คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
อำนาจฟ้อง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4,515 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3209/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีเสพยาเสพติด: การดำเนินการตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด และข้อยกเว้น
คดีเดิมจำเลยต้องหาว่ากระทำความผิดฐานเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 และคดีนี้จำเลยก็ต้องหาว่ากระทำความผิดฐานเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 เช่นเดียวกัน ดังนั้นจึงมิใช่กรณีที่จำเลยอยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นตามที่โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้อง เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกหรืออยู่ในระหว่างการรับโทษจำคุกตามคำพิพากษา และไม่ปรากฏว่ามีเหตุอื่นที่ต้องห้ามมิให้จำเลยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด กรณีจึงต้องดำเนินการตามมาตรา 19 แห่ง พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 เมื่อคดีนี้ยังไม่ได้มีการดำเนินการตามมาตรา 19 ให้แล้วเสร็จก่อน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3112/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจัดการมรดก, กรรมสิทธิ์รวม, อายุความ, และอำนาจฟ้องของผู้จัดการมรดก
คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาท และให้จำเลยทั้งสองแบ่งกรรมสิทธิ์รวมที่ดินพิพาทส่วนที่เป็นของ ส. ให้แก่โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. เจ้ามรดกเพื่อนำไปแบ่งปันทายาท สภาพแห่งข้อหาคือ ที่ดิน มรดก และกรรมสิทธิ์รวม คำขอบังคับ คือ ให้จำเลยทั้งสองส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาทและให้จำเลยทั้งสองแบ่งกรรมสิทธิ์รวมที่ดินพิพาท ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา คือ ที่ดินพิพาทมีชื่อ ส. ถือกรรมสิทธิ์รวมกับจำเลยทั้งสองอันเป็นมรดกของ ส. ที่จะตกแก่ทายาทของ ส. ซึ่งมีโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกจะต้องนำไปแบ่งทายาท แต่จำเลยทั้งสองไม่ยอมส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาทและไม่ยอมแบ่งกรรมสิทธิ์รวม คำฟ้องโจทก์ได้บรรยายฟ้องชัดแจ้งถูกต้องตาม ป.วิ.พ. 172 วรรคสอง ฟ้องโจทก์จึงสมบูรณ์ ส่วนที่โจทก์จะได้ส่วนแบ่งเพียงใดนั้นตามสำเนาโฉนดที่ดินพิพาทเอกสารท้ายฟ้อง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของฟ้อง ไม่ได้ระบุเป็นส่วนของบุคคลใดจำนวนเท่าใด ต้องสันนิษฐานว่าแต่ละคนมีส่วนเท่ากันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1357 โจทก์ไม่ต้องอ้างมาในฟ้องเนื่องจากเป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องปรับบทกฎหมาย และถือได้ว่าคำฟ้องของโจทก์ขอแบ่งกรรมสิทธิ์รวม 1 ใน 3 ส่วน คือ 4 ไร่เศษ ซึ่งในชั้นตีราคาพิพาทเพื่อชำระค่าขึ้นศาล โจทก์ขอคิดเพียง 4 ไร่ จำเลยทั้งสองไม่โต้แย้งบ่งชี้ว่าจำเลยทั้งสองเข้าใจคำฟ้องแล้ว ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม
สำหรับปัญหาว่า จำเลยทั้งสองและ ส. แบ่งปันทรัพย์มรดกของ ห. ตามสำเนาพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมือง และต่างเข้าครอบครองเป็นส่วนสัดแล้วหรือไม่ จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดีโดยชัดแจ้งว่า มีการแบ่งปันทรัพย์มรดกโดยต่างเข้าครอบครองเป็นส่วนสัดแล้วอันเป็นการอ้าง ป.พ.พ. มาตรา 1750 วรรคหนึ่ง ซึ่งหากเป็นจริงดังที่จำเลยทั้งสองให้การ จำเลยทั้งสองก็ไม่ต้องแบ่งที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ ปัญหานี้จำเลยทั้งสองกล่าวอ้าง จำเลยทั้งสองมีภาระการพิสูจน์ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84/1
สำหรับปัญหาว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยนอกประเด็นที่จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยโดยไม่ต้องย้อนสำนวน เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยทั้งสองและ ส. ไม่ได้ตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของ ห. ตามพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมือง โดยต่างเข้าครอบครองเป็นส่วนสัด และก่อนที่ ส. จะเป็นคนสาบสูญก็ได้ร่วมทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทด้วย จึงถือได้ว่า ส. ครอบครองทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่งปัน ส. มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกนั้นได้ แม้จะล่วงพ้นกำหนดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง เมื่อ ส. เป็นคนสาบสูญ สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทอันเป็นมรดกตามพินัยกรรมที่ยังไม่ได้แบ่งนั้นย่อมเป็นกองมรดกของ ส. ตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของ ส. ซึ่งมีโจทก์รวมอยู่ด้วย โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกซึ่งถือเป็นผู้แทนของทายาท ย่อมได้รับประโยชน์ตาม ป.พ.พ. 1748 วรรคหนึ่ง คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ และเมื่อจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกได้จัดการจดทะเบียนให้จำเลยทั้งสองและ ส. ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทแล้ว ที่ดินพิพาทจึงสิ้นความเป็นมรดกและตกเป็นกรรมสิทธิ์รวมของจำเลยทั้งสองและ ส. เจ้าของรวมมีสิทธิเรียกให้แบ่งทรัพย์สินให้ตามมาตรา 1636 วรรคหนึ่ง เมื่อ ส. เป็นคนสาบสูญถือว่าถึงแก่ความตายตามความในมาตรา 62 โจทก์เป็นทั้งทายาทและผู้จัดการมรดกของ ส. ตามคำสั่งศาล จึงมีอำนาจฟ้องตามมาตรา 1736
ทั้งนี้ขณะที่ ห. ถึงแก่ความตาย ที่ดินพิพาทจำนองไว้แก่กรมตำรวจ จำเลยทั้งสองและ ส. ซึ่งเป็นผู้รับพินัยกรรมลักษณะเฉพาะต้องรับภาระผูกพัน คือจำนองที่ติดอยู่กับที่ดินพิพาทร่วมกันโดยรับภาระจำนองคนละ 1 ใน 3 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1362, 1365 ประกอบมาตรา 1745 เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ไถ่ถอนจำนอง ส. ต้องรับผิดในหนี้ส่วนของตนที่ต้องชำระให้แก่จำเลยที่ 2 แต่เมื่อ ส. เป็นคนสาบสูญ หนี้ส่วนนี้อันถือว่าเป็นกองมรดกของ ส. จึงตกแก่ทายาทของ ส. ตามมาตรา 1602 วรรคหนึ่ง โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของ ส. จึงต้องชำระเงินค่าไถ่ถอนจำนอง 1 ใน 3 ให้แก่จำเลยที่ 2 ผู้รับช่วงสิทธิในมูลหนี้จำนองที่ได้ชำระไปแล้วตามมาตรา 226 ประกอบมาตรา 229 (3) ก่อน ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246, 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2970/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนสิทธิการเช่าที่ดินปฏิรูปที่ดิน: ผลกระทบต่อสิทธิการเข้าทำประโยชน์และอำนาจฟ้องขับไล่
จำเลยเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงในฐานะผู้ซื้อสิทธิการเช่าจากโจทก์ผู้ได้สิทธิการเช่าจากรัฐจริง ซึ่งการโอนสิทธิการเช่านี้แม้มิได้ทำให้จำเลยมีสิทธิเข้าทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวได้ตามกฎหมาย แต่ข้อห้ามมิให้เกษตรกรที่ได้รับสิทธิการเช่าโอนสิทธิการเช่าไปยังบุคคลอื่นตามระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ว่าด้วยการให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรผู้ได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมปฏิบัติเกี่ยวกับการเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2540 ซึ่งออกตามความในมาตรา 19 (8) แห่งพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 ย่อมมีผลให้โจทก์ซึ่งเป็นเกษตรกรผู้โอนสิทธิการเช่าต้องสิ้นสิทธิการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินที่ได้รับมอบจากสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมทันทีที่เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นขึ้นตามข้อ 11 วรรคสอง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2252/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คนต่างด้าวประกอบธุรกิจค้าที่ดินที่ต้องห้าม ไม่มีอำนาจฟ้องคดีอาญา
โจทก์เป็นนิติบุคคลที่ไม่ได้จดทะเบียนในประเทศไทย จึงเป็นคนต่างด้าวตามความหมายใน พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 มาตรา 4 แม้โจทก์ถือหุ้นไม่ถึงกึ่งหนึ่งตามบัญชีผู้ถือหุ้นของบริษัท พ. แต่เงินทุนในบริษัท พ. ที่แท้จริงเป็นของโจทก์เกินกึ่งหนึ่งของเงินลงทุน ซึ่งไม่เป็นไปตามทุนที่จดทะเบียน ถือว่าบริษัท พ. และโจทก์เป็นผู้ประกอบธุรกิจการค้าที่ดิน ซึ่งเป็นธุรกิจที่ไม่อนุญาตให้คนต่างด้าวประกอบกิจการด้วยเหตุผลพิเศษตามบัญชีหนึ่งท้ายพระราชบัญญัติดังกล่าว โจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยในความผิดต่อ พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 และความผิดตาม ป.อ. มาตรา 353 เพราะข้อหาความผิดดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องจากการประกอบธุรกิจที่ต้องห้ามของโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2077/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องอาญา: ผู้ก่อให้การกระทำผิดไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย
โจทก์มอบเงิน 300,000 บาท ให้แก่จำเลย เพราะจำเลยอ้างว่าจะนำไปให้เจ้าพนักงานตำรวจยศระดับพลตำรวจตรี 2 คน เพื่อช่วยเหลือให้บุตรสาวโจทก์สามารถสอบเข้ารับราชการตำรวจได้ ซึ่งโจทก์ย่อมจะต้องทราบดีว่าบุตรสาวโจทก์จะเข้ารับราชการตำรวจได้ต้องผ่านการสอบคัดเลือก โดยการสอบคัดเลือกเป็นระเบียบแบบแผนของทางราชการ ที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีคุณสมบัติสามารถสมัครสอบได้โดยเสรีและที่สำคัญการจัดการสอบจะต้องยุติธรรมเพื่อที่ทางราชการจะได้คนมีความสามารถ อันจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน หากมีการช่วยเหลือบุคคลใดบุคคลหนึ่งให้สามารถสอบผ่านแสดงว่ามีการกระทำอันเป็นการทุจริต เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายและระเบียบแบบแผนของทางราชการ ถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้ก่อให้จำเลยกระทำความผิด โจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1948/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับโอนที่ดินบังคับคดีโดยวิธีพิเศษและอำนาจฟ้องขับไล่ แม้มีการโอนสิทธิระหว่างดำเนินคดี
โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทซึ่งได้มาโดยการบังคับจำนองขายทอดตลาด แต่ไม่มีผู้ใดสนใจซื้อ โจทก์จึงจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างมาเป็นของโจทก์ ซึ่งการรับโอนดังกล่าวเป็นการจำหน่ายโดยวิธีอื่น ตามมาตรา 76 แห่ง พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 ซึ่งตราขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 218 อันเป็นบทยกเว้นหลักการและเจตนารมณ์ของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ใช้บังคับแก่กรณีปกติทั่วไป การจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทเป็นของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย ไม่ตกเป็นโมฆะ
ขณะโจทก์ยื่นคำฟ้องต่อศาล โจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทจึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยซึ่งอยู่ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทโดยละเมิดสิทธิของโจทก์ แม้ต่อมาโจทก์จะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทให้แก่บุคคลอื่นระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ก็ไม่ทำให้อำนาจฟ้องของโจทก์ที่บริบูรณ์อยู่แล้วต้องเสียไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1860/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีส่งมอบซากสินค้าหลังมีคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการในส่วนค่าสินไหมทดแทน
อนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้โจทก์ชำระค่าสินไหมทดแทนในส่วนของสินค้าที่เสียหายให้แก่จำเลย ยังไม่ได้วินิจฉัยเรื่องซากสินค้าที่เสียหายเพราะไม่มีข้อพิพาท คดีจึงไม่อยู่ในบังคับตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 โจทก์จึงไม่ถูกจำกัดสิทธิที่จะเสนอคดีนี้ต่อศาลตามพระราชบัญญัติดังกล่าว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยให้ส่งมอบซากสินค้าได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1849/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องในคดีเช่าที่ดิน: สมาชิกภาพสหกรณ์และการดำเนินการตามข้อบังคับ
ตามข้อบังคับของสหกรณ์จำเลยระบุว่า สหกรณ์มีวัตถุประสงค์เพื่อให้สมาชิกดำเนินกิจการร่วมกันช่วยเหลือซึ่งกันและกันเกี่ยวกับการจัดให้ได้มาซึ่งที่ดินทำกิน ให้เกิดประโยชน์แก่สมาชิกทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งรวมทั้งวัตถุประสงค์ครอบครองและจัดสรรที่ดินให้แก่สมาชิกใช้เป็นที่อยู่อาศัยประกอบอาชีพเป็นของตนเอง เห็นได้ว่าผู้มีสิทธิเช่าที่ดินจากจำเลยจะต้องเป็นสมาชิกของสหกรณ์จำเลยเท่านั้น ส่วนข้อบังคับที่ระบุว่า การโอนสิทธิและผลประโยชน์สิทธิและผลประโยชน์อย่างหนึ่งอย่างใดของสมาชิกอันมีอยู่เกี่ยวกับที่ดินที่ตนครอบครองจะโอนไปยังผู้ใดมิได้ เว้นแต่จะโอนให้ทายาทหรือโอนโดยทางมรดกนั้น หากสมาชิกของจำเลยผู้เช่าที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัยและประกอบอาชีพจากจำเลยถึงแก่ความตาย สิทธิการเช่าของผู้ตายเป็นมรดกตกทอดให้แก่ทายาทได้ แต่ทั้งนี้ทายาทผู้ตายต้องมีคุณสมบัติเป็นสมาชิกตามข้อบังคับข้อ 46 (1) ถึง (10) ด้วย อีกทั้งต้องผ่านการพิจารณารับสมาชิกจากคณะกรรมการดำเนินการของสหกรณ์จำเลยเสียก่อน ตามข้อบังคับ ข้อ 84 (1) เมื่อ ช. ถึงแก่ความตาย โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นบุตรของ ช. ได้ขอเป็นสมาชิกของจำเลยแล้ว แต่คณะกรรมการดำเนินการของสหกรณ์จำเลยไม่รับโจทก์ทั้งสามเข้าเป็นสมาชิกใหม่ของจำเลย โจทก์ทั้งสามชอบที่จะดำเนินการตามข้อบังคับของสหกรณ์จำเลย ข้อ 47 วรรคท้าย ที่กำหนดว่า ถ้าคณะกรรมการดำเนินการไม่ยอมรับสมัครเข้าเป็นสมาชิกด้วยเหตุใด ๆ ผู้สมัครอาจร้องขอให้คณะกรรมการดำเนินการนำเรื่องเสนอที่ประชุมใหญ่เพื่อวินิจฉัยชี้ขาด มติแห่งที่ประชุมใหญ่ให้รับเข้าเป็นสมาชิกในกรณีดังว่านี้ต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามแห่งจำนวนสมาชิกที่มาประชุม โจทก์ทั้งสามจะต้องร้องขอให้คณะกรรมการดำเนินการนำเรื่องที่ไม่ยอมรับสมัครเข้าเป็นสมาชิกเสนอที่ประชุมใหญ่เพื่อวินิจฉัยชี้ขาดต่อไป แต่โจทก์ทั้งสามมิได้ดำเนินการเช่นว่านั้นเสียก่อน การที่โจทก์ทั้งสามฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ ถือได้ว่าเป็นการดำเนินการข้ามขั้นตอนตามที่ข้อบังคับของจำเลยดังกล่าวระบุไว้ โจทก์ทั้งสามจึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1697/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีทุจริต: การรับเรื่องร้องทุกข์ผ่านพนักงานสอบสวนและการยืนยันความเสียหายของกรมสามัญศึกษา
แม้มาตรา 66 และมาตรา67 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 จะกำหนดให้ผู้เสียหายยื่นคำร้องเป็นหนังสือต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยมีรายละเอียดตามมาตรา 67 (1) ถึง (4) แต่คดีการไต่สวนข้อกล่าวหาความผิดของจำเลยเข้ามาสู่การไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดย พ. ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน แล้วพนักงานสอบสวนส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการ การร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนของ พ. และหนังสือส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ของสถานีตำรวจภูธรเมืองน่าน มีรายละเอียดของข้อกล่าวหาและพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดตามข้อกล่าวหาพร้อมพยานหลักฐานครบถ้วนแล้ว ส่วนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้แจ้งข้อเท็จจริงและพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดของ ท. จำเลย และผู้เกี่ยวข้องให้กรมสามัญศึกษาทราบก็เพื่อให้พิจารณาว่ากรมสามัญศึกษาได้รับความเสียหายจากจำเลยและประสงค์จะกล่าวหาจำเลยและผู้เกี่ยวข้องว่าทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือไม่ เมื่อกรมสามัญศึกษายืนยันว่าได้รับความเสียหายและขอร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. แสดงว่ากรมสามัญศึกษาประสงค์จะกล่าวหาจำเลยและผู้เกี่ยวข้อง แม้หนังสือร้องทุกข์ของกรมสามัญศึกษาดังกล่าวจะระบุเพียงความเสียหายโดยไม่มีรายละเอียดข้อกล่าวหาและพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดตามข้อกล่าวหา แต่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีรายละเอียดข้อกล่าวหาและพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดตามข้อกล่าวหาและพยานหลักฐานชัดเจนเพียงพอที่จะดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงต่อไปได้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นที่กรมสามัญศึกษาจะต้องระบุซ้ำอีก ถือได้ว่ากรมสามัญศึกษายื่นคำร้องเป็นหนังสือต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยมีรายละเอียดต่าง ๆ ครบถ้วนตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 66 และมาตรา 67 ระบุไว้แล้ว คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีอำนาจไต่สวน เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนแล้วมีมติว่าจำเลยมีความผิดทางอาญาและส่งรายงานเอกสารและความเห็นไปยังอัยการสูงสุดเพื่อฟ้องคดีต่อศาลตามมาตรา 97 ย่อมถือได้ว่าเป็นการสอบสวนโดยชอบ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 141/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้สิทธิโดยไม่สุจริตในการฟ้องเรียกเช็คพิพาท ผู้ทรงเช็คต้องสุจริตจึงมีอำนาจฟ้อง
โจทก์รู้ดีอยู่แล้วว่าเช็คพิพาทไม่มีมูลหนี้ แต่กลับรับสมอ้างเป็นเจ้าหนี้เงินกู้ของ ป. และนำเช็คพิพาทจาก ก. ภริยาโจทก์ มาฟ้องจำเลยทั้งสอง การกระทำของโจทก์จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 โจทก์จึงไม่ใช่ผู้ทรงเช็คโดยสุจริต ถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นผู้ทรงเช็คพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 904 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
of 452