คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
สิทธิในที่ดิน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 460 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18820/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทสิทธิในที่ดิน: ศาลยุติธรรมมีอำนาจพิจารณาคดี ไม่ใช่ศาลปกครอง และฟ้องไม่ขาดอายุความ
โจทก์ขอรังวัดเพื่อสอบเขต แบ่งแยกในนามเดิมและรวมโฉนดที่ดิน โดยโจทก์นำเจ้าพนักงานที่ดินรังวัดแนวเขต แต่จำเลยที่ 1 เห็นว่าแนวเขตด้านทางหลวงเทศบาลไม่ถูกต้อง จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ในฐานะรองนายกเทศมนตรีทำหนังสือถึงเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสุพรรณบุรีขอยกเลิกการลงลายมือชื่อระวังแนวเขตของจำเลยที่ 3 และยื่นคำคัดค้านการรังวัดที่ดินของโจทก์ ดังนั้น ศาลจึงต้องพิจารณาก่อนว่าที่ดินในส่วนที่พิพาทคดีนี้เป็นสิทธิของฝ่ายใด ประเด็นแห่งคดีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินอันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม มิใช่คำสั่งทางปกครองที่จะทำให้คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองและคดีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันเพิกถอนคำคัดค้านและรับรองแนวเขตที่ดินพิพาท แม้จะเรียกค่าเสียหายมาด้วย แต่สิทธิฟ้องร้องของโจทก์ย่อมมีอยู่ตลอดไปตราบเท่าที่จำเลยที่ 1 ยังไม่ดำเนินการเพิกถอนคำคัดค้านและรับรองแนวเขตที่ดินพิพาทเมื่อจำเลยที่ 1 ยังไม่ดำเนินการเพิกถอนคำคัดค้านและรับรองแนวเขตที่ดินพิพาทต่อเนื่องกันตลอดมาจนถึงวันฟ้อง ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2574/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ นิติกรรมอำพราง: สัญญาซื้อขายที่ดินเป็นกลบเกลื่อนการกู้ยืมเงิน สิทธิในที่ดินยังเป็นของผู้กู้
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การตอนแรกว่า ต. และจำเลยที่ 1 ไม่เคยขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ แต่สัญญาซื้อขายตามฟ้องเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้ที่ ต. และจำเลยที่ 1 กู้เงินไปจากโจทก์ จึงเป็นคำให้การที่แสดงการปฏิเสธโดยชัดแจ้งว่าไม่ได้ขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ รวมทั้งอ้างเหตุแห่งการนั้น ว่าสัญญาซื้อขายเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้ ส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การตอนหลังว่า สัญญาซื้อขายตามฟ้องมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงตกเป็นโมฆะ และตัดฟ้องโจทก์ว่าโจทก์มิได้ฟ้องคดีภายใน 10 ปี นับแต่วันทำสัญญาซื้อขาย คดีโจทก์จึงขาดอายุความนั้น ก็มิใช่ว่าเป็นคำให้การที่ยอมรับหรือถือว่า ต. และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทกับโจทก์จริง จึงมิได้ขัดแย้งกันเองหรือไม่ชัดแจ้งว่ายอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างในคำฟ้องโจทก์ คำให้การของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงแสดงโดยชัดแจ้งว่าปฏิเสธฟ้องโจทก์ทั้งหมด รวมทั้งเหตุแห่งการนั้นแล้ว ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีสิทธินำพยานเข้าสืบหักล้างสัญญาซื้อขายตามฟ้องได้ ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94
การที่โจทก์ปล่อยปละละเลยให้เวลาล่วงเลยมานานเกือบ 20 ปี นับแต่ที่อ้างว่าซื้อที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมาจาก ต. และจำเลยที่ 1 โดยมิได้จัดให้มีการเปลี่ยนแปลงชื่อทางทะเบียนในที่ดินพิพาททั้งสองซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติที่ไม่ดำเนินการปกป้องสิทธิของตนเองเช่นนั้น ถือได้ว่าเป็นข้อพิรุธของโจทก์อย่างยิ่ง ส่อแสดงให้เห็นได้ว่าโจทก์ทราบดีว่าตนมีสิทธิเพียงเข้าทำกินในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงต่างดอกเบี้ยเท่านั้นเอง การทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทตามฟ้องจึงเป็นนิติกรรมอำพรางนิติกรรมการกู้ยืมเงิน ทำให้นิติกรรมการซื้อขายดังกล่าวตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคแรก และต้องบังคับตามนิติกรรมการกู้ยืมเงินซึ่งเป็นนิติกรรมที่ถูกอำพรางไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสอง
แม้กรณีเช่นนี้จะมิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อ ต.และจำเลยที่ 1 เป็นสำคัญต่างหากจากสัญญาซื้อขายก็ตาม ย่อมถือได้ว่าสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทตามฟ้อง เป็นนิติกรรมสัญญากู้ยืมเงินที่ทำกันไว้เป็นลายลักษณ์อักษรระหว่าง ต. กับโจทก์ จึงมีผลบังคับกันได้
การที่ ต. และจำเลยที่ 1 มิได้ขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่โจทก์ แต่ ต. และจำเลยที่ 1 กู้เงินไปจากโจทก์และให้โจทก์เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นการทำกินต่างดอกเบี้ย ต. และจำเลยที่ 1 มิได้สละการครอบครองให้แก่โจทก์แต่อย่างใด แม้ว่าโจทก์จะครอบครองที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นระยะเวลานานเท่าใดก็ตาม ก็ไม่ทำให้โจทก์ได้สิทธิครอบครองหรือได้กรรมสิทธิ์ เพราะยังถือได้ว่าโจทก์ครอบครองแทน ต. หรือทายาทของ ต. และจำเลยที่ 1 อยู่ตลอดไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21196/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในที่ดินหลังเจ้ามรดกเสียชีวิต: สัญญาจะซื้อขายไม่ใช่ข้อสำคัญในคดีขับไล่ การเบิกความไม่ตรงกับพยานหลักฐานไม่ถือเป็นความผิด
คดีก่อนที่จำเลยทั้งสองฟ้องขับไล่โจทก์ออกจากที่ดินของเจ้ามรดก มีประเด็นว่าโจทก์มีสิทธิอยู่ในที่ดินของจำเลยทั้งสองหรือไม่ การที่โจทก์อยู่ในที่ดินโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาจะซื้อขายที่ทำไว้กับเจ้ามรดกเป็นการอยู่โดยอาศัยสิทธิของเจ้ามรดก เมื่อจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นทายาทผู้รับโอนมรดกต่อมาไม่ประสงค์ให้โจทก์อยู่ต่อไป โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิอยู่ในที่ดินอีก สัญญาจะซื้อขายที่ดินนั้นจึงไม่ใช่ข้อสำคัญอันจะมีผลให้แพ้ชนะในคดี การที่จำเลยที่ 2 ไม่เบิกความถึงสัญญาจะซื้อขายดังกล่าวจึงไม่เป็นความผิดฐานเบิกความเท็จ
ในคดีฟ้องขับไล่ไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องบอกกล่าวก่อนฟ้อง การบอกกล่าวจึงไม่ใช่ข้อสำคัญในคดี การที่จำเลยที่ 2 เบิกความแตกต่างจากที่พนักงานสอบสวนบันทึกไว้ จึงไม่เป็นความผิดฐานนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8974/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแจ้งความดำเนินคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาท ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท หากเป็นการใช้สิทธิเพื่อปกป้องตนเอง
จำเลยพิพาทสิทธิในที่ดินพิพาทกับ ส. การที่โจทก์เข้าอยู่อาศัยในที่ดินพิพาทโดยได้รับสิทธิจาก ส. โจทก์จึงเป็นผู้สืบสิทธิจาก ส. ซึ่งมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิที่ดินพิพาทอยู่เช่นเดิม แม้ข้อโต้แย้งในปี 2541 ระหว่างจำเลยกับ ส. จะได้ข้อยุติตามคำแนะนำของพนักงานสอบสวนให้คู่กรณีดำเนินการในทางแพ่ง แต่เมื่อยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ในการฟ้องคดีแพ่งก็หาได้ทำให้ข้อโต้แย้งถึงสิทธิเหนือที่ดินพิพาทเดิมระงับลงแต่ประการใด ดังนั้น การที่โจทก์เข้าอยู่อาศัยในที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิของ ส. จึงต้องถือว่าโจทก์ยังโต้แย้งสิทธิในที่ดินพิพาทกับจำเลยเช่นเดียวกับ ส. การที่จำเลยเข้าแจ้งความเป็นหลักฐานอันเป็นการอ้างสิทธิในที่ดินพิพาทเพื่อดำเนินคดีแก่โจทก์ต่อไป จึงเป็นการใช้สิทธิแห่งตนตามกฎหมายเพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12973/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้สิทธิในที่ดินของผู้อื่นทำให้เกิดความเสียหาย การกลบร่องน้ำกีดขวางการใช้น้ำของผู้อื่น
โจทก์และเจ้าของที่ดินเดิมใช้น้ำจากคลองชลประทานผ่านร่องน้ำในที่ดินของจำเลยที่ 1 ในการทำนามาเป็นเวลาเกินกว่าสิบปีแล้วตั้งแต่ก่อนที่ดินเป็นของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 รู้ดี แสดงว่าจำเลยที่ 1 รู้อยู่แล้วว่าถ้าจำเลยที่ 1 กลบร่องน้ำในที่ดินของจำเลยที่ 1 เสีย ผลเสียหายย่อมเกิดขึ้นแก่การทำนาและเลี้ยงปลาของโจทก์อย่างแน่นอน ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 กลบร่องน้ำในที่ดินของจำเลยที่ 1 เพื่อ มิให้โจทก์ได้ใช้น้ำที่ไหลผ่านร่องน้ำนั้นในการทำนาและเลี้ยงปลาต่อไป ย่อมเป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดเสียหายแก่บุคคลอื่น เป็นการอันมิชอบด้วยกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 421 โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 เปิดร่องน้ำนั้นเพื่อโจทก์จะได้ใช้น้ำที่ผ่านมาทางร่องน้ำนี้ทำนาและเลี้ยงปลาตามเดิมต่อไปได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7742/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองที่ดินพิพาท: ประเด็นการแย่งการครอบครองและสิทธิในที่ดินเมื่อมีการอ้างสิทธิโดยคู่กรณี
จำเลยให้การว่า จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทเพราะผู้ร้องสอดซึ่งเป็นบิดายกให้และจำเลยได้ครอบครองทำประโยชน์ตลอดมา ส่วนผู้ร้องสอดร้องสอดว่า ครอบครองที่ดินพิพาทเพราะบิดายกให้ ผู้ร้องสอดทำประโยชน์ตลอดมาและแบ่งที่ดินพิพาทบางส่วนให้แก่จำเลยปลูกบ้านพักอาศัย เมื่อโจทก์ยื่นคำขอออกโฉนดที่ดิน จำเลยและผู้ร้องสอดคัดค้านจนเจ้าพนักงานที่ดินไม่ออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ โจทก์ฟ้องขอปลดเปลื้องการครอบครองเกินเวลา 1 ปี นับแต่วันที่ถูกแย่งการครอบครอง จึงเสียสิทธิในการฟ้องคดี ดังนี้ คดีไม่มีปัญหาเรื่องแย่งการครอบครอง เพราะการแย่งการครอบครองจะเกิดขึ้นได้ก็แต่เฉพาะที่ดินที่เป็นของผู้อื่น เมื่อจำเลยและผู้ร้องสอดอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของตนเองและได้ครอบครองทำประโยชน์เอง จึงไม่เป็นการแย่งการครอบครองที่ดินจากโจทก์ การที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องคดีเกิน 1 ปี นับแต่ถูกแย่งการครอบครอง จึงไม่มีสิทธิฟ้องเอาคืนการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 วรรคสอง โดยอ้างว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนนั้น ย่อมไม่ชอบ เพราะเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นและขัดแย้งกับข้อต่อสู้ในคำให้การและคำร้องสอด ศาลฎีกายกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10368/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในที่ดินจากสัญญาซื้อขาย น.ส.3ก. แม้มีโฉนดในชื่อผู้ขาย สิทธิยังเป็นของผู้ซื้อ
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์แบ่งซื้อที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) จาก ช. โดย ช. ได้รับชำระค่าที่ดินจากโจทก์และได้มอบที่ดินพิพาทให้โจทก์ครอบครองตั้งแต่วันทำสัญญาซื้อขายจนถึงปัจจุบัน แต่ยังไม่ได้แบ่งแยกโอนให้แก่โจทก์ ต่อมาที่ดินดังกล่าวได้ออกเอกสารสิทธิเป็นโฉนดที่ดินในนามของ ช. หากข้อเท็จจริงเป็นไปตามคำฟ้อง ย่อมแสดงว่าขณะที่โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทจาก ช. ที่ดินพิพาทมีเอกสารสิทธิเป็นเพียงหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ซึ่งผู้มีชื่อในเอกสารสิทธิมีเพียงสิทธิครอบครองเท่านั้น การโอนสิทธิครอบครองในกรณีนี้สามารถกระทำได้ทั้งการทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 และการส่งมอบการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1378 ซึ่งโจทก์ได้กล่าวไว้ในคำฟ้องแล้วว่า ช. ได้ส่งมอบที่ดินพิพาทให้โจทก์ครอบครองตั้งแต่วันทำสัญญาซื้อขายตลอดมา แสดงว่า ช. ไม่ใช่ผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทอีกต่อไป แม้ต่อมาจะได้ความว่า ช. นำที่ดินพิพาทไปออกเอกสารสิทธิเป็นโฉนดที่ดิน ช. ก็ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์แต่เป็นเพียงผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตามโฉนดที่ดินแทนโจทก์เท่านั้น แม้ต่อมา ช. ถึงแก่ความตาย ที่ดินพิพาทก็ไม่ใช่ทรัพย์มรดกของ ช. ที่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ช. จะมีสิทธิจัดการได้ แต่ที่ดินพิพาทยังเป็นสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ช. เพื่อขอให้ศาลสั่งแสดงสิทธิของโจทก์ในที่ดินพิพาทได้ การที่ศาลชั้นต้นกลับไปวินิจฉัยเรื่องอายุความว่าโจทก์ฟ้องบังคับตามสัญญาซื้อขายที่ดินเกินกว่า 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 และฟ้องบังคับตามสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้อันมีต่อเจ้ามรดกเกินกว่า 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม คดีจึงขาดอายุความ โดยไม่ได้วินิจฉัยในประเด็นข้อพิพาทว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามฟ้องโจทก์ดังที่กล่าวมาข้างต้นหรือไม่ จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกคำพิพากษาของศาลชั้นต้น และให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาในประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวต่อไป จึงชอบด้วยเหตุผลแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8492/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในที่ดินสาธารณประโยชน์: การครอบครองและขอบเขตที่ดินพิพาท
จำเลยกับพวกเคยยื่นฟ้ององค์การบริหารส่วนตำบล ก. ต่อศาลปกครองขอให้พิจารณาหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงที่ดินสาธารณประโยชน์โคกภูพระ และศาลปกครองชั้นต้นวินิจฉัยว่า อธิบดีกรมที่ดินยังไม่ได้ลงนามออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงดังกล่าวการรังวัดเพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงของเจ้าหน้าที่เป็นเพียงการดำเนินการเพื่อจัดให้มีคำสั่งทางปกครองเท่านั้น ในขณะฟ้องคดียังไม่มีคำสั่งทางปกครองที่มีผลกระทบสิทธิของจำเลยกับพวก จำเลยกับพวกจึงยังไม่ใช่ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือนร้อนหรือเสียหายที่จะมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 จึงมีคำสั่งไม่รับฟ้องไว้พิจารณา ดังนี้ จึงเป็นเพียงความเห็นของศาลปกครองชั้นต้นเกี่ยวกับหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงที่ดินสาธารณประโยชน์โคกภูพระว่ายังไม่เป็นคำสั่งทางปกครองเท่านั้น หาได้วินิจฉัยเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรมเพราะเป็นปัญหาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3187/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในที่ดิน: การครอบครองเดิมของเจ้าของก่อนการซื้อขาย และการยอมรับสิทธิโดยคู่กรณี
เดิมที่ดินพิพาทเป็นของ ป. ต่อมา ป. ได้ขายให้โจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทดังกล่าว การที่โจทก์ฟ้องว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ให้การและฟ้องแย้งว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 ครอบครองที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2500 กรณีเช่นนี้จึงไม่ใช่การแย่งการครอบครองที่จะต้องฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 วรรคสอง เพราะการแย่งการครอบครองจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อที่ดินเป็นของผู้อื่นเท่านั้น แต่คดีนี้จำเลยที่ 1 ให้การและฟ้องแย้งว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 เองจึงไม่มีประเด็นพิพาทเรื่องการแย่งการครอบครอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2349/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องของบุคคลภายนอกในคดีพิพาทที่ดิน: โจทก์ในฐานะเจ้าของเดิมมีสิทธิฟ้องพิสูจน์สิทธิในที่ดิน แม้ไม่ใช่ผู้รับโอนสิทธิจากโจทก์เดิม
แม้จำเลยทั้งสองในคดีนี้เป็นจำเลยคนเดียวกับจำเลยในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 291/2529 ของศาลชั้นต้น ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินแปลงเดียวกัน และประเด็นพิพาทเป็นประเด็นเดียวกันก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ไม่ใช่ผู้รับโอนสิทธิในที่ดินพิพาทมาจาก ส. โจทก์ในคดีก่อน แต่เป็นการฟ้องในฐานะเจ้าของคนก่อนซึ่งได้ขายที่พิพาทให้แก่ ส. กรณีจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ในคดีนี้เป็นผู้สืบสิทธิในที่พิพาทต่อจาก ส. โจทก์ในคดีก่อน โจทก์จึงเป็นบุคคลภายนอกที่มิใช่คู่ความเดียวกันกับคดีก่อน มีสิทธิฟ้องเพื่อพิสูจน์ว่าโจทก์มีสิทธิในที่พิพาทดีกว่าจำเลยทั้งสองได้
of 46