คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ทุจริต

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 532 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 642/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างเนื่องจากทุจริตต่อหน้าที่: การรับรองเวลาทำงานเท็จถือเป็นการทุจริต
ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มิได้ให้ความหมายคำว่า "ทุจริต" ไว้และไม่ได้ใช้คำว่า "โดยทุจริต" ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.อ. มาตรา 1 (1) จึงต้องใช้ความหมายคำว่า "ทุจริต" ตามพจนานุกรม คือความประพฤติชั่ว โกง ไม่ซื่อตรง การกระทำของโจทก์ซึ่งเป็นหัวหน้างานฝ่ายควบคุมคุณภาพ มีอำนาจอนุมัติการทำงานล่วงเวลา การทำงานในวันหยุด และมีอำนาจรับรองเวลาทำงานในบัตรตอกเวลาทำงานในกรณีพนักงานลืมตอกบัตร ทั้งต้องดูแลควบคุมให้พนักงานทำงานล่วงเวลา ทำงานในวันหยุดตรงตามที่ขออนุมัติ กลับจงใจลงลายมือชื่อรับรองเวลาทำงานในบัตรตอกเวลาทำงานของ ท. อันเป็นความเท็จ เช่นนี้การกระทำของโจทก์ถือเป็นการกระทำที่ไม่ซื่อตรงต่อหน้าที่อยู่ในความหมายของการทุจริตต่อหน้าที่แล้ว การที่จำเลยยังไม่ได้จ่ายค่าจ้าง ค่าทำงานในวันหยุดหรือค่าล่วงเวลาแก่ ท. เพราะผลจากการร้องเรียนของผู้ใต้บังคับบัญชาทำให้มีการตรวจสอบและโจทก์แก้ไขเอกสารเสียก่อน ท. ยังไม่ได้รับผลประโยชน์ใด ๆ จากการกระทำของโจทก์ก็หาทำให้การกระทำของโจทก์ไม่เป็นการทุจริตไปได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6228/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างเนื่องจากทุจริตต่อหน้าที่ และการซื้อที่ดินโดยใช้ตำแหน่งหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนตัว
ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์วันอื่นที่มิใช่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2553 โดยไม่ได้ส่งหนังสือเลิกจ้างให้โจทก์ เท่ากับเป็นการเลิกจ้างโดยไม่ได้แจ้งเหตุเลิกจ้างแก่โจทก์ จำเลยไม่มีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชยและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมนั้นเป็นอุทธรณ์ที่หยิบยกข้อเท็จจริงใหม่กล่าวขึ้นในชั้นอุทธรณ์ อันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
การที่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายผลิตเหมืองและมีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบกระบวนการผลิตแร่ที่เหมืองแร่ของจำเลยที่ได้รับสัมปทานจากทางราชการ ได้จัดทำบันทึกในนามของจำเลยว่าจำเลยซื้อที่ดินจากชาวบ้านที่กล่าวหาว่าจำเลยทำเหมืองแร่รุกล้ำที่ดินโดยไม่ได้รับอนุญาตจากจำเลย ซึ่งแม้โจทก์จะใช้เงินส่วนตัวซื้อที่ดิน ก็เป็นการใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายผลิตเหมืองของจำเลยเพื่อให้ได้มาซึ่งที่ดินที่จำเลยได้สัมปทานทำเหมืองแร่หลังจากหมดอายุประทานบัตรซึ่งโจทก์รู้ว่าจะหมดอายุในเวลาอีกไม่นาน และต่อมาอีกประมาณ 1 ปี โจทก์ก็เข้าครอบครองที่ดินทันทีที่หมดอายุประทานบัตรของจำเลยและครอบครองที่ดินดังกล่าวตลอดมา จึงเป็นการแสวงหาประโยชน์เพื่อตนเองโดยอาศัยอำนาจหน้าที่ของโจทก์ ถือได้ว่าเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (1) จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ และไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10742/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานเจ้าพนักงานใช้อำนาจโดยทุจริต จัดซื้อที่ดินเกินราคา และทำเอกสารเท็จทำให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ
การที่ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 45 วรรคท้าย แห่ง พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ.2496 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.เทศบาล (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2519 แต่งตั้งคณะเทศมนตรีนครอุดรธานีชั่วคราว มีจำเลยที่ 1 เป็นนายกเทศมนตรี กับพวกอีก 4 คน เป็นเทศมนตรี เท่าจำนวนของคณะเทศมนตรีที่ต้องออกจากตำแหน่งทั้งคณะตามคำวินิจฉัยของสภาเทศบาล ตามคำสั่งจังหวัดอุดรธานีที่ 557/2542 ลงวันที่ 3 มีนาคม 2542 นั้น เป็นกรณีแต่งตั้งคณะเทศมนตรีชั่วคราวโดยชอบด้วยบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว และต่อมาวันที่ 8 มีนาคม 2542 ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีประกาศแต่งตั้งคณะเทศมนตรีนครอุดรธานีขึ้นใหม่ มีจำเลยที่ 1 เป็นนายกเทศมนตรี และเทศมนตรีชั่วคราวชุดเดิมเป็นเทศมนตรี ตามประกาศจังหวัดอุดรธานี ลงวันที่ 8 มีนาคม 2542 แต่เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2542 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1151/2542 ให้เพิกถอนประกาศแต่งตั้งคณะเทศมนตรีนครอุดรธานีดังกล่าว ซึ่งระหว่างนั้น พ.ร.บ.เทศบาล (ฉบับที่ 10) พ.ศ.2542 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม 2542 แล้ว โดยมีมาตรา 3 และมาตรา 6 ให้ยกเลิกความในมาตรา 45 แห่ง พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ.2496 (ฉบับเดิม) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.เทศบาล (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2519 ที่กำหนดว่า ในกรณีที่คณะเทศมนตรีต้องออกจากตำแหน่งทั้งคณะ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งผู้ที่เห็นสมควรเท่าจำนวนของคณะเทศมนตรีที่ต้องออกจากตำแหน่งให้เป็นคณะเทศมนตรีชั่วคราวเพื่อดำเนินกิจการของเทศบาลไปจนกว่าจะได้แต่งตั้งคณะเทศมนตรีขึ้นใหม่ และแก้ไขใหม่ตามมาตรา 45 แห่ง พ.ร.บ.เทศบาล (ฉบับที่ 10) พ.ศ.2542 ว่า "ในระหว่างที่ไม่มีคณะเทศมนตรี ให้ปลัดเทศบาลปฏิบัติหน้าที่นายกเทศมนตรีเป็นการชั่วคราวเท่าที่จำเป็นได้จนกว่าคณะเทศมนตรีที่แต่งตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่" ก็ตาม แต่กฎหมายฉบับใหม่นี้มิได้กล่าวถึงสถานะของคณะเทศมนตรีชั่วคราวซึ่งแต่งตั้งขึ้นตามกฎหมายฉบับเดิมว่าจะให้ดำรงอยู่ในสถานะใด เช่นนี้ คณะเทศมนตรีนครอุดรธานีชั่วคราวซึ่งแต่งตั้งขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมายฉบับเดิม จึงยังคงมีสถานะเป็นคณะเทศมนตรีชั่วคราว รวมทั้งมีอำนาจและหน้าที่ดำเนินกิจการของเทศบาลนครอุดรธานีไปจนกว่าจะมีการส่งมอบงานในหน้าที่ให้แก่ปลัดเทศบาลนครอุดรธานีปฏิบัติหน้าที่นายกเทศมนตรีนครอุดรธานีเป็นการชั่วคราวต่อไปจนกว่าคณะเทศมนตรีนครอุดรธานีที่แต่งตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ เมื่อขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ส่งมอบงานในหน้าที่ให้แก่ปลัดเทศบาลนครอุดรธานี และได้ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่นายกเทศมนตรีนครอุดรธานีในการบริหารงานของเทศบาลนครอุดรธานีต่อไป ดังนั้น การกระทำของจำเลยที่ 1 ตามที่โจทก์อ้างในฟ้อง จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเจ้าพนักงานตามกฎหมาย การที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. รับเรื่องร้องเรียน แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน ลงมติว่าจำเลยที่ 1 มีมูลความผิดอาญา กับส่งรายงานเอกสารและความเห็นไปยังอัยการสูงสุดเพื่อฟ้องคดีนี้ เป็นการกระทำที่มีอำนาจกระทำได้ ถือว่ามีการสอบสวนแล้ว พนักงานอัยการย่อมอ้างรายงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดังกล่าวเป็นสำนวนการสอบสวนเพื่อยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
แม้โจทก์นำ ช. เข้าเบิกความในชั้นพิจารณาโดยทำบันทึกคำเบิกความพยานแทนการซักถามพยานต่อหน้าศาล แต่ก็ไม่ปรากฏว่าฝ่ายจำเลยคัดค้าน ทั้งยังถามค้านพยานต่อมาอีกหลายนัดจนเสร็จการสืบพยานดังกล่าว ก็ไม่ปรากฏว่าฝ่ายจำเลยได้คัดค้านเช่นกัน ดังนี้ จำเลยที่ 5 จะยกขึ้นเถียงในชั้นฎีกาว่า การสืบพยานดังกล่าวขัดต่อวิธีพิจารณาความอาญาหาได้ไม่ และแม้คำเบิกความของ ช. ดังกล่าวจะเป็นพยานบอกเล่า แต่เมื่อคำนึงถึงตามสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มา และข้อเท็จจริงแวดล้อมของพยานบอกเล่านั้น น่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้ คำเบิกความของ ช. จึงรับฟังได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/3 วรรคสอง (1)
เมื่อจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่เป็นกรรมการจัดซื้อที่ดินร่วมกันลงนามในรายงานการประชุมและบันทึกผลการจัดซื้อที่ดินว่ามีการประชุมและต่อรองราคาที่ดินซึ่งความจริงไม่ได้มีการประชุมและต่อรองราคาที่ดินแต่อย่างใด ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติงานในตำแหน่งนายกเทศมนตรีนครอุดรธานี มีหน้าที่รับเอกสารลงนามรับรองรายงานการประชุมและบันทึกผลการจัดซื้อที่ดินที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เสนอให้พิจารณาอนุมัติจัดซื้อซึ่งตนมีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องกับการจัดทำเอกสารดังกล่าวด้วย การที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ลงนามรับรองว่าได้กระทำการดังกล่าวเป็นการร่วมกันรับรองเอกสารเท็จและรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 จึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 162 (1) (4) ประกอบมาตรา 83
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 เป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่เป็นกรรมการจัดซื้อที่ดินให้แก่เทศบาลนครอุดรธานี ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติงานในฐานะนายกเทศมนตรีนครอุดรธานีและเป็นผู้แต่งตั้งจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 เป็นคณะกรรมการจัดซื้อที่ดิน แม้จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นกรรมการจัดซื้อที่ดิน แต่มีหน้าที่จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ มิให้เป็นการเสียหายแก่รัฐและเทศบาลนครอุดรธานี การที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ร่วมกันจัดซื้อที่ดินจาก ท. ในราคาไร่ละ 286,000 บาท ทั้ง ๆ ที่ที่ดินมีราคาเพียงไร่ละ 50,000 บาท เท่านั้น ทำให้เทศบาลนครอุดรธานีเสียหายต้องซื้อที่ดินในราคาสูงกว่าราคาที่แท้จริงมาก และจำเลยที่ 1 ไม่ตรวจสอบการจัดซื้อที่ดินให้ถูกต้องตามระเบียบ ทั้งยังออกเช็คสั่งจ่ายเงินผิดระเบียบเพราะไม่จ่ายให้แก่เจ้าหนี้หรือคู่สัญญาโดยตรงหรือในนามของผู้มอบฉันทะ แต่กลับไปจ่ายให้แก่จำเลยที่ 7 ผู้รับมอบอำนาจ ดังนี้ พฤติการณ์บ่งชี้ชัดแจ้งว่าเป็นการร่วมรู้เห็นกันมาแต่ต้นในการจัดซื้อที่ดิน เป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่รัฐและเทศบาลนครอุดรธานีแล้ว จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 จึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 151 ประกอบมาตรา 83

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9955/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความคดีทุจริต: การตีความบทบัญญัติขยายอายุความโดยเคร่งครัด และผลกระทบต่อคดีที่เกิดขึ้นก่อนมีผลบังคับใช้
ขณะเกิดเหตุ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 ที่ให้เพิ่มความตามมาตรา 98 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ซึ่งให้นำมาตรา 74/1 มาใช้บังคับโดยอนุโลมยังไม่มีผลใช้บังคับ เมื่อมาตรา 98 ประกอบมาตรา 74/1 เป็นบทบัญญัติที่มิให้นับระยะเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหาหลบหนีรวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความด้วย ประกอบกับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 มิได้มีบทเฉพาะกาลให้นำมาตรา 98 ประกอบมาตรา 74/1 มาใช้บังคับแก่คดีที่เกิดขึ้นก่อน พ.ร.บ.ดังกล่าวมีผลใช้บังคับ การตีความกฎหมายจึงต้องตีความโดยเคร่งครัด จะขยายความไปถึงคดีที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ พ.ร.บ.ดังกล่าวใช้บังคับโดยที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดอันจะเป็นผลร้ายแก่จำเลยหาได้ไม่ เพราะจะขัดต่อความรับผิดของบุคคลในการรับโทษทางอาญา ตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคหนึ่ง กรณีจึงนำมาตรา 98 ประกอบมาตรา 74/1 มาใช้ย้อนหลังเป็นผลร้ายแก่จำเลยมิได้ อายุความการฟ้องคดีอาญาแก่จำเลยที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติไต่สวนแล้วมีมติแจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลย จึงต้องพิจารณาตามความใน ป.อ. มาตรา 95 เมื่อความผิดตาม ป.อ. มาตรา 148 ประกอบมาตรา 83 และ 86 ที่โจทก์ฟ้องมีอายุความยี่สิบปีนับแต่วันกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 95 (1) การที่โจทก์ฟ้องและได้ตัวจำเลยมาดำเนินคดีนี้เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2556 เกินกว่ายี่สิบปีนับแต่วันกระทำความผิดแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 565/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อทรัพย์ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต เอื้อประโยชน์บุตรเขย ทำให้รัฐเสียหาย
จำเลยทราบดีว่านาง ล. ตกลงขายที่ดินแก่นาย พ. บุตรเขยจำเลยในราคาเพียง 220,000 บาท แต่มีการปลอมแปลงลายมือชื่อนาง ล. ในใบเสนอราคาขายที่ดินดังกล่าวเป็นเงิน 594,800 บาท แล้วนำไปยื่นต่อองค์การบริหารส่วนตำบลตูมใต้ พร้อมกับใบเสนอราคาของเจ้าของที่ดินอีกสองแปลงซึ่งเสนอราคาสูงกว่า และเมื่อคณะกรรมการจัดซื้อเห็นสมควรซื้อที่ดินของนาง ล. ที่เสนอราคาต่ำสุด จำเลยในฐานะนายกองค์การบริหารส่วนตำบลตูมใต้ ก็ได้อนุมัติให้จัดซื้อที่ดินดังกล่าวในราคาภายหลังการต่อรองแล้ว 594,000 บาท สูงกว่าราคาที่นาง ล. ต้องการขาย 374,000 บาท และเมื่อหักเงินที่จำเลยต้องนำไปชำระเป็นค่าภาษี 5,940 บาท คงมีส่วนต่างที่เป็นประโยชน์แก่บุตรเขยของจำเลย 368,060 บาท การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเอื้อประโยชน์แก่บุตรเขยของจำเลย อันถือได้ว่าเป็นการแสวงประโยชน์โดยมิชอบ เป็นเหตุให้องค์การบริหารส่วนตำบลตูมใต้ ได้รับความเสียหายต้องซื้อที่ดินในราคาสูงเกินกว่าที่ควรจะเป็น จำเลยจึงมีความผิดฐานเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อทรัพย์ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่รัฐ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2183/2558 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจสอบสวนคดีทุจริตของพนักงานสอบสวน ป.ป.ช. และการร้องทุกข์โดยมิใช่ผู้เสียหายโดยตรง
ความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตาม ป.อ. มาตรา 157 เป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ถือเป็นความผิดที่กระทำต่อรัฐ มิใช่ความผิดต่อส่วนตัว บุคคลผู้พบเหตุความผิดดังกล่าวมีอำนาจที่จะกล่าวโทษผู้กระทำความผิดต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อให้ดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิดได้ และพนักงานสอบสวนก็มีอำนาจสอบสวนดำเนินคดีต่อจำเลยซึ่งเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำความผิดได้โดยมิพักต้องคำนึงว่าผู้กล่าวโทษเป็นผู้เสียหายหรือเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนผู้เสียหายหรือไม่ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121
จำเลยมีตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบล บ. เป็นผู้บริหารท้องถิ่น ถือเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามความในมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ที่บังคับใช้อยู่ใน ขณะเกิดเหตุความผิดคดีนี้ แต่ตำแหน่งของจำเลยเป็นเพียงผู้บริหารท้องถิ่นมิใช่บุคคลที่เป็นข้าราชการการเมืองอื่นตามมาตรา 66 ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะทำการไต่สวนข้อเท็จจริงและลงมติชี้มูลความผิดส่งให้อัยการสูงสุดฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง การกล่าวโทษจำเลยว่ากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ จึงต้องบังคับตามมาตรา 84 ที่ให้ผู้กล่าวหายื่นคำกล่าวหาเป็นหนังสือต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือตามมาตรา 89 ที่ให้ผู้เสียหายหรือผู้กล่าวโทษ กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กระทำการตามมาตรา 88 เมื่อปรากฏว่าพนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ มีอำนาจหน้าที่ตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการสืบสวนสอบสวนคดีเกี่ยวกับการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ และการกระทำของจำเลยเข้าลักษณะเป็นความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ทั้งได้ความจากพันตำรวจโท ว. ว่ากองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ ได้รับสำนวนการสอบสวนมาจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. อันเข้าลักษณะเป็นกรณีตามมาตรา 84, 88 และ 89 ประกอบประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 31 ข้อ 6 ดังนั้นพนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการย่อมมีอำนาจดำเนินการสอบสวนคดีความผิดนี้ โดยมิพักต้องคำนึงถึงอำนาจของพนักงานสอบสวนในการรับคำร้องทุกข์หรือรับคำกล่าวโทษ
แม้คำฟ้องโจทก์กล่าวบรรยายว่าพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธร ข. ได้สอบสวนแล้ว และได้ความจากทางนำสืบของโจทก์ว่า พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการเป็นผู้สอบสวนก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงดังกล่าวมิใช่ข้อเท็จจริงและการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยกระทำความผิด เป็นเพียงการกล่าวบรรยายฟ้องเพื่อให้ทราบว่าพนักงานอัยการฟ้องคดีโดยมีการสอบสวนแล้ว ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15732/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลือกตั้งท้องถิ่น: การกระทำทุจริตเพื่อจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และความรับผิดทางแพ่งในการชดใช้ค่าเสียหาย
ในการพิพากษาคดีแพ่งศาลต้องพิจารณาตามหลักเรื่องภาระการพิสูจน์และการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานว่าฝ่ายใดมีน้ำหนักดีกว่ากัน เมื่อทางนำสืบของโจทก์มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า จำเลยซึ่งดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลใหม่พัฒนา จัดทำโครงการทัศนศึกษาดูงานที่องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านสา อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง โดยใช้งบประมาณของทางราชการ แต่กลับนำคณะทัศนศึกษาดูงานไปลงแพที่เขื่อนกิ่วลม และมีการจัดเลี้ยงอาหารและสุราแก่คณะเดินทางเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่จำเลย โดยมิได้มีการอบรมและศึกษาดูงานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ การกระทำของจำเลยเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 57 แห่ง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งใหม่ ตามมาตรา 99 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าว
การใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยรับผิดชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าว มิใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ที่ศาลจะต้องถือข้อเท็จจริงตามคดีอาญาที่จำเลยถูกฟ้องขอให้ลงโทษตามมาตรา 57 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าวแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14485/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างฐานทุจริตต่อหน้าที่: การนำของสมนาคุณส่วนตัวไปใช้โดยไม่แจ้งผู้บังคับบัญชา
บริษัท น. นำจานกระเบื้องซึ่งเป็นของสมนาคุณมามอบให้กับจำเลยที่ 1 เพื่อมอบให้แก่ลูกค้า โจทก์เป็นผู้ลงลายมือชื่อรับสินค้าดังกล่าวไว้และเห็นข้อความในเอกสารที่แสดงถึงการควบคุมจำนวนที่จัดส่ง โจทก์มีหน้าที่โดยตรงในการจัดทำเอกสารควบคุมการรับจ่ายของที่อยู่ในคลังสินค้า หากโจทก์ประสงค์ที่จะนำจานกระเบื้องซึ่งเป็นสินค้าควบคุมจำนวนไปใช้ส่วนตัวโดยเข้าใจว่าเป็นของสมนาคุณที่โจทก์มีสิทธินำไปใช้ได้ โจทก์ควรจะต้องแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาผู้มีหน้าที่รับผิดชอบคลังสินค้ารับทราบ การที่โจทก์นำจานกระเบื้องที่บริษัท น. มอบให้จำเลยที่ 1 ไปใช้ส่วนตัวโดยไม่ได้แจ้งให้ผู้บังคับบัญชาทราบถือได้ว่าเป็นการประพฤติไม่ซื่อตรงอันเป็นการใช้ตำแหน่งหน้าที่หาผลประโยชน์ให้แก่ตนเอง ถือเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้างมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (1) และถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14267/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างเนื่องจากทุจริตต่อหน้าที่นายจ้าง: การพิสูจน์เจตนาและหน้าที่ความรับผิด
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดลักทรัพย์อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ตามที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้าง ขอให้จำเลยที่ 1 จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม และให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบแก่โจทก์ เป็นคดีที่โจทก์ฟ้องโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาจ้างแรงงานและกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานซึ่งเป็นสิทธิในทางแพ่งโดยเฉพาะ ไม่ได้อาศัยมูลความผิดในทางอาญา แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะให้การต่อสู้คดีว่าไม่ต้องจ่ายเงินตามฟ้องเนื่องจากโจทก์ประพฤติผิดอย่างร้ายแรงด้วยการกระทำความผิดอาญาฐานลักทรัพย์นายจ้าง และแม้ศาลอาญากรุงเทพใต้จะมีคำพิพากษาแล้วว่าโจทก์ซึ่งเป็นจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาดังกล่าวไม่มีส่วนเกี่ยวข้องและยกฟ้องในส่วนของโจทก์แล้วก็ตาม ก็ไม่ทำให้คดีนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาที่ศาลแรงงานกลางจะต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอาญากรุงเทพใต้รับฟังและวินิจฉัยมา ที่ศาลแรงงานกลางให้คู่ความนำพยานเข้าสืบถึงพฤติการณ์ต่าง ๆ แล้วนำมาวินิจฉัยถึงการกระทำความผิดของโจทก์ในคดีนี้จึงสามารถกระทำได้
โจทก์มีหน้าที่ต้องทำงานประจำในห้องการเงิน แต่เมื่อ ว. มาซื้อสินค้าของจำเลยที่ 1 และนำสินค้าไปยังเครื่องคิดเงิน โจทก์ได้ไปทำหน้าที่คิดเงินให้แก่ ว. ซึ่งปรากฏรายการสินค้าที่ ว. ได้รับไปโดยโจทก์ไม่ได้คิดเงินจำนวน 7 รายการ คิดเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 1,931 บาท โจทก์ทำงานให้แก่จำเลยที่ 1 ในหน้าที่คิดราคาค่าสินค้าและเก็บเงินค่าสินค้าจากลูกค้าเพื่อนำส่งให้แก่จำเลยที่ 1 มาเป็นเวลานาน ย่อมมีความชำนาญในการทำงานในหน้าที่ของตนเป็นอย่างดี แม้โจทก์จะกล่าวอ้างว่าเหตุที่ไม่คิดเงินจากสินค้าจำนวน 7 รายการ จาก ว. เนื่องจากหลงลืมและเกิดจากความผิดพลาดในการทำงาน แต่สินค้าจำนวน 7 รายการ ดังกล่าวเป็นสินค้าที่มีลักษณะชิ้นใหญ่สามารถมองเห็นและตรวจสอบได้ง่าย การที่โจทก์ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการคิดเงินค่าสินค้าแต่กลับไม่คิดเงินค่าสินค้าจำนวน 7 รายการ จาก ว. ทำให้จำเลยที่ 1 ผู้เป็นนายจ้างเสียหายไม่ได้รับชำระค่าสินค้าดังกล่าว จึงเป็นกรณีที่โจทก์อาศัยโอกาสในการปฏิบัติงานในหน้าที่ของตนเป็นช่องทางในการแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับผู้อื่น ถือได้ว่าเป็นการทุจริตต่อหน้าที่แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14264/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่: ผอ.สำนักงานละเลยตรวจสอบเอกสารเบิกจ่าย ทำให้เกิดการทุจริต
โจทก์เป็นพนักงานของจำเลย ตำแหน่งผู้อำนวยการ สำนักงานภาคกลาง เขต 6 มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบการดำเนินงานของสำนักงาน บริหารจัดการในสำนักงานให้เกิดความเรียบร้อย เกิดประสิทธิภาพประสิทธิผลสูงสุดตามคำสั่งจำเลยที่ 176/2542 การที่โจทก์ไม่ตรวจสอบลายมือชื่อโจทก์ในใบสั่งจ่าย บันทึกอนุมัติค่าใช้จ่าย เอกสารประกอบการเบิกจ่ายต่าง ๆ โดยเฉพาะในส่วนที่โจทก์มาทำงานในวันหยุดว่าโจทก์มาทำงานในวันหยุดด้วยหรือไม่ และโจทก์ไม่ตรวจสอบเอกสารการเบิกจ่ายให้รอบคอบ ทำให้เกิดความเสียหายจากการจ่ายเงินโดยไม่มีหลักฐานการเบิกจ่ายและปลอมแปลงหลักฐานประกอบการเบิกจ่ายเงินและเบิกซ้ำ จนทำให้ ล. ผู้ใต้บังคับบัญชาของโจทก์ซึ่งทำหน้าที่รับผิดชอบการเงินและบัญชีภายใน สำนักงานภาคกลาง เขต 6 ทำการทุจริตปลอมลายมือชื่อโจทก์ พนักงานจำเลยและบุคคลภายนอกที่เกี่ยวข้อง ทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย ย่อมเป็นการกระทำที่ปราศจากความระมัดระวังอย่างร้ายแรงซึ่งโจทก์จักต้องมีในฐานะผู้อำนวยการ หากโจทก์ใช้ความระมัดระวังตรวจสอบลายมือชื่อของตน และตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารประกอบการเบิกจ่ายเงินอย่างละเอียดรอบคอบ โจทก์ต้องพบการกระทำที่มิชอบของ ล. ผู้ใต้บังคับบัญชา อันจะส่งผลให้ ล. ไม่สามารถทุจริตยักยอกเงินของจำเลยเป็นจำนวนมากถึง 921,464.50 บาทได้ พฤติการณ์ของโจทก์เช่นนี้จึงเป็นการกระทำด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง การที่จำเลยมีคำสั่งที่ 339/2546 ให้โจทก์รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่จำเลยในอัตราร้อยละ 40 ของค่าเสียหายเป็นเงิน 368,585.58 บาท ตามความเห็นของกระทรวงการคลังโดยกรมบัญชีกลางอันเป็นไปตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 8 ประกอบมาตรา 10 จึงชอบแล้ว
of 54