คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ครอบครองที่ดิน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 468 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1123/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต และการพิสูจน์สิทธิโดยสุจริต
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ที่เกิดเหตุอยู่ในเขตป่าและเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยจำเลยไม่ได้รับอนุญาตให้อยู่หรือมีสิทธิใดอันจะอ้างได้ตามกฎหมาย จำเลยจึงต้องออกจากป่าสงวนแห่งชาติและรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่เกิดเหตุ
ไม่มีบทกฎหมายใดให้สิทธิแก่จำเลยในการใช้สิทธิทางศาลเพื่อให้ได้รับการผ่อนผันอยู่ในที่ดินป่าและป่าสงวนแห่งชาติได้ สิทธิของจำเลยพึงมีประการใดจะต้องไปดำเนินการต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในการนั้น หาอาจใช้สิทธิทางศาลได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8722/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองที่ดิน, ละเมิด, ค่าเสียหายจากการรื้อถอนและขาดประโยชน์จากทรัพย์สิน, อายุความฟ้องคดี
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ต่อมาจำเลยทั้งสามบุกรุกเข้าไปล้อมรั้วและรื้อบ้านของโจทก์ซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินพิพาท โจทก์ห้ามปรามแล้วแต่จำเลยทั้งสามไม่ฟัง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามและบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์และให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย จำเลยทั้งสามให้การว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ของโจทก์แต่เป็นของ ช. เป็นของจำเลยที่ 3 โดยซื้อมาจาก ช. ตามคำให้การของจำเลยทั้งสามจึงไม่มีปัญหาเรื่องการแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ จึงไม่มีการอ้างสิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 วรรคสอง เพราะการแย่งการครอบครองจะเกิดขึ้นได้ก็แต่ในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น การที่จำเลยทั้งสามยกเหตุเป็นข้อต่อสู้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 3 จึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทว่าโจทก์ฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองเกิน 1 ปี หรือไม่
การที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสามโดยกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันบุกรุกเข้าไปในเขตที่ดินและรื้อบ้านพิพาทกับตัดโค่นทำลายพืชผลอาสินของโจทก์ที่ปลูกไว้รอบบ้านแล้วล้อมรั้วรอบเขตที่ดินและบ้านพิพาทไม่ให้โจทก์และครอบครัวอยู่อาศัยใช้ประโยชน์ในที่ดินและบ้านพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์สินของโจทก์ เป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำผิดทางอาญาฐานบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์กับความผิดทางแพ่งฐานละเมิดรวมกันมา โจทก์จึงอาศัยมูลคดีอาญาฐานบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์ฟ้องจำเลยทั้งสามให้รับผิดทางแพ่งฐานละเมิดได้ ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา และการที่โจทก์เคยฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีอาญาฐานบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์แล้วถอนฟ้องไปก่อนที่โจทก์จะฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้ ซึ่งมีผลให้คู่ความกลับสู่ฐานะเดิมเสมือนหนึ่งมิได้มีการยื่นฟ้องทางอาญาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 176 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 จึงไม่มีคดีอาญาค้างพิจารณาอยู่ในศาลและศาลยังมิได้มีคำพิพากษาในส่วนอาญา เมื่อมูลคดีนี้ถือว่ายังไม่มีผู้ใดฟ้องจำเลยทั้งสามทางอาญา สิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายที่จะฟ้องทางแพ่งเนื่องจากความผิดทางอาญาย่อมต้องบังคับตามกำหนดเวลาดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายเรื่องอายุความฟ้องคดีอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 51 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคสอง
เมื่อความผิดทางอาญาที่โจทก์บรรยายฟ้องมาเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทและความผิดฐานบุกรุกที่ได้ร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่สองคนขึ้นไปมีกำหนดโทษจำคุกสูงที่สุดไม่เกิน 5 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 365 (2) อายุความฟ้องคดีอาญาจึงมีกำหนด 10 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 95 (3) จึงต้องใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดบังคับแก่คดีนี้ตาม ป.อ. มาตรา 90 และเมื่อคำนวณนับแต่วันกระทำผิดถึงวันฟ้องยังไม่เกิน 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
กรณีไม่มีการฟ้องคดีอาญาย่อมไม่มีข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาอันถึงที่สุดที่จะให้นำไปถือตามในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 คำพิพากษาคดีส่วนแพ่งคดีนี้จึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจำเลยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดทางอาญาหรือไม่ และในการพิพากษาคดี ข้อความรับผิดเพื่อละเมิดและกำหนดค่าสินไหมทดแทนนั้น ศาลไม่จำต้องดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายลักษณะอาญาอันว่าด้วยการที่จะต้องรับโทษ และไม่จำต้องพิเคราะห์ถึงการที่ผู้กระทำผิดต้องคำพิพากษาลงโทษทางอาญาหรือไม่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 47 วรรคหนึ่ง และ ป.พ.พ. มาตรา 424
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าที่ดินและบ้านพิพาทเป็นของโจทก์ และไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสามสามารถอ้างสิทธิใดๆ ที่จะก้าวล่วงเข้าไปในเขตที่ดินและบ้านพิพาทเพื่อกระทำการใดอันเป็นการกระทบกระเทือนสิทธิเหนือทรัพย์สินดังกล่าวของโจทก์โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ การที่จำเลยทั้งสามยอมรับตามฟ้องว่า ได้เข้าไปในเขตที่ดินและรื้อบ้านพิพาทแล้วล้อมรั้วที่ดินพิพาทไม่ให้โจทก์และครอบครัวอยู่อาศัย ใช้ประโยชน์จากผลผลิตที่จะได้จากยางพาราและปาล์มซึ่งโจทก์ปลูกไว้ในเขตที่ดินและบ้านพิพาท การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงเป็นการจงใจกระทำการโดยไม่สุจริต ทั้งส่งผลโดยตรงให้ทรัพย์สินของโจทก์ได้รับความเสียหายและไม่ได้ใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินนั้น อันเป็นความผิดฐานละเมิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8370/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองที่ดินพิพาทโดยชอบ การละเมิด และค่าเสียหายจากการขัดขวางการครอบครอง
ป.พ.พ. มาตรา 303 บัญญัติว่า "สิทธิเรียกร้องนั้นท่านว่าพึ่งโอนกันได้ เว้นแต่สภาพแห่งสิทธินั้นเอง จะไม่เปิดช่องให้โอนกันได้" และในวรรคสอง บัญญัติว่า "ความที่กล่าวมานี้ย่อมไม่ใช้บังคับ หากคู่กรณีได้แสดงเจตนาเป็นอย่างอื่น การแสดงเจตนาเช่นว่านี้ท่านห้ามมิให้ยกขึ้นต่อสู้บุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริต" เมื่อตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการยื่นซองเสนอราคาทรัพย์สินพร้อมขายของบริษัท บ. ข้อ 5.3 ได้ระบุไว้ว่า บริษัท บ. จะโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินที่จะซื้อขายให้กับผู้ชนะการเสนอราคาในนามของผู้ชนะการเสนอราคา (ผู้จะซื้อ) เท่านั้น และในข้อ 6.3 ยังระบุไว้ด้วยว่า ผู้เสนอราคาจะต้องเป็นบุคคลเดียวกันกับผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ภายหลัง และจำเลยที่ 1 ได้ลงนามรับทราบหลักเกณฑ์ ดังกล่าวแล้ว จึงเป็นเรื่องที่คู่กรณีได้แสดงเจตนาเป็นอย่างอื่น กล่าวคือ บริษัท บ. ได้มีการแสดงเจตนาไว้ในเอกสารดังกล่าว จึงจะโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้มีชื่อในการชนะประมูลซื้อทรัพย์เท่านั้น จำเลยที่ 1 ก็ไม่ได้ปฏิเสธ คงอ้างแต่เพียงว่าสัญญาจะซื้อจะขายไม่ได้ระบุไว้เท่านั้น ดังนั้น จำเลยที่ 1 จะยกข้อต่อสู้เรื่องการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวต่อโจทก์ผู้เป็นบุคคลภายนอกไม่ได้ ถ้าโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกกระทำการโดยสุจริต
การที่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ยังค้างชำระเงินบริษัท บ. อีกเป็นจำนวนมาก โดยวิญญูชนทั่วไปถ้ายังไม่ได้รับชำระเงินครบถ้วนและยังค้างชำระเงินค่าทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก จะไม่มีผู้ใดส่งมอบการครอบครองทรัพย์สินให้ อีกทั้งจำเลยที่ 1 แจ้งให้บริษัท บ. โอนกรรมสิทธิ์ให้จำเลยที่ 2 บริษัท บ. ไม่ตกลงด้วยเพราะขัดกับข้อตกลง จึงฟังได้ว่าบริษัท บ. ไม่ได้ส่งมอบการครอบครองที่พิพาทให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ดังนั้น การที่โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินทั้ง 10 โฉนดกับบริษัท บ. จึงกระทำไปโดยสุจริต จำเลยที่ 1 จะอ้างว่าโอนสิทธิเรียกร้องให้กับจำเลยที่ 2 และแจ้งการโอนไปยังบริษัท บ. แล้ว การกระทำดังกล่าวจึงไม่ผูกพันโจทก์แต่อย่างใด
เมื่อบริษัท บ. ฟ้องจำเลยทั้งหกในข้อหาบุกรุกต่อศาลชั้นต้น แม้ศาลชั้นต้นจะวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งหก ไม่มีความผิดฐานบุกรุก แต่ในคำพิพากษาได้วินิจฉัยว่า การที่จำเลยที่ 1 มีคำสั่งให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ยังคงทำหน้าที่เฝ้าดูแลอาคารต่อไประหว่างยังมีข้อพิพาท และศาลยังไม่มีคำพิพากษา จึงเป็นการเข้าครอบครองที่พิพาทโดยสุจริต เมื่อภายหลังศาลมีคำพิพากษาให้ขับไล่จำเลยที่ 1 กับพวกออกจากอาคารโรงงานซึ่งตั้งอยู่บนที่พิพาทแล้ว จำเลยที่ 1 ได้สั่งให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ออกจากอาคารทันที การกระทำของจำเลย 1 และ ที่ 2 ในคดีดังกล่าวจึงขาดเจตนาบุกรุก ซึ่งตามคำพิพากษาดังกล่าวไม่ได้ระบุเลยว่า จำเลยทั้งหกมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทแต่อย่างใด การที่ศาลชั้นต้นหยิบยกเอาคำพิพากษาในคดีอื่นที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟ้องร้องบริษัท บ. และโจทก์ซึ่งยังไม่ถึงที่สุดมาวินิจฉัยในคดีนี้ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้อง ก็ไม่เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นเพราะประเด็นข้อพิพาทในคดีอื่นที่เป็นประเด็นเดียวกับคดีนี้ คือโจทก์เป็นผู้ซื้อที่ดินพิพาทโดยสุจริตหรือไม่ และจำเลยทั้งหกมีสิทธิโดยชอบที่จะอยู่ในที่ดินพิพาทหรือไม่ ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นยกข้อเท็จจริงในเรื่องที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาจะซื้อจะขายและจำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจเพิกถอนนิติกรรมในคดีอื่น มาประกอบการวินิจฉัยคดีนี้ในเรื่องอำนาจฟ้องโจทก์ จึงไม่เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7765/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองที่ดินพิพาท: ศาลรับฟังพยานตามข้อต่อสู้ของจำเลยได้ ไม่ถือเป็นการนอกประเด็น
คำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายไว้ชัดว่า จำเลยเข้าไปครอบครองที่ดินบางส่วนของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ( น.ส. 3 ) เลขที่ 313 จำนวน 20 ไร่ ของโจทก์กับพวกโดยไม่มีสิทธิ ต่อมาเมื่อโจทก์ทราบว่าหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินพิพาทอยู่ในความครอบครองของจำเลย โจทก์จึงฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ และตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ในข้อ 1 นอกจากจะขอให้จำเลยมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 313 ให้โจทก์แล้วยังขอให้จำเลยส่งคืนทรัพย์สินแก่โจทก์ด้วย การที่จำเลยยกข้อต่อสู้ในเรื่องการได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทว่ามีที่มาที่ไปเป็นอย่างใด และศาลชั้นต้นได้สืบพยานโจทก์จำเลยตามประเด็นดังกล่าว จึงเป็นการสืบพยานตามข้อต่อสู้ของรูปคดี หาใช่เป็นการสืบพยานหรือรับฟังพยานนอกฟ้องนอกประเด็นไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2620/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิครอบครองที่ดิน: การแย่งครอบครอง vs. ครอบครองแทน หากมิได้อ้างการครอบครองแทน ศาลล่างวินิจฉัยนอกประเด็น
โจทก์ทั้งสองมิได้ฟ้องและให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทมาโดยการครอบครองที่ดินพิพาทแทน จ. แล้วแย่งการครอบครองโดยบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะการยึดถือไปยัง จ. ว่าไม่มีเจตนายึดที่ดินพิพาทแทน จ. ต่อไป คดีจึงไม่มีประเด็นว่า โจทก์ทั้งสองได้บอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะการยึดถือไปยัง จ. บิดาจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 หรือไม่ การที่ศาลล่างทั้งสองหยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยจึงเป็นการวินิจฉัยนอกเหนือไปจากประเด็นตามคำฟ้องและคำให้การแก้ฟ้องแย้งของโจทก์ทั้งสอง ทั้งมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลจะยกขึ้นวินิจฉัยเองไม่ได้ และเมื่อข้อเท็จจริงยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 โดยโจทก์ทั้งสองมิได้แก้ฎีกาว่า ส. บิดาโจทก์ที่ 2 เข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิของ จ. หรือบริษัท ร. แล้วโจทก์ที่ 2 เข้าครอบครองที่ดินพิพาทต่อเนื่องมาจาก จ. จึงเป็นการครอบครองแทน จ. บิดาจำเลยด้วย โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทจำเลยในฐานะทายาทโดยธรรมของ จ. ผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท จึงมีอำนาจฟ้องแย้งให้ขับไล่โจทก์ทั้งสองและบริวารออกจากที่ดินพิพาทได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2991/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองที่ดินและต้นไม้ การพิสูจน์เจตนาในการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ และการประเมินราคาความเสียหาย
การกระทำอันจะเป็นความผิดฐานบุกรุกตาม ป.อ. มาตรา 362 จะต้องเป็นการเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น เพื่อถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นทั้งหมดหรือบางส่วน หรือเข้าไปกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นโดยปกติสุข คดีนี้ จำเลยทั้งสามพักอาศัยอยู่บ้านซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินพิพาทตลอดมาตั้งแต่ก่อนที่โจทก์ร่วมจะได้รับการยกให้ที่ดินพิพาทจากนาง ส. โดยนาย น. เจ้าของที่ดินเดิมและนาง ส. ซึ่งรับโอนที่ดินพิพาทมาจากนาย น. ไม่เคยโต้แย้งคัดค้าน เชื่อว่านาย น. และนาง ส. เจ้าของที่ดินในขณะนั้นยินยอมให้จำเลยทั้งสามอยู่ในที่ดินพิพาท แม้ก่อนเกิดเหตุจำเลยที่ 3 ยกบ้านให้นาง ก. แล้วย้ายออกไปอยู่ที่อื่น แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ยังคงอยู่ในที่ดินพิพาทตลอดมา อันเป็นการอยู่ในที่ดินพิพาทโดยชอบมาตั้งแต่แรก การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 อยู่ในที่ดินพิพาทในวันเกิดเหตุขณะที่มีการนำรถแทรกเตอร์เข้ามาไถที่ดินแม้จะเป็นเวลาภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ขับไล่ออกจากที่ดินพิพาทแล้ว แต่ก็เป็นการอยู่ในที่ดินพิพาทต่อเนื่องมาจากการเข้าไปอยู่โดยชอบในตอนแรก ถือไม่ได้ว่าเป็นการเข้าไปกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ร่วมโดยปกติสุข จึงไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก แม้ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 3 จะไม่ได้อยู่ในที่ดินพิพาทแล้ว แต่วันเกิดเหตุจำเลยที่ 3 นำรถแทรกเตอร์เข้ามายังที่ดินพิพาทเพื่อช่วยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไถที่ดิน อันเป็นการเข้ามาโดยอาศัยสิทธิของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมไม่มีความผิดฐานบุกรุกเช่นเดียวกัน
ที่ดินพิพาทก่อนเกิดเหตุ มีหญ้าและวัชพืชขึ้นรกทั่วทั้งแปลง จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้รถแทรกเตอร์ไถที่ดินพิพาทเพื่อปรับพื้นที่ให้อยู่ในสภาพโล่งเตียน ซึ่งการกระทำดังกล่าวย่อมมีผลให้หน้าดินบางส่วนต้องถูกไถออกไปบ้างเป็นธรรมดา มิใช่เป็นการทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งที่ดินพิพาทของโจทก์ร่วม อันจะเป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 358
แม้ข้อเท็จจริงไม่อาจรับฟังได้ว่านาย น. ยกที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 3 แต่พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 3 เข้าไปปลูกสร้างบ้านและทำประโยชน์ปลูกต้นไม้อยู่ในที่ดินพิพาทตลอดมาตั้งแต่ที่ดินพิพาทยังเป็นของนาย น. และนาง ส. จนกระทั่งนาง ส. จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ร่วมเมื่อปี 2553 เป็นเวลาเกือบ 30 ปี โดยไม่ปรากฏว่านาย น. และนาง ส. ได้โต้แย้งคัดค้านหรือเข้าไปดำเนินการใด ๆ ในที่ดินพิพาท น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 3 ไม่ทราบเรื่องที่นาย น. ยกที่ดินพิพาทให้แก่นาง ส. มาก่อน เมื่อต้นไม้ตามฟ้องจำเลยที่ 3 ปลูกขึ้นในขณะที่จำเลยที่ 3 เข้าใจโดยสุจริตว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 3 ย่อมมีเหตุผลให้จำเลยที่ 3 เชื่อโดยสุจริตด้วยเช่นกันว่าต้นไม้ดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 3 ผู้ปลูก แม้ต่อมาภายหลังศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ร่วมที่ได้รับการยกให้จากผู้เป็นเจ้าของเดิมติดต่อกันมาโดยชอบ ซึ่งจากคำพิพากษามีผลเท่ากับว่าจำเลยที่ 3 ปลูกต้นไม้ตามฟ้องลงบนที่ดินของผู้อื่น เมื่อต้นไม้ดังกล่าวเป็นไม้ยืนต้นจึงเป็นส่วนควบของที่ดินตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ร่วมที่เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทคนสุดท้ายตาม ป.พ.พ. มาตรา 144 วรรคสอง และมาตรา 145 แต่การที่ต้นไม้ตามฟ้องตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ร่วมดังกล่าวมานั้น เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายที่มิใช่เป็นเรื่องพื้นฐานเกี่ยวกับความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวันที่จำเลยทั้งสามซึ่งเป็นเพียงชาวบ้านทั่วไปอาจทราบได้ การที่ขณะเกิดเหตุจำเลยทั้งสามทราบผลคำพิพากษาดังกล่าวแล้วน่าจะทราบเพียงว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ร่วมตามที่ได้มีการกล่าวไว้ในคำพิพากษาเท่านั้น ไม่น่าจะทราบถึงกรรมสิทธิ์ของต้นไม้ตามฟ้องด้วย ดังเห็นได้จากจำเลยทั้งสามร่วมกันตัดฟันต้นไม้ในเวลากลางวันโดยเปิดเผย มิได้กระทำในลักษณะของการลักลอบตัดฟันอันจะบ่งชี้ถึงเจตนาของจำเลยทั้งสามว่าทราบอยู่แล้วว่าเป็นการกระทำที่มิชอบ พฤติการณ์แห่งคดีมีเหตุอันควรให้เชื่อได้ว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันตัดฟันต้นไม้ตามฟ้องด้วยเชื่อว่าจำเลยที่ 3 เป็นเจ้าของต้นไม้ดังกล่าว อันเป็นกรณีที่จำเลยทั้งสามมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานลักทรัพย์ว่าต้นไม้ที่ตนร่วมกันตัดฟันแล้วเอาไปนั้นเป็นทรัพย์ของผู้อื่น จะถือว่าจำเลยทั้งสามมีเจตนาในการกระทำความผิดมิได้ ทั้งนี้ ตาม ป.อ. มาตรา 59 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2805/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ แจ้งความเท็จเกี่ยวกับครอบครองที่ดินเพื่อออกโฉนดใหม่ ศาลฎีกาพิพากษาว่าเป็นการแจ้งความเท็จลงในเอกสารราชการ
แม้โจทก์ที่ 1 บรรยายฟ้องเพียงว่าจำเลยที่ 1 แจ้งให้เจ้าพนักงานที่ดินผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในโฉนดที่ดิน อันเป็นเอกสารมหาชนหรือเอกสารราชการโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 หรือผู้อื่น โดยไม่ได้บรรยายว่าเอกสารดังกล่าวมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐาน แต่เมื่ออ่านถ้อยคำในฟ้องทั้งหมดแล้วมีความหมายในทำนองว่าโฉนดที่ดินนั้นมีวัตถุประสงค์ใช้เป็นพยานหลักฐานด้วย ทั้งยังปรากฏตามฟ้องว่าในวันที่จำเลยที่ 1 แจ้งให้เจ้าพนักงานที่ดินจดข้อความอันเป็นเท็จลงในโฉนดที่ดินและเจ้าพนักงานที่ดินได้ออกโฉนดที่ดินให้จำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 ก็ใช้โฉนดที่ดินดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานในการจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ในวันเดียวกันนั้นเอง ดังนี้ ฟ้องของโจทก์ที่ 1 จึงครบองค์ประกอบความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชนหรือเอกสารราชการตาม ป.อ. มาตรา 267 แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2773/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองที่ดินตาม ส.ค.1 ต้องพิจารณาเนื้อที่ทำประโยชน์ก่อน พ.ร.บ.ที่ดินใช้บังคับ การเพิ่มเนื้อที่ภายหลังไม่ได้รับการคุ้มครอง
พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ.2551 มาตรา 8 วรรคสาม กำหนดให้การพิจารณาพยานหลักฐานของผู้ร้องจะต้องได้ความว่าผู้ร้องเป็นผู้ซึ่งได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่ก่อนวันที่ ป.ที่ดินใช้บังคับ และตามวรรคสี่ กำหนดให้การพิจารณาของศาลตามวรรคสาม ให้ศาลแจ้งกรมที่ดินทราบและให้กรมที่ดินตรวจสอบกับระวางแผนที่รูปถ่ายทางอากาศหรือระวางรูปถ่ายทางอากาศฉบับที่ทำขึ้นก่อนสุดเท่าที่ทางราชการมีอยู่ พร้อมทั้งทำความเห็นเสนอต่อศาลว่า ผู้ร้องได้ครอบครองหรือทำประโยชน์ในที่ดินโดยชอบด้วยกฎหมายก่อนวันที่ ป.ที่ดินใช้บังคับหรือไม่ เพื่อประกอบการพิจารณาของศาล ดังนั้น การพิจารณาเนื้อที่ที่ดินจึงต้องพิจารณาเนื้อที่ที่มีการครอบครองทำประโยชน์อยู่ก่อนวันที่ ป.ที่ดินใช้บังคับเป็นสาระสำคัญ มิใช่พิจารณาจากเนื้อที่ที่ครอบครองทำประโยชน์ในขณะขอออกโฉนดที่ดินหรือเอกสารสิทธิ ส่วนเนื้อที่ที่เพิ่มขึ้นในภายหลังย่อมมิใช่ที่ดินที่มีการครอบครองและทำประโยชน์อยู่ก่อนวันที่ ป.ที่ดินใช้บังคับ ทั้งหากยินยอมให้มีการครอบครองเนื้อที่เพิ่มขึ้นจากเดิมย่อมเป็นการสนับสนุนและรับรองสิทธิให้มีการรุกล้ำพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติอันเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น เนื้อที่ที่เพิ่มขึ้นหลังจากที่ จ. แจ้งการครอบครองจนกระทั่งมีการโอนต่อเนื่องกันมาถึงผู้ร้องย่อมมิใช่ที่ดินที่มีการครอบครองและทำประโยชน์อยู่ก่อนวันที่ ป.ที่ดินใช้บังคับ ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินต่อเนื่องมาจากบุคคลดังกล่าวตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ.2551 มาตรา 8 วรรคท้าย ย่อมไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินเนื้อที่ส่วนที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว
of 47