คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
อุบัติเหตุ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 469 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5095/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องคดีค่าเสียหายจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ การเริ่มต้นนับอายุความเมื่อผู้แทนของนิติบุคคลทราบการละเมิด
ร้อยเอก อ. รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาคือผู้บังคับการกรมทหารช่างที่ 1 รักษาพระองค์ ให้ร้อยเอก อ. ในฐานะนายทหารพระธรรมนูญร่วมฟังการสอบสวนกับพนักงานสอบสวนเท่านั้น โดยร้อยเอก อ. ไม่ใช่ผู้รับมอบอำนาจโดยตรงจากผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งเป็นผู้แทนสูงสุดของโจทก์ และที่จำเลยที่ 1 อ้างว่า ร้อยเอก อ. ได้เสนอผลการเจรจาค่าเสียหายต่อผู้บัญชาการทหารบก ร้อยเอก อ. ก็ไม่ได้เบิกความเช่นนั้น โดยร้อยเอก อ. เบิกความแต่เพียงว่า ไม่สามารถตัดสินใจได้ต้องเสนอผู้บังคับบัญชาทราบก่อน ซึ่งในที่นี้หมายความถึง ผู้บังคับการกรมทหารช่างที่ 1 รักษาพระองค์ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงของร้อยเอก อ. และที่จำเลยที่ 1 อ้างว่า อย่างช้าโจทก์ย่อมรู้เหตุละเมิดและรู้ตัวผู้จะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่วันที่ 13 มิถุนายน 2540 ที่กองทัพภาคที่ 1 ได้ส่งหนังสือทั้งดำเนินการเกี่ยวกับคดีนี้ไปยังกรมพระธรรมนูญ แต่เอกสารดังกล่าวเป็นเพียงเอกสารที่พลตรี ส. รองแม่ทัพภาคที่ 1 ทำการแทนแม่ทัพภาคที่ 1 ทำบันทึกถึงกรมสารบรรณทหารบก เสนอแนวทางให้นำเสนอเรื่องต่อผู้บัญชาการทหารบก ดำเนินการฟ้องเรียกค่าเสียหาย อันเป็นการนำเสนอตามขั้นตอนเป็นลำดับขั้นจนถึงผู้บัญชาการทหารบก จึงยังถือไม่ได้ว่าผู้บัญชาการทหารบกได้ทราบแล้ว กรณีนี้โจทก์เป็นนิติบุคคลมีผู้บัญชาการทหารบกเป็นผู้แทนและเป็นผู้แสดงเจตนาอันเป็นความประสงค์ของนิติบุคคล อายุความจึงต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ผู้บัญชาการทหารบกซึ่งเป็นผู้แทนโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน จะถือเอาการที่ข้าราชการของโจทก์คนใดคนหนึ่งรู้มาเป็นวันเริ่มนับอายุความไม่ได้ กรณีนี้พลตรี ป. เจ้ากรมสารบรรณทหารบกมีหนังสือถึงผู้บัญชาการทหารบก ผ่านผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2541 เสนอให้ดำเนินการฟ้องดำเนินคดีแก่ผู้ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนและผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้บัญชาการทหารบกให้เป็นผู้แทนดำเนินคดีในทางแพ่ง และรับคำสั่งผู้บัญชาการทหารบก เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2541 ถือว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในวันดังกล่าว เมื่อโจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2542 ยังไม่พ้นระยะเวลา 1 ปี คดีของโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 448

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18527/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินความผิดฐานไม่ช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุและการบรรยายฟ้องที่ต้องระบุถึงความเชื่อมโยงระหว่างการไม่ช่วยเหลือกับผลที่เกิดขึ้น
พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 บัญญัติเกี่ยวกับความผิดฐานขับรถในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น แล้วไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือตามสมควรและไม่แจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ไว้ตามมาตรา 78 วรรคหนึ่ง ซึ่งมีบทลงโทษตามมาตรา 160 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า "ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 78 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ" และวรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า "ถ้าการไม่ปฏิบัติตามมาตรา 78 เป็นเหตุให้บุคคลอื่นได้รับอันตรายสาหัสหรือตาย ผู้ไม่ปฏิบัติตามต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือนหรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ" ดังนี้ ผู้ขับขี่ที่จะได้รับโทษหนักขึ้นตามมาตรา 160 วรรคสอง หมายถึงกรณีที่ขับขี่รถในทางก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นแล้วไม่ปฏิบัติตามมาตรา 78 วรรคหนึ่ง และการไม่ปฏิบัติตามนี้เป็นเหตุให้บุคคลอื่นได้รับอันตรายสาหัสหรือตาย คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องในความผิดฐานขับรถก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลแล้วไม่หยุดรถช่วยเหลือพร้อมทั้งแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าภายหลังจากจำเลยขับรถในทางที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลและทรัพย์สินแล้ว จำเลยได้หลบหนีไม่ให้ความช่วยเหลือตามสมควรและไม่ไปแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ใกล้เคียงทันที มิได้บรรยายฟ้องอ้างเหตุว่าการที่จำเลยไม่อยู่ให้ความช่วยเหลือตามสมควร ไม่แสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ใกล้เคียงทันทีโดยจำเลยได้หลบหนีไปจากที่เกิดเหตุอันเป็นการไม่ปฏิบัติตามมาตรา 78 วรรคหนึ่ง นั้น เป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตาย คดีจึงไม่อาจลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 160 วรรคสองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8518/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจ่ายค่าสินไหมทดแทนจาก พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ กรณีผู้ตายไม่ได้เป็นฝ่ายผิดและมีผู้ต้องรับผิด
ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2540) ที่ออกตามความใน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ข้อ 3 มีข้อความว่า ในกรณีที่ผู้ประสบภัยเป็นผู้ขับขี่และผู้ขับขี่ที่ประสบภัยเป็นฝ่ายที่ต้องรับผิดตามกฎหมาย หรือไม่มีผู้ใดรับผิดตามกฎหมายต่อผู้ขับขี่ที่ประสบภัย จำนวนเงินเอาประกันภัยให้ลดลงเป็นจำนวนเงินค่าเสียหายเบื้องต้นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง และในกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ข้อ 2.3 มีข้อความว่า กรณีผู้ประสบภัยเป็นผู้ขับขี่รถคันที่เอาประกันภัยและเป็นฝ่ายที่ต้องรับผิดต่ออุบัติเหตุ หรือไม่มีผู้ใดต้องรับผิดตามกฎหมายต่อผู้ขับขี่ที่เป็นผู้ประสบภัย บริษัทจะรับผิดจ่ายค่าสินไหมทดแทนไม่เกินค่าเสียหายเบื้องต้นเท่านั้น... ข้อความในกฎกระทรวงและในกรมธรรม์ดังกล่าว จึงเป็นกรณีที่ผู้ประสบภัยเป็นผู้ขับขี่และผู้ประสบภัยนั้นเองเป็นฝ่ายต้องรับผิดตามกฎหมายในอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นหรือไม่มีฝ่ายใดต้องรับผิดตามกฎหมาย เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังยุติว่า ผู้ตายซึ่งเป็นผู้ประสบภัยและเป็นผู้ขับขี่มิได้เป็นฝ่ายที่ต้องรับผิดและมีผู้ต้องรับผิดต่อผู้ตายตามกฎหมายแล้ว เพียงแต่เจ้าพนักงานตำรวจยังไม่สามารถติดตามผู้ที่ต้องรับผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายได้เท่านั้น จึงไม่ใช่กรณีที่ไม่มีฝ่ายใดที่ต้องรับผิดตามกฎหมายต่อผู้ประสบภัย ทั้งไม่อาจตีความข้อความตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ดังกล่าวให้หมายความรวมถึงกรณียังไม่อาจติดตามผู้ต้องรับผิดมาได้ เนื่องจากข้อความดังกล่าวมีความชัดเจนอยู่ในตัวแล้วว่าจะต้องไม่มีผู้ที่ต้องรับผิดตามกฎหมายเท่านั้น จำเลยในฐานะผู้รับประกันภัยจึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเต็มจำนวนที่คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถกรณีเสียชีวิตตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5249/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางแพ่งจากอุบัติเหตุทางรถยนต์: ผลผูกพันจากคำพิพากษาคดีอาญาและหลักประมาท
คดีนี้โจทก์เป็นมารดาของผู้ตายในคดีอาญาจึงต้องถือว่าพนักงานอัยการได้ดำเนินคดีอาญาแทนโจทก์ ข้อเท็จจริงในคดีอาญาย่อมมีผลผูกพันโจทก์ด้วย เมื่อคดีอาญาดังกล่าวศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาโดยเห็นว่า ผู้ตายเป็นฝ่ายก่อเหตุและมีส่วนประมาทมากกว่า คู่ความไม่ฎีกา คดีอาญาดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว ดังนั้น คดีนี้ซึ่งเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ยุติในคดีอาญาว่าผู้ตายมีส่วนประมาทมากกว่าจำเลยที่ 1 และตาม ป.พ.พ. มาตรา 442 ประกอบมาตรา 223 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์และจำเลยที่ 1 มีส่วนประมาท การที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะมีสิทธิได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนมากน้อยเพียงใดต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ เมื่อผู้ตายมีส่วนประมาทมากกว่าจำเลยที่ 1 โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิที่จะฟ้องให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นฝ่ายผิดน้อยกว่าให้รับผิดในความเสียหายได้ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14426/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องละเมิดจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ แม้มีสัญญาข้อกำหนดความรับผิดชอบร่วมกัน ก็ไม่อาจขยายอายุความได้
แม้ระหว่างโจทก์กับจำเลยจะมีสัญญากำหนดความรับผิดต่อกันไว้โดยระบุว่า ในกรณีที่พนักงานประจำรถและหรือรถตามสัญญานี้ ก่อให้เกิดความเสียหายใดๆ ขึ้นแก่ผู้ให้สัญญาหรือบุคคลใด ไม่ว่าความเสียหายนั้นจะเกิดขึ้นบนเส้นทาง หรือนอกเส้นทางที่กำหนดไว้ ผู้รับสัญญายินยอมชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งสิ้นนั้น ข้อสัญญาดังกล่าวก็เป็นการแสดงเจตนาของคู่สัญญาที่กล่าวถึงความรับผิดของจำเลยผู้รับสัญญา ในกรณีที่พนักงานประจำรถของจำเลยไปก่อให้เกิดความเสียหายอันทำให้โจทก์จะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกเท่านั้น หาใช่เป็นเรื่องที่จำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยตรงไม่ เมื่อความเสียหายดังกล่าวมาจากเหตุละเมิด อายุความในการฟ้องร้องดำเนินคดีนี้จึงมีกำหนด 1 ปี และไม่อาจนำข้อตกลงในสัญญาดังกล่าวมาขยายอายุความละเมิดออกไป เพราะต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/11 เมื่อได้ความว่าผู้แทนของโจทก์ลงนามในช่องผู้จัดการใหญ่ อนุมัติจ่ายค่าลากรถยนต์ เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2544 จึงเป็นวันที่โจทก์รู้ถึงเหตุละเมิดและรู้ตัวผู้ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อ วันที่ 8 กันยายน 2548 พ้นกำหนด 1 ปี คดีจึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11863/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดจากอุบัติเหตุทางรถยนต์: ความรับผิดของนายจ้างต่อการกระทำของลูกจ้าง, การกำหนดดอกเบี้ย และค่าเสียหาย
การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 504,309.19 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 มีนาคม 2547 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยมิได้พิพากษารวมค่ายกรถจำนวน 11,000 บาท เข้าไปด้วย ซึ่งค่าเสียหายในส่วนนี้ยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วเพราะไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์โต้แย้ง ทำให้คำพิพากษาและคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นในส่วนนี้ไร้ผล และที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดในดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 20 มีนาคม 2547 อันเป็นวันทำละเมิด ซึ่งเกินกว่าที่ปรากฏในคำฟ้องของโจทก์ที่ขอบังคับนับแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2547 เป็นต้นไป จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6232/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ขับขี่รถยนต์ที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุ การพิสูจน์ตัวผู้ขับขี่ และค่าเสียหายที่เกิดขึ้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุมีหน้าที่ในการควบคุมดูแลการใช้รถยนต์ดังกล่าว วันเกิดเหตุรถยนต์กระบะเฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์ของโจทก์และบุตรโจทก์ทั้งสองคนได้รับบาดเจ็บสาหัส ภายหลังเกิดเหตุ ผู้ขับรถยนต์กระบะขับหลบหนีไปโดยจำเลยที่ 2 แจ้งต่อพนักงานตำรวจว่า ต. ไม่ทราบชื่อและชื่อสกุลจริงกับผู้ขับ และเหตุละเมิดเกิดขึ้นจากการที่ผู้ขับรถยนต์กระบะขับไปในทางการที่จ้างวานใช้ของจำเลยที่ 1 จึงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 อันป็นการบรรยายฟ้องไปตามข้อเท็จจริงเท่าที่โจทก์ทราบ และมิได้ยืนยันว่า ต. เป็นผู้ขับรถยนต์กระบะในขณะเกิดเหตุละเมิด การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุและมีหน้าที่ในการควบคุมดูแลการใช้รถยนต์ดังกล่าว เมื่อเกิดเหตุละเมิดจากการขับรถยนต์ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดในฐานะที่เป็นตัวการ ถือได้ว่าฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องที่ขอให้จำเลยที่ 1 รับผิดในฐานะที่เป็นตัวการในการกระทำละเมิดเองโดยตรงด้วย คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ที่วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถยนต์ในขณะเกิดเหตุละเมิดจึงมิใช่การวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็น
โจทก์เป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของเด็กชาย อ. จึงมีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูซึ่งรวมถึงหน้าที่ในการดูแลรักษาพยาบาลเด็กชาย อ. ซึ่งเป็นบุตรผู้เยาว์ เมื่อเด็กชาย อ. ถูกกระทำละเมิด โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้ผู้กระทำละเมิดรับผิดชดใช้ค่าเสียหายได้โดยตรง
ค่าใช้จ่ายอันเป็นค่าเดินทางไปดูแลอาการเด็กชาย อ. เป็นค่าใช้จ่ายที่โจทก์ต้องเสียไปอันเนื่องมาจากการกระทำละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 444 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6024/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางละเมิดจากอุบัติเหตุทางรถยนต์: ศาลแพ่งผูกพันตามข้อเท็จจริงคดีอาญา แต่ไม่ผูกพันประเด็นส่วนประมาทของผู้ตาย
คดีส่วนอาญาข้อเท็จจริงฟังยุติว่า จำเลยขับรถด้วยความประมาทโดยขับเร็วล้ำเข้าไปเฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ของผู้ตายทั้งสองในช่องเดินรถของผู้ตายทั้งสอง คดีในส่วนแพ่งศาลจึงต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา กล่าวคือต้องฟังว่าจำเลยขับรถด้วยความประมาท ที่ศาลในคดีส่วนอาญาฟังข้อเท็จจริงต่อไปว่า ผู้ตายทั้งสองมีส่วนกระทำประมาทด้วย ไม่มีผลผูกพันโจทก์ทั้งสองเพราะไม่ใช่เป็นประเด็นโดยตรงในคดีส่วนอาญา เป็นเพียงการวินิจฉัยข้อเท็จจริงเพื่อประกอบดุลพินิจในการกำหนดโทษจำเลยให้เบาลง ดังนั้นในคดีส่วนแพ่งผู้ตายทั้งสองมีส่วนกระทำประมาทด้วยหรือไม่ และจำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือไม่เพียงใด จำเลยมีหน้าที่ต้องพิสูจน์
ผู้เสียหายที่มิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เฉพาะในคดีอาญาเท่านั้นไม่มีผลถึงอำนาจฟ้องคดีแพ่ง โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาทของผู้ตายทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2172/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความประมาทในการขับรถบรรทุกพ่วงทำให้เกิดอุบัติเหตุ ศาลยืนคำพิพากษาเดิม
การที่จำเลยถูกฟ้องว่าขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้มีผู้อื่นถึงแก่ความตายและได้รับอันตรายสาหัส แม้พนักงานสอบสวนจะมีความเห็นว่า ผู้ตายมีส่วนประมาทร่วมอยู่ด้วย แต่ผู้ตายถึงแก่ความตายไปก่อน ก็เป็นเพียงความเห็นของพนักงานสอบสวนเท่านั้น ไม่เป็นเหตุที่ต้องห้ามมิให้ภริยาของผู้ตายจะขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการไม่ได้ คำสั่งอนุญาตขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมของศาลชั้นต้นชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6037/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเรียกร้องค่าเสียหายจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ และการแบ่งความรับผิดตามสัดส่วนของผู้กระทำผิด
แม้ขณะฟ้องคดีโจทก์ยังมิได้ชำระเงินค่าซ่อมรถยนต์ยี่ห้อเบนซ์ซึ่งโจทก์รับประกันภัยไว้ เนื่องจากรถยนต์ได้รับความเสียหายมากต้องซ่อมทั้งคันใช้เวลาซ่อมนานแต่การที่เมื่อหลังเกิดเหตุแล้วโจทก์ได้นำรถยนต์ยี่ห้อเบนซ์ไปให้อู่ซ่อมรถดังกล่าวทำการซ่อมและอู่ซ่อมรถดังกล่าวได้รับทำการซ่อมให้ในราคาที่ตกลงกันไว้นั้น โจทก์ย่อมมีความผูกพันที่จะต้องชำระค่าซ่อมรถยนต์ตามจำนวนเงินที่ตกลงกันไว้ ทั้งต่อมาเมื่ออู่ซ่อมรถดังกล่าวซ่อมรถยนต์ยี่ห้อเบนซ์เสร็จแล้วได้มอบรถยนต์ยี่ห้อเบนซ์คืนให้ผู้เอาประกันภัยไป จึงถือได้ว่าโจทก์ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไปแล้วตามจำนวนเงินค่าจ้างที่ได้ตกลงไว้กับอู่ซ่อมรถดังกล่าว โจทก์ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยเรียกร้องค่าซ่อมรถยนต์ยี่ห้อเบนซ์จากจำเลยทั้งสองได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 วรรคหนึ่ง ส่วนในการกำหนดค่าเสียหายนั้น ถึงแม้ความเสียหายทั้งหมดจะเป็นผลจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยทั้งสองจะปฏิเสธความรับผิดไม่ได้ก็ตาม แต่ศาลก็ย่อมต้องพิจารณาพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด และกำหนดค่าเสียหายให้จำเลยทั้งสองรับผิดตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งความผิดของจำเลยที่ 1 ในการทำให้เกิดความเสียหายขึ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 438 วรรคหนึ่ง เมื่อคนขับรถหมายเลขทะเบียน 9ง-2234 กรุงเทพมหานคร มีส่วนประมาทก่อให้เกิดผลร้ายแรงขึ้นด้วย ซึ่งมีเหตุที่ไม่ควรให้จำเลยทั้งสองต้องรับผิดเต็มตามความเสียหายทั้งหมดแต่ฝ่ายเดียวแล้ว ศาลจึงไม่จำต้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดเต็มตามความเสียหายนั้นเสมอไป
of 47