พบผลลัพธ์ทั้งหมด 493 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7054/2561
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ฉ้อโกง: การกระทำผิดสำเร็จแล้ว การขยายหนี้ไม่ใช่ความผิดฐานฉ้อโกงซ้ำ
เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2557 จำเลยที่ 1 หลอกลวงโจทก์ด้วยการปลอมโฉนดที่ดินของจำเลยที่ 2 ว่า เป็นของตนและนำสำเนาโฉนดที่ดินมาวางเป็นประกันหนี้ โจทก์หลงเชื่อจึงให้จำเลยที่ 1 กู้เงินโดยทำสัญญากู้เงินและมอบเงิน 140,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1 ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานฉ้อโกงสำเร็จในวันดังกล่าวแล้ว แม้ต่อมาในวันที่ 28 สิงหาคม 2558 จำเลยทั้งสองร่วมกันหลอกลวงโจทก์อีกว่า จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของที่ดินและขอใช้โฉนดที่ดินดังกล่าวเป็นหลักประกันในการชำระหนี้ต่อไป โดยจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันเงินกู้ไว้ให้แก่โจทก์ด้วย โจทก์จึงหลงเชื่อยอมรับหลักประกันดังกล่าวและขยายระยะเวลาชำระหนี้เงินกู้ให้แก่จำเลยที่ 1 ก็เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นใหม่หลังจากที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานฉ้อโกงเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2557 สำเร็จไปแล้ว เมื่อไม่ปรากฏว่าในการหลอกลวงครั้งหลังจำเลยทั้งสองได้รับทรัพย์สินจากโจทก์เพิ่มเติมนอกเหนือจากเงินกู้ 140,000 บาท ที่ได้รับไปแล้ว แม้ว่าโจทก์จะทำสัญญากู้เงินฉบับใหม่กับจำเลยที่ 1 แต่ก็เป็นเพียงขยายระยะเวลาชำระหนี้เงินกู้ให้แก่จำเลยที่ 1 เท่านั้น หาได้ทำให้โจทก์เสื่อมเสียสิทธิในสัญญากู้เงินฉบับเดิมแต่อย่างใดไม่ ทั้งปรากฏว่าโจทก์ได้นำสัญญากู้เงินดังกล่าวไปฟ้องคดีแพ่งและศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้เงินกู้แก่โจทก์แล้ว การกระทำของจำเลยทั้งสองในวันที่ 28 สิงหาคม 2558 จึงมิได้มีผลให้โจทก์หรือทำให้โจทก์ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิอันจะเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตามฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 778/2560
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
องค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกง ต้องพิสูจน์การหลอกลวงเป็นเหตุให้ผู้เสียหายมอบทรัพย์สิน
แม้ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามฟ้องว่า จำเลยได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 แต่เหตุที่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 มอบเงินสดให้แก่จำเลย เนื่องจากโจทก์ร่วมที่ 1 เป็นฝ่ายติดต่อขอให้จำเลยช่วยเหลือ และจำเลยแจ้งว่าในการเสนอโครงการติดตั้งป้ายโฆษณาจะต้องมีค่าใช้จ่าย การที่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 จ่ายเงินให้แก่จำเลย จึงมิใช่เป็นผลโดยตรงจากการที่จำเลยหลอกลวงโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ด้วยการยืนยันข้อเท็จจริงใดอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ว่า จำเลยทำงานเป็นคณะกรรมาธิการอยู่ที่อาคารรัฐสภา และสามารถติดต่อช่วยเหลือให้โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ได้รับงานการทำป้ายโฆษณา การกระทำของจำเลยไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกงตามฟ้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5089/2565
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ปลอมเอกสาร-ใช้เอกสารปลอม-เอาไปเสียซึ่งเอกสาร-ครูหลอกลวงเพื่อนครู ศาลยืนโทษ
ใบถอนเงินฝากมีเพียงลายมือชื่อปลอมของผู้เสียหาย ยังไม่ได้กรอกจำนวนเงินที่ขอถอน ส่วนใบมอบฉันทะด้านหลังก็มีเพียงลายมือชื่อปลอมของผู้เสียหาย ยังมิได้กรอกข้อความว่ามอบฉันทะให้ผู้ใดเป็นผู้รับเงินที่ขอถอน จึงเป็นเอกสารที่ข้อความยังไม่สมบูรณ์ มิใช่เอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ ถือไม่ได้ว่าเป็นเอกสิทธิตาม ป.อ. มาตรา 1 (9) การกระทำของจำเลย คงเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมเท่านั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2676/2565
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
จำหน่ายสินค้าโดยอ้างตราสัญลักษณ์โดยไม่ได้รับอนุญาต มีเจตนาหลอกลวงผู้ซื้อ ศาลฎีกาพิพากษากลับให้มีความผิด
ป.วิ.อ. มาตรา 158 บัญญัติว่า "ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือ และมี...(5) การกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริง และรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี" คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 10 มิถุนายน 2549 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2550 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยโดยเจตนาก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในแหล่งกำเนิด สภาพ และคุณภาพอันเกี่ยวกับสินค้า โฆษณา เสนอขาย และขายสินค้าชุดเทิดพระเกียรติเพื่อร่วมเผยแพร่แสดงความจงรักภักดี "โครงการมหามงคลครองราชย์ 60 ปี หนังสือดี "ชีวิตสมถะ" "พระจิตรลดา" "ซึ่งในชุดประกอบด้วย หนังสือดี "ชีวิตสมถะ" "พระจิตรลดา" สายข้อมือ (ริสต์แบนด์) วิดีโอซีดีพระราชกรณียกิจพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ สติกเกอร์ "เรารักในหลวง" บัตรถวายพระพร บัตรคาถาเงินล้าน สติกเกอร์ตราสัญลักษณ์ทรงครองราชย์ 60 ปี และพระจิตรลดาหรือพระสมเด็จมหามงคล รุ่นทรงครองราชย์ 60 ปี (มวลสารจิตรลดา) รวม 9 รายการ บรรจุอยู่ในกล่องเดียวกัน โดยมีการพิมพ์ตราสัญลักษณ์ฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ติดไว้บนสินค้าดังกล่าว โดยเสนอขายและขายแก่ผู้ซื้อและประชาชนทั่วไปในราคาชุดละ 299 บาท ทั้งนี้ เพื่อหลอกลวงให้ผู้ซื้อและประชาชนทั่วไปหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าที่มีแหล่งกำเนิดที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตและจำหน่ายอย่างถูกต้องจากสำนักราชเลขาธิการ หรือเกี่ยวข้องกับสำนักราชเลขาธิการซึ่งเป็นผู้อนุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์ฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี อันเป็นความเท็จ ซึ่งความจริงสำนักราชเลขาธิการไม่เคยอนุญาตให้จำเลยใช้ตราสัญลักษณ์ฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี กับสินค้าดังกล่าว ทั้งนี้ จำเลยแสวงหาผลกำไรและประโยชน์ให้แก่ตนเองโดยมิชอบ ซึ่งตาม ป.อ. มาตรา 271 บัญญัติว่า "ผู้ใดขายของโดยหลอกลวงด้วยประการใด ๆ ให้ผู้ซื้อหลงเชื่อในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพหรือปริมาณแห่งของนั้นอันเป็นเท็จ ถ้าการกระทำนั้นไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษ..." เมื่อพิจารณาจากคำฟ้องของโจทก์ประกอบมาตรา 271 ดังกล่าวแล้ว ในส่วนของการกระทำโดยการหลอกลวงซึ่งเป็นองค์ประกอบความผิดมาตรา 271 เมื่ออ่านคำฟ้องโดยตลอดแล้ว เห็นได้ว่าโจทก์ได้บรรยายระบุการกระทำหรือวิธีการหลอกลวงไว้แล้วว่า จำเลยโฆษณา เสนอขาย และขายสินค้าชุดเทิดพระเกียรติ โดยพิมพ์ตราสัญลักษณ์ฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ติดไว้บนสินค้าดังกล่าว เพื่อหลอกลวงให้ผู้ซื้อและประชาชนทั่วไปหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าที่มีแหล่งกำเนิดที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตและจำหน่ายอย่างถูกต้องจากสำนักราชเลขาธิการ อันเป็นความเท็จ ย่อมทำให้เข้าใจได้ว่าการหลอกลวงขายของของจำเลยคือการที่จำเลยพิมพ์ตราสัญลักษณ์ฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ลงบนกล่องสินค้า โดยที่รู้อยู่แล้วว่าความจริงมิได้รับอนุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์ในการขาย แต่ทำไปเพื่อหลอกลวงให้ผู้ซื้อหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าที่ได้รับอนุญาตให้ขายโดยถูกต้องจากสำนักราชเลขาธิการ จึงถือได้ว่าโจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดตาม ป.อ. มาตรา 271 พอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว นอกจากนี้ข้อเท็จจริงได้ความตามคำให้การจำเลยฉบับลงวันที่ 25 เมษายน 2559 โดยขณะนั้นจำเลยยังไม่มีทนายความว่า จำเลยขอให้การปฏิเสธ เพราะไม่ได้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหา และตามคำให้การของจำเลยฉบับลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2559 โดยจำเลยได้แต่งตั้งทนายความในวันดังกล่าวแล้วปรากฏว่า จำเลยขอให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ รายละเอียดจะได้นำสืบพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นพิจารณาต่อไป ซึ่งแสดงว่าจำเลยทราบข้อเท็จจริงและข้อหาตามคำฟ้องแล้ว จึงให้การปฏิเสธ ประกอบกับตามรายงานกระบวนพิจารณา ลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2559 ปรากฏว่า จำเลยแถลงว่า วันนี้ได้แต่งตั้งทนายความเพื่อต่อสู้คดีแล้ว และได้พบปรึกษากับทนายความแล้ว ศาลจึงอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง จำเลยแถลงว่าเข้าใจข้อหาโดยตลอดแล้ว ยืนยันให้การปฏิเสธ ดังนี้ ฟ้องของโจทก์ได้มีการบรรยายเกี่ยวกับการกระทำของจำเลยที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดครบถ้วนพอสมควรที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว จึงเป็นฟ้องที่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2112/2565
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
เจตนาหลอกลวงไม่ใช่การเล่นแชร์ แม้มีการอ้างอิงรูปแบบการเล่นแชร์เพื่อหลอกลวง
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดข้อหาเป็นนายวงแชร์จัดให้มีการเล่นแชร์มีจำนวนวงแชร์รวมกันมากกว่าสามวงและมีจำนวนสมาชิกวงแชร์รวมกันทุกวงมากกว่าสามสิบคน โดยเป็นนายวงแชร์และจัดให้มีการเล่นแชร์พร้อมกับวงแชร์อื่นหลายวงมากกว่าสามวง และมีสมาชิกวงแชร์รวมกันทุกวงมากกว่าสามสิบคน แต่ในคำฟ้องโจทก์ที่บรรยายพฤติการณ์การกระทำความผิดของจำเลยให้เห็นว่า จำเลยเพียงแต่อ้างการจัดให้มีการเล่นแชร์มาเป็นข้อหลอกลวงเพื่อให้ได้เงินค่างวดแชร์จากผู้เสียหายหรือผู้อื่น จำเลยมิได้มีเจตนาจัดให้มีการเล่นแชร์ตามข้อกล่าวอ้างอันเป็นองค์ประกอบความผิดต่อ พ.ร.บ.การเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 มาตรา 6 (1) (2) จึงฟังไม่ได้ว่าเป็นการเล่นแชร์ตาม พ.ร.บ.การเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 มาตรา 4 แม้จำเลยให้การรับสารภาพ แต่เมื่อพฤติการณ์การกระทำความผิดของจำเลยตามฟ้องมีเจตนาแท้จริงคือหลอกลวงฉ้อโกงประชาชนด้วยแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่าเป็นวงแชร์ที่ให้ผลตอบแทนโดยไม่มีเจตนาจ่ายผลตอบแทนจริงและไม่มีการเปียหรือประมูลแชร์แต่อย่างใด ที่โจทก์บรรยายมาในคำฟ้องไม่อาจถือเป็นความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าวได้ ย่อมไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดข้อหาดังกล่าวได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1824/2565
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ค้ามนุษย์หลอกลวงทำงานต่างประเทศ: ศาลยืนโทษจำคุกฐานสมคบและค้ามนุษย์ พร้อมชดใช้ค่าสินไหม
การค้าประเวณี 3 วัน ของผู้เสียหายตามที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองแยกเป็น 3 ข้อนั้น เกิดจากเจตนาร่วมกันกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์และฐานร่วมกันเป็นธุระจัดหา ล่อไป พาไปหรือชักพาผู้เสียหายไปเพื่อการอนาจารหรือเพื่อให้กระทำการค้าประเวณีของจำเลยทั้งสองกับพวกที่กระทำแก่ผู้เสียหายโดยฉ้อฉล หลอกลวงตั้งแต่แรกเพียงเจตนาเดียว การค้าประเวณีที่เนื่องมาย่อมไม่เป็นความผิดต่างกรรมไปจากความผิดฐานค้ามนุษย์และฐานอื่นแต่ละฐานอีก
เมื่อความปรากฏแก่ศาลฎีกาตามสำเนาคำพิพากษาในคดีอาญาของศาลแขวงพระนครเหนือท้ายฎีกาของโจทก์ซึ่งจำเลยที่ 1 ไม่ได้แก้ฎีกาโต้แย้งว่าจำเลยที่ 1 ต้องคำพิพากษาให้รอการลงโทษจำคุกไว้ 2 เดือนจริง จึงต้องบวกโทษจำเลยที่ 1 ตาม ป.อ. มาตรา 58 วรรคแรก
เมื่อความปรากฏแก่ศาลฎีกาตามสำเนาคำพิพากษาในคดีอาญาของศาลแขวงพระนครเหนือท้ายฎีกาของโจทก์ซึ่งจำเลยที่ 1 ไม่ได้แก้ฎีกาโต้แย้งว่าจำเลยที่ 1 ต้องคำพิพากษาให้รอการลงโทษจำคุกไว้ 2 เดือนจริง จึงต้องบวกโทษจำเลยที่ 1 ตาม ป.อ. มาตรา 58 วรรคแรก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3531/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การฟ้องอาญาต้องระบุเจตนาพิเศษในการหลอกลวงเพื่อประโยชน์ทางการเงิน หากคำฟ้องขาดองค์ประกอบนี้ ศาลยกฟ้อง
ตาม พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ. 2499 มาตรา 42 วรรคสอง บัญญัติว่า ถ้ากระทำหรือยินยอมให้กระทำเพื่อลวงให้ห้างหุ้นส่วน บริษัท ผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นขาดประโยชน์อันควรได้ ต้องระวางโทษ... ดังนั้น การกระทำความผิดฐานดังกล่าวผู้กระทำจะต้องมีมูลเหตุจูงใจอันเป็นเจตนาพิเศษ เพื่อลวงให้ห้างหุ้นส่วน บริษัท ผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นขาดประโยชน์อันควรได้ ซึ่งเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานนี้ แต่โจทก์บรรยายคำฟ้องเพียงว่า การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นการกระทำหรือยินยอมให้กระทำในการจัดทำเอกสารเท็จหรือลงข้อความอันเป็นเท็จในเอกสารของมูลนิธิเพื่อลวงให้กรรมการมูลนิธิและประชาชนเชื่อว่ามีการประชุมคณะกรรมการมูลนิธิตามวันเวลา สถานที่ และรายละเอียดการประชุมจริง เพื่อแสดงให้เชื่อว่ามูลนิธิเป็นเจ้าของกิจการบ้านลุงสนิทของโจทก์ อันเป็นการทำให้โจทก์ในฐานะส่วนตัวและเป็นกรรมการของมูลนิธิได้รับความเสียหาย โดยคำฟ้องมิได้บรรยายว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มีมูลเหตุชักจูงใจอันเป็นเจตนาพิเศษเพื่อลวงให้ห้างหุ้นส่วน บริษัท ผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นขาดประโยชน์อันควรได้แต่ประการใด คำฟ้องของโจทก์จึงขาดองค์ประกอบความผิด ตาม พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ. 2499 มาตรา 42 วรรคสอง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 229/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
พฤติการณ์หลอกลวงประชาชนให้เล่นหวยโดยอ้างว่าเป็นเลขจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเข้าข่ายความผิดฐานพยายามฉ้อโกง
จำเลยทำใบปลิวโฆษณาชักชวนบุคคลทั่วไปให้มาเล่นหวย (สลากกินรวบ) โดยให้ติดต่อไปยังหมายเลขโทรศัพท์ที่ระบุในใบปลิวเพื่อขอรับเลข ซึ่งอ้างว่าได้มาจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล หากถูกรางวัลจำเลยขอค่าตอบแทน 10,000 บาท โดยจำเลยไม่มีเลขที่ได้มาจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล แต่จำเลยมีเจตนาหลอกลวงเอาเงินจากประชาชนทั่วไปที่ได้รับใบปลิวของจำเลยมาแต่ต้น การที่มีประชาชนโทรศัพท์หาจำเลยและจำเลยแจ้งเลขซึ่งไม่ได้มาจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล มิใช่การให้หรือตอบแทนสิ่งใดแก่ประชาชน จึงไม่เป็นสัญญาต่างตอบแทน จำเลยลงมือกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนแล้ว แต่ประชาชนที่ถูกจำเลยหลอกลวงตรวจสอบพบว่าเรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริงมิได้หลงเชื่อตามที่ถูกหลอกลวง การกระทำของจำเลยจึงไม่สามารถบรรลุผลได้อย่างแน่แท้ จึงเป็นความผิดฐานพยายามกระทำความผิด ตาม ป.อ.มาตรา 81
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2092/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
เอกสารปลอมไม่จำต้องเหมือนจริง หรือมีเอกสารต้นฉบับ การทำเพื่อหลอกลวงให้เชื่อถือว่าเป็นเอกสารราชการ ถือเป็นเอกสารราชการปลอม
การทำเอกสารปลอม ไม่จำต้องมีเอกสารที่แท้จริงอยู่ก่อนและไม่จำต้องทำให้เหมือนจริง หนังสือซึ่งเป็นเอกสารปลอมที่มุ่งประสงค์ให้ ส. และผู้พบเห็นหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงซึ่งเจ้าพนักงานกรมบังคับคดีได้ทำขึ้นในหน้าที่จึงเป็นเอกสารราชการปลอม การที่จำเลยนำหนังสือไปมอบให้แก่ ส. จึงเป็นการกระทำความผิดฐานใช้เอกสารราชการปลอม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1488/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ฉ้อโกงและใช้เอกสารราชการปลอม: ผู้เสียหายถูกหลอกให้จ่ายเงินเพื่อทำบัตรประชาชนและบัตรผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน
จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างว่าสามารถติดต่อให้ผู้เสียหายทำบัตรประจำตัวประชาชนผู้มีสัญชาติไทยและให้ลูกน้องของผู้เสียหายถือบัตรประจำตัวผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนได้ เนื่องจากจำเลยที่ 1 รู้จักกับผู้ใหญ่บ้านและปลัดอำเภอ แต่ต้องเสียค่าดำเนินการ ผู้เสียหายหลงเชื่อส่งมอบเงินให้จำเลยที่ 1 โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้นำเงินไปให้แก่ผู้ใหญ่บ้านและปลัดอำเภอผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องในการจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนและบัตรประจำตัวผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนให้กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่โดยทุจริต ที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างดังกล่าวก็เพื่อต้องการเงินจากผู้เสียหายเท่านั้น เมื่อผู้เสียหายนำหนังสือประกาศสำนักทะเบียนอำเภอเชียงแสน อนุมัติเพิ่มชื่อผู้เสียหายในทะเบียนบ้านไปติดต่อเพื่อขอทำบัตรประจำตัวประชาชนผู้มีสัญชาติไทยจึงทราบความจริงว่าเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารปลอม ถือไม่ได้ว่าผู้เสียหายมีส่วนร่วมก่อให้เกิดความผิดหรือเป็นผู้ใช้ให้จำเลยที่ 1 ไปกระทำความผิดอาญา ผู้เสียหายย่อมเป็นผู้เสียหายตามกฎหมายมีสิทธิร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลย 1 ในความผิดฐานฉ้อโกงได้