คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ที่ดิน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4,546 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8637/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิครอบครองที่ดินของบุตรที่ได้มาจากการยกให้จากบิดา แม้มีชื่อผู้อื่นในโฉนด ไม่สามารถอ้างการครอบครองปรปักษ์ได้
บิดาผู้ร้องซื้อที่ดินมาจากผู้มีชื่อและได้เข้าครอบครองตลอดมา แม้บิดาผู้ร้องจะเป็นคนต่างด้าวซึ่งตาม พ.ร.บ.ที่ดินในส่วนที่เกี่ยวกับคนต่างด้าว พ.ศ.2486 นั้น คนต่างด้าวจะมีที่ดินได้ต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อน แต่ก็ไม่ได้ห้ามเด็ดขาดไม่ให้คนต่างด้าวทำสัญญาซื้อขายที่ดินและมิได้ห้ามเด็ดขาดไม่ให้คนต่างด้าวได้มาซึ่งที่ดิน เมื่อบิดาผู้ร้องซื้อและครอบครองที่ดินมาเป็นเวลาเกินกว่า 1 ปี บิดาผู้ร้องย่อมได้สิทธิครอบครอง การที่บิดาผู้ร้องมอบหมายให้ พ. ไปดำเนินการขอออกโฉนดที่ดิน พ. ก็เป็นเพียงผู้ถือกรรมสิทธิ์แทนบิดาผู้ร้องเท่านั้น บิดาผู้ร้องยังคงเป็นผู้มีสิทธิในที่ดิน เมื่อบิดาผู้ร้องยกที่ดินให้แก่ผู้ร้องยกที่ดินให้แก่ผู้ร้องโดยส่งมอบการครอบครองแม้จะมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนการให้ ผู้ร้องก็เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินโดยสืบสิทธิต่อจากบิดาผู้ร้อง จึงเป็นการครอบครองที่ดินที่ตนมีสิทธิ แต่การครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 จะต้องเป็นการครอบครองทรัพย์ของผู้อื่น เมื่อมิใช่เป็นการครอบครองที่ดินของผู้อื่น ศาลจึงไม่อาจมีคำสั่งให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8551/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิครอบครองที่ดิน: การเพิกถอนชื่อใน น.ส.3ก. เมื่อสิทธิไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง
โจทก์เป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดมา จำเลยไม่เคยเข้าครอบครองที่ดินพิพาท โจทก์จึงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท การที่หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ของจำเลยบางส่วนออกทับที่ดินพิพาทส่วนที่โจทก์ครอบครองอยู่ ก็มีผลให้จำเลยยังได้รับคำรับรองของทางราชการโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าจำเลยเป็นผู้ทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตาม ป.ที่ดิน มาตรา 4 ทวิ และได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายในฐานที่มีชื่อในทะเบียนว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 ดังนั้น สิทธิของจำเลยที่ได้รับตามกฎหมายจึงไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง การที่โจทก์มีคำขอให้จำเลยไปยื่นคำขอรังวัดแบ่งแยกที่ดิน (น.ส.3 ก.) ดังกล่าวเฉพาะส่วนที่ดินพิพาทที่โจทก์ครอบครองให้แก่โจทก์มาด้วยนั้น พอแปลได้ว่าเป็นคำขอให้เพิกถอนชื่อของจำเลยออกจากหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เฉพาะส่วนที่ดินที่ทับที่ดินพิพาทของโจทก์ ศาลจึงมีอำนาจพิพากษาเพิกถอนชื่อของจำเลยในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ในส่วนที่ทับที่ดินพิพาทได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8424/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดเดินสายไฟฟ้าพาดผ่านที่ดิน: ศาลพิจารณาความเสียหายและสิทธิเรียกค่าทดแทน/โอนกรรมสิทธิ์
โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยในมูลละเมิดที่จำเลยปักเสาไฟฟ้าพาดผ่านที่ดินของโจทก์ทั้งสองเป็นเส้นทแยงมุมโดยจงใจกลั่นแกล้งโจทก์ทั้งสอง เป็นเหตุให้ที่ดินได้รับความเสียหายและเสื่อมประโยชน์ใช้สอยตลอดไป แล้วจำเลยจ่ายเงินค่าทดแทนแก่โจทก์ทั้งสองไม่ตรงและต่ำกว่าความเสียหายจริงที่โจทก์ทั้งสองได้รับ กับมีคำขอให้บังคับจำเลยรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแล้วใช้ราคาพร้อมดอกเบี้ยหรือใช้ค่าทดแทนความเสียหาย จำเลยให้การต่อสู้ว่า จำเลยมิได้กระทำละเมิดกลั่นแกล้งโจทก์ทั้งสอง คดีจึงมีประเด็นโต้เถียงกันว่าจำเลยกระทำละเมิดโจทก์ทั้งสองและต้องใช้ค่าทดแทนความเสียหายหรือไม่ การที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า โจทก์ทั้งสองขอให้บังคับจำเลยรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและชำระราคาตามฟ้องได้หรือไม่ ได้รวมถึงประเด็นที่ว่าจำเลยกระทำละเมิดกลั่นแกล้งโจทก์ทั้งสองหรือไม่ไว้ด้วยแล้ว เพราะการจะวินิจฉัยตามข้ออ้างในคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองจำต้องวินิจฉัยก่อนว่า จำเลยกำหนดแนวเขตเดินสายไฟโดยสุจริตหรือไม่ หากปรากฏว่าจำเลยกำหนดแนวเขตเดินสายไฟโดยไม่สุจริต หรือจงใจกลั่นแกล้งเพื่อให้ที่ดินทั้งสองแปลงของโจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย เสื่อมราคาไม่สามารถใช้สอยได้สมประโยชน์ดังเดิม อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง ก็จะต้องวินิจฉัยต่อไปว่าโจทก์ทั้งสองมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยรับซื้อที่ดินทั้งสองแปลงของโจทก์ทั้งสอง หรือเรียกให้ใช้ค่าทดแทนเพิ่มสำหรับที่ดินส่วนที่เหลือทั้งหมดได้หรือไม่เพียงใด ดังนั้น ที่โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ว่า จำเลยกระทำละเมิดกลั่นแกล้งโจทก์ทั้งสองแต่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองโดยเห็นว่า อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองไม่เป็นประเด็นข้อพิพาทตามฟ้อง จึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7084/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในบ้านที่ปลูกบนที่ดินของผู้อื่น: กรณีบุตรปลูกสร้างด้วยความยินยอมของผู้เป็นบิดามารดา
บ้านที่โจทก์ปลูกสร้างขึ้นในที่ดินพิพาทของ พ. กับ ศ. ซึ่งเป็นบิดามารดาโดยได้รับความยินยอมจาก พ. กับ ศ. จึงเป็นเรื่องบุตรได้สิทธิปลูกทำโรงเรือนในที่ดินของบิดามารดา จึงเป็นการปลูกสร้างโรงเรือนหรือการปลูกสร้างอย่างอื่นซึ่งผู้มีสิทธิในที่ดินของผู้อื่นใช้สิทธินั้นปลูกสร้างไว้ในที่ดินนั้นด้วย ย่อมไม่ตกเป็นส่วนควบของที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 146 บ้านทรงบังกะโลซึ่งโจทก์ต่อเติมขึ้นภายหลัง ย่อมไม่ตกเป็นส่วนควบของที่ดินพิพาทของจำเลยซึ่งได้รับโอนมาโดยพินัยกรรมของ ศ. เช่นกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6913-6916/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิครอบครองที่ดิน: การครอบครองทำประโยชน์จริงมีน้ำหนักกว่า น.ส.3 ที่ออกโดยไม่เข้าทำประโยชน์
จำเลยที่ 3 มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ส่วนการที่โจทก์ทั้งสามได้จัดการออก น.ส.3 ในที่ดินพิพาทเป็นชื่อของโจทก์ทั้งสามก็เป็นเพียงข้อสันนิษฐานเบื้องต้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 เท่านั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 ได้ครอบครองที่ดินพิพาท จำเลยที่ 3 ก็ได้สิทธิครอบครองแล้ว
คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสามมีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท จำเลยที่ 3 ได้ฟ้องแย้งและฎีกาขึ้นมา แต่เนื่องจากฟ้องเดิมต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ข้อเท็จจริงจึงไม่ยุติไปตามคดีที่ต้องห้ามและไม่ให้ฎีกาขึ้นมา จึงทำให้คำวินิจฉัยในส่วนนี้ของศาลอุทธรณ์ภาค 4 และศาลฎีกาขัดกันต้องบังคับตามมาตรา 146 วรรคหนึ่ง โดยถือตามคำวินิจฉัยของศาลฎีกาว่า จำเลยที่ 3 มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 681/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลสั่งรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินราชพัสดุ แม้ลงโทษอาญาแล้ว
การกระทำของจำเลยนอกจากจะเป็นความผิดฐานร่วมกันบุกรุกที่ดินราชพัสดุตาม ป.อ. มาตรา 365 (2) แล้ว ยังเป็นความผิดฐานเข้าไปยึดถือ ครอบครอง ก่นสร้างและทำด้วยประการใดให้เป็นการทำลายหรือทำให้เสื่อมสภาพที่ดินของรัฐ อันเป็นความผิดตาม ป.ที่ดิน มาตรา 9 (1) (2), 108 ทวิ วรรคหนึ่ง ด้วย ซึ่งตาม ป.ที่ดิน มาตรา 108 ทวิ วรรคสี่ บัญญัติให้ศาลมีอำนาจสั่งในคำพิพากษาให้ผู้กระทำความผิด คนงาน ผู้รับจ้างและบริวารของผู้กระทำความผิดออกจากที่ดินนั้นได้ อันมิใช่โทษตาม ป.อ. มาตรา 18 แต่เป็นมาตรการที่มุ่งประสงค์ให้รัฐสามารถเข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินได้โดยไม่จำต้องฟ้องขับไล่จำเลยเป็นคดีแพ่งอีกต่างหาก ดังนั้น แม้ศาลจะลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 365 (2) ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดเพียงบทเดียวตาม ป.อ. มาตรา 90 แต่เมื่อเป็นความผิดตาม ป.ที่ดิน มาตรา 108 ทวิ วรรคหนึ่ง ด้วย ศาลก็มีอำนาจสั่งให้จำเลยและบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและออกไปจากที่ดินของรัฐได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 675/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การได้สิทธิครอบครองที่ดิน แม้สัญญาซื้อขายไม่สมบูรณ์ สิทธิครอบครองเกิดขึ้นได้ด้วยการครอบครองตามกฎหมาย
การซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับ ม. มิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคหนึ่ง แต่ขณะที่ซื้อขายกันที่ดินพิพาทยังเป็นที่ดินมือเปล่า ม. จึงมีเพียงสิทธิครอบครองเท่านั้น เมื่อ ม. ส่งมอบที่ดินพิพาทและโจทก์เข้าครอบครองแล้ว โจทก์ย่อมได้สิทธิครอบครองตามมาตรา 1377 และ 1378 อันเป็นการได้สิทธิครอบครองมาด้วยการครอบครองตามกฎหมาย มิใช่เป็นการได้มาตามสัญญาซื้อขาย ม. ย่อมไม่มีหน้าที่ในทางนิติกรรมที่จะต้องไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยซึ่งเป็นทายาทของ ม. ให้ดำเนินการเพิกถอนชื่อ ม. ออกจากโฉนดที่ดินพิพาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6669/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินไม่จำเป็นต้องปิดอากรแสตมป์หากไม่ได้จดทะเบียน และใช้เป็นพยานหลักฐานการทำสัญญาได้
ตามบัญชีอากรแสตมป์ท้ายหมวด 6 แห่ง ป.รัษฎากร มิได้กำหนดว่า สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจะต้องปิดอากรแสตมป์แม้ในบัญชีกล่าวข้อ 28 (ข) กำหนดว่า ใบรับสำหรับการโอนหรือก่อตั้งสิทธิใดๆ เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ในเมื่อนิติกรรมที่เป็นเหตุให้ออกใบรับนั้นมีการจดทะเบียนตามกฎหมายต้องปิดอากรแสตมป์แต่สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคสอง มิได้บัญญัติให้เป็นนิติกรรมที่ต้องมีการจดทะเบียนตามกฎหมาย และโจทก์อ้างสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินที่จำเลยจะขายให้โจทก์เป็นพยานหลักฐานเพื่อแสดงว่าได้มีการทำสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลย มิได้อ้างเพื่อแสดงข้อเท็จจริงว่าเป็นใบรับ จึงไม่ต้องปิดอากรแสตมป์และไม่ต้องห้ามไม่ให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6492/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิครอบครองที่ดินหลัง พ.ร.บ.ที่ดิน และการปฏิรูปที่ดิน: ที่ดินของรัฐ vs. ที่ดินของประชาชน
เจ้าของเดิมครอบครองที่ดินพิพาทมาตั้งแต่ปี 2498 ภายหลัง ป.ที่ดิน ใช้บังคับแล้ว เจ้าของเดิมและจำเลยซึ่งรับโอนการครอบครองมาย่อมไม่ได้รับความคุ้มครองสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทตาม ป.ที่ดิน มาตรา 4 และต้องถือว่าที่ดินเป็นของรัฐตาม ป.ที่ดิน มาตรา 2 ที่บัญญัติว่าที่ดินซึ่งไม่ได้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคลหนึ่งบุคคลใดให้ถือว่าเป็นของรัฐ เมื่อทางราชการออกกฎกระทรวงกำหนดให้ที่ดินพิพาทเป็นป่าสงวนแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรีมอบหมายให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมนำไปปฏิรูปที่ดินได้ และต่อมาได้มีการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ที่ดินพิพาทเป็นเขตปฏิรูปที่ดินมีผลเป็นการเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติในที่ดินแปลงนั้น และสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีอำนาจนำที่ดินนั้นมาใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้โดยไม่ต้องดำเนินการเพิกถอนตามกฎหมายป่าสงวนแห่งชาติตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ฯ มาตรา 26 (4) โจทก์มีอำนาจนำที่ดินพิพาทมาใช้ในการปฏิรูปที่ดินได้
จำเลยมีที่ดินเป็นของตนเองกว่า 100 ไร่ ดังนั้น จำเลยจึงมิใช่เกษตรกรตามความหมายแห่ง พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ฯ มาตรา 4 จึงเป็นผู้ขาดคุณสมบัติในการเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน โจทก์จึงมีสิทธิที่จะเพิกถอนหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.4-01 ก.) ของจำเลยได้
การที่จะต้องเวนคืนที่ดินเพื่อนำมาปฏิรูปที่ดินนั้น ที่ดินพิพาทต้องเป็นของประชาชนไม่ใช่ของรัฐ คดีนี้เมื่อฟังข้อเท็จจริงว่าที่ดินเป็นของรัฐแล้ว โจทก์ก็ไม่จำต้องเวนคืนที่ดิน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6491/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในที่ดินป่าสงวนฯ - เขตปฏิรูปที่ดิน: การเพิกถอนสิทธิเมื่อขาดคุณสมบัติและที่ดินอยู่ในเขตป่าสงวน
บุคคลผู้มีสิทธิหรือทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติก่อนกฎกระทรวงประกาศให้เป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ แต่ไม่มีสิทธิในที่ดินตาม ป.ที่ดิน มีสิทธิเพียงได้รับค่าทดแทนตามมาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ ฯ เท่านั้น หาได้มีสิทธิในที่ดินที่ตนครอบครองทำประโยชน์อยู่ไม่ และต้องยื่นคำร้องที่อ้างว่ามีสิทธิหรือได้ทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติอยู่ก่อนวันที่กฎกระทรวง ฯ ใช้บังคับ โดยยื่นต่อนายอำเภอภายใน 90 วัน นับแต่วันที่กฎกระทรวงนั้นใช้บังคับ ถ้าไม่ยื่นคำร้องต่อนายอำเภอภายในกำหนดดังกล่าวให้ถือว่าสละสิทธิหรือประโยชน์นั้น
พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ฯ มาตรา 19 (7) บัญญัติให้คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกเกษตรกรซึ่งจะมีสิทธิได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจึงได้ออกระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมว่าด้วยการออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน ฯ ซึ่งตามระเบียบดังกล่าวข้อ 9 กำหนดให้เลขาธิการมีอำนาจเพิกถอนหนังสืออนุญาตได้ ดังนั้น เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจึงมีอำนาจออกคำสั่งเพิกถอนหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินจังหวัดภูเก็ตของจำเลยได้
of 455