คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ค่าธรรมเนียม

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 515 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2798/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าธรรมเนียมรวบรวมทรัพย์สินล้มละลาย: ความรับผิดของผู้ขอรับชำระหนี้ที่ถอนคำขอ
เมื่อผู้ร้องมิได้เป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ แม้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์เดิมจะขอถอนคำขอรับชำระหนี้และผู้คัดค้านอนุญาตให้ถอนไปแล้วก็ตาม แต่อยู่ในระหว่างผู้คัดค้านนัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแต่งตั้งเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ใหม่แทนโจทก์เดิม ซึ่งที่ประชุมเจ้าหนี้ยังมิได้พิจารณาแต่งตั้งให้ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ เนื่องจากผู้ร้องขอถอนคำขอรับชำระหนี้ไปเสียก่อนอันเป็นสิทธิของผู้ร้องที่จะกระทำได้ โจทก์เป็นผู้นำผู้คัดค้านไปทำการยึดออกขายทอดตลาดในการรวบรวมทรัพย์สินเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย ผู้ร้องมิได้เป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์และมีส่วนได้เสียโดยตรงในการนำยึดที่ดินดังกล่าวแต่ประการใด ผู้ร้องจึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าธรรมเนียม
ส่วนทรัพย์หลักประกันของผู้ร้อง ในการขอรับชำระหนี้ผู้ร้องขอรับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 96 (3) โดยขอให้ผู้คัดค้านขายทอดตลาดทรัพย์อันเป็นหลักประกันดังกล่าวก่อนแล้วขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่ ผู้ร้องจึงมีส่วนได้เสียโดยตรงในทรัพย์หลักประกันดังกล่าว และเป็นผู้นำผู้คัดค้านไปทำการยึด แม้ผู้คัดค้านจะมีหมายนัดให้ผู้ร้องไปทำการยึดและเป็นอำนาจของผู้คัดค้านในการรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้ในคดีล้มละลายตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 ด้วยก็ตาม แต่ก็เป็นความประสงค์ของผู้ร้องที่ขอบังคับชำระหนี้ด้วยการขอให้ผู้คัดค้านยึดหลักประกันดังกล่าวขายทอดตลาดตามคำขอรับชำระหนี้มาตั้งแต่ต้น เมื่อทรัพย์ดังกล่าวไม่มีการขายหรือจำหน่ายเนื่องจากผู้ร้องขอถอนคำขอรับชำระหนี้ ผู้ร้องจึงต้องรับผิดในค่าธรรมเนียมในการรวบรวมทรัพย์สินสำหรับทรัพย์สินที่ไม่มีการขายหรือจำหน่ายตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 179 (4) ทั้งนี้เพราะผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ผู้ขอบังคับคดีซึ่งมีหน้าที่ต้องชำระค่าธรรมเนียมดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 153 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1397/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะกรณีค่าธรรมเนียมที่ผู้ซื้อชำระแทนผู้ขาย และการขอคืนภาษีที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์
โจทก์ทำสัญญาให้ผู้ซื้อชำระค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมและค่าภาษีในการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ สำหรับค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเป็นกรณีที่คู่สัญญาตกลงกันเป็นอย่างอื่น และค่าธรรมเนียมดังกล่าวผู้ซื้อจ่ายให้แก่กรมที่ดิน ไม่ใช่จ่ายให้โจทก์ ค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่ผู้ซื้อออกแทนจึงไม่เป็นเงิน ทรัพย์สิน ค่าตอบแทน หรือประโยชน์ใด ๆ อันมีมูลค่าที่ได้รับหรือพึงได้รับอันเนื่องมาจากการประกอบกิจการของโจทก์ กรณีไม่เข้าลักษณะเป็นรายรับที่จะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/1 (1) แห่ง ป.รัษฎากร ส่วนค่าภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ ค่าภาษีบำรุงท้องที่ และค่าอากรแสตมป์ ที่ผู้ซื้อออกแทน จะเห็นได้ว่าโจทก์ในฐานะผู้ขายมีหน้าที่ตามกฎหมายโดยตรงที่จะต้องเสีย ค่าภาษีอากรดังกล่าวจึงเป็นเงิน ทรัพย์สิน ค่าตอบแทน หรือประโยชน์ใด ๆ อันมีมูลค่าที่ได้รับหรือพึงได้รับอันเนื่องมาจากการประกอบกิจการของโจทก์ มีลักษณะเป็นรายรับที่จะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/1 (1)
การที่โจทก์ขอคืนเงินค่าภาษีธุรกิจเฉพาะเป็นเงิน 1,643,890.17 บาท เป็นกรณีที่โจทก์อ้างว่า โจทก์ได้ชำระค่าภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่ผู้ซื้อเกินไปกว่าที่ควรต้องชำระ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการขอคืนค่าภาษีอากร ตามมาตรา 7 (3) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 ซึ่งมาตรา 9 ระบุเงื่อนไขให้ต้องขอคืนภาษีอากรตามหลักเกณฑ์วิธีการและระยะเวลาที่กำหนดไว้ จึงจะดำเนินการในศาลภาษีอากรได้ เมื่อปรากฏว่า ในการขอคืนภาษีธุรกิจเฉพาะครั้งแรก โจทก์ขอคืนเงินมาในคำอุทธรณ์การประเมินภาษี มิได้เป็นการยื่นคำร้องขอคืนตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในมาตรา 91/11 แห่ง ป.รัษฎากร ส่วนในการขอคืนภาษีธุรกิจเฉพาะครั้งที่สอง ยังอยู่ในระหว่างที่จำเลยตรวจสอบและยังไม่มีคำวินิจฉัยในเรื่องการขอคืนภาษีธุรกิจเฉพาะดังกล่าว โจทก์ยื่นฟ้องเป็นคดีนี้หลังจากการขอคืนภาษีธุรกิจเฉพาะเป็นเวลาเพียง 26 วัน เมื่อทางพิจารณาไม่ปรากฏว่า การขอคืนภาษีธุรกิจเฉพาะของโจทก์เป็นกรณีที่เจ้าพนักงานประเมินไม่ต้องตรวจสอบบัญชีเอกสารหลักฐานก่อนว่าโจทก์เสียภาษีถูกต้องหรือไม่ และเจ้าพนักงานประเมินสามารถทราบได้แน่ชัดว่าโจทก์จะได้รับคืนภาษีตามจำนวนที่ขอคืนได้หรือไม่ จึงฟังไม่ได้ว่า โจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องในส่วนนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8973/2558 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การวางค่าธรรมเนียมพร้อมอุทธรณ์ครั้งแรก ทำให้ไม่ต้องวางซ้ำในการอุทธรณ์ครั้งที่สอง
ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาครั้งแรก ให้จำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินพิพาท ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท จำเลยอุทธรณ์โดยนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นมาวางพร้อมกับอุทธรณ์ครบถ้วนแล้ว ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและยกอุทธรณ์ของจำเลย ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาและมีคำพิพากษาใหม่ โดยให้มีผู้พิพากษาครบองค์คณะ เงินค่าธรรมเนียมที่ศาลชั้นต้นเคยสั่งให้จำเลยต้องรับผิดใช้แทนโจทก์จึงถูกยกไป แต่จำเลยยังไม่ได้ขอรับเงินค่าธรรมเนียมใช้แทนโจทก์ที่วางไว้ต่อศาลชั้นต้นคืน ต่อมาเมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาครั้งที่สอง ให้จำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินพิพาท ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท เงินค่าธรรมเนียมที่ศาลชั้นต้นสั่งให้จำเลยรับผิดใช้แทนโจทก์ จึงมีจำนวนเท่ากันกับจำนวนเงินค่าธรรมเนียมใช้แทนโจทก์ที่จำเลยได้วางต่อศาลชั้นต้นในครั้งก่อนซึ่งจำเลยยังไม่ได้รับคืนไป กรณีถือว่าจำเลยได้นำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นมาวางต่อศาลพร้อมกับอุทธรณ์แล้ว จำเลยจึงไม่ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมมาวางพร้อมอุทธรณ์เพิ่มเติมอีก ทั้งไม่จำต้องมีคำขอให้เอาเงินดังกล่าวมาวางพร้อมอุทธรณ์ครั้งที่สองด้วย อุทธรณ์ของจำเลยครั้งที่สองจึงเป็นอุทธรณ์ที่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 229 แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8973/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การวางเงินค่าธรรมเนียมพร้อมอุทธรณ์: การไม่ต้องวางเงินซ้ำเมื่อศาลยกคำพิพากษาเดิม
ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาครั้งแรกให้จำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินพิพาท ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท จำเลยอุทธรณ์โดยนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นมาวางพร้อมกับอุทธรณ์ครบถ้วนแล้ว ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและยกอุทธรณ์ของจำเลย ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาและมีคำพิพากษาใหม่โดยให้มีผู้พิพากษาครบองค์คณะ ให้คืนค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์แก่จำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์นอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ แต่จำเลยยังไม่ได้ขอรับเงินค่าธรรมเนียมใช้แทนโจทก์ที่วางไว้ต่อศาลชั้นต้นคืน ต่อมาเมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาครั้งที่สอง ให้จำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินพิพาท ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนด ค่าทนายความ 3,000 บาท กรณีถือว่าจำเลยได้นำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นมาวางต่อศาลพร้อมกับอุทธรณ์แล้ว จำเลยจึงไม่ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมมาวางพร้อมอุทธรณ์เพิ่มเติมอีก ทั้งไม่จำต้องมีคำขอให้เอาเงินดังกล่าวมาวางพร้อมอุทธรณ์ครั้งที่สองด้วย อุทธรณ์ของจำเลยครั้งที่สองจึงเป็นอุทธรณ์ที่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 229 แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 880/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าธรรมเนียมถอนการยึดทรัพย์: แม้สุจริตแต่กฎหมายไม่เปิดช่องยกเว้น
ก่อนที่จะมีการยึดที่ดินพิพาท โจทก์ขอตรวจสอบการถือครองที่ดินของจำเลยที่สำนักงานที่ดิน เจ้าพนักงานที่ดินพบว่าจำเลยถือครองที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1267 จึงคัดถ่ายเอกสารให้ผู้แทนโจทก์ไว้ ต่อมาโจทก์ขอตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารสิทธิอีกครั้ง โดยคัดถ่ายหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก.) ดังกล่าวพร้อมราคาประเมินที่ดิน เจ้าพนักงานที่ดินก็ดำเนินการให้ หลังจากนั้นผู้แทนโจทก์นำยึดที่ดินพิพาท แต่ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งว่าที่ดินพิพาทมีการออกเป็นโฉนดที่ดินและจำเลยโอนขายให้แก่บุคคลภายนอกก่อนจะมีการยึดแล้ว ป.วิ.พ. มาตรา 153 บัญญัติว่า ค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดี ได้แก่ ค่าธรรมเนียมในการบังคับคดี ค่าป่วยการ ค่าพาหนะเดินทาง และค่าเช่าที่พักของเจ้าพนักงานบังคับคดีตลอดจนค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในการบังคับคดีบรรดาที่กฎหมายบังคับให้ชำระ วรรคสองบัญญัติว่า ค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดี ให้เจ้าหนี้ผู้ขอบังคับคดีเป็นผู้ชำระ และตามตาราง 5 ท้าย ป.วิ.พ. ข้อ 3 ระบุว่า เมื่อยึดทรัพย์สินซึ่งไม่ใช่ตัวเงินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย ให้เสียค่าธรรมเนียมร้อยละ 2 ของราคาทรัพย์สินที่ยึด แม้ความผิดพลาดในการยึดที่ดินพิพาทไม่ได้เกิดจากความบกพร่องของผู้แทนโจทก์ก็ตาม แต่กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจเจ้าพนักงานบังคับคดีและศาลใช้ดุลพินิจยกเว้นค่าธรรมเนียมถอนการยึดได้ เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องไปเรียกร้องจากผู้เป็นต้นเหตุเอง ข้ออ้างของโจทก์จึงรับฟังไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8528/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อุทธรณ์ไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากไม่วางค่าธรรมเนียม ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
จำเลยอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ โดยขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรอนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่ ซึ่งหากศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรอนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่ย่อมมีผลให้คำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่บังคับให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ทั้งสองเป็นอันเพิกถอนไปในตัว จำเลยจึงต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 โดยศาลไม่จำต้องมีคำสั่งให้จำเลยปฏิบัติก่อน เพราะกรณีมิใช่เรื่องที่จำเลยมิได้ชำระหรือวางค่าธรรมเนียมศาลโดยไม่ถูกต้องครบถ้วน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 วรรคสอง เมื่อจำเลยอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นโดยไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามบทบัญญัติดังกล่าว อุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยมา ก็ไม่มีผลทำให้อุทธรณ์ของจำเลยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายกลับเป็นอุทธรณ์ที่ชอบด้วยกฎหมายไปได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7413/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยึดหุ้นหลังศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด และความรับผิดในค่าธรรมเนียมยึดทรัพย์สิน
ก่อนโจทก์นำยึดหุ้นของจำเลยที่ 1 โจทก์ได้นำยึดที่ดินจำนวน 9 แปลง ของจำเลยทั้งห้าไว้ก่อนแล้ว และปรากฏจากคำแถลงของโจทก์ว่าจำเลยที่ 1 ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด โจทก์จะไปยื่นขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย แสดงว่าโจทก์ทราบแล้วว่าจำเลยที่ 1 ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ซึ่งโจทก์ต้องไปยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด แต่โจทก์ยังคงใช้สิทธิความเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษานำยึดหุ้นของจำเลยที่ 1 อีก โจทก์มิได้ตรวจสอบมูลค่าหุ้นของจำเลยที่ 1 ให้ดีก่อนทำการยึดว่ามีความจำเป็นและสมควรยึดไว้เพื่อขายทอดตลาดหรือไม่ จึงนับว่าเป็นความผิดและเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์เอง นอกจากนี้ ผู้แทนโจทก์ยังแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีในการยึดหุ้นว่า หากเกิดความเสียหายประการใดยินยอมรับผิดชอบเองทั้งสิ้น และเห็นชอบด้วยกับเจ้าพนักงานบังคับคดีในราคาประเมินหุ้นละ 100 บาท เท่ากับมูลค่าหุ้นที่โจทก์อ้างว่าได้ดูจากที่มีการจดทะเบียนไว้ต่อนายทะเบียน ซึ่งสามารถคำนวณเป็นราคาทรัพย์สินที่ยึดเพื่อเสียค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ ดังนี้ โจทก์จะมาอ้างในภายหลังว่าขณะยึดหุ้นมีมูลค่าติดลบ ไม่มีคนซื้อ เพื่อให้ตนพ้นความรับผิดในค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีหาได้ไม่ เมื่อโจทก์เป็นผู้ดำเนินกระบวนพิจารณาขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดหุ้นของจำเลยที่ 1 เอง และเห็นชอบด้วยกับราคาประเมินมูลค่าหุ้นดังกล่าว โดยไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีปฏิบัติหน้าที่โดยผิดพลาดหรือบกพร่องแต่ประการใด โจทก์จึงต้องเป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียมยึดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายร้อยละ 3 ครึ่งของราคาทรัพย์สินที่ยึดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 149 วรรคหนึ่ง ประกอบตาราง 5 ข้อ 3 ท้าย ป.วิ.พ. (เดิม)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6582/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อุทธรณ์คำสั่งต้องวางค่าธรรมเนียมใช้แทนคู่ความ หากอุทธรณ์มีผลให้คำพิพากษาเดิมอาจถูกเพิกถอน
ป.วิ.พ. มาตรา 229 บัญญัติว่า "การอุทธรณ์นั้นให้ทำเป็นหนังสือยื่นต่อศาลชั้นต้นซึ่งมีคำพิพากษาหรือคำสั่งภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น และผู้อุทธรณ์ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาหรือคำสั่งมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์นั้นด้วย..." บทบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้เป็นหน้าที่ของผู้อุทธรณ์ที่จะต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาหรือคำสั่งมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์ แม้อุทธรณ์คำสั่งของจำเลยเป็นอุทธรณ์คำสั่งกรณีขอให้จำเลยยื่นคำให้การและพิจารณาคดีใหม่ จำเลยก็ต้องวางเงินค่าธรรมเนียมใช้แทนดังกล่าว เพราะหากศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยมิได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การและมีคำสั่งอนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่ตามอุทธรณ์ของจำเลยก็จะทำให้คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่บังคับให้จำเลยชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ เป็นอันต้องถูกเพิกถอนไปทันที อุทธรณ์คำสั่งของจำเลยจึงเท่ากับเป็นการอุทธรณ์ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นอยู่ในตัว จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมใช้แทนดังกล่าวมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์คำสั่งนั้นด้วย เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าว อุทธรณ์คำสั่งของจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งกรณีมิใช่เรื่องการมิได้ชำระหรือวางค่าธรรมเนียมศาลโดยไม่ถูกต้องครบถ้วนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 ที่ศาลจะต้องสั่งให้ชำระหรือวางค่าธรรมเนียมศาลให้ถูกต้องครบถ้วนเสียก่อนที่จะมีคำสั่งรับหรือไม่รับคำคู่ความ แม้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยและในชั้นฎีกาจำเลยนำเงินค่าธรรมเนียมใช้แทนโจทก์ในชั้นอุทธรณ์มาวางศาล ก็ไม่มีผลทำให้อุทธรณ์ของจำเลยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายกลับเป็นอุทธรณ์ที่ชอบด้วยกฎหมายไปได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4303/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ทนายทราบวันนัดแต่ไม่แจ้งจำเลย การอุทธรณ์ไม่ชอบด้วยกฎหมายเมื่อไม่ชำระค่าธรรมเนียมตามกำหนด
เมื่อทนายจำเลยทราบนัดและคำสั่งศาลชั้นต้นโดยชอบแล้วไม่มาศาล ต้องถือว่าจำเลยทราบวันนัดและคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยนำค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์ทั้งสองมาชำระเพิ่มเติมโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ถึงแม้ว่าจำเลยซึ่งเป็นตัวความจะไม่ทราบวันนัดก็ตาม เพราะตาม ป.วิ.พ. มาตรา 62 บัญญัติว่า ทนายความซึ่งคู่ความได้ตั้งแต่งนั้นมีอำนาจว่าความและดำเนินกระบวนพิจารณาใดๆ แทนคู่ความได้ตามที่เห็นสมควร การที่ทนายจำเลยทราบวันนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 และคำสั่งให้นำค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์ทั้งสองมาชำระให้ครบถ้วนโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วไม่แจ้งให้จำเลยทราบ จำเลยจะยกเหตุดังกล่าวมาเป็นข้ออ้างต่อศาลหาได้ไม่ เพราะจำเลยมีทนายความกระทำการแทนตนอยู่แล้ว การที่จำเลยไม่นำค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์ทั้งสองมาชำระต่อศาลชั้นต้นให้ครบถ้วนก่อนวันนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 แม้ต่อมาจำเลยได้ยื่นคำร้องขอชำระค่าธรรมเนียมดังกล่าว และศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตในคำร้องของจำเลยนั้น ก็มิใช่เป็นการสั่งอนุญาตก่อนสิ้นระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ในหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 และไม่ปรากฏว่ามีพฤติการณ์พิเศษหรือเหตุสุดวิสัยที่ศาลชั้นต้นจะสั่งขยายระยะเวลาดังกล่าวอีกได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 เมื่อจำเลยเพิ่งวางเงินดังกล่าวเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2557 ซึ่งล่วงเลยกำหนดระยะเวลาการวางเงินตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ในครั้งแรกดังกล่าวแล้ว จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยยื่นอุทธรณ์โดยได้วางเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลชั้นต้นพร้อมอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 หรือภายในกำหนดระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นอนุญาตขยายให้โดยชอบ การยื่นอุทธรณ์ของจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
จำเลยฎีกาขอให้ศาลฎีกาพิพากษาให้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 รับอุทธรณ์ของจำเลยไว้พิจารณาเท่านั้น มิได้ขอให้ศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยเป็นฝ่ายชนะคดีโดยให้ยกฟ้องของโจทก์แต่อย่างใด ฎีกาของจำเลยจึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาเพียง 200 บาท แต่จำเลยเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกามาอย่างคดีมีทุนทรัพย์เป็นเงิน 21,830 บาท จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาในส่วนที่เสียเกินมาแก่จำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4083/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสละหลักทรัพย์ในคดีล้มละลาย และหน้าที่ชำระค่าธรรมเนียมยึดทรัพย์เมื่อไม่มีการขายทอดตลาด
การที่ผู้ร้องยื่นคำขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 อย่างเจ้าหนี้มีประกัน ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 96 (3) คือ ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันแล้วขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่ ซึ่งผู้ร้องก็ได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์หลักประกันคือที่ดินโฉนดเลขที่ 10576 ไว้ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 12/2542 ของศาลจังหวัดชลบุรี อันเป็นไปตามความประสงค์ในคำขอรับชำระหนี้ของผู้ร้องและศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ได้รับชำระหนี้แล้ว การที่ต่อมาผู้ร้องยื่นคำร้องขอสละหลักทรัพย์คือที่ดินแปลงดังกล่าวก็เป็นเพราะที่ดินมีสภาพเป็นถนน ประกาศขายทอดตลาดหลายครั้งแต่ขายทอดตลาดไม่ได้ เห็นได้ถึงความประสงค์ที่แท้จริงของผู้ร้องว่าต้องการที่จะไม่ดำเนินการกับที่ดินแปลงดังกล่าวอีกต่อไป ซึ่งก็หมายถึงถอนการยึดทรัพย์หลักประกันนั่นเอง ประกอบกับที่ประชุมเจ้าหนี้พิจารณาแล้วเห็นว่าการจะรวบรวมที่ดินแปลงดังกล่าวแล้วนำออกขายทอดตลาดย่อมไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใดแก่กองทรัพย์สิน มีแต่จะก่อภาระแก่กองทรัพย์สินจึงไม่ประสงค์จะดำเนินการเกี่ยวกับที่ดินแปลงดังกล่าว กล่าวคือบรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 145 (1) และ (3) โดยการสละสิทธิในที่ดินแปลงดังกล่าว ผู้ร้องย่อมต้องมีหน้าที่รับผิดชอบในส่วนค่าธรรมเนียมยึดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายและค่าใช้จ่ายในการบังคับคดี หาใช่เป็นภาระของกองทรัพย์สินของลูกหนี้ไม่
of 52