คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ที่ดินพิพาท

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 507 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6913-6914/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองที่ดินพิพาทในเขตอุทยานฯ สิทธิครอบครองไม่ชอบด้วยกฎหมาย รัฐมีสิทธิออกพระราชกฤษฎีกา
โจทก์มีเพียงเอกสารใบ ภ.บ.ท. 5 แสดงว่าโจทก์มีสิทธิเหนือที่ดินพิพาท แต่เอกสารฉบับนี้ไม่ใช่เอกสารสิทธิแสดงว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองเหนือที่ดินที่พิพาทแต่อย่างใด ส่วนที่โจทก์นำสืบว่า โจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัย น. ครอบครองที่ดินพิพาทเมื่อประมาณ ปี 2494 ก่อนบังคับใช้ประมวลกฎหมายที่ดินและรัฐยังไม่ได้จัดที่ดินเป็นอุทยานแห่งชาตินั้น ไม่ปรากฏว่า น. มีเอกสารใด ๆ แสดงกรรมสิทธิ์เหนือที่ดินพิพาทหรือได้แจ้งการครอบครองที่ดินพิพาทต่อนายอำเภอท้องที่ภายใน 180 วัน ตาม พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 มาตรา 5 แสดงให้เห็นว่าตนมีสิทธิครอบครองเหนือที่ดินพิพาทอย่างไร ทั้งการครอบครองเป็นระยะเวลานานมากขนาดนี้น่าที่ผู้ครอบครองต้องมีเอกสารสิทธิเหนือที่ดินพิพาทบ้าง แต่ก็ไม่ปรากฏ และโจทก์ก็เพิ่งแจ้งเสียภาษีบำรุงท้องที่เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2545 โดยบุคคลที่ครอบครองก่อนหน้าโจทก์ก็ไม่ปรากฏหลักฐานการเสียภาษีบำรุงท้องที่ ข้อนำสืบดังกล่าวของโจทก์จึงเป็นเพียงการกล่าวอ้างลอย ๆ โดยง่าย ไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ไม่น่าเชื่อว่า น. ครอบครองที่ดินพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมายมาตั้งแต่ก่อนประกาศใช้ประมวลกฎหมายที่ดินจริง แม้ฝ่ายจำเลยทั้งสองไม่ได้นำสืบโต้แย้งเรื่องโจทก์ครอบครองที่ดินต่อเนื่องกันมาก็ตาม แต่จำเลยทั้งสองก็นำสืบอยู่ว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ ซึ่งโจทก์ต้องมีภาระพิสูจน์สิทธิของตนว่ามีอยู่จริง เมื่อไม่ปรากฏว่า น. มีสิทธิใด ๆ โดยชอบด้วยกฎหมายเหนือที่ดินพิพาท น. จึงไม่มีสิทธิโดยชอบเหนือที่ดินพิพาทที่จะโอนต่อ ๆ มาจนถึงโจทก์ด้วย โจทก์จึงไม่มีสิทธิครอบครองเหนือที่ดินพิพาท ที่ดินพิพาทไม่มีบุคคลใดถือกรรมสิทธิ์หรือครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย รัฐจึงออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเป็นเขตอุทยานแห่งชาติได้ตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 มาตรา 6 โจทก์ยึดถือครอบครองอาคารบ้านพักและอาคารอเนกประสงค์ในที่ดินพิพาทซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 มาตรา 16 พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยทั้งสองสั่งให้โจทก์รื้อถอนแล้วโจทก์ไม่รื้อถอน จำเลยทั้งสองจึงมีอำนาจให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจรื้อถอนอาคารบ้านพักและอาคารอเนกประสงค์กับต้นมะพร้าวซึ่งปลูกอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติได้เองตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 มาตรา 21, 22 ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์จึงไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6653-6654/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกันส่วนในที่ดินพิพาทกรณีแบ่งมรดก: ไม่ใช่การบังคับชำระหนี้
การร้องขอกันส่วนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 ต้องเป็นกรณีที่มีการบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา แต่คดีนี้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทที่เป็นทรัพย์มรดกของ ป. และ ต. ให้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ เนื่องจาก ป. ต. ส. และจำเลยที่ 3 ถือกรรมสิทธิ์รวมกันในที่ดินพิพาทโดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นทายาทของ ส. การที่ศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสามแบ่งทรัพย์มรดกของ ป. และ ต. ให้โจทก์ทั้งสองตามส่วน โดยคู่ความตกลงกันให้นำที่ดินพิพาทออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินที่ได้แบ่งกันตามส่วน จึงเป็นเรื่องบังคับให้จำเลยทั้งสามแบ่งที่ดินพิพาทในระหว่างผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมด้วยกัน แล้วจัดการแบ่งเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสองเท่านั้น หาได้มีการบังคับชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยทั้งสามไม่ ผู้ร้องทั้งสี่จึงไม่อาจขอกันส่วนโดยอ้างว่าผู้ร้องทั้งสี่เป็นทายาทของ ส. ผู้ถือกรรมสิทธิ์รวม และมีสิทธิรับมรดกในส่วนของ ส. ร่วมกับจำเลยทั้งสาม เป็นเรื่องที่ผู้ร้องทั้งสี่จะต้องไปดำเนินคดีกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่างหาก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6601/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทหลังสัญญาจะซื้อจะขาย และการจำกัดสิทธิของเจ้าของรวม
สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทซึ่งโจทก์ทำกับ ส. ข้อ 1 ระบุว่า ส. จะขายที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของตนให้แก่โจทก์ ข้อนี้จำเลยทั้งสี่ให้การต่อสู้คดีมาตั้งแต่ยื่นคำให้การในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ ที่โจทก์เบิกความว่า ส. ตกลงขายที่ดินพิพาททั้งแปลงซึ่งรวมถึงที่ดินพิพาทในส่วนของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เจ้าของรวมด้วยก็ขัดแย้งกับที่ระบุในสัญญา และถือว่าเป็นการนำพยานบุคคลมาสืบเพิ่มเติมข้อความในเอกสาร ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข) ปัญหานี้แม้จำเลยทั้งสี่ไม่ได้อ้างมาในคำแก้ฎีกา แต่เป็นเรื่องหลักเกณฑ์การรับฟังพยานเอกสาร อันเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247
โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทในส่วนของ ส. เท่านั้น ไม่ได้ซื้อที่ดินพิพาทส่วนของจำเลยที่ 2 ช. และจำเลยที่ 4 เจ้าของรวมด้วย สำหรับที่ดินพิพาทเป็นที่ดินซึ่งทางราชการห้ามโอนภายใน 10 ปี นับแต่วันออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ทั้งข้อ 3 ของหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน ระบุว่า ส. จะทำการโอนขายที่ดินให้แก่โจทก์ภายในกำหนด 10 ปี ตามที่กำหนดไว้ในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ซึ่งจำเลยทั้งสี่ยอมรับในคำฟ้องอุทธรณ์ว่า ข้อความดังกล่าวมีความหมายว่า ส. และโจทก์มีเจตนาจะไปดำเนินการจดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทต่อเจ้าพนักงานภายใน 10 ปี หลังจากครบกำหนดห้ามโอน ดังนั้นการที่คู่สัญญามีข้อตกลงเช่นนี้จึงหามีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ป.พ.พ. มาตรา 150 ไม่ เมื่อคู่สัญญาจะจดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทในภายหน้า กรณีจึงเป็นสัญญาจะซื้อจะขาย ไม่ใช่ซื้อขายเสร็จเด็ดขาด
สัญญาข้อ 4 ระบุว่า นับแต่วันทำสัญญา ส. ยินยอมให้โจทก์เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทได้เลย เชื่อว่า หลังจากทำสัญญาจะซื้อจะขายกันแล้ว โจทก์ผู้จะซื้อเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทจริง แต่โจทก์ไม่ได้สิทธิครอบครอง เพราะ ส. มิได้สละเจตนาครอบครองหรือไม่ยึดถือที่ดินพิพาทต่อไป เพราะยังอยู่ในระยะเวลาห้ามโอน 10 ปี โจทก์เพียงยึดถือที่ดินพิพาทในฐานะเป็นผู้แทน ส. ผู้ครอบครองเท่านั้น อย่างไรก็ตาม หลังจากปี 2527 พ้นกำหนดห้ามโอน 10 ปี แล้วโจทก์ยังคงครอบครองที่ดินพิพาทต่อมาโดย ส. มิได้โต้แย้งคัดค้าน จนกระทั่ง ส. ถึงแก่ความตายเมื่อปี 2554 ย่อมแสดงให้เห็นว่า ส. สละเจตนาครอบครองไม่ยึดถือที่ดินเพื่อตนต่อไป การครอบครองของ ส. ย่อมสิ้นสุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 1377 วรรคแรก โจทก์อยู่ในที่ดินพิพาทโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตนจึงได้ซึ่งสิทธิครอบครอง จำเลยที่ 1 ในฐานะทายาทของ ส. กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เจ้าของรวมในที่ดินพิพาทต้องเคารพสิทธิของโจทก์ด้วย จำเลยทั้งสี่ยอมรับในคำให้การว่า จำเลยทั้งสี่นำรถไปไถในที่ดินพิพาทจริง ซึ่งจำเลยที่ 1 ผู้สืบสิทธิของ ส. ไม่มีสิทธิกระทำได้ ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มีสิทธิทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทในฐานะเจ้าของรวม แต่ต้องระมัดระวังมิให้กระทบกระเทือนต่อการใช้สิทธิของโจทก์ด้วย โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทในส่วนของ ส. โดย ส. ยินยอมให้โจทก์เข้าทำประโยชน์ได้ แต่เมื่อโจทก์ไปทำประโยชน์ จำเลยที่ 1 ในฐานะทายาท ส. กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เจ้าของรวมกลับขัดขวาง โจทก์มีสิทธิห้ามจำเลยที่ 1 ได้ตามคำขอท้ายฟ้อง แต่ห้ามจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ได้เท่าที่ไม่ขัดต่อการใช้ประโยชน์ของโจทก์ในที่ดินส่วนของ ส. เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5952/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีตามสัญญาประนีประนอมยอมความ และการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินพิพาท แม้เกิน 10 ปี ก็ยังบังคับคดีได้
ข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมกำหนดว่า หากจำเลยปฏิบัติผิดสัญญาประนีประนอมยอมความจำเลยตกลงให้โจทก์บังคับคดีได้ทันทีโดยขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินพิพาทของโจทก์ เมื่อบ้านเลขที่ 20/1 หรือ 236 และเลขที่ 20/10 หรือ 242 เป็นทรัพย์สินของจำเลยที่ปลูกอยู่บนที่ดินพิพาทที่จำเลยผิดสัญญาประนีประนอมยอมความมิได้ซื้อคืนจากโจทก์ภายในเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาดังกล่าว โจทก์ย่อมมีสิทธิบังคับให้จำเลยขนย้ายรวมทั้งรื้อถอนออกไปจากที่ดินพิพาทของโจทก์ ทั้งจำเลยเคยยื่นคำร้อง ขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยรื้อถอนบ้านดังกล่าวอ้างว่ามิใช่ทรัพย์สินตามสัญญาขายฝากและมิใช่ส่วนควบของที่ดินพิพาท แต่โจทก์ไม่ยินยอมให้จำเลยรื้อถอน เมื่อศาลชั้นต้นสอบถามโจทก์ โจทก์กลับแถลงว่าไม่เคยขัดขวางมิให้จำเลยรื้อถอนตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น ยิ่งกว่านั้นในวันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำสั่งศาลอุทธรณ์ในคดีที่จำเลยอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีรื้อถอนบ้านดังกล่าวของจำเลยออกไปจากที่ดินพิพาทโดยเร็ว จำเลยกลับเป็นฝ่ายแถลงขอเวลาขนย้ายบ้านเลขที่ 20/1 หรือ 236 และเลขที่ 20/10 หรือ 242 ออกไปจากที่ดินพิพาท ซึ่งโจทก์ก็ยินดีให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปทั้งหมด แสดงว่าจำเลยทราบดีอยู่แล้วว่าหากจำเลยผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ จำเลยย่อมมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาโดยรื้อบ้านทั้งสองเลขที่ดังกล่าวออกไปจากที่ดินพิพาทของโจทก์ด้วย จำเลยจะมากล่าวอ้างภายหลังว่าเป็นการนอกเหนือไปจากคำฟ้องหรือเกินคำขอมิได้ พฤติการณ์ของจำเลยส่อให้เห็นชัดเจนว่าจำเลยมีเจตนาประวิงการบังคับคดีของโจทก์ให้ชักช้า
ฎีกาของจำเลยที่ว่า โจทก์บังคับคดีเกินกว่า 10 ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษา ตามยอมวันที่ 24 มีนาคม 2544 นั้น เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งจำเลยมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นนี้ได้
โจทก์ร้องขอให้บังคับคดีและเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีโดยปิดประกาศให้ขับไล่จำเลยและบริวารรวมทั้งให้ขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินพิพาทตามประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีลงวันที่ 30 มกราคม 2546 อันอยู่ภายในกำหนดสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 เมื่อการบังคับคดีได้ดำเนินการต่อเนื่องเรื่อยมายังไม่เสร็จสิ้น โจทก์ย่อมมีสิทธิบังคับคดีต่อไปจนกว่าจะแล้วเสร็จได้แม้จะพ้นกำหนดเวลาการบังคับคดีไปแล้วก็ตาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3061/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิครอบครองที่ดินพิพาท: บุคคลภายนอกซื้อโดยสุจริตและจดทะเบียนได้อ้างสิทธิเหนือผู้ครอบครองไม่ได้
ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดิน น.ส. 3 ก. ของจำเลยทั้งสอง ดังนั้น แม้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์ได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทโดยการยกให้จาก อ. ก็เป็นการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม แต่ยังมิได้จดทะเบียน และจำเลยทั้งสองซื้อที่ดินพิพาทจากกองทุนรวมแกมม่าแคปปิตอล โดยไม่ทราบว่าโจทก์เข้าไปครอบครองทำกินในที่ดินพิพาทมาก่อน โจทก์จึงไม่อาจยกสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทขึ้นเป็นข้อต่อสู้จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14005/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนสามัญ โจทก์ไม่สามารถฟ้องขอใส่ชื่อร่วมได้
ตามหนังสือสัญญาให้ที่ดินระบุว่า ผู้ให้ยอมยกที่ดินทั้งแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้รับโดยเด็ดขาดนับแต่วันทำสัญญานี้เป็นต้นไป เป็นการยกให้โดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทนเพราะเป็นสามีภริยา แม้หนังสือดังกล่าวจะไม่ได้ระบุไว้ชัดว่าให้เป็นสินส่วนตัว แต่การที่โจทก์ยกที่ดิน 8 แปลง ดังกล่าวให้จำเลยก็เพื่อตอบแทนการที่จำเลยยอมยุติปัญหาที่โจทก์ไปมีภริยาอีกคนหนึ่ง จึงแปลเจตนาจากข้อความในเอกสารตามพฤติการณ์แห่งกรณีได้ว่า โจทก์ได้ให้เป็นสินส่วนตัวของภริยาเด็ดขาดแล้ว ประกอบกับพฤติการณ์ที่ภายหลังจำเลยและครอบครัวจำเลยได้ใช้ประโยชน์โดยอาศัยอยู่บนที่ดินดังกล่าวเรื่อยมาและมีการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างอื่นเพิ่มเติมโดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้มีการโต้แย้งแต่อย่างใด ที่ดิน 8 แปลง นี้ไม่ใช่สินสมรส โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้ใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมด้วย
การที่จำเลยและครอบครัวของจำเลยร่วมดำเนินกิจการของร้าน ม. เพื่อกระทำกิจการค้าขายวัสดุก่อสร้างร่วมกันก่อนที่จะมีการจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัด ซึ่งมีความประสงค์จะแบ่งปันกำไรที่จะพึงได้จากกิจการที่ทำนั้น เข้าลักษณะเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญที่ไม่ได้จดทะเบียน โดยมีสมาชิกในครอบครัวของจำเลยทุกคนเป็นหุ้นส่วน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1012 ประกอบมาตรา 1025 การที่โจทก์ผู้เป็นบุคคลภายนอกห้างหุ้นส่วนสามัญดังกล่าวจะขอใส่ชื่อร่วมในโฉนดที่ดิน 87 แปลง ซึ่งมีชื่อจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์แทนห้างหุ้นส่วนสามัญนั้น เท่ากับเป็นการเข้ามาเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้เป็นหุ้นส่วนหมดทุกคนซึ่งไม่อาจกระทำได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1040 เมื่อกรณีฟังได้ว่าที่ดินพิพาทดังกล่าวเป็นทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนสามัญมิใช่ของจำเลย โจทก์จึงไม่อาจฟ้องขอใส่ชื่อร่วมได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13825/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิครอบครองปรปักษ์ในที่ดินพิพาท: เจ้าหนี้คำพิพากษาไร้สิทธิคัดค้าน
ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสซึ่งผู้ร้องกับ ส. ร่วมกันซื้อมาระหว่างเป็นสามีภริยา ผู้ร้องกับ ส. จดทะเบียนหย่ากัน โดยผู้ร้องครอบครองที่ดินพิพาทนั้นตลอดมาและได้ยื่นคำร้องขอครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทในส่วนของ ส. ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนของ ส. ดังกล่าว ผู้คัดค้านเป็นเพียงเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของ ส. ในคดีอื่นไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทคดีนี้ จึงไม่มีส่วนได้เสียเกี่ยวกับประเด็นแห่งคดีเพื่อขอรับความรับรอง หรือคุ้มครองว่าตนมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท และผู้ร้องไม่สมควรได้สิทธิครอบครองปรปักษ์ ผู้คัดค้านจึงไม่อาจคัดค้านเข้ามาในคดีนี้ได้ อีกทั้งคำคัดค้านนั้นได้ยื่นเข้ามาภายหลังที่คดีถึงที่สุดไปแล้ว แม้ผู้คัดค้านอ้างว่าตนมีสิทธิเรียกร้องเกี่ยวเนื่องด้วยการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง แต่ผลของการคัดค้านโดยการร้องสอดตามมาตรา 57 (1) ผู้คัดค้านจะต้องเข้ามาเป็นคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง โดยผู้ร้องมีฐานะเป็นโจทก์ ส่วนผู้คัดค้านมีฐานะเป็นจำเลย ผู้คัดค้านจึงต้องเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังได้กล่าวเพื่อจะได้ใช้สิทธินั้นคัดค้านว่าผู้ร้องมิได้ครอบครองปรปักษ์ เมื่อผู้คัดค้านมิได้อยู่ในฐานะใดฐานะหนึ่งตามเงื่อนไขที่มาตรา 57 (1) บัญญัติ จึงชอบที่ผู้คัดค้านจะต้องดำเนินการตามสิทธิส่วนของตนในคดีอื่น มิใช่โดยการยื่นคำคัดค้านเข้ามาในคดีนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13284/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำ: ประเด็นกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทที่เคยมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว
คดีนี้กับคดีก่อนมีประเด็นที่ศาลต้องวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอันเดียวกันว่า บ. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทหรือเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแทน พ. ปรากฏว่าในคดีก่อนศาลชั้นต้นวินิจฉัยและคดีถึงที่สุดแล้วว่า บ. ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแทน พ. ส่วนในคดีนี้แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องอ้างว่าพบพยานหลักฐานใหม่ที่แสดงว่า บ. ไม่ได้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแทน พ. ก็เป็นการฟ้องที่มีประเด็นต้องวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับคดีก่อน
คดีก่อน พ. ฟ้องโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ บ. ส่วนในคดีนี้โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ บ. ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในฐานะที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทกับ พ. หลังจากศาลพิพากษาคดีก่อน และจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 เป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกในที่ดินพิพาทของ พ. หลังจากศาลพิพากษาคดีก่อนแล้ว เจ้าพนักงานที่ดินได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทจาก บ. มาเป็น พ. ตามคำสั่งศาล ต่อมา พ. ได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์รวมกับ พ. ในที่ดินพิพาท จำเลยทั้งหกจึงเป็นผู้สืบสิทธิจาก พ. ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีก่อน ดังนั้น ถือได้ว่าคู่ความในคดีนี้กับคู่ความในคดีก่อนเป็นคู่ความรายเดียวกัน ฟ้องโจทก์คดีนี้ในส่วนที่เกี่ยวกับที่ดินพิพาทจึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148
โจทก์ฟ้องขอให้เปลี่ยนชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทจากชื่อของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และ พ. เป็นชื่อของ บ. เป็นคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ เป็นคดีมีทุนทรัพย์ตามราคาที่ดินพิพาท ตามตาราง 1 ข้อ 1 (ก) ท้าย ป.วิ.พ.
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีอำนาจที่จะใช้ดุลพินิจในการสั่งค่าฤชาธรรมเนียมโดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดีของคู่ความทั้งปวง เมื่อโจทก์แพ้คดีบางข้อและบางข้อศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาใหม่ ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ จึงชอบแล้ว
ในคดีก่อน พ.ไม่ได้ฟ้องเกี่ยวกับสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 237 ซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินพิพาท คดีก่อนจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 237 ซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินพิพาทแต่อย่างใด ฟ้องคดีนี้ในส่วนที่เกี่ยวกับสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวจึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13044/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนนิติกรรมโอนที่ดินพิพาทในฐานะผู้จัดการมรดก ไม่เป็นคดีอุทลุมและไม่ขาดอายุความ
โจทก์ยื่นฟ้องในคดีนี้ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ย. ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของ ย. กลับคืนเข้าสู่กองมรดกจึงเป็นกรณีการฟ้องของโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกซึ่งมีสิทธิและหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็นเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไป หาใช่โจทก์ฟ้องในฐานะส่วนตัวหรือในฐานะเป็นบุตรของจำเลยที่ 3 ไม่ ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นคดีอุทลุมอันจะต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 1562 เมื่อโจทก์ฟ้องคดีในฐานะเป็นผู้จัดการมรดกเพื่อติดตามเอาที่ดินพิพาททั้งสองแปลงกลับคืนเข้าสู่กองมรดกอันเป็นสิทธิและหน้าที่ของผู้จัดการมรดกเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไปจึงเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริต
การฟ้องคดีของโจทก์เป็นการขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่จำเลยที่ 3 ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยให้โอนกลับคืนมาเป็นชื่อของจำเลยที่ 3 และให้จำเลยทั้งสามส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาททั้งสองแปลงดำเนินการโอนใส่ชื่อโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ย. เพื่อแบ่งปันแก่ทายาทตามกฎหมาย มิใช่เป็นการฟ้องขอแบ่งมรดกของเจ้ามรดกจากจำเลยทั้งสาม กรณีดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติเรื่องอายุความในการติดตามเอาคืนทรัพย์สิน จะนำอายุความมรดกมาใช้บังคับไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 400/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำ: ประเด็นการครอบครองที่ดินไม่เหมือนกัน แม้ขอแบ่งแยกที่ดินในลักษณะเดียวกัน
ในคดีก่อน คำฟ้องของโจทก์ยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า ส. ซึ่งเป็นภริยาของบุตร ท. สัญญายกที่ดินพิพาทให้โจทก์ ส่วนฟ้องของโจทก์คดีนี้เป็นการยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์แต่ต้นโดยได้รับการให้จาก ท. มารดาของโจทก์ ถึงแม้คำขอของโจทก์ในคดีก่อนและคดีนี้จะขอให้จำเลยทั้งสองไปจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่งเหมือนกันก็ตาม ก็ยังถือไม่ได้ว่าประเด็นที่ศาลได้วินิจฉัยในคดีก่อนกับประเด็นที่ศาลจะต้องวินิจฉัยในคดีนี้อาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อนและไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148
of 51