คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ค่าธรรมเนียม

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 515 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3099/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยึดทรัพย์เกินความจำเป็นในการบังคับคดี ถือเป็นความผิดโจทก์ ศาลมีอำนาจเพิกถอนการยึดและสั่งให้โจทก์ชำระค่าธรรมเนียม
คดีนี้ จำเลยยื่นคำร้อง 2 ฉบับ คือคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ฉบับหนึ่ง และคำร้องขอให้เพิกถอนการยึดทรัพย์อีกฉบับหนึ่ง เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ และคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด (ที่ถูก คำร้องขอให้เพิกถอนการยึดทรัพย์) จำเลยอุทธรณ์คำสั่งคำร้องทั้งสองฉบับดังกล่าวมาในอุทธรณ์ฉบับเดียวกัน เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้น โดยขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่ซึ่งจะทำให้คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่บังคับให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์เป็นอันเพิกถอนไป ผลเท่ากับเป็นการอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นอยู่ในตัว จำเลยจึงต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 เมื่อจำเลยมิได้วางเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์ จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบ ก็ชอบที่ศาลอุทธรณ์จะยกอุทธรณ์ของจำเลยในส่วนคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่นี้เท่านั้น การที่ศาลอุทธรณ์ยกอุทธรณ์ของจำเลยในส่วนคำร้องขอให้เพิกถอนการยึดทรัพย์มาด้วยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
จำเลยเป็นหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์เพียง 35,384.36 บาท ซึ่งเมื่อนำมาเทียบกับราคาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่โจทก์นำยึดซึ่งมีราคาประเมินของเจ้าพนักงานบังคับคดีสูงถึง 6,386,400 บาท นับว่ามีราคาต่างกันมากไม่เหมาะสมกัน โจทก์น่าจะนำยึดทรัพย์สินภายในบ้านอันมีราคาใกล้เคียงกับจำนวนหนี้ของจำเลยจะเป็นการเหมาะสมกว่า การที่โจทก์นำยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอันเป็นที่อยู่อาศัยของจำเลยโดยปรากฏจากข้ออ้างของโจทก์เพียงประการเดียวว่า จำเป็นต้องยึดเพราะระยะเวลาในการบังคับคดีใกล้จะสิ้นสุดลงแล้ว โดยไม่เคยร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเข้าไปตรวจสอบทรัพย์สินภายในบ้านของจำเลยว่า จำเลยมีทรัพย์สินอื่นที่ไม่ใช่ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่มีราคาใกล้เคียงกับจำนวนหนี้ตามคำพิพากษาหรือไม่ นอกจากจะเป็นข้ออ้างที่ปราศจากเหตุผลแล้ว ยังเป็นการไม่เป็นธรรมแก่จำเลยอีกด้วย จึงเห็นได้ว่าโจทก์นำยึดทรัพย์สินของจำเลยเกินกว่าที่จำเป็นแก่การบังคับคดี อันต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 284 วรรคหนึ่ง กรณีจึงมีเหตุตามกฎหมายที่ศาลจะสั่งเพิกถอนการยึดทรัพย์นั้นได้ และถือว่าเป็นความผิดของโจทก์ โจทก์จึงมีหน้าที่ที่จะต้องชำระค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีกรณีที่ยึดทรัพย์สินซึ่งไม่ใช่ตัวเงินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่ายตามมาตรา 284 วรรคสอง โดยให้คิดค่าธรรมเนียมในอัตราร้อยละ 3 ครึ่งของราคาทรัพย์สินที่ยึดแต่ไม่เกินจำนวนหนี้ที่จะต้องรับผิดในการบังคับคดีของจำเลยตามตาราง 5 ข้อ 3 ท้าย ป.วิ.พ. (เดิม)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16132/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยึดทรัพย์สินที่ตกเป็นของแผ่นดินแล้ว ผู้ยึดต้องรับผิดชอบค่าธรรมเนียม แม้ศาลจะเพิกถอนการขายทอดตลาด
โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาทเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2552 แต่ได้ความว่าที่ดินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดินแล้วตั้งแต่วันที่ 23 เมษายน 2549 ตามคำสั่งศาลแพ่งซึ่งโจทก์เองก็ทราบดี เพราะเข้าเป็นคู่ความในคดีนั้นด้วยในฐานะผู้คัดค้าน แม้คดีดังกล่าวจะยังไม่ถึงที่สุด แต่ตราบใดที่ยังไม่มีคำสั่งหรือคำพิพากษาศาลสูงเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น คำสั่งนั้นย่อมมีผลอยู่ การที่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์สินที่มิใช่ของลูกหนี้ตามคำพิพากษาย่อมเป็นการไม่ชอบ ทั้งทรัพย์สินของแผ่นดินย่อมไม่อาจยึดเพื่อการบังคับคดีไม่ว่าด้วยเหตุใดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1307 เมื่อต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาด โจทก์ก็มิได้โต้แย้งคัดค้านจนคำสั่งดังกล่าวถึงที่สุด โจทก์จึงเป็นผู้ดำเนินกระบวนพิจารณาในส่วนที่นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดพิพาทมาแล้วไม่มีการขาย ต้องเป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียมยึดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 149 วรรคหนึ่ง ประกอบตาราง 5 ข้อ 3 ท้าย ป.วิ.พ. บทบัญญัติในมาตรา 161 วรรคหนึ่ง ให้ศาลใช้ดุลพินิจกำหนดให้คู่ความฝ่ายใดเสียค่าฤชาธรรมเนียมได้ โดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการดำเนินคดี จึงสมควรให้โจทก์ชำระค่าธรรมเนียมให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีกรณียึดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขาย
ส่วนที่โจทก์อ้างว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาดมิได้เพิกถอนการยึด โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าธรรมเนียมถอนการยึดตามคำสั่งเจ้าพนักงานบังคับคดี เห็นว่า เมื่อโจทก์เป็นผู้นำยึดทรัพย์สินและเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดตามขั้นตอนแล้ว แต่ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดนั้นย่อมเท่ากับทรัพย์สินที่โจทก์นำยึดมาไม่มีการขาย ความรับผิดของผู้ดำเนินกระบวนพิจารณาในส่วนนี้ที่จะต้องชำระค่าธรรมเนียมจึงเกิดขึ้นแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7593/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความสัญญากู้ยืมเงินและค่าธรรมเนียมบัตรเอทีเอ็ม: ศาลฎีกาวินิจฉัยอายุความและขอบเขตความรับผิดของลูกหนี้ ผู้ค้ำประกันและทายาท
สัญญากู้กรุงไทยธนวัฏแม้จะมีข้อตกลงให้โจทก์มีสิทธิหักชำระหนี้จากเงินเดือนที่นายจ้างของจำเลยที่ 1 โอนเข้าบัญชีและเรียกค่าธรรมเนียมบัตรกรุงไทยเอทีเอ็มจากจำเลยที่ 1 เป็นรายปี ก็ไม่มีผลทำให้เงินที่จำเลยที่ 1 เบิกถอนจากบัญชีของจำเลยที่ 1 กลายเป็นเงินที่โจทก์ได้ออกทดรองจ่ายได้ ส่วนบัตรกรุงไทยเอทีเอ็มที่โจทก์ออกให้แก่จำเลยที่ 1 นั้น ก็เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกในการเบิกถอนเงินหรือรับเงินกู้ของจำเลยที่ 1 จากเครื่องถอนเงินอัตโนมัติของโจทก์หรือของธนาคารอื่นที่มีข้อตกลงกับโจทก์ หากจำเลยที่ 1 มีเงินฝากอยู่ในบัญชีเพียงพอกับจำนวนที่เบิกถอนก็เป็นการเบิกถอนเงินฝาก แต่หากจำเลยที่ 1 มีเงินฝากอยู่ในบัญชีไม่เพียงพอกับจำนวนที่เบิกถอน เงินที่เบิกถอนเกินจากเงินฝากก็เป็นเงินกู้ที่ตกลงไว้กับโจทก์ตามสัญญากู้ การที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินที่จำเลยที่ 1 กู้ไปจึงมิใช่เป็นกรณีที่โจทก์เรียกเอาค่าที่ได้ออกเงินทดรองไปก่อนแต่อย่างใด สิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้รับผิดตามสัญญากู้ดังกล่าวมิได้มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ.มาตรา 193/30 แต่ในส่วนค่าธรรมเนียมการใช้บัตรเอทีเอ็มปีละ 100 บาท ถือว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบธุรกิจในการรับทำงานต่าง ๆ เรียกเอาสินจ้างอันพึงได้รับในการนั้น ซึ่งมีอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (7)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1885/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในคดีอาญา: ข้อจำกัดการเรียกค่าดอกเบี้ยและข้อยกเว้นค่าธรรมเนียม
พนักงานอัยการมีคำขอให้จำเลยคืนเงินจำนวน 43,150 บาท แก่ผู้เสียหาย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 แล้ว ผู้เสียหายซึ่งเป็นโจทก์ร่วมจะยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้คืนเงินจำนวน 43,150 บาท แก่โจทก์ร่วมอีกไม่ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคสาม
ดอกเบี้ยของเงินจำนวน 43,150 บาท ไม่ใช่ทรัพย์สินหรือราคาที่ผู้เสียหายสูญเสียไปเนื่องจากการกระทำผิด แต่เป็นค่าเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย เพราะฉะนั้นพนักงานอัยการจะมีคำขอเรียกค่าดอกเบี้ยแทนโจทก์ร่วมไม่ได้ โจทก์ร่วมจึงยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในส่วนดอกเบี้ยของต้นเงินจำนวน 43,150 บาท ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคหนึ่ง ได้ ซึ่งตามมาตรา 253 วรรคหนึ่ง มิให้เรียกค่าธรรมเนียมจากโจทก์ร่วม เว้นแต่ในกรณีที่ศาลเห็นว่าผู้เสียหายเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนสูงเกินสมควร หรือดำเนินคดีโดยไม่สุจริต ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้เสียหายชำระธรรมเนียมศาลทั้งหมดหรือบางส่วนได้ ดังนี้ โจทก์ร่วมจึงไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมสำหรับการขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในส่วนดอกเบี้ยดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17432/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าธรรมเนียมคืนเงินกู้ก่อนกำหนดไม่ใช่ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม หากมีข้อตกลงชัดเจนและสอดคล้องกับกฎหมาย
การจะพิจารณาว่าข้อตกลงในสัญญาหรือในสัญญาสำเร็จรูปเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ต้องพิจารณาว่าเป็นผลให้ผู้ประกอบธุรกิจการค้า หรือวิชาชีพ หรือผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูป หรือผู้ซื้อฝากนั้นได้เปรียบผู้บริโภคหรือคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควรตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 หรือไม่ ซึ่งในมาตรา 4 วรรคสาม ได้กำหนดตัวอย่างของข้อตกลงที่มีลักษณะหรือมีผลให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติ เป็นข้อตกลงที่อาจถือได้ว่าทำให้ได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง เช่น ข้อตกลงให้ต้องรับผิดหรือรับภาระมากกว่าที่กฎหมายกำหนด ส่วน ป.พ.พ. มาตรา 203 วรรคสอง ที่ให้สิทธิแก่ลูกหนี้ในการชำระหนี้ก่อนกำหนดเวลาที่ตกลงกันไว้ได้ เป็นเพียงบทสันนิษฐานในกรณีเป็นที่สงสัยเท่านั้น แต่ถ้ามีการตกลงหรือมีพฤติการณ์อย่างชัดแจ้งว่าลูกหนี้จะชำระหนี้ทั้งหมดก่อนครบกำหนดตามเวลาที่ตกลงกันไม่ได้ ลูกหนี้จะชำระหนี้ก่อนครบกำหนดเวลาตามที่ตกลงกันโดยเจ้าหนี้ไม่ยินยอมหาได้ไม่ ดังนั้นเมื่อโจทก์และจำเลยมีข้อตกลงอย่างชัดแจ้งตามสัญญากู้เงินว่าในกรณีที่ผู้กู้ชำระคืนเงินกู้ก่อนกำหนดทั้งจำนวนภายใน 5 ปี นับแต่วันที่เบิกใช้เงินกู้ครั้งแรก ผู้กู้ตกลงชำระค่าธรรมเนียมคืนเงินกู้ก่อนกำหนด (Prepayment Fee) ในอัตราร้อยละ 2 ของวงเงินกู้ โจทก์จึงชำระหนี้เงินกู้ทั้งจำนวนคืนแก่จำเลยก่อนกำหนดโดยที่จำเลยไม่ยินยอมหาได้ไม่ เมื่อโจทก์ต้องการคืนเงินกู้ทั้งจำนวนแก่จำเลยก่อนกำหนดภายใน 5 ปี นับแต่วันที่โจทก์เบิกใช้เงินกู้ครั้งแรก โจทก์จึงต้องชำระค่าธรรมเนียมคืนเงินกู้ก่อนกำหนดแก่จำเลยตามสัญญากู้ โดยจำเลยมีสิทธิเรียกเก็บค่าบริการได้ตาม พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 ข้อ 14 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2522 อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะทำสัญญากู้เงินและธนาคารแห่งประเทศไทยได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บค่าธรรมเนียมและค่าปรับกรณีไม่ชำระหนี้ตามกำหนดเวลา จำเลยจึงมีสิทธิที่จะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการอื่น ๆ นอกเหนือจากดอกเบี้ยจากโจทก์ได้ การที่จำเลยกำหนดเงื่อนไขให้โจทก์ต้องเสียค่าธรรมเนียมคืนเงินกู้ก่อนกำหนด จึงไม่เป็นข้อสัญญาที่ทำให้โจทก์ต้องรับผิดหรือรับภาระมากกว่าที่กฎหมายกำหนด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11400/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อุทธรณ์คำสั่งหลังมีคำพิพากษา ต้องวางเงินค่าธรรมเนียมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 หากมีผลกระทบต่อคำพิพากษา
ป.วิ.พ. มาตรา 229 บัญญัติว่า "การอุทธรณ์นั้นให้ทำเป็นหนังสือยื่นต่อศาลชั้นต้นซึ่งมีคำพิพากษาหรือคำสั่งภายในกำหนดหนึ่งเดือน นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น และผู้อุทธรณ์ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษา หรือคำสั่งมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์นั้น..." บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวมิได้จำกัดเฉพาะการอุทธรณ์คำพิพากษาที่วินิจฉัยชี้ขาดคดีประการเดียว แต่ยังหมายความรวมถึงการอุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณาภายหลังที่ศาลได้พิพากษาโดยวินิจฉัยชี้ขาดคดีด้วย เพราะการที่โจทก์อุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษากลับคำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นและให้สืบพยานต่อไปนั้น เท่ากับให้ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและสืบพยานต่อไป ทำให้มีผลกระทบโดยตรงต่อคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์จึงต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์ตามบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อโจทก์ไม่นำเงินค่าธรรมเนียมมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์ จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9822/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนดอกเบี้ยหลังฟ้องคดีอาญา ศาลวินิจฉัยสิทธิการเรียกร้องและค่าธรรมเนียม
คดีนี้พนักงานอัยการมีคำขอให้จำเลยคืนเงินจำนวน 42,500 บาท แก่ผู้เสียหาย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 แล้ว ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนโดยให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์แทนเป็นเงินจำนวน 42,500 บาท อีกไม่ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคสาม การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับคำร้องของโจทก์ร่วมในส่วนนี้จึงเป็นการไม่ชอบ กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยว่าโจทก์ร่วมต้องเสียค่าธรรมเนียมในเงินจำนวน 42,500 บาท หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ดอกเบี้ยของเงินจำนวน 42,500 บาท ไม่ใช่ทรัพย์สินหรือราคาที่ผู้เสียหายสูญเสียไปเนื่องจากการกระทำความผิด แต่เป็นค่าเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย เพราะฉะนั้นพนักงานอัยการจึงฟ้องเรียกค่าดอกเบี้ยไม่ได้ แต่โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนโดยขอดอกเบี้ยของต้นเงินจำนวน 42,500 บาท ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคหนึ่ง ได้ ซึ่งตามมาตรา 253 วรรคหนึ่ง มิให้เรียกค่าธรรมเนียมจากโจทก์ร่วมเว้นแต่ในกรณีศาลเห็นว่าผู้เสียหายเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนสูงเกินสมควร หรือดำเนินคดีไม่สุจริต ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้เสียหายชำระค่าธรรมเนียมทั้งหมดหรือบางส่วนได้ ดังนี้ โจทก์ร่วมจึงมิต้องเสียค่าธรรมเนียมสำหรับการขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 42,500 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 806/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขคำให้การ, อํานาจฟ้อง, การดำเนินคดีอย่างคนอนาถา, และผลกระทบต่อค่าธรรมเนียมศาล
คำสั่งของศาลชั้นต้นที่เพิกถอนคำสั่งเดิมที่อนุญาตให้จำเลยแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การ มีผลเท่ากับเป็นคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การ ถือว่าเป็นคำสั่งไม่รับคำคู่ความซึ่งมิได้ทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 228 (3) จำเลยย่อมมีสิทธิอุทธรณ์ในเมื่อศาลพิพากษาแล้วได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 228 วรรคท้าย แต่การอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวอาจมีผลให้คำพิพากษาของศาลชั้นต้นต้องเป็นอันถูกยกไป จึงอยู่ในบังคับที่ผู้อุทธรณ์จะต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษามาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์นั้นด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 ปรากฏว่าในวันที่จำเลยยื่นอุทธรณ์คำสั่ง จำเลยยังได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษามาพร้อมกับยื่นคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์ และศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์ในเวลาต่อมา อันมีผลทำให้จำเลยไม่ต้องวางเงินค่าธรรมเนียมศาลในการอุทธรณ์คำพิพากษา ซึ่งรวมถึงเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาที่จำเลยจะต้องนำมาวางศาลในการยื่นฟ้องอุทธรณ์ด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 157 ประกอบมาตรา 229 การที่จำเลยยื่นอุทธรณ์คำสั่งต่างหากจากอุทธรณ์คำพิพากษา โดยยอมชำระค่าธรรมเนียมศาลในการยื่นอุทธรณ์ไม่อาจแปลว่าจำเลยประสงค์ขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาเฉพาะในการยื่นฟ้องอุทธรณ์คำพิพากษาอย่างเดียว อันจะมีผลให้จำเลยต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษามาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์คำสั่ง
ข้อความที่จำเลยขอแก้ไขตามคำร้องของจำเลยข้อแรกที่ว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากจำเลยไม่เคยมีนิติสัมพันธ์ใดๆ และไม่เคยกู้เงินและรับเงินใดๆ จากโจทก์ที่ฟ้องในคดีนี้ เป็นเรื่องที่จำเลยทราบดีอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนที่จำเลยจะทำคำให้การต่อสู้คดี จึงนับว่าไม่มีเหตุอันควรที่จะอนุญาตให้จำเลยแก้ไข ทั้งมิใช่การขอแก้ไขในเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน กรณีไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นที่จำเลยจะขอแก้ไขภายหลังวันสืบพยานไปแล้วตาม ป.วิ.พ. มาตรา 180 ได้
ส่วนข้อความที่จำเลยขอเพิ่มเติมต่อมาที่ว่าโจทก์จดทะเบียนใหม่โดยยังไม่มีประกาศลงโฆษณาในราชกิจจานุเบกษา ทำให้กรรมการโจทก์ไม่มีอำนาจกระทำนิติกรรม มีผลให้หนังสือมอบอำนาจและหนังสือมอบอำนาจช่วงสิ้นผลไป ผู้รับมอบอำนาจช่วงจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ถือได้ว่าเป็นการขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การเกี่ยวกับอำนาจฟ้องและเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ชอบที่ศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้จำเลยแก้ไขเพิ่มเติมข้อความในส่วนนี้ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 180 แต่เมื่อศาลชั้นต้นได้สืบพยานของคู่ความทั้งสองฝ่ายเสร็จสิ้นแล้วโดยคู่ความต่างก็ได้นำสืบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ดังกล่าวจนสิ้นกระแสความแล้ว และศาลชั้นต้นได้หยิบยกขึ้นวินิจฉัยอยู่ในประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ ซึ่งจำเลยก็ยกขึ้นอ้างเป็นข้ออุทธรณ์ฎีกาคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองไว้แล้ว แม้ศาลชั้นต้นจะได้มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งเดิมที่อนุญาตให้จำเลยแก้ไขคำให้การแล้วมีคำสั่งใหม่เป็นยกคำร้องในส่วนนี้ จึงมิได้ทำให้จำเลยเสียหาย คดีย่อมไม่มีเหตุอันสมควรที่จะต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2757/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อุทธรณ์ที่ไม่ชอบเนื่องจากไม่วางค่าธรรมเนียม – ผลกระทบต่อคำพิพากษาเดิม
อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่ขอให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 แก้ไขและเพิ่มเติมคำให้การ และไม่อนุญาตให้ส่งสำนวนไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น หากศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นและให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปแล้ว ย่อมมีผลกระทบโดยตรงต่อคำพิพากษาศาลชั้นต้นกล่าวคือคำพิพากษาศาลชั้นต้นต้องถูกยกเลิกเพิกถอนไปในตัว จึงเท่ากับเป็นการอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นนั่นเอง ในการอุทธรณ์จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์ตามคำพิพากษามาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบ และชอบที่ศาลอุทธรณ์จะมีคำสั่งยกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เสีย คำสั่งศาลอุทธรณ์ที่ให้ยกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2476/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตยื่นคำให้การ และผลกระทบต่อการวางเงินค่าธรรมเนียมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229
หลังจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยฉบับลงวันที่ 30 กรกฎาคม 2551 ต่อมาวันที่ 4 สิงหาคม 2551 ซึ่งยังอยู่ในกำหนดระยะเวลายื่นอุทธรณ์ตามที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยาย จำเลยได้ยื่นอุทธรณ์ฉบับใหม่เข้ามา โดยนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษามาวางศาลพร้อมอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 ด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฉบับนี้เป็นการอุทธรณ์โต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การ มิใช่อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ปฏิเสธไม่ยอมรับอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 236 จำเลยจึงไม่ต้องนำค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงมาวางศาลและนำเงินมาชำระตามคำพิพากษาหรือหาประกันให้ไว้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 234 ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัย ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยมาจึงไม่ถูกต้อง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 242 (1)
of 52