คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ที่ดิน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4,546 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5700/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การก่อสร้างกำแพงในที่ดินของตนเพื่อป้องกันกลิ่นจากห้องน้ำของผู้อื่น ไม่เป็นการละเมิด
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การก่อสร้างกำแพงพิพาทเฉพาะส่วนที่ปิดกั้นช่องลมห้องน้ำในอาคารของโจทก์กับปิดกั้นพัดลมระบายอากาศของโจทก์ซึ่งอยู่ถัดไปเป็นการละเมิดต่อโจทก์ และพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนกำแพงพิพาทเฉพาะส่วนดังกล่าว จำเลยอุทธรณ์แต่โจทก์มิได้อุทธรณ์ขอให้รื้อถอนกำแพงพิพาทส่วนที่ศาลชั้นต้นมิได้พิพากษาให้รื้อถอนออกไปด้วย ฎีกาของโจทก์ในส่วนดังกล่าวจึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
ศาลชั้นต้นชี้สองสถานกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า การก่อสร้างต่อเติมอาคารและก่อกำแพงของจำเลยเป็นการขัดขวางรบกวนการใช้ประโยชน์ที่ดินของโจทก์ และเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวกำหนดจากส่วนหนึ่งของคำฟ้องและคำให้การที่คู่ความโต้แย้งกันว่า การที่จำเลยก่อสร้างกำแพงพิพาทเป็นการละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ซึ่งตามคำให้การจำเลยได้อ้างเหตุแห่งการปฏิเสธไว้ด้วยว่า กำแพงพิพาทอยู่ในเขตที่ดินของจำเลย การก่อสร้างกำแพงพิพาทจึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ ดังนั้น คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่วินิจฉัยรับฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงไม่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น
โจทก์ต่อเติมอาคารตึกแถวในที่ว่างทางด้านหลังของที่ดินของโจทก์เป็นห้องน้ำและห้องครัวเข้าไปใกล้อาคารของจำเลยมาก ห้องน้ำและห้องครัวดังกล่าวยังมีช่องหน้าต่างและพัดลมระบายอากาศไปยังบริเวณด้านหลังของอาคารด้วย อากาศเสียจากห้องน้ำและห้องครัวจึงถูกระบายไปทางอาคารของจำเลย การที่จำเลยทำกำแพงพิพาทขึ้นปิดกั้นกลิ่นเหม็นที่ออกมาจากห้องน้ำและห้องส้วมของโจทก์ จึงเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริต ทั้งโจทก์อาจระบายอากาศเสียจากห้องน้ำและห้องครัวของโจทก์ไปทางอื่นที่ไม่ทำให้เจ้าของอาคารใกล้เคียงรวมทั้งจำเลยเดือดร้อนได้ จึงถือไม่ได้ว่าการก่อสร้างกำแพงพิพาทเป็นเหตุให้โจทก์เดือดร้อนรำคาญ ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5643/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิครอบครองที่ดิน - ความเกี่ยวเนื่องคดีอาญา - ละเมิด - การชดใช้ค่าเสียหาย
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างบุคคลอื่นขับรถแทรกเตอร์เข้าไปขุดไถที่ดินของโจทก์แล้วปักเสาล้อมรั้วไว้ โดยทำลายเสาไม้ของโจทก์ที่ปักแสดงแนวเขตเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนเสาที่ปักล้อมรั้ว ห้ามจำเลยเข้าเกี่ยวข้องและชดใช้ค่าเสียหาย เป็นการฟ้องขอให้บังคับตามสิทธิเรียกร้องในทางแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา เมื่อคดีอาญาศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยนำรถแทรกเตอร์เข้าไปขุดร่องน้ำ ปักเสาคอนกรีตและล้อมรั้วในที่ดินพิพาทเพื่อถือการครอบครองและรบกวนการครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์โดยปกติสุข และพิพากษาลงโทษจำเลยฐานบุกรุก คดีถึงที่สุด ก็ย่อมฟังข้อเท็จจริงได้ว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทหรือที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ศาลฎีกาไม่อาจรับฟังข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นได้ ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท การที่จำเลยนำรถแทรกเตอร์เข้าไปขุดไถปักเสาและล้อมรั้วในที่ดินพิพาท ถือได้ว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5139/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้สิทธิเจ้าของทรัพย์สินโดยละเมิดสิทธิของผู้อื่น กรณีการกีดขวางการใช้ประโยชน์ที่ดิน
ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์อยู่ระหว่างที่ดินของโจทก์กับแม่น้ำเจ้าพระยา ผู้ร้องสอดเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินสาธารณะหน้าที่ดินของโจทก์ โดยกั้นรั้วระหว่างที่ดินของโจทก์กับแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นการใช้สิทธิให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์รายอื่นได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินที่ควรคิดหรือคาดหมายได้ว่าจะเป็นไปตามปกติ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1337 การเปิดประตูรั้วและมีทางสาธารณะเล็กๆ ให้โจทก์เดินลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้ย่อมทำให้ความสะดวกในการใช้ที่ดินของโจทก์ลดน้อยลงกว่าปกติ ทั้งยังบดบังทัศนียภาพทำลายสิ่งแวดล้อมหน้าที่ดินของโจทก์ ทำให้โจทก์ต้องเสียหายเป็นกรณีพิเศษเกินกว่าปกติที่ควรได้รับ โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องบุคคลที่ทำให้เกิดความเสียหาย เพื่อให้โจทก์ได้รับความสะดวกในการใช้ทรัพย์ตามปกติ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5138/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยึดทรัพย์เพื่อบังคับคดี: ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าการยึดบ้านพร้อมที่ดินไม่เกินกว่าหนี้ และการกำหนดจำนวนหนี้ที่แน่นอนเป็นเงื่อนไขก่อนวางเงิน
ศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเป็นรายเดือนจนกว่าจำเลยจะส่งมอบอาคารพาณิชย์พร้อมที่ดินตามฟ้องให้แก่โจทก์ เมื่อจำเลยยังไม่ปฏิบัติการชำระหนี้ตามคำพิพากษา หนี้ค่าเสียหายย่อมเพิ่มพูนขึ้นทุกเดือนและยังไม่แน่นอนว่าจะมีจำนวนเท่าใด การบังคับคดีจึงอาจต้องรวมค่าเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตด้วย แม้โจทก์จะนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินของจำเลยและประเมินราคาที่ดินไว้ก็เป็นเพียงการประมาณการเบื้องต้นเท่านั้น ยังมิใช่เป็นราคาที่แน่นอนเพราะการขายทอดตลาดอาจขายได้ราคาสูงกว่าหรือต่ำกว่าราคาประเมินก็ได้ การที่มีบ้านของจำเลยสามหลังปลูกอยู่บนที่ดินที่ยึดไว้ด้วยนั้น ไม่ว่าโจทก์จะนำยึดบ้านทั้งสามหลังด้วยหรือไม่ ท้ายที่สุดเมื่อมีการขายทอดตลาดที่ดินและบุคคลภายนอกเป็นผู้ซื้อที่ดินได้ จำเลยก็จะต้องออกจากบ้านที่ปลูกอยู่บนที่ดินที่ยึดไว้ การที่โจทก์นำยึดบ้านทั้งสามหลังดังกล่าว จึงมิใช่มีเจตนากลั่นแกล้งหรือกดดันจำเลยแต่อย่างใด อีกทั้งบ้านทั้งสามหลังมีราคาเพียงเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับราคาที่ดินที่ยึดไว้ จึงมิใช่กระทำไปโดยมีเจตนามุ่งเพิ่มภาระค่าธรรมเนียมการยึดแก่จำเลย นอกจากนี้หากโจทก์มิได้นำยึดบ้าน กรณีอาจเป็นปัญหาแก่ผู้ซื้อทอดตลาดที่จะต้องดำเนินการให้มีการรื้อถอนขนย้ายบ้านดังกล่าวออกไปในภายหลัง อันมีผลทำให้ไม่มีผู้สนใจซื้อทอดตลาดหรือขายได้ราคาต่ำไป อันจะเป็นผลร้ายแก่จำเลยยิ่งกว่าการขายทอดตลาดที่ดินและบ้านไปในคราวเดียวกันอันเป็นการสะดวกแก่การบังคับคดีขายทอดตลาด และน่าจะเป็นผลให้ขายทอดตลาดได้ในราคาที่ดีกว่า การที่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินและบ้านทั้งสามหลังที่ปลูกอยู่บนที่ดินมาในคราวเดียวกันโดยบ้านทั้งสามหลังมีราคาไม่สูงมาก จึงมีเหตุผลอันสมควร ไม่อาจถือว่าโจทก์ยึดทรัพย์สินเกินกว่าที่พอชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาพร้อมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมในคดีและค่าธรรมเนียมในการบังคับคดี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 284 วรรคหนึ่ง
การที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาจะวางเงินหรือหาประกันมาให้ไว้ต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำสั่งถอนหรืองดการบังคับคดีนั้น ลูกหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องวางเงินหรือหาประกันมาให้เป็นจำนวนเพียงพอชำระหนี้ตามคำพิพากษาพร้อมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมแห่งคดีหรือค่าธรรมเนียมในการบังคับคดีด้วย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 295 (1) คดีนี้ศาลฎีกามีคำพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นรายเดือน นับแต่เดือนตุลาคม 2527 จนกว่าจะส่งมอบอาคารพาณิชย์พร้อมที่ดินตามฟ้องให้แก่โจทก์ ในการคำนวณยอดหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าว จำต้องรู้วันเวลาที่จำเลยส่งมอบอาคารพาณิชย์พร้อมที่ดินตามฟ้องให้แก่โจทก์ จึงจะคิดคำนวณจำนวนค่าเสียหายตามคำพิพากษาศาลฎีกาได้ แต่เมื่อจำเลยยังมิได้ส่งมอบอาคารพาณิชย์พร้อมที่ดินตามคำพิพากษาศาลฎีกาให้แก่โจทก์ จำนวนค่าเสียหายย่อมจะต้องทวีเพิ่มขึ้นทุกเดือนจนกว่าจำเลยจะปฏิบัติตามคำพิพากษาดังกล่าว ทำให้ไม่สามารถคำนวณยอดหนี้ให้เป็นการแน่นอนได้ และเมื่อไม่รู้จำนวนหนี้ที่จำเลยจะต้องรับผิดตามคำพิพากษาก็ย่อมไม่สามารถกำหนดจำนวนเงินที่จะให้จำเลยนำมาวางต่อศาลหรือพิจารณาประกันที่จำเลยจะหามาให้ไว้ต่อศาลว่าเป็นจำนวนเพียงพอชำระหนี้ตามคำพิพากษาพร้อมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมแห่งคดีหรือค่าธรรมเนียมในการบังคับคดีหรือไม่เพื่อที่จะมีคำสั่งให้ถอนการยึดทรัพย์หรืองดการบังคับคดีต่อไปได้ ดังนั้น การที่ศาลล่างทั้งสองปฏิเสธที่จะกำหนดจำนวนเงินที่จำเลยประสงค์จะขอวางต่อศาลเพื่อให้ถอนการยึดทรัพย์หรืองดการบังคับคดี จึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4870/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจำนองที่ดินโดยตัวแทนที่ไม่เปิดเผยชื่อ และสิทธิของบุคคลภายนอกที่ไม่ทราบความสัมพันธ์
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดอ้างว่า ที่ดินพิพาทเป็นของผู้ร้องโดยได้รับการยกให้จากมารดาของผู้ร้อง แต่เนื่องจากสามีของผู้ร้องเป็นคนต่างด้าวจึงใส่ชื่อจำเลยในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของที่ดินพิพาทแทนผู้ร้อง ผู้ร้องไม่ทราบเรื่องที่จำเลยนำที่ดินพิพาทไปจำนองแก่สามีของโจทก์กรณีตามคำร้องขอของผู้ร้องดังกล่าวถึงหากจะเป็นความจริงก็เป็นเรื่องที่ผู้ร้องซึ่งเป็นตัวการไม่เปิดเผยชื่อยอมให้จำเลยผู้เป็นตัวแทนทำการออกหน้าเป็นตัวการว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท เมื่อจำเลยนำที่ดินพิพาทไปจำนองแก่สามีของโจทก์และข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าสามีของโจทก์ได้ทราบเรื่องระหว่างผู้ร้องกับจำเลยดังกล่าว ผู้ร้องจึงหาอาจทำให้เสื่อมเสียแก่สิทธิของสามีของโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่มีต่อจำเลยผู้เป็นตัวแทนและขวนขวายได้สิทธิมาก่อนที่จะรู้ว่าจำเลยเป็นตัวแทนของผู้ร้องได้ไม่ ตามป.พ.พ. มาตรา 806 โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของสามีย่อมมีสิทธิฟ้องบังคับจำนองที่ดินพิพาทได้ ผู้ร้องไม่มีสิทธิขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด
ปัญหาว่า ผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288 หรือไม่ เป็นเรื่องอำนาจฟ้องซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็หยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4622/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิครอบครองที่ดิน: ส.ค.1 ไม่สร้างสิทธิเด็ดขาด จำเลยยึดถือครอบครองมีผลทางกฎหมาย
ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) แต่แบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เป็นหลักฐานที่รับฟังได้แต่เพียงว่าขณะแจ้งการครอบครองผู้แจ้งอ้างว่าที่ดินเป็นของผู้แจ้ง ที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) หาใช่อสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดทะเบียนไว้ในทะเบียนที่ดินตามนัยที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1373 อันจะทำให้โจทก์ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองแต่อย่างใดไม่ จำเลยเป็นฝ่ายยึดถือครอบครองที่ดินพิพาท จำเลยย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 1369 ว่าจำเลยยึดถือที่ดินพิพาทเพื่อตน จึงตกเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่ต้องนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าว
การที่จำเลยนำสืบว่าได้ซื้อที่ดินพิพาทมาจากโจทก์และ ถ. มิใช่เป็นการนำสืบว่าจำเลยแย่งการครอบครอง และแม้ว่าคำให้การของจำเลยจะไม่มีประเด็นนำสืบว่าจำเลยซื้อที่ดินพิพาทมาจากโจทก์และ ถ. เนื่องจากจำเลยมิได้แสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่าจำเลยเข้าครอบครองที่ดินพิพาทได้อย่างไรก็ตาม แต่การที่จำเลยให้การว่าจำเลยเข้าครอบครองที่ดินพิพาทและได้สิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วนั้น เท่ากับเป็นการให้การปฏิเสธว่าโจทก์มิใช่เจ้าของที่ดินพิพาทตามฟ้อง โจทก์จึงต้องนำสืบให้ได้ความตามฟ้อง เมื่อโจทก์นำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 1369 ให้รับฟังไม่ได้ว่าจำเลยมิได้ยึดถือที่ดินพิพาทเพื่อตน จึงต้องฟังว่าจำเลยยึดถือที่ดินพิพาทเพื่อตน และได้ไปซึ่งสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367
ฟ้องแย้งนอกจากจะต้องเป็นคำฟ้องที่มีสภาพแห่งข้อหาว่าโจทก์โต้แย้งสิทธิของจำเลยในส่วนที่เกี่ยวกับฟ้องเดิมอย่างไร รวมทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อเช่นว่านั้นแล้ว ยังต้องมีคำขอบังคับ คือจะให้ศาลบังคับโจทก์ให้กระทำหรืองดเว้นการกระทำอย่างไรในเรื่องที่ถูกโต้แย้งสิทธินั้นด้วยตามนัย แห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง และมาตรา 177 วรรคสาม คดีนี้จำเลยฟ้องแย้งโดยเพียงแต่ขอให้ศาลพิพากษาว่าจำเลยได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาท มิใช่คำขอให้บังคับโจทก์ทั้งเป็นเรื่องที่ศาลวินิจฉัยได้ตามฟ้องเดิมอยู่แล้ว จึงเป็นฟ้องแย้งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้คู่ความมิได้ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4437/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์ การขยายเวลา และสาธารณสมบัติของแผ่นดิน: อำนาจฟ้องคดีเช่าที่ดิน
การอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลเป็นสิทธิของคู่ความแต่ละคนที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาเพื่อประโยชน์แก่คดีของตน การขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์อันเป็นกระบวนพิจารณาอย่างหนึ่งเมื่อได้กระทำโดยคู่ความร่วมคนหนึ่งย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ของคู่ความร่วมคนนั้นไม่มีผลไปถึงคู่ความร่วมคนอื่นที่มิได้ขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ด้วย กรณีมิใช่เรื่องที่จะนำมาตรา 59 (1) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับได้
โจทก์ที่ 1 ลงชื่อในคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์เพียงคนเดียว และศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์แก่โจทก์ที่ 1 จึงเป็นประโยชน์แก่โจทก์ที่ 1 แต่เพียงผู้เดียวที่จะยื่นอุทธรณ์ได้ภายในกำหนดเวลาที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยาย แม้โจทก์ทั้งสองได้แต่งตั้งทนายความคนเดียวกันให้มีอำนาจอุทธรณ์และทนายโจทก์ทั้งสองได้ยื่นอุทธรณ์ภายในระยะเวลายื่นอุทธรณ์ที่ศาลชั้นต้นขยายให้ อุทธรณ์ของโจทก์ที่ 2 ที่มิได้ขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ไว้ ย่อมเป็นอุทธรณ์ที่ยื่นเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์
ส. บิดาโจทก์ทั้งสองได้อุทิศที่ดินพิพาทให้แก่มัสยิดเพื่อใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาอิสลาม ต่อมาได้มีการก่อสร้างมัสยิดลงบนที่ดินดังกล่าวรวมทั้งบางส่วนได้ทำเป็นสุสานฝังศพผู้นับถือศาสนาอิสลาม การอุทิศที่ดินรวมทั้งที่ดินพิพาทเป็นการอุทิศเพื่อประโยชน์แก่ชาวบ้านผู้นับถือศาสนาอิสลามหรืออิสลามนิกชนโดยทั่วไป มิได้จำกัดแต่เพียงเพื่อประโยชน์แก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือคณะบุคคลใดคณะบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ ถือได้ว่าที่ดินดังกล่าวตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทพลเมืองใช้ร่วมกันนับแต่เวลาที่อุทิศแล้ว แม้โจทก์ทั้งสองจะมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินดังกล่าว โจทก์ทั้งสองก็ไม่มีอำนาจนำที่ดินดังกล่าวรวมทั้งที่ดินพิพาทให้จำเลยเช่า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4260/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุด: การเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์และอำนาจการฟ้องขับไล่
เดิมที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของ ท. ต่อมาผู้จัดการมรดกของ ท. ได้ทำสัญญาให้ ธ. เช่าที่ดินมีกำหนด 20 ปี การที่ ธ. ปลูกสร้างตึกแถวลงบนที่ดิน จึงไม่ถือว่าเป็นส่วนควบกับที่ดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 146 โจทก์ซื้อที่ดินมาจากผู้จัดการมรดกของ ท. ระหว่างอายุสัญญาเช่า โจทก์จึงไม่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ตึกแถว แต่เมื่อครบกำหนดสัญญาเช่าที่ดิน ธ. ย่อมหมดสิทธิในที่ดินต้องรื้อถอนตึกแถวออกไป เว้นแต่ ธ. ยินยอมให้ตึกแถวตกเป็นของโจทก์ ตึกแถวย่อมกลายเป็นส่วนควบของที่ดินและตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ตามมาตรา 144 วรรคสอง เมื่อโจทก์ได้รับมอบสิทธิในตึกแถวแล้ว ตึกแถวย่อมกลายเป็นส่วนควบของที่ดินและตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ตามมาตรา 144 วรรคสอง แต่ ธ. ซึ่งเป็นเจ้าของตึกแถวไม่มีอำนาจให้เช่าห้องพิพาทเกินกำหนดระยะเวลาการเช่าที่ดิน เมื่อสัญญาเช่าที่ดินครบกำหนดแล้ว ระยะเวลาการเช่าห้องพิพาทส่วนที่เกินกว่านั้นย่อมไม่ตกมายังโจทก์ตามมาตรา 569 เมื่อโจทก์ไม่ประสงค์ที่จะให้จำเลยอยู่ในห้องพิพาทอีกต่อไป แต่จำเลยไม่ยอมออกไป จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3584/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเวนคืนที่ดิน: การคิดดอกเบี้ยเงินค่าทดแทนที่ล่าช้า และการพิจารณาปัจจัยในการประเมินราคาที่ดิน
พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ มาตรา 21 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "เงินค่าทดแทนที่จะให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตามมาตรา 18 นั้น ถ้ามิได้บัญญัติไว้เป็นพิเศษใน พ.ร.บ.เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฉบับใดโดยเฉพาะแล้วให้กำหนดโดยคำนึงถึง (1) ราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับ พ.ร.ก. ... (4) สภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์นั้น และ (5) เหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืน ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคม" ซึ่งการดำเนินการเพื่อการเวนคืนตาม พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน เพื่อขยายทางหลวงเทศบาล สายรามคำแหง ตอนสะพานข้ามคลองลาดบังขาว - บรรจบถนนสุวินทวงศ์ฯ มิได้มี พ.ร.บ.เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฉบับใดบัญญัติในเรื่องเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำหลักตามบทบัญญัติดังกล่าวเป็นเกณฑ์ในการกำหนดเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ และบริษัทที่ปรึกษาได้พิจารณาถึงที่ตั้งของที่ดิน สภาพถนน และซอยด้านหน้าของที่ดิน ลักษณะกายภาพของที่ดินสาธารณูปโภค การใช้ประโยชน์ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง ราคาที่ซื้อขายกันจริงตามปกติในท้องตลาดในช่วงปี 2539 ดังนั้น การที่บริษัทที่ปรึกษาเห็นว่าควรกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ตารางวาละ 58,500 บาท และคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ เห็นด้วยจึงเป็นอัตราที่เป็นธรรมแก่โจทก์ผู้ถูกเวนคืนและสังคมแล้ว
การเวนคืนที่ดิน ที่ดินทุกแปลงที่อยู่ติดถนนย่อมได้รับประโยชน์จากผลของการเวนคืนแต่มากน้อยต่างกันไปขึ้นอยู่กับสภาพที่ดินที่เป็นอยู่เดิมและจำนวนเนื้อที่ดินส่วนที่เหลือ หรือบางรายอาจไม่ได้รับประโยชน์เลยหากถูกเวนคืนจนเหลือเนื้อที่ที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้หรือใช้ได้อย่างจำกัด ด้วยเหตุนี้จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะให้การกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินสำหรับที่ดินที่ถูกเวนคืนมีอัตราเท่ากันหรือใกล้เคียงกันทุกแปลงแม้จะอยู่บริเวณเดียวกันก็ตาม เนื่องจากต้องพิจารณาถึงข้อเท็จจริงอื่นซึ่งอาจเป็นตัวแปรที่ทำให้ที่ดินแต่ละแปลงมีราคาที่แตกต่างกันประกอบด้วยตามที่กล่าวข้างต้น
การเวนคืนเป็นกรณีโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนกันได้ตามความในมาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ เจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์จึงต้องจ่ายเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนทั้งหมด ซึ่งรวมถึงเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนส่วนที่รังวัดขาดไปจำนวน 2,603,250 บาท ให้แก่โจทก์ภายใน 120 วัน นับแต่วันทำสัญญาซื้อขาย โจทก์ทำสัญญาซื้อขายกับจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2540 ครบกำหนด 120 วัน ตามมาตรา 10 อันเป็นวันที่ต้องมีการจ่ายเงินตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ ให้แก่โจทก์ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2540 เมื่อยังไม่ได้จ่ายเงินค่าทดแทนจำนวนนี้ให้แก่โจทก์ จึงต้องถือว่าเงินค่าทดแทนที่ดินจำนวนนี้เป็นเงินที่จ่ายล่าช้ากว่ากำหนดเวลาตามความในมาตรา 11 วรรคหนึ่ง ซึ่งมาตรา 33 กำหนดให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าอสังหาริมทรัพย์หรือเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่จ่ายล่าช้าดังกล่าว นับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาการจ่ายเงินค่าอสังหาริมทรัพย์หรือเงินค่าทดแทนตามมาตรา 10 กรณีนี้มิใช่กรณีที่รัฐมนตรีหรือศาลกำหนดเงินค่าทดแทนเพิ่มให้แก่โจทก์ตามมาตรา 26 วรรคสาม โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากต้นเงิน 2,603,250 บาท ในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน นับแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2780/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในทรัพย์มรดก: ทายาทมีสิทธิครอบครองที่ดินมรดก แม้ยังไม่ได้แบ่งแยกชัดเจน จำเลยไม่มีสิทธิขับไล่
โจทก์ทั้งสี่และจำเลยเป็นบุตรของเจ้ามรดก ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้จดทะเบียนโอนแบ่งให้แก่ทายาททั้งห้าจึงไม่ใช่ของจำเลย โจทก์ที่ 2 เป็นทายาทคนหนึ่งและมีสิทธิได้รับมรดกที่ดินพิพาท จึงมีส่วนเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาท และมีสิทธิอยู่ในที่ดินพิพาท จำเลยจึงไม่มีสิทธิฟ้องแย้งขอให้ขับไล่โจทก์ที่ 2
of 455