คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ทรัพย์มรดก

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 490 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7111/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีเพิกถอนพินัยกรรมเป็นคดีมีทุนทรัพย์ หากเป็นการฟ้องเรียกทรัพย์มรดกกลับคืน
การที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนพินัยกรรมโดยอ้างว่าพินัยกรรมปลอม เป็นการฟ้องเรียกให้ทรัพย์ตามที่ระบุไว้ในพินัยกรรมกลับคืนมาเป็นทรัพย์มรดกเพื่อประโยชน์แก่โจทก์ผู้เป็นทายาท จึงเป็นคดีที่มีคำขอปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ เป็นคดีมีทุนทรัพย์ตามราคาทรัพย์ที่ระบุไว้ในพินัยกรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5487/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโต้แย้งสิทธิในทรัพย์มรดก, การครอบครองปรปักษ์, และเจตนาที่ไม่สุจริตของผู้รับโอน
ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 423/2537 ของศาลชั้นต้น มีโจทก์ 3 คน คือ โจทก์ในคดีนี้ ห. และ ส. ฟ้องจำเลยในฐานะเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของ พ. โดยขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ในโฉนดที่ดินพิพาทที่จำเลยได้ยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์จนศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยมีกรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ในที่ดินพิพาท ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องในฐานะผู้จัดการเรียกเอาทรัพย์มรดกจากจำเลยเพื่อมาแบ่งปันแก่ทายาท แต่มีการบรรยายความเป็นมาว่าจำเลยกระทำการโดยไม่สุจริตอย่างไรเพื่อตัดสิทธิจำเลยมิให้รับมรดกด้วย สถานะของโจทก์ในคดีทั้งสองจึงแตกต่างกัน และประเด็นแห่งคดีทั้งสองก็แตกต่างกันด้วยฟ้องโจทก์คดีนี้ไม่เป็นฟ้องซ้อนกับฟ้องโจทก์ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 423/2537 ของศาลชั้นต้น
แม้รายการในสารบัญจดทะเบียนตามโฉนดที่ดินพิพาทจะเป็นเอกสารมหาชนก็ตาม แต่ก็มิใช่ข้อสันนิษฐานโดยเด็ดขาดที่จะให้รับฟังตามนั้น โจทก์สามารถนำพยานเข้าสืบหักล้างได้ว่าความจริงเป็นเช่นใด ซึ่งเป็นการนำสืบถึงความเป็นมาอันแท้จริงว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดก ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังข้อเท็จจริงแล้ววินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของ พ. นั้นจึงหาฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 94 แห่ง ป.วิ.พ. ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 460/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความหนี้, บังคับจำนอง, ดอกเบี้ยผิดนัด, ทรัพย์มรดก: สิทธิเรียกร้องจากทรัพย์สินจำนองและจำกัดความรับผิด
โจทก์ฟ้องคดีนี้เกินกว่าหนึ่งปีนับแต่วันที่โจทก์ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของ ช. เจ้ามรดกทำให้หนี้ตามสัญญากู้เงินอันเป็นหนี้ประธานขาดอายุความ เนื่องจากสัญญากู้เงินรายนี้มีการจดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันไว้ด้วย ดังนี้ แม้หนี้ตามสัญญากู้เงินอันเป็นหนี้ประธานจะขาดอายุความ โจทก์ก็มีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม ประกอบมาตรา 193/27 แต่คงบังคับได้เฉพาะทรัพย์สินที่จำนองเท่านั้น หาอาจบังคับถึงทรัพย์สินอื่นของ ช. เจ้ามรดกได้ด้วยไม่ แม้หนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันและข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองเป็นประกันจะมีข้อความระบุว่า เมื่อถึงเวลาบังคับจำนองเอาทรัพย์จำนองขายทอดตลาดได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกับค่าอุปกรณ์ต่างๆ เงินยังขาดอยู่เท่าใดผู้จำนองและลูกหนี้ยอมรับผิดชอบรับใช้เงินที่ขาดจำนวนนั้นให้แก่ผู้รับจำนองจนครบจำนวนก็ตาม
แม้โจทก์จะเป็นธนาคารพาณิชย์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากลูกค้าในอัตราสูงสุดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย และ พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ฯ มาตรา 14 ก็ตาม ประกาศดังกล่าวหาใช่ข้อกฎหมายอันถือเป็นเรื่องที่ศาลจะรับรู้เองได้ แต่เป็นข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งที่คู่ความมีหน้าที่นำสืบ และเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าเอกสารเกี่ยวกับเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกจากจำเลยเป็นเอกสารที่ต้องห้ามรับฟังตาม ป.วิ.พ. มาตรา 90 ซึ่งโจทก์ก็มิได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวของศาลชั้นต้นจึงเป็นที่สุดถือได้ว่าโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยเกินไปจากอัตราปกติตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ได้ ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยจึงตกเป็นโมฆะ โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในระหว่างผิดนัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 224

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4276-4277/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในทรัพย์มรดก: ผู้มีส่วนได้เสีย, ผู้จัดการมรดก, และการพิสูจน์ความเป็นเจ้าของทรัพย์สิน
ผู้ร้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายจึงเป็นทายาทผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตาย การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายจึงเหมาะสมแล้ว ส่วนผู้คัดค้านไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับผู้ตายจึงมิใช่สามีโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายอันจะทำให้เป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายจึงไม่มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตาย อีกทั้งในคำแก้ฎีกาของผู้คัดค้านก็ยืนยันว่าที่ดินพิพาทและสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินพิพาทเป็นของผู้คัดค้านคนเดียว มิใช่ทรัพย์มรดกของผู้ตาย ดังนั้น เมื่อผู้คัดค้านมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตายผู้คัดค้านจึงไม่มีสิทธิร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายสำหรับที่ดินพิพาทและสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินพิพาท ทั้งไม่มีสิทธิขอให้ตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ส่วนที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างจะเป็นทรัพย์ของผู้คัดค้านหรือไม่ ผู้คัดค้านต้องไปดำเนินคดีเป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหากจากคดีนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4116/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความคดีจัดการมรดก: เริ่มนับเมื่อการจัดการสิ้นสุด และผู้จัดการมรดกต้องรับผิดในฐานะตัวแทน
โจทก์ทั้งสี่ฟ้องจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของ บ. ตามคำสั่งศาล อ้างว่าจำเลยจัดการมรดกโดยทำบัญชีทรัพย์มรดกและแบ่งมรดกไม่ถูกต้อง จึงเป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก กำหนดอายุความต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง เมื่อยังมีทรัพย์มรดกที่จำเลยจะต้องแบ่งให้แก่ทายาทและการจัดการมรดกยังไม่สิ้นสุดลง จึงยังไม่เริ่มนับอายุความตามบทกฎหมายดังกล่าว และโดยเหตุที่จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกต้องรับผิดต่อทายาทตามมาตรา 1720 ในลักษณะตัวการตัวแทนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 809 ถึง 812, 819 และมาตรา 823 การที่จำเลยครอบครองที่ดินซึ่งมีส่วนเป็นทรัพย์มรดกกึ่งหนึ่ง ถือได้ว่าเป็นการครอบครองแทนทายาท จำเลยจะยกอายุความตามมาตรา 1754 ขึ้นต่อสู้ทายาทหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2780/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในทรัพย์มรดก: ทายาทมีสิทธิครอบครองที่ดินมรดก แม้ยังไม่ได้แบ่งแยกชัดเจน จำเลยไม่มีสิทธิขับไล่
โจทก์ทั้งสี่และจำเลยเป็นบุตรของเจ้ามรดก ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้จดทะเบียนโอนแบ่งให้แก่ทายาททั้งห้าจึงไม่ใช่ของจำเลย โจทก์ที่ 2 เป็นทายาทคนหนึ่งและมีสิทธิได้รับมรดกที่ดินพิพาท จึงมีส่วนเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาท และมีสิทธิอยู่ในที่ดินพิพาท จำเลยจึงไม่มีสิทธิฟ้องแย้งขอให้ขับไล่โจทก์ที่ 2

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4324/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนทรัพย์มรดกโดยชอบ การเพิกถอนนิติกรรมเนื่องจากหลอกลวง/ไม่สุจริต และอำนาจการฟ้อง
ตามสำเนาคำขอโอนมรดกเฉพาะส่วน สำเนาบันทึกถ้อยคำเรื่องผู้จัดการมรดกรับโอนมรดก และสารบัญจดทะเบียนในสำเนาโฉนดที่ดินเลขที่ 13015 ได้ความว่า โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ป. ขอจดทะเบียนโอนมรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 13015 ส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของ ป. ที่โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ป. รับโอนมาให้แก่โจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในฐานะที่โจทก์เป็นทายาทของ ป. เจ้ามรดก ดังนี้ การขอจดทะเบียนของโจทก์ดังกล่าวเป็นกรณีที่ผู้จัดการมรดกขอจดทะเบียนสิทธิในที่ดินให้แก่ทายาทต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม ป.ที่ดิน มาตรา 82 วรรคสอง ถือได้ว่าการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์มรดกได้กระทำโดยชอบตามกฎหมาย หากทายาทคนอื่นของ ป. เห็นว่าโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกจัดการมรดกไม่ถูกต้องก็เป็นเรื่องที่ต้องไปว่ากล่าวกับโจทก์เป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก เมื่อการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์มรดกดังกล่าวได้กระทำโดยชอบตามกฎหมายโจทก์จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดิน ดังนั้น นิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินส่วนดังกล่าวตามสัญญาให้ที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และสัญญาขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้วจึงมีผลสมบูรณ์
เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาแล้วมีโจทก์ฝ่ายเดียวที่อุทธรณ์ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้อง แม้จำเลยทั้งสามไม่ได้อุทธรณ์แต่ได้ยื่นคำแก้อุทธรณ์ของโจทก์โดยกล่าวโต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นดังกล่าวว่า ตามพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบฟังได้ว่าโจทก์ทำนิติกรรมสัญญาให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 13015 ส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของ ป. ที่โจทก์รับโอนมาโดยเสน่หาและโดยสมัครใจ จำเลยที่ 1 ไม่ได้หลอกลวงโจทก์ให้ทำนิติกรรม และจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซื้อที่ดินพิพาทส่วนดังกล่าวโดยสุจริต ดังนี้ ในชั้นอุทธรณ์จึงมีประเด็นดังกล่าวต้องวินิจฉัยเพราะคู่ความยังโต้เถียงกันอยู่ และปัญหาดังกล่าวศาลอุทธรณ์ภาค 7 ยังไม่ได้วินิจฉัย แต่คดีได้มีการสืบพยานของคู่ความในชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้นเสร็จสิ้นแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียวโดยไม่ย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาใหม่ ในชั้นนี้จึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 หลอกลวงให้โจทก์ทำนิติกรรมสัญญาให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 13015 ส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของ ป. ที่โจทก์รับโอนมา และจำเลยที่ 2 และที่ 3 รับโอนที่ดินพิพาทส่วนดังกล่าวโดยไม่สุจริตตามที่โจทก์ฟ้องกล่าวอ้างหรือไม่ โดยพยานโจทก์ยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 และ ท. มาหลอกลวงโจทก์ให้โอนที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 ตามที่อ้างในฟ้อง นิติกรรมตามสัญญาให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 13015 ส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของ ป. ที่โจทก์รับโอนมาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงไม่มีข้อบกพร่องตามกฎหมายอย่างใดที่จะเพิกถอนได้ เมื่อไม่มีเหตุตามกฎหมายที่จะเพิกถอนนิติกรรมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 แล้วย่อมมีผลทำให้ไม่อาจเพิกถอนนิติกรรมตามสัญญาขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 เกี่ยวกับที่ดินโฉนดเลขที่ 13015 ส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของ ป. ที่โจทก์รับโอนมาได้เช่นเดียวกัน จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซื้อที่ดินดังกล่าวโดยสุจริตหรือไม่จึงไม่เป็นปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2443/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองปรปักษ์ ที่ดินพิพาทมิใช่ทรัพย์มรดก คำฟ้องไม่สมบูรณ์
ท. ยกที่ดินพิพาทให้จำเลย จำเลยยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินที่จำเลยครอบครองทำประโยชน์มาแล้วประมาณ 18 ปี ที่ดินพิพาทจึงไม่ใช่ทรัพย์มรดกของ ท. และไม่มีเหตุที่จำเลยจะต้องครอบครองแทนทายาทคนอื่น โจทก์จึงไม่สามารถขอให้เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นที่มีคำสั่งว่าที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ที่ได้ดำเนินการมาแล้วโดยชอบได้
ท. ยกที่ดินให้จำเลยโดยมิได้จดทะเบียนการยกให้ แต่เมื่อจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทมาตั้งแต่ ท. ยกที่ดินพิพาทให้ด้วยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเกินกว่า 10 ปี จำเลยจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 แม้จำเลยครอบครองโดยเข้าใจผิดว่าที่ดินเป็นของจำเลยก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยครอบครองที่ดินของจำเลยเอง หากแต่ต้องถือว่าจำเลยครอบครองที่ดินของบุคคลอื่น
จำเลยไม่ได้ส่งหมายนัดและสำเนาคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ เนื่องจากเข้าใจว่ามารดาจำเลยเป็นทายาทแต่เพียงผู้เดียวและถึงแก่ความตายแล้ว ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องว่าโจทก์และทายาทอื่นมีสิทธิในที่ดินดีกว่าจำเลย เมื่อที่ดินมิใช่ทรัพย์มรดกของ ท. ดังนั้น จึงฟังไม่ได้ว่าเป็นการไม่สุจริต
จำเลยให้การว่า ท. ยกที่ดินพิพาทให้และจำเลยได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ เป็นการบรรยายข้อเท็จจริงตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงและสามารถอ่านเข้าใจเจตนาของจำเลย ไม่ใช่การบรรยายข้อเท็จจริงที่เป็นการร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินของตนเองหรือขัดกันเอง ดังนั้น คำให้การจึงชัดแจ้ง
การวินิจฉัยคดีเมื่อศาลเห็นสมควรจะหยิบยกประเด็นข้อพิพาทข้อใดขึ้นวินิจฉัยก่อน ย่อมกระทำได้
เมื่อวินิจฉัยประเด็นข้อใดแล้วมีผลให้คดีเสร็จไปแล้วก็ไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นอื่นอีกเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง ป.วิ.พ. มาตรา 142 ไม่ได้บังคับเด็ดขาดว่าศาลจำต้องวินิจฉัยประเด็นตามคำฟ้องทั้งหมด
แม้คำฟ้องของโจทก์ไม่มีข้อความว่าผู้เรียงพิมพ์และลายมือชื่อผู้เรียงพิมพ์ เป็นคำฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 67 (5) ซึ่งศาลมีอำนาจสั่งให้คืนหรือแก้ไขคำฟ้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 วรรคสอง แต่ศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งดังกล่าวและได้ดำเนินกระบวนพิจารณากันมาจนเสร็จสิ้นถึงศาลฎีกาแล้ว ตามสำนวนปรากฏว่าโจทก์ได้แต่งตั้ง ด. เป็นทนายความ และ ด. ได้ลงชื่อเป็นผู้เรียงและพิมพ์ในคำแถลงขอส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง จึงพอที่จะฟังได้ว่า ด. เป็นผู้เรียงและพิมพ์คำฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2026/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจัดการทรัพย์มรดก, สัญญาเช่า, การคืนค่าเช่า, และความรับผิดของทายาทและผู้เช่า
โจทก์ทั้งสองฟ้องตั้งประเด็นว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมรู้กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 หาประโยชน์จากกองมรดกของผู้ตายด้วยการนำคลังสินค้าพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายออกให้จำเลยที่ 2 เช่าในราคาต่ำ แล้วจำเลยที่ 2 นำคลังสินค้าพิพาทออกให้จำเลยที่ 3 เช่าช่วง ทำให้กองมรดกของผู้ตายเสียหายต้องขาดรายได้ที่ควรจะได้รับ สภาพแห่งข้อหาตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองจึงเป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายฟ้องอ้างว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกร่วมอีกผู้หนึ่ง นำเอาทรัพย์มรดกของผู้ตายไปหาประโยชน์แก่ตนและพวกโดยไม่มีสิทธิ ขอให้บังคับคืนเงินค่าเช่าดังกล่าวแก่กองมรดกของผู้ตายและขับไล่จำเลยทั้งสามจากคลังสินค้าพิพาท อันถือเป็นการฟ้องคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก ซึ่งมีอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง ดังนั้น แม้โจทก์ทั้งสองจะกล่าวบรรยายฟ้องอ้างการกระทำของจำเลยทั้งสามว่าเป็นการทำสัญญาโดยกลฉ้อฉลและละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง กรณีก็ไม่อาจฟังว่าสภาพแห่งข้อหาตามคำฟ้องเป็นมูลคดีละเมิดและกลฉ้อฉลอันมีอายุความ 1 ปี ตามข้ออ้างของจำเลยที่ 1 และที่ 2 และเมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับว่าโจทก์ทั้งสองทราบถึงการละเมิดและทราบตัวผู้จะพึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนก่อนวันที่ 11 เมษายน 2554 และโจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้ในวันที่ 30 กรกฎาคม 2555 ซึ่งยังไม่เกินกำหนด 5 ปี คดีโจทก์ทั้งสองจึงไม่ขาดอายุความ
โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า จำเลยที่ 1 นำคลังสินค้าพิพาทออกให้เช่าในฐานะทายาทตามพินัยกรรม (ผู้รับพินัยกรรม) เงินค่าเช่าต้องกลับเข้าสู่กองมรดกของผู้ตาย สิทธิของจำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาศาลฎีกา (ในอีกคดีหนึ่ง) ต้องไปว่ากล่าวกันในภายหลัง และหากจำเลยที่ 1 มีสิทธิกึ่งหนึ่งในค่าเช่าคลังสินค้าพิพาทก็คงมีสิทธิได้รับจากค่าเช่าซึ่งจำเลยที่ 2 ชำระให้แก่จำเลยที่ 1 ทั้งความเป็นหุ้นส่วนก็เป็นเรื่องเฉพาะตัว เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นหุ้นส่วนกับผู้ตาย จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดคืนเงินค่าเช่าคลังสินค้าพิพาทเต็มจำนวนนั้น เป็นข้อที่โจทก์ทั้งสองเพิ่งหยิบยกขึ้นต่อสู้ในชั้นฎีกาโดยไม่ได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
โจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยทุจริตร่วมมือกันหาประโยชน์จากกองมรดกของผู้ตาย โดยจำเลยที่ 1 นำคลังสินค้าพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายออกให้จำเลยที่ 2 เช่าในราคาเหมาเดือนละ 20,000 บาท ทั้งที่สามารถให้เช่าเก็บข้าวสารได้ไม่น้อยกว่าเดือนละ 500,000 บาท แล้วจำเลยที่ 2 โดยทุจริตร่วมมือกับจำเลยที่ 3 นำคลังสินค้าพิพาทออกให้จำเลยที่ 3 เช่าช่วงในอัตราเดือนละ 524,880 บาท โดยสัญญาเช่าคลังสินค้าพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เป็นการทำสัญญาโดยกลฉ้อฉลและรู้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำไปโดยไม่มีอำนาจ ทำให้กองมรดกของผู้ตายได้รับความเสียหาย ซึ่งตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ทั้งสองเห็นได้ว่าเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 นำเอาคลังสินค้าพิพาทไปให้จำเลยที่ 3 เช่าเพื่อแสวงหาประโยชน์จากทรัพย์มรดกของผู้ตายร่วมกันโดยไม่มีสิทธิที่จะกระทำได้ และยังอ้างว่าสัญญาเช่าคลังสินค้าพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เป็นการกระทำโดยกลฉ้อฉล กรณีตามคำฟ้องจึงมีเหตุอันควรเชื่อว่าสัญญาเช่าคลังสินค้าพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เป็นการทำขึ้นเพื่อเป็นหลักฐานในการทำสัญญาให้จำเลยที่ 3 เช่าช่วงคลังสินค้าพิพาท โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่มีเจตนาที่จะผูกพันชำระค่าเช่าต่อกัน ทั้งหากจะฟังว่าสัญญาเช่าคลังสินค้าพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 มีผลผูกพันกันตามข้อสัญญา กรณีก็ต้องนับว่าค่าเช่าซึ่งจำเลยที่ 2 ต้องชำระแก่จำเลยที่ 1 ดังกล่าวเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิเหนือคลังสินค้าพิพาทและถือเป็นค่าใช้จ่ายซึ่งจำเลยที่ 2 มีสิทธินำไปหักทอนออกจากค่าเช่าช่วงคลังสินค้าพิพาทซึ่งจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดคืนแก่โจทก์ทั้งสอง และเมื่อโจทก์ทั้งสองฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันคืนเงินค่าเช่าคลังสินค้าพิพาทที่ได้รับจากจำเลยที่ 3 แล้ว การจะบังคับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 คืนเงินค่าเช่าในส่วนนี้อีก ย่อมเป็นการบังคับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดซ้ำซ้อนกันในมูลหนี้เดียวกัน ดังนั้น โจทก์ทั้งสองจึงไม่อาจขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดคืนเงินค่าเช่าคลังสินค้าพิพาทในส่วนนี้อีก จำเลยที่ 1 และที่ 2 คงต้องรับผิดคืนเงินค่าเช่าคลังสินค้าพิพาทกึ่งหนึ่งเป็นเงิน 10,502,184.33 บาท แก่โจทก์ทั้งสองเท่านั้น ปัญหาข้อนี้ แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ แต่ถือเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247 (เดิม)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1724/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองทรัพย์มรดก: สิทธิทายาทในการแบ่งทรัพย์มรดกที่ยังมิได้แบ่งสันดาน
แม้ที่ดินพิพาทมีเพียงแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เมื่อเจ้ามรดกผู้ครอบครองถึงแก่ความตาย ที่ดินพิพาทและสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาท ได้แก่ ส. บุตรเจ้ามรดกซึ่งเป็นบิดาจำเลย ว. บุตรเจ้ามรดกและ พ. บุตรเจ้ามรดกซึ่งเป็นมารดาโจทก์ ว. และ พ. พักอาศัยอยู่ในสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินพิพาทโดยมีโจทก์และจำเลยอยู่ด้วย ส่วน ส. พักอาศัยอยู่ที่อื่น การที่ ว. และ พ. พักอาศัยอยู่ในที่ดินพิพาทต่อมาจึงเป็นการครอบครองในฐานะทายาทและแทนทายาทอื่น หลังจาก ว. ถึงแก่ความตายในปี 2538 พ. พักอาศัยอยู่ต่อมาและถึงแก่ความตายในปี 2543 การที่ พ. ยังคงพักอาศัยอยู่ต่อมาก็เป็นการครอบครองแทนทายาทอื่น ส่วนที่ ส. ถึงแก่ความตายในปี 2536 ที่ดินมรดกส่วนของ ส. ตกทอดแก่ทายาทของ ส. รวมทั้งจำเลย การที่จำเลยพักอาศัยอยู่ในบ้านและที่ดินพิพาทหลังจากนั้นร่วมกับ ว. และ พ. ก็เป็นการร่วมกันครอบครองแทนทายาทอื่นเช่นกัน ที่ดินพิพาทจึงยังไม่พ้นสภาพจากการเป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกและกรณีต้องถือว่าการที่ พ. และจำเลยครอบครองบ้านและที่ดินพิพาทอยู่นั้นเป็นการครอบครองแทนทายาทอื่นของเจ้ามรดกทุกคน ส่วนการที่จำเลยรื้อถอนบ้านเดิมออกไปและนำที่ดินพิพาทไปขอออกโฉนดก็ยังไม่อาจถือได้ว่าจำเลยแสดงเจตนาเปลี่ยนลักษณะการครอบครองที่ดินมรดกเป็นครอบครองด้วยตนเองและแสดงเจตนาแก่ฝ่ายโจทก์แล้ว ที่ดินดังกล่าวยังเป็นมรดกของเจ้ามรดก จึงเป็นกรณีที่จำเลยครอบครองทรัพย์มรดกที่ยังมิได้มีการแบ่งปันแทนทายาทอื่น ดังนี้ โจทก์ซึ่งเป็นทายาทของเจ้ามรดกเพราะเข้าสืบสิทธิมรดกส่วนของ พ. จึงมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกที่ดินพิพาทในส่วนที่โจทก์มีสิทธิได้รับได้
of 49