คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ผูกพัน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 516 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7860/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาแบ่งสินสมรสหลังหย่ามีผลผูกพัน โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องทรัพย์สินเพิ่มเติม
เมื่อมีการหย่ากันโดยจดทะเบียนหย่าย่อมมีผลนับแต่จดทะเบียนและให้จัดการแบ่งทรัพย์สินตามที่มีอยู่ในเวลาจดทะเบียนหย่า ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1531 และ 1532 (ก) ซึ่งมาตรา 1532 (ก) มีจุดมุ่งหมายให้มีการแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาให้เสร็จเรียบร้อยก่อนที่คู่หย่าจะแยกจากกัน หากมีการตกลงเกี่ยวกับทรัพย์สินแล้ว ถือว่าเป็นการตกลงแบ่งทรัพย์สินตามมาตราดังกล่าว เป็นการทำสัญญาประนีประนอมยอมความตามมาตรา 850 ส่วนบทบัญญัติมาตรา 1533 ที่บัญญัติว่า เมื่อหย่ากันให้แบ่งสินสมรสให้ชายและหญิงได้ส่วนเท่ากัน ก็ไม่ใช่บทบัญญัติเด็ดขาดโดยคู่หย่าสามารถตกลงให้แบ่งสินสมรสเป็นอย่างอื่นได้และในส่วนสินส่วนตัวก็ตกลงแบ่งกันอย่างใดก็ได้
เมื่อโจทก์จำเลยตกลงกันในขณะจดทะเบียนหย่าแล้วว่าให้จำเลยอุปการะเลี้ยงดูบุตร ให้บ้านและที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์จำเลย ให้โจทก์ออกจากบ้านดังกล่าว ให้รถยนต์ 2 คัน เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ โดยจำเลยจ่ายเงินให้แก่โจทก์รวม 3,500,000 บาท โดยโจทก์ไม่ต้องชำระหนี้อีก ก็ต้องเป็นไปตามนั้น และลงลายมือชื่อโดยมีพยาน 2 คน และนายทะเบียนลงลายมือชื่อไว้ด้วย แม้บันทึกข้อตกลงจะไม่มีข้อความ "ทรัพย์สินอื่นนอกจากนี้โจทก์ไม่ติดใจเรียกร้อง" ก็ตาม แต่โจทก์เบิกความลอย ๆ ว่า ไม่มีการตกลงว่าจะไม่ขอแบ่งอีก โดยไม่มีพยานอื่นสนับสนุนคำเบิกความ จำเลยมีพยานบุคคลซึ่งเป็นคนกลางยืนยันถึงการเจรจาตามบันทึกข้อตกลง ทั้งจำเลยได้ดำเนินการตามข้อตกลงแก่โจทก์แล้ว จึงไม่มีเหตุผลที่หย่ากันแล้วจะไม่เจรจาเกี่ยวกับทรัพย์สินให้เสร็จสิ้น จึงฟังได้ว่าโจทก์และจำเลยตกลงแบ่งทรัพย์สินกันชัดเจน โดยโจทก์ตกลงเอาทรัพย์สินตามที่บันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าเท่านั้น ส่วนทรัพย์สินอื่นตามฟ้องนอกจากที่ตกลง หากมีชื่อของโจทก์หรือจำเลยก็ให้ตกเป็นของฝ่ายนั้น ส่วนหนี้สินให้จำเลยรับผิดชอบ ข้อตกลงดังกล่าวเป็นสัญญาแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาและเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความเพื่อระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่ หรือจะมีขึ้นนั้นให้เสร็จไปด้วย ต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันตามมาตรา 850 ผลของสัญญาย่อมทำให้การเรียกร้องซึ่งโจทก์และจำเลยได้ยอมสละนั้นระงับสิ้นไป และทำให้โจทก์และจำเลยได้สิทธิตามที่แสดงในสัญญานั้นเป็นของตน ตามมาตรา 852 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกเอาทรัพย์สินตามฟ้องอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9129/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนนิติกรรมโอนมรดกที่ดินที่มีข้อกำหนดห้ามโอน และผลของการประนีประนอมยอมความที่มีผลผูกพันเฉพาะผู้ทำ
การที่โจทก์กับนาง ท. ฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ขอเพิกถอนนิติกรรมระหว่างจำเลยที่ 2 กับที่ 3 ในคดีก่อน นั้น ถือได้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นทายาทคนหนึ่งฟ้องบุคคลภายนอกแทนทายาทคนอื่นๆ ด้วย เพราะหากศาลพิพากษาให้เพิกถอนที่ดินกลับมาเป็นทรัพย์ในกองมรดก ทายาททุกคนย่อมได้รับประโยชน์ แต่การที่โจทก์กับนาง ท. ทำสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน 90,000 บาท แก่โจทก์กับนาง ท. และศาลพิพากษาตามยอม คดีถึงที่สุดแล้ว การกระทำของโจทก์ในฐานะทายาทซึ่งเป็นเจ้าของรวมในทรัพย์มรดกใช้สิทธิขัดกับทายาทอื่นหรือเจ้าของรวมคนอื่น คำพิพากษาตามยอมในคดีดังกล่าวคงผูกพันเฉพาะส่วนของโจทก์เท่านั้น หาได้ผูกพันทายาทอื่นหรือเจ้าของรวมคนอื่นไม่ เมื่อโจทก์ใช้อำนาจผู้จัดการมรดกฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นคดีนี้อีก จึงเป็นคู่ความเดียวกันและมีประเด็นเดียวกัน คือ ขอให้เพิกถอนนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 กับที่ 3 กับคดีก่อนซึ่งถึงที่สุดแล้ว จึงเป็นฟ้องซ้ำเฉพาะส่วนของโจทก์ในฐานะส่วนตัวเท่านั้น แต่ในส่วนผู้จัดการมรดกหาได้เป็นฟ้องซ้ำด้วยไม่
ที่ดินพิพาทมีข้อกำหนดห้ามโอนภายในสิบปี ตามมาตรา 58 ทวิ แห่ง ป.ที่ดิน มุ่งหมายที่จะควบคุมมิให้มีการเปลี่ยนแปลงจากผู้รับโฉนดที่ดินไปเป็นของบุคคลอื่นจนกว่าจะพ้นระยะเวลาห้ามโอน เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดก หรือเป็นการโอนในกรณีอื่นตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 58 ทวิ วรรคห้า เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนาง น. ตามคำสั่งศาลจดทะเบียนใส่ชื่อตนเองในฐานะผู้จัดการมรดกและโอนมาเป็นชื่อตนเองในฐานะทายาทในวันเดียวกันเช่นนี้ ถือเป็นการโอนทางมรดก ซึ่งเข้าข้อยกเว้น จึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทมาเป็นของตนในฐานะทายาทเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ต่อมาจำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน หลังจากพ้นระยะเวลาห้ามโอนแล้ว สัญญาซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 จึงไม่เป็นโมฆะ เมื่อจำเลยที่ 3 ซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 2 โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนเช่นเดียวกัน ถือได้ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นบุคคลภายนอกได้ทำการโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน โจทก์จึงไม่มีอำนาจขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินพิพาทดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7309/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำ: ทายาทฟ้องแย่งทรัพย์มรดกเดิม ศาลถือเป็นฟ้องซ้ำเมื่อมีคำพิพากษาผูกพันทายาทอื่นแล้ว
แม้โจทก์ทั้งสี่จะไม่ใช่คู่ความในคดีก่อน แต่มูลแห่งสิทธิอันเป็นข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตามคำฟ้อง คือ สิทธิแห่งทายาทในการรับมรดกแทนที่บิดามารดาของตน เรียกร้องเอาที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกเดียวกันของผู้ตายเช่นเดียวกับโจทก์ในคดีก่อน จึงเป็นกรณีทายาทมีสิทธิรับมรดกแทนที่ทายาทในลำดับเดียวใช้สิทธิแห่งความเป็นทายาทของผู้ที่ตนเข้าแทนที่ฟ้องเรียกเอาทรัพย์มรดก ถือว่าเป็นการฟ้องในนามทายาททุกคน เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยทั้งสามชนะคดี คำพิพากษาศาลชั้นต้นดังกล่าวย่อมผูกพันคู่ความรวมถึงทายาทที่มีสิทธิรับมรดกแทนที่ทายาทนั้นเช่นเดียวกับคู่ความด้วย คำฟ้องโจทก์คดีนี้ย่อมเป็นฟ้องซ้ำ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6655/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผลคำพิพากษาคดีอาญาผูกพันคดีแพ่ง: การพิจารณาข้อเท็จจริงจากคำพิพากษาอาญาในคดีแพ่ง
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถูกพนักงานอัยการฟ้องเป็นคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4218/2549 ของศาลชั้นต้น ขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 385 และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2208/2549 ของศาลชั้นต้น ขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 385 โดยโจทก์เข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีทั้งสองดังกล่าว นอกจากนี้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ยังถูกพนักงานอัยการฟ้องเป็นคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3551/2550 ของศาลชั้นต้น ขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 229 โดยโจทก์เป็นผู้เสียหาย คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดโดยกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสามร่วมกับประชาชนอื่นปิดถนนอันเป็นการกระทำเดียวกับที่จำเลยทั้งสามกับพวกถูกพนักงานอัยการฟ้องเป็นคดีอาญาดังกล่าว โดยคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4218/2549 ของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำพิพากษายกฟ้อง โดยวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4218/2549 เป็นฟ้องซ้ำกับฟ้องโจทก์ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2208/2549 ของศาลชั้นต้น สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจึงระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) และปรากฏตามคำพิพากษาในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2208/2549 ของศาลชั้นต้นซึ่งมีคำพิพากษาให้ยกฟ้องโดยวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานโจทก์มีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยทั้งสอง (จำเลยที่ 1 และที่ 3 คดีนี้) เป็นผู้กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยทั้งสอง (จำเลยที่ 1 และที่ 3 คดีนี้) และสำหรับ จำเลยที่ 2 และที่ 3 เมื่อคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3551/2550 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยทั้งสี่ (รวมถึงจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในคดีนี้) อาจกระทำไปโดยเข้าใจโดยสุจริตว่ามีสิทธิทำได้เพราะได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากขยะที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายในคดีดังกล่าวนำไปฝังกลบ และทางนำสืบของโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสี่ (รวมถึงจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในคดีนี้) เป็นผู้นำถังน้ำมันขนาด 200 ลิตร วางขวางถนน แม้ในคดีดังกล่าวโจทก์ไม่ได้เป็นคู่ความก็ตาม แต่โจทก์ก็เป็นผู้เสียหาย จึงถือว่าพนักงานอัยการฟ้องคดีแทนโจทก์ และส่วนที่วันกระทำผิดตามฟ้องคือวันที่ 29 ธันวาคม 2546 แตกต่างจากคดีนี้นั้น ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3551/2550 ศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าวันที่ 30 กันยายน 2546 ถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2547 มีกลุ่มประชาชนนำเต็นท์และสิ่งกีดขวางปิดกั้นถนน โดยอ้างว่าได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากกากอุตสาหกรรมทำให้น้ำเน่าเสีย การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องจากวันที่ 30 กันยายน 2546 ในคดีนี้ต่อเนื่องกันไปจนถึงวันที่ 29 ธันวาคม 2546 อันเป็นวันกระทำความผิดในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3551/2550 การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในคดีนี้และจำเลยทั้งสี่ (รวมถึงจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในคดีนี้) ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3551/2550 ของศาลชั้นต้นจึงเป็นการกระทำเดียวและต่อเนื่องกันซึ่งเป็นประเด็นข้อเท็จจริงที่ตรงกัน ทั้งถือว่าโจทก์และจำเลยเป็นคู่ความเดียวกันกับในคดีนี้ และเมื่อคดีดังกล่าวทั้งหมดถึงที่สุดแล้ว ข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาดังกล่าวจึงผูกพันโจทก์และจำเลยทั้งสาม ดังนั้น ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจึงจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5328/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ตัวแทนค้าต่าง: การพิสูจน์อำนาจและการผูกพันตามสัญญาซื้อขาย
การเกิดขึ้นและการปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขายมีสาระสำคัญเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการเจรจาต่อรองซึ่งเป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า สัญญาเกิดขึ้นโดยใจสมัครของทั้งสองฝ่าย จากนั้นมีการนำส่งคำเสนอและคำสนองเป็นลายลักษณ์อักษรลงนาม โดยคู่สัญญาหรือตัวแทนปรากฏรายละเอียดของสินค้าที่เจรจาต่อรองกันแล้วว่าจะซื้อขายกัน จำเลยทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ติดต่อและประสานงานด้านข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและเอกสารที่ต้องใช้ในการซื้อขายและส่งมอบ โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยมีอำนาจตัดสินใจในขั้นตอนการเจรจาต่อรอง การทำคำเสนอ และการชำระราคา ทั้งชื่อของผู้ซื้อกับตัวแทนผู้ซื้อก็ปรากฏโดยเปิดเผยในเอกสารที่เกี่ยวกับการซื้อขาย ลำพังแต่การตรวจสอบสินค้าขั้นสุดท้ายก่อนการส่งมอบแก่ผู้ขนส่งที่จำเลยมีส่วนเกี่ยวข้องมากที่สุดและเป็นขั้นตอนสุดท้ายในกระบวนการปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขาย ยังไม่เพียงพอที่จะถือได้ว่าเป็นตัวแทนค้าต่างที่ทำสัญญาซื้อขายทั้งหกครั้งในนามของตนเองแทน อันอาจจะทำให้จำเลยต้องผูกพันตามสัญญาซื้อขายต่อโจทก์ หรือเป็นตัวแทนที่อยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศในอันที่จะต้องรับผิดแต่ลำพังตนเอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10850/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ตัวแทนเชิด: สัญญาจ้างเหมามีผลผูกพันกับตัวการ แม้จะอ้างว่าโจทก์เป็นตัวแทน
ป.พ.พ. บัญญัติเกี่ยวกับเรื่องตัวแทนเชิดไว้ในมาตรา 821 ว่าบุคคลผู้ใดเชิดบุคคลอีกคนหนึ่งออกแสดงเป็นตัวแทนของตนก็ดี รู้แล้วยอมให้บุคคลอีกคนหนึ่งเชิดตัวเขาเองออกแสดงเป็นตัวแทนของตนก็ดี ท่านว่าบุคคลนั้นจะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริตเสมือนว่าบุคคลอีกคนหนึ่งนั้นเป็นตัวแทนของตน จึงเป็นบทบัญญัติถึงความรับผิดของตัวการที่มีต่อบุคคลภายนอกเท่านั้น มิได้กำหนดให้บุคคลภายนอกต้องรับผิดหรือมีความผูกพันต่อตัวการ บุคคลภายนอกย่อมมีอำนาจฟ้องตัวการให้รับผิดได้ แต่บุคคลภายนอกไม่อาจฟ้องตัวแทนได้ และตัวการก็จะฟ้องบุคคลภายนอกให้รับผิดไม่ได้เช่นกัน เมื่อจำเลยเป็นบุคคลภายนอกจึงหาอาจกล่าวอ้างว่าโจทก์ซึ่งลงชื่อเป็นผู้รับจ้างในสัญญาจ้างเหมาที่ทำกับตนนั้นเป็นเพียงตัวแทนเชิดของบริษัท จ. ตัวการเพื่อให้จำเลยไม่ต้องผูกพันหรือรับผิดตามสัญญาได้ไม่ จำเลยจึงต้องผูกพันรับผิดตามสัญญาจ้างเหมากับโจทก์ โจทก์มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2819/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงเลิกจ้างที่มีการจ่ายเงินชดเชย ไม่ขัดต่อกฎหมาย และมีผลผูกพันลูกจ้าง
เอกสารซึ่งมีข้อความที่แสดงให้เห็นว่า โจทก์ได้รับทราบการเลิกจ้างเป็นหนังสือจากจำเลยแล้ว และยังทราบว่าจำเลยตกลงจ่ายเงินที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามกฎหมายต่าง ๆ จำนวนหนึ่งให้แก่โจทก์ แม้ในขณะนั้น โจทก์ยังคงเป็นลูกจ้างของจำเลยอยู่ก็ตาม แต่โจทก์ก็มีอิสระที่จะตัดสินใจได้โดยไม่อยู่ในภาวะที่จะต้องเกรงกลัวจำเลย หรือถูกบีบบังคับให้รับเงินต่าง ๆ ตามที่จำเลยเสนอให้ โดยโจทก์สามารถเลือกได้อย่างอิสระว่าจะตกลงยอมรับเงินจำนวนดังกล่าว หรือไม่ตกลงยอมรับแล้วไปใช้สิทธิฟ้องร้องเรียกเงินค่าจ้างและเงินอื่น ๆ ที่โจทก์มีสิทธิจะได้รับตามกฎหมายจากจำเลยในภายหลัง ข้อตกลงที่โจทก์ยอมรับว่าไม่ติดใจที่จะเรียกร้องเงินใด ๆ จากจำเลยอีกต่อไป จึงไม่ขัดต่อ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 ทั้งไม่ต้องห้ามโดยกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่มีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อตกลงดังกล่าวจึงมีผลบังคับและผูกพันโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจากจำเลยอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14401/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ลงลายมือชื่อเช็คในฐานะผู้แทนและผู้ผูกพันตนเองตามกฎหมาย
แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ เป็นการกระทำในฐานะผู้แทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคล จึงไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัวก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อด้านหลังเช็คพิพาทด้วย โดยไม่ปรากฏว่าเป็นการค้ำประกันหรือข้อความอื่นใดในทำนองเดียวกัน เช่นนี้ ต้องรับฟังว่า จำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อในเช็คพิพาทด้วยความสมัครใจที่จะผูกพันตนในอันที่จะต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงเช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายตาม ป.พ.พ. มาตรา 900 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 3 หาใช่เป็นผู้สลักหลังเช็คพิพาทที่โจทก์ในฐานะผู้ทรงเช็คต้องยื่นเช็คแก่ธนาคารเพื่อให้ใช้เงินภายในเดือนหนึ่งนับแต่วันออกเช็คตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 990 วรรคหนึ่ง แต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20333/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำเลยร่วมเสนอราคาโดยทราบปัญหาพื้นที่ก่อสร้างแล้ว ต้องผูกพันตามสัญญา แม้จะยังไม่ได้ตรวจสอบรายละเอียด
ตามข้อกำหนดในการยื่นซองประกวดราคา โจทก์ได้ให้ผู้เสนอราคาตรวจสอบสถานที่ที่จะใช้ในการก่อสร้างก่อนการเสนอราคา ก่อนยื่นซองประกวดราคาจำเลยร่วมส่งพนักงานไปดูพื้นที่ที่จะทำการก่อสร้าง แสดงว่าก่อนที่จำเลยร่วมจะยื่นซองประกวดราคาย่อมทราบดีอยู่ก่อนแล้วว่าการก่อสร้างอาจจะมีปัญหากับเจ้าของที่ดินข้างเคียงได้ แต่ก็ยังสมัครใจและตกลงเข้าเสนอราคาในการประกวดราคากับโจทก์จึงต้องผูกพันในอันที่จะต้องเข้าทำสัญญากับโจทก์ภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งตามข้อกำหนดการประกวดราคา ไม่อาจยกเอาเหตุที่จะต้องจัดให้มีการประชุมร่วมระหว่างโจทก์ จำเลยร่วม และเจ้าของที่ดินข้างเคียงมาอ้างเป็นเหตุที่จะปฏิเสธไม่ทำสัญญา ส่วนที่จำเลยร่วมฎีกาว่า ในการตรวจสอบพื้นที่เป็นเพียงการตรวจสอบโดยทั่วไปเพื่อเสนอราคาก่อสร้างเท่านั้น มิได้ตรวจสอบอย่างละเอียดจึงยังไม่ทราบถึงผลกระทบที่จะมีต่อที่ดินแปลงข้างเคียงนั้น ก็เป็นเรื่องที่จำเลยร่วมบกพร่องหรือละเลยไม่ตรวจสอบให้ละเอียดเอง จึงไม่อาจนำมาเป็นเหตุอ้างเพื่อจะไม่ต้องผูกพันตามข้อกำหนดการประกวดราคา และที่จำเลยร่วมฎีกาว่า โจทก์ต้องดำเนินการบอกเลิกสัญญาก่อนจึงจะใช้สิทธิในการริบเงินประกันของจำเลยร่วมนั้น เห็นว่า เมื่อจำเลยร่วมไม่เข้าทำสัญญากับโจทก์ตามข้อกำหนดการประกวดราคา จำเลยร่วมจึงต้องรับผิดต่อโจทก์อันเป็นความรับผิดตามข้อกำหนดก่อนสัญญา โจทก์จึงชอบที่จะฟ้องบังคับให้จำเลยร่วมร่วมรับผิดกับจำเลยตามข้อกำหนดดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16694/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาผูกพันการทำงานหลังจบการศึกษาที่ไม่เป็นธรรม: สิทธิของนักศึกษา vs. ข้อสัญญาสำเร็จรูป
เมื่อพิจารณาถึงการที่จำเลยที่ 1 เข้าเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยโจทก์โดยชำระค่าใช้จ่ายในการศึกษาแต่ละภาคการศึกษาเป็นเงินจำนวนไม่น้อย โดยโจทก์เพิ่งแจ้งให้ทราบภายหลังเมื่อจำเลยที่ 1 เข้าเป็นนักศึกษาแล้วถึง 3 ปี ว่าจำเลยที่ 1 จะต้องเข้าทำสัญญาดังกล่าวกับมหาวิทยาลัยโจทก์ ย่อมทำให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนักศึกษาตกอยู่ในฐานะเสียเปรียบโดยจำยอมต้องเข้าทำสัญญาดังกล่าว เพราะมิฉะนั้นอาจเป็นผลต่อการสำเร็จการศึกษา ทั้งสัญญาผูกพันการเข้าปฏิบัติงานตามเอกสารหมาย จ.9 และสัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.13 เป็นสัญญาสำเร็จรูป โดยมีการพิมพ์ข้อความกำหนดข้อสัญญาที่เป็นสาระสำคัญไว้ล่วงหน้า และข้อความในสัญญาผูกพันการปฏิบัติงานตามเอกสารหมาย จ.9 มีใจความโดยสรุปว่า เมื่อจำเลยที่ 1 สำเร็จการศึกษาแล้วจะปฏิบัติตามคำสั่งของมหาวิทยาลัยโจทก์ โดยไปปฏิบัติงานตามที่มหาวิทยาลัยโจทก์จัดการ หรือกำหนดให้ไม่ว่าในมหาวิทยาลัยหรือในโรงพยาบาลอื่นเป็นเวลา 3 ปี หากจำเลยที่ 1 ปฏิเสธไม่ยอมปฏิบัติตามสัญญายินยอมชดใช้เงินจำนวน 400,000 บาท ให้แก่มหาวิทยาลัยโจทก์ ซึ่งเป็นข้อตกลงที่ทำให้จำเลยที่ 1 ถูกจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพในการประกอบอาชีพการงาน โดยต้องปฏิบัติงานตามที่มหาวิทยาลัยโจทก์เป็นผู้กำหนดหรือจัดหาให้เท่านั้น ซึ่งแม้มีกำหนดเวลาเพียง 3 ปี และมีค่าตอบแทนให้ แต่ทำให้จำเลยที่ 1 ไม่อาจเลือกได้เอง จึงถือว่าเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม โดยเป็นข้อตกลงที่ทำให้จำเลยที่ 1 ถูกจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพ โดยต้องรับภาระมากกว่าที่พึงคาดหมายได้ตามปกติ ซึ่งตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 บัญญัติให้มีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น
of 52