คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ผู้เยาว์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 452 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1610/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสอบปากคำผู้เยาว์ต้องเป็นไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 133 ทวิ หากไม่ปฏิบัติตาม พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้อง
ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 133 ทวิ วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่มีการสอบสวน บัญญัติว่า "ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่สามปีขึ้นไป...การถามปากคำเด็กไว้ในฐานะเป็นผู้เสียหายหรือพยาน ให้แยกกระทำเป็นส่วนสัดในสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับเด็ก และให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ และพนักงานอัยการเข้าร่วมในการถามปากคำนั้นด้วย" และในวรรคสี่บัญญัติว่า "ภายใต้บังคับแห่งมาตรา 139 การถามปากคำเด็กตามวรรคหนึ่ง ให้พนักงานสอบสวนจัดให้มีการบันทึกภาพและเสียงการถามปากคำดังกล่าวซึ่งสามารถนำออกถ่ายทอดได้อย่างต่อเนื่องไว้เป็นพยาน" เมื่อจำเลยถูกกล่าวหาว่าพรากนางสาว จ. ผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อหากำไรหรือเพื่อการอนาจาร โดยผู้เยาว์นั้นเต็มใจไปด้วย ซึ่งเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 319 วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สี่พันบาทถึงสองหมื่นบาท เมื่อปรากฏว่านางสาว จ. มีอายุเพียง 17 ปีเศษ การสอบปากคำนางสาว จ. ไม่ว่าในฐานะผู้เสียหายหรือพยาน จึงต้องปฏิบัติตาม ป.วิ.อ. มาตรา 133 ทวิ วรรคหนึ่งและวรรคสี่ โดยไม่มีข้อยกเว้น และไม่จำต้องได้รับการร้องขอจากนางสาว จ. ทั้งไม่ปรากฏว่ามีกรณีจำเป็นเร่งด่วนอย่างยิ่งซึ่งมีเหตุอันควรไม่อาจรอบุคคลตามวรรคหนึ่งได้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 133 ทวิ วรรคห้าแต่อย่างใด การที่พนักงานสอบสวนสอบปากคำนางสาว จ. โดยไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามบทบัญญัติดังกล่าว แม้จะเป็นการไม่ชอบแต่ก็หามีผลทำให้การสอบสวนเสียไปทั้งหมด และถือเท่ากับไม่มีการสอบสวนในความผิดนั้นมาก่อน อันจะทำให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 939/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าขาดแรงงานในครัวเรือนจากละเมิด: การชดใช้ค่าเสียหายแก่บิดามารดาผู้สูญเสียผู้เยาว์
ค่าขาดแรงงานในครัวเรือน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 445 เป็นกรณีผู้ทำละเมิดต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บุคคลภายนอกในครัวเรือนหรืออุตสาหกรรมของบุคคลภายนอก โจทก์ร่วมทั้งสองเป็นบิดามารดาผู้ตายซึ่งเป็นผู้เยาว์อยู่ภายใต้ปกครองของโจทก์ร่วมทั้งสองตามมาตรา 1566 ซึ่งตามมาตรา 1567 กำหนดให้บิดามารดาผู้ใช้อำนาจปกครองมีสิทธิมอบหมายให้บุตรผู้เยาว์ทำการงานในครัวเรือนตามสมควรแก่ความสามารถและฐานานุรูป เมื่อโจทก์ร่วมทั้งสองมอบหมายให้ผู้ตายช่วยดูแลกิจการหอพักและกิจการฟาร์มเลี้ยงสุกรในเวลาเลิกเรียนและวันหยุด แต่ผู้ตายถูกจำเลยทำละเมิดจนถึงแก่ความตาย ย่อมทำให้โจทก์ร่วมทั้งสองต้องขาดแรงงาน จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าขาดแรงงานในครัวเรือนให้แก่โจทก์ร่วมทั้งสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4087/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปี และพรากผู้เยาว์จากผู้ปกครอง
โจทก์ร่วมที่ 1 ไปที่กระท่อมของจำเลย จำเลยข่มขู่โจทก์ร่วมที่ 1 ไม่ให้ออกจากกระท่อม เพื่อต้องการกระทำชำเราโจทก์ร่วมที่ 1 โดยโจทก์ร่วมที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ปกครองไม่ทราบเรื่องและไม่ยินยอมให้โจทก์ร่วมที่ 1 อยู่ภายในกระท่อมกับจำเลย ทั้งนี้ ไม่ว่าโจทก์ร่วมที่ 1 ซึ่งยังเป็นเด็กอยู่ที่ใด หากบิดา มารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลยังเอาใจใส่เด็กย่อมอยู่ในอำนาจปกครองของบิดา มารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลตลอดเวลา การที่จำเลยไม่ยอมให้โจทก์ร่วมที่ 1 ออกจากกระท่อมของจำเลย เป็นการแยกอำนาจปกครองโจทก์ร่วมที่ 1 ออกจากโจทก์ร่วมที่ 2 แม้เพียงชั่วคราวก็เป็นการพรากผู้เยาว์ เมื่อจำเลยพรากโจทก์ร่วมที่ 1 ไปจากโจทก์ร่วมที่ 2 แล้วกระทำชำเราโจทก์ร่วมที่ 1 การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร
โจทก์ร่วมที่ 1 เดินทางมาที่กระท่อมจำเลยพร้อมเด็กชาย ศ. ทั้งสองครั้ง จำเลยมิได้พาโจทก์ร่วมที่ 1 มาที่กระท่อมที่เกิดเหตุและมิได้พาโจทก์ร่วมที่ 1 ออกจากกระท่อมไปที่ใด จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3285/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข่มขืนกระทำชำเรา ผู้เยาว์ ละเมิด เรียกค่าสินไหมทดแทน ดอกเบี้ยนับแต่วันละเมิด
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าการกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำเลยฐานข่มขืนกระทำชำเราซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนัก ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นความผิดต่างกรรมกัน ให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิตและร่างกายของผู้ถูกข่มขืนใจอีกกระทงหนึ่ง ถือว่าเป็นการแก้ไขเล็กน้อยและเมื่อลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี คดีในความผิดฐานดังกล่าวนี้จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง
เมื่อรับฟังว่าจำเลยกระทำความผิดและเป็นการละเมิดต่อผู้เสียหายโดยผู้เสียหายมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่จำเลยกระทำละเมิด แต่ปรากฏว่าในคำร้องของผู้เสียหายที่ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่ได้ระบุว่าขอคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 นับตั้งแต่เมื่อใด ดังนั้น การคิดดอกเบี้ยจึงต้องเริ่มนับแต่วันที่ผู้เสียหายยื่นคำร้องเป็นต้นไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4057/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดจากอุบัติเหตุทางรถยนต์, ความรับผิดของผู้เยาว์, การทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยผู้ใช้อำนาจปกครอง
เมื่อมีผู้กระทำละเมิดต่อโจทก์ผู้เยาว์ อันมีผลให้โจทก์มีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนนั้น เป็นการที่โจทก์จะได้มาซึ่งทรัพย์สินอย่างหนึ่ง หากมีการประนีประนอมยอมความกัน บิดามารดาซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองจะต้องเป็นผู้ทำนิติกรรมแทนโจทก์ และเมื่อได้รับอนุญาตจากศาลแล้ว ย่อมมีผลผูกพันโจทก์ เพราะเป็นการทำสัญญาประนีประนอมยอมความอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ตามที่บังคับไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1566 และมาตรา 1574 (12) เมื่อได้ความว่า ฉ. ยายของโจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำข้อตกลงเรื่องค่าเสียหายของโจทก์โดยไม่ติดใจที่จะดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 อีก เป็นการระงับข้อพิพาทในมูลละเมิด จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยขณะนั้นโจทก์มีจำเลยร่วมที่ 1 เป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง การที่ ฉ. ซึ่งมิได้เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยที่ 1 ตามลำพัง จึงไม่มีผลผูกพันโจทก์แต่ประการใด สิทธินำคดีมาฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนของโจทก์จึงไม่ระงับไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1497/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลดโทษกรณีความผิดพยายามฆ่าสำหรับผู้เยาว์: ศาลต้องลดมาตราส่วนโทษตามกฎหมาย
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 32, 33, 80, 83, 91, 138, 140, 289, 358 พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ จำเลยให้การรับสารภาพ และศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยเกี่ยวกับความผิดที่จำเลยกระทำในคำพิพากษาไว้ชัดเจนว่า จำเลยร่วมกับพวกกระทำความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้ายโดยมีหรือใช้อาวุธปืนกับร่วมกันพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด นอกจากนี้จำเลยกับพวกยังร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนกับร่วมกันทำให้เสียทรัพย์เป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนอันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดเป็นกระทงแรก จำเลยกับพวกยังร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนกับร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนโดยพลาด เป็นการกระทำกรรมเดียวให้ลงโทษฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนเพียงบทเดียวเป็นกระทงที่สอง และจำเลยกับพวกร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนเป็นกระทงที่สาม ซึ่งศาลชั้นต้นระวางโทษตาม ป.อ. มาตรา 138 วรรคสอง ประกอบมาตรา 140 วรรคสาม, 289 (2) ประกอบมาตรา 80, มาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 80 และมาตรา 358 มาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 80 กับมาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 80 และมาตรา 60 และมาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 80 ตามลำดับความผิดข้างต้น เมื่อจำเลยอายุ 17 ปีเศษ กรณีไม่อาจระวางโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิตจำเลยได้ ตาม ป.อ. มาตรา 18 วรรคสอง ต้องเปลี่ยนระวางโทษเป็นห้าสิบปี ตาม ป.อ. มาตรา 18 วรรคสาม ดังนั้น เมื่อเป็นการพยายามกระทำความผิดต้องระวางโทษกระทงละ 33 ปี 4 เดือน ซึ่งจะต้องลดมาตราส่วนโทษให้แก่จำเลยตามมาตรา 75 กึ่งหนึ่ง และเมื่อลดมาตราส่วนโทษให้แก่จำเลยกึ่งหนึ่ง แล้วคงลงโทษได้กระทงละ 16 ปี 8 เดือน การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยโดยไม่ลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่งแล้วจำคุก 25 ปี จึงเป็นการระวางโทษตามความผิดสำเร็จโดยไม่ได้ระวางโทษฐานพยายาม กรณีถือได้ว่าเป็นการพิพากษาโดยผิดหลง เมื่อจำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นกำหนดโทษเสียใหม่ ชอบที่ศาลชั้นต้นจะแก้ไขคำพิพากษาให้ถูกต้องเพื่อการบังคับคดีตามคำพิพากษาเมื่อจำเลยปฏิบัติผิดเงื่อนไขที่ศาลชั้นต้นรอการลงโทษจำเลยไว้ได้ ทั้งนี้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 143 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 494/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจปกครองขาดตอนเมื่อผู้เยาว์ออกจากบ้านนาน ผู้กระทำไม่ผิดฐานพรากผู้เยาว์
การที่ ป.พ.พ. มาตรา 1566 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า บุตรซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะต้องอยู่ใต้อำนาจปกครองของบิดามารดานั้น เป็นบทบัญญัติในหมวด 2 สิทธิและหน้าที่ของบิดามารดาและบุตร อันเป็นบทบัญญัติที่กำหนดให้บิดามารดาเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ ที่จะมีอำนาจจัดการเกี่ยวกับความเป็นอยู่ของผู้เยาว์ รวมทั้งทรัพย์สินและหนี้สินของผู้เยาว์ เนื่องจากผู้เยาว์เป็นผู้ที่ยังอ่อนในด้านสติปัญญา ความคิด และร่างกาย ขาดความรู้ ความชำนาญ จึงต้องมีผู้ใช้อำนาจปกครองคอยปกครองดูแลจนกว่าผู้เยาว์จะบรรลุนิติภาวะ แต่ความผิดฐานพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อหากำไรหรือเพื่อการอนาจาร โดยผู้เยาว์นั้นเต็มใจไปด้วยตาม ป.อ. มาตรา 319 วรรคแรก นั้น แม้กฎหมายบัญญัติโดยมุ่งที่จะคุ้มครองอำนาจปกครองของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลของผู้เยาว์ เพื่อปกป้องมิให้ผู้ใดมาก่อการรบกวนหรือกระทำการใด ๆ อันเป็นการล่วงละเมิดต่ออำนาจปกครองก็ตาม แต่บทบัญญัติดังกล่าวนอกจากคุ้มครองอำนาจปกครองของบิดามารดาแล้ว ยังคุ้มครองอำนาจปกครองดูแลของผู้ปกครองและผู้ดูแลผู้เยาว์ด้วย เห็นได้ว่าการล่วงละเมิดอำนาจปกครองที่จะเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 319 วรรคแรก มีความหมายแตกต่างจากอำนาจปกครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1566 ประกอบกับการพรากผู้เยาว์เป็นความผิดทางอาญาต้องตีความโดยเคร่งครัด จะขยายความไม่ได้ ดังนี้ การพรากผู้เยาว์ที่จะเป็นความผิดตามมาตรา 319 วรรคแรกได้นั้น ผู้เยาว์ต้องอยู่ในความปกครองดูแลของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลตามสภาพความเป็นจริงว่าผู้เยาว์อยู่ในความดูแลหรือไม่ หากผู้เยาว์ไปจากการดูแลของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเสียแล้ว อำนาจปกครองดูแลของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลย่อมขาดตอนหรือสิ้นสุดลง แต่หากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลยังดูแลเอาใจใส่ผู้เยาว์อยู่ ผู้เยาว์ย่อมอยู่ในอำนาจปกครองดูแลของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลตลอดเวลาโดยไม่ขาดตอนหรือสิ้นสุดลง
คดีนี้ ผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เยาว์หนีออกจากบ้านพักที่อาศัยอยู่ร่วมกับผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาไปก่อนเกิดเหตุเกือบ 1 ปี และพยานหลักฐานโจทก์ไม่มีน้ำหนักรับฟังว่า ผู้เสียหายที่ 1 ยังใส่ใจดูแลผู้เสียหายที่ 2 อยู่ ดังนี้ อำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 1 จึงขาดตอนและสิ้นสุดลง ทำให้ผู้เสียหายที่ 2 ไม่อยู่ในอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 1 การที่จำเลยที่ 1 เป็นธุระจัดหาให้ผู้เสียหายที่ 2 ไปค้าประเวณีให้แก่สายลับ จึงไม่เป็นการล่วงละเมิดอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 1 จำเลยที่ 1 ไม่มีความผิดฐานพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากมารดาเพื่อหากำไรหรือเพื่อการอนาจาร โดยผู้เยาว์นั้นเต็มใจไปด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4903/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การถอนคำร้องทุกข์คดีอาญาของผู้เยาว์ต้องได้รับความยินยอมจากผู้กำกับดูแลทรัพย์สินและศาลเยาวชนฯ
คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 353 และมาตรา 354 ซึ่งมาตรา 356 ได้บัญญัติว่าเป็นความผิดอันยอมความได้ อีกทั้งการถอนคำร้องทุกข์เป็นสิทธิซึ่ง ป.วิ.อ. มาตรา 126 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้สิทธิแก่ผู้ร้องทุกข์ที่จะถอนคำร้องทุกข์เสียเมื่อใดก็ได้ แต่การถอนคำร้องทุกข์อันจะเป็นเหตุให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) นั้นต้องเป็นการถอนคำร้องทุกข์โดยชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นเมื่อสิทธิถอนคำร้องทุกข์ในความผิดฐานยักยอกถือเป็นสิทธิเกี่ยวกับทรัพย์สิน การที่ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดหนองบัวลำภูมีคำสั่งตั้ง น. เป็นผู้ปกครองของผู้เสียหายทั้งสาม และให้ตั้งผู้อำนวยการสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดหนองบัวลำภูเป็นผู้กำกับการปกครองในส่วนที่เกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เสียหายทั้งสาม แต่ น. กลับเข้าทำบันทึกข้อตกลงซึ่งมีข้อความว่า ผู้ปกครองผู้เสียหายทั้งสามถอนคำร้องทุกข์คดีนี้ อันเป็นการทำนิติกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เสียหายทั้งสามซึ่งเป็นผู้เยาว์ โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้อำนวยการสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดหนองบัวลำภูจึงเป็นการไม่ชอบ การแสดงเจตนาตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาถอนคำร้องทุกข์โดยถูกต้องตามกฎหมาย นอกจากนี้การที่ น. ทำบันทึกข้อตกลงดังกล่าวอันมีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความโดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดหนองบัวลำภู จึงเป็นการไม่ชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1574 (12) ถือไม่ได้ว่าเป็นการยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงไม่ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 167/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำชำเราเด็กและพรากผู้เยาว์: การพิจารณาความต่อเนื่องของการกระทำความผิด
จำเลยรับผู้เสียหายที่ 1 มาที่บ้านของจำเลยเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 19 นาฬิกา แล้วกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 แม้เวลา 24 นาฬิกา ผู้เสียหายที่ 1 ออกไปค้างคืนที่บ้านของ น. แต่ก็กลับมาที่บ้านของจำเลยอีกในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 6 นาฬิกา แล้วจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 อีก อันเป็นการกระทำโดยมีเจตนาเพื่อการอนาจารเช่นเดิม จนเวลา 13 นาฬิกา จำเลยจึงพาผู้เสียหายที่ 1 ไปส่งที่บ้านของ ส. โดยตั้งแต่จำเลยรับผู้เสียหายที่ 1 มาจนพากลับไปส่งดังกล่าว ผู้เสียหายที่ 1 ยังไม่ได้กลับบ้านไปหาผู้เสียหายที่ 2 การที่จำเลยชักชวนผู้เสียหายที่ 1 กลับมาที่บ้านของจำเลยในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2562 จึงไม่เป็นการพรากผู้เสียหายที่ 1 ไปเสียจากการดูแลของผู้เสียหายที่ 2 อีกเป็นครั้งที่สอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2425/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานพรากเด็กและผู้เยาว์เพื่อหากำไรและการค้าประเวณี วินิจฉัยความรับผิดของจำเลยที่ชักชวนและแนะนำ
จำเลยที่ 1 ชักชวนและแนะนำผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งยังเป็นเด็กและผู้เยาว์ไปขายบริการทางเพศโดยผู้เสียหายที่ 1 สมัครใจและเดินทางไปขายบริการทางเพศด้วยตนเองให้แก่บุคคลที่จำเลยที่ 1 แนะนำ จากนั้นก็แบ่งเงินให้จำเลยที่ 1 บ้าง พฤติการณ์ดังกล่าวเป็นการกระทำที่กระทบกระเทือนต่อการใช้อำนาจปกครองดูแลของผู้เสียหายที่ 2 ที่มีต่อผู้เสียหายที่ 1 แล้ว ไม่ว่าผู้เสียหายที่ 1 จะอยู่ที่ใดและจะยินยอมหรือไม่ เมื่อเป็นการเสื่อมเสียต่อสวัสดิภาพหรือประโยชน์สุขของผู้เสียหายที่ 1 จำเลยที่ 1 ย่อมมีความผิดฐานพรากเด็กและพรากผู้เยาว์ไปเพื่อหากำไรและเพื่อการอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม และมาตรา 319 วรรคหนึ่ง
of 46