คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ความรับผิด

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4,971 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3464/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาค้ำประกันครอบคลุมความเสียหายจากตำแหน่งงานที่เปลี่ยนไป ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดร่วมกับลูกหนี้
ตามสัญญาค้ำประกันรับรองความเสียหายที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำไว้กับโจทก์เพื่อค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 นั้น มีข้อความระบุว่า "ข้าพเจ้าจึงตกลงยินยอมเข้าเป็นผู้ค้ำประกันรับรองความเสียหาย...และข้าพเจ้าทำสัญญานี้...ด้วยความสมัครใจ มีผลผูกพันข้าพเจ้าตามกฎหมายในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วมกับผู้ที่ข้าพเจ้าค้ำประกัน" และในข้อ 1 ระบุว่า "ในระหว่างเวลาที่บุคคลที่ข้าพเจ้าค้ำประกันปฏิบัติงานอยู่กับบริษัท ฯ ผูกพันตามสัญญาว่าจ้างหรือสัญญาแต่งตั้งผู้ขาย...หรือตำแหน่งหน้าที่การงานที่บริษัท รับไว้ในชั้นต้นหรือในตำแหน่งหน้าที่การงานที่เปลี่ยนไปในภายหน้าหากบุคคลที่ข้าพเจ้าค้ำประกันได้กระทำ หรือละเว้นกระทำ...เป็นเหตุให้บริษัท ฯ ได้รับความเสียหาย..." กรณีถือได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ยอมผูกพันตนต่อโจทก์เพื่อชำระหนี้ที่จำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดความเสียหายสำหรับการทำงานในตำแหน่งที่ระบุไว้ในขณะทำสัญญาค้ำประกันและในตำแหน่งงานที่เปลี่ยนไปในอนาคตอย่างลูกหนี้ร่วม ซึ่งความเสียหายดังกล่าวเกิดขึ้นขณะจำเลยที่ 1 ทำงานในตำแหน่งผู้จัดการร้าน สาขาบัวขาว เมื่อปี 2549 แม้ตำแหน่งหน้าที่ของจำเลยที่ 1 จะสูงขึ้นและมีความรับผิดชอบมากขึ้นก็ตาม แต่มิได้อยู่นอกเหนือความตกลงของสัญญาค้ำประกันประกอบกับจำเลยที่ 1 ยังคงมีหน้าที่ในการขายสินค้าและเก็บเงินค่าสินค้านำส่งโจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดชำระหนี้ในความเสียหายที่จำเลยที่ 1 ก่อขึ้นต่อโจทก์อย่างลูกหนี้ร่วมตามสัญญาค้ำประกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 319/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การชำระหนี้บางส่วนโดยผู้ค้ำประกัน ไม่ปลดหนี้ลูกหนี้ชั้นต้นและผู้ค้ำประกันรายอื่น
ป.พ.พ. บรรพ 2 หมวด 5 ความระงับแห่งหนี้ ส่วนที่ 1 ถึงส่วนที่ 5 บัญญัติให้หนี้เป็นอันระงับไปต่อเมื่อได้มีการชำระหนี้ มีการปลดหนี้ มีการหักกลบลบหนี้ มีการแปลงหนี้ใหม่หรือหนี้เกลื่อนกลืนกัน การที่โจทก์ยอมรับชำระหนี้เพียงบางส่วนจาก บ. ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกัน ย่อมเป็นประโยชน์แก่โจทก์เฉพาะเท่าที่ปลดหนี้ให้ บ. เท่านั้น เมื่อการชำระหนี้นั้นยังไม่ครบจำนวน ทั้งไม่ปรากฏเหตุอื่นที่อาจทำให้หนี้ดังกล่าวทั้งหมดระงับสิ้นไป แต่ยังมีหนี้ที่โจทก์เรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระอีก การที่โจทก์ยอมรับชำระหนี้บางส่วนจาก บ. เป็นเพียงโจทก์ยอมรับชำระหนี้บางส่วนจากผู้ค้ำประกัน เมื่อยังมีหนี้ส่วนที่เหลือ จำเลยที่ 1 ลูกหนี้ชั้นต้นต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้จนครบจำนวน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 685 จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจหลุดพ้นจากความรับผิดไปกับ บ. ด้วย สำหรับจำเลยที่ 2 ซึ่งมีฐานะเป็นผู้ค้ำประกันเช่นเดียวกับ บ. เมื่อได้ความว่า ทั้งจำเลยที่ 2 และ บ. ต่างทำสัญญาค้ำประกันหนี้รายเดียวกันย่อมต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 682 วรรคสอง เมื่อบทบัญญัติในลักษณะค้ำประกันมิได้กำหนดความรับผิดของผู้ค้ำประกันที่มิได้ค้ำประกันร่วมกัน แต่ต้องรับผิดร่วมกันดังกล่าวไว้จึงต้องใช้หลักทั่วไป ตาม ป.พ.พ. มาตรา 229, 293 และ 296 แม้โจทก์จะยอมรับการชำระหนี้และปลดหนี้ให้ บ. คงเป็นประโยชน์แก่โจทก์เพียงเท่าส่วนของ บ. ชำระให้โจทก์และที่ปลดไป ซึ่งทำให้โจทก์ไม่อาจใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาจากจำเลยที่ 2 ในส่วนที่ปลดไปได้เท่านั้น หาทำให้จำเลยที่ 2 หลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้ส่วนที่เหลือไม่ เมื่อได้ความว่า บ. ชำระหนี้ให้โจทก์ไปเพียง 4,050,000 บาท ยังไม่ครบตามภาระหนี้ที่จำเลยทั้งสองมีต่อโจทก์ จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ตามจำนวนยอดหนี้ที่ค้างชำระในต้นเงิน ดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2778/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานหมิ่นประมาทและพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ กรณีเผยแพร่ข้อมูลผ่านเว็บไซต์ ผู้บริหารจัดการเว็บไซต์มีส่วนรับผิด
พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 มีผลใช้บังคับนับแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2560 อันเป็นเวลาระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา โดยความในมาตรา 8 ให้ยกเลิกความในมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และให้ใช้ความที่บัญญัติใหม่แทน โดยมาตรา 14 ที่บัญญัติใหม่ได้ยกเลิกความในมาตรา 14 (1) จากเดิมที่บัญญัติว่า “ (1) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ” โดยบัญญัติความใน (1) ใหม่เป็นว่า “ (1) โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา ” กรณีเป็นเรื่องกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังกำหนดองค์ประกอบความผิดฐานนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จว่าต้องไม่เป็นการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญาด้วยจึงจะเข้าเกณฑ์เป็นความผิด เมื่อคดีได้ความว่าการกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 328 การกระทำของจำเลยที่ 2 ย่อมไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) ที่บัญญัติในภายหลัง ตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง และจำเลยที่ 2 ย่อมไม่มีความผิดตามมาตรา 14 (5) ซึ่งเป็นบทความผิดฐานเผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามมาตรา 14 (1) ด้วย กรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 2 จะมิได้ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายนี้ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8908/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หน้าที่ดูแลความปลอดภัยลานจอดรถของห้างสรรพสินค้า และความรับผิดของบริษัทรักษาความปลอดภัย
แม้จำเลยจะต้องจัดให้มีสถานที่จอดรถตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 8 (9) ซึ่งบัญญัติให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารต้องมีพื้นที่จอดรถเพื่ออำนวยความสะดวกแก่การจราจร ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามกฎหมายก็ตาม แต่จำเลยประกอบกิจการค้าห้างขนาดใหญ่ ขายปลีกและขายส่งสินค้าอุปโภคและบริโภคต่าง ๆ จำเลยย่อมต้องให้ความสำคัญด้านบริการไม่ว่าจะเป็นเรื่องสินค้า ความปลอดภัย ความสะดวกสบายเพื่อสร้างความพึงพอใจและดึงดูดให้ลูกค้ามาใช้บริการและซื้อสินค้าอันจะส่งผลต่อรายได้ของจำเลย การจัดสถานที่จอดรถที่สะดวกและปลอดภัยถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ลูกค้าตัดสินใจเข้ามาซื้อสินค้าหรือใช้บริการในห้างของจำเลยซึ่งเป็นประโยชน์แก่กิจการของจำเลยโดยตรง จำเลยต้องคำนึงถึงและมีหน้าที่ต้องดูแลความปลอดภัยของลูกค้าทั้งในชีวิตและทรัพย์สินตามสมควร ไม่ปล่อยให้ลูกค้าต้องเป็นผู้ระมัดระวังหรือเสี่ยงภัยเอง จำเลยจึงมีหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยของรถยนต์ของลูกค้าที่นำเข้าไปจอดในลานจอดรถที่จำเลยจัดไว้เพื่อป้องกันมิให้รถยนต์ถูกโจรกรรมได้ อันเนื่องมาจากลักษณะของการประกอบกิจการค้าเช่นจำเลยจะพึงต้องปฏิบัติต่อลูกค้า แม้จำเลยไม่ได้สัญญาว่าจะรับดูแลทรัพย์สินหรือรับฝากรถยนต์ของลูกค้าโดยตรง หรือมิได้มีการเรียกเก็บเงินค่าจอดรถก็ตาม ปรากฏว่าก่อนเกิดเหตุคดีนี้ จำเลยเคยจัดให้มีพนักงานรักษาความปลอดภัยประจำของจำเลยร่วมอยู่ที่จุดทางเข้าออกของห้าง และแจกบัตรจอดรถให้แก่ผู้ที่นำรถเข้ามาจอด ซึ่งเป็นวิธีการรักษาความปลอดภัยที่ค่อนข้างรัดกุม เพราะหากคนขับรถไม่มีบัตรจอดรถจะต้องมีหลักฐานมาแสดงความเป็นเจ้าของรถและยังต้องเสียค่าปรับจึงจะนำรถออกไปได้ แต่จำเลยกลับยกเลิกวิธีการดังกล่าวเสีย โดยติดตั้งกล้องวงจรปิดไว้ที่ตำแหน่งทางเข้าออกแทน และไม่จัดให้มีพนักงานรักษาความปลอดภัยดูแลจุดทางเข้าออกของห้างเพื่อสกัดกั้นมิให้มีการขับรถออกไปจากลานจอดรถของห้างได้โดยสะดวก มีผลเป็นการลดมาตรการป้องกันมิให้รถยนต์ที่ลูกค้านำมาจอดไว้ถูกโจรกรรมและนำออกไปจากพื้นที่ได้โดยง่าย พฤติการณ์ของจำเลยฟังได้ว่า จำเลยงดเว้นการที่จะต้องดูแลรถยนต์ของลูกค้าเพื่อป้องกันมิให้รถยนต์ของลูกค้าถูกโจรกรรม เป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อ เมื่อเป็นผลโดยตรงทำให้คนร้ายฉวยโอกาสโจรกรรมรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไว้ไป จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้เอาประกันภัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 420
ตามสัญญาว่าจ้างบริการรักษาความปลอดภัยระบุว่า จำเลยร่วมตกลงรับจ้างบริการรักษาความปลอดภัยให้แก่จำเลย โดยมีหน้าที่สอดส่องตรวจตราและสังเกตการณ์เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินของผู้ว่าจ้าง ลูกจ้าง และบุคคลอื่นที่มาใช้บริการของผู้ว่าจ้างในสถานที่ให้บริการ ซึ่งได้แก่อาคาร สถานที่ และอาณาบริเวณของอาคารให้มีความปลอดภัย จำเลยร่วมผู้ได้รับมอบหมายจากจำเลยจึงมีหน้าที่ต้องดูแลสถานที่จอดรถให้มีความปลอดภัยตามสมควร รวมถึงมีหน้าที่ป้องกันมิให้รถยนต์ของลูกค้าถูกโจรกรรมไปเช่นเดียวกับจำเลย เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยเป็นผู้สั่งยกเลิกการแจกบัตรจอดรถยนต์ และยกเลิกการจัดให้มีพนักงานรักษาความปลอดภัยประจำของจำเลยร่วมอยู่ที่จุดทางเข้าออกของห้างและแจกบัตรจอดรถให้แก่ผู้ที่นำรถเข้ามาจอดโดยเพียงแต่ติดตั้งกล้องวงจรปิดที่บริเวณทางเข้าออกแทนก่อนเกิดเหตุ ซึ่งมีผลเป็นการลดมาตรการป้องกันมิให้รถยนต์ที่ลูกค้านำมาจอดไว้ถูกโจรกรรมไป การที่จำเลยสั่งให้จำเลยร่วมจัดให้มีพนักงานรักษาความปลอดภัยเพียง 5 คนประจำตามจุดที่จำเลยกำหนดเพื่อดูแลพื้นที่ลานจอดรถยนต์ขนาด 1,096 คัน ซึ่งเป็นพื้นที่จอดรถขนาดใหญ่และมีการแบ่งพื้นที่จอดรถเป็นหลายส่วนรอบอาคารของห้าง การสอดส่องตรวจตราดูแลย่อมกระทำได้ไม่ทั่วถึง และไม่เพียงพอต่อการป้องกันมิให้เกิดการโจรกรรมรถยนต์ของลูกค้าไป เมื่อไม่ปรากฏว่าพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยร่วมปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับคำสั่งบกพร่องอย่างไร และไม่ปรากฏว่าเหตุโจรกรรมรถยนต์คันที่เอาประกันภัยไว้อยู่ในความรู้เห็นของพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยร่วม การที่รถยนต์คันดังกล่าวถูกโจรกรรมจึงไม่ได้เป็นผลโดยตรงมาจากการกระทำของพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยร่วมที่จำเลยร่วมจะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8710/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำกัดความรับผิดฐานทำร้ายร่างกาย: แยกผลจากการถูกแทง และรอการลงโทษ
จำเลยเพียงเข้าไปชกต่อยและถีบผู้เสียหาย พฤติการณ์ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นตัวการร่วมกับพวกใช้มีดแทงผู้เสียหายโดยมีเจตนาฆ่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยรู้ว่า อ. พาอาวุธมีดมา จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานร่วมกันพาอาวุธมีดไปในทางสาธารณะดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดเพียงฐานร่วมกันใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ตาม ป.อ. มาตรา 391 (เดิม) เท่านั้น แม้จำเลยมิได้ฎีกาในข้อนี้ แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยให้เป็นคุณแก่จำเลยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
คดีส่วนแพ่ง การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้เสียหาย และต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายเฉพาะในผลอันเกิดจากการที่ได้ใช้กำลังทำร้ายผู้เสียหาย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 เท่านั้น หาจำต้องรับผิดในผลที่ผู้เสียหายถูกแทงจนได้รับอันตรายแก่กายอันเกิดจากการกระทำของบุคคลอื่นไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8695/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ขนส่งและผู้รับขนส่งในการขนส่งสินค้าทางทะเล การแบ่งแยกความรับผิดชอบตามช่วงการขนส่ง
ผู้เอาประกันภัยสั่งซื้อสินค้าเมล็ดถั่วเหลืองจากผู้ขายในราคาค่าสินค้ารวมค่าระวางขนส่ง ผู้ขายว่าจ้างจำเลยที่ 1 ขนส่งสินค้าทางทะเลเพื่อส่งมอบแก่ผู้รับตราส่ง ตัวแทนของกัปตันเรือของจำเลยที่ 1 ออกใบตราส่งให้แก่ผู้ขายที่ประเทศบราซิล โดยมีข้อความระบุว่า ให้ใช้ประกอบสัญญาจ้างเหมาระวางบรรทุกของเรือ เช่นนี้จึงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 มีฐานะเป็นผู้ขนส่งตามสัญญาจ้างเหมาระวางบรรทุกของเรือ หน้าที่และสิทธิของจำเลยที่ 1 จึงเป็นไปตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 5 เมื่อใบตราส่งระบุว่าเป็นการขนส่งจากท่าเรือต้นทางเมืองซานโตส ประเทศบราซิล ถึงท่าเรือปลายทางเกาะสีชัง ประเทศไทย หน้าที่และความรับผิดของจำเลยที่ 1 จึงสิ้นสุดลงเมื่อมีการส่งมอบสินค้าที่ท่าเรือเกาะสีชัง ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวมาตรา 39 ส่วนจำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัยว่าจ้างให้ดำเนินการขนถ่ายและขนส่งสินค้าจากเกาะสีชังต่อไปยังท่าเรือของผู้เอาประกันภัยที่อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม การขนส่งทอดนี้จึงเป็นการขนส่งในราชอาณาจักรซึ่งไม่อยู่ในบังคับตามมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 จำเลยที่ 2 จึงมีฐานะเป็นผู้รับขนส่งของเพื่อบำเหน็จเป็นทางการค้าปกติของตน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 608 จึงเห็นได้ว่า จำเลยทั้งสองขนส่งสินค้าที่โจทก์รับประกันภัยไว้คนละช่วงคนละตอน หน้าที่และความรับผิดชอบของจำเลยทั้งสองแยกกันอย่างเด็ดขาดและอยู่ภายใต้บังคับของบทกฎหมายคนละฉบับ หากมีความเสียหายของสินค้าเกิดขึ้นในช่วงการขนส่งที่จำเลยใดครอบครองดูแล จำเลยนั้นก็ต้องรับผิดต่อผู้เอาประกันภัยเพียงลำพัง มิใช่รับผิดร่วมกันอย่างลูกหนี้ร่วม
ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบโจทก์ไม่ปรากฏเหตุที่จะทำให้สินค้าในความดูแลของจำเลยที่ 1 สูญหาย แม้จำนวนน้ำหนักสินค้าต้นทางที่แน่นอนจะเป็นอย่างที่โจทก์กล่าวอ้างหรือจำเลยที่ 1 กล่าวอ้างก็มิใช่สาระสำคัญ และต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ได้ส่งมอบสินค้าตามจำนวนที่ได้รับมาแก่ผู้เอาประกันภัยถูกต้องครบถ้วนแล้ว พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 39 วรรคสอง มิได้บกพร่องขาดจำนวนแต่อย่างใด จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดในความเสียหายของสินค้า ส่วนจำเลยที่ 2 แม้จะนำสืบขั้นตอนการขนถ่ายสินค้าแต่ละช่วงแต่ละตอนประกอบรายงานการกำกับดูแลการขนถ่ายเมื่อเรือลำเลียงของจำเลยที่ 2 มาถึงท่าขนถ่ายสินค้าระบุว่า ตราผนึกอยู่ในสภาพสมบูรณ์ สินค้าอยู่ในสภาพปกติไม่ปรากฏความเสียหายก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงก็ได้ความว่าเมื่อมีการชั่งน้ำหนักของสินค้าทั้งหมดที่โรงงานของผู้เอาประกันภัยสินค้าปรากฏว่าขาดหายไปกว่า 1,000 เมตริกตัน และมีการจับกุมและการตรวจยึดเรือลำเลียงอื่นซึ่งบรรทุกเมล็ดถั่วเหลืองและรถบรรทุกเมล็ดถั่วเหลืองเต็มกระบะอีก 4 คัน ซึ่งเป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกับการขนถ่ายสินค้าลงเรือลำเลียงของจำเลยที่ 2 เมื่อจำเลยที่ 2 มิได้นำพยานหลักฐานมาสืบหักล้าง พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมามีเหตุผลและน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า มีการลักลอบขนถ่ายสินค้าของผู้เอาประกันภัยไปจากความครอบครองดูแลของจำเลยที่ 2 โดยทุจริต จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในความเสียหายของสินค้าที่สูญหายไปดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8089/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การค้ำประกันหนี้ - การโอนสิทธิเรียกร้องไม่ทำให้การค้ำประกันสิ้นผล - ผู้ค้ำประกันยังคงมีหน้าที่รับผิด
จำเลยที่ 3 ได้ทำหนังสือค้ำประกันให้ไว้แก่โจทก์ความว่า ตามที่จำเลยที่ 1 รับจ้างปรับปรุงตกแต่งอาคารสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และได้ตกลงสั่งซื้อสินค้าและว่าจ้างโจทก์ติดตั้งม่านม้วนระบบมอเตอร์พร้อมผ้าตามใบสั่งซื้อเลขที่ PO.550523004 และ PO.550526001 ลงวันที่ 23 และ 26 พฤษภาคม 2555 แต่จำเลยที่ 1 ไม่สามารถชำระเงินค่าสินค้าและค่าติดตั้งงานดังกล่าวแก่โจทก์ได้ตามกำหนดเป็นเหตุให้งานสะดุดหยุดลง เพื่อให้งานสั่งสินค้าและติดตั้งสินค้าดังกล่าวสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี จำเลยที่ 3 ตกลงเข้าค้ำประกันการชำระหนี้และความรับผิดของจำเลยที่ 1 ตามใบสั่งซื้อดังกล่าวในวงเงิน 3,474,995.80 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายโดยไม่จำกัดเวลาจนกว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้รวมทั้งดอกเบี้ยจนครบถ้วนเสมือนหนึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมกัน ขณะเดียวกันจำเลยที่ 1 เป็นลูกค้าของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นธนาคารได้ขอสินเชื่อจากจำเลยที่ 2 เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนในโครงการปรับปรุงและตกแต่งอาคารสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และจำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือสัญญาโอนสิทธิเรียกร้อง โดยขอโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจ้างเหมาปรับปรุงอาคารสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ทั้งหมดที่พึงจะได้รับตามสัญญาจ้างเหมาทุกจำนวนและทุกงวดให้แก่จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 ตกลงรับโอนสิทธิเรียกร้องเงินค่างานจำนวน 205,529,194.72 บาท โดยจำเลยที่ 1 ยอมให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้มีสิทธิเรียกร้องเงินทุกงวดทุกจำนวนจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์โดยตรงตามข้อสัญญา จะเห็นว่า มูลหนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และมูลหนี้ระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 1 มีที่มาแห่งมูลหนี้ต่างกัน การที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องสำหรับเงินทุกงวดทุกจำนวนที่มีมูลค่างานของโครงการเป็นเงิน 205,529,194.72 บาท ไม่ถือว่าเป็นการเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ตามสัญญาว่าจ้างรับเหมาช่วงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และไม่อาจถือเป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ เพราะเป็นหนี้คนละส่วน ต่างข้อตกลงและต่างสัญญากัน เมื่อหนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหนี้เดิมและเป็นหนี้ประธานไม่ระงับสิ้นไป โดยไม่ถือว่าเป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงไม่หลุดพ้นความรับผิดตามสัญญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7078/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดต่อรถยนต์สูญหายในที่จอดรถ: ลูกจ้างผู้เช่าพื้นที่ไม่ใช่ลูกค้า - จำเลยไม่ต้องรับผิด
จำเลยที่ 1 เป็นห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่จัดให้มีบริการที่จอดรถ นอกจากจะเป็นการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 แล้ว ยังเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าที่มาซื้อสินค้าหรือใช้บริการอื่นภายในห้างสรรพสินค้าของจำเลยที่ 1 อันมีผลโดยตรงต่อยอดการจำหน่ายสินค้าหรือบริการของจำเลยที่ 1 เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ย. เป็นลูกจ้างของห้าง ฮ. ซึ่งเป็นผู้ประกอบการและผู้เช่าพื้นที่จากจำเลยที่ 1 เพื่อประกอบกิจการค้าหากำไร วันเกิดเหตุการที่ ย. นำรถยนต์เข้ามาจอดไว้ในที่จอดรถของจำเลยที่ 1 เพื่อเข้าไปทำงานประจำในห้าง ฮ. โดยไม่ปรากฏว่า ย. ได้ซื้อสินค้าหรือใช้บริการอื่นภายในห้างสรรพสินค้าของจำเลยที่ 1 จึงยังไม่อาจถือได้ว่า ย. เป็นลูกค้าของจำเลยที่ 1 แม้จะฟังว่าห้าง ฮ. เช่าพื้นที่จำหน่ายสินค้าภายในห้างสรรพสินค้าของจำเลยที่ 1 ก็ไม่ปรากฏว่ามีข้อสัญญาระหว่างห้าง ฮ. กับจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับความรับผิดกรณีที่รถยนต์ของลูกจ้างห้าง ฮ. สูญหายเพราะถูกคนร้ายลักไป การที่คนร้ายลักรถยนต์ของ ย. คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ไป มิได้เกิดจากการงดเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยทั้งสอง อันจะถือว่าเป็นความประมาทเลินเล่อ จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5662/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ประมาทเลินเล่อทั้งสองฝ่าย: การพิพากษาความรับผิดทางละเมิด กรณีอุบัติเหตุบนทางก่อสร้าง
เมื่อโจทก์ทั้งสองอ้างส่งภาพถ่ายรถยนต์ของโจทก์ที่ 2 ประกอบคำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสอง ทั้งศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายประมาทหรือไม่ และจำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองหรือไม่ เพียงใด ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจหยิบยกภาพถ่ายดังกล่าวขึ้นมาวินิจฉัยและมีอำนาจวินิจฉัยว่าโจทก์ที่ 1 ขับรถยนต์คันเกิดเหตุด้วยความประมาทเลินเล่อด้วยหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อจะได้กำหนดค่าเสียหายได้ถูกต้อง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 442 จึงไม่ใช่เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องหรือนอกประเด็น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5654/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของตัวแทนดำเนินการพิธีการศุลกากรในฐานะผู้นำเข้าเมื่อใบขนสินค้าลงวันที่หลังผู้มอบอำนาจเสียชีวิต
ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 2 คำว่า "ผู้นำของเข้า" หมายความรวมทั้งและใช้ตลอดถึงเจ้าของหรือบุคคลอื่นซึ่งเป็นผู้ครอบครองนี้มีส่วนได้เสียชั่วขณะหนึ่งในของใด ๆ นับแต่เวลาที่นำของนั้นเข้ามาจนถึงเวลาที่ได้ส่งมอบให้ไปโดยถูกต้องพ้นจากความรักษาของพนักงานศุลกากร และคำว่า "ผู้ส่งของออก" ให้มีความหมายเป็นทำนองเดียวกันโดยอนุโลม และ ป.รัษฎากร มาตรา 77/1 (11) บัญญัติว่า "ผู้นำเข้า" หมายความว่า ผู้ประกอบการหรือบุคคลอื่นซึ่งนำเข้า ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ฮ. ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2547 แต่ใบขนสินค้าพิพาททั้ง 3 ฉบับ ระบุว่าวันนำเข้าสินค้าซึ่งเป็นวันหลังจาก ฮ. ถึงแก่ความตายไปแล้ว เมื่อจำเลยเป็นผู้ลงชื่อในใบขนสินค้าพิพาททั้ง 3 ฉบับ ในฐานะผู้ผ่านบัตรพิธีศุลกากร ประกอบกับตามเหตุผลประกอบคำอุทธรณ์ของจำเลยซึ่งจำเลยรับว่าเป็นผู้ดำเนินการพิธีการทางศุลกากรและตรวจปล่อย กรณีจึงถือว่าจำเลยเป็นผู้มีส่วนได้เสียชั่วขณะหนึ่งในของที่นำเข้านับแต่เวลาที่นำของนั้นเข้ามาจนถึงเวลาที่ได้ส่งมอบให้ไปโดยถูกต้องพ้นจากความรักษาของพนักงานศุลกากร ตามพฤติการณ์แห่งคดีจึงถือว่าจำเลยเป็นผู้นำของเข้า
of 498