คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
สัญญาค้ำประกัน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 491 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11714/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาค้ำประกัน – สิทธิเรียกร้องคืนเงิน – อายุความ – การชำระหนี้โดยสุจริต – การใช้สิทธิเรียกร้อง
ตามสัญญาค้ำประกันระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 จำเลยที่ 2 จะต้องชำระเงินให้แก่จำเลยที่ 1 ก็ต่อเมื่อจำเลยที่ 3 ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือปฏิบัติผิดเงื่อนไขในสัญญาซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 3 เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 มีสิทธิริบหลักประกันหรือเรียกค่าปรับหรือค่าเสียหายใดๆ จากจำเลยที่ 3 ส่วนตามสัญญาค้ำประกันระหว่างจำเลยที่ 2 กับ ม. นั้น ม. จะต้องรับผิดชำระเงินให้แก่จำเลยที่ 2 ก็ต่อเมื่อจำเลยที่ 2 ถูกจำเลยที่ 1 เรียกร้องให้รับผิดตามสัญญาค้ำประกันอันเนื่องมาจากจำเลยที่ 3 ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือปฏิบัติผิดเงื่อนไขในสัญญาซื้อขายและจำเลยที่ 2 จำต้องรับผิดชำระเงินให้แก่จำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 1 แจ้งให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินตามสัญญาค้ำประกันโดยอ้างว่าจำเลยที่ 3 ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือปฏิบัติผิดเงื่อนไขในสัญญาซื้อขายโดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินที่ซื้อขายตามกำหนดเวลาซึ่งจำเลยที่ 2 หักเงินจากบัญชีเงินฝากจำเลย 1,249,000 บาท นำไปชำระให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว ต่อมาคดีที่จำเลยที่ 1 ฟ้องจำเลยที่ 3 และคดีที่จำเลยที่ 3 ฟ้องจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับสัญญาซื้อขาย ศาลมีวินิจฉัยถึงที่สุดว่าจำเลยที่ 3 มิได้เป็นฝ่ายไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือปฏิบัติผิดเงื่อนไขในสัญญาซื้อขาย จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิริบหลักประกันหรือเรียกค่าปรับหรือค่าเสียหายใดๆ จากจำเลยที่ 3 ซึ่งมีผลทำให้จำเลยที่ 2 ไม่จำต้องรับผิดชำระเงินตามสัญญาค้ำประกันให้แก่จำเลยที่ 1 ถึงแม้ว่าจำเลยที่ 2 จะชำระเงินให้แก่จำเลยที่ 1 ไปโดยสุจริตและปราศจากความประมาทเลินเล่อจำเลยที่ 2 ก็ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้ ม. รับผิดชำระเงินตามหนังสือค้ำประกันสำหรับเงินที่จำเลยที่ 2 ชำระให้แก่จำเลยที่ 1 ไปแล้ว จำเลยที่ 2 ชอบที่จะใช้สิทธิเรียกร้องเอาคืนได้ การที่จำเลยที่ 2 ละเลยเสียไม่ใช้สิทธิเรียกร้องเช่นว่านั้นย่อมเป็นความผิดของจำเลยที่ 2 เอง จะยกเอามาเป็นข้ออ้างเพื่อให้หลุดพ้นจากความรับผิดที่จะต้องคืนเงินให้แก่ ม. หรือแก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของ ม. มิได้ เมื่อ ม. หรือโจทก์มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุดังกล่าวย่อมไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระให้แก่จำเลยที่ 3 ได้ เพราะเป็นสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ชำระจะเรียกร้องเอาได้
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่า โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 2 รับผิดในฐานละเมิด แต่มิได้ยื่นฟ้องภายใน 1 ปีนับแต่วันที่ ม. รู้ถึงการละเมิด คดีในส่วนจำเลยที่ 2 จึงขาดอายุความ โดยมิได้กล่าวในอุทธรณ์ว่าคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในประเด็นนี้ไม่ถูกต้องอย่างไรบ้างจึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ได้กล่าวไว้โดยชัดแจ้งซึ่งข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จะยกขึ้นอ้างในการยื่นอุทธรณ์ ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ประเด็นนี้ของจำเลยที่ 2 จึงชอบแล้วและถือว่าประเด็นเรื่องอายุความตามฎีกาของจำเลยที่ 2 เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ตามมาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 987-988/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาค้ำประกันหน้าที่ในอนาคต, การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม, และความรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน
การที่โจทก์ฟ้องคดีอ้างว่าจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ไม่เป็นธรรม เป็นการใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 ซึ่งไม่มีรายละเอียดขั้นตอนว่าคำสั่งลงโทษลูกจ้างหรือเลิกจ้างลูกจ้างนั้น นายจ้างจะต้องตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงก่อนหรือการสอบสวนข้อเท็จจริงจะต้องทำให้เสร็จภายในกำหนด 150 วัน แม้ตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 จะต้องมีการสอบสวนข้อเท็จจริงก่อน หรือจะต้องสอบสวนข้อเท็จจริงแล้วดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในกำหนด 150 วัน และจำเลยที่ 1 มิได้ปฏิบัติให้ครบถ้วนถูกต้อง และตามระเบียบข้อบังคับดังกล่าวให้ถือว่าพนักงานผู้นั้นพ้นจากข้อกล่าวหา ก็เป็นเรื่องพ้นจากข้อกล่าวหาในการสอบสวนครั้งนั้นเท่านั้น มิได้หมายความว่าโจทก์มิได้กระทำผิดอันจะมีผลกระทบถึงการพิจารณาคดีของศาล
โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 ตำแหน่งนิติกร 5 มีหน้าที่ฟ้องร้องลูกหนี้ของจำเลยที่ 1 โจทก์เบิกเงินยืมทดรองจ่ายจากจำเลยที่ 1 เป็นค่าขึ้นศาลและค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี แต่โจทก์ไม่ฟ้องคดี โจทก์จึงต้องคืนเงินดังกล่าวแก่จำเลยที่ 1 การที่โจทก์ไม่คืนเงิน โดยนำไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัวจึงเป็นการทุจริตและกระทำผิดระเบียบวินัยร้ายแรง นอกจากนี้ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงวันที่ 19 กันยายน 2545 โจทก์หยุดงานรวม 66.5 วัน โดยอ้างว่าป่วย โจทก์มีสิทธิลาป่วยปีละไม่เกิน 30 วัน โจทก์จึงลาป่วยเกินกำหนดหรือระเบียบ 36.5 วัน อันเป็นการกระทำผิดข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานอย่างร้ายแรงอันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ การที่จำเลยที่ 1 มีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์จึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
จำเลยที่ 4 มีเจตนาค้ำประกันโจทก์ในการที่โจทก์สมัครเข้าทำงานกับจำเลยที่ 1 และยินยอมค้ำประกันโจทก์ไม่ว่าโจทก์จะทำงานกับจำเลยที่ 1 ในหน้าที่หรือตำแหน่งงานใด จึงเป็นการทำสัญญาค้ำประกันหนี้ในอนาคต ตาม ป.พ.พ. มาตรา 681 วรรคสอง ซึ่งกฎหมายอนุญาตให้มีการประกันได้ ดังนั้นเมื่อจำเลยที่ 1 รับโจทก์เข้าทำงาน และต่อมาโจทก์ได้ก่อความเสียหายขึ้น จำเลยที่ 4 จึงต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 1 ตามสัญญาค้ำประกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9524/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิบังคับจำนองย่อมเป็นสิทธิทรัพย์สินแยกต่างหากจากสิทธิส่วนบุคคลตามสัญญาค้ำประกัน แม้พิพากษายกฟ้องค้ำประกัน
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีทั้งเจ็ดสัญญาพร้อมดอกเบี้ยจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่สำหรับหนี้ตามสัญญาใช้บัตรวีซ่ากรุงไทยและสินเชื่อธนวัฎบัตรเครดิต ศาลชั้นต้นเพียงแต่พิพากษายกฟ้องโดยเหตุที่โจทก์มิได้นำสืบจำนวนหนี้ที่แท้จริงในกรณีโจทก์คิดดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้นว่าเป็นจำนวนเท่าใด ทำให้ศาลชั้นต้นไม่อาจพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์ได้และในทำนองเดียวกันศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 ก็โดยเหตุจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 เพียง 4 สัญญาในจำนวน 7 สัญญา แต่โจทก์นำสืบยอดหนี้รวมกันมาทั้งเจ็ดสัญญา ศาลชั้นต้นจึงไม่อาจทราบจำนวนหนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชี 4 สัญญาที่จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันเป็นเหตุให้ไม่อาจพิพากษากำหนดจำนวนเงินที่จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดได้เช่นกัน แต่ศาลชั้นต้นก็มิได้ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องใหม่ คำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงชี้ชัดแล้วว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี สัญญาใช้บัตรวีซ่ากรุงไทยและสินเชื่อธนวัฎบัตรเครดิตเช่นนี้แม้ศาลชั้นต้นในคดีนี้จะพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีต่อโจทก์อันเป็นบุคคลสิทธิที่โจทก์มีต่อจำเลยที่ 2 ตามสัญญาค้ำประกันก็ตามแต่สำหรับที่ดินซึ่งจำเลยที่ 2 จดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ให้ไว้แก่โจทก์นั้น โจทก์ย่อมเป็นเจ้าหนี้จำนองและทรงทรัพย์สิทธิที่จะบังคับจำนองเพื่อเอาชำระหนี้ตามวงเงินจำนองที่จำเลยที่ 2 จดทะเบียนจำนองไว้ได้ เพราะไม่ปรากฏเหตุความระงับสิ้นไปแห่งสัญญาจำนองดังที่ ป.พ.พ. มาตรา 744 บัญญัติไว้ ฉะนั้นที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์มีสิทธิบังคับจำนองที่ดินแปลงดังกล่าวของจำเลยที่ 2 จึงเป็นคำพิพากษาที่ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3833/2552 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ ทำให้สัญญาค้ำประกันเดิมระงับ และศาลพิพากษาเกินคำฟ้อง
การที่จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันยอมรับผิดใช้หนี้ที่ ป. มีต่อโจทก์ด้วยการทำหนังสือรับสภาพหนี้และสัญญากู้เงินขึ้นใหม่ ทั้งสัญญากู้เงินฉบับใหม่และหนังสือรับสภาพหนี้ระบุจำนวนหนี้ใหม่โดยรวมต้นเงินกู้เดิมและดอกเบี้ยเข้าด้วยกัน ย่อมเห็นถึงเจตนาของโจทก์และจำเลยที่ 2 ว่า ต้องการจะทำให้หนี้ตามสัญญากู้เงินเดิมระงับไปโดยการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ การแปลงหนี้ดังกล่าวโจทก์และจำเลยที่ 2 จะทำสัญญากันโดยลำพัง ไม่ต้องให้ ป. ลูกหนี้คนเดิมเข้าเกี่ยวข้องด้วยก็ได้ เพราะการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 350 ห้ามแต่เพียงว่าจะทำโดยขืนใจลูกหนี้เดิมไม่ได้เท่านั้น เมื่อ ป. กู้เงินเพื่อให้จำเลยที่ 2 นำไปลงทุน กรณีจะทำโดยขืนใจ ป. ลูกหนี้เดิมย่อมไม่มี เมื่อหนี้ตามสัญญากู้เงินระงับไปแล้ว จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 698
โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามสัญญาค้ำประกัน มิได้ฟ้องขอให้บังคับให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินฉบับใหม่ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามสัญญากู้เงิน จึงเป็นการพิพากษาเกินไปหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8370/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาค้ำประกัน: การยกเว้นความรับผิดจากผลการปลดจำนอง และขอบเขตความรับผิดของผู้ค้ำประกัน
การที่โจทก์ปลดจำนองให้แก่ ว. อาจทำให้จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันไม่อาจรับช่วงสิทธิจากโจทก์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 693 วรรคสอง ซึ่งอาจเป็นเหตุให้จำเลยที่ 3 หลุดพ้นจากความรับผิดเพียงเท่าที่ตนต้องเสียหายตามมาตรา 697 ก็ตาม แต่ปรากฏว่าตามสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 3 ทำไว้กับโจทก์ ข้อ 5 ระบุว่า "การค้ำประกันนี้ย่อมผูกพันผู้ค้ำประกันอย่างสมบูรณ์ตลอดไป... และผู้ค้ำประกันไม่พ้นจากการรับผิด เพราะเหตุผู้ให้กู้อาจกระทำการใดๆ ไป เป็นเหตุให้ผู้ค้ำประกันไม่อาจเข้ารับช่วงสิทธิได้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในสิทธิใดๆ อันได้ให้หรืออาจได้ให้ไว้แก่ผู้ให้กู้แต่ก่อนหรือในขณะทำสัญญาค้ำประกันนี้" อันเป็นข้อตกลงที่คู่สัญญาได้ตกลงกันยกเว้นบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 697 ซึ่งมิใช่กฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน โจทก์และจำเลยที่ 3 จึงมีอำนาจตกลงกันให้มีผลเป็นอย่างอื่นได้ ดังนั้น เมื่อโจทก์ตกลงปลดจำนองค้ำประกันร่วมให้แก่ ว. แม้จะเป็นเหตุให้จำเลยที่ 3 ได้รับความเสียหายก็ไม่ทำให้จำเลยที่ 3 หลุดพ้นจากความรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันที่ยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามข้อสัญญาดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6020/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจ้างใหม่ทำให้สัญญาค้ำประกันเดิมสิ้นผลผูกพัน เมื่อจำเลยที่ 1 ทำผิดสัญญาในตำแหน่งใหม่ จำเลยที่ 2 และ 3 ไม่ต้องรับผิด
เดิมโจทก์ทำสัญญาจ้างจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของโจทก์ในตำแหน่งพนักงานสินเชื่อ มีจำเลยที่ 2 และที่ 3 ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ไว้แก่โจทก์ตามสัญญาจ้างพนักงานและลูกจ้างของสหกรณ์ ต่อมาโจทก์ได้ทำสัญญาจ้างจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของโจทก์ใหม่ในตำแหน่งผู้จัดการ โดยมีจำเลยที่ 4 จำนองที่ดินเป็นประกันการเข้าทำงานในตำแหน่งผู้จัดการของโจทก์ ตามสัญญาจ้างพนักงานและลูกจ้างสหกรณ์อันเป็นการตกลงทำสัญญาจ้างกันใหม่ในตำแหน่งงานใหม่ที่มีความรับผิดชอบเพิ่มมากขึ้นโดยไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้รู้เห็นให้ความยินยอมด้วย อีกทั้งตามสัญญาจ้างฉบับใหม่ก็ไม่ได้มีข้อความระบุว่าที่ดินส่วนที่จำเลยที่ 4 จำนองเป็นประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ไว้แก่โจทก์นั้นเป็นการประกันเพิ่มเติมจากที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ค้ำประกันไว้เดิม อันเป็นข้อเท็จจริงที่แสดงเจตนาของโจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ให้บังคับตามสัญญาจ้างใหม่ และเป็นผลทำให้สัญญาจ้างจำเลยที่ 1 ในตำแหน่งพนักงานสินเชื่อเดิมและสัญญาค้ำประกันเดิมที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำผูกพันไว้กับโจทก์สิ้นสุดลงไป ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดความเสียหายในขณะทำหน้าที่ผู้จัดการของโจทก์ตามสัญญาจ้างใหม่ จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4640/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องผู้ค้ำประกันรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน การพิสูจน์ลายมือชื่อ และอายุความค้ำประกัน
หนี้เดิมระหว่างโจทก์กับ ส. เป็นหนี้เงินกู้มีอายุความ 10 ปี ขณะที่ทำหนังสือสัญญาค้ำประกันยินยอมรับสภาพหนี้นั้น ยังไม่หมดอายุความ ดังนั้น จะนำอายุความ 2 ปี เรื่องการรับสภาพความรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/35 มาใช้บังคับไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15221/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาค้ำประกันไม่ชัดเจน: ศาลตีความเอื้อประโยชน์ผู้ค้ำประกัน โดยเทียบกับวงเงินที่ระบุในสัญญาอื่น
เมื่อไม่มีการแก้ไขสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.1 ให้มีความชัดเจนในเรื่องความรับผิดของจำเลยที่ 5 ว่าจะต้องรับผิดในจำนวนเท่าใดทั้ง ๆ ที่มีช่องว่างให้เติมตัวเลขหรือข้อความแล้ว ย่อมเป็นกรณีที่มีข้อสงสัย จึงต้องตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่คู่กรณีฝ่ายซึ่งจะเป็นผู้ต้องเสียในมูลหนี้นั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 11 ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.2 ซึ่งฝ่ายโจทก์ยอมให้จำเลยที่ 6 ผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 4 รับผิดในวงเงินไม่เกิน 20,000 บาท แล้วก็จะต้องฟังว่า โจทก์มีเจตนายอมให้จำเลยที่ 5 รับผิดตามสัญญาค้ำประกันในวงเงินไม่เกิน 20,000 บาท ด้วย จำเลยที่ 5 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.1 โดยไม่จำกัดวงเงินตามที่โจทก์อ้างแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15016/2551 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความสัญญาค้ำประกัน & ข้อตกลงไม่ยกข้อต่อสู้ลูกหนี้: ศาลฎีกาตัดสินฟ้องขาดอายุความ
แม้ผู้ค้ำประกันอาจยกข้อต่อสู้ทั้งหลายซึ่งลูกหนี้มีต่อเจ้าหนี้ขึ้นต่อสู้ได้ด้วยดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 694 แต่บทกฎหมายดังกล่าวมิใช่กฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงอาจทำข้อตกลงแตกต่างกับที่กฎหมายมาตรานี้บัญญัติไว้ได้ สิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความเป็นข้อต่อสู้อย่างหนึ่งซึ่งลูกหนี้ยกขึ้นต่อสู้เจ้าหนี้ได้ ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันตกลงกับโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ว่าจะไม่ยกข้อต่อสู้ในเรื่องอายุความของจำเลยที่ 1 ผู้เป็นลูกหนี้ขึ้นต่อสู้โจทก์ตามข้อ 4 ของสัญญาค้ำประกัน ข้อตกลงดังกล่าวจึงมีผลบังคับระหว่างคู่สัญญาและไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน แต่อย่างไรก็ตาม คดีนี้จำเลยที่ 2 ได้ให้การต่อสู้ไว้ว่า ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความแล้ว และยังได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว จึงมีประเด็นข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่ด้วยสัญญาค้ำประกันข้อ 4 คงมีผลเพียงว่า จำเลยที่ 2 ไม่อาจยกข้อต่อสู้ในเรื่องอายุความของจำเลยที่ 1 ขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์เท่านั้น ส่วนอายุความตามสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 2 ย่อมยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ได้ เพราะเป็นข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 2 เองโดยตรงกฎหมายมิได้บัญญัติเรื่องอายุความของสัญญาค้ำประกันไว้ จึงมีอายุความสิบปีอันเป็นอายุความทั่วไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 โดยเริ่มนับอายุความตั้งแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปตามมาตรา 193/12 เมื่อจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้โจทก์ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2531 ซึ่งถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดและโจทก์ชอบที่จะเรียกจำเลยที่ 2 ชำระหนี้ในฐานะผู้ค้ำประกัน จนถึงวันที่โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2545 พ้นเวลาสิบปีแล้ว ฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 2 จึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15016/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงไม่ยกข้อต่อสู้เรื่องอายุความในสัญญาค้ำประกัน: ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าฟ้องขาดอายุความสำหรับผู้ค้ำประกัน
แม้ผู้ค้ำประกันอาจยกข้อต่อสู้ทั้งหลายซึ่งลูกหนี้มีต่อเจ้าหนี้ขึ้นต่อสู้ได้ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 694 แต่บทกฎหมายดังกล่าวมิใช่กฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงอาจทำข้อตกลงแตกต่างกับที่กฎหมายมาตรานี้บัญญัติไว้ได้ สิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความเป็นข้อต่อสู้อย่างหนึ่งซึ่งลูกหนี้ยกขึ้นต่อสู้เจ้าหนี้ได้ การที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันตกลงกับโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ว่าจะไม่ยกข้อต่อสู้ในเรื่องอายุความของจำเลยที่ 1 ผู้เป็นลูกหนี้ขึ้นต่อสู้โจทก์ตามข้อ 4 ของสัญญาค้ำประกัน ข้อตกลงดังกล่าวจึงมีผลบังคับระหว่างคู่สัญญาและไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน และคงมีผลเพียงว่าจำเลยที่ 2 ไม่อาจยกข้อต่อสู้ในเรื่องอายุความของจำเลยที่ 1 ขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์เท่านั้น ส่วนอายุความตามสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 2 ย่อมยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ได้ เพราะเป็นข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 2 เองโดยตรง กฎหมายมิได้บัญญัติเรื่องอายุความของสัญญาค้ำประกันไว้ จึงมีอายุความสิบปีอันเป็นอายุความทั่วไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 โดยเริ่มนับอายุความตั้งแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปตามมาตรา 193/12
of 50