คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ความรับผิด

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4,971 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2425/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานพรากเด็กและผู้เยาว์เพื่อหากำไรและการค้าประเวณี วินิจฉัยความรับผิดของจำเลยที่ชักชวนและแนะนำ
จำเลยที่ 1 ชักชวนและแนะนำผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งยังเป็นเด็กและผู้เยาว์ไปขายบริการทางเพศโดยผู้เสียหายที่ 1 สมัครใจและเดินทางไปขายบริการทางเพศด้วยตนเองให้แก่บุคคลที่จำเลยที่ 1 แนะนำ จากนั้นก็แบ่งเงินให้จำเลยที่ 1 บ้าง พฤติการณ์ดังกล่าวเป็นการกระทำที่กระทบกระเทือนต่อการใช้อำนาจปกครองดูแลของผู้เสียหายที่ 2 ที่มีต่อผู้เสียหายที่ 1 แล้ว ไม่ว่าผู้เสียหายที่ 1 จะอยู่ที่ใดและจะยินยอมหรือไม่ เมื่อเป็นการเสื่อมเสียต่อสวัสดิภาพหรือประโยชน์สุขของผู้เสียหายที่ 1 จำเลยที่ 1 ย่อมมีความผิดฐานพรากเด็กและพรากผู้เยาว์ไปเพื่อหากำไรและเพื่อการอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม และมาตรา 319 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2378/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของลูกจ้างและหัวหน้างานต่อความเสียหายจากการจ่ายเงินผิดระเบียบ และการหักชำระหนี้จากคดีล้มละลาย
ระเบียบของโจทก์ว่าด้วยการรับจ่ายและเก็บรักษาเงิน พ.ศ.2550 ข้อ 26 กำหนดว่า "การจ่ายเงินของสหกรณ์ให้กระทำได้ดังนี้...(2) การจ่ายเงินเป็นจำนวนมากให้แก่สมาชิก หรือกรรมการ หรือเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์...ให้จ่ายเป็นเช็ค ยกเว้นถ้าผู้รับเงินประสงค์จะให้จ่ายเป็นเงินสด..." และข้อ 27 กำหนดว่า "ก่อนจ่ายเงินทุกครั้ง ผู้มีหน้าที่จ่ายต้องตรวจสอบเอกสารหลักฐานต่าง ๆ และใบสำคัญประกอบการจ่ายเงินให้ถูกต้องเรียบร้อย..." ข้อเท็จจริงได้ความว่าผู้จัดการสหกรณ์โจทก์มอบหมายให้จำเลยที่ 1 จ่ายเงินกู้ได้ โจทก์อนุมัติให้ ป. และ ก. กู้ยืมเงินจากโจทก์ ตามปกติแล้ว ป. และ ก. ต้องเป็นผู้รับเงินด้วยตนเอง การจ่ายเงินจำนวนมากเช่นในคดีนี้ต้องจ่ายเป็นเช็ค เว้นแต่ ป. และ ก. เจตนาขอรับเป็นเงินสด และหาก ป. และ ก. จะไม่รับเงินด้วยตนเองต้องทำหนังสือมอบอำนาจหรือมอบฉันทะให้บุคคลอื่นรับเงินแทน ซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องตรวจสอบหนังสือมอบอำนาจหรือมอบฉันทะให้ถูกต้องเสียก่อนจึงจะจ่ายเงินกู้ได้ การที่จำเลยที่ 1 จ่ายเงินกู้จำนวนมากเป็นเงินสดให้แก่ น. ซึ่งไม่ใช่ผู้มีสิทธิรับเงินตามสัญญากู้ จึงเป็นการจ่ายเงินที่ไม่ถูกต้องตามระเบียบ เป็นการละเมิดและเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานต่อโจทก์ด้วย และถือไม่ได้ว่าโจทก์มีส่วนผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 442 ประกอบมาตรา 223 วรรคหนึ่ง ที่จะมีผลให้จำเลยที่ 1 รับผิดน้อยลง ส่วนจำเลยที่ 2 แม้ไม่มีหน้าที่จ่ายเงินกู้ให้แก่สมาชิกผู้กู้โดยตรง แต่เมื่อจำเลยที่ 2 มีหน้าที่ควบคุมการจ่ายเงินทุกประเภทให้เป็นไปตามระเบียบ แล้วไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 2 ควบคุมการจ่ายเงินสดของจำเลยที่ 1 ให้แก่ น. ให้ถูกต้องตามระเบียบ จึงเป็นการละเมิดและเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์
การกำหนดค่าเสียหายจากการที่จำเลยทั้งสองจงใจฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามระเบียบเป็นดุลพินิจซึ่งเป็นข้อเท็จจริง ศาลฎีกาไม่สามารถกำหนดเองได้ จึงต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานภาค 6 ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 207/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผลบังคับสัญญากู้ยืมเงินและขอบเขตความรับผิดของตัวการ-ตัวแทน
จำเลยที่ 1 ผิดนัดภายหลังวันที่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 มีผลใช้บังคับแล้ว โจทก์ที่ 1 ผู้เป็นเจ้าหนี้ต้องมีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 5 และที่ 7 ผู้ค้ำประกันภายในหกสิบวัน นับแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2559 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ผิดนัด เนื่องจากไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใดเจ้าหนี้จะเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ก่อนที่หนังสือบอกกล่าวจะไปถึงผู้ค้ำประกันมิได้ เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 1 มีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 5 และที่ 7 ผู้ค้ำประกันให้ชำระหนี้ตามบทบัญญัติแห่งมาตราดังกล่าว ทำให้โจทก์ที่ 1 ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกให้จำเลยที่ 5 และที่ 7 ชำระหนี้ ไม่ใช่เป็นกรณีที่เจ้าหนี้มีหนังสือบอกกล่าวภายในกำหนดเวลาหกสิบวันหรือพ้นกำหนดเวลาหกสิบวันอันต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 686 วรรคสอง ที่แก้ไขใหม่
โจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้องว่า โจทก์มอบอำนาจให้ บ. ดำเนินคดีนี้แทนโจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ก็ไม่ได้ให้การปฏิเสธว่า โจทก์ทั้งสองไม่ได้มอบอำนาจดังกล่าวไว้ คดีจึงไม่มีประเด็นที่โจทก์ทั้งสองจะต้องนำสืบหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานอีกว่าถูกต้องหรือไม่ และข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่คู่ความรับกันแล้วว่า โจทก์ที่ 1 มอบอำนาจให้ผู้รับมอบอำนาจฟ้องคดีโดยชอบแล้ว
จำเลยที่ 4 และที่ 6 ให้การยอมรับว่าลงลายมือชื่อในสัญญากู้ยืมเงินจริง เพียงแต่อ้างว่าไม่มีมูลหนี้ คดีจึงไม่มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่าโจทก์ที่ 1 โดยโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนกับจำเลยที่ 4 และที่ 6 ทำสัญญากู้ยืมเงินฉบับดังกล่าวกันจริงหรือไม่
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่าสัญญากู้ยืมเงินสมบูรณ์มีผลบังคับได้ตามกฎหมายและผูกพันจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในฐานะตัวการ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มิได้ฎีกาโต้แย้งข้อเท็จจริงในส่วนนี้ กรณีจึงไม่จำต้องใช้สัญญากู้ยืมเงินเป็นพยานหลักฐานและไม่ต้องพิจารณาปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ว่า สัญญากู้ยืมเงิน ไม่ได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์จะรับฟังได้หรือไม่อีกต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 883/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับผิดในฐานะเจ้าของรถและนายจ้าง/ตัวการ, การคิดดอกเบี้ยผิดนัด, และขอบเขตความรับผิดร่วม
คดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.951/2562 ของศาลจังหวัดทุ่งสง พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ในข้อหาขับรถในขณะเมาสุรา ขับรถโดยประมาทหรือหวาดเสียวอันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจและผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ซึ่ง ต. ผู้เอาประกันภัยยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าเสียหายในการซ่อมรถยนต์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 โจทก์คดีนี้ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ของ ต. ไม่ได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าว การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 คดีนี้ จึงมิใช่เป็นเรื่องที่ศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้วคู่ความเดียวกันมารื้อฟ้องกันอีก ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำอันจะต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ทั้งมิใช่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144
ในคดีอาญาดังกล่าว ต. ผู้เอาประกันภัยได้ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าซ่อมรถยนต์คันเกิดเหตุ โดยอ้างส่งหลักฐานการซ่อมเป็นรายการราคาของอะไหล่แต่ละชิ้นและภาพถ่ายรถยนต์ที่ได้รับความเสียหาย ซึ่งศาลจังหวัดทุ่งสงพิจารณาหลักฐานดังกล่าวแล้ว เห็นว่า รถยนต์ย่อมเสื่อมสภาพลงเพราะการใช้งาน การคิดคำนวนราคาซ่อมไม่อาจคิดคำนวณราคาค่าอะไหล่ทุกชิ้นเป็นเกณฑ์ในการเรียกราคา ทั้งพิจารณาจากสภาพรถยนต์ที่ได้รับความเสียหาย หากทำการซ่อมก็ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนอะไหล่ทั้งหมด เห็นควรกำหนดค่าเสียหายให้ 400,000 บาท อันเป็นการวินิจฉัยราคาค่าซ่อมรถยนต์จากหลักฐานรายการซ่อมและสภาพความเสียหายที่ปรากฏจากภาพถ่ายรถยนต์คันเกิดเหตุ ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องและนำสืบว่า จากการตรวจสอบสภาพความเสียหายและประเมินราคาค่าซ่อมรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัย ปรากฏว่าได้รับความเสียหาย 254,463 บาท ตามเอกสารสรุปค่าอะไหล่และใบเสนอราคาความเสียหายของอู่ ซึ่งสูงเกินกว่าจำนวนเงินเอาประกันภัยที่กำหนดไว้ 200,000 บาท โจทก์จึงชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัยเต็มตามจำนวนเงินเอาประกันภัย 200,000 บาท ตามความผูกพันในสัญญาประกันภัยข้อ 2.1 การชดใช้ความเสียหายต่อรถยนต์ในกรณีรถยนต์เสียหายสิ้นเชิง ค่าเสียหายที่ ต. ได้รับจากจำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาคดีอาญาของศาลจังหวัดทุ่งสง 400,000 บาท และที่ ต. ได้รับจากโจทก์ 200,000 บาท จึงเป็นค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายต่อรถยนต์เช่นเดียวกัน การที่โจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ ต. ตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2562 ก่อนวันที่ศาลจังหวัดทุ่งสงมีคำพิพากษาในคดีอาญาให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าซ่อมรถยนต์แก่ ต. เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2563 สิทธิของโจทก์ในการเข้ารับช่วงสิทธิของ ต. เรียกให้จำเลยที่ 1 ผู้ทำละเมิดรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายต่อรถยนต์ที่เอาประกันภัย ย่อมเกิดขึ้นแล้วตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2562 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 226 วรรคหนึ่ง และมาตรา 880 วรรคหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงในคดีอาญาของศาลจังหวัดทุ่งสง ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 รู้ว่าโจทก์ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวให้แก่ ต. และเข้ารับช่วงสิทธิในการเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 จาก ต. ก่อนวันที่ศาลจังหวัดทุ่งสงมีคำพิพากษาในคดีอาญา ทั้งการที่จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายสำหรับความเสียหายต่อรถยนต์ให้แก่ ต. เป็นการปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดทุ่งสงที่กำหนดค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายตามคำร้องขอให้บังคับผู้กระทำความผิดชดใช้ค่าเสียหายในส่วนแพ่ง ตามพฤติการณ์จึงเป็นการชำระหนี้ซึ่งได้ทำให้แก่ผู้ครองตามปรากฏแห่งสิทธิในมูลหนี้ละเมิดโดยสุจริต การชำระหนี้ดังกล่าวย่อมสมบูรณ์ตามมาตรา 316 แม้โจทก์เข้ารับช่วงสิทธิจาก ต. ก่อนจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ดังกล่าว แต่สิทธิของโจทก์มีเท่ากับสิทธิของ ต. ผู้เอาประกันภัยที่มีอยู่โดยมูลหนี้ต่อจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 226 วรรคหนึ่ง และการชำระหนี้ในมูลละเมิดสำหรับความเสียหายต่อทรัพย์สินของ ต. ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้กระทำลงนั้นสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว มูลหนี้ส่วนนี้จึงระงับไป โจทก์ไม่อาจเรียกให้จำเลยทั้งสองรับผิดในค่าเสียหายสำหรับความเสียหายต่อรถยนต์ 200,000 บาท ได้ แต่สำหรับค่าลากรถที่โจทก์ฟ้องเรียกมา 6,400 บาท นั้น เป็นค่าเสียหายคนละส่วนกับค่าเสียหายสำหรับความเสียหายต่อรถยนต์ ซึ่งจำเลยที่ 1 ชดใช้ให้แก่ ต. ไปตามคำพิพากษาคดีอาญาของศาลจังหวัดทุ่งสง เมื่อโจทก์ได้ชดให้ค่าเสียหายส่วนนี้ให้แก่ ต. ไป และไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้ชดใช้ค่าเสียหายส่วนนี้ให้แก่ ต. แล้ว โจทก์ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของ ต. เรียกให้จำเลยที่ 1 รับผิดชดใช้ค่าเสียหายส่วนนี้แก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 855/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าซื้อ: ความรับผิดของผู้เช่าซื้อกรณีรถหาย และขอบเขตค่าเสียหายที่ตกลงกันไว้
โจทก์บรรยายฟ้องและนำสืบว่าจำเลยทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์แล้วผิดสัญญา โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาพร้อมเรียกให้จำเลยส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนและใช้ค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์แก่โจทก์ตามสัญญา โดยโจทก์แนบสำเนาสัญญาเช่าซื้อพร้อมคำฟ้องและอ้างส่งต่อศาล ทั้งมีคำขอบังคับให้จำเลยส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาพร้อมค่าเสียหาย แม้โจทก์มิได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเนื่องจากรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย แต่พอถือได้ว่าโจทก์เรียกค่าเสียหายกรณีรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายตามสัญญาเช่าซื้อด้วย
สัญญาเช่าซื้อข้อ 6.7 กำหนดว่า กรณีรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย หากมิใช่ความผิดของผู้เช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดชำระเบี้ยปรับ ค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใด ๆ ในการทวงถามหนี้ค่าเช่าซื้อ ค่าภาษีมูลค่าเพิ่มคงเหลือ ทั้งนี้เพียงเท่าที่ผู้ให้เช่าซื้อได้จ่ายไปจริงโดยประหยัดตามความจำเป็นและมีเหตุผลอันสมควร ดังนั้น โจทก์และจำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญาต้องผูกพันตามข้อสัญญาดังกล่าว เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่ารถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายไปโดยไม่ใช่ความผิดของผู้เช่าซื้อ จำเลยผู้เช่าซื้อจึงต้องรับผิดเฉพาะเบี้ยปรับ ค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใด ๆ ในการทวงถามหนี้ค่าเช่าซื้อ ค่าภาษีมูลค่าเพิ่มคงเหลือเท่านั้น ซึ่งในส่วนเบี้ยปรับ แม้เป็นค่าเสียหายอย่างหนึ่ง แต่มีลักษณะเป็นค่าเสียหายที่คู่สัญญาได้ตกลงกันไว้ล่วงหน้าให้ชดใช้ให้แก่กันเมื่ออีกฝ่ายไม่ชำระหนี้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 ซึ่งตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 4 กำหนดรายละเอียดของเบี้ยปรับว่า ได้แก่ เบี้ยปรับของค่าเช่าซื้อที่ผิดนัด เบี้ยปรับของค่าใช้จ่ายที่ผู้ให้เช่าซื้อได้ชำระที่ผู้ให้เช่าซื้อเรียกเก็บแทนผู้เช่าซื้อ เบี้ยปรับจึงมีความหมายเฉพาะที่ระบุในข้อสัญญาดังกล่าว มิใช่ค่าเสียหายอย่างอื่นที่โจทก์อาจมีสิทธิเรียกได้กรณีที่รถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย เมื่อโจทก์มิได้นำสืบถึงค่าเสียหายอันเป็นเบี้ยปรับ ค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใด ๆ ในการทวงถามหนี้ค่าเช่าซื้อ ค่าภาษีมูลค่าเพิ่มคงเหลือตามที่ระบุไว้ในข้อสัญญาดังกล่าว ทั้งสัญญาเช่าซื้อไม่มีข้อตกลงให้จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายอย่างอื่น จึงไม่อาจกำหนดให้จำเลยรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 742/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดจากการไม่ดำเนินการตามข้อตกลงยกเว้นการบังคับคดี - ความรับผิดทางแพ่ง - ค่าเสียหาย - ค่าฤชาธรรมเนียม
การที่โจทก์และจำเลยทำบันทึกข้อตกลงปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามคำพิพากษาเพื่อผ่อนปรนการชำระหนี้กันเป็นไปเพื่อประโยชน์ของทั้งสองฝ่ายกล่าวคือ โจทก์ได้รับการผ่อนเวลาชำระหนี้และไม่ต้องกังวลว่าจำเลยจะดำเนินการบังคับคดีแก่ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ระหว่างที่โจทก์ปฏิบัติตามข้อตกลงนั้น ส่วนจำเลยก็มีทางได้รับชำระหนี้โดยไม่จำต้องดำเนินการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของโจทก์ แสดงให้เห็นว่าโจทก์ประสงค์ให้จำเลยงดการบังคับแก่โจทก์ไว้ก่อนนั่นเอง จำเลยจึงต้องดำเนินการงดการบังคับคดี และการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะงดการบังคับคดีสำหรับกรณีที่พิพาทนี้ได้ ย่อมต้องบังคับตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 (3) กล่าวคือ จำเลยต้องแจ้งเป็นหนังสือไปยังเจ้าพนักงานบังคับคดีว่าให้งดการขายทอดตลาดทรัพย์ของโจทก์ไว้ โดยได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากโจทก์ ซึ่งโจทก์ได้ทำหนังสือยินยอมให้งดการขายทอดตลาดมอบไว้แก่พนักงานของจำเลยแล้ว การที่จำเลยไม่ได้ดำเนินการดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีจนเป็นเหตุให้มีการขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ไป เป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อและทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย อันเป็นการทำละเมิดและต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ ส่วนโจทก์ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีจะไปดูแลการขายทอดตลาดหรือไม่นั้น เป็นสิทธิของโจทก์ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288 (1) การที่โจทก์ไม่ไปดูแลการขายทอดตลาดหาได้เป็นผลโดยตรงต่อความเสียหาย หรือจะถือว่าโจทก์มีส่วนในการก่อให้เกิดความเสียหาย อันจะทำให้จำเลยพ้นความรับผิด เมื่อการทำละเมิดของจำเลยเป็นเหตุให้โจทก์ต้องสูญเสียที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างโดยต้องถูกขายทอดตลาดไปจำเลยจึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตามราคาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวรวมทั้งความเสียหายอื่น ๆ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 438 วรรคสอง
เมื่อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์มีภาระจำนองกับธนาคาร อ. และถูกขายทอดตลาดโดยจำนองติดไปย่อมเป็นเหตุให้โจทก์หลุดพ้นภาระหนี้ไปตามจำนวนดังกล่าวและต้องนำมาคิดหักจากราคาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างในวันทำละเมิด
ศาลจะมีอำนาจสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 42 ได้นั้น ต้องเป็นกรณีการกระทำที่ถูกฟ้องร้องเกิดจากผู้ประกอบธุรกิจกระทำโดยเจตนาเอาเปรียบผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรมหรือจงใจให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหายหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไม่นำพาต่อความเสียหายที่จะเกิดแก่ผู้บริโภคหรือกระทำการฝ่าฝืนต่อความรับผิดชอบในฐานะผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน ซึ่งการกระทำของผู้ประกอบธุรกิจที่ว่านี้หมายถึง การกระทำเกี่ยวกับสินค้าที่ขายหรือผลิต หรือการให้บริการที่ก่อให้เกิดผลหรือมีลักษณะตามบทบัญญัติดังกล่าว และมีการฟ้องร้องเป็นคดีกันด้วยข้อพิพาทที่เกิดจากสินค้าที่ขาย หรือผลิต หรือการให้บริการ อันเป็นการประกอบกิจการของผู้ประกอบธุรกิจนั้นเอง แต่การกระทำที่จำเลยถูกโจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้เกิดจากการทำละเมิดของจำเลยที่ไม่ได้ดำเนินการเพื่อให้เจ้าพนักงานบังคับคดีงดการบังคับคดีเกี่ยวกับที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ที่ยึดไว้ตามที่โจทก์กับจำเลยตกลงกัน เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไป ไม่ใช่ความเสียหายโดยตรงที่เกิดจากตัวสินค้าและบริการที่ศาลจะมีอำนาจสั่งให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษตามบทบัญญัติดังกล่าวได้ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะไม่ได้ยกขึ้นกล่าวอ้างเป็นประเด็นโดยตรง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 282/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การตีความความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงในสัญญาประกันภัยรถยนต์ การจอดรถในที่สาธารณะโดยไม่ล็อคประตูไม่ถือเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
การตีความ ป.พ.พ. มาตรา 879 วรรคหนึ่ง อันเป็นบทยกเว้นความรับผิดของผู้รับประกันภัยนั้น ต้องตีความโดยเคร่งครัด การที่โจทก์ขับรถยนต์ที่ทำประกันภัยไว้กับจำเลยไปจอดที่หน้าร้านค้าอื่นซึ่งตั้งอยู่ริมถนนสาธารณะขนาดใหญ่ มีร้านค้าตั้งอยู่ติด ๆ กัน สภาพที่เกิดเหตุเป็นตลาดย่านการค้า โดยห่างจากร้านค้าที่โจทก์ไปติดต่อประมาณ 5 ถึง 8 เมตร ไม่มีสิ่งใดปิดบังจุดที่จอดรถยนต์อันจะเป็นช่องทางให้คนร้ายสามารถลงมือกระทำความผิดได้โดยง่ายแต่อย่างใด แล้วลงไปติดต่อซื้อของประมาณ 6 นาที ขณะจอดรถเป็นเวลากลางวัน แม้โจทก์จะวางกุญแจไว้ที่เบาะข้างคนขับด้านหน้า และไม่ล็อกประตู ก็ยังอยู่ในวิสัยที่โจทก์สามารถดูแลรักษารถยนต์ได้ การจอดรถในลักษณะดังกล่าวไม่ใช่การละทิ้งความครอบครองชั่วคราว แม้จะพอถือได้ว่าโจทก์มีส่วนประมาทเลินเล่ออยู่บ้าง แต่ก็ยังถือไม่ได้ว่าเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์ จึงไม่เข้าข้อยกเว้นตามกรมธรรม์ประกันภัยจำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2429/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ พรากผู้เยาว์จากมารดาเพื่อค้าประเวณี จำเลยมีความผิดฐานพรากผู้เยาว์
บิดามารดาเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตร ซึ่งอำนาจปกครองเป็นอำนาจที่ผูกติดกับสถานะความเป็นบิดามารดาในความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างบิดามารดาและบุตร การที่บุคคลอื่นกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนอำนาจปกครองของบิดามารดาจะต้องรับผิดฐานละเมิดในทางแพ่ง และฐานพรากผู้เยาว์ในทางอาญาด้วย ถึงแม้ว่าผู้เสียหายที่ 1 หลบหนีออกจากบ้านก็ไม่ทำให้อำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 2 มารดาสิ้นสุดไป และในระหว่างที่ผู้เสียหายที่ 1 ไม่อยู่กับผู้เสียหายที่ 2 ผู้เสียหายที่ 2 ก็พยายามโทรศัพท์ติดต่อผู้เสียหายที่ 1 แต่ติดต่อไม่ได้ แสดงว่าผู้เสียหายที่ 2 ยังคงห่วงใยผู้เสียหายที่ 1 การที่ผู้เสียหายที่ 1 ถูก พ. ชักชวนไปค้าประเวณี และจำเลยซื้อบริการทางเพศ น. ส่วนพวกของจำเลยซื้อบริการทางเพศผู้เสียหายที่ 1 โดยจำเลยมอบเงินค่าซื้อบริการทางเพศ น. และผู้เสียหายที่ 1 แก่ พ. และจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 ด้วย จึงเป็นการพรากผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้เสียหายที่ 2 มารดา การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันโดยทุจริตรับตัวผู้เสียหายที่ 1 อายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งถูกพรากจากมารดาเพื่อการอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม ประกอบมาตรา 83
ส่วนสิทธิในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนนั้น เป็นสิทธิของผู้ร้องที่ได้รับความเสียหายในมูลละเมิดอันเกิดจากการกระทำความผิดอาญา กฎหมายกำหนดให้สามารถขอค่าสินไหมทดแทนเข้ามาในคดีอาญาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 โดยเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้ร้องซึ่งเป็นผู้เสียหายเท่านั้น ไม่มีบทกฎหมายใดให้อำนาจโจทก์เรียกค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวแทนผู้ร้อง เมื่อผู้ร้องไม่ฎีกาโต้แย้งคัดค้าน ถือว่าผู้ร้องพอใจในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ในคดีส่วนแพ่งแล้ว โจทก์ไม่อาจฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ในคดีส่วนแพ่งแทนผู้ร้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2278/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การค้ำประกันหนี้ - ความรับผิดของผู้ค้ำประกันบุคคลธรรมดา - ข้อแตกต่างจากผู้ค้ำประกันที่เป็นนิติบุคคล
แม้หนังสือสัญญาค้ำประกันหนี้ในอนาคตที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ทำไว้แก่โจทก์หลังจาก ป.พ.พ. มาตรา 681/1 ที่แก้ไขใหม่มีผลใช้บังคับจะมีข้อความในวรรคสุดท้ายของข้อ 1 ระบุว่า กรณีผู้ค้ำประกันเป็นนิติบุคคล ผู้ค้ำประกันตกลงผูกพันตนเพื่อรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมหรือในฐานะลูกหนี้ร่วมกับลูกหนี้ในการชำระหนี้ดังกล่าวข้างต้นก็เป็นเพียงข้อตกลงที่ใช้ในกรณีผู้ค้ำประกันเป็นนิติบุคคล แต่การทำหนังสือสัญญาค้ำประกันหนี้ในอนาคตของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นเรื่องบุคคลธรรมดาทำสัญญาค้ำประกันกับโจทก์ มิใช่นิติบุคคลทำสัญญาค้ำประกันตามวรรคสุดท้ายของข้อ 1 ทั้งตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าวก็ไม่มีข้อความที่ระบุว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ตกลงยอมรับผิดอย่างเดียวกับลูกหนี้ร่วมหรือในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ชั้นต้นแต่อย่างใด ดังนั้นการทำหนังสือสัญญาค้ำประกันหนี้ในอนาคตของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ดังกล่าวจึงหาตกเป็นโมฆะ โจทก์มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ในฐานะผู้ค้ำประกันรับผิดต่อโจทก์หากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2017/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทสัญญาซื้อขายหุ้น-การอนุมัติโอนหุ้นธนาคาร-ความรับผิดตามสัญญา
โจทก์ฟ้องบังคับตามบันทึกข้อตกลงโดยมีคำขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันส่งมอบหุ้น 1,260 หุ้น คืนแก่โจทก์ กับให้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น จัดทำและยื่นบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ดังนั้น การที่จะบังคับตามคำขอของโจทก์ดังกล่าว จึงต้องปฏิบัติตามข้อบังคับของบริษัทจำเลยที่ 4 และข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วย โดย ป.พ.พ. มาตรา 1134 บัญญัติให้บริษัทออกใบหุ้นให้แก่ผู้ถือหุ้นเมื่อมีข้อบังคับของบริษัทอนุญาตไว้ มาตรา 1138 บัญญัติให้บริษัทจำกัดต้องมีสมุดจดทะเบียนผู้ถือหุ้นมีรายการตามที่กำหนด และมาตรา 1139 วรรคสอง บัญญัติให้เป็นหน้าที่ของกรรมการที่จะส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ที่ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ทั้งหมดในเวลาที่ประชุม และรายชื่อผู้ที่ขาดจากเป็นผู้ถือหุ้นนับแต่วันประชุมสามัญครั้งที่แล้วไปยังนายทะเบียนอย่างน้อยปีละครั้ง จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว จึงเป็นหน้าที่ของบริษัทจำเลยที่ 4 หรือกรรมการของจำเลยที่ 4 ซึ่งกระทำการในนามบริษัทจำเลยที่ 4 ที่จะต้องออกใบหุ้น และดำเนินการเปลี่ยนแปลงบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นให้แก่โจทก์เพื่อให้การโอนหุ้นตามบันทึกข้อตกลงมีผลสมบูรณ์ ดังนี้ แม้จำเลยที่ 4 มิได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ทำบันทึกข้อตกลงในคดีอาญา โจทก์ก็มีอำนาจฟ้องบริษัทจำเลยที่ 4 ให้ร่วมดำเนินการตามคำขอของโจทก์ในส่วนนี้ได้
of 498