คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ที่ดิน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4,546 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4954/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การวินิจฉัยประเด็นนอกคำคู่ความและข้อเท็จจริงที่ไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน
เมื่อจำเลยมิได้ยื่นคำให้การต่อสู้คดีในประเด็นเรื่องการปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินพิพาทโดยสุจริต และศาลชั้นต้นก็มิได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวไว้ ทั้งการปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 1312 วรรคหนึ่ง จะต้องได้ความว่าเจ้าของโรงเรือนปลูกสร้างโรงเรือนในที่ดินของตนเองแต่มีบางส่วนของโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่น ส่วนที่รุกล้ำต้องเป็นส่วนน้อยและส่วนที่อยู่ในที่ดินของตนนั้นต้องเป็นส่วนใหญ่ มิฉะนั้นจะเรียกว่าสร้างโรงเรือนรุกล้ำมิได้ ซึ่งข้อเท็จจริงคดีนี้เป็นเรื่องที่จำเลยเข้าไปปลูกสร้างโรงเรือนต่าง ๆ ในที่ดินโฉนดเลขที่ 4478 โดยอาศัยสิทธิของ บ. ทั้งหมด และไม่มีโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างอยู่ในที่ดินของจำเลยเลย กรณีจึงไม่อาจปรับด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1312 ได้ ดังนั้นการวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ที่หยิบยกประเด็นเรื่องความสุจริตตามบทมาตราดังกล่าวขึ้นวินิจฉัย จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น และไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา เพราะมิใช่ปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4713/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีตามสัญญาประนีประนอมยอมความ: ศาลสั่งเพิกถอนการให้ที่ดินและโอนกรรมสิทธิ์คืนได้
กรณีที่คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลกำหนดให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษากระทำนิติกรรมอย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งอาจถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 357 วรรคหนึ่ง นั้น เมื่อปรากฏว่าการบังคับคดีดังกล่าวจะสำเร็จบริบูรณ์ต่อเมื่อเจ้าพนักงานที่ดินซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ได้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงรายการในโฉนดที่ดิน โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาย่อมมีสิทธิขอให้ศาลสั่งให้ดำเนินการจดทะเบียนให้ได้ ศาลจึงชอบที่จะมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินเพิกถอนรายการจดทะเบียนการให้ระหว่างโจทก์กับจำเลยและให้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าวคืนแก่โจทก์ โดยเจ้าพนักงานที่ดินมีหน้าที่ดำเนินการจดทะเบียนไปตามคำสั่งศาลตามมาตรา 357 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 42/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจตนาแบ่งสินสมรส: หนังสือแบ่งทรัพย์สินครอบคลุมที่ดินทั้งแปลง แม้ไม่ได้ระบุรายละเอียด
ตามหนังสือแบ่งทรัพย์สินมีข้อความว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 10653 และบ้านเลขที่ 335 ให้ตกเป็นของโจทก์ ส่วนบ้านเลขที่ 426/2 ตกเป็นของจำเลย โดยไม่ได้กล่าวถึงที่ดินเนื้อที่ 1 งาน ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2226 ซึ่งเป็นสินสมรสและเป็นที่ตั้งของบ้านเลขที่ 426/2 ด้วย แต่เมื่อโจทก์และจำเลยมีบ้าน 2 หลัง เป็นสินสมรสเป็นที่อยู่อาศัย และจำเลยเป็นผู้เลี้ยงดูบุตรหลังจากจดทะเบียนหย่า ประกอบกับข้อความท้ายหนังสือแบ่งทรัพย์สินระบุว่าทั้งสองฝ่ายจะไม่มีการเรียกร้องสิทธิใด ๆ หลังจากนี้ไม่ว่าจะกรณีใด เชื่อว่าโจทก์และจำเลยทำหนังสือแบ่งทรัพย์สินโดยมีเจตนาเพื่อแบ่งทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันหรือสินสมรสให้แล้วเสร็จไปทั้งหมด โดยให้โจทก์และจำเลยต่างเป็นเจ้าของบ้านคนละหลังรวมถึงการเป็นเจ้าของที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งของบ้านเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยอย่างสมบูรณ์มั่นคงต่อไปในอนาคตด้วย ทั้งที่ดินเนื้อที่ 1 งาน ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2226 มีชื่อ จ. เป็นเจ้าของโดยยังไม่มีการแบ่งแยกเอกสารสิทธิ ทำให้มีเหตุผลน่าเชื่อว่าโจทก์และจำเลยไม่อาจระบุถึงรายละเอียดของที่ดินเนื้อที่ 1 งาน ซึ่งเป็นที่ตั้งของบ้านเลขที่ 426/2 ในหนังสือแบ่งทรัพย์สินได้ ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 171 บัญญัติว่า ในการตีความการแสดงเจตนานั้น ให้เพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษร จึงไม่น่าเชื่อว่า ในการทำหนังสือแบ่งทรัพย์สินโจทก์และจำเลยจะมีเจตนาให้คงเหลือที่ดินเนื้อที่ 1 งาน ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2226 ไว้โดยมิได้ตกลงแบ่งกันให้แล้วเสร็จไปในคราวเดียวโดยไม่มีเหตุผล เชื่อว่าโจทก์และจำเลยตกลงยกบ้านเลขที่ 426/2 รวมถึงที่ดินเนื้อที่ 1 งาน ซึ่งเป็นที่ตั้งของบ้านให้แก่จำเลยตามหนังสือแบ่งทรัพย์สินแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3438/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท: การกระทำต่อเนื่องเพื่อทำสัญญาขายฝากที่ดิน
โจทก์แยกฟ้องการกระทำผิดของจำเลยทั้งสามข้อโดยคำฟ้อง 1.1 และข้อ 1.2 โจทก์ระบุวันเวลากระทำผิดอย่างเดียวกันคือระหว่างวันนี้ 1 มกราคม 2559 ถึงวันที่ 1 มีนาคม 2559 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน วันเวลาใดไม่ปรากฏชัดกับบรรยายการกระทำของจำเลยทั้งสามตามข้อ 1.1 ว่า ร่วมกันเอาไปเสียซึ่งเอกสารโฉนดที่ดินของผู้เสียหาย และข้อ 1.2 ว่า ภายหลังเกิดเหตุข้อ 1.1 ร่วมกันปลอม ทำปลอมหนังสือมอบอำนาจ (ท.ค. 21) ขึ้นทั้งฉบับ จากนั้นบรรยายการกระทำตามฟ้องข้อ 1.3 ว่า วันที่ 1 มีนาคม 2559 เวลากลางวัน ภายหลังเกิดเหตุข้อ 1.2 ร่วมกันใช้หนังสือมอบอำนาจปลอมตามฟ้องข้อ 1.2 อ้างแสดงตนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ดังนี้ การกระทำของจำเลยทั้งสามตามฟ้องโจทก์แต่ละข้อล้วนเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องกันโดยจำเลยทั้งสามมีเจตนาอย่างเดียวคือเพื่อจะทำสัญญาขายฝากที่ดินของผู้เสียหายกับ ท. ให้ได้ การกระทำได้ของจำเลยทั้งสามจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3402/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องแบ่งมรดก-ทรัพย์สินที่ยังไม่ได้แบ่ง-การครอบครองทรัพย์มรดก
ป.พ.พ. มาตรา 1754 การฟ้องคดีพิพาทเกี่ยวด้วยทรัพย์มรดกระหว่างทายาทด้วยกัน มีอายุความ 1 ปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย หรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก แต่ต้องไม่เกิน 10 ปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย เว้นแต่กรณีตามมาตรา 1748 วรรคหนึ่ง ที่ทายาทคนใดครอบครองทรัพย์มรดกซึ่งยังมิได้แบ่งกัน ทายาทคนนั้นมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกนั้นได้ แม้ว่าจะล่วงพ้นกำหนดอายุความตามมาตรา 1754 แล้วก็ดี สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 2508 ซึ่งเป็นที่ดินพิพาทแปลงที่ 1 คดีถึงที่สุดโดยศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่งระหว่างทายาท คำวินิจฉัยดังกล่าวย่อมผูกพันโจทก์ที่ 4 และจำเลยซึ่งเป็นคู่ความในคดีดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ข้อเท็จจริงต้องรับฟังว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 2508 เป็นทรัพย์มรดกของ ผ. ที่ยังมิได้แบ่งปันระหว่างทายาท โจทก์ที่ 4 ซึ่งเป็นทายาทผู้ครอบครองทรัพย์มรดกซึ่งยังมิได้แบ่งปัน ย่อมมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกนั้นได้แม้จะเกิน 10 ปี นับแต่ ผ. เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ทั้งมีผลถึงโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 ซึ่งเป็นคู่ความร่วม โจทก์ทั้งห้าจึงสามารถฟ้องแบ่งทรัพย์มรดกจากจำเลยซึ่งเป็นทายาทได้ แม้จะเกิน 10 ปี นับแต่ ผ. เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย คดีโจทก์ทั้งห้าสำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 2508 จึงไม่ขาดอายุความ
ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 245037 ซึ่งเป็นที่ดินพิพาทแปลงที่ 2 เป็นที่ดินที่แบ่งแยกออกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ 6278 ไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งห้าซึ่งเป็นทายาทได้ครอบครองที่ดินพิพาทแปลงดังกล่าวด้วย ซึ่งจะทำให้โจทก์ทั้งห้าสามารถฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกได้ โดยไม่ต้องอยู่ภายใต้บังคับอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 การที่โจทก์ทั้งห้าซึ่งเป็นทายาทของ ผ. ฟ้องแบ่งทรัพย์มรดกที่ดินแปลงดังกล่าวจากจำเลยซึ่งเป็นทายาทด้วยกัน จึงต้องดำเนินคดีภายใน 1 ปี หรือ 10 ปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย เมื่อ ผ. เจ้ามรดกถึงแก่ความตายในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2531 โจทก์ทั้งห้าฟ้องคดีนี้วันที่ 3 พฤษภาคม 2562 ซึ่งเกินกว่า 10 ปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย คดีโจทก์ทั้งห้าสำหรับการฟ้องขอแบ่งมรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 245037 จึงขาดอายุความ ทั้งกรณีไม่จำต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งห้าว่า มีการแบ่งปันทรัพย์มรดกของ ผ. แล้วหรือไม่ เนื่องจากไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป
การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ทั้งห้ามีสิทธิในทรัพย์มรดกของ ผ. 2 ใน 3 ส่วน ซึ่งเกินกว่าที่โจทก์ทั้งห้าขอมาเพียงกึ่งหนึ่งนั้นเป็นการพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอหรือไม่ แม้ประเด็นดังกล่าวศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยังมิได้วินิจฉัย แต่เมื่อคดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว จึงเห็นควรวินิจฉัยไปเลยทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยอีก เห็นว่า คดีนี้โจทก์ทั้งห้าฟ้องขอแบ่งมรดกจากจำเลย แม้จะอ้างว่าทรัพย์มรดกมีเพียงครึ่งหนึ่ง แต่ทางพิจารณาได้ความว่า ทรัพย์มรดกมีจำนวน 2 ใน 3 ส่วน การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าทรัพย์มรดกมี 2 ใน 3 ส่วน แล้วแบ่งให้แก่โจทก์ทั้งห้าซึ่งเป็นทายาทตามสิทธิที่มีอยู่นั้น จึงหาเกินคำขอไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2911/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ที่ดินสาธารณประโยชน์: สิทธิครอบครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และผลกระทบต่อการฟ้องร้อง
แม้ ผ. จะมีชื่อเป็นผู้รับโอนสิทธิครอบครองที่พิพาทร่วมกับ ม. ตามคำพิพากษาตามยอมในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 613/2531 ของศาลชั้นต้น เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2531 แต่ต้องถือว่าเป็นการครอบครองทำประโยชน์ในฐานะเจ้าของรวม และ ผ. ใช้สิทธิแห่งการเป็นเจ้าของรวมในที่พิพาทเป็นโจทก์ที่ 3 ฟ้องจังหวัดสงขลาเป็นจำเลยต่อศาลชั้นต้น และต่อสู้คดีจนถึงศาลฎีกา จึงเป็นกรณีเจ้าของรวมคนหนึ่งใช้สิทธิจัดการทรัพย์สินอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อรักษาทรัพย์สินโดยเข้าต่อสู้กับบุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1358 และมาตรา 1359 อันเป็นการฟ้องคดีแทน ม. ซึ่งเป็นเจ้าของรวมอีกคนหนึ่งตามบทกฎหมายดังกล่าว จังหวัดสงขลาให้การและนำสืบต่อสู้ว่า ข. นายอำเภอเมืองสงขลาในขณะนั้นได้ประกาศให้ที่พิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์สำหรับประชาชนใช้เลี้ยงสัตว์เมื่อปี 2476 ต่อมาเมื่อปี 2518 มีพระราชกฤษฎีกาเพิกถอนสภาพกลับกลายเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าอยู่ในความครอบครองดูแลของอธิบดีกรมที่ดิน โดยผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลามีอำนาจควบคุมดูแล และที่สุดศาลฎีกามีคำพิพากษาที่ 3512-3518/2536 วินิจฉัยว่า ที่พิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันมาตั้งแต่ปี 2476 ผลแห่งคำพิพากษาศาลฎีกาย่อมต้องผูกพัน ม. ซึ่งเป็นเจ้าของรวมดุจกัน โจทก์ทั้งสิบเจ็ดเป็นผู้รับโอนสิทธิครอบครองที่ดินอันเป็นส่วนหนึ่งของที่พิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) เลขที่ 26 ในคดีดังกล่าวจาก ม. จึงต้องถูกผูกพันตามข้อเท็จจริงที่ได้ความเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง กรณีจึงต้องฟังข้อเท็จจริงว่า ที่พิพาทอยู่ในเขตที่ดินสาธารณประโยชน์ซึ่งประกาศเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2476 ให้เป็นที่หวงห้ามสำหรับประชาชนใช้เลี้ยงสัตว์ อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (2) ต่อมาแม้มีพระราชกฤษฎีกาเมื่อปี 2518 ให้เพิกถอนสภาพแต่ที่พิพาทก็ยังคงเป็นของรัฐอยู่โดยอธิบดีกรมที่ดินมีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาและดำเนินการคุ้มครองป้องกันได้ตามควรแก่กรณีตาม ป.ที่ดิน มาตรา 8 การออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) เลขที่ 26 ของที่พิพาทแก่ ม. จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องเพราะเป็นที่สาธารณประโยชน์ของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกัน โจทก์ทั้งสิบเจ็ดผู้รับโอนสิทธิจาก ม. จึงไม่ใช่เจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่พิพาทโดยชอบด้วยกฎหมาย ตามหลักกฎหมายทั่วไปที่ว่า ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน โจทก์ทั้งสิบเจ็ดไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสิบ และปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยถึงจำเลยที่ 3 ที่ 6 และที่ 7 ที่มิได้ฎีกา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ มาตรา 252
of 455