถนนบริเวณเกิดเหตุเป็นทางตรง การข้ามถนนไปยังอีกฝั่งหนึ่งต้องข้ามถนนถึง 6 ช่องเดินรถซึ่งรถที่แล่นไปมาในขณะนั้นน่าจะใช้ความเร็วสูงในสภาพเช่นนั้น ดังนั้น ผู้ตายควรใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งในการข้ามถนนเนื่องจากเป็นถนนใหญ่มีรถแล่นด้วยความเร็วสูงและเป็นเวลากลางคืนซึ่งผู้ขับรถอาจไม่เห็นคนข้ามถนนในระยะไกลที่จะทำให้เกิดความปลอดภัยได้ ตรงจุดที่ผู้ตายข้ามถนนมีรถยนต์โดยสารขนาดใหญ่ของสามีผู้ตายบังอยู่อันอาจทำให้จำเลยไม่สามารถเห็นผู้ตายได้ในระยะไกล แต่เห็นในระยะกระชั้นชิดจึงไม่สามารถหักรถหลบหรือหยุดรถได้ทันเป็นเหตุให้ชนผู้ตาย ดังนั้น การที่ผู้ตายข้ามถนนใต้สะพานลอยคนข้ามจึงเป็นการกระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ จึงนับว่าผู้ตายมีส่วนประมาทด้วย ผู้ตายจึงมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 291 ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจจัดการแทนผู้ตายและไม่มีอำนาจเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4), 5 (2) และ 3 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7429/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีอาญา: การร้องทุกข์แทนผู้เสียหายโดยไม่มีตราสำคัญของผู้เสียหาย
ปัญหาเรื่องผู้เสียหายร้องทุกข์โดยชอบหรือไม่เป็นเรื่องอำนาจฟ้องซึ่งเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจหยิบยกขึ้นมาวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงฯ มาตรา 4 ในบันทึกคำให้การของผู้ร้องทุกข์ ซึ่งเป็นคำร้องทุกข์มีข้อความระบุอย่างชัดแจ้งว่า พ. ร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของผู้เสียหาย มิใช่ในฐานะส่วนตัว การร้องทุกข์แทนผู้เสียหายซึ่งเป็นนิติบุคคลจะต้องทำให้ถูกต้องตามข้อบังคับของผู้เสียหายที่ได้จดทะเบียนไว้ ตามหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลของผู้เสียหายระบุว่า พ. เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการแต่เพียงผู้เดียวและไม่มีข้อจำกัดอำนาจหุ้นส่วนผู้จัดการว่าหากจะกระทำแทนผู้เสียหายจะต้องใช้ตราสำคัญของผู้เสียหายประทับด้วย ดังนั้น พ. จึงมีอำนาจดำเนินการหรือร้องทุกข์แทนผู้เสียหายได้โดยไม่จำต้องใช้ตราสำคัญของผู้เสียหายประทับลงในช่องลายมือชื่อผู้กล่าวหาในบันทึกคำให้การของผู้ร้องทุกจ์ด้วย ถือได้ว่า พ. ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนแทนผู้เสียหายโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วพนักงานสอบสวนย่อมมีอำนาจสอบสวนและพนักงานอัยการโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้
of 452