คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ทรัพย์มรดก

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 490 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2510/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องค้ำประกัน-จำนอง: ทายาทรับมรดกมีสิทธิจำกัดเฉพาะทรัพย์มรดก, จำเลยไม่ต้องรับผิด
สัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนองตามที่ระบุไว้ในคำขอท้ายฟ้องเกิดขึ้นด้วยการแสดงเจตนาโดยใจสมัครของบิดาโจทก์ที่จะประกันการชำระหนี้กู้ยืมเงินของจำเลยที่มีอยู่แก่ธนาคารเจ้าหนี้ โดยข้อสัญญาและโดยใช้ทรัพย์สินของตนเป็นประกันซึ่งบิดาโจทก์มีสิทธิทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย แม้ต่อมาบิดาโจทก์ถึงแก่กรรมและโจทก์อ้างว่าเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของบิดา แต่โจทก์ไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตน โจทก์เพียงแต่บรรยายฟ้องว่า จำเลยไม่ชำระหนี้แก่ธนาคารเจ้าหนี้ตามมูลหนี้ที่ค้างชำระเป็นเวลามากกว่า 10 ปีแล้วจะเป็นผลเสียหายแก่โจทก์เกินสมควร โจทก์ไม่ประสงค์จะค้ำประกันจำเลยอีกต่อไป จึงฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนสัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนองนั้น นอกจากจำเลยจะไม่ได้เป็นคู่สัญญาในสัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนองแล้ว จำเลยมิได้กระทำการใด ๆ ที่เป็นการโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยและคดียังไม่มีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า บทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เรื่องค้ำประกัน จำนองเฉพาะมาตราที่เกี่ยวเนื่องกับค้ำประกัน และมาตรา 1600 ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะศาลมิได้ใช้บทกฎหมายดังกล่าววินิจฉัยคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22788/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความมรดกและการครอบครองทรัพย์มรดก: สิทธิเรียกร้องแบ่งมรดกขาดอายุความเมื่อพ้น 10 ปีนับจากเจ้ามรดกตาย
เมื่อโจทก์ไม่เคยครอบครองที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกซึ่งยังมิได้แบ่งกันระหว่างทายาท จึงมิใช่กรณีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1748 ที่โจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกได้แม้พ้นกำหนดอายุความมรดก การที่โจทก์ยื่นฟ้องเมื่อพ้นกำหนด 10 ปี นับแต่เจ้ามรดกตาย ย่อมต้องห้ามมิให้ฟ้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคท้าย และสิทธิในทรัพย์มรดกย่อมตกแก่จำเลยผู้สืบสิทธิ น. ซึ่งเป็นทายาทของ จ. เจ้ามรดกโดยสมบูรณ์ การที่จำเลยร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกในเวลาต่อมาก็เพื่อให้มีอำนาจเปลี่ยนแปลงหลักฐานทางทะเบียนให้ได้สิทธิโดยสมบูรณ์ในที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกเท่านั้น หาใช่เพื่อประโยชน์แก่โจทก์ซึ่งสิ้นสิทธิในการฟ้องคดีเกี่ยวกับทรัพย์มรดกไปโดยบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1754 แล้วไม่ และแม้จำเลยจะเบิกความรับว่าเหตุที่โอนทะเบียนที่ดินพิพาทเป็นชื่อจำเลยเพื่อความสะดวกในการแบ่งมรดกแก่ทายาทของ จ. ก็ตาม ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาสละประโยชน์แห่งอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/24 โจทก์จึงไม่อาจยกเอาประโยชน์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/24 และมาตรา 1748 มาอ้างเพื่อเรียกร้องให้จำเลยแบ่งทรัพย์มรดกเมื่อล่วงพ้นกำหนดอายุความมรดกตามมาตรา 1754 แล้วได้ จำเลยย่อมมีสิทธิยกอายุความมรดกใช้ยันโจทก์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/10

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 987/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนทรัพย์มรดกโดยทุจริตของผู้จัดการมรดกและผู้สนับสนุนความผิดฐานยักยอกทรัพย์
จำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองทรัพย์มรดกที่ดินพร้อมตึกแถวพิพาท แต่เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล ได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่น กระทำผิดหน้าที่ของตนโดยทุจริต โดยจดทะเบียนโอนทรัพย์สินนั้นเป็นของตน เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของผู้อื่น เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 353 ประกอบด้วยมาตรา 354 ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้ว จึงไม่จำต้องปรับบทลงโทษตามมาตรา 352 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก
แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับโอนทรัพย์มรดกจากจำเลยที่ 1 โดยไม่สุจริตอันเป็นการสมคบกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดด้วยก็ตาม แต่ก็ไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานเป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 ได้ เพราะจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้กระทำในฐานเป็นผู้จัดการมรดกของผู้อื่นตามคำสั่งศาล คงลงโทษได้เพียงผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 353,354 ประกอบด้วยมาตรา 86

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9203/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับโอนทรัพย์มรดกจากคำพิพากษาคดีอาญา - ถือกรรมสิทธิ์แทนทายาท
ก. และ ส. เป็นทายาทของ ป. ผู้ตาย ได้ยื่นฟ้องโจทก์และจำเลยคดีนี้เป็นจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในข้อหายักยอกทรัพย์มรดกที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ ซึ่งเป็นทรัพย์สินเดียวกับที่โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายนำมาฟ้องเป็นคดีนี้ขอให้บังคับจำเลยโอนให้แก่โจทก์เพื่อแบ่งปันทายาทอื่นต่อไป เมื่อความปรากฏแก่ศาลว่า ในคดีอาญาศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่า การที่จำเลยที่ 2 (จำเลยคดีนี้) มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ที่ดินและอาคารพาณิชย์พิพาท น่าเชื่อว่าเป็นเพียงผู้ถือกรรมสิทธิ์แทนทายาทอื่น เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ยอมโอนหรือแบ่งทรัพย์มรดกโดยอ้างว่าเป็นของตน จึงมีเจตนาทุจริต เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 353 เช่นนี้ ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 และแม้โจทก์และจำเลยจะเป็นจำเลยในคดีอาญาด้วยกันก็ตาม แต่เมื่อโจทก์และจำเลยต่างเป็นทายาทของผู้ตาย ทั้งโจทก์ยังเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายอีกด้วย คำพิพากษาคดีอาญาจึงย่อมผูกพันโจทก์และจำเลย เมื่อข้อเท็จจริงในคดีอาญาถึงที่สุดโดยฟังว่า จำเลยถือกรรมสิทธิ์ที่ดินและอาคารพาณิชย์พิพาทแทนทายาทอื่น ดังนี้ จำเลยจึงต้องไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์พิพาทคืนแก่โจทก์ผู้จัดการมรดก เพื่อแบ่งปันทายาทอื่นต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7058/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองทรัพย์มรดกแต่ผู้เดียวไม่ถือเป็นการครอบครองแทนทายาทอื่น แม้ไม่มีการแบ่งมรดก
ทายาทคนหนึ่งครอบครองทรัพย์มรดกแต่ผู้เดียวตั้งแต่เจ้ามรดกตายไม่มีบทกฎหมายสนับสนุนว่าทายาทคนนั้นครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาทอื่น
ป.พ.พ. มาตรา 1745 มีความหมายว่าให้นำบทบัญญัติในหมวดว่าด้วยกรรมสิทธิรวม มาตรา 1356 ถึง 1366 มาใช้บังคับเท่าที่ไม่ขัดกับบทบัญญัติบรรพ 6 เมื่อพิจารณาประกอบมาตรา 1599 ย่อมเห็นได้ว่ากรณีมีทายาทหลายคนเมื่อเจ้ามรดกตายทรัพย์สินของเจ้ามรดกย่อมตกแก่ทายาทเป็นเจ้าของร่วมกันไม่ใช่เป็นทรัพย์ไม่มีเจ้าของ แต่ยังไม่เป็นเจ้าของร่วมกันตามบทบัญญัติว่าด้วยกรรมสิทธิ์รวมทุกอย่างและยังต้องตกอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติในบรรพ 6 ด้วย เช่น ทายาทที่ไม่ได้ร่วมครอบครองทรัพย์มรดกร่วมกับทายาทอื่นไม่ฟ้องขอแบ่งมรดกภายในอายุความก็อาจสูญเสียสิทธิในการเป็นทายาทหรือทายาทสละมรดกโดยถูกต้องตามแบบการสละมรดกหรือทายาทตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดก ซึ่งแตกต่างกับการเป็นเจ้าของรวมตามบทบัญญัติว่าด้วยกรรมสิทธิรวมที่ต้องเสียสิทธิเมื่อเจ้าของร่วมคนอื่นแย่งการครอบครองหรือเจ้าของรวมสละความเป็นเจ้าของหรือตกลงแบ่งกรรมสิทธิ์รวม ดังนั้นทายาทคนหนึ่งครอบครองทรัพย์มรดกแต่ผู้เดียวจึงไม่ถือว่าเป็นการครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาทอื่น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7002/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้เอกสารปลอมเพื่อเอาผิดทายาททรัพย์มรดก ศาลฎีกายืนโทษฐานใช้เอกสารปลอม
เดิมจำเลยให้การปฏิเสธและนำสืบต่อสู้ว่ามารดาโจทก์ทำสัญญาซื้อขายที่ดินกับจำเลยและ ล. ดังนั้น การที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่มีส่วนรู้เห็นในการทำสัญญาซื้อขายที่ดินและไม่ทราบว่าเป็นเอกสารปลอม จำเลยสำคัญผิดไปว่าเป็นเอกสารที่มีอยู่จริง ทำให้จำเลยไม่มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 62 วรรคแรก จึงเป็นการยกข้อเท็จจริงที่มิได้ว่ากล่าวมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ เป็นฎีกาที่ไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ปัญหาว่าจำเลยกระทำความผิดฐานใช้เอกสารปลอมหรือไม่ เมื่อจำเลยเป็นผู้ครอบครองต้นฉบับหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดิน แต่ในการพิจารณาของศาลชั้นต้นจำเลยกลับไม่อ้างสัญญาซื้อขายดังกล่าวเป็นพยานเพื่อให้ศาลเชื่อว่ามีสภาพเก่าและได้มีการทำขึ้นมานานแล้ว จำเลยเพิ่งอ้างส่งมาพร้อมฎีกาหลังจากมีกรณีพิพาทถึง 3 ปีเศษ ถือได้ว่าเป็นการจงใจที่จะไม่อ้างต้นฉบับสัญญาซื้อขายที่ดินเป็นพยานมาแต่ต้นซึ่งทำให้โจทก์เสียโอกาสในการตรวจสอบความถูกต้องแท้จริงของเอกสาร จึงไม่อาจรับฟังต้นฉบับหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินเป็นพยานหลักฐานได้
1/1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9787/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแบ่งทรัพย์มรดกหลังการขายที่ดิน และอายุความระหว่างทายาท
จำเลยได้รับจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทรัพย์พิพาทอันเป็นมรดกของเจ้ามรดกมา ก็เนื่องจากทายาททุกคนตกลงมอบหมายให้จำเลยเป็นผู้นำไปขายแล้วนำเงินมาแบ่งแก่ทายาท ดังเห็นได้จากที่จำเลยแบ่งเงินที่ขายให้แก่ทายาทบางคนตามสิทธิในเวลาต่อมา จำเลยจึงครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาททุกคนเพื่อประโยชน์ร่วมกันดังกล่าว ดังนั้น แม้ปรากฏว่าในวันที่ 1 มิถุนายน 2537 จำเลยขายที่ดินมรดกนี้ไปก็เป็นการปฏิบัติตามข้อตกลงนั้น ถือว่าจำเลยยังครอบครองเงินที่ขายแทนทายาททุกคนเพื่อการแบ่งปันกันอายุความตัดสิทธิในระหว่างทายาทด้วยกันยังไม่เริ่มนับเพราะการแบ่งปันทรัพย์มรดกนี้ยังไม่เสร็จสิ้น จำเลยจะยกอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสองและวรรคท้ายมาต่อสู้โจทก์หาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7199/2552 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีตามพินัยกรรม: สิทธิอยู่อาศัยและกรรมสิทธิ์ในทรัพย์มรดก เงื่อนไขบังคับก่อน และอายุความ
ตามข้อกำหนดในพินัยกรรมเขียนเอง มีข้อความระบุไว้ชัดแจ้งว่า เมื่อ ฉ. เจ้ามรดกถึงแก่ความตายแล้วบ้านและที่ดินนั้น เจ้ามรดกขอยกให้สิทธิอยู่อาศัยและสิทธิเก็บกินแก่จำเลยมีอำนาจครอบครองและเก็บกินได้จนตลอดชีวิต แต่ถ้าจำเลยถึงแก่ความตายลงเมื่อใดแล้ว ให้บ้านและที่ดินนี้ตกเป็นกรรมสิทธิ์โดยสมบูรณ์แก่บุตรที่เกิดจาก ช. ทุกคนโดยให้บุตรของ ช. ทุกคนมีส่วนกรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินนี้เท่ากัน ซึ่งจะเห็นได้ว่าข้อกำหนดในพินัยกรรมดังกล่าว เจ้ามรดกมิได้ยกกรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินให้แก่จำเลยโดยเหตุนี้ เมื่อ ฉ. ผู้ทำพินัยกรรมถึงแก่ความตาย สิทธิของจำเลยในฐานะผู้รับพินัยกรรมซึ่งเกิดมีขึ้นตามกฎหมายก็มีเพียงตามที่กำหนดไว้ในพินัยกรรมว่าให้จำเลยมีเพียงสิทธิอยู่อาศัยและเก็บกินในบ้านและที่ดินได้ตลอดชีวิตเท่านั้น ส่วนกรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินจะต้องตกทอดได้แก่โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นบุตร ช. เมื่อจำเลยถึงแก่ความตายแล้วตามเงื่อนไขบังคับก่อนที่ ฉ. ผู้ทำพินัยกรรมระบุให้พินัยกรรมมีผลบังคับให้เรียกร้องกันได้ภายหลัง ทั้งนี้ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1673 ประกอบมาตรา 1674 วรรคสอง กรณีจึงต้องถือว่านับแต่ ฉ. เจ้ามรดกถึงแก่ความตายและข้อกำหนดในพินัยกรรมเฉพาะส่วนของจำเลยมีผลนั้นก็มีผลเพียงให้จำเลยมีสิทธิอยู่อาศัยและเก็บกินในบ้านและที่ดินจนตลอดชีวิตของจำเลยเท่านั้น จึงต้องถือว่าจำเลยครอบครองบ้านและที่ดินแทนโจทก์ทั้งสามผู้รับพินัยกรรมซึ่งมีเงื่อนไขบังคับก่อนและเงื่อนไขนั้นยังไม่สำเร็จเท่านั้น จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะยกอายุความขึ้นต่อสู้โจทก์ทั้งสามได้ ทั้งนี้เพราะ ป.พ.พ. มาตรา 1755 รับรองสิทธิของบุคคลที่จะยกอายุความขึ้นต่อสู้ได้ก็แต่เฉพาะบุคคลซึ่งเป็นทายาทหรือบุคคลซึ่งชอบที่จะใช้สิทธิของทายาทหรือโดยผู้จัดการมรดกเท่านั้น จำเลยครอบครองบ้านและที่ดินทรัพย์มรดกแทนโจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นทายาท จำเลยย่อมไม่มีสิทธิยกอายุความขึ้นต่อสู้โจทก์ทั้งสามได้
จำเลยไม่มีสิทธิที่จะยื่นคำขอรับมรดกบ้านและที่ดินมาเป็นของตนเนื่องจากบ้านและที่ดินเป็นทรัพย์มรดกที่เจ้ามรดกได้ทำพินัยกรรมระบุยกให้แก่โจทก์ทั้งสามแล้ว เพียงแต่เงื่อนไขบังคับก่อนที่กำหนดให้บ้านและที่ดินตกทอดได้แก่โจทก์ทั้งสามยังไม่สำเร็จเพราะจำเลยยังไม่ถึงแก่ความตายเท่านั้น บ้านและที่ดินจึงมิใช่ทรัพย์นอกพินัยกรรมอันจะตกทอดแก่จำเลยในฐานะทายาทโดยธรรมตามป.พ.พ.มาตรา 1620

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6908/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคุ้มครองชั่วคราวเพื่อระงับการโอนทรัพย์มรดกที่พิพาท ก่อนมีคำพิพากษา
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามแบ่งปันทรัพย์มรดกของ จ. ให้แก่โจทก์ตามพินัยกรรม โดยมีทรัพย์มรดกเป็นที่ดินและหุ้นบริษัทงานทวีพี่น้อง จำกัด ซึ่งหุ้นดังกล่าวเจ้ามรดกได้ใส่ชื่อจำเลยที่ 1 ไว้ ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย ต่อมาจำเลยที่ 2 ประสงค์ขอโอนหุ้นให้แก่ทายาทตามพินัยกรรมของจำเลยที่ 1 และที่ประชุมบริษัทมีมติอนุมัติโจทก์จึงยื่นคำร้องขอให้กำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาต่อศาล คำร้องขอของโจทก์เป็นกรณีที่ต้องด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 254 (3) ซึ่งโจทก์กล่าวอ้างมาในคำร้องแล้วว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 จะดำเนินการให้มีการจดทะเบียนแก้ไขเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนเกี่ยวกับทรัพย์สินที่พิพาทให้แก่ทายาทจำเลยที่ 1 ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากทายาทของจำเลยที่ 1 โอนทรัพย์สินที่พิพาทให้แก่บุคคลภายนอกต่อไป การบังคับคดีของโจทก์จะเกิดความยุ่งยากซับซ้อน หากข้อเท็จจริงเป็นดังที่โจทก์กล่าวอ้างย่อมมีเหตุผลเพียงพอ ที่จะนำวิธีการคุ้มครองตามที่ขอนั้นมาใช้ได้ตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 255 (3) (ก) การที่ศาลชั้นต้นยกคำร้องของโจทก์โดยไม่ไต่สวนให้ได้ความจริงว่าเป็นเช่นไรก่อน จึงเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5689/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องเพิกถอนการซื้อขายทรัพย์มรดกหลังนางอรทัยถึงแก่กรรม และประเด็นอายุความ
คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 บิดาโจทก์กับจำเลยที่ 2 โดยอ้างว่าที่ดินเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 กับ อ. มารดาโจทก์ซึ่งถึงแก่กรรมไปแล้ว จึงเป็นการเรียกให้ได้ที่ดินกลับคืนมาเป็นทรัพย์มรดกเพื่อประโยชน์แก่โจทก์ แม้ที่ดินพิพาทจะกล่าวอ้างว่าเป็นสินสมรสก็ตามก็เป็นเพียงข้อที่นำไปสู่การวินิจฉัยถึงการแบ่งส่วนของที่ดินในฐานะที่เป็นสินสมรสเพื่อจัดการทรัพย์มรดกของ อ. เท่านั้น คดีของโจทก์จึงมิได้พิพาทกันเกี่ยวกับสิทธิในครอบครัว แต่เป็นคดีที่มีคำขอปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ เป็นคดีมีทุนทรัพย์ตามจำนวนราคาที่ดินนั้น เมื่อโจทก์มีคำขอให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินคืนหากไม่สามารถทำได้ให้ชำระเงินจำนวน 186,750 บาท ทุนทรัพย์ที่พิพาทที่โจทก์เรียกร้องจึงไม่เกิน 200,000 บาท คดีจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินโดยไม่สุจริตนั้น เป็นฎีกาโต้แย้งดุลพินิจการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 1 อันเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว
เมื่อ อ. ถึงแก่กรรม การสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 และ อ. ย่อมสิ้นสุดลงด้วยเหตุการณ์ตายของ อ. ทรัพย์มรดกส่วนของ อ. ย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมทันที ด้วยผลของกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1501 ประกอบมาตรา 1599 และ 1629 ที่ดินในส่วนที่เป็นสินสมรสของ อ. ย่อมกลายเป็นมรดก การที่ที่ดินเคยเป็นสินสมรสจึงเป็นเพียงข้อที่นำไปสู่การวินิจฉัยถึงการแบ่งส่วนของที่ดินในฐานะที่เป็นสินสมรสเพื่อจัดการทรัพย์มรดกของ อ. เท่านั้น นิติกรรมการซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 เพิ่งเกิดขึ้นภายหลังจาก อ. ถึงแก่กรรมแล้วประมาณ 5 ปี อ. สิ้นสภาพบุคคลเมื่อตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 15 วรรคหนึ่ง กรณีจึงมิใช่เรื่องการจัดการสินสมรสที่สามีภริยาจะต้องจัดการร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง มิฉะนั้นคู่สมรสที่มิได้ให้ความยินยอมมีสิทธิฟ้องให้เพิกถอนนิติกรรมเกี่ยวกับการจัดการสินสมรสดังกล่าวได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1476 และ 1480 ทั้ง อ. ไม่อาจใช้สิทธิฟ้องเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ เนื่องจากสิ้นสภาพบุคคลด้วยเหตุการตาย แต่กรณีเป็นเรื่องว่าด้วยวิธีการจัดการแบ่งทรัพย์ถึงสิทธิในที่ดินกึ่งหนึ่งของ อ. ที่เป็นมรดก โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 2 ขอให้เพิกถอนนิติกรรมที่แบ่งสินสมรสในส่วนที่ดินครึ่งหนึ่งให้แก่ อ. โจทก์คงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมที่จำเลยที่ 1 ขายที่ดินซึ่งครึ่งหนึ่งเป็นมรดกของ อ. ให้แก่จำเลยที่ 2 เท่านั้น
โจทก์ผู้เป็นทายาทมิได้ฟ้องเรียกร้องมรดกดังกล่าวเสียภายในกำหนด 1 ปี จากจำเลยที่ 1 ผู้ครอบครองแต่เพียงผู้เดียวในทรัพย์มรดกของผู้ตาย ทรัพย์ในส่วนมรดกนั้นย่อมตกเป็นของจำเลยที่ 1 ทายาทผู้ครอบครอง เมื่อจำเลยที่ 1 ขายทรัพย์ซึ่งรวมส่วนมรดกดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก จำเลยที่ 2 ย่อมใช้สิทธิของจำเลยที่ 1 ผู้เป็นทายาทยกอายุความขึ้นต่อสู้โจทก์ผู้เป็นทายาทอื่นได้ด้วยแม้จำเลยที่ 1 จะไม่ได้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ แต่มูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ เมื่อจำเลยที่ 2 ยกอายุความขึ้นต่อสู้ ย่อมถือว่าการยกอายุความเป็นข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 2 เป็นการทำแทนจำเลยที่ 1 ด้วย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 59 (1) ดังนี้ ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754
of 49