คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ที่ดิน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4,546 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6275/2551 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเช่าช่วงที่ดินต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ หากไม่มีหลักฐาน ผู้เช่าช่วงไม่มีสิทธิอ้างการเช่า และถือเป็นการอยู่โดยละเมิด
การเช่าช่วงที่ดินพิพาทถือเป็นการเช่าอสังหาริมทรัพย์อย่างหนึ่งจึงต้องตกอยู่ภายใต้บังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 538 ซึ่งจะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ เมื่อจำเลยเข้าไปอยู่ในที่ดินพิพาทโดยอ้างว่าเช่าช่วงจากโจทก์ แต่ไม่ได้ทำหนังสือสัญญาเช่าช่วงกับโจทก์แต่อย่างใด และไม่ปรากฏว่ามีหลักฐานการเช่าเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อของจำเลยผู้เช่า จำเลยจึงไม่อาจยกการเช่าช่วงขึ้นใช้ยันโจทก์ได้ การที่จำเลยอยู่ในที่ดินพิพาทจึงต้องถือว่าจำเลยอยู่โดยอาศัยสิทธิของโจทก์ จำเลยจะอ้างว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยบอกเลิกสัญญาเช่าที่ดินแก่โจทก์แล้ว เพื่อต่อสู้ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยหาได้ไม่ เมื่อโจทก์ไม่ยินยอมให้จำเลยอยู่ในที่ดินพิพาทอีกต่อไปและได้บอกกล่าวให้จำเลยออกไปจากที่ดินพิพาทแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉยยังคงอยู่ในที่ดินพิพาทต่อมาย่อมเป็นการอยู่โดยละเมิด โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทและให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6229/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเรียกร้องทางจำเป็น: การแบ่งแยกที่ดิน & ทางออกสู่สาธารณะ
การอ้างสิทธิที่จะผ่านที่ดินของบุคคลอื่นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1350 ที่ดินที่แบ่งแยกออกมานั้นจะต้องไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะโดยทางอื่นได้ แม้ว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 12253 แบ่งแยกหรือแบ่งโอนมาจากที่ดินแปลงใหญ่โฉนดเลขที่ 81 ทำให้ที่ดินแปลงนี้ถูกที่ดินที่แบ่งแยกในคราวเดียวกันปิดล้อมไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้ก็ตาม แต่ในเวลานั้น ฉ. ซึ่งเป็นเจ้าของผู้ได้รับที่ดินจากการแบ่งแยกยังเป็นเจ้าของที่ดินอีกแปลงหนึ่งซึ่งอยู่ติดกับที่ดินแปลงที่ได้รับการแบ่งแยกทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ คือที่ดินโฉนดเลขที่ 17419 (ก่อนการแบ่งแยกตามคำพิพากษาศาลฎีกา) และที่ดินโฉนดเลขที่ 17419 เดิมนั้นมีทางพิพาทกว้างประมาณ 10 เมตร เป็นทางออกสู่ทางสาธารณะซึ่ง ฉ. สามารถใช้ทางพิพาทในที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นทางออกสู่ทางสาธารณะของที่ดินโฉนดเลขที่ 12253 ได้ จึงถือได้ว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 12253 ที่แบ่งแยกออกมานั้นมีทางออกสู่ทางสาธารณะโดยทางอื่นได้อยู่แล้ว สิทธิเรียกร้องเอาทางจำเป็นบนที่ดินแปลงที่ได้แบ่งแยกมาในคราวเดียวกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1350 ย่อมหมดไปตั้งแต่นั้นแล้ว แม้ต่อมาที่ดินโฉนดเลขที่ 17419 เดิมจะถูกบังคับให้แบ่งแยกและบังคับให้โอนขายแก่จำเลยตามคำพิพากษาของศาลฎีกา ทำให้ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 12253 ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะอีกครั้ง โจทก์ผู้เป็นเจ้าของที่ดินตามโฉนดเลขที่ 12253 ก็จะกลับไปใช้สิทธิเรียกร้องเอาทางจำเป็นบนที่ดินแปลงที่แบ่งแยกมาด้วยกันในครั้งก่อนตามมาตรา 1350 อีกไม่ได้ คงมีสิทธิที่จะผ่านที่ดินแปลงใดแปลงหนึ่งซึ่งล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะได้ในฐานะทางจำเป็นตามมาตรา 1349 เท่านั้น เมื่อโจทก์นำสืบฟังได้ว่า การใช้ทางพิพาทบนที่ดินตามโฉนดเลขที่ 79060 ของจำเลยออกสู่ทางสาธารณะซึ่งโจทก์เคยใช้ผ่านมาก่อนมีระยะทางเพียง 50 เมตร แต่หากใช้เส้นทางอื่นผ่านที่ดินแปลงที่แบ่งแยกมาด้วยกันในครั้งก่อนเพื่อออกทางถนนราชมรรคาต้องใช้ระยะทางถึง 100 เมตรเศษ ซึ่งไกลกว่ากันถึงหนึ่งเท่าตัวเช่นนี้ทางพิพาทย่อมสะดวกและเหมาะสมที่จะเป็นทางจำเป็นแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 12253 ของโจทก์กว่าทางอื่น โจทก์จึงมีสิทธิขอให้เปิดทางพิพาทในที่ดินโฉนดเลขที่ 79060 ของจำเลยเป็นทางจำเป็นเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 12253 ของโจทก์ได้
การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 กำหนดให้จำเลยเปิดทางกว้าง 2.50 เมตร นั้น ก็เพื่อที่จะให้โจทก์ได้ใช้รถยนต์ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในปัจจุบันแล่นเข้าออกได้โดยสะดวก การที่จำเลยจะขอให้เปิดทางให้โจทก์กว้างเพียง 2 เมตร ย่อมทำให้รถยนต์ผ่านเข้าออกได้ไม่สะดวกรวดเร็วซึ่งเป็นการไม่เหมาะสมแก่สภาพการณ์และความเจริญของบ้านเมืองในปัจจุบันที่ต้องการความรวดเร็ว การกำหนดให้จำเลยเปิดทางพิพาทซึ่งเป็นทางจำเป็นมีขนาดกว้าง 2.50 เมตร เพื่อให้รถยนต์ผ่านเข้าออกได้จึงน่าจะเหมาะสมแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6044/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิซื้อที่ดินก่อนของผู้เช่านา vs. สัญญาจะซื้อจะขาย: ศาลฎีกาตัดสินเรื่องความชอบธรรมของสิทธิ
จำเลยที่ 1 เป็นผู้จะซื้อที่ดินพิพาทตามสัญญาจะซื้อจะขายกับจำเลยที่ 2 มีการวางมัดจำกันไว้แล้วบางส่วน จำเลยทั้งสองจึงมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติต่อกันคือชำระราคาส่วนที่เหลือ และจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่กัน ดังนั้น การที่โจทก์มายื่นฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้เพื่อขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันโอนที่ดินพิพาทขายให้แก่โจทก์ อ้างว่าโจทก์เป็นผู้เช่าที่ดินพิพาททำนาจึงมีสิทธิที่จะซื้อที่ดินพิพาทได้ก่อนจำเลยที่ 1 ตามกฎหมายว่าด้วยการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิของจำเลยที่ 1 โดยตรง เพราะแม้ศาลชั้นต้นจะพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 แต่การที่ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงตามคำฟ้องของโจทก์ ย่อมเป็นผลให้จำเลยที่ 1 เสียสิทธิในการรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาของศาลในคดีนี้เพื่อให้ฟังว่าโจทก์ไม่ใช่ผู้เช่านา แต่สมรู้กับจำเลยที่ 2 มาฟ้องคดีนี้ และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ด้วยได้ และปัญหาว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 หรือไม่ เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย โจทก์จึงมีสิทธิยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นฎีกาได้
การที่จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้ในคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้ร่วมกันโอนที่ดินพิพาทตามสัญญาจะซื้อจะขายระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ให้แก่โจทก์ว่า โจทก์สมคบกับจำเลยที่ 2 มาฟ้องคดีนี้ เพราะจำเลยที่ 2 ต้องการที่ดินพิพาทคืน จำเลยที่ 1 จึงมิใช่คู่ความเดียวกับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิถามค้านพยานจำเลยที่ 2 ได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 117 วรรคสอง แต่ก็เป็นดุลยพินิจของศาลตามกฎหมายด้วยในการพิจารณาว่า ข้อเท็จจริงที่ได้จากทางพิจารณาเพียงพอแล้วหรือไม่ ดังนั้น แม้ศาลชั้นต้นจะมิได้ให้โอกาสจำเลยที่ 1 ถามค้านพยานจำเลยที่ 2 ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ก็มีอำนาจวินิจฉัยว่า ไม่มีเหตุสมควรต้องย้อนสำนวนลงไปเพื่อให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาในส่วนนี้ใหม่
บุคคลที่จะขอใช้สิทธิซื้อที่นาได้ก่อนผู้อื่นตาม พ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2524 มาตรา 53 และมาตรา 54 จะต้องเป็นผู้เช่านาตามกฎหมาย โดยเป็นผู้เช่าที่ดินดังกล่าวทำนาโดยแท้จริงเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6036/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสร้างถนนก่อนเช่าที่ดิน ไม่เป็นละเมิด แต่เป็นการรอนสิทธิสัญญาเช่า
จำเลยสร้างถนนพิพาทบนที่ดินตามฟ้องขึ้นมาก่อนที่โจทก์จะเช่าที่ดินนั้นจากโจทก์ร่วมการกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์ แต่เป็นการรอนสิทธิของโจทก์ที่โจทก์มีต่อโจทก์ร่วมตามสัญญาเช่า โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายฐานละเมิดตามฟ้องจากจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6034/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินหลังแบ่งแยกการครอบครอง การแบ่งตามสัดส่วนการครอบครองมีผลเหนือส่วนเท่ากันเดิม
ผู้เป็นเจ้าของรวมกันในที่ดินจะมีส่วนเท่ากันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1357 ต้องเป็นกรณีที่ยังไม่ได้มีการแบ่งแยกการครอบครองเป็นสัดส่วน ถ้าแบ่งแยกการครอบครองออกเป็นสัดส่วนแล้ว ก็ต้องแบ่งกรรมสิทธิ์รวมไปตามที่มีการครอบครอง ซึ่งอาจไม่เท่ากันก็ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 544/2551 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้อน: คดีรอนสิทธิที่ดินกับคดีละเมิดจากการปักเสาไฟฟ้า แม้คำขอต่างกันแต่เป็นเรื่องเดียวกัน
คดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 โดยยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่าจำเลยที่ 1 โดยลูกจ้างของจำเลยที่ 1 คนหนึ่ง และลูกจ้างของจำเลยที่ 1 อีกหลายคน ซึ่งกระทำในทางการที่จ้างได้ร่วมกันเข้าไปในที่ดินของโจทก์ และร่วมกันรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างขุดดินปักเสาไฟฟ้าโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายกับรื้อถอนขนย้ายเสาไฟฟ้า สายส่งไฟฟ้าออกไปจากที่ดินของโจทก์ ส่วนคดีนี้โจทก์ยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า โจทก์กับพวกมีชื่อเป็นเจ้าของที่ดิน 16 แปลง จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันใช้อำนาจโดยมิชอบเข้าทำการรอนสิทธิในที่ดินของโจทก์กับพวกดังกล่าวด้วยการบุกรุกเข้าไปปักเสาพาดสายส่งไฟฟ้าแรงสูง โดยอ้างอำนาจตาม พ.ร.บ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยฯ แต่จำเลยกับพวกมิได้ดำเนินการให้ถูกต้องตามขั้นต้นที่ มาตรา 28 (2) (ข) (ค) แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าวกำหนดไว้ จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นเหตุให้โจทก์ไม่ได้รับค่าทดแทนเนื่องจากการรอนสิทธิ ขอให้จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันจ่ายค่ารอนสิทธิและขาดประโยชน์หรือรับซื้อที่ดินทั้งหมด หากไม่ยินยอมก็ขอให้จำเลยที่ 1 ย้ายแนวปักเสาพาดสายส่งไฟฟ้าแรงสูงออกจากที่ดินทั้งหมด แม้คดีนี้คำขอของโจทก์เป็นเรื่องเรียกค่ารอนสิทธิหรือบังคับให้จำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินหรือย้ายแนวก่อสร้างปักเสาพาดสายส่งไฟฟ้าแรงสูงออกไปจากที่ดิน 16 แปลง ซึ่งแตกต่างจากคดีก่อนที่โจทก์ขอให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายฐานละเมิดที่ทำให้ที่ดิน น.ส. 3 ก. เลขที่ 2301 ได้รับความเสียหายก็ตาม แต่คดีก่อนโจทก์ก็มีคำขอให้จำเลยที่ 1 ขนย้ายเสาไฟฟ้าและสายไฟฟ้าออกไปจากที่ดินของโจทก์ด้วย เช่นกัน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นการกระทำเดียวกันกับที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ในคดีก่อนคดีของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ทั้งในคดีนี้และคดีก่อนเป็นเรื่องเดียวกันเมื่อปรากฏว่าขณะคดีก่อนอยู่ในระหว่างการพิจารณา โจทก์นำคดีนี้มายื่นฟ้องจำเลยที่ 1 กับพวกอีก ฟ้องของโจทก์ในคดีนี้ในส่วนของจำเลยที่ 1 จึงเป็นฟ้องซ้อนกับคดีก่อนต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5386/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนนิติกรรมโอนที่ดินหลังชำระหนี้: โจทก์หมดอำนาจฟ้อง
ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 352/2542 ให้จำเลยที่ 1 ในคดีนี้กับพวกชำระหนี้ให้แก่โจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ในคดีนี้กับพวกไม่ชำระ โจทก์จึงขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดี ระหว่างการบังคับคดีจำเลยที่ 1 ได้โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โจทก์จึงมาฟ้องคดีนี้ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาท เมื่อจำเลยที่ 1 ในคดีนี้กับพวกได้ชำระหนี้ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 352/2542 ของศาลชั้นต้นจนเป็นที่พอใจแก่โจทก์แล้ว โจทก์ก็ย่อมไม่อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ที่ถูกจำเลยทั้งสองโต้แย้งสิทธิอีกต่อไป โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 และคดีนี้โจทก์ฟ้องเพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 อันเป็นเรื่องเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้แม้จำเลยที่ 2 ฎีกาแต่เพียงผู้เดียว ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 1 ที่ไม่ได้ฎีกาด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1) ประกอบมาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5350/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ แก้ไขคำพิพากษาการยึดทรัพย์จำนอง: รวมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินด้วย
โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยจำนองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันหนี้เงินกู้ในชั้นพิจารณาก็ปรากฏตามสัญญาจำนองว่าเป็นการจำนองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นประกัน แต่ตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์คงปรากฏแต่เพียงว่าขอให้ยึดทรัพย์จำนอง ที่ดินและ "สร้าง" ออกขายทอดตลาดเมื่อทรัพย์จำนองได้แก่ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โจทก์ย่อมยึดที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ได้ การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า หากไม่ชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 67333 ตำบลนาป่า อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบ โดยไม่ระบุให้ยึดสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินดังกล่าวออกขายทอดตลาดด้วย จึงเป็นกรณีคำพิพากษาศาลชั้นต้นมีข้อผิดพลาดหรือผิดหลงเล็กน้อยเนื่องมาจากการพิมพ์คำขอท้ายฟ้องผิดพลาดและมิได้มีการอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาดังกล่าว จึงมีเหตุสมควรที่จะแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 143

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4991/2551 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาระจำยอมโดยอายุความและการย้ายทางจำยอม: การใช้ทางต่อเนื่องและประโยชน์ของเจ้าของที่ดิน
ตามหนังสือสัญญาซื้อขาย สัญญาข้อ 3 ระบุว่า น. ผู้ขายยอมให้ทางต่อเมื่อที่ดินส่วนอื่นได้ขายให้คนอื่น น. ได้ยินยอมจะให้ทางเดินกว้าง 2 เมตร ความยาวจนถึงถนนใหญ่ไม่ว่ากรณีใด ๆ เห็นได้ว่าข้อตกลงดังกล่าวเกิดจากการที่โจทก์ซื้อที่ดินจาก น. ซึ่งแบ่งขายที่ดินส่วนหนึ่งของที่ดินให้แก่โจทก์ เพื่อประสงค์ให้โจทก์มีทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะผ่านที่ดินของ น. อันมีลักษณะเป็นการได้ประโยชน์ของคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายมิใช่เป็นกรณีที่โจทก์อาศัยสิทธิของ น. แต่เพียงฝ่ายเดียว ข้อตกลงที่ให้โจทก์มีสิทธิใช้ทางพิพาทดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นการได้ภาระจำยอมโดยนิติกรรมอันเป็นทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ แต่เมื่อโจทก์ยังไม่จดทะเบียนการได้มา จึงไม่บริบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคแรก อย่างไรก็ตาม แม้การได้ภาระจำยอมโดยนิติกรรมของโจทก์จะไม่บริบูรณ์ดังกล่าวหากปรากฏว่าโจทก์ได้ใช้ทางพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาให้เป็นทางภาระจำยอมติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี โจทก์ก็มีสิทธิได้ภาระจำยอมโดยอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1401 ประกอบมาตรา 1382
จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของภารยทรัพย์อันตกอยู่ในภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์หาจำต้องเสนอค่าทดแทนแก่โจทก์จึงจะมีสิทธิขอย้ายทางภาระจำยอมไม่ ซึ่งการเสียค่าใช้จ่ายในการย้ายทางภาระจำยอมนั้นเป็นภาระหน้าที่ของจำเลยที่จะต้องเป็นฝ่ายเสียค่าใช้จ่ายตามที่กฎหมายกำหนด แต่ข้อสำคัญจำเลยจะต้องแสดงได้ว่าการย้ายนั้นเป็นประโยชน์แก่จำเลยและต้องไม่ทำให้ความสะดวกของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของสามยทรัพย์ลดน้อยลง เมื่อพิจารณาทางพิพาทอันเป็นทางภาระจำยอมแล้วจะเห็นได้ว่าที่ดินของจำเลยทางด้านทิศตะวันตกของทางพิพาทประโยชน์ใช้สอยจะน้อยลงเนื่องจากถูกทางพิพาทแบ่งพื้นที่ของที่ดินของจำเลยเป็นสองส่วน โดยที่ดินทางด้านทิศตะวันตกเป็นที่ดินส่วนน้อย แต่หากทางภาระจำยอมย้ายไปอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของที่ดินจำเลย พื้นที่ส่วนที่เหลือของที่ดินจำเลยจะเป็นผืนเดียวกัน จำเลยย่อมใช้สอยประโยชน์ได้มากกว่า และการย้ายทางภาระจำยอมดังกล่าวก็ไม่ทำให้ความสะดวกของโจทก์ลดลงแต่ประการใด จึงสมควรย้ายทางภาระจำยอมโดยจำเลยต้องเป็นฝ่ายเสียค่าใช้จ่ายในการย้าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4636/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความสัญญาซื้อขายที่ดิน: สิทธิเรียกร้องอาจบังคับได้ทันทีเมื่อทำสัญญา
โจทก์ทำสัญญาจะซื้อที่ดินโดยในสัญญากำหนดเรื่องการโอนไว้ว่า ผู้ขายจะโอนสิทธิให้ผู้ซื้อในภายหลังเมื่อผู้ซื้อต้องการให้โอน เป็นกรณีที่เวลาอันจะพึงชำระหนี้มิได้กำหนดลงไว้ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ย่อมจะเรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลันตาม ป.พ.พ. มาตรา 203 วรรคแรก สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงอาจบังคับได้ตั้งแต่วันทำสัญญา เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องบังคับตามสัญญาเกิน 10 ปีนับแต่วันทำสัญญา ฟ้องของโจทก์ย่อมขาดอายุความตามมาตรา 193/30
เมื่อโจทก์ไม่อาจฟ้องบังคับให้โอนตามสัญญาได้เพราะคดีขาดอายุความ จึงมีผลให้ไม่อาจขอเพิกถอนนิติกรรมการโอนขายที่ดินระหว่างผู้ขายกับจำเลยที่ 2 และนิติกรรมที่จำเลยที่ 2 โอนขายที่ดินต่อไปให้จำเลยที่ 3 ได้ และแม้จำเลยที่ 3 มิได้อุทธรณ์ฎีกา แต่เป็นกรณีเกี่ยวกับการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษายกฟ้องไปถึงจำเลยที่ 3 ได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1) ประกอบมาตรา 247
of 455