คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
นิติบุคคล

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 439 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 588/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องแทนขององค์กรที่ไม่เป็นนิติบุคคล และผลของการอุทธรณ์ที่ไม่ชอบตามกฎหมาย
ชั้นพิจารณาในศาลชั้นต้นจำเลยต่อสู้คดีด้วยตนเอง ในชั้นอุทธรณ์และฎีกาจำเลยมิได้แต่งตั้งทนายให้เข้าว่าความ แต่ได้มอบอำนาจให้องค์การตรวจสอบอำนาจรัฐแห่งราชอาณาจักรไทย โดย ส. ประธานองค์การฯ เป็นผู้อุทธรณ์และผู้ฎีกา แต่องค์การตรวจสอบอำนาจรัฐแห่งราชอาณาจักรไทยไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคลไม่อาจใช้สิทธิอุทธรณ์และฎีกาแทนจำเลยได้ การที่องค์การฯ ดังกล่าวยื่นอุทธรณ์แทนจำเลยจึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบ ศาลอุทธรณ์ภาค 9 รับวินิจฉัยให้เป็นการไม่ชอบ จำเลยไม่มีสิทธิฎีกาต่อมาเพราะเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 9 ต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ซึ่งใช้บังคับในขณะที่โจทก์ยื่นฟ้อง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4603/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความคดีอาญา: การรับรู้ความผิดของนิติบุคคลต้องผ่านตัวแทนที่ได้รับมอบหมายตามกฎหมาย
แม้ขั้นตอนและวิธีปฏิบัติขององค์การคลังสินค้าผู้เสียหายจะกำหนดให้มีผู้ประสานงานในจังหวัดเป็นผู้แทนของผู้เสียหายในจังหวัดพื้นที่รับผิดชอบ และรายงานการตรวจสอบข้าวที่หน่วยรับฝากไว้แก่ผู้เสียหายอย่างช้าไม่เกิน 10 นาฬิกาของวันรุ่งขึ้น แต่ผู้เสียหายเป็นนิติบุคคลตาม พ.ร.บ.จัดตั้งองค์กรของรัฐบาล พ.ศ.2496 มาตรา 4 และ พ.ร.ฎ.จัดตั้งองค์การคลังสินค้า พ.ศ.2498 ซึ่งมาตรา 26 บัญญัติว่า ในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก ให้ผู้อำนวยการเป็นตัวแทนองค์การ และเพื่อการนี้ผู้อำนวยการอาจมอบให้บุคคลใด ๆ ปฏิบัติกิจการบางอย่างแทนในเมื่อคณะกรรมการกำหนด และตาม ป.พ.พ. มาตรา 70 วรรคสอง บัญญัติว่า ความประสงค์ของนิติบุคคลย่อมแสดงออกโดยผู้แทนของนิติบุคคล ดังนั้นการแสดงออกของผู้เสียหายย่อมต้องแสดงออกโดยผู้อำนวยการ แม้ข้อเท็จจริงจะฟังว่า พ. ทราบเหตุที่ข้าวสารในหน่วยที่รับฝากไว้สูญหายไปตามฟ้องก่อนแล้ว แต่ พ. เป็นเพียงเจ้าหน้าที่ผู้ประสานงานของผู้เสียหายซึ่งมีหน้าที่ต้องแจ้งให้ผู้บังคับบัญชารับทราบตามลำดับชั้นเท่านั้น ไม่มีอำนาจที่จะร้องทุกข์หรือดำเนินคดี จึงถือไม่ได้ว่า พ. เป็นผู้แทนของผู้เสียหายในการรับรู้เรื่องอายุความ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุงมีหนังสือแจ้งให้ผู้เสียหายทราบว่าไม่มีข้าวสารในโรงสีของจำเลยที่ 1 ให้ตรวจรับ ตามหนังสือลงวันที่ 15 สิงหาคม 2557 จึงต้องถือว่าผู้เสียหายรู้เรื่องความผิดเมื่อได้รับแจ้งจากผู้ว่าราชการจังหวัด เมื่อผู้เสียหายร้องทุกข์ในวันที่ 14 ตุลาคม 2557 จึงเป็นการร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้เรื่องความผิด คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 672/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำเลยมีหน้าที่บำรุงรักษาสาธารณูปโภคจนกว่าจะมีการจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร หรือโอนให้เป็นสาธารณประโยชน์ และข้อตกลงเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้ซื้อเป็นโมฆะ
เมื่อภายหลังครบกำหนดระยะเวลาที่จำเลยต้องรับผิดชอบบำรุงรักษาสาธารณูปโภคแล้ว ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรโครงการ ป. ยังไม่ได้จัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรหรือนิติบุคคลอื่นเพื่อรับโอนทรัพย์สินดังกล่าวไปจัดการและดูแลบำรุงรักษา จำเลยยังไม่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการให้ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อการบำรุงรักษาสาธารณูปโภค และจำเลยยังไม่ได้จดทะเบียนโอนทรัพย์สินดังกล่าวให้เป็นสาธารณประโยชน์ตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 44 (1) (2) (3) (เดิม) จำเลยจึงยังไม่พ้นจากหน้าที่บำรุงรักษาสาธารณูปโภคในโครงการ ป. ให้คงสภาพดังที่ได้จัดทำขึ้นนั้นต่อไปตามมาตรา 43 ส่วนข้อตกลงตามบันทึกต่อท้ายสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้านพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลย ที่ระบุว่า ผู้จะซื้อยินดีที่จะชำระค่าสาธารณูปโภคที่มีการเรียกเก็บต่อไปในอนาคตที่ผู้จะขายหรือนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรเป็นผู้กำหนดและเรียกเก็บต่อไป นั้น เมื่อปรากฏว่ายังไม่มีการดำเนินการตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 44 (1) (2) หรือ (3) (เดิม) ประการใดประการหนึ่ง จำเลยจึงต้องรับผิดบำรุงรักษาสาธารณูปโภคต่อไป และไม่มีบทบัญญัติใดให้จำเลยมีสิทธิเรียกเก็บเงินค่าใช้จ่ายจากผู้ซื้อที่ดินจัดสรรไปบำรุงรักษาสาธารณูปโภค จึงเป็นหน้าที่ของจำเลยต้องรับผิดชอบออกค่าใช้จ่ายเอง จะเรียกเก็บจากผู้ซื้อที่ดินจัดสรรไม่ได้ ข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นข้อตกลงที่ฝ่าฝืน พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 43 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองผู้ซื้อที่ดินจัดสรร อันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เฉพาะข้อตกลงดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 ไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย จำเลยไม่อาจอ้างข้อตกลงดังกล่าวมาเป็นเหตุปฏิเสธความรับผิดได้ ส่วนค่าบริการสาธารณะ แม้เป็นคนละส่วนกับความรับผิดค่าสาธารณูปโภคตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 43 จึงอาจมีการกำหนดหรือตกลงกันให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรรับผิดค่าบริการสาธารณะตามอัตราที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกรุงเทพมหานครตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 53 ได้ก็ตาม แต่ตามแผนผังโครงการและวิธีการจัดสรรที่ดินที่จำเลยได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการจัดสรรที่ดิน ไม่ปรากฏข้อกำหนดให้เรียกเก็บค่าบริการและค่าบำรุงรักษาบริการสาธารณะจากผู้ซื้อที่ดินจัดสรรแต่อย่างใด แต่กลับปรากฏเงื่อนไขกำหนดในแผนผังและวิธีการจัดสรร ฉบับแก้ไข ครั้งที่ 3 ข้อ 8 ว่า จำเลยจะเป็นผู้ดูแลสาธารณูปโภคต่าง ๆ และบริการสาธารณะให้คงสภาพเดิมเป็นระยะเวลา 1 ปี และพ้นจากหน้าที่เมื่อผู้ซื้อที่ดินจัดสรรจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรอันเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยว่าจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายค่าสาธารณูปโภคและค่าบริการสาธารณะเอง ดังนี้ โครงการ ป. ยังไม่มีการจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรขึ้น เพราะเหตุมีการคัดค้านบัญชีทรัพย์สินที่เป็นสาธารณูปโภคและบริการสาธารณะว่าไม่ถูกต้องครบถ้วนและสาธารณูปโภคยังไม่แล้วเสร็จ จำเลยจึงมีส่วนทำให้การจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรไม่สำเร็จ โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดค่าบริการสาธารณะ การที่โจทก์และผู้ซื้อที่ดินจัดสรรอื่นได้รับความเดือดร้อนจากการไม่บริหาร จัดการ ดูแลบริการสาธารณูปโภคและบริการสาธารณะ จนจัดตั้งคณะกรรมการหมู่บ้านชั่วคราวและต้องร่วมกันชำระเงินจำนวนตามฟ้องเป็นค่าบริการสาธารณูปโภคและค่าบริการสาธารณะระหว่างเดือนเมษายน 2557 ถึงเดือนกรกฎาคม 2558 เงินที่โจทก์แต่ละคนชำระจึงเป็นส่วนหนึ่งของค่าเสียหายที่โจทก์ได้รับสืบเนื่องมาจากการกระทำฝ่าฝืนกฎหมายโดยตรงของจำเลย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการผิดสัญญาและละเมิด จำเลยต้องคืนเงินค่าสาธารณูปโภคและค่าบริการสาธารณะตามฟ้องแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1730/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจตนาออกเช็ค – นิติบุคคล – ผู้แทน – การขาดเจตนา – ความผิด พ.ร.บ.เช็ค
แม้จำเลยที่ 1 จะให้การรับสารภาพว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามฟ้องโจทก์ แต่ข้อเท็จจริงปรากฏตามฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล การกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ต้องกระทำโดยการแสดงเจตนาในการกระทำความผิดผ่านทางจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นผู้แทนของนิติบุคคลจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 70 กล่าวคือ จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ประธานกรรมการสหกรณ์ในคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 เลขานุการในคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์จำเลยที่ 1 ร่วมกันลงลายมือชื่อพร้อมประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 ออกเช็คตามฟ้อง เพื่อชำระหนี้เงินฝากคืนแก่โจทก์ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นผู้แทนสหกรณ์จำเลยที่ 1 ได้ออกเช็คของจำเลยที่ 1 เพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ โดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค เพราะจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ว่าในวันที่ออกเช็คนั้น จำเลยที่ 1 ไม่มีเงินเพียงพอที่จะชำระเงินตามเช็คได้ จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลรู้ว่าในวันที่ออกเช็คนั้นจำเลยที่ 1 ไม่มีเงินอยู่ในบัญชีเพียงพอที่จะชำระเงินตามเช็คให้แก่โจทก์ได้ การกระทำของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ดังกล่าว จึงเป็นการกระทำโดยขาดเจตนาในการกระทำความผิดอันจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 จำเลยที่ 1 ย่อมไม่มีความผิดฐานออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คตามที่โจทก์ฟ้อง และกรณีนี้เป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ที่มิได้อุทธรณ์ฎีกาด้วยได้ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 225 มาตรา 215 มาตรา 213 และมาตรา 185 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 686/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของตัวแทนและผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดต่อความเสียหายจากการทุจริตของลูกจ้าง
แม้โจทก์จะกล่าวมาในฟ้องไม่ชัดเจนว่าจำเลยที่ 2 กระทำละเมิดหรือผิดสัญญาแต่เมื่อโจทก์บรรยายข้อเท็จจริงมาให้เป็นที่เข้าใจตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไรแล้ว เป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องปรับข้อเท็จจริงตามคำฟ้องว่าจะต้องด้วยบทกฎหมายใด ข้อเท็จจริงที่โจทก์บรรยายฟ้องจึงเป็นการแสดงให้เห็นว่าเป็นกรณีที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายได้ทั้งสองทาง โดยให้จำเลยที่ 2 รับผิดทั้งในมูลผิดสัญญาตัวแทนและในมูลละเมิด ดังนั้น แม้ว่าโจทก์จะรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนอย่างช้าในวันที่ 12 กันยายน 2555 และจำเลยที่ 2 ชำระเงินให้โจทก์ครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนกรกฎาคม 2557 แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2560 อันทำให้สิทธิเรียกร้องในมูลละเมิดของโจทก์ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่สิทธิเรียกร้องในมูลผิดสัญญาตัวแทนนั้น ไม่มีกฎหมายกำหนดเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องถืออายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ
คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดในความเสียหายที่จำเลยที่ 1 ยักยอกเงินของโจทก์ในระหว่างที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการของโจทก์เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2554 ถึงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2555 แต่คดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และ ฝ. นั้น เป็นการฟ้องให้จำเลยที่ 1 และ ฝ. รับผิดในความเสียหายที่จำเลยที่ 1 ยักยอกเงินของโจทก์ในระหว่างที่ ฝ. เป็นผู้จัดการของโจทก์เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2555 ถึงวันที่ 7 กันยายน 2555 ซึ่งความรับผิดของจำเลยที่ 2 และ ฝ. มิใช่การรับผิดร่วมกัน แต่เป็นความรับผิดของแต่ละคนที่จะต้องรับผิดเฉพาะในช่วงเวลาที่ตนเป็นผู้จัดการของโจทก์เท่านั้น และจำเลยที่ 2 มิได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าว การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซํ้าและการดำเนินกระบวนพิจารณาซํ้าจำเลยที่ 2 ประมาทเลินเล่อไม่ปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจสอบใบเสร็จรับเงินที่มีการยกเลิกให้ถูกต้อง เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 เบียดบังเอาเงินของโจทก์ไปโดยทุจริต จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่โจทก์ด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 812 เมื่อโจทก์มีสิทธิได้รับชำระหนี้ไม่เกินไปกว่าความเสียหายที่โจทก์ได้รับ ดังนั้น หากโจทก์ได้รับชำระหนี้ไว้จากจำเลยที่ 1 เพียงใด ก็ต้องนำมาหักชำระหนี้ในส่วนที่จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4215/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเช่าห้องชุดรายวันขัดต่อข้อบังคับอาคารชุด สิทธิของนิติบุคคลในการบังคับใช้ข้อบังคับและเรียกค่าเสียหาย
แม้จำเลยจะมีสิทธิใช้สอยกรรมสิทธิ์ในห้องชุดของจำเลยได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 แต่ก็ต้องคำนึงว่าการใช้สอยนั้นจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของร่วมอื่นในอาคารชุดดังกล่าวด้วยหรือไม่ ซึ่งตามข้อบังคับของโจทก์ข้อ 11.8 กำหนดว่า ผู้ใดประกอบการค้าในอาคารชุด "การค้า" หมายถึง การตกลงแลกเปลี่ยนสินค้า หรือบริการ หรือทั้งสองอย่าง เช่น การให้เช่ารายชั่วโมง หรือการเปิดให้เป็นสถานบริการอื่น ๆ เป็นต้น เจ้าของร่วมต้องดำเนินการอย่างเคร่งครัดเพื่อให้การใช้ห้องชุดของตนเป็นการใช้ห้องชุดเพื่อเป็นการอยู่อาศัยของตน และ/หรือบริวาร และ/หรือผู้เช่ารายเดือนเท่านั้น ไม่อนุญาตให้การใช้ห้องชุดของตนให้เช่าเป็นที่พักอาศัยรายวัน ซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 17/1 พระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ. 2547 มาตรา 15 และไม่อนุญาตให้ใช้ห้องชุดของตนเป็นที่ทำงานบริษัท ห้างร้าน ที่พักชั่วคราว อะพาร์ตเมนต์ให้เช่าระยะสั้น หรือการใช้ประเภทอื่นใดซึ่งผู้จัดการนิติบุคคลพิจารณาแล้วถือว่าเป็นการให้ใช้เพื่อพักชั่วคราว และข้อบังคับข้อ 11.12 กำหนดว่า หากเจ้าของร่วม หรือบริวาร ญาติ เพื่อน อันมีความสัมพันธ์กับเจ้าของร่วมไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับนี้ หรือผู้ใดฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับนิติบุคคลอาคารชุด นิติบุคคลอาคารชุดแจ้งเตือนให้ปรับปรุงแก้ไขหรือปฏิบัติตามให้ถูกต้องภายในเวลาที่กำหนดแล้ว หากยังเพิกเฉย นิติบุคคลอาคารชุดจะถือว่าผู้นั้นจงใจฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับนี้ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท และปรับอีกวันละห้าพันบาทตลอดระยะเวลาที่ฝ่าฝืนอยู่ ดังนั้น โจทก์จะมีสิทธิคิดค่าปรับเป็นค่าเสียหายตามข้อบังคับของโจทก์ได้ต่อเมื่อโจทก์แจ้งเตือนให้ปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้องภายในเวลาที่กำหนดแต่ละครั้งที่ทำการฝ่าฝืนแล้ว เมื่อจำเลยนำห้องชุดของจำเลยออกให้บุคคลทั่วไปเช่าเป็นรายวันฝ่าฝืนข้อบังคับข้อ 11.8 ของโจทก์ และโจทก์มีหนังสือแจ้งเตือนให้จำเลยยุติการนำห้องชุดออกให้เช่าตามสำเนาเรื่องให้ยุติการนำห้องชุดออกให้เช่ารายวันภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ จำเลยได้รับหนังสือดังกล่าวทางไปรษณีย์ตอบรับแล้วเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2560 แต่เพิกเฉย ดังนั้น โจทก์ในฐานะผู้ดูแลอาคารชุดจึงมีสิทธิบังคับให้จำเลยชำระค่าเสียหายเป็นค่าปรับ 10,000 บาท ส่วนค่าปรับรายวันนั้น โจทก์จะมีสิทธิคิดได้ต่อเมื่อมีผู้เข้าพักอาศัยในห้องของจำเลยในฐานะผู้เช่ารายวันหากไม่มีผู้ใดเช่า โจทก์ก็ย่อมไม่มีสิทธิคิดค่าปรับรายวันจากจำเลย เพราะมิใช่กรณีความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อเนื่องอันจะทำให้มีสิทธิคิดค่าเสียหายต่อเนื่องได้ ซึ่งก็ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ในช่วงวันที่ 30 เมษายน 2560 จนถึงวันฟ้อง มีผู้มาเช่าห้องเลขที่ของจำเลยหลายครั้ง ดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าเสียหายให้เป็นเงิน 300,000 บาท จึงเหมาะสมกับพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ส่วนภายหลังวันฟ้องนั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่า มีผู้มาเช่าห้องดังกล่าวของจำเลยในวันที่ 6 กันยายน 2561 และวันที่ 20 ถึง 22 ธันวาคม 2561 มิได้เช่าต่อเนื่องกันไปแต่อย่างใด ซึ่งโจทก์ก็ชอบที่จะไปเรียกร้องค่าเสียหายในส่วนนั้นจากจำเลยเป็นอีกคดีหนึ่งต่างหาก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2871/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีหลังบริษัทถูกขีดชื่อออกจากทะเบียน: สิทธิในการประเมินและผลของการสิ้นสภาพนิติบุคคล
เมื่อจำเลยถูกขีดชื่อบริษัทออกจากทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท การถูกขีดชื่อออกจากทะเบียนย่อมเป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1273/3 กล่าวคือ บริษัทนั้นสิ้นสภาพนิติบุคคลตั้งแต่เมื่อนายทะเบียนขีดชื่อบริษัทออกจากทะเบียน และบริษัทที่ถูกขีดชื่อจะกลับคืนฐานะนิติบุคคลอีกครั้งเมื่อศาลได้มีคำสั่งให้จดชื่อบริษัทกลับคืนเข้าสู่ทะเบียนตามมาตรา 1273/4 แม้ตามมาตรา 1273/4 วรรคหนึ่ง จะกำหนดว่า การที่ศาลมีคำสั่งให้จดชื่อบริษัทกลับคืนสู่ทะเบียน ให้ถือว่าบริษัทยังคงอยู่ตลอดมาเสมือนมิได้มีการขีดชื่อออกเลย โดยศาลจะสั่งและวางข้อกำหนดไว้เป็นประการใด ๆ ตามที่เห็นเป็นการยุติธรรมด้วยก็ได้ เพื่อให้บริษัทกลับคืนสู่ฐานะอันใกล้ที่สุดกับฐานะเดิมเสมือนบริษัทนั้นมิได้ถูกขีดชื่อออกจากทะเบียนเลยก็ตาม แต่การที่จะถือเสมือนว่าบริษัทคงอยู่ตลอดมา เป็นเพียงการรับรองสภาพนิติบุคคลภายหลังศาลมีคำสั่งให้จดชื่อบริษัทกลับคืนสู่ทะเบียน เมื่อโจทก์ที่ 1 ออกแบบแจ้งการประเมิน ฉบับลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2555 ซึ่งนับเป็นเวลาเกือบสามปีนับแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2552 ที่จำเลยถูกสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนกลางขีดชื่อออกจากทะเบียนตามมาตรา 1273/3 แต่กลับไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองได้ดำเนินการตรวจสอบสภาพนิติบุคคลของจำเลยและดำเนินการให้มีการจดชื่อบริษัทจำเลยกลับคืนสู่ทะเบียนก่อนมีการออกและส่งแบบแจ้งการประเมินให้แก่จำเลยทั้งที่มีระยะเวลานานที่จะดำเนินการได้ และการตรวจสอบสภาพนิติบุคคลกระทำได้ไม่ยาก แม้ขณะที่มีการส่งแบบแจ้งการประเมินให้แก่จำเลย ณ ภูมิลำเนาตามหนังสือรับรองของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าจะมีผู้ลงชื่อรับตามไปรษณีย์ตอบรับ แต่ขณะนั้นศาลยังไม่ได้มีคำสั่งให้จดชื่อจำเลยกลับคืนเข้าสู่ทะเบียน จำเลยจึงไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคลในขณะที่มีการส่งแบบแจ้งการประเมินดังกล่าว ต่อมาโจทก์ที่ 1 กลับเพิ่งยื่นคำร้องต่อศาลให้จดชื่อจำเลยกลับคืนเข้าสู่ทะเบียน โดยระบุในคำร้องด้วยว่าจำเลยถูกขีดชื่อจากทะเบียนเป็นผลให้บริษัทสิ้นสภาพนิติบุคคลแสดงว่าโจทก์ทั้งสองทราบสภาพบุคคลของจำเลยดีอยู่แล้ว และเมื่อศาลมีคำสั่งให้จดชื่อจำเลยกลับคืนสู่ทะเบียนได้ตามมาตรา 1273/4 ก็ไม่ปรากฏว่าศาลมีคำสั่งและวางข้อกำหนดใด ๆ เพิ่มเติมเกี่ยวกับการนี้ ดังนั้น การส่งแบบแจ้งการประเมินให้แก่จำเลยซึ่งเป็นบริษัทที่สิ้นสภาพนิติบุคคลในขณะนั้นจึงไม่สามารถทำได้และยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสองได้แจ้งการประเมินอากรขาเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มแก่จำเลยแล้ว เมื่อการส่งแบบแจ้งการประเมินให้แก่จำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทั้งสองจะอ้างว่าจำเลยไม่ได้อุทธรณ์โต้แย้งการประเมิน กรณีจึงต้องถือว่าจำเลยพอใจและการประเมินเป็นอันยุติแล้วไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2278/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การค้ำประกันหนี้ - ความรับผิดของผู้ค้ำประกันบุคคลธรรมดา - ข้อแตกต่างจากผู้ค้ำประกันที่เป็นนิติบุคคล
แม้หนังสือสัญญาค้ำประกันหนี้ในอนาคตที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ทำไว้แก่โจทก์หลังจาก ป.พ.พ. มาตรา 681/1 ที่แก้ไขใหม่มีผลใช้บังคับจะมีข้อความในวรรคสุดท้ายของข้อ 1 ระบุว่า กรณีผู้ค้ำประกันเป็นนิติบุคคล ผู้ค้ำประกันตกลงผูกพันตนเพื่อรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมหรือในฐานะลูกหนี้ร่วมกับลูกหนี้ในการชำระหนี้ดังกล่าวข้างต้นก็เป็นเพียงข้อตกลงที่ใช้ในกรณีผู้ค้ำประกันเป็นนิติบุคคล แต่การทำหนังสือสัญญาค้ำประกันหนี้ในอนาคตของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นเรื่องบุคคลธรรมดาทำสัญญาค้ำประกันกับโจทก์ มิใช่นิติบุคคลทำสัญญาค้ำประกันตามวรรคสุดท้ายของข้อ 1 ทั้งตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าวก็ไม่มีข้อความที่ระบุว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ตกลงยอมรับผิดอย่างเดียวกับลูกหนี้ร่วมหรือในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ชั้นต้นแต่อย่างใด ดังนั้นการทำหนังสือสัญญาค้ำประกันหนี้ในอนาคตของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ดังกล่าวจึงหาตกเป็นโมฆะ โจทก์มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ในฐานะผู้ค้ำประกันรับผิดต่อโจทก์หากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 159/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ นิติบุคคลค้ำประกันเกินวัตถุประสงค์ สัญญาเป็นโมฆะ การให้สัตยาบันต้องทำหลังเกิดนิติกรรม
จำเลยที่ 3 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ไม่มีวัตถุประสงค์การค้ำประกันการชำระหนี้ของผู้อื่น ตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 66 ผู้แทนนิติบุคคลต้องกระทำกิจการหรือนิติกรรมภายในขอบวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลจึงจะมีผลผูกพันนิติบุคคล เมื่อจำเลยที่ 3 ไม่มีวัตถุประสงค์ในการค้ำประกันหนี้ของผู้อื่นสัญญาค้ำประกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 จึงเป็นเรื่องนอกขอบวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 3 ไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 3 ให้ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าว
การให้สัตยาบันแก่นิติกรรมที่นิติบุคคลกระทำนอกขอบวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลเป็นการให้การรับรองนิติกรรมที่ไม่มีผลผูกพันให้มีผลผูกพันนิติบุคคลและบังคับกันได้ซึ่งอาจกระทำโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยาย โดยสภาพการให้สัตยาบันจึงต้องกระทำภายหลังที่ได้กระทำนิติกรรมนั้นแล้ว กรณีไม่อาจถือเอาการกระทำนิติกรรมนั้นเองเป็นการให้สัตยาบันแก่นิติกรรมนั้นในขณะเดียวกันได้ มิฉะนั้นแล้วจะกลายเป็นว่านิติกรรมที่อยู่นอกขอบวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลจะมีผลผูกพันนิติบุคคลนั้นทุกกรณี ซึ่งมิใช่เจตนารมณ์ของกฎหมายในการกำหนดวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลให้แตกต่างไปจากบุคคลธรรมดา การลงลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 ฐานะกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 3 ในสัญญาค้ำประกันจึงไม่เป็นการให้สัตยาบันแก่การค้ำประกัน สัญญาค้ำประกันจึงไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 3 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3
of 44