คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
เพิ่มโทษ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 491 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3114/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิ่มโทษอาญาหลังพ.ร.บ.ล้างมลทิน ศาลฎีกาแก้ไขได้หากจำเลยได้รับประโยชน์ตามกฎหมาย
ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2551 ซึ่ง พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 มีผลใช้บังคับแล้ว เมื่อความผิดที่โจทก์อาศัยเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษ จำเลยได้ต้องโทษและพ้นโทษแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับอันเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด จำเลยย่อมได้รับประโยชน์ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัตินั้น ที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเพิ่มโทษจำเลยจึงเป็นการพิพากษาโดยมีข้อผิดหลงเล็กน้อย ซึ่ง ป.วิ.อ. มาตรา 190 บัญญัติให้แก้ไขคำพิพากษาซึ่งอ่านแล้วได้เฉพาะถ้อยคำที่เขียนหรือพิมพ์ผิดพลาดเท่านั้น มิได้บัญญัติรวมถึงการแก้ไขกรณีมีข้อผิดหลงเล็กน้อยไว้เหมือนดังเช่น ป.วิ.พ. มาตรา 143 ดังนี้ แม้คดีจะถึงที่สุดไปแล้ว แต่เมื่อจำเลยยื่นคำร้องว่าจำเลยได้รับประโยชน์จากพ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 ขอให้งดเพิ่มโทษจำเลย เท่ากับจำเลยร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิ่มเติมแก้ไขข้อผิดพลาดนั้นให้ถูกต้องและคดีขึ้นสู่ศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขข้อผิดหลงนั้นได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 143 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 เพราะมิใช่เป็นการกลับหรือแก้คำวินิจฉัยในคำพิพากษาเดิม ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20024/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิ่มโทษเจ้าพนักงานตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดฯ ต้องพิจารณาคุณสมบัติที่ถูกต้องตามกฎหมาย หากไม่ตรงตามที่กฎหมายกำหนด ศาลปรับบทลงโทษใหม่ได้
การที่ต้องระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100 นั้น ต้องได้ความว่าเป็นกรรมการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ หรือข้าราชการ หรือพนักงานองค์การหรือหน่วยงานของรัฐผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษ หรือสนับสนุนในการกระทำความผิดดังกล่าว อันเป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ แต่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ใหญ่บ้านมีสถานะถือเป็นพนักงานส่วนท้องถิ่นตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 10 ซึ่งโจทก์มิได้กล่าวหรืออ้างมาตราดังกล่าวมาในฟ้อง จึงไม่อาจจะวางโทษจำเลยที่ 1 เป็นสามเท่าตามบทบัญญัติแห่งมาตราดังกล่าวได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100 จึงเป็นการไม่ชอบ ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12670/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องคดีซ้ำซ้อนและประเด็นการเพิ่มโทษในความผิดฐานเป็นคนต่างด้าวเข้าและอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต
โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อระหว่างเดือนเมษายน 2548 เวลากลางวัน จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2552 เวลาประมาณ 18.45 นาฬิกา วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยเป็นคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศกัมพูชา เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรทางอำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว โดยไม่ผ่านช่องทางด่านตรวจคนเข้าเมือง...อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนในคดีเดิมหมายเลขแดงที่ อย. 3475/2550 ของศาลชั้นต้น โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อประมาณปี 2548 วันเวลาใดไม่ปรากฏชัดต่อเนื่องตลอดมาจนถึงวันที่ 9 สิงหาคม 2550 จำเลยเป็นคนต่างด้าว สัญชาติกัมพูชา มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศกัมพูชา เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรทางอำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว โดยไม่ผ่านช่องทางด่านตรวจคนเข้าเมือง...อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต เห็นได้ว่า เวลากระทำความผิดตามฟ้องคดีนี้กับคดีเดิมก่อนวันที่ 9 กันยายน 2552 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยพ้นโทษในคดีเดิมเป็นส่วนหนึ่งของเวลาเดียวกัน เมื่อฟ้องคดีนี้ระบุว่า จำเลยกระทำผิดระหว่างเดือนเมษายน 2548 เวลากลางวัน จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2552 เวลาประมาณ 18.45 นาฬิกา วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จึงอาจเป็นการกระทำความผิดก่อนวันที่ยังจะต้องรับโทษอยู่หรือก่อนวันพ้นโทษในวันที่ 9 กันยายน 2552 ดังที่ระบุในคำฟ้องคดีเดิมก็ได้ มิใช่เป็นการกระทำความผิดหลังวันที่จำเลยพ้นโทษในคดีดังกล่าว จึงไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 57/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิ่มโทษจำเลยจากประวัติอาชญากรรมเดิมถูกจำกัดโดย พ.ร.บ.ล้างมลทิน และศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขได้
แม้ศาลชั้นต้นไม่ได้สอบจำเลยว่า เป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษหรือไม่และโจทก์ก็ไม่ได้นำสืบให้ปรากฏก็ตาม แต่จำเลยเบิกความตอบโจทก์ถามค้านว่าเคยต้องโทษในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษจริง ถือว่าความปรากฏแก่ศาลแล้ว การที่ศาลชั้นต้นไม่วินิจฉัยปัญหาข้อนี้จึงไม่ชอบ แต่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 มาตรา 4 ที่บัญญัติให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ต้องโทษในกรณีความผิดต่างๆ ซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 และได้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับ โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้นๆ ดังนั้น เมื่อความผิดที่โจทก์อาศัยเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษ จำเลยพ้นโทษมาแล้วก่อนวันที่ พระราชบัญญัติใช้บังคับ จึงเพิ่มโทษจำเลยไม่ได้ แม้จำเลยไม่ได้ฎีกาในปัญหาข้อนี้แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลมีอำนาจยกขึ้นแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22134/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผลกระทบ พ.ร.บ.ล้างมลทิน ต่อการเพิ่มโทษในคดีอาญา: การถอนฎีกาทำให้คดีไม่ตกอยู่ในอำนาจศาล
ระหว่างที่จำเลยยังไม่ยื่นคำร้องขอถอนฎีกาได้มี พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาลสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 ใช้บังคับแล้ว แต่เมื่อจำเลยยื่นคำร้องขอถอนฎีกาและศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยถอนฎีกากับจำหน่ายคดีจากสารบบความของศาลฎีกา จึงไม่มีคดีของจำเลยอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาอีก เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 6 ลงโทษและเพิ่มโทษจำเลยก่อนพระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ แม้ความผิดซึ่งจำเลยต้องโทษในคดีก่อนที่เป็นเหตุถูกเพิ่มโทษในคดีนี้จะเกิดขึ้นก่อนวันที่ 5 ธันวาคม 2550 และจำเลยได้พ้นโทษในคดีก่อนแล้วก็ตามก็ไม่เป็นเหตุให้เปลี่ยนแปลงแก้ไขการเพิ่มโทษคดีนี้ได้เพราะมีผลเป็นการแก้ไขคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ซึ่งถึงที่สุดแล้วขัดต่อ ป.วิ.อ. มาตรา 190 ซึ่งบัญญัติห้ามมิให้แก้ไขคำพิพากษาหรือคำสั่งซึ่งอ่านแล้วนอกจากถ้อยคำที่เขียนหรือพิมพ์ผิดพลาด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18034/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิ่มโทษจำคุกโดยศาลอุทธรณ์เกินอำนาจตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
คดีนี้โจทก์อุทธรณ์ว่า การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยแต่ละกระทงเพียงปรับสถานเดียวยังคลาดเคลื่อนนั้น เป็นการอุทธรณ์ว่า คำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมาย แต่เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์ขอให้เพิ่มเติมโทษจำเลยโดยชัดแจ้ง การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด 4 เดือน โดยไม่ปรับนั้นย่อมถือว่าเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย ซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 จึงเป็นการพิพากษาที่ไม่ชอบและถือว่าไม่มีคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 ที่ให้ลงโทษจำคุกจำเลย ไม่ก่อให้เกิดสิทธิฎีกาขอให้รอการลงโทษจำคุก ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17396/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดฯ แม้จำหน่ายต่อผู้อื่น และการเพิ่มโทษที่จำกัดตาม พ.ร.บ.ล้างมลทิน
การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ย่อมรวมถึงการมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองด้วย เมื่อจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 20 เม็ด มีน้ำหนัก 1.72 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธ์ได้ 0.517 กรัม ต้องด้วย พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2) ที่บัญญัติว่า "การผลิต นำเข้า ส่งออกหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตามปริมาณดังต่อไปนี้ให้ถือว่าเป็นการผลิต นำเข้า ส่งออกหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย...(2) แอมเฟตามีนหรืออนุพันธ์แอมเฟตามีนมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่สามร้อยเจ็ดสิบห้ามิลลิกรัมขึ้นไปหรือมีน้ำหนักสุทธิตั้งแต่หนึ่งจุดห้ากรัมขึ้นไป..." ซึ่งเป็นบทสันนิษฐานเด็ดขาด ถือว่าเป็นการมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และการกระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้องรวมการกระทำหลายอย่าง แต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง จึงมิใช่ความผิดที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ ทั้งไม่ใช่กรณีที่ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างจากข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง ศาลย่อมพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง วรรคสอง วรรคท้าย แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 จะมิได้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานดังกล่าวมา ศาลฎีกามีอำนาจลงโทษในความผิดดังกล่าวได้
ส่วนที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษนั้น เห็นว่า พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาลสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 มาตรา 4 บัญญัติให้ล้างมลทินแก่ผู้ต้องโทษในกรณีความผิดต่างๆ ซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 และได้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิเคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้น ๆ ดังนั้น เมื่อความผิดที่โจทก์อาศัยเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษ จำเลยได้ต้องโทษและพ้นโทษไปแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับอันเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดแล้ว จำเลยย่อมได้รับประโยชน์ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14660/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิ่มโทษเจ้าพนักงานรัฐในคดียาเสพติด และการรับฟังพยานหลักฐานเพื่อลงโทษจำเลย
พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100 บัญญัติว่า "กรรมการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ หรือข้าราชการ หรือพนักงานองค์การหรือหน่วยงานของรัฐผู้ใดผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษ หรือสนับสนุนในการกระทำดังกล่าว อันเป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น" การที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และจำเลยที่ 2 เป็นผู้ใหญ่บ้าน จึงหาใช่บุคคลตามที่ระบุไว้ในมาตราดังกล่าวไม่ ส่วนจำเลยที่ 3 โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าเป็นบุคคลที่มีตำแหน่งหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในมาตราดังกล่าวอย่างใด จึงไม่อาจเพิ่มโทษตามบทกฎหมายดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13642/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ประโยชน์จาก พ.ร.บ.ล้างมลทิน หลังพ้นโทษ และการแก้ไขคำพิพากษาเพิ่มโทษ
ขณะศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2550 นั้น พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 มีผลใช้บังคับแล้ว จำเลยย่อมได้ประโยชน์จากมาตรา 4 แห่งระราชบัญญัติดังกล่าวที่บัญญัติให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ต้องโทษในกรณีมีความผิดต่าง ๆ ซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 และได้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่ระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้น ๆ การที่ศาลชั้นต้นเพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา 92 จึงเป็นการผิดหลงเล็กน้อย ศาลมีอำนาจแก้ไขได้ โดยไม่เป็นการกลับหรือแก้คำวินิจฉัยในคำพิพากษาเดิม ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 143 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10893/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ศาลอุทธรณ์เพิ่มโทษจำเลยโดยไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และคำพิพากษาไม่เป็นที่สุด
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานเสพเมทแอมเฟตามีน ฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีน ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และฐานร่วมกันพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15, 57, 66, 91 พ.ร.บ.มาตรการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 7 พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ, 157/1 ซึ่งการกระทำความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนและฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีนเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษอยู่ด้วยและเป็นความผิดตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 5 ซึ่งมาตรา 18 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว บัญญัติว่า "ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งโดยไม่ชักช้า และภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 16 และมาตรา 19 คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์เฉพาะการกระทำซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้เป็นที่สุด" และมาตรา 19 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง แล้ว คู่ความอาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องไปพร้อมกับฎีกาต่อศาลฎีกาภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลนั้นให้คู่ความที่ขออนุญาตฎีกาฟัง เพื่อขอให้พิจารณารับฎีกาไว้วินิจฉัยก็ได้" เมื่อจำเลยฎีกาโดยไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง เฉพาะความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและฐานร่วมกันพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงเป็นที่สุดตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยจึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ส่วนที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 57, 91 พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157/1 วรรคสอง เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีน ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักสุด จำคุก 8 เดือน และปรับ 15,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี คุมความประพฤติ และพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ 1 ปี ยกฟ้องฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและฐานร่วมกันพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษเฉพาะความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและฐานร่วมกันพยายามจำหน่ายเมทแอทเฟตามีน จำเลยไม่อุทธรณ์ ความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีนจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีนนั้น ศาลชั้นต้นปรับบทคลาดเคลื่อนและวางโทษจำคุกหนักไป ควรปรับบทให้ถูกต้องและกำหนดโทษจำคุกเสียใหม่ เป็นจำคุก 4 เดือน พักใช้ใบอนุญาตขับขี่ 6 เดือน เมื่อรวมกับโทษจำคุกฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายแล้ว เป็นจำคุก 5 ปี 7 เดือน โดยไม่รอการลงโทษ ซึ่งเท่ากับว่าศาลอุทธรณ์พิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยในความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีน จากที่ศาลชั้นต้นรอการลงโทษเป็นไม่รอการลงโทษในความผิดฐานนี้ ทำให้จำเลยต้องถูกจำคุกเพิ่มอีก 4 เดือน ซึ่งเป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 212 การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลอุทธรณ์ดังกล่าวเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอุทธรณ์ และแม้คดีนี้เป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 5 ที่คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์เฉพาะการกระทำซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเป็นที่สุดตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่กรณีที่กฎหมายบัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นที่สุดนั้น หมายถึงต้องเป็นคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ถูกต้องตามกฎหมายที่ให้อำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งเช่นนั้นได้ มิได้หมายความว่า แม้คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นจะไม่ถูกต้องตามกฎหมายก็จะถึงที่สุดด้วย ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยในความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีน โดยกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจทำได้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงไม่ถูกต้องตามกฎหมายและหาเป็นที่สุดไม่ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง, 208 (2) และมาตรา 225 จึงเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาในความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีนใหม่
of 50