คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
อำนาจฟ้อง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4,515 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4311/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำในความผิดเดียวกัน คดีถึงที่สุดแล้ว โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
ข้อเท็จจริงในคดีนี้กับคดีอาญาเลขแดงที่ 3337/2561 ของศาลชั้นต้นปรากฏว่า ธ. ขับรถกระบะเพื่อไปพาคนต่างด้าวชาวกัมพูชาซึ่งเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนกฎหมายที่ป่าอ้อยรวม 58 คน โดย ธ. ได้แจ้งให้ ม. ขับรถกระบะเพื่อไปรับคนต่างด้าวดังกล่าวด้วย โดยอ้างว่าจำเลยใช้ให้ขับรถไปรับคนต่างด้าวจำนวนดังกล่าว ภายหลังบรรทุกคนต่างด้าวขึ้นรถกระบะทั้งสองคันแล้ว ธ. กับ ม. ก็ขับติดตามกันออกมาจากป่าอ้อยและแล่นไล่ตามกันไปจนกระทั่งถูกเจ้าหน้าที่ทหารจับกุมตัวพร้อมรถกระบะและคนต่างด้าวรวม 58 คน พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ธ. กับ ม. มีเจตนาที่จะร่วมกันไปรับคนต่างด้าวทั้ง 58 คน ซึ่งรวมอยู่ที่ป่าอ้อย แม้มีการใช้รถกระบะไปรับคนต่างด้าวดังกล่าว 2 คัน โดย ธ. กับ ม. ขับรถกันคนละคันก็ตาม แต่ก็เนื่องมาจากรถกระบะเพียงคันเดียวไม่สามารถบรรทุกคนต่างด้าวได้หมด และคนต่างด้าวที่ไปรับก็รวมตัวกันอยู่ที่แห่งเดียวกัน ภายหลังจากรับคนต่างด้าวแล้วยังขับรถกระบะตามกันเพื่อพาคนต่างด้าวไปเพื่อให้พ้นการจับกุมโดยปลายทางเป็นที่แห่งเดียวกันอีก อันเป็นการกระทำในคราวเดียวกัน ต่อเนื่องกันไป เช่นนี้แล้วจึงต้องถือว่า ธ. กับ ม. มีเจตนาร่วมกันเพื่อพาคนต่างด้าวทั้ง 58 คน ไปเพื่อให้พ้นจากจากการจับกุมตามเจตนาที่มีมาแต่แรก การกระทำของ ธ. กับ ม. จึงเป็นการกระทำอันเดียวกัน และมีเจตนาอย่างเดียวกัน เกิดขึ้นในคราวเดียวกันต่อเนื่องกันไป เป็นการกระทำความผิดเพียงกรรมเดียว มิใช่หลายกรรมต่างกัน เมื่อโจทก์เคยยื่นฟ้องจำเลยร่วมกับ ม. ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3337/2561 ของศาลชั้นต้น ในการกระทำอันเดียวกันกับคดีนี้ไปแล้ว โดยศาลพิพากษายกฟ้องจำเลย คดีถึงที่สุด การที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยว่าร่วมกับ ธ. เป็นคดีนี้อีก ซึ่งเป็นการกระทำอันเดียวกันกับคดีก่อน จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีดังกล่าวตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3973/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีเพิกถอนนิติกรรมของผู้อนุบาลต้องกระทำร่วมกัน หรือได้รับคำสั่งศาลเป็นพิเศษ
ป.พ.พ. มาตรา 1598/18 วรรคสอง ประกอบมาตรา 1590 บัญญัติให้นำบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของผู้ปกครองมาใช้บังคับแก่ผู้อนุบาล โดยศาลจะตั้งผู้อนุบาลหลายคนให้กระทำการร่วมกันหรือกำหนดอำนาจเฉพาะสำหรับคนหนึ่ง ๆ ก็ได้ ซึ่งศาลเยาวชนและครอบครัวมีคำสั่งเป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 179/2558 ให้โจทก์เป็นคนไร้ความสามารถและให้อยู่ในความอนุบาลของ ฤ. และจำเลยร่วมกัน ศาลอุทธรณ์ภาค 6 และศาลฎีกาพิพากษายืนโดยศาลฎีกาให้ ฤ. เป็นผู้มีสิทธิกำหนดที่อยู่ของโจทก์ ตามคำสั่งศาลระบุเพียงว่า ฤ. และจำเลยเป็นผู้อนุบาลโจทก์ผู้ไร้ความสามารถ โดยมิได้กำหนดหน้าที่ของผู้อนุบาลแต่ละคนไว้โดยเฉพาะและมิได้กำหนดให้ผู้อนุบาลกระทำการร่วมกันอย่างไร ยกเว้นแต่ในเรื่องการกำหนดที่อยู่ที่ศาลฎีการะบุให้ ฤ. เพียงผู้เดียวเป็นผู้มีสิทธิกำหนดที่อยู่ของโจทก์ได้ กรณีจึงต้องถือว่าการใดที่ ฤ. และจำเลยกระทำการแทนโจทก์รวมถึงการบอกล้างโมฆียะกรรมต้องกระทำด้วยความยินยอมพร้อมใจกัน ดังนั้น การที่โจทก์โดย ฤ. ในฐานะผู้อนุบาลเพียงคนเดียวโดยไม่มีจำเลยร่วมฟ้องเป็นคดีนั้นจึงขัดต่อคำสั่งศาล ไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ทั้งนี้แม้การกระทำของจำเลยจะเป็นปฏิปักษ์ต่อทรัพย์ของโจทก์ แต่ ฤ.ไม่อาจอ้างเหตุความเป็นปฏิปักษ์ดังกล่าวมาเป็นข้ออ้างในการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าวได้เพราะ ฤ. อาจยื่นคำร้องต่อศาลที่มีคำสั่งให้โจทก์เป็นคนไร้ความสามารถโดยแสดงเหตุขัดข้องดังกล่าว เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้ ฤ. เพียงฝ่ายเดียวมีอำนาจฟ้องเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าว หรือขอให้ศาลมีคำสั่งเกี่ยวกับการขอถอดถอนจำเลยจากการเป็นผู้อนุบาลร่วมได้ ดังนั้น โจทก์โดย ฤ. ในฐานะผู้อนุบาลเพียงคนเดียวจึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ ปัญหาอำนาจฟ้องนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3949/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ แจ้งความเท็จ-จดทะเบียนบริษัท: ผู้เสียหาย-อำนาจฟ้อง-การแย่งอำนาจจัดการ
ความผิดฐานแจ้งความเท็จตาม ป.อ. มาตรา 137 และแจ้งให้เจ้าพนักงานจดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จตาม ป.อ. มาตรา 267 โจทก์ได้บรรยายไว้ในตอนท้ายของฟ้องข้อ 2 ว่า ข้อความที่จำเลยยื่นขอจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมรายการในทะเบียนบริษัทและคำรับรองการจดทะเบียนล้วนเป็นความเท็จ เพราะแท้ที่จริงแล้วโจทก์ไม่เคยทราบถึงการบอกกล่าวนัดประชุมเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2561 และไม่ได้เข้าประชุมเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2561 จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีผู้ถือหุ้นเข้าประชุมครบจำนวน 3 คน และนับจำนวนหุ้นได้ 40,000 หุ้น ตามที่จำเลยทำคำรับรอง อันเป็นการบรรยายชี้ชัดลงไปแล้วว่าข้อความใดเป็นจริงและข้อความใดเป็นเท็จ ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้วเมื่อจำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อนายทะเบียนว่าได้มีการบอกกล่าวนัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นและจัดให้มีการประชุม เป็นเหตุให้นายทะเบียนหลงเชื่อว่ามีการประชุมจริงจึงรับจดทะเบียนแก้ไขให้จำเลยแต่เพียงผู้เดียวเป็นกรรมการลงชื่อผูกพันบริษัทได้ ย่อมมีผลกระทบโดยตรงต่อโจทก์ในฐานะผู้ถือหุ้นและกรรมการของบริษัทเป็นว่าไม่ได้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงชื่อผูกพันบริษัทอีกต่อไปแล้ว โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายตามป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) มีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดตาม พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 ได้โจทก์และจำเลยร่วมกันก่อตั้งบริษัท อ. มีโจทก์ จำเลยและ ด. ญาติของจำเลยเป็นผู้ถือหุ้น อันมีลักษณะเป็นบริษัทของครอบครัว การกระทำของจำเลยที่อ้างส่งเอกสารเท็จและแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อนายทะเบียนเพื่อให้รับจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมจำนวนหรือชื่อกรรมการซึ่งลงชื่อผูกพันบริษัทไว้ในสารบบรายการจดทะเบียนของบริษัท จึงเป็นเพียงการแย่งเอาอำนาจการบริหารจัดการบริษัทมาเป็นของจำเลยแต่เพียงผู้เดียว ส่วนทรัพย์สินอื่น ๆ ของบริษัท รวมตลอดถึงหุ้นก็ยังคงเป็นของบริษัท และผู้ถือหุ้นรายเดิมในสัดส่วนจำนวนหุ้นเท่าเดิม ข้อเท็จจริงไม่เพียงพอให้รับฟังได้ว่า เป็นการกระทำเพื่อลวงให้โจทก์ในฐานะผู้ถือหุ้นขาดประโยชน์อันควรได้ จำเลยจึงไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 42 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3859/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องของนิติบุคคลอาคารชุด: เจ้าของร่วม/กรรมการต้องได้รับมอบอำนาจหรือศาลแต่งตั้งเป็นผู้แทนเฉพาะการ
ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 35 และมาตรา 36 (3) บัญญัติให้นิติบุคคลอาคารชุดมีผู้จัดการคนหนึ่งและให้ผู้จัดการเป็นผู้แทนนิติบุคคลอาคารชุด และตามข้อบังคับของโจทก์กำหนดให้ผู้จัดการนิติบุคคลเป็นตัวแทนของโจทก์ปฏิบัติการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโจทก์ โดยให้มีอำนาจใช้สิทธิเรียกร้องหรือดำเนินคดีตามกฎหมายทั้งทางแพ่งและทางอาญากับผู้ที่ทำละเมิดต่ออาคารชุดหรือทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุด ดังนั้น การฟ้องร้องดำเนินคดีแก่ผู้ที่กระทำละเมิดต่อโจทก์จึงเป็นหน้าที่ของผู้จัดการโจทก์ หาใช่เป็นหน้าที่ของเจ้าของร่วมหรือกรรมการโจทก์ไม่ ส. เป็นเพียงเจ้าของร่วมและกรรมการโจทก์มิได้เป็นผู้จัดการโจทก์ ทั้งไม่ได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ให้ฟ้องร้องดำเนินคดีนี้ ส. จึงไม่อาจใช้สิทธิในฐานะเจ้าของร่วมหรือกรรมการโจทก์ฟ้องคดีแทนโจทก์ได้ หาก ส. เห็นว่าจำเลยทั้งสี่ร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ ก็ต้องแจ้งให้โจทก์เป็นผู้ดำเนินการ การที่ ส. มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการโจทก์ฟ้องร้องดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ถือได้ว่าเป็นการแจ้งเรื่องให้โจทก์ดำเนินการแล้ว แต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉย อันเป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อผลประโยชน์ของโจทก์ ถือได้ว่าประโยชน์ได้เสียของนิติบุคคลขัดกับประโยชน์ได้เสียของผู้แทนของนิติบุคคลในเรื่องดังกล่าว ในกรณีเช่นนี้ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ยกมาปรับใช้แก่คดีและไม่ปรากฏว่ามีจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น จึงต้องอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 โดย ส. ในฐานะเจ้าของร่วมและกรรมการโจทก์ต้องร้องขอให้ศาลแต่งตั้งตัวเองหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นผู้แทนเฉพาะการเพื่อดำเนินการฟ้องร้องตลอดจนการดำเนินการอื่นที่เกี่ยวข้องตามข้อบังคับของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 75 แต่ ส. มิได้ร้องขอให้ศาลตั้งตัวเองเป็นผู้แทนโจทก์เฉพาะการ และฟ้องคดีแทนโจทก์เสียเอง จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3749/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องของอัยการสูงสุด, การแก้ไขคำฟ้อง, และการริบทรัพย์สินในคดีทุจริต - หลักเกณฑ์และขอบเขต
พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123/6 ถึงมาตรา 123/8 ไม่ได้บัญญัติให้อำนาจศาลที่จะริบทรัพย์สินได้โดยโจทก์ไม่ต้องมีคำขอเช่นเดียวกับที่ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 บัญญัติเป็นมาตรการไว้ในมาตรา 31 และ 32 เมื่อการริบทรัพย์สินเป็นโทษตาม ป.อ. ซึ่งใช้บังคับในขณะที่จำเลยทั้งสองกระทำความผิด หากโจทก์ประสงค์จะให้ศาลริบทรัพย์สินใดของจำเลยทั้งสองก็ต้องบรรยายไว้ในคำฟ้อง และมีคำขอท้ายฟ้องให้ริบด้วย ถึงแม้โจทก์จะนำพยานหลักฐานเข้าไต่สวนโดยชอบด้วยกฎหมาย และศาลรับฟังได้ว่าเงินในบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 เป็นทรัพย์สินที่จำเลยทั้งสองได้มาโดยได้กระทำความผิดตาม ป.อ.มาตรา 33 (2) ก็ตาม แต่การนำพยานหลักฐานเข้าไต่สวนดังกล่าวไม่ได้เป็นข้อยกเว้นให้โจทก์ไม่ต้องบรรยายฟ้องเกี่ยวกับเงินของจำเลยทั้งสองว่ายึดหรืออายัดไว้เป็นของกลางหรือไม่ เป็นจำนวนเท่าใด และไม่ต้องมีคำขอท้ายฟ้องให้ริบเงินใด ๆ ดังนั้นเมื่อโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่ามีการยึดหรืออายัดเงินใด ๆ ที่จำเลยทั้งสองได้มาโดยได้กระทำความผิด และคำขอท้ายฟ้องก็ไม่ได้มีคำขอให้ศาลสั่งริบเงินของจำเลยทั้งสอง ศาลชั้นต้นย่อมไม่อาจริบเงินของจำเลยทั้งสองในบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 ได้ อีกทั้งไม่อาจนำมาตรการริบทรัพย์สินตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 มาปรับใช้แก่คดีนี้ได้ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ริบเงิน 1,822,494 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมทั้งกำหนดมูลค่าของสิ่งที่ริบเป็นเงิน 62,724,776 บาท จึงเป็นการไม่ชอบ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนนี้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3503/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องสัญญาเช่าซื้อ, ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม, และการเลิกสัญญาสัญญาเช่าซื้อโดยปริยาย
คดีนี้จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การ และศาลชั้นต้นให้สืบพยานไปฝ่ายเดียวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 198 ทวิ วรรคสาม (2) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7 เมื่อในการสืบพยานหลักฐานของโจทก์ โจทก์มีหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ที่ระบุว่า ก. เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ และ ก. มอบอำนาจให้ ญ. มีอำนาจลงนามในสัญญาเช่าซื้อกับมีอำนาจตั้งบุคคลอื่นเป็นผู้รับมอบอำนาจ ญ. จึงมีอำนาจลงลายมือชื่อมอบอำนาจให้บุคคลใดลงลายมือชื่อในสัญญาเช่าซื้อแทนโจทก์ได้ การที่ ญ. มอบอำนาจช่วงอีกทอดหนึ่งให้ ร. ลงลายมือชื่อในสัญญาเช่าซื้อ แล้วปรากฏลายมือชื่อ ร. ลงไว้ในช่องผู้ให้เช่าซื้อในสัญญาเช่าซื้อเป็นลำดับ ซึ่งศาลล่างทั้งสองมิได้ติดใจสงสัยเกี่ยวกับลายมือชื่อ ร. ที่ลงไว้ในสัญญาเช่าซื้อแทนโจทก์ พยานบุคคลและพยานเอกสารที่โจทก์นำสืบมาเพียงฝ่ายเดียวในคดีโดยจำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การ จึงมีรายละเอียดข้อสำคัญพอให้เห็นได้ว่าคำฟ้องของโจทก์มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย ทั้งรับฟังได้ว่าโจทก์มอบอำนาจให้ ร. ลงลายมือชื่อในสัญญาเช่าซื้อแทนโจทก์แล้ว
โจทก์ประกอบธุรกิจให้เช่าซื้อทรัพย์สิน การดำเนินการอันเกี่ยวกับธุรกิจของโจทก์ย่อมมีการลงทุนและเสียค่าใช้จ่าย ทั้งโจทก์ย่อมมุ่งหวังผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการลงทุนประกอบธุรกิจของตนบ้างเป็นธรรมดา ดังนั้น การที่โจทก์คิดค่าเช่าซื้อตามสัญญาโดยนำเงินลงทุนที่โจทก์ใช้จ่ายไปเกี่ยวกับรถยนต์ที่เช่าซื้อมาคำนวณรวมกับดอกเบี้ยในแต่ละงวด เพื่อให้ตนได้รับประโยชน์หรือกำไรในเชิงธุรกิจของตน และการคิดคำนวณผลประโยชน์ของโจทก์เช่นนั้นมิได้สูงเกินสมควรหากยังคงอยู่ภายใต้มาตรฐานแห่งเศรษฐกิจกับความเป็นจริงของค่าครองชีพของประชาชนในสังคม ทั้งมิได้เป็นการคิดคำนวณผลประโยชน์ที่ต้องห้ามต่อกฎหมายด้วยแล้ว จึงยังมิอาจกล่าวว่าการคิดค่าเช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อของโจทก์เป็นไปโดยไม่เป็นธรรม ส่วนข้อตกลงเกี่ยวกับค่าขาดราคาหรือเบี้ยปรับอันพึงชดใช้แก่กันนั้น เป็นเพียงข้อกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับค่าเสียหายภายหลังจากเลิกสัญญาที่คู่สัญญาสามารถตกลงกันไว้ได้ โจทก์ก็หาได้นำหนี้ดังกล่าวไปรวมไว้เป็นส่วนหนึ่งของค่าเช่าซื้อดังที่จำเลยทั้งสองเข้าใจและอ้างมาในฎีกา ข้อตกลงในสัญญาเช่าซื้อจึงมิใช่ข้อตกลงสำเร็จรูปที่ทำให้โจทก์ผู้ประกอบธุรกิจการค้า หรือผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูปได้เปรียบจำเลยที่ 1 คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควร หรือมีลักษณะหรือมีผลให้จำเลยที่ 1 ต้องปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติ อันต้องด้วยลักษณะของข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2550
เมื่อข้อเท็จจริงตามคำฟ้องและทางนำสืบของโจทก์ฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เพิ่งผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อแก่โจทก์เพียง 2 งวดติดต่อกัน และโจทก์ยังมิได้มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามเพื่อใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาต่อจำเลยที่ 1 โดยชอบ ข้อเท็จจริงกลับได้ความต่อไปตามคำฟ้องและคำเบิกความของ น. ผู้รับมอบอำนาจช่วงโจทก์ว่า โจทก์เป็นฝ่ายติดตามยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนจากจำเลยที่ 1 สอดคล้องกับรายละเอียดในใบแจ้งให้จำเลยที่ 1 ซื้อทรัพย์ ที่ระบุถึงเรื่องที่โจทก์เป็นฝ่ายติดตามรถยนต์คืน โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 โต้แย้งคัดค้านในการนั้น พฤติการณ์ของโจทก์ที่ติดตามยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนจากจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 คู่สัญญาฝ่ายที่ผิดนัดยินยอมส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อให้แก่โจทก์โดยไม่อิดเอื้อนเช่นนี้ ย่อมถือได้ว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างสมัครใจเลิกสัญญาเช่าซื้อต่อกันโดยปริยาย อันเป็นผลให้คู่สัญญาไม่มีสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาต่อกันอีก โจทก์ไม่อาจอาศัยข้อตกลงตามสัญญาเช่าซื้อเรียกร้องค่าขาดราคาจากจำเลยที่ 1 ได้ จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันย่อมไม่ต้องรับผิดในส่วนนี้ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3427/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดตาม พ.ร.บ. เช็ค การชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยเกินอัตรา อำนาจฟ้อง และเหตุบรรเทาโทษ
ความผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 เกิดขึ้นเมื่อธนาคารปฏิเสธการใช้เงินตามเช็ค สถานที่ตั้งของธนาคารที่ปฏิเสธการจ่ายเงินจึงเป็นสถานที่ที่ความผิดเกิดขึ้น การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันออกเช็คธนาคาร ก. สาขาหาดกมลา ภูเก็ต ตามเช็คพิพาททั้งสองฉบับให้แก่โจทก์ ต่อมาโจทก์นำเช็คพิพาททั้งสองฉบับเข้าบัญชีของโจทก์ที่ธนาคาร ก. สาขาบางรัก ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร เพื่อเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคาร ก. สาขาหาดกมลา ภูเก็ต ปฏิเสธการจ่ายเงินนั้น ย่อมแสดงว่า ธนาคาร ก. สาขาบางรัก มิได้เป็นผู้จ่ายเงินตามเช็คให้แก่โจทก์คงเป็นแต่เพียงตัวแทนของโจทก์เรียกเก็บเงินตามเช็คพิพาททั้งสองฉบับให้เท่านั้น เมื่อธนาคาร ก. สาขาหาดกมลา ภูเก็ต ปฏิเสธการจ่ายเงิน ท้องที่จังหวัดภูเก็ตอันเป็นสถานที่ตั้งของธนาคาร ก. สาขาหาดกมลา ภูเก็ต ซึ่งเป็นธนาคารตามเช็คที่ปฏิเสธการจ่ายเงินจึงเป็นสถานที่ที่ความผิดเกิดขึ้น ความผิดคดีนี้จึงเกิดขึ้นในเขตศาลชั้นต้น ซึ่งมีอำนาจรับฟ้องไว้พิจารณาพิพากษา
ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินระบุว่า ผู้กู้ตกลงกู้ยืมเงินจากผู้ให้กู้ 5,000,000 บาท และตกลงชำระดอกเบี้ยให้แก่ผู้กู้ 150,000 บาท แม้การกู้ยืมเงินระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสามจะมีการตกลงดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี อันเป็นการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดก็ตาม แต่เมื่อได้ความในชั้นไต่สวนมูลฟ้องว่า ในวันทำสัญญากู้ยืมเงินจำเลยที่ 2 ออกเช็คสั่งจ่ายให้แก่โจทก์ 5,450,000 บาท เมื่อเช็คดังกล่าวถึงกำหนดชำระเงิน ปรากฎว่าโจทก์ไม่สามารถนำเช็คไปขึ้นเงินได้ โจทก์จึงนำเช็คไปพบจำเลยที่ 2 จนจำเลยที่ 1 และที่ 2 ออกเช็คพิพาททั้งสองฉบับตามเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 ให้แก่โจทก์ การที่โจทก์นำเช็คพิพาททั้งสองฉบับตามเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 ไปเรียกเก็บเงิน แสดงว่าโจทก์เจตนาเข้าถือสิทธิตามเช็คพิพาททั้งสองฉบับ เมื่อเช็คพิพาททั้งสองฉบับตามเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 สั่งจ่ายเงิน 5,000,000 บาท และ 450,000 บาท ตามลำดับ อันเป็นการแยกให้เห็นชัดว่าเช็คฉบับใดชำระเงินต้นและเช็คฉบับใดชำระดอกเบี้ยประกอบกับโจทก์ยังบรรยายฟ้องอีกด้วยว่า เป็นการสั่งจ่ายเช็คให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้เงินกู้ยืมและดอกเบี้ยพร้อมทั้งแนบสัญญากู้ยืมเงินมาท้ายคำฟ้องซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้อง กรณีจึงไม่อาจฟังว่าเช็คพิพาททั้งสองฉบับตามเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 เป็นเช็คที่ออกเพื่อชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยโดยไม่อาจแยกเงินต้นและดอกเบี้ยออกจากกันได้ เมื่อปรากฏว่าเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.4 สั่งจ่ายเงิน 5,000,000 บาท จึงเป็นเช็คที่ออกเพื่อชำระเงินต้น ส่วนเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.5 สั่งจ่ายเงิน 450,000 บาท จึงเป็นเช็คที่ออกเพื่อชำระดอกเบี้ยที่เรียกเกินอัตราตามที่กฎหมายกำหนด ถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้กระทำผิดในส่วนของดอกเบี้ยที่โจทก์คิดเกินอัตราตามกฎหมาย ดังนั้น แม้ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.5 ก็จะถือว่าโจทก์เป็นผู้ทรงโดยชอบและเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) ไม่ได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 สำหรับความผิดในส่วนของเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.5 แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะให้การรับสารภาพก็ไม่อาจฟังลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ ทั้งนี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225 แต่ในส่วนของเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.4 นั้นเป็นเช็คที่ออกเพื่อชำระเงินต้นมิได้รวมดอกเบี้ยที่มิชอบเข้าไว้ด้วย จึงเป็นการออกเช็คชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย การที่จำเลยที่ 2 สั่งจ่ายเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.4 เพื่อชำระเงินต้นตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินของจำเลยที่ 1 จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อในเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.4 ในนามหรือแทนจำเลยที่ 1 อันเป็นการแสดงออกถึงความประสงค์ของนิติบุคคล เมื่อเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.4 ถึงกำหนดชำระแล้วปรากฎว่าธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินด้วยเหตุผลว่า "เงินในบัญชีไม่พอจ่าย" จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 335/2563

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2760/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีฉ้อโกงและการไม่ขาดอายุความ แม้มีการถอนฟ้องคดีอื่น
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นที่ยุติว่าในวันที่ 17 กรกฎาคม 2558 จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันหลอกลวงโจทก์และโจทก์ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 กับพวกในวันที่ 26 กันยายน 2558 จึงเป็นการร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 96 แล้ว แม้โจทก์จะฟ้องคดีนี้เกินกว่าสามเดือน แต่ยังไม่พ้นอายุความตาม ป.อ. มาตรา 95 (3) ซึ่งอนุญาตให้ฟ้องคดีภายในสิบปี นับแต่วันกระทำความผิด ส่วนที่โจทก์ขอถอนคำร้องทุกข์ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1238/2560 ของศาลแขวงลพบุรีนั้น ก็ปรากฏว่าโจทก์ถอนคำร้องทุกข์เพราะโจทก์ฟ้องคดีนี้และศาลชั้นต้นได้ประทับฟ้องไว้แล้ว ไม่ได้ถอนคำร้องทุกข์โดยเจตนาที่จะไม่เอาผิดแก่จำเลยที่ 1 แต่อย่างใด คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2737/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีครอบครองที่ดิน: การรังวัดที่ดินเป็นการโต้แย้งสิทธิ แม้จะหยุดดำเนินการไปก่อน
คดีนี้โจทก์ฟ้องโดยยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า โจทก์เป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินมือเปล่า โดยโจทก์เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2510 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน จำเลยนำเจ้าพนักงานที่ดินไปรังวัดเพื่อออกโฉนดในที่ดินพิพาท เป็นการบุกรุกและรบกวนการครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินของโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย การกระทำของจำเลยตามที่โจทก์กล่าวอ้างมาในคำฟ้องถือได้ว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ในฐานะเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทแล้ว โจทก์จึงย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลย ส่วนการที่จำเลยของดการรังวัดที่ดินพิพาทไว้ก่อนเนื่องจากไม่สามารถนำชี้แนวเขตที่ดินพิพาทได้ชัดเจนนั้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายหลังจากจำเลยได้กระทำที่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ จึงหามีผลกระทบต่ออำนาจฟ้องของโจทก์ไม่
ผู้ร้องสอดทั้งสองอ้างมาในคำร้องว่า ที่ดินพิพาทเป็นของผู้ร้องสอดทั้งสอง ขอให้ยกฟ้อง กับขอให้ขับไล่โจทก์และบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท อันเป็นการร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) ดังนั้นเมื่อโจทก์ให้การแก้คำร้องสอดว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ตามราคาที่ดินพิพาท
of 452