คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
โอนกรรมสิทธิ์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 556 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14861/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจะซื้อจะขาย: การชำระราคาไม่ครบถ้วน ศาลมิอาจสั่งให้โอนกรรมสิทธิ์ได้
สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทระบุราคาทรัพย์สินเป็นเงิน 399,000 บาท ผู้ร้องอ้างว่าชำระราคาให้จำเลยครบตั้งแต่ปี 2543 โดยมีสำเนาใบเสร็จรับเงินมาแสดงเป็นหลักฐาน แต่เอกสารดังกล่าวมีรายการชำระครั้งสุดท้ายวันที่ 27 กันยายน 2541 และมียอดเงินที่ชำระเพียง 64,000 บาท ส่วนที่ผู้ร้องนำสืบว่า ผู้ร้องเข้าครอบครองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทตั้งแต่ปี 2541 ก็เป็นการเข้าครอบครองทรัพย์สินก่อนเวลาที่ผู้ร้องอ้างว่าชำระราคาเสร็จสิ้นเมื่อปี 2543 จึงมิใช่พฤติการณ์ที่บ่งชี้ว่าผู้ร้องปฏิบัติการชำระหนี้ครบถ้วนแล้ว อีกทั้งไม่ปรากฏหลักฐานว่าผู้ร้องเคยเรียกร้องให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาท พยานหลักฐานที่ผู้ร้องนำสืบไม่มีน้ำหนักรับฟังว่า ผู้ร้องชำระราคาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทให้แก่จำเลยครบตามสัญญา สัญญาจะซื้อจะขายเป็นสัญญาต่างตอบแทน เมื่อผู้ร้องยังไม่ชำระหนี้ของตนจึงไม่มีสิทธิขอให้ผู้คัดค้านที่ 1 ชำระหนี้ตอบแทนด้วยการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทตามสัญญา ทั้งกรณีตามคำร้องเป็นการขอให้ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ผู้คัดค้านที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทให้แก่ผู้ร้องตามสัญญาจะซื้อจะขายอันเป็นการโอนทรัพย์สินโดยทางนิติกรรม คดีจึงไม่มีประเด็นว่า ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ อันเป็นการได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทโดยการครอบครอง ที่ศาลล้มละลายกลางวินิจฉัยและมีคำสั่งให้ผู้คัดค้านที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินดังกล่าวให้ผู้ร้องจึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอุทธรณ์ ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) มาตรา 246 และมาตรา 247 (เดิม) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 28

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13068/2558 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การชำระค่าส่วนกลางหลังศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด จำเลยมีหน้าที่ออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้เพื่อการโอนกรรมสิทธิ์
ตามฟ้องและฟ้องแย้ง จำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการของจำเลยที่ 1 มีฐานะเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ไม่ปรากฏตามฟ้องว่าจำเลยที่ 2 กระทำในฐานะส่วนตัวและจำเลยที่ 2 มิใช่เจ้าหนี้ตามฟ้องแย้ง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจฟ้องแย้ง ซึ่งปัญหาอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247
ค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่เจ้าของห้องเดิมค้างชำระเป็นสิทธิของนิติบุคคลอาคารชุดที่จะฟ้องบังคับคดีให้เจ้าของห้องเดิมที่ค้างชำระหรือไม่ก็ได้ ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายให้เป็นหน้าที่ของจำเลยทั้งสองที่จะต้องฟ้องคดีหรือต้องใช้สิทธิแจ้งรายการเพื่อขอรับชำระหนี้บุริมสิทธิเอาจากเจ้าพนักงานบังคับคดีตามมาตรา 41 การที่จำเลยทั้งสองไม่ได้ใช้สิทธิแจ้งรายการเพื่อขอรับชำระหนี้บุริมสิทธิเอาจากเจ้าพนักงานบังคับคดีตามมาตรา 41 และไม่ใช้สิทธิฟ้องคดีตามอำนาจหน้าที่เอาแก่เจ้าของห้องชุดเดิมตามมาตรา 36 (6) แห่ง พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์
ค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นที่ต้องมีการบำรุงรักษาทรัพย์ส่วนกลาง และเพื่อความปลอดภัยของผู้ที่อยู่อาศัยซึ่งมิได้มีการกำหนดจ่ายเป็นระยะเวลาไม่อยู่ในบังคับในอันที่จะมีอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (4)
ค่าปรับอันเกิดจากการผิดนัดชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลาง ถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่ายส่วนกลาง เมื่อค่าใช้จ่ายส่วนกลางอันเป็นหนี้ประธานขาดอายุความ ค่าปรับซึ่งเป็นหนี้อุปกรณ์ย่อมขาดอายุความด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/26 และเนื่องจากค่าปรับอันเกิดจากค่าใช้จ่ายส่วนกลางเป็นหนี้เงินที่จำเลยทั้งสองจะเรียกเก็บได้ต่อเมื่อเจ้าของร่วมมิได้ชำระหนี้ภายในเวลาที่กำหนดไว้อันมีลักษณะเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าและถือได้ว่าเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379
ตามคำฟ้องของโจทก์นั้นขอให้จำเลยที่ 1 ออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ให้ ซึ่งการที่จำเลยที่ 1 จะออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ให้ได้นั้น โจทก์จะชำระหนี้ค่าส่วนกลางให้ครบเสียก่อน แม้ตามคำขอท้ายฟ้องและคำให้การแก้ฟ้องแย้งของโจทก์จะไม่มีข้อความว่า เมื่อโจทก์ได้ชำระค่าส่วนกลางครบถ้วนแล้วให้จำเลยที่ 1 ออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ให้ก็ตาม แต่เนื่องจากจำเลยที่ 1 ได้ฟ้องแย้งขอให้โจทก์ชำระหนี้ค่าส่วนกลาง และศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้โจทก์ชำระค่าส่วนกลางแก่จำเลยที่ 1 แล้วเมื่อโจทก์ชำระค่าส่วนกลางตามคำพิพากษาให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว หนี้เป็นอันระงับสิ้นไป โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ตอบแทนเช่นกัน เพราะโจทก์ประสงค์จะนำหนังสือนี้ไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อขอจดทะเบียนโอนห้องชุดมาเป็นของตนตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 29 การที่จำเลยที่ 1 ออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้จึงก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะโอนห้องชุดได้ จึงเป็นการกระทำนิติกรรมฝ่ายเดียวของจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 149 ดังนั้น ในการบังคับชำระหนี้หากสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่อง ศาลชอบที่จะสั่งให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 213 วรรคสอง ซึ่งเป็นการสั่งตามสมควรแก่รูปเรื่องเพื่อบังคับคดีให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 29 วรรคสาม มิใช่เป็นการสั่งนอกเหนือไปจากคำขอท้ายฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13067/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อห้องชุดจากการขายทอดตลาด: ผู้ซื้อต้องตรวจสอบภาระหนี้ค่าส่วนกลางก่อนโอนกรรมสิทธิ์
ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 18 วรรคสอง, 29 วรรคสอง การขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ในห้องชุด พนักงานเจ้าหน้าที่จะรับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมได้เมื่อห้องชุดดังกล่าวปลอดจากหนี้อันเกิดจากค่าใช้จ่ายตามมาตรา 18 (คือ ค่าใช้จ่ายส่วนกลาง) โดยต้องมีหนังสือรับรองการปลอดหนี้คราวที่สุดจากนิติบุคคลอาคารชุดมาแสดง และตามประกาศขายทอดตลาดห้องชุดพิพาทได้ระบุเงื่อนไขการขายทอดตลาดไว้ว่า ผู้ซื้อต้องตรวจสอบภาระหนี้สินก่อนและผู้ซื้อได้ต้องเป็นผู้ชำระหนี้ค้างชำระต่อนิติบุคคลอาคารชุดก่อนจึงจะโอนกรรมสิทธิ์ได้ กรณีถือได้ว่าโจทก์ทราบจากประกาศการขายทอดตลาดมาก่อนที่จะเข้าสู้ราคาซื้อห้องชุดพิพาททั้งสามจากการขายทอดตลาดแล้วว่าจะต้องสอบภาระหนี้สินส่วนกลางเองว่ามีหรือไม่ มิใช่ดูจากการขายทอดตลาดของกรมบังคับคดี และถ้าโจทก์ซื้อได้ โจทก์ต้องชำระหนี้ดังกล่าว ดังนั้น โจทก์จึงไม่อาจอ้างว่าไม่ทราบว่าห้องชุดพิพาททั้งสามมีหนี้ส่วนกลางที่ค้างชำระ แม้ว่าโจทก์สอบถามเจ้าพนักงานที่ดินและเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว เมื่อโจทก์ไม่มีหนังสือรับรองการปลอดหนี้จากผู้แทนหรือผู้จัดการของอาคารชุด บ. เนื่องจากไม่ยอมชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางพร้อมเงินเพิ่มที่เจ้าของกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาททั้งสามคนเดิมค้างชำระจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ให้โจทก์ซึ่งเป็นกรณีที่ชอบด้วย พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 18 วรรคสองแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1010/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโดยเจตนาลวงเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีและฉ้อฉล นิติกรรมเป็นโมฆะ
โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทกับโจทก์ทั้งสอง โดยได้รับเงินมัดจำไปแล้วบางส่วน แต่จำเลยที่ 1 ไม่โอนที่ดินพิพาทแก่โจทก์ทั้งสองตามสัญญา โจทก์ทั้งสองไปตรวจสอบที่สำนักงานที่ดินจึงทราบว่าจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบุตร โดยจำเลยทั้งสามรู้อยู่แล้วว่า โจทก์ทั้งสองได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทกับจำเลยที่ 1 และได้รับมัดจำแล้วเป็นเงิน 27,000,000 บาท ถือได้ว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันฉ้อฉลโจทก์ทั้งสองอันเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสองบรรยายคำฟ้องไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ส่วนข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความจะนำบทกฎหมายใดมาใช้บังคับแก่ข้อเท็จจริง ย่อมเป็นสิ่งที่ศาลสามารถที่จะกระทำได้ คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วฟังข้อเท็จจริงตรงกับศาลชั้นต้นว่า ในการทำนิติกรรมจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 ให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบุตร จำเลยที่ 1 มิได้มีเจตนาจะทำนิติกรรมโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 จริง หากแต่กระทำเพื่อที่จะได้รับยกเว้นภาษีอากรในการทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินและจำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็มิได้ชำระค่าที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 1 การที่จำเลยทั้งสามร่วมกันทำนิติกรรมจดทะเบียนซื้อขายที่ดินพิพาทโดยไม่สุจริต และไม่มีการชำระเงินกันจริง จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ใช่เจ้าของที่ดินพิพาทที่แท้จริง หากแต่ที่ดินพิพาทยังคงเป็นของจำเลยที่ 1 การแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสามในทางทะเบียนเกี่ยวกับที่ดินพิพาท จึงเป็นการแสดงเจตนาลวง โดยสมรู้ร่วมคิดกันย่อมตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง ซึ่งสอดคล้องกับคำให้การของจำเลยที่ 1 ที่ว่า เหตุที่โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 เพราะเกรงเจ้าหนี้รายอื่นจะมายึดหรืออายัด ฟังประกอบกับโจทก์ทั้งสองได้บรรยายฟ้องถึงพฤติการณ์ของจำเลยทั้งสามไว้โดยชัดแจ้งตลอดจนมีคำขอบังคับให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนการทำนิติกรรมโอนขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสามให้กลับมาเป็นของจำเลยที่ 1 แม้ศาลชั้นต้นจะกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้เพียงว่า จำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นการฉ้อฉล ตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 หรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อการทำนิติกรรมโอนขายที่ดินพิพาทดังกล่าวเป็นการแสดงเจตนาลวงซึ่งตกเป็นโมฆะ การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยตามศาลชั้นต้นถึงความเป็นโมฆะของนิติกรรมดังกล่าว หาเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6838/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและผลของการไม่สามารถส่งมอบได้ตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
เมื่อการให้ของจำเลยที่ ๑ มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย จำเลยที่ ๑ จึงต้องผูกพันในการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทเพื่อให้โจทก์เข้าทำประโยชน์ก่อสร้างสนามกีฬากลางประจำจังหวัด หากจำเลยที่ ๑ ไม่สามารถส่งมอบที่ดินพิพาทไม่ว่าด้วยเหตุประการใดก็ตาม โจทก์ย่อมได้รับความเสียหาย ไม่อาจใช้สอยประโยชน์ที่ดินนั้นได้ จำเลยที่ ๑ จึงต้องใช้ราคาที่ดินแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา ๕๒๖ การที่จำเลยที่ ๑ ทำหนังสือแสดงเจตนามอบที่ดินให้โจทก์โดยระบุว่าเพื่อใช้จัดสร้างสนามกีฬากลางประจำจังหวัดเป็นเพียงเจตนารมย์ของการยกให้เท่านั้น ไม่ใช่วัตถุประสงค์แห่งการชำระหนี้ตามกฎหมายในกรณีนี้คือการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินอันเป็นการให้กระทำนิติกรรมอย่างหนึ่งนั้นเอง ซึ่งเปิดช่องให้จำเลยที่ ๑ สามารถกระทำได้อยู่แล้วและที่ดินพิพาทเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่สามารถตีเป็นราคาเพื่อใช้เงินแทนได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5482/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำความผิดฐานหลอกลวงเจ้าหนี้ โดยการขายฝากและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเพื่อหลีกเลี่ยงการบังคับคดี ถือเป็นกรรมเดียว
โจทก์เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยตามคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ย.1062/2550 ของศาลแพ่ง จำเลยจดทะเบียนขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ 121938 ตำบลดอนช้าง อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ของจำเลยให้แก่ ร. ต่อมาจำเลยตกลงกับ ร. ว่าให้จำเลยขายที่ดินแล้วนำเงินที่ได้มามอบให้แก่ ร. เป็นสินไถ่ จึงมีการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินกลับมาเป็นของจำเลยก่อนโอนขายให้แก่ ว. ในวันเดียวกัน แล้วนำเงินที่ได้มอบให้แก่ ร. ดังนี้ การกระทำของจำเลยสำเร็จเป็นความผิดนับแต่ขายฝากที่ดินให้แก่ ร. เพื่อให้พ้นจากการบังคับชำระหนี้ แม้ต่อมาจะมีการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินกลับมาเป็นของจำเลยก่อนโอนขายให้แก่ ว. แล้วมอบเงินที่ได้เป็นสินไถ่ให้แก่ ร. ไม่ว่าจำเลยได้รับส่วนต่างจากเงินค่าขายที่ดินหรือไม่ ก็เป็นการกระทำเพื่อให้การขายที่ดินสำเร็จตามข้อตกลงเท่านั้น ไม่ทำให้การกระทำของจำเลยกลับเป็นความผิดขึ้นใหม่อีกกรรมหนึ่งแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดกรรมเดียว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2962/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สาธารณสมบัติของแผ่นดิน: การโอนกรรมสิทธิ์จากเอกชนทำให้ที่ดินตกเป็นสาธารณสมบัติ, ครอบครองปรปักษ์ใช้ไม่ได้
ป.พ.พ. มาตรา 1304 บัญญัติว่า สาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้น รวมทรัพย์สินทุกชนิดของแผ่นดินซึ่งใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน เช่น (1) ที่ดินรกร้างว่างเปล่าและที่ดินซึ่งมีผู้เวนคืนหรือทอดทิ้งหรือกลับมาเป็นของแผ่นดินโดยประการอื่นตามกฎหมายที่ดิน... การที่บริษัทเครดิตฟองซิเอร์กรุงเทพเคหะ จำกัด โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้เป็นที่สาธารณประโยชน์ ที่ดินพิพาทจึงกลับมาเป็นของแผ่นดินตามกฎหมายที่ดิน จึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินนับแต่วันนั้น ผู้ร้องจึงไม่อาจอ้าง ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง ขึ้นต่อสู้ได้ แม้การจดทะเบียนดังกล่าวรัฐผู้รับโอนจะมิได้เสียค่าตอบแทนก็ตาม และ ป.พ.พ. มาตรา 1306 มิได้บัญญัติให้ใช้บังคับเฉพาะสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่มีอยู่เดิม ไม่ใช้บังคับกับที่รับโอนมาจากเอกชนแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12756/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานใช้เอกสารราชการปลอมและแจ้งความเท็จเพื่อเอื้อประโยชน์ในการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน
การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลลาดพร้าวว่าได้ทำโฉนดที่ดินซึ่ง บ. และจำเลยที่ 1 ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันสูญหาย และแจ้งให้พนักงานสอบสวนจดข้อความอันเป็นเท็จลงในบันทึกรายงานประจำวันรับแจ้งเอกสารหายแล้วนำบันทึกรายงานประจำวันรับแจ้งเอกสารหายและหนังสือมอบอำนาจไปใช้และอ้างแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดิน สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบางกะปิ เพื่อขอรับใบแทนโฉนดที่ดินแล้วนำใบแทนโฉนดที่ดินและหนังสือมอบอำนาจปลอมไปใช้และอ้างแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบางกะปิ เพื่อให้มีรายการแก้ไขจดทะเบียนโฉนดที่ดินจากชื่อ บ. มาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 แต่ผู้เดียวจำเลยที่ 2 เป็นสามีของจำเลยที่ 1 มีส่วนได้เสียในที่ดินที่รับโอนทั้งลงลายมือชื่อเป็นพยานในหนังสือมอบอำนาจและติดต่อ อ. ให้ประสานกับเจ้าพนักงานที่ดิน เช่นนี้ย่อมรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมรู้เห็นเป็นใจกับจำเลยที่ 1 ในการกระทำความผิดมาตั้งแต่แรก และแม้การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามขั้นตอนต่าง ๆ ดังกล่าว เป็นการกระทำคนละวันและต่อเจ้าพนักงานคนละหน่วยงานกัน แต่เป็นการกระทำโดยมีเจตนาเดียวกัน คือ เพื่อให้ที่ดินดังกล่าวตกมาเป็นของจำเลยที่ 1 แต่เพียงผู้เดียว การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาปัญหาดังกล่าว แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6698/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายที่ดิน: จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาเนื่องจากไม่ก่อสร้างและโอนกรรมสิทธิ์ แม้โจทก์จะชำระค่างวดแล้ว
สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นสัญญาต่างตอบแทน จำเลยทั้งหกจึงมีหน้าที่จะต้องชำระหนี้ตอบแทนแก่โจทก์ คือ ปลูกสร้างทาวน์เฮาส์และโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน และแม้สัญญาจะไม่มีกำหนดระยะเวลาก่อสร้างแล้วเสร็จไว้ก็ตาม แต่ก็เป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยทั้งหกจะต้องดำเนินการก่อสร้างทาวน์เฮาส์ในที่ดินให้แก่โจทก์ตามสัญญาให้แล้วเสร็จสมบูรณ์พร้อมโอนกรรมสิทธิ์ในเวลาอันสมควร เมื่อโจทก์ได้ชำระเงินค่างวดตามสัญญา คงเหลือเงินเพียงงวดสุดท้ายที่จะต้องชำระให้จำเลยทั้งหกในวันโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน แต่จำเลยทั้งหกกลับให้เวลาผ่านไปเนิ่นนานโดยมิได้ปฏิบัติการก่อสร้างทาวน์เฮาส์ให้แล้วเสร็จ ดำเนินการแบ่งแยกโฉนดที่ดิน และโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ให้แก่โจทก์ตามสัญญา จำเลยทั้งหกจึงมิได้อยู่ในฐานะที่จะสามารถชำระหนี้ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 211 โจทก์จึงมิได้เป็นฝ่ายผิดนัดและถือว่าจำเลยทั้งหกเป็นฝ่ายผิดสัญญาจะซื้อจะขาย จำเลยทั้งหกจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้โจทก์รับโอนกรรมสิทธิ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13033/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาระจำยอมสิ้นสุดลงเมื่อไม่ได้ใช้เกิน 10 ปี โจทก์มีสิทธิเพิกถอนได้ แม้จำเลยเพิ่งรับโอน
ภายหลังการจดทะเบียนภาระจำยอม บริษัท ด. ผู้เป็นเจ้าของสามยทรัพย์มิได้ใช้ที่ดินภาระจำยอมของโจทก์เป็นเวลาเกินกว่าสิบปี ภาระจำยอมดังกล่าวย่อมสิ้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1399 ซึ่งเป็นการสิ้นไปโดยผลแห่งกฎหมายและก่อสิทธิแก่โจทก์ในอันที่จะขอให้เพิกถอนภาระจำยอมนับตั้งแต่ครบกำหนดเวลาดังกล่าว เมื่อ ป.พ.พ. มาตรา 1399 มิได้กำหนดเงื่อนเวลาในการใช้สิทธิดังกล่าวโจทก์ย่อมชอบที่จะใช้สิทธิฟ้องคดีเพื่อขอให้เพิกถอนภาระจำยอมในเวลาใด ๆ นับตั้งแต่เกิดสิทธิดังกล่าว และเมื่อจำเลยเพิ่งรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินสามยทรัพย์จากบริษัท ด. ภายหลังภาระจำยอมสิ้นไปแล้ว ทั้งเพิ่งใช้ทางภาระจำยอมในที่ดินของโจทก์ยังไม่ครบกำหนดสิบปี ยังไม่ได้ภาระจำยอมโดยอายุความ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนเพิกถอนภาระจำยอมได้
โจทก์กับพวกขายที่ดินภารยทรัพย์ทั้งห้าแปลงให้บริษัท ด. และจดทะเบียนภาระจำยอมในที่ดินของโจทก์ให้แก่ที่ดินภารยทรัพย์ทั้งห้าแปลงโดยไม่มีกำหนดระยะเวลาและไม่มีค่าตอบแทน ซึ่งจำเลยอ้างว่าเพื่อตอบแทนการซื้อที่ดินภารยทรัพย์ทั้งห้าแปลงก็ตาม แต่การจดทะเบียนภาระจำยอมดังกล่าวเป็นเพียงการทำนิติกรรมที่ไม่มีเงื่อนเวลาสิ้นสุด และภาระจำยอมไม่ว่าจะได้มาโดยนิติกรรมหรืออายุความ เมื่อไม่ได้ใช้เป็นเวลานานถึงสิบปีภาระจำยอมนั้นย่อมสิ้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1399 การฟ้องคดีของโจทก์จึงเป็นการอ้างสิทธิตามกฎหมาย หาใช่การใช้สิทธิโดยไม่สุจริตแต่อย่างใด
of 56