คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
สัญญาเช่าซื้อ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 486 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9203/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในเงินส่วนเกินจากการขายทอดตลาดรถยนต์ของกลางในคดีเกี่ยวกับยาเสพติด ผู้เช่าซื้อมีสิทธิได้รับเงินคืนตามสัญญา
รถยนต์ของกลางเป็นยานพาหนะที่ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ต่อมามีการขายทอดตลาดรถยนต์ของกลาง เงินที่ได้จากการขายทอดตลาดรถยนต์ของกลางที่เกินกว่าจำนวนหนี้คงค้างชำระแก่ผู้ให้เช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อ ถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินอื่นใดที่ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดด้วย เงินที่เหลือจากการขายทอดตลาดรถยนต์ของกลางดังกล่าว จึงเป็นทรัพย์อันพึงริบตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 30

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7366/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อขายรถยนต์ที่มีสัญญาเช่าซื้อก่อน การโอนกรรมสิทธิ์ และสิทธิของบุคคลภายนอก
โจทก์ซึ่งอยู่ในฐานะบุคคลภายนอกผู้มีเพียงบุคคลสิทธิเหนือห้างหุ้นส่วนจำกัด จ. ตามสัญญาซื้อขายรถบัสพิพาทระหว่างโจทก์กับห้างหุ้นส่วนจำกัด จ. ย่อมไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนการโอนทะเบียนรถบัสพิพาทระหว่างห้างหุ้นส่วนจำกัด จ. กับจำเลยที่ 2 หรือให้จำเลยที่ 2 กรรมการบริษัท ด. โอนทะเบียนรถพิพาทมาให้โจทก์ได้ เพราะหลังจากทำสัญญาซื้อขายรถบัสพิพาทกับห้างหุ้นส่วนจำกัด จ. แล้ว ห้างหุ้นส่วนจำกัด จ. ไม่เคยได้กรรมสิทธิ์ในรถบัสพิพาทอันจะสามารถโอนทะเบียนให้แก่โจทก์ได้
ที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์มีสิทธิดีกว่าเพราะเป็นเรื่องบุคคลหลายคนเรียกเอาสังหาริมทรัพย์โดยอาศัยหลักกรรมสิทธิ์ต่างกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1303 และโจทก์เป็นผู้ครอบครองทรัพย์นั้น การเรียกเอาสังหาริมทรัพย์ตามหลักกฎหมายดังกล่าวผู้เรียกต่างต้องได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เรียกด้วยหลักกรรมสิทธิ์อย่างใดอย่างหนึ่งก่อนจึงจะพิจารณาว่า ฝ่ายใดเป็นฝ่ายครอบครองทรัพย์ในลำดับต่อไป แต่คดีนี้ได้ความว่า โจทก์ยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในรถบัสพิพาทแต่อย่างใด เพียงแต่มีสิทธิจะได้รับเมื่อห้างหุ้นส่วนจำกัด จ. ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่บริษัท พ. ครบถ้วนแล้วเท่านั้น โจทก์จึงไม่อาจอ้างได้ว่าได้กรรมสิทธิ์ในรถบัสพิพาทโดยอาศัยหลักกรรมสิทธิ์อย่างใดๆ ได้ แม้ว่าโจทก์จะครอบครองรถบัสพิพาทก็ตาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4912/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าซื้อโดยผู้ให้เช่าซื้อไม่ใช่เจ้าของทรัพย์: ความยินยอมของเจ้าของทรัพย์ทำให้สัญญามีผลผูกพัน
การที่โจทก์กับจำเลยทั้งสองตกลงทำสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันโดยมิได้ฝ่าฝืนอำนาจของเจ้าของทรัพย์ที่เช่าซื้อ แม้โจทก์ที่เป็นฝ่ายผู้ให้เช่าซื้อจะไม่ใช่เจ้าของทรัพย์ที่เช่าซื้ออันเป็นการแตกต่างกับบทบัญญัติ มาตรา 572 ของป.พ.พ. บรรพ 3 ลักษณะ 5 เช่าซื้อ ที่กำหนดให้เจ้าของทรัพย์สินเท่านั้นจึงจะเป็นผู้ให้เช่าซื้อได้ แต่กรณีนี้มีลักษณะพิเศษโดยเจ้าของทรัพย์สินให้ความยินยอมทำให้ไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนและมาตรา 572 ก็มิใช่กฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน แม้สัญญาเช่าซื้อจะแตกต่างจากบทบัญญัติของกฎหมาย มาตรา 572 แต่ก็เป็นสัญญาเช่าซื้อที่ผู้ให้เช่าซื้อที่มิใช่เจ้าของทรัพย์สินได้รับความยินยอมของเจ้าของทรัพย์สินให้นำทรัพย์สินออกให้เช่าซื้อได้จึงไม่เป็นโมฆะมีผลผูกพันคู่กรณี กรณีนี้เป็นการวินิจฉัยข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนซึ่งในคดีที่อาจยกข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนขึ้นอ้างได้นั้น เมื่อศาลเห็นสมควรศาลจะยกข้อเหล่านั้นขึ้นวินิจฉัยแล้วพิพากษาไปก็ได้ ตามป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ มาตรา 246 มาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13118/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาเช่าซื้อและการสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา
บันทึกข้อตกลงที่โจทก์ตกลงโอนสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่าซื้อทั้งหมดให้แก่ผู้ร้องโดยผู้ร้องได้ชำระมูลค่าเช่าซื้อเป็นการตอบแทน และมีการชำระบัญชีหนี้สินระหว่างกันเสร็จสิ้นแล้ว ทั้งยังกำหนดให้โจทก์ดำเนินคดีและบังคับคดีกับลูกหนี้เช่าซื้อต่อไปในนามของผู้ร้อง และเมื่อโจทก์ได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้เช่าซื้อจะต้องชำระเงินให้แก่ผู้ร้องทั้งหมด แสดงว่าผู้ร้องแต่ผู้เดียวมีอำนาจในการดำเนินการเพื่อให้ได้รับชำระหนี้และรับชำระหนี้เช่าซื้อ ดังนั้น บันทึกข้อตกลงดังกล่าวถือว่าเป็นสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 303 และโจทก์สามารถโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่ผู้ร้องได้ตาม พ.ร.ก.การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 มาตรา 27 โจทก์ไม่ต้องบอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 306 การโอนสิทธิเรียกร้องของโจทก์ให้แก่ผู้ร้องตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย ผู้ร้องมีสิทธิเข้าสวมสิทธิในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีนี้ที่จะบังคับคดีแก่จำเลยทั้งสองแทนโจทก์ต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1140/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลในการกำหนดค่าเสียหายจากการเลิกสัญญาโดยปริยาย และสิทธิในการเรียกร้องค่าขาดประโยชน์
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ โจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อและติดตามยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อกลับคืนมาและนำออกประมูลขายทอดตลาด เมื่อนำมาหักกับราคาเช่าซื้อที่ค้างชำระแล้วยังขาดอยู่อีก โจทก์จึงเรียกค่าเสียหายเป็นค่าขาดราคาและค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์พร้อมดอกเบี้ย ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ผิดนัด ให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายเป็นค่าขาดราคา 160,000 บาท ส่วนค่าขาดประโยชน์และดอกเบี้ยนั้นถือเป็นการคิดค่าเสียหายส่วนหนึ่ง เมื่อได้กำหนดค่าเสียหายให้เป็นจำนวนพอสมควรแล้วจึงไม่กำหนดให้อีก พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินแก่โจทก์ 160,000 บาท คำขออื่นให้ยก ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแสดงว่า โจทก์มีสิทธิได้รับทั้งค่าขาดราคาและค่าขาดประโยชน์ แต่เมื่อศาลกำหนดค่าเสียหายเป็นค่าขาดราคาให้โจทก์มากพอสมควรแล้ว จึงไม่กำหนดค่าขาดประโยชน์ให้อีก ดังนั้น ในชั้นอุทธรณ์ เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าการบอกเลิกสัญญาของโจทก์ไม่ชอบ ตามพฤติการณ์ถือได้ว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างสมัครใจเลิกสัญญาต่อกันโดยปริยาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าเสียหายเป็นค่าขาดราคา แต่โจทก์คงมีสิทธิได้รับค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์ ศาลอุทธรณ์ก็ย่อมมีอำนาจกำหนดค่าเสียหายที่เป็นค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์ได้ (แม้โจทก์แก้อุทธรณ์โดยไม่ได้ขอค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์) เพราะเป็นส่วนหนึ่งของค่าเสียหายที่โจทก์ฟ้อง และศาลชั้นต้นเห็นว่าโจทก์มีสิทธิได้รับอยู่แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าขาดประโยชน์แก่โจทก์จึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11294/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยักยอกทรัพย์จากสัญญาเช่าซื้อ: อำนาจฟ้อง, การไม่ระงับคดี, และการพิสูจน์ความผิด
ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118 กำหนดให้ตราสารที่มิได้ปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์จะใช้ต้นฉบับ คู่ฉบับ คู่ฉีก หรือส่วนของตราสารเป็นพยานหลักฐานไม่ได้นั้นใช้เฉพาะในคดีแพ่งเท่านั้น ส่วนในคดีอาญาไม่มีบทกฎหมายใดห้ามมิให้นำตราสารดังกล่าวมารับฟังเป็นพยานหลักฐานด้วย
การที่ผู้เสียหายฟ้องจำเลยในคดีแพ่งมิได้เป็นการถอนคำร้องทุกข์ ถอนฟ้องหรือยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย ดังนั้น สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจึงไม่ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)
โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 8 มีนาคม 2549 เวลากลางวันถึงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2549 เวลากลางคืน จำเลยเป็นผู้ครอบครองรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน กข 3228 พัทลุง ของผู้เสียหาย จำเลยเบียดบังเอารถยนต์คันดังกล่าวเป็นของตนหรือบุคคลอื่นโดยทุจริต ดังนี้ ฟ้องโจทก์ได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้นๆ อีกทั้งบุคคลและสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีและครบองค์ประกอบความผิดฐานยักยอก โจทก์ไม่จำต้องบรรยายว่าจำเลยกระทำการเบียดบังยักยอกรถยนต์ไปอย่างไร เรื่องดังกล่าวเป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณาฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
หลังจากทำสัญญาเช่าซื้อจำเลยชำระค่าเช่าซื้อให้ผู้เสียหายเพียง 2 งวดแล้วไม่ชำระค่าเช่าซื้ออีกเลย และจำเลยนำรถที่เช่าซื้อไปตีใช้หนี้ให้แก่ผู้อื่นโดยจำเลยทราบอยู่แล้วว่ารถที่เช่าซื้อยังเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้เสียหาย เมื่อ จ. ไปติดตามยึดรถที่เช่าซื้อแต่จำเลยบ่ายเบี่ยงไม่ให้ความร่วมมือ พฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวบ่งชี้ให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาเบียดบังเอาทรัพย์ของผู้เสียหายที่อยู่ในครอบครองของจำเลยไปโดยทุจริต จึงเป็นความผิดฐานยักยอก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3400/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงภาระจำยอมในสัญญาเช่าซื้อ แม้จะมีการโอนสิทธิก็ยังผูกพันจำเลยเดิม
สัญญาเช่าซื้อที่ดินมีข้อความระบุไว้ในข้อ 7 ว่า "ผู้ให้เช่าซื้อจะต้องทำถนนกว้าง 3 เมตร และถนนแยกกว้าง 4 เมตร ผ่านที่ดินของผู้เช่าซื้อตามสัญญานี้ และยินยอมให้ผู้เช่าซื้อใช้ถนนดังกล่าวนี้ตลอดไป..." เชื่อว่าจำเลยได้ตกลงว่าจะจดทะเบียนภาระจำยอมในทางพิพาทแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งห้าแปลง ข้อตกลงดังกล่าวก่อให้เกิดบุคคลสิทธิแก่โจทก์ในอันที่จะเรียกร้องให้จำเลยไปจดทะเบียนภาระจำยอมในทางพิพาทแก่โจทก์ เมื่อได้จดทะเบียนเช่นนั้นแล้วการได้มาซึ่งภาระจำยอมโดยนิติกรรมดังกล่าวย่อมบริบูรณ์ตามกฎหมายสมเจตนาของคู่กรณี สิทธิของโจทก์ตามนิติกรรมดังกล่าวนี้เป็นสิทธิเรียกร้องระหว่างโจทก์และจำเลยซึ่งเป็นคู่กรณี แม้ตามข้อเท็จจริงจำเลยจะโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งห้าแปลงให้บุตรของจำเลยก่อน คือ อ. และ ศ. ต่อมาบุตรของจำเลยจึงโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งห้าแปลงให้แก่โจทก์ จำเลยก็ยังผูกพันตามข้อตกลงที่จำเลยตกลงไว้กับโจทก์ไม่เปลี่ยนแปลง โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องบังคับจำเลยให้ไปจดทะเบียนภาระจำยอมทางพิพาทแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งห้าแปลง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2089/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าซื้อมีผลผูกพันแม้ไม่มีการปิดอากรแสตมป์ทันที ศาลฎีกาวินิจฉัยประเด็นค่าเสียหายและราคาซื้อขาย
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 572 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทบัญญัติว่าด้วยแบบของสัญญาเช่าซื้อบัญญัติไว้เพียงว่า "สัญญาเช่าซื้อนั้นถ้าไม่ทำเป็นหนังสือ ท่านว่าเป็นโมฆะ" เมื่อปรากฏว่าสัญญาเช่าซื้อได้ทำขึ้นโดยมีจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อไว้ในช่องผู้เช่า และมีผู้รับมอบอำนาจโจทก์ลงลายมือชื่อไว้ในช่องเจ้าของ ถือได้ว่าสัญญาเช่าซื้อได้ทำขึ้นเป็นหนังสือตามแบบที่บัญญัติไว้แล้ว จึงมีผลผูกพันคู่สัญญาให้ต้องปฏิบัติตามนั้น ส่วนการปิดอากรแสตมป์ในตราสารตามที่บัญญัติไว้ใน ป.รัษฎากร ก็เป็นเรื่องของการเรียกเก็บอากรอันเป็นอีกเรื่องหนึ่งแยกต่างหาก ทั้งการไม่ปิดอากรแสตมป์ให้บริบูรณ์ก็มีผลเพียงไม่อาจอ้างตราสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานได้เท่านั้น มิใช่ว่าสัญญาที่มิได้ปิดอากรแสตมป์ให้บริบูรณ์จะตกเป็นโมฆะไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1823/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกานอกประเด็นฟ้อง: สัญญาไม่ใช่ซื้อขายแต่เป็นสัญญาเช่าซื้อ เงินที่ชำระไม่ใช่เงินมัดจำ ต้องห้ามฎีกาตาม ป.พ.พ. มาตรา 249
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาซื้อขายสินค้ากับโจทก์ราคา 1,502,424 บาท ตกลงชำระค่ามัดจำ 360,000 บาท โดยชำระในวันทำสัญญา 60,000 บาท ในวันติดตั้งสินค้า 37,500 บาท อีก 262,500 บาท ชำระหลังจากที่จำเลยผ่อนชำระราคาสินค้าส่วนที่เหลือ 1,142,424 บาท ให้แก่บริษัทเงินทุนครบถ้วนแล้ว ต่อมาจำเลยผิดสัญญาไม่ผ่อนชำระเงินค่างวดแก่บริษัทเงินทุนเป็นเหตุให้ถูกบอกเลิกสัญญาและยึดสินค้าคืน ถือว่าจำเลยสละเงื่อนเวลาและไม่ได้รับประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาอีกต่อไป จำเลยจึงต้องรับผิดในเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย การที่โจทก์ฎีกาว่า สัญญาตามฟ้องแม้ระบุว่าเป็นสัญญาซื้อขาย แต่เมื่อพิจารณาข้อความในสัญญาแล้วมิใช่สัญญาซื้อขายเพราะโจทก์จำเลยไม่ได้ตกลงที่จะให้มีการส่งมอบสินค้าซึ่งเป็นวัตถุแห่งหนี้ และสัญญามีข้อตกลงให้โจทก์เป็นฝ่ายจัดหาบริษัทเงินทุนเพื่อให้จำเลยทำสัญญาเช่าซื้อผ่อนชำระราคาสินค้าส่วนที่เหลือ สัญญาดังกล่าวถือเป็นสัญญาชนิดหนึ่งซึ่งใช้บังคับได้ เงินจำนวน 262,500 บาท ที่ระบุในสัญญาจึงมิใช่มัดจำ เมื่อจำเลยตกลงจะชำระราคาสินค้าส่วนที่เหลือจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ จำเลยจึงไม่หลุดพ้นจากความรับผิด เป็นฎีกานอกเหนือประเด็นที่กล่าวในฟ้อง ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ต้องห้ามฎีกาตาม ป.พ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8818/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาล, สัญญาเช่าซื้อที่ไม่เป็นธรรม, และดุลพินิจการเรียกบุคคลภายนอกเข้าสู่คดี
แม้โจทก์จะลงลายมือชื่อในสัญญาเช่าซื้อที่สำนักงานโจทก์ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานครก่อนแล้วจึงส่งสัญญาเช่าซื้อให้จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อในฐานะผู้เช่าซื้อที่จังหวัดสงขลา ก็ย่อมถือได้ว่าสำนักงานโจทก์เป็นสถานที่ที่ทำสัญญาเช่าซื้ออันเป็นสถานที่ที่มูลคดีเกิดอีกแห่งหนึ่งด้วย เมื่อสำนักงานโจทก์ตั้งอยู่เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1) และมาตรา 5
ปัญหาว่าข้อตกลงตามสัญญาเช่าซื้อที่มีใจความเพื่อยกเว้นความรับผิดตามกฎหมายอันเป็นการให้ประโยชน์แก่โจทก์ฝ่ายเดียว ย่อมตกเป็นโมฆะตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 ถือเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้ให้การต่อสู้ไว้ จำเลยที่ 1 ย่อมยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง
ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) (ก) ไม่ใช่บทบังคับเด็ดขาดว่าศาลจะต้องอนุญาตตามคำร้องขอของคู่ความในทุกกรณี ศาลย่อมมีดุลพินิจที่จะพิจารณาว่าสมควรให้เรียกบุคคลภายนอกเข้ามาในคดี หรือไม่เรียกเข้ามาในคดีหากจะไม่เป็นการสะดวกแก่การพิจารณา ทั้งนี้หากศาลไม่อนุญาตคู่ความที่ยื่นคำร้องก็ยังมีสิทธิที่จะฟ้องบุคคลภายนอกดังกล่าวต่างหากจากคดีนี้ได้ เมื่อปรากฏว่าประเด็นพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองมีเฉพาะในเรื่องเช่าซื้อและค้ำประกัน การที่ศาลชั้นต้นยกคำร้องของจำเลยที่ 1 ที่ขอให้หมายเรียกบริษัท ว. เข้ามาเป็นจำเลยร่วมเพื่อให้ใช้เงินแก่โจทก์ตามสัญญาประกันภัย จึงเป็นดุลพินิจในการสั่งคดีของศาลชั้นต้น คำสั่งดังกล่าวไม่ขัดต่อกฎหมาย
of 49