คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
หลอกลวง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 493 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11001/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การชักชวนเข้าสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ ต้องมีเจตนาให้เป็นสมาชิกจริง และอาจเข้าข่ายหลอกลวงหากไม่มีเจตนาช่วยเหลือ
การที่จะถือว่าเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.การฌาปนกิจสงเคราะห์ พ.ศ.2545 มาตรา 33 และมาตรา 34 ได้นั้น ผู้กระทำจะต้องชักชวน ชี้ช่อง หรือจัดการผู้อื่นโดยเจตนาให้ผู้อื่นนั้นเข้าเป็นสมาชิกในสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ หากเป็นการชักชวน ชี้ช่อง หรือจัดการให้ผู้อื่นเข้าเป็นสมาชิกสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ที่ยังไม่ได้จดทะเบียนก็เป็นความผิดตามมาตรา 33 แต่หากเป็นการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งดังกล่าวเพื่อให้ผู้อื่นเข้าเป็นสมาชิกสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ที่จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.การฌาปนกิจสงเคราะห์ฯ ผู้กระทำต้องชักชวน ชี้ช่อง หรือจัดการโดยได้รับประโยชน์ตอบแทนเป็นเงินหรือทรัพย์สินอื่นด้วยจึงจะเป็นความผิดตามมาตรา 34 ส่วนความผิดตามมาตรา 61 เป็นบทกำหนดโทษสำหรับผู้ดำเนินกิจการฌาปนกิจสงเคราะห์โดยมิได้จดทะเบียน เพื่อควบคุมการดำเนินกิจการฌาปนกิจสงเคราะห์ซึ่งเป็นกิจการสาธารณประโยชน์ให้เป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมาย
โจทก์บรรยายฟ้องในข้อ 1 (ข) ว่า จำเลยทั้งแปดโดยทุจริตร่วมกันหลอกลวงประชาชนด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ พูดชักชวน ชี้ช่อง จัดการให้ประชาชนเข้าเป็นสมาชิกในชมรมดังกล่าว และประกาศทางใบปลิวว่า ได้ก่อตั้งชมรมโดยจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย มีวัตถุประสงค์นำเงินไปช่วยเหลือค่าจัดการศพสมาชิกที่ตาย หากประชาชนผู้ใดประสงค์จะสมัครเป็นสมาชิกจะต้องเสียเงินค่าสมัครคนละ 290 บาท ค่าจัดการศพให้แก่สมาชิกที่ตายทุกเดือน เดือนละ 480 บาท ผ่านทางจำเลยทั้งแปดกับพวก และหากสมาชิกตายเมื่อครบกำหนด 3 เดือน ได้รับเงิน 30,000 บาท หากครบ 6 เดือน ได้รับเงิน 50,000 บาท โดยจะไม่โกงหรือเลิกกิจการ แต่ความจริงจำเลยทั้งแปดกับพวกมิได้จดทะเบียนเป็นสมาชิกสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์หรือขึ้นทะเบียนการฌาปนกิจสงเคราะห์ตามกฎหมาย และไม่มีเจตนานำเงินที่ได้รับจากสมาชิกไปช่วยเหลือจัดการศพสมาชิกที่ตาย และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นทำให้ประชาชนหลงเชื่อสมัครเข้าเป็นสมาชิกและจ่ายเงินค่าสมัครและเงินค่าจัดการศพสมาชิกที่ตายให้แก่จำเลยทั้งแปดกับพวกไป ฟ้องของโจทก์เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงอยู่ในตัวว่า จำเลยทั้งแปดไม่มีเจตนาชักชวนผู้เสียหายเข้าเป็นสมาชิกกิจการฌาปนกิจสงเคราะห์เพราะไม่มีเจตนาที่จะนำเงินที่ได้รับจากสมาชิกไปช่วยเหลือจัดการศพสมาชิกอื่นที่ถึงแก่ความตาย และมิได้มีเจตนาดำเนินกิจการฌาปนกิจสงเคราะห์ตามบทนิยามของกฎหมายแต่อย่างใด คงมีแต่เจตนาหลอกลวงเพื่อจะได้รับเงินจากผู้เสียหายเท่านั้น การกระทำตามฟ้องจึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.การฌาปนกิจสงเคราะห์ พ.ศ.2545 มาตรา 33 มาตรา 34 และมาตรา 61 แม้จำเลยที่ 1 จะให้การรับสารภาพในความผิดฐานดำเนินกิจการฌาปนกิจสงเคราะห์โดยมิได้จดทะเบียนและมิได้ยกขึ้นอ้างชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาก็ตาม แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วย มาตรา 225 และเป็นเหตุในลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่มิได้ฎีกาด้วยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบด้วย มาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5046/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ: การลงข้อความเท็จในบัญชีและการปลอมแปลงเอกสารเพื่อหลอกลวงนักลงทุน
ตามฟ้องข้อ (ข) เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องว่า จำเลยลงข้อความเท็จในบัญชีและทำบัญชีไม่ถูกต้องกรณีบริษัท ส. ซื้อที่ดินจาก ป. ในราคา 580,500,000 บาท จำเลยได้สั่งจ่ายเช็คถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของบริษัท ส. จำนวน127,500,000 บาท โดยจำเลยบันทึกในบัญชีของบริษัทว่าได้ชำระเป็นค่าซื้อที่ดินให้แก่ ป. แล้ว อันเป็นความเท็จ ความจริงไม่มีการนำเงินจำนวนดังกล่าวไปชำระค่าซื้อที่ดินโดยโจทก์บรรยายฟ้องให้รายละเอียดชัดแจ้งถึงเส้นทางของเงินจำนวนดังกล่าวว่าได้โอนไปเข้าบัญชีของผู้ใด จำนวนกี่บัญชี บัญชีละเท่าใด และมีการโอนเงินจำนวนดังกล่าวออกจากบัญชีที่รับไว้ไปชำระหนี้ให้แก่ผู้ใดหรือนำเข้าบัญชีของใคร จำนวนเท่าใด และเมื่อไร จึงเป็นการบรรยายฟ้องถึงการกระทำทั้งหลายของจำเลยที่อ้างว่าได้กระทำความผิดให้เข้าใจได้ว่าจำเลยลงข้อความเท็จหรือทำบัญชีไม่ถูกต้องอย่างไร ส่วนการบันทึกบัญชีอันเป็นเท็จจะหมายถึงบัญชีใด อยู่ในเอกสารใด รายละเอียดของข้อความที่ลงไว้อย่างไร แม้ไม่ได้บรรยายไว้ก็ไม่ทำให้ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะเป็นรายละเอียดที่โจทก์นำสืบได้ในชั้นพิจารณา คำฟ้องโจทก์ในข้อ (ข) จึงไม่เคลือบคลุม ส่วนคำฟ้องข้อ (ค) และ (ง) เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยลงข้อความเท็จในบัญชีและทำบัญชีไม่ถูกต้องกรณีบริษัท ป. และบริษัท ฟ. ทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดในโครงการจัดสรรของบริษัท ส. โดยโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทำปลอมสัญญาจะซื้อจะขายว่าทั้งสองบริษัทดังกล่าวเป็นคู่สัญญาผู้จะซื้อกับบริษัท ส. ผู้จะขาย และตกแต่งลงข้อความเท็จในบัญชีว่าผู้จะซื้อดังกล่าวได้ผ่อนชำระค่างวดในโครงการดังกล่าวและยังค้างชำระค่างวดแก่บริษัท ส. ซึ่งความจริงบริษัท ป. ไม่เคยเป็นหนี้สินและไม่เคยทำสัญญาจะซื้อห้องชุดในโครงการดังกล่าวกับบริษัท ส. ส่วนบริษัท ฟ. ไม่มีเจตนาแท้จริงจะซื้อห้องชุดกับบริษัท ส. เพราะบริษัทดังกล่าวไม่ได้ประกอบธุรกิจและไม่มีรายได้ที่จะชำระค่างวด ทั้งนี้เพื่อลวงนักลงทุนและผู้ถือหุ้น ประชาชนและคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ให้เข้าใจว่า บริษัท ส. ประสบความสำเร็จในโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ จึงเป็นการบรรยายฟ้องที่ชัดแจ้งแล้วว่า จำเลยลงข้อความเท็จในบัญชีอย่างไร ส่วนข้อความเท็จในบัญชีมีว่าอย่างไร อยู่ส่วนไหนของบัญชีเป็นรายละเอียดที่โจทก์นำสืบได้ในชั้นพิจารณา สำหรับคำฟ้องที่บรรยายว่าจำเลยปลอมสัญญาจะซื้อจะขายหรือปลอมบัญชีเอกสารก็เพียงมีความมุ่งหมายให้เข้าใจว่าเป็นส่วนหนึ่งของการลงข้อความเท็จในบัญชีอันเป็นองค์ประกอบความผิดเท่านั้น หาใช่เป็นคำฟ้องที่ขัดแย้งกันแต่อย่างใด ฟ้องโจทก์ข้อ (ค) (ง) จึงไม่เคลือบคลุม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 359/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตและหลอกลวงเพื่อเรียกเงิน แม้ศาลล่างไม่ปรับบทมาตรา 157 ศาลฎีกามีอำนาจปรับบทได้
จำเลยทั้งสองตรวจรับงานโครงการก่อสร้างฝายน้ำล้นคอนกรีตเสริมเหล็กบ้านหนองบัวเงิน และมีการวางฎีกาเบิกจ่ายเงินให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด น. แล้วก่อนที่จำเลยทั้งสองจะเรียกเงินจากผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงมิใช่เป็นการเรียกทรัพย์สินสำหรับตนเองเพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ตาม ป.อ. มาตรา 149 แต่การที่จำเลยทั้งสองตรวจรับงานโครงการก่อสร้างฝายน้ำล้นคอนกรีตเสริมเหล็กบ้านหนองบัวเงินเรียบร้อยแล้วกลับมาหลอกลวงผู้เสียหายว่ายังไม่ได้ตรวจรับงานดังกล่าวเพื่อเรียกเงินจากผู้เสียหาย ย่อมเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157
ฟ้องโจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตาม ป.อ. มาตรา 157 มาด้วย และศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 แต่ไม่ปรับบทมาตราดังกล่าวโดยเห็นว่าเมื่อเป็นความผิดซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้วก็ไม่เป็นความผิดบททั่วไปอีก เป็นการไม่ถูกต้อง เพราะเมื่อศาลล่างทั้งสองฟังว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 149 อันเป็นบทเฉพาะแล้ว ที่ถูกต้องระบุว่าไม่จำต้องปรับบทตามมาตรา 157 อันเป็นบททั่วไปอีก ดังนั้น ในกรณีเช่นนี้ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจปรับบทให้ถูกต้องและลงโทษจำเลยทั้งสองตามมาตรา 157 ได้ แม้โจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกา เนื่องจากเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ทั้งมิใช่เป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยทั้งสองโดยที่โจทก์มิได้ฎีกาในทำนองนั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2728/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีหลอกลวงเอาทรัพย์ การพิสูจน์องค์ประกอบความผิดทางอาญาที่ต้องแสดงให้เห็นการได้ทรัพย์สินไปจากผู้ถูกหลอกลวง
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 อ้างว่าเป็นตัวแทนของบริษัท ด. ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดิน 3 แปลง ทำสัญญานายหน้ากับโจทก์กับพวกเพื่อให้โจทก์กับพวกทำหน้าที่ชี้ช่องติดต่อหาผู้ซื้อที่ดินดังกล่าว ต่อมาโจทก์กับพวกติดต่อจำเลยที่ 2 ว่าจะซื้อที่ดิน แต่ยังไม่มีการนัดจดทะเบียนโอน จำเลยทั้งสองร่วมกันไม่แจ้งให้โจทก์ทราบถึงการจดทะเบียนโอนที่ดินทั้ง 3 แปลง และจำเลยที่ 2 ให้บริษัท จ. ซึ่งมี ธ. เป็นตัวแทนเป็นผู้ซื้อที่ดิน โจทก์กับพวกมีสิทธิได้รับค่านายหน้าตามสัญญาเป็นเงิน 5,560,000บาท แต่จ่ายค่านายหน้าให้โจทก์เพียง 250,000 บาท การให้บริษัท จ. โดย ธ. เป็นผู้ซื้อที่ดินทั้งสามแปลง เพื่อให้ตนได้รับค่านายหน้าทั้งหมดหรือบางส่วน อันเป็นการแสดงตนเป็นคนอื่น และการติดต่อทำสัญญากับโจทก์และพวกให้มีการซื้อขายที่ดินของจำเลยทั้งสอง ก็เป็นการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการร่วมกันหลอกลวงโจทก์ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ ปกปิดข้อความจริงอันควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงได้ไปซึ่งเงินค่านายหน้าของโจทก์ ดังนี้ หากจะฟังว่าจำเลยทั้งสองหลอกลวงโจทก์ตามฟ้องจริง การหลอกลวงเช่นนั้นก็มิได้ทำให้จำเลยทั้งสองได้เงินไปจากโจทก์ซึ่งอ้างว่าถูกหลอกลวงแต่อย่างใด เงินที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองได้ไปนั้นเป็นเพียงเงินค่านายหน้าซึ่งโจทก์ถือว่าตนมีสิทธิจะได้ และจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้เท่านั้น เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องว่ากล่าวกันในทางแพ่ง ทั้งข้อเท็จจริงตามฟ้องไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองแสดงตนเป็นบุคคลอื่นหรือฉ้อโกงประชาชนแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามฟ้องโจทก์และไม่มีมูลเป็นความผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6478/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การหลอกลวงจัดหางานต่างประเทศ แม้ผู้ถูกหลอกลวงทราบว่าไม่มีใบอนุญาต ก็ยังเป็นผู้เสียหายและมีสิทธิเข้าร่วมเป็นโจทก์ได้
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางานในต่างประเทศได้และโดยการหลอกลวงดังว่านั้น ได้ไปซึ่งเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ถูกหลอกลวง แม้โจทก์ร่วมจะรู้ว่าจำเลยทั้งสองไม่มีใบอนุญาตจัดหางานก็ไม่มีผลที่จะทำให้โจทก์ร่วมไม่เป็นผู้เสียหายในความผิดตาม พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 91 ตรี
จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันหลอกลวงโจทก์ร่วมว่าสามารถหางานในต่างประเทศได้และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งเงินจำนวน 400,000 บาท จากโจทก์ร่วมแล้ว โจทก์ร่วมจึงเป็นบุคคลผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยทั้งสองอันเป็นผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) แม้หลังเกิดเหตุจำเลยที่ 1 จะชดใช้เงินคืนให้แก่โจทก์ร่วมจำนวน 60,000 บาท ก็ไม่มีผลทำให้โจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เสียหายจากการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองแล้วไม่เป็นผู้เสียหายอีกต่อไป โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5612/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีฉ้อโกง: ผู้ถูกหลอกลวงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยหรือไม่
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341, 83 โดยโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันหลอกลวงผู้เสียหาย ให้ผู้เสียหายนำเงินมาร่วมลงทุนกับจำเลยที่ 1 และพวกเล่นการพนันเพื่อเอาเงินจากจำเลยที่ 2 ซึ่งมีเงินเป็นจำนวนมาก ผู้เสียหายถูกหลอกนำเงิน 3,000,000 บาท มาร่วมลงทุนเล่นการพนันโดยจำเลยทั้งสองกับพวกมิได้มีเจตนาที่จะเล่นการพนันเอาทรัพย์สินกัน แต่การพนันเป็นเพียงแผนการที่จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันสร้างขึ้นมาเพื่อหลอกเอาเงินของผู้เสียหายให้แนบเนียน ทั้งผู้เสียหายก็ไม่มีเจตนาที่จะร่วมเล่นการพนันกับพวกจำเลยทั้งสองมาตั้งแต่ต้น การที่ผู้เสียหายมอบเงินให้แก่จำเลยทั้งสองกับพวกเพื่อเล่นการพนันดังกล่าวเป็นการตกหลุมพรางที่วางไว้ ถือไม่ได้ว่าผู้เสียหายเข้าร่วมเล่นการพนันกับพวกจำเลยทั้งสอง ทั้งถือไม่ได้ว่าผู้เสียหายมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดฐานฉ้อโกง จึงถือไม่ได้ว่าผู้เสียหายร่วมเล่นการพนันกับจำเลยทั้งสองโดยไม่ได้รับอนุญาต อันจะเป็นการร่วมกับจำเลยทั้งสองกระทำผิด ผู้เสียหายจึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยมีอำนาจร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงและพนักงานอัยการโจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12544/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฉ้อโกงโดยอ้างโครงการจัดซื้อที่ไม่เป็นความจริง ผู้เสียหายมีสิทธิร้องทุกข์ได้
จังหวัดอุทัยธานีไม่เคยมีโครงการจัดซื้อรถจักรยานยนต์ เพื่อมอบแก่เจ้าพนักงานตำรวจสายตรวจ และไม่มีข้อเท็จจริงเกิดขึ้นตามที่กลุ่มคนร้ายโทรศัพท์มาหลอกลวงโจทก์ร่วม ทั้งการที่โจทก์ร่วมมอบเงินแก่คนร้ายไปนั้น ก็หาได้ประสงค์เพื่อนำไปให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน แต่มอบเงินแก่คนร้ายก็ด้วยเหตุที่โจทก์ร่วมหลงเชื่อการหลอกลวงของกลุ่มคนร้ายด้วยข้อความอันเป็นเท็จ จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ร่วมได้ร่วมกับกลุ่มคนร้ายนำสินบนไปให้เจ้าพนักงานเพื่อจูงใจให้กระทำการโดยมิชอบด้วยหน้าที่ เมื่อโจทก์ร่วมมอบเงินแก่คนร้ายไป โจทก์ร่วมย่อมได้รับความเสียหายจากการกระทำของกลุ่มคนร้ายโดยตรงและเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11319/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ พนักงานสินเชื่อร่วมกับผู้อื่นใช้เอกสารราชการปลอมหลอกลวงธนาคาร คดีนี้ศาลฎีกาพิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิด
ทางนำสืบของโจทก์นอกจากคดีนี้แล้ว จำเลยยังถูกดำเนินคดีในข้อหาลักษณะเดียวกันกับในคดีนี้อีกหลายคดี ซึ่งลักษณะ วิธี หรือรูปแบบเฉพาะในการกระทำความผิดของจำเลยมีลักษณะเช่นเดียวกับคดีนี้ คือการที่มีผู้นำรถยนต์มาขอสินเชื่อ จำเลยทำการประเมินขอสินเชื่อจากผู้เสียหายแล้วมีการปลอมใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ ซึ่งสามารถนำมาฟังประกอบพยานหลักฐานของโจทก์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/2 วรรคหนึ่ง (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9632/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หลอกลวงหางานต่างประเทศเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จัดหางานฯ แม้ได้ค่าจ้างน้อยกว่าที่กล่าวอ้างก็ตาม
การหลอกลวงว่าสามารถหางานในต่างประเทศได้ตาม พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2528 มาตรา 91 ตรี ย่อมรวมถึงการหลอกลวงในเรื่องตำแหน่งหน้าที่การงานหรือค่าจ้าง ค่าตอบแทนในการทำงานด้วย หากจำเลยที่ 1 มีเจตนาหลอกลวงผู้เสียหายทั้งสองว่าสามารถหางานในไต้หวันโดยได้รับค่าจ้างสูง และโดยการหลอกลวงนั้นได้ไปซึ่งเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้เสียหายทั้งสองก็เป็นความผิดสำเร็จตามบทบัญญัตินี้แล้ว แม้ภายหลังผู้เสียหายทั้งสองจะได้เดินทางไปทำงานที่ไต้หวันแต่เมื่อได้รับค่าจ้างน้อยกว่าที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้าง จำเลยที่ 1 ก็ไม่พ้นความรับผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7238/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจตนาหลอกลวงหางานต่างประเทศสำเร็จความผิดแม้ยังไม่ได้รับเงินครบ หรือส่งคนไปทำงานจริง
ความผิดตาม พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 91 ตรี เมื่อผู้กระทำมีเจตนาหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางานในต่างประเทศได้และโดยการหลอกลวงนั้นได้ไปซึ่งเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ถูกหลอกลวงก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว โดยไม่จำต้องได้เงินจากผู้ถูกหลอกลวงจนครบตามจำนวนที่หลอกลวงและไม่จำต้องมีการส่งคนหางานไปทำงานยังต่างประเทศ
ตามฟ้องโจทก์บรรยายว่าจำเลยหลอกลวงผู้เสียหายที่ 3 และที่ 4 ในวันเดียวกัน ดังนั้น การกระทำของจำเลยจึงมีเจตนาหลอกลวงผู้เสียหายที่ 3 และที่ 4 พร้อมกันในคราวเดียวกัน แม้ไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายที่ 3 และที่ 4 แต่ละคนจะมอบเงินให้แก่จำเลยคนละคราวกันหรือไม่ ก็เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายบทเดียวไม่ใช่เป็นการกระทำความผิดหลายกรรม
of 50